จีนยูนนาน มีถิ่นฐานดั้งเดิมในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เป็นกลุ่มที่มีอำนาจทางสังคมเศรษฐกิจในยูนนาน เมื่อ ค.ศ. 1856 ชาวจีนยูนนานสามารถสถาปนาเป็นรัฐสุลต่านแห่งยูนนานได้ มีเมืองต้าหลี่เป็นเมืองหลวง คนกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในฐานะพ่อค้าทางไกล ซึ่งครอบคลุมบริเวณแถบภูเขาเขตรอยต่อตั้งแต่จีนตอนใต้ ยูนนาน ทิเบต ลาว เมียนมา และภาคเหนือของไทยด้วย คนภายนอกมักรู้จักชาวจีนยูนนานในนาม “พ่อค้าม้าต่าง วัวต่าง” ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน ในจังหวัดเชียงใหม่ ชาวจีนยูนนานถือเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนบ้านฮ่อและชุมชนตักวา ย่านสันป่าข่อย มีองค์กรศาสนาและโรงเรียนอิสลามขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นพื้นที่รวมกลุ่มหรือเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีสมาชิกสังกัดเป็นสัปบุรุษของมัสยิดสองแห่ง คือ “มัสยิดบ้านฮ่อ” และ “มัสยิดอัลตักวา”
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : จีนยูนนาน (จีนฮ่อ)
ชื่อเรียกตนเอง : จีนฮ่อ, มุสลิมยูนนาน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : จีนยูนนาน, จีนฮ่อ, จีนมุสลิม
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : ภาษาไทย,ภาษาไทยท้องถิ่นภาคเหนือ,ภาษาจีนยูนนาน
ภาษาเขียน : ภาษาไทย,ภาษาจีน
กลุ่มชาติพันธุ์จีนยูนนาน หรือ จีนฮ่อมุสลิม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ มีองค์กรศาสนาและโรงเรียนอิสลาม ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชน จากเหตุการณ์ที่ชาวจีนฮ่อถูกปราบปรามกวาดล้างอย่างหนัก เป็นสาเหตุให้เกิดการอพยพกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในบริเวณตะเข็บชายแดนพม่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ชาวจีนฮ่อจะอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่ยังมีบทบาทสำคัญในด้านการค้าทางไกลและมีเครือข่ายการค้าที่สามารถเดินทางค้าขายไปมาในแถบภูเขาเขตรอยต่อตั้งแต่จีนตอนใต้ ยูนนาน ทิเบต ลาว พม่า และภาคเหนือของไทย
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวจีนฮ่อถูกปราบปรามกวาดล้างอย่างหนัก ทำให้ต้องอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยอาศัยอยู่ในเขตชุมชนบ้านฮ่อ ชุมชนตักวา และย่านสันป่าข่อย ซึ่งพวกเขาสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองเชียงใหม่และสามารถดำรงชีวิตตั้งถิ่นฐานอยู่ได้ ปัจจุบันชาวจีนฮ่อยังคงอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายในการทำกิจกรรมและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานวันเกิดศาสนาเมาลิด งานตรุษมุสลิม เป็นต้น
ชาวจีนฮ่ออาศัยความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางศาสนา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทำกิจกรรมทางศาสนา อาทิ เทศกาลรอมฎอน
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ศาสนาอิสลามเข้าสู่อาณาจักรจีนเมื่อ 1,400 ปีมาแล้ว ซึ่งเกิดจากการที่เจงกิสข่านแห่งราชวงศ์มองโกลหรือหยวน เข้าโจมตีเอเชียกลางใน ค.ศ. 1219 และได้กวาดต้อนมุสลิมจากเมืองบุคอรอเข้ามารับใช้ (ปัจจุบันคือประเทศอุสเบกีสถาน) ด้วยเหตุเพราะชาวมุสลิมมีความรู้ด้านภาษาอาหรับและเข้าถึงวิทยาการความรู้ต่าง ๆ เช่น การบริหาร การจัดเก็บภาษี การเกษตร การชลประทาน ดาราศาสตร์ และการจัดระบบสวัสดิการสังคมต่าง ๆ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1274 ท่านซัยยิด อะจาล ซัมซุดิน ได้เข้าปกครองยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ทำให้ชาวมุสลิมกระจายไปทั่วมณฑล
มุสลิมจีนเหล่านี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะพ่อค้ากลุ่มหนึ่งที่มีบทบาททางการค้ามาอย่างยาวนาน บนเส้นทางที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหม” พ่อค้าเหล่านี้เชี่ยวชาญด้านการเดินทางเชื่อมต่อกับโลกมุสลิมทางตะวันตกและจีนตะวันออก จนกระทั่งขยายเส้นทางสู่จีนตอนใต้ในดินแดนยูนนาน เพื่อเชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทเหล่านี้ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ส้ง (พ.ศ. 1161 - 1819) (Forbes and Henley, 1997 อ้างถึงใน สุชาติ, 2550)
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 อาณาจักรจีนภายใต้ราชวงศ์ชิง (แมนจู) มีนโยบายการสร้างความกลมกลืนของกลุ่มต่าง ๆ โดยให้รับวัฒนธรรมแมนจู ในขณะเดียวกันก็เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอาณาจักร ทำให้เกิดการต่อต้านราชวงศ์ขึ้น
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ชาวจีนฮ่อมักตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ภูเขาหรือเขตพื้นที่สูงทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย การออกนอกเขตจังหวัดสำหรับชาวจีนฮ่อนั้นไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางจังหวัดก่อน นอกจากนี้ ยังถือได้ว่าชาวจีนฮ่อเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
การดำรงชีพ
มุสลิมจีนที่เดินทางเข้ามาในเชียงใหม่นั้น เป็นที่รู้จักในนามพ่อค้าจีนฮ่อ คนกลุ่มนี้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและสามารถต่อรองกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากในวิถีของการค้าขายที่เจ้าเมืองต้องอาศัยพ่อค้าทางไกลในการระบายสินค้าและแลกเปลี่ยนสินค้าที่จำเป็น เช่น ผ้าไหม เซรามิค ฝิ่น และนำสินค้าจากเชียงใหม่จำพวก สมุนไพร ฝ้าย ของป่าต่าง ๆ การค้าเหล่านี้ได้สร้างรายได้ให้กับเจ้าเมือง ภายหลังพ่อค้ามุสลิมได้ปักหลักบนแผ่นดินเชียงใหม่ ก็ยังอาศัยเครือข่ายทางการค้าเดิมที่เคยติดต่อตั้งแต่จีนยูนนาน พม่า ลาว และทางเหนือของไทย คนจีนกลุ่มแรกมีสถานะทางการเงินที่ดี สามารถถือครองที่ดินย่านสำคัญในเชียงใหม่ ในสมัยนั้นราคาไร่ละสามพันบาท หรือซื้อเจ็ดถึงแปดไร่ราคาสองหมื่นบาท สังเกตว่าขุนชวงเลียงที่เป็นผู้นำและจีนฮ่อ หรือมุสลิมอื่นสามารถถือครองที่ดินย่านไนท์บาซาร์ ช้างคลาน ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจหลักของเชียงใหม่ในปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อเชียงใหม่เริ่มพัฒนา ความเป็นเมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น ย่านช้างคลานได้ถูกแปลงเป็นศูนย์การค้าการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ เช่น เกิดไนท์บาซาร์มาถึงโรงแรม ภัตตาคาร บริเวณนี้โดยมากเป็นที่ดินของมุสลิมจีนฮ่อ ปากีสถาน และบังกลา จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจที่พักโรงแรม ทำให้ที่ดินบริเวณนี้มีราคาแพงทวีคูณหลายเท่า ด้วยเหตุนี้ เจ้าของที่ดินที่เป็นมุสลิมบางคนได้แบ่งขาย บางคนสร้างธุรกิจโรงแรมและที่พักหรือเปิดบ้านเช่า ทำให้ชาวจีนฮ่อเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจเชียงใหม่ในปัจจุบัน
จากการเติบโตของเมืองเชียงใหม่และด้วยการขยายจำนวนในครอบครัวจีนฮ่อ การถือครองที่ดินได้กระจายตามการแบ่งส่วนของมรดก ทำให้ลูกหลานจีนฮ่อบางคนได้ขายที่ดินตามความต้องการของตลาดและนักธุรกิจ เนื่องจากมีความต้องที่ดินเพื่อสร้างตึก อาคาร โรงแรม เพื่อตอบสนองธุรกิจการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ชาวจีนฮ่อ ถือว่าเป็นมุสลิมเจ้าของที่ดิน มีสถานะทางการเงินและร่ำรวย มีธุรกิจบ้านเช่า ร้านค้า และบ้านที่อาศัยอยู่ ในย่านไนท์บาร์ซา ถ.เจริญประเทศ ซึ่งเป็นย่านที่ราคาที่ดินสูงที่สุดในเชียงใหม่ในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบัน เมื่อลูกหลานจีนฮ่อได้เข้าศึกษาระบบการศึกษาไทยจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พวกเขาเข้าไปทำงานในหลายสาขาอาชีพ เช่น สายข้าราชการ ในงานตำรวจ ทหาร แพทย์ ครู อาจารย์ สายธุรกิจในงานธุรกิจโรงแรม ธุรกิจเดินรถและท่องเที่ยว ร้านอาหาร ค้าขายของชำ โรงงานอุตสาหกรรม อาหารสำเร็จรูป สายเกษตร ทำไร่ ทำสวนและปศุสัตว์ สี่ งานสายบริการและพนักงานต่าง ๆ อีกทั้ง ยังมีสายการเมืองท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
โครงสร้างทางสังคม
โครงสร้างครอบครัวและเครือญาติ
รูปแบบครอบครัวของชาวจีนฮ่อมุสลิมโดยพื้นฐานประกอบด้วยสามี ภรรยาและลูก ๆ โดยส่วนมากมีสมาชิกในครอบครัวจำนวนห้าถึงหกคนเพื่อเป็นฐานสร้างเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน เดิมที ครอบครัวจีนเน้นความเป็นครอบครัวใหญ่ที่ประกอบด้วย อากง อาม่า อาบอ และลูกหลาน ๆ ในครอบครัวจะให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสเป็นสำคัญ การเคารพจะนับลำดับความอาวุโส และจะถือบรรพบุรุษจากฝ่ายชาย เป็นศูนย์กลางของระบบสกุลวงศ์ (lineage system) ของครอบครัวและเครือญาติ การลำดับความสำคัญเช่นนี้เป็นวัฒนธรรมเดิมของชาวจีนฮ่อมุสลิมในยูนนาน
แต่เมื่อมีการอพยพตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย มีการแต่งงานกับหญิงชาวล้านนา ซึ่งวัฒนธรรมทางภาคเหนือเป็นระบบโครงสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับฝ่ายหญิง (matrilineal society) คือ การแต่งงานโดยที่ฝ่ายชายต้องเข้าบ้านฝ่ายหญิงและฝ่ายหญิงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินมากกว่าชาย ในขณะที่ชาวจีนฮ่อที่ถือฝ่ายชายเป็นใหญ่ (patrilineal society) ฉะนั้น กรณีการแต่งงานของชาวจีนฮ่อกับผู้หญิงล้านนา ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างของทั้งสองฝ่ายต้องปรับตัวเข้ากัน
กรณีนี้ คูณกวี ลูกหลานชาวจีนฮ่อ รุ่นสอง ได้กล่าวว่า “ถ้าผู้ชายจีนฮ่อแต่งงานกับชาวสาวเมือง จะให้ฝ่ายหญิงเข้ารับศาสนาอิสลามเสียก่อน และจะต้องทำพิธีแต่งงานในแบบมุสลิมฮ่อเสียก่อน แต่อาจจะมีบางคนที่ภายหลังการแต่งงานตามพิธีอิสลามแล้ว ทั้งสองเจ้าบ่าวสาวจะเข้าไปหาพ่อแม่ของฝ่ายหญิงและอาจจะมีพิธีตามวัฒนธรรมของทางเหนือทางเล็กน้อย ฉะนั้นจะพบว่า การแต่งงานกับชาวจีนฮ่อมุสลิม เจ้าสาวจักต้องหลุดจากโรงสร้างเดิมที่เป็นวัฒนธรรมภาคเหนือ” อย่างไรก็ตามจีนฮ่อต้องปรับตัวเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมเหนือเช่นกัน ดังที่ สุเทพ สุนทรเภสัช (2548) ได้กล่าวว่า ชาวจีนฮ่อได้ปรับระบบความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ด้วยการเน้น ระบบการให้เกียรติจึงกระทำกันอย่างเท่าเทียมระหว่างสายพ่อและสายแม่ที่เป็นคนเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งการถ่ายทอดสิทธิ์และข้อผูกพันต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งสิทธิในที่ดินทรัพย์สินอื่น ๆ ให้แก่ลูกชายและลูกสาวอย่างเท่าเทียมกัน (สุเทพ สุนทรเภสัช, 2548)
ประเด็นของการให้เกียรติและการเคารพผู้อาวุโส นายธนู จุลพันธ์ ตำแหน่งคอเต็บมัสยิดบ้านฮ่อ อธิบายแนวคิดนี้ว่า การเคารพอาวุโส คือ แนวทางปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวจีนฮ่อ ซึ่งสั่งสอนมาตั้งแต่การเคารพต่อพ่อแม่ ปูย่าตายาย ลุงป้าน้าอา รวมทั้งพี่น้องในกลุ่มเดียวกัน วิธีการนี้เป็นแนวทางของท่านศาสดามูหัมหมัดและบรรดาสาวก ที่มุสลิมควรปฏิบัติตาม สิ่งนี้คือ ข้อดีที่ต้องปฏิบัติและเป็นการให้เกียรติต่อผู้อาวุโสกว่า เช่น ผู้น้อยกว่าก็ต้องให้เกียรติแก่ผู้มีอายุกว่า ตัวอย่างในงานเลี้ยงประจำปี ทางมัสยิดจะจัดพื้นที่สำหรับผู้อาวุโสไว้ด้านหน้าสุด และเสิร์ฟสำรับอาหารให้แก่ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ก่อน และสำหรับผู้อายน้อยก็จะนั่งตามโต๊ะที่จัดไว้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีมารยาทในขณะรับประทานข้าว โดยต้องให้เกียรติผู้มีอาวุโสกว่าตักอาหารเสียก่อน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่พบบ่อย คือ การทักทายสลาม (จับมือ) กับผู้ใหญ่ เราผู้น้อยจะต้องเข้าไปทักทาย และถามทุกข์สุขของเขาก่อนเพื่อแสดงการให้ความเคารพ นอกจากนี้ คอเต็บจูลพันธ์ ยังเล่าถึง การให้ความเคารพผู้อาวุโสของตนเอง เมื่อในอดีตซึ่งทำงานในบริษัทน้ำมันที่ประเทศซาอุดีอาราเบียต่อเนื่องมาเป็นเวลาสามสิบปี เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านที่เชียงใหม่ และเข้าเยี่ยมผู้อาวุโสที่เคารพ ผู้อาวุโสท่านนั้นได้ขอให้กลับมาอยู่บ้านดูแลชุมชนมัสยิดบ้านฮ่อ ผู้อาวุโสท่านนั้นได้กล่าวคำหนึ่งว่า “เขากำลังจะตายแล้ว” คำนี้ทำให้คอเต็บจูลพันธ์ ยินยอมละทิ้งเงินเดือนจำนวนมากกลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อดูแลชุมชน เพราะถือว่าเป็นคำที่อาวุโสขอ ระบบอาวุโสจึงเป็นส่วนหนึ่งของการผดุงสังคมชาวจีนฮ่อ แนวคิดและโครงสร้างทางสังคมเหล่านี้ได้แทรกอยู่ในชีวิต ครอบครัว งานบุญสำคัญในรอบปี และโดยเฉพาะการสอดแทรกอยู่ในการเรียนการสอนนักเรียนในโรงเรียนและมัสยิด
การสืบผีบรรพบุรุษ และสายตระกูล
การแต่งงานของจีนฮ่อมุสลิมกับสตรีคนเมือง ทำให้สตรีชาวเมืองต้องตัดการสืบทอดทางวัฒนธรรมของชาวเหนือ เช่น ต้องไม่มีการเลี้ยงผี และต้องเข้าสู่สังคมและวิถีปฏิบัติของมุสลิม แต่การสานสัมพันธ์กับพ่อแม่ฝ่ายสตรีจะยังคงดำเนินเช่นเดิม เช่น ในความสัมพันธ์ทางสังคม และความรับผิดชอบในค่าจ่ายต่าง ๆ ให้พ่อแม่ ยังมีการสร้างสมดุลในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมุสลิมจีนกับคนเมือง เช่น เกิดการให้ความเคารพหรือให้เกียรติกับครอบครัว ญาติพี่น้องที่เป็นพุทธทางฝั่งภรรยาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ยึดติดกับวัฒนธรรมจีนมุสลิมที่เน้นชายเป็นใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีน หรือกรณีการแบ่งมรดก มีข้อกำหนดตามหลักอิสลาม มีข้อกำหนดการแบ่งมรดก คือ ลูกชายจะได้รับหนึ่งส่วนสอง ส่วนลูกสาวจะได้รับหนึ่งในสาม ที่ปัจจุบันพ่อแม่ชาวจีนฮ่อ ส่วนใหญ่มักจะแบ่งมรดกและสมบัติให้กับลูกชายลูกสาวอย่างเท่าเทียมกัน หรือการแบ่งมรดกผ่านการทำพินัยกรรม บางคนให้ตามสมควรเหมาะสม แต่บางคนอาจจะไม่ได้รับมรดก ซึ่งกรณีนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของบิดามารดา
บุคคลสำคัญในชาติพันธุ์
ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ (เจิ้งชงหลิ่ง) และทายาทรุ่นที่ 15 ของนายพลเจิ้งเหอ หนังสือของ จีริจันทร์ วงศ์ลือเกียรติ ประทีประเสน (2548) เรื่อง “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ: ทายาท เจิ้งเหอ 100 ปี คาราวานม้าต่างสู่เชียงใหม่” ได้เล่าถึงประวัติและคุณูปการของขุนชวงเลียง ฦาเกียรติ ที่ได้สร้างไว้ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ตามประวัติแล้วแต่เดิมนั้นมีนามว่า “เจิ้งชงหลิ่ง” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2416 ณ เมืองหยีซี บริเวณใกล้เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เจิ้งชงหลิ่ง เกิดมาในตระกูลที่มีฐานะดีและมีกิจการค้าขายเป็นลูกชายคนสุดท้องของ เจิ้งผองหยวน รุ่นที่สิบสี่มีพี่ชายชื่อว่า เจิ้งหยงเซิน ด้วยฐานะครอบครัวที่ดี จึงทำให้ถูกเลี้ยงดูอย่างสุขสบาย จนกระทั่งอายุ 23 ปี จึงได้แต่งงานสร้างครอบครัว
หลังการแต่งงาน มีภาระหน้าที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว จึงตัดสินใจเดินทางออกมาค้าขายทางไกล ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาค้าขายในเมืองสิบสองปันนา เชียงตุง และมุ่งสู่เมืองเชียงรายตามลำดับ จนกระทั่งได้เดินทางเข้ามาพักยังเมืองเชียงใหม่ซึ่งอาศัยอยู่กับน้าเขย (ท่านเลานะ) ซึ่งเป็นผู้นำในการก่อตั้งชุมชนและมัสยิดช้างเผือก ในขณะอยู่เชียงใหม่ได้ทำการสำรวจพื้นที่และชื่นชอบเมืองเชียงใหม่ จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่เชียงใหม่
เจิ้งชงหลิ่ง ถือว่าเป็นผู้อพยพมากับคาราวานในกลุ่มที่สาม ในช่วง พ.ศ. 2430 เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับกลุ่มนะปะซาง (พ่อเลี้ยงเลานะ) อนุมานได้ว่าเจิ้งชงหลิ่ง น่าจะเดินทางเข้ามาสู่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงราว พ.ศ. 2448 ในกลุ่มคาราวานน้าเขย ซึ่งมีกลุ่มพ่อค้าชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น จีนยูนนาน ไทใหญ่ ไทยภาคเหนือเล็กน้อย รวมถึงพม่า ปากีสถาน หรือคนในบังคับของประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นกองคาราวานขนาดใหญ่ที่มีการรวมตัวกันของพ่อค้าจากที่ต่าง ๆ กองคาราวานเหล่านี้ได้ใช้สัตว์ที่แตกต่างกันในการบรรทุกสินค้า เช่น ชาวจีนยูนนานนิยมใช้ม้าต่าง ชาวไทยและชาวไทใหญ่นิยมใช้วัวต่าง แต่ทั้งนี้พวกเขาจะมีการออกเดินทางและนำสินค้าหรือผลผลิตจากท้องถิ่นของตนเองไปขายยังต่างถิ่น และขากลับจะนำสินค้าจากต่างถิ่นไปขายยังที่อื่นต่อไป จนถึงเมืองมะละแหม่งก็จะซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับไป
เมื่อกองคาราวานของเจิ้งชงหลิ่ง ได้ปักหลักลงในเชียงใหม่และสนิทชิดเชื้อกับน้าเขยเลานะหลวง ซึ่งเป็นผู้รับใช้ที่สนิทสนมกับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงเป็นที่มาของการสานสัมพันธ์กับเจ้าแก้วนวรัฐ ที่สนใจเรื่องการค้าขายและความรู้จากต่างแดน เจิ้งชงหลิ่งเป็นคนหนุ่มมีความรู้และเก่งในการค้าขาย ได้เข้าอาสาช่วยรับราชการตามพระประสงค์ของเจ้าแก้วนวรัฐ
ต่อมา พ.ศ. 2452 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่แปดได้ถึงแก่พิราลัย ในขณะนั้น เจ้าอุปราชแก้วนวรัฐ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สนิทสนมและเมตตา เจิ้งชงหลิ่ง มาโดยตลอดถึงกับเรียกว่า “ต๊าวฮ่อ” (ท้าวฮ่อ) หรือ “พญาฮ่อ” ด้วยความสนิทสนม ทำให้เจ้าแก้วนวรัฐได้ประทานที่ดินให้กับเจิ้งชงหลิ่งสร้างบ้านอนุญาตให้ได้เลือกบริเวณที่จะทำการก่อสร้างระหว่างบริเวณชุมชนบ้านฮ่อในปัจจุบันหรือบริเวณสันป่าข่อย ท้ายที่สุดเจิ้งชงหลิ่งได้ตัดสินใจที่จะเลือกบริเวณชุมชนบ้านฮ่อ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ระหว่างถนนช้างคลานและถนนเจริญประเทศ (ปัจจุบันคือถนนเจริญประเทศ ซอย 1)
ใน พ.ศ. 2453 เจิ้งชงหลิ่ง ได้สร้างบ้านหรือเฮือนหลวงบนบริเวณเนื้อที่ประมาณห้าไร่ ที่ได้ประทานจากเจ้าแก้วนวรัฐ และได้ย้ายครอบครัวจากจีนมาอยู่เชียงใหม่ ภายหลังเฮือนหลวงมีบทบาทเป็นจุดศูนย์กลางของการขนส่งสินค้า จุดพักสินค้า และจุดแลกเปลี่ยนสินค้า หรือแม้กระทั่งเป็นจุดศูนย์รวมเพื่อพบปะสังสรรค์ระหว่างกลุ่มผู้ค้าชาวจีนยูนนานด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีจำนวนผู้คนที่เข้ามารวมตัวมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสถานที่ประกอบศาสนกิจหรือสถานที่ละหมาด เจิ้งชงหลิ่ง จึงอนุญาตให้ใช้ลานด้านหน้าเฮือนหลวงเป็นศูนย์กลางในการละหมาด ทำให้บริเวณหน้าบ้านเปรียบได้เป็นมัสยิด และที่รวมกลุ่มของผู้คนอย่างครึกครื้นแห่งหนึ่งในขณะนั้น การเพิ่มจำนวนของพ่อค้ามุสลิมและผู้อพยพมาใหม่ ทำให้มีการริเริ่มความคิดที่จะสร้างมัสยิดใน พ.ศ. 2458 โดยการร่วมกันบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินและวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างมัสยิดหลังแรกของชาวจีนยูนนานมุสลิมที่อพยพเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ในย่านเวียงพิงค์ หรือที่รู้จักในปัจจุบันก็คือมัสยิดบ้านฮ่อ
คุณูปการด้านศาสนาที่เจิ้งชงหลิ่ง ได้สร้างยังมีอีกหลายประการ เช่น เป็นผู้นำในการบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินบริเวณคลองแม่ข่า ถนนช้างคลานเพื่อใช้เป็นสุสานในการฝังศพชาวมุสลิม การบริจาคที่ดินประมาณยี่สิบไร่ บริเวณชุมชนเชียงใหม่แลนด์ให้เป็นสมบัติของมัสยิดบ้านฮ่อเพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจในอนาคต นอกเหนือจากการทำประโยชน์ทางด้านศาสนาแล้วยังได้สร้างคุณูปการให้กับจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย เช่น การถวายที่ดินให้แก่ในหลวงรัชกาลที่ 6 เพื่อสนองพระราชประสงค์ในการสร้างสนามบินในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยคุณงามความดีที่ทำให้แก่ประเทศชาติ เจิ้งชงหลิ่ง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ” ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2460 – 2464 พร้อมกันนั้นเจ้าแก้วนวรัฐยังได้ประทานนามสกุล “วงศ์ลือเกียรติ” ให้แก่เจิ้งชงหลิ่งและทายาทตามบรรดาศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลต่อไป
ระบบความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม
ศาสนาและความเชื่อ
สำนักคิดและแนวปฏิบัติทางศาสนาของชาวจีนฮ่อ
ชาวจีนฮ่อมุสลิมเป็นมุสลิมสายซุนนี่ สำนักคิดฮานาฟี คนเหล่านี้เป็นผู้สืบทอดแนวคิดมาจากอิสลามในจีนหรือในมณฑลยูนนานซึ่งมีที่มาทางศาสนาจากเอเชียกลางในยุคสมัยรางชวงศ์มองโกลตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา คนมุสลิมจากเอเชียกลางภายใต้การปกครองของมองโกลสามารถเดินทางค้าขายไปทั่วราชอาณาจักรทั้งแผ่นจีน เอเชียกลาง เปอร์เซีย เมื่อชาวเอเชียกลางเหล่านี้ได้เข้ามาปักหลักลงในจีนได้นำชุดความรู้ทางศาสนาวิธีปฏิบัติ ตามแนวคิดของสำนักคิดฮานาฟีมาใช้ แนวคิดของสำนักคิดฮานาฟี เป็นหนึ่งในสี่สำนักคิดหรือสำนักทางนิติศาสตร์ของชาวมุสลิม ได้แก่ หนึ่งสำนักคิดมาลีกี สองสำนักคิดฮัมบาลี สามสำนักคิดชาฟีอี และสี่สำนักคิดฮานาฟี สำนักคิดเหล่านี้เป็นสถาบันทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมซึ่งการนับถือนั้นแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาค เช่น สำนักแนวคิดฮานาฟีเป็นที่นิยมในภูมิภาคอาเซียกลาง ตุรกี อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศและมุสลิมในจีน
สำนักคิดฮานาฟี ก่อตั้งขึ้นโดย อบูหะนีฟะ ที่เมืองกูฟะ ประเทศอิรัก มีฐานแนวคิดและกฎเกณฑ์ในการวิเคราะห์ตีความศาสนาคือ หนึ่งอาศัยบทอัลกุรอาน สุนนะฮฺ (คำสอนและวิถีปฏิบัติท่านศาสดา) เป็นลำดับแรก และสองใช้ทัศนะของบรรดาเศาะหาบะฮฺ (สาวกศาสดา) ในการให้คำชี้ขาดด้านนิติศาสตร์เป็นหลักตามลำดับ วิธีการนี้เป็นที่มาของการตีความในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับมุสลิม โดยมีกฎเกณฑ์ว่าด้วย “ฮาลาล" (อนุมัติ) และ "ฮาราม” (ไม่อนุมัติ)
ฐานแนวคิดของฮานาฟีข้างต้น ได้สะท้อนออกมาจากคำกล่าวของเขา ดังที่บันทึกได้กล่าวว่า “ฉันจะปฏิบัติตามอัลกุรอาน ตราบใดที่ฉันพบว่ามีระบุอยู่ในนั้น หากไม่แล้วฉันก็จะปฏิบัติตามที่ระบุอยู่ในสุนนะฮฺ (แบบอย่างและวัจนะศาสดา) หากฉันไม่พบอยู่ในทั้งสอง ฉันก็จะปฏิบัติตามทัศนะของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ฉันจะเลือกเอาทัศนะที่ฉันพอใจและเห็นด้วยและจะทิ้งทัศนะอื่น ๆ ที่ตรงข้าม ฉันจะไม่มองข้ามทัศนะของพวกเขาเหล่านั้นและหันไปเอาทัศนะของคนอื่นเป็นอันขาด แต่เมื่อมีทัศนะด้านนิติศาสตร์ที่มาจากอิบรอฮิม อันนะเคาะอีย์ อัชชะอฺบีย์ อิบนุสีรีน อะอฺฏออฺ สะอีด บิน มุสัยยับ ฉันจะไม่ปฏิบัติตามพวกเขา แต่จะพยายามวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเสมือนกับที่พวกเขาได้กระทำไว้” มีคนถามท่านว่า “เมื่อคำพูดของท่านเกิดค้านกับอัลกุรอาน แล้วจะทำอย่างไร” ท่านตอบว่า “พวกเจ้าจงละทิ้งคำพูดของฉัน” มีคนถามอีกว่า “แล้วถ้าคำพูดของท่านค้านกับสุนนะฮฺล่ะ” ท่านตอบว่า “พวกเจ้าจงละทิ้งคำพูดของฉันเสีย” มีคนถามอีกว่า “แล้วถ้าคำพูดของท่านค้านกับทัศนะของบรรดาเศาะหาบะฮฺล่ะ” ท่านตอบว่า “จงละทิ้งคำพูดของฉันเสีย”
นอกจากนี้ ยังมีหลักการวิเคราะห์คำสอนที่ไม่แน่ชัด เรียกว่า “เคาะบัรวาหิต” ยังมีหลักการกียาส หรือการเปรียบเทียบข้อกฎหมาย และหลักการเปิดกว้างในทางนิติศาสตร์หรือข้อกฎหมาย เรียกว่า อิสติหฺซาน หลักการหิยัล คือ การหลีกเลี่ยง หรือการหาช่องโหว่ของหลักกฎหมายอิสลาม (ชุมพล สืบค้นจากบล็อก มุสลิมภาคเหนือ)
เนื้อหาข้างต้น เป็นแนวคิดและวิธีการปฏิบัติของชาวจีนฮ่อมุสลิมที่ได้รับมรดกทางหลักปฏิบัติทางกฎหมายมาจากบรรพบุรุษในอดีต แนวคิดนี้ยังดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของลูกหลานชาวจีนฮ่อ ตั้งแต่ การละหมาด ข้อปฏิบัติทางศาสนา หลักการบริโภค มารยาทและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม วิถีชีวิตเหล่านี้จะพบเห็นได้ในบริเวณมัสยิดบ้านฮ่อ ตั้งแต่การละหมาด การเลี้ยงอาหารในวันศุกร์ การทักทาย ลักษณะอาหารการกิน ความสะอาด การสวดขอพร ซึ่งข้อสังเกตเหล่านี้จะมีลักษณะแตกต่างและคล้ายคลึงกับมุสลิมภาคใต้ ที่ถือสำนักคิดชาฟีอีย์ เป็นต้น (บินมูซา blog, 2551)
สุชาติ เศรษฐมาลินี (2550) กล่าวว่า สำหรับชาวมุสลิมประเทศจีนแล้ว แนวคิดเรื่องศาสนา เป็นสิ่ง “บริสุทธิ์และแท้จริง” มีความสำคัญเป็นอย่างมากและได้เรียงร้อยกับแทบทุกแง่มุมในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆในชีวิตประจำวัน เช่น การกิน หรือดื่ม แม้กระทั่งการใช้ภาชนะ จะต้องสะอาดและไม่มีการใช้ปะปนกับคนอื่นๆ ในมิติ ทางจิตวิญญาณที่จะปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเรื่องนี้ชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาอยู่ทาง ภาคเหนือของไทยเองยังคงสืบทอดแนวคิดและการปฏิบัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ในความเป็นชาวจีนมุสลิมนั้นหากไม่มองใน เรื่องของความเชื่อแล้ว พวกเขาก็ไม่ต่างอะไรจากชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วไป ทั้งลักษณะทางกายภาพ สังคม วัฒนธรรม ภาษา ที่ใช้ยกเว้นความเชื่อรูปแบบการดำ เนินชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน การดำ เนินชีวิตของชาวจีนกลุ่มนี้นั้นล้วนดำ เนินอยู่ใน กรอบของหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามเป็นตัวกำหนด และทุกอย่างที่ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆนั้นต้องไม่ขัดกับหลักทางศาสนา ด้วยว่าความเป็นชาวจีนมุสลิมที่ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อฟังพระเจ้าเป็นเรื่องใหญ่อันดับแรก การลบหลู่ศาสดาถือเป็นบาป ใหญ่ในทัศนคติของอิสลาม ยิ่งเป็นการนับถือพระเจ้าอื่นหรือให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากกว่าพระฮัลลอฮ์นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามใน หลักของศาสนาอิสลาม และแม้ในศาสนาอิสลามไม่ได้มีข้อห้ามให้คนจีนมุสลิมเกี่ยวกับการร่วมกิจกรรมตามเทศกาลของจีน รือไทย แต่ก็ต้องระมัดระวังที่จะนำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับรูปเคารพหรือการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอื่น (ชาญชัย ศรีสมบัติ, สัมภาษณ์, 2557)
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
การเกิด
ตามประเพณีการเกิดของชาวจีนฮ่อมุสลิม โดยทั่วไปสตรีมุสลิมฮ่อจะทำคลอดบุตรที่โรงพยาบาลสมัยใหม่ตามขั้นตอนวิธีการของโรงพยาบาล แต่พิธีกรรมอยู่ที่หลังการคลอดบุตรออกมา คือ จะมีการป่าวร้องชื่อของพระเจ้า (อัลลอฮฺ) ข้างหูขวาและหูซ้าย เพื่อให้ทารกได้ยินเป็นเสียงแรกหลังจากคลอด หลังจากนั้น จะเป็นการเลี้ยงงานบุญการเกิด กรณีการได้บุตรชาย จะมีการเลี้ยงฉลองแสดงการต้อนรับการลืมตาดูโลก โดยการเชือดพลีแกะหรือแพะสองตัวสำหรับทำอาหารเลี้ยงฉลองผู้คนในหมู่บ้าน กรณีได้บุตรสาวทางครอบครัวจะเชือดพลีแกะหรือแพะหนึ่งตัวเป็นการเลี้ยงฉลอง ในงานบุญนี้จะมีการเชิญโต๊ะอิหม่าม เครือญาติ ได้ร่วมรับประทานอาหารและเยี่ยมชมสมาชิกใหม่ที่ได้ลืมตาดูโลก หลังจากนั้นโต๊ะอิหม่ามจะทำพิธีเปิดปากด้วยน้ำผึ้ง อินทผาลัมและสวดขอพรขอความประเสริฐให้แก่ทารก เป็นต้น
การแต่งงาน
เมื่อร้อยปีที่แล้วสมัยการอพยพเข้ามาของพ่อค้าจีนฮ่อมุสลิม พบว่าคนเหล่านี้มีแต่ผู้ชายที่เชี่ยวชาญในด้านการค้าและการสู้รบ เมื่อปักหลักในเชียงใหม่คนเหล่านี้ได้แต่งงานกับผู้หญิงท้องถิ่น จากการบอกเล่าของ ดร. พันทวี ลูกของชาวจีนฮ่อรุ่นแรก กล่าวว่า การแต่งงานกับสาวเหนือของชาวจีนฮ่อในครั้งนั้น ไม่ได้มีพิธีรีตองมากมาย อาศัยสินสอดเล็กน้อยและมีผู้นำพิธี พยานในการทำพิธีแต่งงาน เป็นพิธีเรียบง่ายไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนของศาสนาเท่าใดนัก นอกจากนี้การแต่งงานไม่ได้ประสงค์จะปักหลักที่นี่แต่ต้องการพาภรรยากลับไปยังยูนนาน แต่ด้วยทำแลที่เหมาะสมและสามารถทำรายได้จากการค้า อีกทั้งการได้รับการยอมรับจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงทำให้คาราวานเหล่านี้ตัดสินใจปักหลักอยู่เชียงใหม่
สำหรับชาวจีนฮ่อรุ่นที่สอง ส่วนใหญ่จะเน้นการแต่งงานในกลุ่มมุสลิมมากกว่า เนื่องจากครอบครัวชาวจีนฮ่อมีลูกสาว ลูกชาย บ้างก็จัดแต่งในเครือญาติกัน หรือ แต่งกับมุสลิมปากีสถาน บังกลาเทศ ซึ่งช่วงนี้เป็นการแต่งงานเพื่อรักษาวงศ์ตระกูล ธุรกิจ และที่สำคัญคือการรักษาศาสนา เนื่องจากชุมชนจีนฮ่อ เริ่มขยายจำนวนมากขึ้น ในยุคนี้การแต่งงานจะจัดพิธีใหญ่โตตามธรรมเนียมศาสนาและวัฒนธรรมจีน คือ การทำพิธีที่มัสยิด ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้นำพิธี อิหม่ามหรือตัวแทน มีพ่อ ญาติผู้ใหญ่ล้อมรอบเป็นวงกลม โดยมีเจ้าบ่าว สินสอด อยู่ตรงกลางกับผู้นำพิธี และจะมีการกล่าวบทเทศนาผ่านไมโครโฟนที่ดังกึงก้องในอาคารมัสยิด หลังจากนั้นจะมีการกล่าวให้เจ้าบ่าวปฏิญาณตนตอบรับเจ้าสาว โดยที่เจ้าสาวที่นั่งอยู่ด้านนอกพร้อมกับญาติฝ่ายหญิง เมื่อได้ยินคำถามจากผู้นำพิธีที่ถามว่า “...เจ้าชื่อ.... จะรับผู้ชายคนนี้เป็นสามีหรือไม่...” ทางเจ้าสาวจะตอบรับผ่านไมโครโฟนให้ผู้เป็นพยานทุกคนได้ยินหลังจากนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารตามวัฒนธรรมจีนที่จัดเตรียมไว้สำหรับญาติ แขกผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานเช่น มีหมั่นโถว แกงเนื้อ แกงข้าวแป้ง ขนมหวาน
พิธีข้างต้นนี้ ต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลักปฏิบัติ ห้า ข้อปฏิบัติ คือประกอบด้วย หนึ่งเจ้าบ่าว สองวะลีย์ (ผู้ปกครองของเจ้าสาว) ซึ่งต้องเป็นผู้ปกครองทางฝ่ายหญิงที่เป็นผู้ชาย เช่น พ่อ พี่ชาย ญาติที่เป็นชาย สามพยานสองคน ต้องเป็นผู้ชายที่มีคุณธรรม คือ ผู้ที่เคร่งครัดทางศาสนา สี่คำกล่าวเสนอของวะลีย์ ห้าคำตอบรับของเจ้าบ่าว หกสินสอด (มะฮฺฮัร) ข้อปฏิบัติในพิธีการแต่งงานเพียงหกข้อนี้ ทำให้ชายหญิงได้แต่งงานเป็นสามีภารยากันอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม
การแต่งงานของจีนฮ่อเจ้าสาวจะต้องแต่งเข้าบ้านฝ่ายชาย ตามวัฒนธรรมจีน ที่จะเน้นชายเป็นใหญ่ เจ้าสาวจะต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าบ้านฝ่ายชายและหลังแต่งงานต้องเดินสายเข้าทำความรู้จักกับญาติพี่น้องฝ่ายชายแต่ทั้งนี้ เมื่ออยู่ประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับฝ่ายหญิงเป็นอย่างมาก ทำให้ทางฝ่ายชายต้องเดินสายเข้าเยี่ยมทำความรู้จักญาติฝ่ายหญิงด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนฮ่อจึงให้เกียรติญาติของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับการแต่งงานในปัจจุบัน ถือว่ายังมีการสืบทอดพิธีเหมือนกับรุ่นพ่อแม่ มีงานพิธีที่มัสยิดในภาคเช้า แต่ที่เพิ่มเติมจากเดิม คือ ลักษณะของงานจะมีการแต่งกายที่ทันสมัยมากขึ้นตามกระแสสังคม และอาหารมีการเพิ่มเมนูอาหารไทยเข้ามา และยังนิยมการจัดงานแต่งงานในโรงแรม เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่มีเพื่อนจากสถาบันการศึกษา เพื่อนต่างศาสนิก ทำให้มีการจัดงานแต่งงานเลี้ยงฉลองกับเพื่อนฝูงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นงานฉลองตามกระแสสังคมของคนรุ่นใหม่ (ธนู จุลพันธ์, สัมภาษณ์, 2561)
การตายและการทำศพ
ชาวจีนฮ่อมุสลิม เมื่อถึงแก่เสียชีวิต ผู้นำหรือคณะกรรมการประจำมัสยิดจะมีการประกาศเสียงตามสายให้ชุมชนและคนทั่วไปที่มาละหมาดในมัสยิดรับทราบ มีการประสานติดต่อญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลหรือที่อื่น ๆ คนในชุมชนจะมีหน้าที่ในการบอกต่อ ๆ กัน เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบอย่างทั่วกัน
มุสลิมจะฝังศพภายในแปดชั่วโมง หรือ ไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากการเสียชีวิต หน้าที่การดำเนินการต่าง ๆ จะเป็นญาติและผู้นำศาสนา รวมทั้งคณะกรรมการฝ่ายกุโบร์ (สุสาน) จะประสานกับกลุ่มไปขุดหลุมฝังศพรอที่กุโบร์ หรือสุสานอิสลาม (บ้านฮ่อ) แสงตะวัน ตั้งอยู่ใกล้กับสี่แยกแสงตะวัน ในขณะที่ญาติและผู้นำพิธีจะนำศพไปที่สุสานอิสลามบ้านฮ่อ เพื่ออาบน้ำศพและชำระให้ศพสะอาด หลังจากนั้นนำศพมาไว้บนผ้าขาวสามชั้นให้มือศพอยู่ระดับอก เมื่อทำการห่อศพเป็นเรียบร้อยทางมัสยิดบ้านฮ่อ จะประกาศเวลาละหมาดทุกคนที่เป็นญาติพี่น้องสมาชิกมัสยิดหรือมุสลิมอื่นในละแวกนั้นไปรวมตัวกันที่สุสานเพื่อเข้าร่วมละหมาดศพ (มายัต) เมื่อทำการละหมาดขอพรเสร็จแล้วจึงนำศพลงหลุมที่ขุดเตรียมไว้ทุกคนจะตามส่งศพไปยังหลุมฝังศพเพื่อเป็นการอาลัยและส่งศพเป็นครั้งสุดท้ายจึงถือว่าเสร็จพิธีศพ
ในภาคค่ำหลังละหมาดประมาณสองทุ่ม ที่มัสยิดจะมีการอ่านคัมภีร์พร้อมสวดขอพรอุทิศสวนกุศลไปให้กับผู้เสียชีวิต พิธีกรรมสวดไว้อาลัยนี้จะทำขึ้นเป็นเวลาสามวัน คนที่มาร่วมบุญงานศพ (มายัต) ประกอบด้วย เครือญาติพี่น้อง เพื่อนพ้อง เด็ก ๆ ในชุมชน ทำให้เห็นบรรยากาศที่ครึกครื้น ทุกคนจะได้ฟังการเทศนาธรรมและร่วมสวดบทในคัมภีร์อัลกุรอ่าน หลังจากนั้นจะมีการรับประทานอาหารค่ำด้วยกันพิธีทั้งหมดจะเป็นการไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิต (สัมภาษณ์ ลุงแดง โรตี 1 มีนาคม 2561)
ประเพณีเซ่นไหว้
ชาวจีนฮ่อมุสลิมไม่มีพิธีกรรมหรือประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษเสมือนชาวจีนทั่วไป เนื่องด้วยหลักศรัทธาทางศาสนาอิสลามที่ห้ามมิให้มีการซ่นไหว้บูชาสิ่งใดนอกจากพระเจ้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชาวจีนฮ่อมุสลิมหรือมุสลิมทั่วไปจะให้ความสำคัญกับพื้นที่สุสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ฝังศพพ่อแม่ บรรพบุรุษและญาติพี่น้องของตนเอง กรณีนี้จากการศึกษาพบว่า ในชุมชนบ้านฮ่อมีสุสาน (กุโบร์) ชื่อ สุสานแสงตะวัน พื้นที่สุสานจะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการมัสยิดบ้านฮ่อ ทางมัสยิดได้ความสำคัญกับพื้นที่นี้มาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ในรอบหนึ่งปี จะมีการนัดรวมกลุ่มญาติพี่น้อง สัปบุรุษมัสยิดทั้งชายหญิง มาร่วมในกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่และอาณาบริเวณสุสาน เช่น มีการตัดแต่งกิ่งไม้ ตัดหญ้า ปลูกต้นไม้ ให้เป็นระเบียบและสะอาดตา หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจะมีร่วมรับประทานอาหารด้วยกันและอ่านบทขอพรเพื่อให้วิญญาณที่ล่วงลับรอดพ้นจากความทรมานในหลุมฝังศพ
อย่างไรก็ตาม สำหรับมุสลิมจะมีพิธีกรรมในชีวิตประจำวันที่สำคัญ คือ การปฏิบัติศาสนกิจหรือละหมาด 5 เวลา โดยการละหมาดจะมีตารางเวลาที่กำหนดตามการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ โดยในที่นี้จะประมาณเวลาเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ได้แก่ หนึ่งเช้าตรู่ 04.30 น. สองเวลา 12.30 น. สามเวลา 16.00 น. สี่เวลา 18.30 น. และ ห้าเวลา 19.45 น.
ชื่อเวลาละหมาด เวลา
ซุบฮี 04.30 น.
ซุฮฺรีย์ 12.30 น.
อัซรีย์ 16.00 น.
มัฆริบ 18.30 น.
อีซา 19.45 น.
การละหมาดโดยมีมัสยิดเป็นพื้นที่กลางในการละหมาดร่วมกันของมุสลิม ในรอบสัปดาห์ทุกวันศุกร์มีการทำละหมาดใหญ่ ในเวลา 12.00 - 13.00 น. มุสลิมทุกคนจะต้องมาร่วมฟังเทศนาธรรม รวมถึงมีการละหมาดร่วมกัน ในกิจกรรมนี้จะมีผู้นำศาสนาหรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งทำหน้าที่ในการบรรยาย โต๊ะอิหม่าม (ผู้นำศาสนา) คอเต็บ (ผู้บรรยายธรรม) เป็นผู้ให้ความรู้ตักเตือนแนะนำ ร่วมระลึกถึงคุณงามความดี การปฏิบัติให้ถูกต้องในหนทางของหลักศาสนาให้กับสมาชิกในชุมชน ฉะนั้นทุกวันศุกร์จึงเป็นวันแห่งการรวมตัวกันของมุสลิมทั้งหมดในชุมชน
การขึ้นปีใหม่
ปีฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินมุสลิมจะนับตามการโคจรของดวงจันทร์หรือนับวันเดือนตามจันทรคติ มี 12 เดือน เป็นภาษาอาหรับ เรียกว่า ปฏิทินฮิจเราะห์ โดยมีเดือนที่ หนึ่งเดือนมุฮัรรอม สองเดือนซอฟัร สามเดือนรอบิอุล เอาวัล สี่เดือนรอบิอุลอาคิร ห้าเดือนญามาดีลอาวัล หกเดือนญามาดีลอาคีร เจ็ดเดือนราญับ แปดเดือนซะห์บาน เก้าเดือนรอมฎอน สิบเดือนเชาวัล สิบเอ็ดเดือนซุลแกดะห์ สิบสองเดือน ซุลฮิจญะฮ์ ปีฮิจเราะห์ศักราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยคอลีฟะห์อูมัร (ผู้นำคนที่สองแห่งอาณาจักรอิสลาม) โดยเริ่มต้นนับจากการอพยพของท่านศาสดามูหัมหมัดจากเมืองมักกะฮ์ เพื่อลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยในเมืองมาดีนะ การอพยพของศาสดาในครั้งนั้นเป็นการเปิดศักราชของศาสนาอิสลามบนพื้นโลก ดังนั้นการมีปฏิทินจึงเป็นไปเพื่อจัดระบบการปกครอง และวันสำคัญทางศาสนา
สำหรับปีใหม่ในศักราชของมุสลิมนั้น ไม่ได้เป็นวันสำคัญทางศาสนา เมื่อเข้าวันที่หนึ่งเดือนมูฮัรรอม ในชุมชนไม่ได้มีการจัดกิจกรรมรื่นเริงใด ๆ ชาวบ้านใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมีเพียงบางกลุ่มหรือบางคนเท่านั้นที่จะมาร่วมระลึกถึงพระเจ้าในมัสยิด ด้วยการขอพร อ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน เพื่อความสิริมงคลความประเสริฐในการงานที่ดีและถูกต้องทางศาสนาอิสลามในรอบปีที่ตามมา ในชุมชนไม่ได้ให้ความสำคัญกับปีใหม่ในปฏิทินเนื่องจากศาสดามูหัมหมัดไม่ได้กำหนดวันปีใหม่ แต่มุสลิมจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับวันที่ศาสดาได้ระบุไว้ เช่น วันอีดิ้ลฟิตรี และวัน อีดี้ลอัฏฮา
เทศกาลเพาะปลูก: แหล่งอาหารการกิน
จีนฮ่อมุสลิมในสังคมเมืองเชียงใหม่ ไม่ได้มีการเพาะปลูกหรือทำการเกษตรเพื่อยังชีพ แต่ผู้คนเหล่านี้ได้อาศัยตลาดบ้านฮ่อ หรือ “กาดบ้านฮ่อ” ที่ตั้งอยู่หน้ามัสยิดบ้านฮ่อหรือในบริเวณบ้านของตระกูลวงศ์ลือเกียรติ แต่เดิมนั้นกาดบ้านฮ่อเป็นตลาดวันศุกร์ เนื่องจากในทุกวันศุกร์มุสลิมจะรวมตัวกันละหมาดใหญ่และฟังเทศธรรมจากผู้นำศาสนา การรวมกลุ่มและการพบปะในวันศุกร์ จึงเกิดการแลกเปลี่ยน ซื้อขายอาหาร ผลิตภัณฑ์ระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง จนกลายเป็นตลาดเล็ก ๆ ในกลุ่มมุสลิม ต่อมามีคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาร่วมค้าขาย นำอาหาร ผักผลไม้ และสินค้าอื่น ๆ มาขาย แต่คนเหล่านี้จะไม่เอาผลิตภัณฑ์จากหมูหรือเหล้ามาขายในพื้นที่ เนื่องจากให้เกียรติพื้นที่ของมุสลิม อย่างไรก็ตามทำให้ตลาดบ้านฮ่อเริ่มใหญ่โตและมีสินค้ามากมายให้เลือกซื้อเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนของชาวจีนฮ่อมากขึ้น
แต่ต่อมา เมื่อบริษัทกาแลไนท์บาซาร์ เข้ามาจัดการบริหารพื้นที่ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาด คือ ผู้คนหลากหลายเข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่อย่างอิสระและสมารถนำอาหารจำพวกหมู หรือสินค้าอื่น ๆ ตามที่ตลาดต้องการ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทกาแลไนท์บาซาร์ ต้องการคงไว้ความเป็นตลาดมุสลิมเดิม จึงมีการจัดโซนพื้นที่ เช่น โซนอิสลาม จะเป็นการขายอาหารจีนฮ่อ โซนผัก โซนสินค้าที่อื่น ๆ ทั่วไป (นิรันดร์รักษ์ ปาทาน, 2558)
ปัจจุบัน มุสลิมจีนฮ่อ ยังนิยมจับจ่ายซื้อขายอาหาร ผักผลไม้ ในพื้นที่กาดบ้านฮ่ออยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงเช้าวันศุกร์จนถึงเที่ยงจะพบว่า มีมุสลิมเข้ามาซื้ออาหารกลับบ้าน หรือบางคนได้นั่งทานอาหารหน้ามัสยิดเพื่อรอทำพิธีละหมาดของเที่ยงวันศุกร์ ฉะนั้น บริเวณกาดบ้านฮ่อ จึงถือว่าเป็นแหล่งอาหารการกินและจับจ่ายซื้อขายเพื่อบริโภคอุปโภคในชีวิตประจำวัน
การขลิบ (การตัดหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย)
สมัยแรกของการอพยพเข้ามาของชาวจีนฮ่อจะไม่มีปัญหากับประเพณีการขลิบ เนื่องจากคนเหล่านี้ได้ผ่านพิธีกรรมนี้มาตั้งแต่อาศัยอยู่ในยูนนานมาแล้ว แต่เมื่อคนเหล่านี้ได้แต่งงานและกำเนิดลูกชาย ทางพ่อแม่จำเป็นต้องทำการขลิบอวัยวะเพศให้กับลูกชาย โดยสมัยนั้น ทางจีนฮ่อมุสลิมใช้โรงพยาบาลของฝรั่ง ที่เปิดบริการอยู่ในเชียงใหม่ ในการทำขลิบให้กับลูกหลาน และไม่ได้จัดงานเป็นพิธีกรรมเสมือนทางภาคใต้ ปัจจุบันชาวจีนฮ่อทำการขลิบลูกหลานที่โรงพยาบาลตั้งแต่เด็กช่วงอายุหกปีถึงสิบสองปี บางครอบครัวขลิบให้กับลูกหลานตั้งแต่แรกเกิด ประเพณีสำคัญ
กิจกรรมทางศาสนาในเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด)
“รอมฎอน” เป็นเดือนที่เก้า ในปฏิทินอิสลาม เดือนรอมฎอนในความศรัทธาของมุสลิมแล้ว คือ เดือนที่ประเสริฐ เป็นเดือนที่พระเจ้า (อัลลอฮฺ) ประทานคัมภีร์อัลกุรอ่าน และเป็นเดือนแห่งการพักร่างกายและจิตใจ หากมุสลิมกระทำความดีต่าง ๆ จะได้ผลบุญทวีคูณ ทำให้เป็นเดือนที่ดีที่สุดสำหรับมุสลิม เป็นเดือนที่มุสลิมทั่วโลกจะเข้าสู่เทศกาลถือศีลอด โดยมีหลักการคือไม่บริโภคอาหารและน้ำ ตั้งแต่สี่นาฬิกาจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน ที่มัสยิดบ้านฮ่อได้เปิดมัสยิดเพื่อต้อนรับมุสลิมเข้าละหมาดห้าเวลา และการมานั่งอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน ระลึกถึงอัลลอฮฺ แต่ที่สังเกตตลอดทั้งเดือนตั้งแต่เวลาหลังเที่ยง จะพบเห็นชาวมุสลิมทยอยเข้ามัสยิดเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ หรือมานั่งพบปะ ในอาณาบริเวณรอบมัสยิด
สำหรับมัสยิดบ้านฮ่อ ในเดือนรอมฎอนทั้งเดือนจะทำกิจกรรมเลี้ยงละศีลอด ในเวลาพระอาทิตย์ตกดินตามตารางเวลา การเลี้ยงอาหารให้กับมุสลิมทั้งหลายที่มาเข้าร่วมนั้น เป็นเงินทุนที่ได้รับบริจาคเพื่อการเลี้ยงอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งผู้เลี้ยงจะบริจาคเงินตามอัตราที่คำนวณไว้ ตกมื้อละห้าหมื่นบาท ต่อวัน โดยมีผู้มาร่วมละศีลอดทั้งชาวจีนฮ่อและมุสลิมอื่น ประมาณสามร้อยกว่าคน บ้างคนมากันเป็นครอบครัว ลุง ป้า น้า อา ลูก ๆ หลาน ทั้งเดือนนี้ถือว่า เป็นเดือนรวมสมาชิกสับบุรุษบ้านฮ่อ สังเกตว่าตอนห้าโมง ทุกคนจะมานั่งประจำโต๊ะจีนที่เตรียมไว้ ในขณะรอเวลาละศีลอด จะมีการการบรรยายศาสนา ประวัติศาสดา ประวัติของมุสลิมจีน ซึ่งเป็นการร่วมระลึก ให้แง่คิด และอธิบายคำสอนต่าง ๆ ของอิสลาม (คอเต็บ จุลพันธ์ โกซาน, สัมภาษณ์, 2561)
การละศีลอดที่บ้านฮ่อ จะมีการเตรียมสำรับอาหารในวัฒนธรรมมุสลิมจีน มีอินทผาลัมเตรียมไว้ มีตะเกียบ ข้าวในถ้วยเล็ก ๆ และมีเมนูอาหาร เช่น แกงเนื้อ แกงข้าวแป้ง ไก่นึ่ง วุ้นเส้นผัด เมื่อได้เวลาละศีลอด มุสลิมจะร่วมขอพร และหยิบลูกอินทผาลัมเป็นอาหารแรกของมื้อละศีลอด เมื่อทำการละศีลอดเรียบร้อยจะมีการประกาศและทุกคนจะลุกขึ้นมัสยิดเพื่อทำการละหมาด เมื่อละหมาดเสร็จทุกคนจะกลับมาทานข้าวอย่างคึกครื้น
หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลาสองทุ่มจะมีการละหมาดอีกครั้ง คือ ละหมาดอีซาน และต่อด้วยละหมาดตารอเวี๊ยะ ยี่สิบสามครั้ง จนถึง เวลาสี่ทุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจทางศาสนาในแต่ละวันของมุสลิม วิถีชีวิตลักษณะนี้จะดำเนินตลอดทั้งเดือนรอมฏอนและช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนจะมีการแจกทาน (ซากาตฟิตเราะห์) ให้กับผู้ยากไร้ตามคุณลักษณะที่ศาสนากำหนด การจ่ายซากาตของทรัพย์สิน คือ การจ่ายภาษีศาสนาให้กับสังคมถือเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์และเติมเต็มสังคมให้เกิดการเกื้อกูลกันละกัน
วันสำคัญทางศาสนา “วันอีดิ้ลฟิตรี” และ “วันอีดิ้ลอัฎฮา”
เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน (ศีลอด) และเข้าสู่วันที่หนึ่งเดือนเชาวัล ตามปฏิทินฮิจเราะห์ศักราชที่คำนวณตามจันทรคติ จะเข้าสู่วันแห่งการเฉลิมฉลองปิดหรือออกบวช ซึ่งเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของชาวมุสลิม คือ “อีดิ้ลฟิตรี” เป็นวันรื่นเริง เฉลิมฉลองประจำปี มุสลิมทุกคนจะต้องหวนคืนกลับบ้าน พบปะครอบครัว พี่น้อง เครือญาติ เพื่อน และชุมชน วันฉลองการรับวันใหม่เริ่มต้นด้วยการมาฟังเทศนาธรรม คำตักเตือน ร่วมละหมาดด้วยกันที่มัสยิดในชุมชน เป็นวันแห่งการอภัยต่อกันละกัน ทุกครอบครัวเปิดบ้านและจัดเลี้ยงอาหาร เชิญชวนแขกเหรื่อเข้ามาร่วมรับประทานอาหารในบ้าน เป็นวันที่ทุกคนต้องเปิดใจใหม่ ทำใหม่และละทิ้งสิ่งเก่าที่เลวร้ายไปกับเดือนถือศีลที่ผ่านไป
ภายหลังวันอีดิ้ลฟิตรี ไปอีกสองเดือนสิบวัน จะมีวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือ “วันอีดิ้ลอัฎฮา” เป็นวันที่เฉลิมฉลองให้กับการเสร็จสิ้นเทศกาลทำฮัจญ์ในนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย ด้วยการเชือดสัตว์พลีทาน เช่น วัว แพะ แกะ อูฐให้กับผู้ยากไร้และเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อแสดงออกถึงความภักดีต่อพระเจ้า (อัลลอฮฺ) ที่น่าสนใจ คือทั้งสองวันสำคัญดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเหมือนกันทั่วโลกมุสลิม
คืนสุดท้ายของเดือนถือศีลอด คืนที่มุสลิมทุกคนจะรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ มุสลิมเชียงใหม่บางคนจะไปรวมตัวที่มัสยิดในชุมชน หรือร้านน้ำชาเพื่อรอลุ้นการประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีทางช่องโทรทัศน์และสื่อต่างๆ ผู้คนเหล่านี้มีทั้งคนหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ในละแวกนั้น หรือแม้แต่ผู้เขียนและกลุ่มเพื่อนที่มาจากภาคใต้ ทุกคนต่างตั้งตารอ บางคนสอบถามกันไปมาว่ามีการประกาศหรือยัง เสียงไถ่ถาม พูดคุยที่มีอาการตื่นเต้นแฝงอยู่ด้วย ผู้คนต่างมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มเพื่อรับวันใหม่ของเดือนใหม่ ทันทีที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศข้อวินิจฉัยจากการเห็นเสี้ยวดวงจันทร์จากพื้นที่จังหวัดยะลา เมื่อนั้นถือเป็นนิมิตรหมายว่าพรุ่งนี้เป็นวันอีดิ้ลฟิตรีของมุสลิมไทยและอาจตรงกับประเทศในอาเซียนมาเลเซีย อินโดนีเซีย อีกด้วย เมื่อการประกาศได้สิ้นสุด ทางมัสยิดได้เริ่มประกาศเสียงตามสายในชุมชน พร้อมกับกล่าวสรรเสริญพระเจ้าผ่านลำโพงเพื่อให้ทุกคนได้ยิน นับเป็นค่ำคืนอันดีงามที่มุสลิมจะต้องให้อภัยกันและกันจับมือสลามกอดกันสามครั้งเป็นธรรมเนียมของการอภัยและจะกล่าวกันว่า “อีมูบาร๊อก ขออภัยด้วยกายและวาจาใจที่ลึกซึ้ง” ในค่ำคืนนี้ทุกคนจะตื่นต้นกับการตระเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่สวยงามตามวัฒนธรรมพร้อมๆ กับตระเตรียมอาหารที่จะเปิดบ้านเลี้ยงแขกที่จะมาเยือนในวันรุ่งขึ้น
เช้าตรู่ สี่นาฬิกาครึ่งทุกคนเริ่มตื่นมาเตรียมอาหาร และเริ่มอาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาด ใส่เสื้อผ้าใหม่น้ำหอมที่ดี ใส่เครื่องประดับ แหวนทับทิม นาฬิกา สร้อยทอง ฯลฯ เพื่อต้อนรับวันใหม่ ทุกครอบครัวมุ่งหน้าสู่ประตูมัสยิดเพื่อทำการละหมาดอีดิ้ลฟิตรีร่วมกัน ทุกคนจะเตรียมชุดละหมาด เป็นชุดขาวสำหรับผู้หญิงและผ้าโสร่งหรือชุดแบบอาหรับสำหรับผู้ชาย ทุกคนเสมอหน้ากันในบ้านของพระเจ้าพร้อมผู้นำศาสนา(โต๊ะอิหม่าม) ในการนำละหมาดใหญ่ครั้งนี้เวลาประมาณแปดโมงเช้า ทุกคนจะกล่าวสรรเสริญพระเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันประมาณครึ่งชั่วโมง ลักษณะเป็นบทสวดทำนองเสนาะเสียงกึงก้องดังขึ้นเป็นจังหวะซ้ำ ๆ ในอาคารมัสยิด เพื่อขออภัยโทษต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกกะและเมตตาปราณีเสมอ เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาด โต๊ะอีหม่ามยืนขึ้นถือไม้เท้าเดินขึ้นบนแท่นประกาศเพื่ออ่านบทสวดคัมภีร์อัลกุรอ่านและเข้าสู่ช่วงของการบรรยายเทศนาธรรม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับคุณงามความดีต่าง ๆ ที่มุสลิมปฏิบัติ พร้อมตักเตือนให้ละเว้นในการกระทำที่ไม่ดีในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา และส่งเสริมให้ทุกคนกลับตัวกลับใจ ซึ่งยังไม่สายจะประกอบคุณงามความดีที่พระเจ้ามอบหมายให้มุสลิมปฏิบัติบนโลกนี้
ในช่วงสุดท้ายทุกคนจะเข้าแถวเพื่อสลามจับมือและมองตากัน พร้อมกล่าวคำว่า “ขออภัยในทุกสิ่งทุกอย่างในตลอดปีที่ผ่านมา ด้วยกายและวาจาใจ อีดมูบาร๊อก” หลังจากนั้นทุกคนจะแยกย้ายกันเปลี่ยนเสื้อผ้าตามวัฒนธรรมด้วยชุดสีสันสดใสหลากหลายรูปแบบ บางคนแต่งชุดแบบอาหรับ บางคนแต่งชุดแบบปากีสถาน อินเดีย มลายู แล้วทุกคนก็มุ่งตรงไปยังบ้านรอบมัสยิดทุกบ้านจะเปิดประตูรอพร้อมอาหารที่ตระเตรียมไว้เรียบร้อย บางบ้านมีเลี้ยงขนมจีน ข้าวซอย ขนมจีน น้ำชา ข้าวหมก ข้าวต้ม ข้าวเหนียวไก่ทอด ไอศครีม ทำให้ทุกคนได้รับความอิ่มเอมอิ่มเอิบหัวใจถ้วนหน้า (ซอและห์, สัมภาษณ์, 2561)
งานเมาลิดนบี
งานเมาลิดนบี เป็นงานเทศกาลตามประเพณีของมุสลิมซุนนี จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงวันเกิดท่านนบีมูหัมหมัด โดยจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนที่หนึ่งถึงเดือนที่สองของปฏิทินมุสลิม ประเพณีนี้มีการสืบทอดมาตั้งแต่ต้นศตวรรษแรกหลังจากการเสียชีวิตของนบีมูหัมหมัด สำหรับในชุมชนมุสลิมบ้านฮ่อ จะมีการจัดที่มัสยิดเป็นงานขนาดใหญ่ที่มีการนัดรวมตัวกันเพื่ออ่านบทขอพร บทระลึกถึงนบีมูหัมหมัด ภรรยา ลูกหลานและวงศ์ตระกูล ในงานก็จะมีการเลี้ยงอาหารให้กับผู้เข้าร่วมมีการบริจาคเงินให้กับเด็ก ๆ นักเรียนหรือลูกหลานของสมาชิก ภายหลังได้มีการเพิ่มเติม การบรรยายศาสนา เล่าเรื่องชีวประวัติศาสดามูหัมหมัด และภายนอกมีการขายอาหาร สินค้าต่าง ๆ เช่นเสื้อผ้ามุสลิม หนังสือ เครื่องประดับ และมีการเปิดรับการบริจาคตามศรัทธา โดยที่นำรายได้เหล่านี้มาบำรุงมัสยิดและกิจกรรมศาสนาต่อไป
ผู้นำพิธีกรรม
ในสังคมมุสลิมทั่วไป ผู้นำพิธีกรรมในการปฏิบัติศาสนากิจ จะถูกเสนอแต่งตั้งเป็นตำแหน่ง “อิหม่าม” คือ ผู้นำศาสนา มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำพิธีกรรมทางศาสนาทุกประเภท เช่น นำละหมาด เปิดพิธีกรรม นำสวดขอพร และรับหน้าที่ในการตัดสินใจเกี่ยวการงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทั้งหมดในชุมชน อีกทั้งแก้ไขปัญหากรณีพิพาท ถูกผิด และการนำชุมชนเพื่อสานสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ โดยรอบ อย่างไรก็ตาม บทบาทเหล่านี้ของผู้นำ สามารถมอบหมายงานต่าง ๆ ให้กับรองและผู้ช่วย โดยมี หนึ่ง คอเต็บ คือ ตำแหน่งผู้บรรยายธรรม หรือ สอง บิลาล เป็นตำแหน่งผู้ประกาศของมัสยิด โดยที่อิหม่าม สามารถมอบหมายงานต่าง ๆ ให้กับรองและผู้ช่วยในการทำหน้าที่แทนอิหม่ามได้ โดยเฉพาะในกรณีที่อิหม่ามติดภารกิจ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อเป็นผู้นำทางพิธีกรรมหรือดูแลแก้ปัญหาทางศาสนาในชุมชน
พื้นที่ศักดิ์สิทธิหรือพื้นที่ประเสริฐของอิสลาม
ในชุมชนมุสลิมมีพื้นที่ทางศาสนาหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับ ชุมชนพุทธหรือคริสต์ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนมุสลิม คือ มัสยิด และ รองลงมา คือ สุสาน (กุโบร์)
หนึ่ง มัสยิด หมายถึง บ้านของพระเจ้า เป็นพื้นที่ประเสริฐที่มุสลิมเข้ามาละหมาด ขอพร รำลึกถึงและขออภัยโทษ ขอความดีต่าง ๆ จากอัลลอฮฺ นอกจากนี้เป็นพื้นที่ทางสังคม คือ เป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นที่รวมกิจกรรมต่าง ๆของมุสลิมจีนฮ่อ
สอง สุสาน (กุโบร์) เป็นสถานที่ฝังศพของมุสลิม เป็นพื้นที่สาธารณที่ได้รับการบริจาคจากสมาชิกในชุมชน โดยสถานที่ตั้งของสุสานจะห่างจากชุมชนเล็กน้อยหรืออาจอยู่ท้ายชุมชน ในหลักศาสนาอิสลามมีกรอบกำหนดให้มุสลิมให้เกียรติต่อสุสาน โดยมีข้อปฏิบัติ เช่น กรณีการเดินทางผ่านสุสาน สมควรให้สาลามหรือทักทายเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นบทขอพรให้กับผู้ล่วงลับในสุสาน
การเยี่ยมเยียนสุสาน เพื่อระลึกและขอพรต่อพระเจ้าให้กับปู ย่า ตา ยายหรือ พ่อแม่ ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการทบทวนการกระทำของตนเองว่า อยู่ในหนทางอิสลามหรือไม่ เนื่องจากสุสานเป็นพื้นที่ที่มีสถานะเสมือนประตูสู่โลกหน้า (โลกอาคีเราะห์) นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่หวงห้ามต่ออบายมุขและความสกปรกทั้งหลาย เช่น ห้ามส่งเสียงดัง หรือเปิดเพลง ห้ามเผาหญ้าใบไม้ ห้ามบูชา ห้ามแบ่งสันปันส่วนที่สุสาน ห้ามนำสัตว์เลี้ยงไปสุสาน ห้ามปัสสาวะ อุจจาระในบริเวณสุสาน เป็นต้น
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
จีริจันทร์ วงศ์ลือเกียรติ ประทีปะเสน. 2548. ขุนชวงเลียงฦาเกีรติ: ทายาทเจิ้งเหอ ๑๐๐ ปีคาราวานม้าต่างสู่ เชียงใหม่. เชียงใหม่: ธนบรรณการพิมพ์.
นายธนู จุลพันธ์ ตำแหน่งคอเต็บมัสยิดบ้านฮ่อ คณะกรรมการมัสยิดบ้านฮ่อ (วันที่ 8 เมษายน 2561) ชุมชนบ้าน ฮ่อ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้เรียบเรียงข้อมูล