2025-04-23 11:55:08
ผู้เข้าชม : 1389

แสก มีถิ่นฐานดั้งเดิมในประเทศเวียดนาม บริเวณเมืองแสกหรือเมืองฮาวิรอง และบางส่วนตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายแถบเมืองวิงห์ และเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม  จากนั้นจึงอพยพเคลื่อนย้ายมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในจังหวัดนครพนม ในอดีต ชาวแสกส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการทำนาปลูกข้าว ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ทำประมงขนาดเล็กจับปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงโดยใช้เครื่องมือประมงประยุกต์ตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ปัจจุบันมีการดำรงชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการเลี้ยงปลาในกระชัง การทำธุรกิจร้านอาหาร โฮมสเตย์ และการทำเกษตรอินทรีย์ริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านวัฒนธรรม คนกลุ่มนี้มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งด้านภาษา การละเล่น อาหาร โดยเฉพาะประเพณีกินโด่ดเดนหรือวันตรุษแสก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อบวงสรวงผีบรรพบุรษ หรือ "โองมู้" 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : แสก
ชื่อเรียกตนเอง : แสก, แทรก (ถะ-แหรก)
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทยแสก, ไทแสก
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : ลาว,ภาษาไทย,ไทอีสาน,แสก
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

“แสก” หรือ “แทรก (ถะ-แหรก)” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกแทนตนเอง คนอื่นจะเรียกว่า “ไทแสก” หรือ “แสก” ชาติพันธุ์แสกจัดอยู่ในตระกูลพูดภาษาไท-กะได (Tai-Kadai Language Family) อาศัยอยู่กระจัดกระจายหนาแน่นในพื้นที่จังหวัดนครพนมโดยเฉพาะที่บ้านไผ่ล้อม บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม และที่บ้านดอนสมอ ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม บ้านบะหว้า ตำบลบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า รวมทั้งที่บ้านโพธิ์คำ แขวงคําม่วน เมืองท่าแขก ประเทศลาว สำหรับชุมชนบ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อาจกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนแสกขนาดใหญ่อันดับต้นๆของประเทศไทย โดยตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 3 โดยได้โปรดเกล้าฯ ยกฐานะกองอาทมาตที่ทำหน้าที่คอยลาดตระเวนชายแดนซึ่งอยู่ที่บ้านหายโศกขึ้นเป็นเมืองอาทมาตในปี พ.ศ. 2381 โดยให้หัวหน้ากองอาทมาตเป็นเจ้าเมืองปกครอง ก่อนจะลดระดับและเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลอาษามารถ (อาจสามารถ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา สำหรับพัฒนาการของบ้านอาจสามารถนั้น ได้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาคมาตามลำดับ ตั้งแต่ช่วงสงครามอินโดจีน สงครามเย็น สงครามเวียดนามและการความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมือง การแพร่กระจายของภัยคอมมิวนิสม์ ประกอบกับการเป็นชุมชนชายแดนไทย-ลาว จากนั้นภายหลังยังได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐผ่านกระบวนการสร้างความทันสมัยและพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนแสกบ้านอาจสามารถในมิติต่างๆ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ได้ประกาศให้พื้นที่บ้านอาจสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนมดังกล่าวด้วย

กลุ่มชาติพันธุ์แสกขนาดใหญ่ มีมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งได้รับการธำรงรักษาไว้อย่างเหนียวแน่นและตกผลึกเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นแสก อาทิ ภาษาแสก การละเล่นแสกเต้นสาก วัฒนธรรมอาหารแบบดั้งเดิมที่ประยุกต์กับยุคสมัยใหม่ หรือประเพณีกินเตดเดนหรือวันตรุษแสก ซึ่งจัดขึ้นทุกปีเพื่อบวงสรวงผีบรรพบุรุษหรือ “โองมู้” โดยในงานจัดให้มีการเต้นสากด้วย นอกจากนี้ในช่วงวันนั้นยังกำหนดให้เป็น “งานประเพณีวันรวมใจไทแสก” ด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ ซึ่งแต่ละคุ้มซอยจำนวนสิบซอยจะร่วมกันออกร้าน จัดนิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของชาวไทแสกในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งมีมโหรสพสมโภชทั้งวันทั้งคืนด้วยปัจจุบันสภาวัฒนธรรมจังหวัดได้ประกาศจัดตั้งให้บ้านอาจสามารถเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมชนเผ่า ชุนชนแสกบ้านอาจสามารถจึงได้มีการรื้อฟื้นและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทแสก ควบคู่ไปกับการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยวของชุมชนและจังหวัดนครพนม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี

“แสก” เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในท้องที่จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร ในอดีตนักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่าชาวแสกเป็นชนพื้นเมืองจำพวก “ข่า” ที่มีเชื้อสายในตระกูลภาษาไต-กะได แต่สมชาย นิลอาธิ (อ้างถึงใน ชลธี คำเกษ, 2553 ) เสนอว่าชาวแสกเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกับชาวข่า จากการศึกษาของสมศักดิ์ ศรีสันติสุข และปรีชา ไชยปัญหา (2538) พบว่า แสกเป็นชนชาติหนึ่งที่ซึ่งพูดภาษาในตระกูลภาษาไต เนื่องจากผู้วิจัยได้เทียบเคียงกับภาษาไทยกลางและภาษาอีสานซึ่งพบว่ามีความใกล้เคียงกัน ในประเด็นเรื่องการจัดกลุ่มตระกูลภาษานี้เป็นข้อค้นพบที่ขัดแย้งกับการศึกษาของ เปลื้อง ณ นคร (2518) ที่กล่าวว่า ภาษาแสกเป็นภาษาในตระกูลมอญ-เขมร อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องภาษาของชาวแสกนั้น นักภาษาศาสตร์ คือ ฟังกวยลี (Fang Kuei Li, 1959) กล่าวว่า ภาษาแสกอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งในภาษาตระกูลไทกลุ่มเหนือ (Northern Tai Group) ปกติภาษาตระกูลไทกลุ่มเหนือจะพบในประเทศจีนทั้งหมดแต่ภาษาแสกเป็นภาษาไทกลุ่มเหนือเพียงภาษาเดียวที่มีผู้พูดอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของประเทศลาวและประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้พูดภาษาตระกูลไทกลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai Group) และชาวแสกมีภาษาพูดของตนเองแต่ไม่มีภาษาเขียน

มีนักวิชาการที่กล่าวถึงประเด็นนี้หลายท่าน อาทิ เติม วิภาคพจนกิจ (2557) ได้กล่าวถึงหนังสือนิทานโบราณคดีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงเล่าไว้เกี่ยวกับความเป็นมาของชาวแสกว่า “ถิ่นเดิมของชาวแสกอยู่ฝั่งทางซ้ายใกล้เชิงเขาบรรทัดต่อแดนญวน”

ต่อมาชาวแสกได้อพยพหนีภัยคุกคามของญวน เข้าไปอยู่ในเขตเมืองคำเกิดและเมืองคำม่วน เนื่องจากสำเนียงภาษาพูดที่แปร่งไป และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไปตั้งถิ่นฐานแทรกอยู่กับกลุ่มย้อ โซ่ ผู้ไท และพวน “แทนที่จะเรียกพวก แซก เลยกลายเป็น แสกไป” เช่นเดียวกับการศึกษาของ สมชาย นิลอาธิ (อ้างถึงใน ชลธี คำเกษ, 2553)กล่าวว่า ที่มาของชื่อชาวแสกนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดทั้งที่มาและความหมายที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการชาวแสกหนีภัยคุกคามจากญวณที่เข้ามารุกรานชาวพื้นเมืองในแถบเมืองคำม่วน แต่เนื่องจากภาษาของชาวแสกนั้นแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เข้าไปแทรกอยู่ด้วย เช่น ผู้ไท ญ้อ พวน ฯลฯ การเรียกชื่อจึงเพี้ยนเป็น “แสก” และนิยมเรียกกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการที่ศึกษาด้านภาษาได้กล่าวถึงคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มแม้ว่าจะอยู่อาศัยในภาคอีสานมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่ก็มีคำเรียกที่แสดงถึงถิ่นฐานดั้งเดิมก่อนอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในภาคอีสาน โดยคำแสดงถิ่นที่อยู่ดังกล่าวนี้จะปรากฏอยู่หลังคำเรียกชาติพันธุ์เช่น “แสก” คือกลุ่มคนที่อพยพจากเมืองแสกมาตั้งอยู่ที่บ้านโคกยาว ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จึงสันนิษฐานว่า ชาวแสก น่าจะมีชื่อเรียกตามลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม (ปุณชญา ศิวานิพัทน์ และราชันย์ นิลวรรณาภา, 2562)

ในการศึกษาวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์นั้นโดยเฉพาะการศึกษาชาวแสกที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีนักวิชาการใช้คำเรียกว่า “ชาวแสก” อาทิ งานศึกษาของ เอ. คาร์ และ พันตรี อี. ไซเดนฟาเดน (อ้างถึงใน กรมศิลปากร, 2509) ในหนังสือ “ชาติวงศ์วิทยา ว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย”ได้กล่าวถึงชาวแสกในภาคอีสานว่า

“ชาวแสกในอดีตชนกลุ่มนี้ราวหกร้อยกว่าคน พวกเขาอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นพวกที่น่าเอ็นดู หญิงสาวชาวแสกมีชื่อในกระบวนการเต้นระบำเป็นวงกลมที่แปลก เป็นคนผิวขาว รูปร่างงาม แต่หย่อนในศีลธรรมความประพฤติ ว่าในด้านความเป็นอยู่ พวกแสกนี้นับว่าละม้ายคล้ายไปทางพวกลาวมาก เมื่อสำรวจภาษาพูดแล้ว ต้องกล่าวว่าภาษาแสกอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร แต่อย่างไรก็ดีภาษาของพวกนี้ปนกับภาษาลาวมากเสียแล้ว”

หรือข้อความจากบันทึกโดยละเอียดถึงชนชาติที่พบเจอในจังหวัดนครพนม และใช้คำเรียกชนชาติที่กล่าวถึงว่า “ชาวแสก” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้จากการทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง และการสอบถามเมื่อเสด็จถึงเมืองนครพนมทรงมีพระวินิจฉัยว่า

“แต่ฉันสงสัยว่าที่จริงจะมิได้มาจากทางแดนญวน เพราะพวกแสกพูดภาษาไทย ผิวพรรณก็เป็นไทย”

“เวลาบ่าย 3 โมง หลวงเอกอาสา นายอำเภอเมืองอาจสามารถนำพวกหญิงชาติแสกมา มีการเล่นซึ่งเรียกว่าเต้นสากให้ดู มีหญิง 10 คู่ ถือปลายไม้ยาว ๆ พาดบนไม้ท่อนใหญ่ 2 ท่อน นั่งตรงกันเปนคู่ ๆ จับไม้ที่ถือกระทบเปนจังหวะพร้อม ๆ กัน แล้วมีหญิงอีก 2 คู่ ผลัดกันเต้นข้ามไปในระหว่างไม้ที่กระทบกันนั้น คนที่ถือไม้ร้องโห่ฮิ้วขัดจังหวะไปด้วย พวกแสกนี้ว่าเดิมมาจากเมืองแสก อยู่ทางเขาบรรทัดต่อแดนญวน ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่เมืองอาจสามารถมาช้านาน สืบต่อกันมาหลายชั่วแล้ว แต่ตัวเปนคนชาวเมืองพูดภาษาชาวเมือง แลภาษาแสกนั้นก็เปนภาษาไทยอย่างหนึ่งไม่ผิดกันนั้น” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างถึงใน ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2555 )

ประวัติพงศาวดารลาวระบุว่าชาวแสกอพยพมาจากแถบเวียดนามเหนือซึ่งมีพรมแดนติดกับลาว สันนิษฐานว่าเป็นเมืองนาเมยหรือนาแมวเดิม จากนั้นได้อพยพข้ามพรมแดนเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนากาย ในเขตเวียงไซ แขวงหัวพันของลาว ชาวแสกกลุ่มดังกล่าวได้ ลัดเลาะตามลำน้ำชำจากเหนือลงใต้ ผ่านเข้ามาทางเหง้อานของเวียดนามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เดินทางลงตามสายแม้น้ำกา เลาะตามแม่น้ำเทินในเขตบอลิคำไซของลาว สุดท้ายเข้ามาตั้งเมืองในเขตคำม่วน และที่คำม่วนนี้เอง ชาวแสกได้นำเอาชื่อบ้านนากายซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมมาตั้งชื่อเป็นชุมชนใหม่ ชื่อ “บ้านนากาย” พัฒนาจนกลายเป็นเมืองนากาย แขวงคำม่วนซึ่งตั้งห่างจากท่าแขกไปทางตะวันตก เฉียงเหนือประมาณหกสิบกิโลเมตร ในปัจจุบัน “หลักฐานที่คาดว่าแถบนาเมยเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวแสกก็คือทุกวันนี้เวลามีพิธีกรรมสำคัญชาวแสกจะส่งตัวแทนกลับไปบอกกล่าวกับที่นั่นและปัจจุบันก็ยังมีชาวแสกดั้งเดิมอาศัยอยู่ในแถบนั้นด้วยจากนั้นชาวแสกจึงได้เคลื่อนย้ายจากเมืองนากายสู่เมืองยมลาด ข้ามเขตแดนสู่สยามบริเวณเมืองท่าแขกริมแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ตรงข้ามบริเวณบ้านอาจสามารถ จังหวัดนครพนมก่อน แล้วจึงข้ามมายังที่ตั้งบ้านอาจสามารถในปัจจุบัน” (สมชาย นิลอาธิ อ้างถึงใน ชลธี คำเกษ, 2553)

สอดคล้องกับการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน อาทิ ทองคูณ หงส์พันธุ์ (2522) ได้กล่าวถึงถิ่นฐานเดิมชาวแสกว่า มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองรองขึ้นกับกรุงเว้ อยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม ต่อมาชาวเวียดนาม พยายามเข้าครอบครองและรุกรานชาวไทแสกตลอดมา จนทำให้ชาวไทแสก ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม มีชาวไทแสกบางกลุ่มไม่พอใจอยู่ภายใต้การปกครองของ เวียดนาม ได้อพยพมาทางตอนใต้ มาทางตอนกลางของประเทศ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ใกล้เมืองท่าแขก (อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม ประเทศไทย) มาอยู่ที่บ้านหม้อเตลิง บ้านทอก ท่าแค บ้านโพธิ์ค้ำ ต่อมาเมื่อเห็นภูมิลำเนาเดิมไม่เหมาะสมจึงได้รวมสมัครพรรคพวกอพยพหาที่อยู่ใหม่ โดยอพยพลงมาจากลำน้ำโขงแล้วมาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวอยู่ระหว่างประเทศเวียดนามกับประเทศลาว โดยมีท้าวกายซุ และท้าวกายชา เป็นหัวหน้าในการอพยพ โดยอพยพมาอยู่ที่แขวงคำม่วน ประเทศลาว ต่อมาพวกแสกได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทยในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พวกแรกที่ข้ามมาไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านอาจสามารถ มีเจ้าเมืองปกครองและไม่ได้ขึ้นต่อหัวเมืองต่าง ๆ อพยพแยกย้ายกระจัดกระจายไปอยู่หลายหมู่บ้านในจังหวัดนครพนม

สอดคล้องกับข้อมูลใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำ ปีพุทธศักราช 2557” ที่ชี้ว่า เมื่อประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา ชาวแสกมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศเวียดนาม ส่วนสาเหตุของการอพยพนั้น ชาวแสกในประเทศไทยเล่าต่อ ๆ กันว่า ครั้งหนึ่งชาวแสกอดอยากหิวโหยมาก จึงฆ่าช้างเผือกของกษัตริย์เวียดนามเพื่อนำมาเป็นอาหาร เมื่อกษัตริย์เวียดนามทราบเรื่องจึงโปรดเกล้าฯ ให้ ชาวแสกชดใช้เงินจำนวนมากเกินกว่าที่ชาวแสกจะหามาได้ แต่ได้มีข้าราชการชาวเวียดนามคนหนึ่งซึ่งชาวแสกเรียกว่า “องค์มู่” ให้ชาวแสกยืมเงินเพื่อนำไปชดใช้แก่กษัตริย์เวียดนาม ชาวแสกจึงเคารพนับถือและสำนึกในบุญคุณขององค์มู่มากหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวแสกได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยที่บ้านอาจสามารถ และยังคงระลึกถึงบุญคุณขององค์มู่อยู่เสมอ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อองค์มู่สิ้นชีวิตลงวิญญาณขององค์มู่ได้ตามมาปกปักรักษาชาวแสกที่บ้านอาจสามารถชาวแสกที่บ้านอาจสามารถจึงสร้างศาลขึ้นที่ริมแม่น้ำโขงและทำพิธีบวงสรวงวิญญาณขององค์มู่เป็นประจำทุกปี (กระทรวงวัฒนธรรม, 2559) จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ชาวแสกที่บ้านอาจสาสามารถทำให้ทราบว่าชนกลุ่มนี้มีความเชื่อมเกี่ยวกับเวียดนามอยู่หลายประการ เช่น เชื่อว่า “แกวเป็นพี่ แสกเป็นน้อง” “ภาษาแสกคือภาษาเวียดนาม” “องค์มู่คือชาวเวียดนาม”เป็นต้นจากหลักฐานที่กล่าวมานั้นน่าจะเชื่อได้ว่าชาวแสกที่บ้านอาจสามารถน่าจะมีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนาม ต่อมาได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณบ้านอาจสามารถและได้อาศัยมาจนทุกวันนี้ และมีผู้พูดภาษาแสกอาศัยอยู่ในบางหมู่บ้านของประเทศลาวและจากคำบอกเล่าของชาวแสก น่าจะเชื่อได้ว่าชาวแสกที่บ้านอาจสามารถได้อพยพจากประเทศเวียดนามเข้าสู่ประเทศลาว หลังจากนั้นบางส่วนก็อพยพไปต่อยังประเทศไทย บางส่วนก็ยังตกค้างอยู่ในประเทศลาว บริเวณบ้านโทร่ บ้านเตริง เมืองท่าแขก จังหวัดคำม่วน (นฤมล อินทรประสิทธิ์, 2534)

ใน พ.ศ. 2450 มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคให้เหมือนกันหมดทั่วราชอาณาจักรและยกเลิก ซึ่งเคยปกครองแบบมีเจ้าเมืองอุปฮาดราชบุตร ให้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง โดยเมืองนครพนมมีพระยาพนมครานุรักษ์เป็นผู้ว่าราชการเมืองแบ่งการปกครองออกเป็นหกอำเภอ ได้แก่ เมืองนครพนม เรณูนคร อาจสามารถ อากาศอำนวย กุสุมาลย์ และโพธิ์ไพศาล จะเห็นว่าสถานะความเป็นเมืองจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็น อำเภอ ชื่อ “อาษามารถ” เปลี่ยนเป็น “อาจสามารถ” อำเภออาสามารถ ปัจจุบันยุบเป็นตำบลอาจสามารถ เนื่องจากเป็นอำเภอที่มีประชากรน้อย ชนเผ่าแสกส่วนมากจะอยู่ที่หมู่บ้านอาจสามารถ ที่ตั้งชุมชนอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมราวห้ากิโลเมตร ยังมีชาวแสกบางส่วนที่ได้พากันอพยพโยกย้ายที่อยู่ไปทำมาหากิน (วงศกร บุญเกิด และแก้วตา จันทรานุสรณ์, 2559)


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี

จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่าชาวแสกอยู่ในกลุ่มตระกูลพูดภาษาไท-กะได คาดว่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศเวียดนามอีกทั้งภาษาแสกมีลักษณะคล้ายกับภาษาเวียดนาม กลุ่มชาติพันธุ์แสกที่อพยพมาจากเมืองแสกหรือเมืองฮาวิรอง และบางส่วนยังอยู่กระจัดกระจายแถบเมืองวิงห์ และเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ก่อนจะย้ายมาที่เมืองทอก บ้านท่าแค (ปัจจุบันคือบ้านโพธิ์ค้ำ เมืองท่าแขก แขวงคําม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) โดยมีท้าวกายซุ และท้าวกายชาเป็นหัวหน้าในการอพยพ จากนั้นจึงเดินทางย้ายข้ามฝั่งโขงมาตั้งอยู่ที่บ้านโคกยาว (ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ตําบลอาจสามารถ อําเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม) เงื่อนไขการอพยพทั้งการย้ายถิ่นฐานเพื่อหาที่ตั้งที่มีความอุดมสมบูรณ์และการอพยพจากการถูกรุกรานโดยคนเวียดนามหรือญวณที่ต้องการเข้าไปปกครองชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบจากนั้นจึงอพยพมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คือ จังหวัดนครพนมและตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบบริเวณนี้

ต่อมาระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันท์กับกรุงเทพฯระหว่าง พ.ศ. 2369-2371 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้ายกทัพไปปราบและท้ายสุดได้มาตั้งทัพอยู่ที่เมืองนครพนม ส่วนพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมเวลานั้นได้หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์และไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้วก่อนจะหนีเข้าเขตเมืองญวน กองทัพสยามได้ติดตามกวาดล้างไปถึงแดนญวน การศึกครั้งนั้นทำให้ชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงระส่ำระส่าย ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงได้มีนโยบายให้ปราบปรามและเกลี้ยกล่อมบรรดาหัวเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กลับคืนมาสวามิภักดิ์ต่อกรุงสยามเหมือนเช่นเดิม โดยให้กวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงแทน (ศิริวรรณ ซ้ายกลาง, 2550:5)

ใน พ.ศ. 2377 พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล) แม่ทัพได้ยกกำลังขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนมพร้อมด้วยกองทัพเมืองเขมราฐ เมืองยโสธร เมืองร้อยเอ็ดและเมืองสุวรรณภูมิเพื่อคอยระแวดระวังป้องกันกองทัพเจ้าอนุวงศ์ และต่อมาได้ยกกองทัพข้ามโขงออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ส.ป.ป. ลาว ในปัจจุบัน) ในแถบเมืองวัง เมืองพิน เมืองนอง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองแสก เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบัง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ผู้ไท ข่า กะโซ่ กะเลิง ญ้อ รวมทั้งแสกด้วย ให้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง (เติม วิภาคย์พจนกิจ. 2542: 194-196)ซึ่งระหว่างนั้นในกรณีเมืองนครพนมหลังจากที่พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนเดิมได้หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์แล้ว พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล) พิจารณาเห็นว่าพระสุนทรราชวงศา (ฝ้ายหรือฝ่าย) เจ้าเมืองยโสธรมีความดีความชอบในราชการสงครามปราบปรามเจ้าอนุวงศ์มาก จึงเห็นควรมอบให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรมีอำนาจสิทธิขาดว่าราชการทั้งสองเมือง คือ เมืองนครพนมและเมืองยโสธรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2373

โดยระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนมนั้น พระสุนทรราชวงศา (ฝ้ายหรือฝ่าย) ได้สร้างผลงานสำคัญ คือ ยกกองทัพออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาตั้งขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ ในท้องที่เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหารและเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งในกรณีชาวแสกที่เดิมอพยพมาจากเมืองแสก (อยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามประมาณ 20 กม. ปัจจุบันเป็นเมืองร้าง) และมาตั้งอยู่ที่บ้านโคกยาวติดกับบ้านนาลาดควายจำนวน 1,170 คนเมื่อปี พศ. 2381 ก่อนจะแยกครัวมาตั้งที่บ้านถิ่นโจกหรือบ้านหายโศกและเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ตั้งขึ้นเป็นกองอาทมาตคอยลาดตระเวนสอดแนมข่าวศึกตามชายแดนนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 พระสุนทรราชวงศา (ฝ้ายหรือฝ่าย) จึงขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ยกฐานะกองอาทมาตบ้านหายโศกเป็นเมืองอาทมาตขึ้นต่อเมืองนครพนม และให้ฆานบุดดีหัวหน้ากองเป็นหลวงเอกอาสา (ท้าวเชียงจัน) เจ้าเมืองอาทมาตคนแรก (เอกสารจดหมายเหตุ ร. 3 จศ. 1191 เลขที่ 3 อ้างใน ศิริวรรณ ซ้ายกลาง, 2550: 5) อนึ่ง หลังจากยกฐานะขึ้นเป็นเมืองแล้วชาวแสกบางส่วนได้แบ่งครัวเรือนแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนและแสวงหาแหล่งทำกินในต่างถิ่นอีกหลายชุมชน เช่น บ้านไผ่ล้อม (ตำบลอาจสามารถ) บ้านดงสมอ (อำเภอศรีสงคราม) บ้านบะหว้า (อำเภอนาหว้า) ในพื้นที่จังหวัดนครพนม และที่บ้านโพธิ์คำ (แขวงคำม่วน ประเทศลาว) เป็นต้น

ชาวแสกในปัจจุบัน จึงมีถิ่นฐานกระจายออกเป็นสี่กลุ่มหลัก ได้แก่ แสกที่อยู่ในเขตประเทศเวียดนาม แสกที่อพยพเข้าไปในประเทศจีน (เขตจ้วงเหนือ-ใต้ในมณฑลกวางซีหรือกวางสี) แสกที่อยู่ในประเทศลาว (แถบหัวพันและบอลิคำไซ) และกลุ่มชาวแสกที่อพยพเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม (บ้านอาจสามารถ หมู่ 5 หมู่ 6 บ้านไผ่ล้อม หมู่ 4 หมู่ 10 บ้านบะหว้า หมู่ 5 หมู่ 7 และบ้านดอยสมอ หมู่ 1 หมู่ 7) (ชลธี คำเกษ, 2553)


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี

การดำรงชีพ

รูปแบบการทำมาหากินของชาวแสกในช่วงก่อนทศวรรษ 2540 ค่อนข้างไม่หลากหลาย ทั้งนี้เนื่องจากสภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มลาดลงแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ส่วนด้านตะวันตกเป็นที่สูงของพื้นที่ป่าโคกภูกระแต โดยกระจุกชุมชนจะตั้งบ้านเรือนเรียงรายตามฝั่งลำน้ำโขง และมีพื้นที่ปลูกข้าวทางฝั่งด้านทิศตะวันตก สภาพดินทั่วไปเป็นดินทรายหรือดินผสมกรวด บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงจะมีตะกอนไหลมาตกค้างในฤดูน้ำหลาก ครั้นหมดฤดูฝนระดับน้ำลดลง ทำให้บริเวณริมตลิ่งอุดมไปด้วยดินตะกอนทีมีแร่ธาตุอาหารของพืช

ดังนั้น อาชีพหลักของชาวบ้านอาจสามารถส่วนใหญ่ในอดีตจึงเน้นการทำนาปลูกข้าว ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ทำประมงขนาดเล็กจับปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงโดยใช้เครื่องมือประมงประยุกต์ตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยการออกแบบที่สามารถใช้ได้ในแม่น้ำโขงเพราะเป็นแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้จึงออกแบบให้ลดแรงต้านของกระแสน้ำไหลเช่น การไหลมอง การดักปลาโดยใช้ลอบ จั่น ไซ โท ตุ้ม บั้ง และขา หรือการใช้อวนหรือสะดุ้งจับปลา การทอดแหเป็นต้น นอกจากนี้ยังนิยมปลูกพืชผักต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ยาสูบ ผักสวนครัว เพื่อบริโภคและขายตามริมฝั่งตลิ่งซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของผูกขาดหากแต่จะแบ่งพื้นที่กันปลูกตามหลักการสิทธิการใช้สอยประโยชน์ นอกจากนี้ยังอาจมีการร่อนทองคำด้วย โดยแหล่งแร่ทองคำจะอยู่แถบหน้าวัดเก่า ซึ่งเป็นบริเวณน้ำตื้น มีลักษณะดินทรายปนหิน การร่อนทองคำจะทำกันในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเพราะระดับน้ำลด อย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้วเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนไป ระดับน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาลเช่นในอดีต

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ราวทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาอาชีพและการทำมาหากินของชาวไทแสกบ้านอาจสามารถเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีชาวบ้านบางส่วนได้มีการปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ที่ค่อยแพร่เข้ามา ทั้งนี้อาชีพใหม่ที่เห็นชัดเจนคือเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าบ้านอาจสามารถเป็นชุมชนแรกๆที่ริเริ่มดำเนินการ ถือว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการเลี้ยงปลาในกระชังแถบนี้ ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงปลากระชังอาจแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ “การเลี้ยงปลาที่ได้จากธรรมชาติ” โดยการจับในแม่น้ำโขงด้วยเครื่องมือจับสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ เช่น ปลาโมง ปลาเผาะ ปลาโจก แล้วนำมาขังไว้ในกระชังที่ไม้ไผ้หรือเหล็กมีผ้าตะแกรงขึงทำเป็นบ่อเลี้ยง สามารถยกบ่อนี้ขึ้นให้พ้นผิวน้ำได้เมื่อต้องการจับปลาขึ้นมา

ซึ่งอาหารสำหรับเลี้ยงปลามีทั้งอาหารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น แมลงชีปะขาวไส้เดือนฝอยจากริมแม่น้ำโขง เป็นต้น ผสมกับเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานหรือจากร้านอาหาร หรืออาจเป็นอาหารจากบริษัทจำหน่ายอาหารปลาทั่วไป นอกจากนี้ยังมี “การเลี้ยงปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ปลาของหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชน” ซึ่งส่วนใหญ่จะปลานิล ปลาทับทิม ปลาสวาย เป็นต้น แล้วนำมาปล่อยเลี้ยงในกระชังและนิยมเลี้ยงโดยใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปจากโรงงานที่จำหน่ายตามร้านขายอาหารปลาทั่วไป ดังนั้น รูปแบบการเลี้ยงแบบนี้จึงค่อนข้างใช้ทุนสูง ทั้งนี้เมื่อปลาโตได้ที่จึงทำการขายออกไป ซึ่งอาจนำไปขายเองที่ตลาดในตัวเมือง หรือขายให้แม่ค้าหรือร้านค้าที่ต้องการ บางรายลูกค้าอาจมาติดต่อซื้อเองที่หน้ากระชัง

นอกจากนี้ยังมีอาชีพที่เกิดขึ้นควบคู่กับการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขงคือธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะปลาจุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นรายการอาหารจานหลักที่ทุกร้านนำมาเป็นจุดขายของตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีร้านอาหารในพื้นที่บ้านอาจสามารถทั้งหมด 9 ร้าน โดยตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บางร้านอาจเลี้ยงปลากระชังเพื่อส่งร้านอาหารของตัวเองด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของธุรกิจร้านอาหารดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจทำให้มีทุนดำเนินการได้

เช่นเดียวกับธุรกิจโฮมสเตย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ดังกรณีกลุ่มไทยแสกโฮมสเตย์ ซึ่งได้รับมาตรฐานบริการท่องเที่ยวตามมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2555 โดยได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผูกแขนบายศรีสู่ขวัญ ศึกษาวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชนเผ่าไทยแสก นั่งเรือดูวีถีชีวิตการจับปลาน้ำจืด ชมการสาธิต และร่วมกันประกอบอาหาร (ปลาจากน้ำโขง) ชมการแสดงแสกเต้นสาก ชมสวนสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น โดยจะมีค่าบริการที่พักเริ่มต้นที่ 200 บาท (ไม่รวมค่าบริการอาหาร 250 บาท/คน/มื้อและค่าท่องเที่ยวและกิจกรรม) หากแต่ธุรกิจนี้มีผู้ดำเนินการค่อนข้างน้อย

อนึ่ง ในปัจจุบันยังมีการสนับสนุนให้ทำเกษตรอินทรีย์บริเวณริมฝั่งลำน้ำโขงอย่างค่อนข้างชัดเจน ซึ่งนับว่าเป็นจุดขายอย่างหนึ่งในการสร้างผลผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เน้นสุขภาพ โดยจะนิยมปลูกในช่วงหน้าหนาวซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลง ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผักสวนครัวโดยมีทั้งที่เน้นปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน แต่ส่วนใหญ่จะเน้นปลูกขายให้กับตลาดในตัวจังหวัดและตลาดนัดในชุมชน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพการเกษตรและประมงเป็นหลัก บางส่วนอาจเปิดร้านขายของชำ ทำธุรกิจหอพัก หรือทำงานอื่น ๆ นอกภาคเกษตรกรรม เช่น เป็นข้าราชการ เป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชน หรือรับจ้างทั่วไปทั้งในและนอกชุมชน

โครงสร้างทางสังคม

ครอบครัวและระบบเครือญาติ

รูปแบบครอบครัวของชาวแสกในอดีตนั้นราวก่อนทศวรรษ 2520 ส่วนใหญ่มีค่านิยมในการแต่งงานกับคนในชุมชนที่เป็นชาติพันธุ์แสกเท่านั้น ภายหลังจึงได้เริ่มแต่งงานกับคนนอกกลุ่มชาติพันธุ์ (Exogamy) มากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีค่านิยมของการสืบทอดตระกูลทางฝ่ายชาย ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากการอยู่ในสังคมใกล้ชิดวัฒนธรรมเวียดนามที่ได้อิทธิพลขงจื้อ ดังนั้น จึงทำให้คนแสกส่วนใหญ่ในอดีตอยากได้ลูกที่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้เพื่อสืบสกุลและดูแลมรดกของครอบครัว ด้วยค่านิยมเพศชายเป็นใหญ่ดังกล่าวนี้จึงทำให้ชาวไทแสกให้ความสำคัญกับบุรุษ โดยการเคารพและให้เกียรติผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งหากครอบครัวใดมีลูกชายหลายคน พ่อแม่จะพิจารณาลูกชายคนสุดท้องหรือคนที่อ่อนแอกว่าพี่น้องทุกคนได้ครองเรือนหรือ “แทนมูน” (มรดก) ของพ่อแม่ต่อไป ซึ่งดูจะตรงกันข้ามกับค่านิยมของคนอีสานโดยทั่วไปที่มีค่านิยมให้ลูกสาวเป็นผู้ได้รับมรดกหรือครองมูนของพ่อแม่ โดยเฉพาะถ้าฝ่ายหญิงเป็นลูกสาวคนเดียวหรือลูกสาวคนสุดท้อง ฝ่ายชายจะต้องมาอยู่ครอบครัวฝ่ายหญิงเพื่อช่วยสืบมรดกหรือครอง “มูน” เมีย จึงเกิดคำพูดในสังคมอีสานที่ว่า “ลูกสาวหล้านาตีนโคก” โดยเปรียบลูกสาวคนสุดท้ายเสมือนนาใกล้บ้าน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์จากการชะล้างปุ๋ยในหมู่บ้านลงไปที่นาและสะดวกสบายในการเดินทาง

อนึ่ง รูปแบบของครอบครัวไทแสกในอดีตโดยทั่วไปนั้นยังมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย (extended family) และด้วยค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ดังกล่าว จึงพบว่าครอบครัวของชาวแสกเป็นครอบครัวขยายแบบปิตาลัย (patrilocal) โดยหลังแต่งงานแล้ว ผู้หญิงจะมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย ทั้งนี้ในพิธีแต่งงานหากฝ่ายหญิงจะไปอยู่บ้านฝ่ายชายจะต้องมีการทำพิธีนำฝ่ายหญิงไปบ้านฝ่ายชายด้วย โดยจะมีผู้อาวุโสนำบ่าวสาวไปทำพิธีเซ่นไหว้ที่ห้องพระหรือห้องผีของครอบครัวฝ่ายชายก่อนเพื่อบอกกล่าวผีบรรพบุรุษ แล้วจึงกราบไหว้พ่อแม่ฝ่ายชายจากนั้นจึงจูงบ่าวสาวเข้าสู่ห้องหอได้

ดังนั้น ด้วยค่านิยมดังกล่าวจึงทำให้ครอบครัวไทแสกประกอบด้วยคนสามรุ่นขึ้นไป คือ ปู่ ย่า ยาย พ่อ แม่และลูก หรืออาจเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันแบบครอบครัวขยาย โดยอาศัยอยู่ในเรือนเดียวกันแยกเรือนกันอยู่หากแต่อยู่ในบริเวณเดียวกันของฝ่ายชาย เช่น ตั้งเรือนอยู่ภายในรั้วบ้านเดียวกันหรืออยู่คุ้มบ้านเดียวกันและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน ทำการผลิตร่วมกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏว่ามีการอยู่ในลักษณะแบบมาตาลัย (matrilocal) ด้วย กล่าวคือเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายผู้หญิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย เช่น ความคับแคบของเรือนหรือพื้นที่ตั้งเรือนของฝ่ายชายที่มีจำกัดอันเนื่องจากอาจมีสมาชิกของครอบครัวมาก หรือฝ่ายหญิงมีมรดกมากกว่า รวมทั้งอาจเป็นลูกสาวคนเดียว เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจมีบางครอบครัวแยกออกไปตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ต่างหาก โดยเริ่มตั้งต้นเป็นครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) ประกอบด้วยคนสองรุ่นคือพ่อ แม่และลูก จากนั้นจึงพัฒนาเป็นครอบครัวขยายต่อไปเป็นวัฏจักร

อนึ่ง ในปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าสังคมไทแสกเริ่มปรากฏรูปแบบครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าหลังแต่งงานแล้วไม่ไปอยู่กับทั้งครอบครัวฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง แต่ออกไปตั้งหลักแหล่งใหม่ (neolocal) ทั้งนอกและในชุมชน โดยอาจไปเช่าหรือไปซื้อที่อยู่ใหม่เอง เนื่องจากมีเคลื่อนย้ายออกไปอยู่นอกชุมชน โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองเพราะทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงต้องใช้เป็นแหล่งทำงาน และส่วนใหญ่ไม่ได้เกษตรกรรมเหมือนบรรพบุรุษเนื่องจากมีทางเลือกของอาชีพเพิ่มขึ้นจากโอกาสทางการศึกษาและงานที่หลากหลายของสังคมเมือง จึงไม่ต้องพึ่งพาที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรม กอปรกับมรดกที่ดินเริ่มลดน้อยลงด้วย

นอกจากระบบเครือญาติที่อิงกับสายเลือดหรือความสัมพันธ์ในลักษณะครอบครัวแล้ว ยังมีการสร้างเครือญาติแบบที่ไม่ใช่สายเลือดในลักษณะการผูกมิตรที่เรียกว่า “เสี่ยว” ผ่านกระบวนการ “ผูกเสี่ยว” (โลกก่อนเก๋น) ทั้งนี้การผูกเสี่ยวเกิดจากความรักใคร่ชอบพอกัน ถูกจริต มีความเข้าใจกัน ต้องนิสัยกันหรือถูกชะตากัน ซึ่งเสี่ยวอาจจะเป็นคนเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันก็ได้ โดยพึงใจและต้องการสร้างความผูกกันอย่างเป็นการจึงจัดให้การผูกเสี่ยว ซึ่งจะทำพิธีต่อหน้าผู้ใหญ่และญาติมิตร มีการกล่าวสาบานกันว่าจะรักกัน จริงใจ และซื่อสัตย์ต่อกัน จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันให้ขุ่นหมอง อุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญและผูกเสี่ยวมีดังนี้ เหล้าขาว ไก่ต้ม ฝ้าย หมากพลู พริก ขนมหวาน (ข้าวต้มมัด) มะเขือข้าวเหนียว เมื่อทำพิธีผูกเสี่ยวเสร็จแล้วจะมีการเฉลิมฉลอง โดยร่วมกันดื่มเหล้า ร้องรำทำเพลง ในอดีตจะมีตีกลอง เป่าแคน เป็นที่สนุกสนาน

การสืบผีและสายสกุล

ด้วยค่านิยมของไทแสกที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่าลูกชายต้องเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลและดูแลมรดกของครอบครัว (patrilineal decent) ซึ่งค่านิยมดังกล่าวอาจได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเวียดนามที่ได้อิทธิพลจากลัทธิขงจื้อเนื่องจากถิ่นฐานเดิมของไทแสกเคยอยู่ใกล้ชิดกับเวียดนามมาก่อน ดังนั้น จึงทำให้ชาวไทแสกบ้านอาจสามารถให้ความสำคัญกับบุรุษ โดยการเคารพและให้เกียรติผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งหากครอบครัวใดมีลูกชายหลายคน พ่อแม่จะพิจารณาลูกชายคนสุดท้องหรือคนที่อ่อนแอกว่าพี่น้องทุกคนได้ครองเรือนหรือ “แทนมูน” (มรดก) ของพ่อแม่ต่อไป ซึ่งดูจะตรงกันข้ามกับค่านิยมของคนอีสานโดยทั่วไปที่มีค่านิยมให้ลูกสาวเป็นผู้ได้รับมรดกหรือครองมูนของพ่อแม่

ดังนั้น ในอดีตชาวไทแสกจึงสืบผีและสายตระกูลทางฝ่ายชาย โดยหลังแต่งงานแล้วผู้หญิงจะมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย นอกจากความเชื่อในผีบรรพบุรุษระดับผีประจำครอบครัวแล้ว ในระดับชุมชนหมู่บ้านยังมีการนับถือผีโองมู้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นผีบรรพบุรุษร่วมของชาวไทแสกบ้านอาจสามารถทั้งชุมชน เชื่อสืบกันมาว่าสิงสถิตย์อยู่ที่ “เดนหวั่วโองมู้” (แปลว่าศาลท่านโองมู้) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เดิมเป็นที่ดินของหลวงอุปฮาดซึ่งได้เป็นบริจาคให้สร้างศาลขึ้น มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับโองมู้ที่แตกต่างกันอยู่สองสำนวน บ้างเล่าว่าเป็นผู้นำชาวไทแสก (มีสองคนคือท้าวกายซ่าและท้าวกายซูโองมู้) อพยพเคลื่อนย้ายมาจากชายแดนลาว-เวียดนาม เป็นนักรบ นักสู้ มีความเก่งกล้าสามารถ เป็นที่เคารพรักของชาวแสก เมื่อเสียชีวิตชาวบ้านจึงได้ตั้งสร้างขึ้นมาเพื่อให้สิงสถิตย์และช่วยปกป้องคุ้มครองชาวแสกให้อยู่เย็นเป็นสุข

แต่อีกสำนวนเล่าว่าเมื่อครั้งที่ชาวแสกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองญวน ได้มีช้างของกษัตริย์ญวนตกมันและอาละวาดทำลายบ้านเรือนและฆ่าผู้คนตายแต่ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะห้ามหรือหยุดยั้งช้างตัวนั้น เนื่องจากการกลัวเกรงอาญาของกษัตริย์ ต่อมาช้างได้เข้ามาในเขตหมู่บ้านชาวแสกและฆ่าผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ชาวแสกจึงได้ขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าแสก และนำมาซึ่งการฆ่าช้างตัวนั้นตาย เรื่องทราบถึงกษัตริย์ญวนจึงส่งคนมาก่อกวนและจับชาวแสกไปลงโทษ จึงต้องพากันอพยพหลบหนีออกจากถิ่นเดิม ทั้งนี้เก็ดนีย์ (1970:68-69) ได้บันทึกตำนานดังกล่าวว่า ช้างตัวนั้นเป็นช้างเผือกของกษัตริย์ญวน และชาวแสกได้ฆ่าช้างเผือกตัวนี้กินเป็นอาหารด้วยความหิวโหย จึงต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากเพื่อชดเชยการฆ่าช้างตัวดังกล่าว แต่เนื่องจากไม่มีเงิน จึงมีชาวเวียดนามคนหนึ่งชื่อ “โองมู้” เกิดความสงสารและเสนอที่จะให้เงินเพื่อจ่ายค่าเสียหายดังกล่าว

โดยหวังให้ชาวแสกต้องมาอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของเขา เมื่อชาวแสกได้ใช้จ่ายเงินของโองมู้เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแล้ว กลับพากันอพยพทิ้งถิ่นฐานหนีหนี้ที่ติดค้างโองมู้ กระทั่งเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ตั้งบ้านปัจจุบัน ครั้นโองมู้เสียชีวิตแล้ว วิญญาณของโองมู้ได้ติดตามชาวแสกมาถิ่นใหม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการชดใช้หนี้และแสดงความคารวะต่อบุญคุณที่โองมู้เคยช่วยเหลือ ชาวแสกจึงตั้งศาลขึ้นมาเพื่อให้โองมู้สิงสถิตย์และเซ่นบวงสรวงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จากตำนานของโองมู้ข้างต้นแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าในปัจจุบันโองมู้มีความสำคัญและมีบทบาทต่อในชีวิตประจำวันของชาวไทแสกบ้านอาจสามารถเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทแสกกับโองมู้โดยทั่วไปอาจแสดงในรูปแบบของ “การคอบเข้า””การคอบออก” “การบ๊ะ” (การบน) และ “เก่บ๊ะ” (การแก้บน)

อาจกล่าวได้ว่า “การคอบเข้า””การคอบออก” มีความสัมพันธ์ต่อการสืบผีและสายตระกุลไทแสกบ้านอาจสามารถอย่างมาก เนื่องจากเป็นพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเป็น “คนในหรือคนนอก” กล่าวคือมีฐานะการเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกของชุมชนไทแสกบ้านอาจสามารถ ทั้งนี้ “การคอบเข้า” หมายถึงพิธีการขออนุญาตโองมู้เพื่อให้รับเข้าเป็นลูกหลานของโองมู้และเป็นสมาชิกของชุมชนไทแสก เมื่อเป็นคนของโองมู้แล้วจะได้รับการปกปักรักษาดูแลเสมือนเป็นลูกหลานของโองมู้และชาวไทแสก ซึ่งบุคคลที่จะทำพิธี “คอบเข้า” นั้น มักจะเป็นลูกสะใภ้หรือลูกเขยของชาวไทแสก รวมทั้งบุคคลอื่นที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในชุมชนบ้านอาจสามารถ ซึ่งเครื่องบูชาในการทำพิธีคอบเข้าประกอบด้วย ขันธ์ห้า (เทียนขาวและดอกไม้อย่างละห้าคู่)

ส่วน “การคอบออก” นั้น หมายถึงพิธีที่ทำขึ้นในกรณีที่มีบุคคลในชุมชนไทแสกมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่นหรือไม่ได้เป็นเขยหรือสะใภ้ของไทแสกแล้วและต้องย้ายไปอยู่นอกชุมชนจะต้องมาทำพิธี “คอบออก” จากการเป็นลูกหลานของ “โองมู้” เป็นการบอกกล่าว เชื่อว่าถ้าบุคคลใดไม่ทำพิธีดังกล่าวมักจะได้รับการตักเตือนว่ากล่าว เช่น การเข้าฝัน หรือการลงโทษเล็กน้อยจากโองมู้ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยหรือพบอุปสรรคปัญหาในการดำเนินชีวิต ไม่ราบรื่น เป็นต้น ซึ่งเครื่องบูชาในการทำพิธีคอบออกนั้นประกอบด้วย เหล้าขาวสามขวด ไก่สองตัวและขันธ์ห้า (เทียนขาวห้าคู่และดอกไม้ขาวห้าดอก

สำหรับการ “การบ๊ะ” คือการบนบานขอโองมู้ให้ช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งที่อ้อนวอนร้องขอมักจะเป็นเรื่องทุกข์หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น การเจ็บป่วย สิ่งของหาย การทำมาค้าขาย การสอบ การแข่งขัน การเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นต้น โดยผู้ที่ “บ๊ะ” หรือบนนั้นจะต้องมีเครื่องบูชาดังนี้อย่างละหนึ่งคู่ คือ หมาก ใบพลู (โดยแต้มปูนขาวด้านหลังส่วนปลายของใบพลู) เทียน ดอกไม้ และธูป (ไม่จำกัดจำนวน) โดยจะมีการบอกกล่าวหรือบนบานขอสิ่งที่ประสงค์และตั้งจิตว่าหากสำเร็จตามความปรารถนาแล้วจะตอบแทนด้วยการถวายสิ่งของหรือจะกระทำการใดเพื่อเป็นการแก้บนโองมู้ จากนั้นเมื่อได้ดังประสงค์แล้วจะต้องมี “การเก่บ๊ะ” เพื่อแก้บน โดยการนำเอาสิ่งของหรือกระทำการที่บนไว้ไปทำพิธีเก่บ๊ะถวายโองมู้เป็นอันจบพิธีกรรม แต่หากบุคคลใดผิดสัญญาไม่มีสัตย์ ไม่ทำการ “เก่บ๊ะ” เชื่อกันว่าหากมีการบนครั้งต่อไปจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโองมู้อีก หรือหากรุนแรงอาจได้รับการลงโทษจากโองมู้ เพื่อตักเตือนสั่งสอน

นอกจากพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว ชาวไทแสกยังจัดให้มีการเซ่นบวงสรวงโองมู้ประจำปี โดยจะจัดขึ้นในวันตรุษแสกของทุกปี ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 หรืออาจเรียกว่า “พิธีกินเตดเดน” (กิ๋นเตด) ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าวันตรุษแสกนี้ตรงกับวันตรุษญวนด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเคยมีถิ่นฐานอยู่ใกล้ชิดติดกับเขตแดนเวียดนามมานานจึงมีการหยิบยืมและได้รับอิทธิพลของขนบธรรมเนียมของญวน ปะปนอยู่ด้วย ในวันนั้นชาวบ้านอาจสามารถไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลจะต้องมาร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงด้วยอาหารคาวหวานเพื่อแสดงความเคารพศรัทธาและความกตัญญูต่อโองมู้ที่เป็นผีบรรพบุรุษ

ซึ่งกล่าวได้ว่าการทำพิธีกรรมดังกล่าวนี้นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการรักษาและสืบสานประเพณีแสกแล้ว ยังเป็นสืบผีและสืบสายสกุล รวมทั้งจรรโลงระบบเครือญาติของชุมชนไทแสกในภาพใหญ่ด้วย เพราะเป็นการสร้างจิตวิญญาณของชุมชน สร้างความสมัครสมานสามัคคีทางสังคมผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธีกรรม เช่น การเซ่นไหว้ร่วมกัน การรับประทานอาหารร่วมกัน และจะมีการเต้นสากบวงสรวงโองมู้ร่วมกันด้วย นอกจากนี้ในวันนั้นยังกำหนดให้เป็น “งานประเพณีวันรวมใจไทแสก” ด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละคุ้มซอยจำนวนสิบซอยจะร่วมแรงร่วมใจกันออกร้าน จัดนิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของชาวไทแสกในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะมีการแข่งขันประกวดซุ้มซอย รวมทั้งมีมหรสพสมโภชทั้งวันทั้งคืนด้วย จึงทำให้บรรยากาศในช่วงวันงานมีความคักคักและคับคั่งไปด้วยผู้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชน

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ในปัจจุบันไทแสกนับถือแบบผสมผสานคือนับถือศาสนาพุทธเป็นหลักแต่ผนวกกับความเชื่อผีเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของการนับถือพุทธศาสนาในสังคมอีสาน โดยจะมีการไหว้ผีบรรพบุรุษทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน ซึ่งจะจัดให้มีการไหว้และเลี้ยงใหญ่ปีละครั้ง กรณีโองมู้จะจัดเลี้ยงใหญ่ใน “พิธีกินเตดเดน” ตรงกับขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 ซึ่งยังเป็นวันตรุษแสกด้วย ส่วน “พิธีเหลี่ยงมาง” หรือพิธีเลี้ยงผีจ้าหมื่นหัวดอนนั้นจะจัดขึ้นในขึ้น 4 ค่ำเดือน 4 ส่วนในชีวิตประจำวันทั่วไปนิยมประกอบพิธีตามประเพณีที่วัดในชุมชน เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม ซึ่งวัดประจำชุมชนบ้านอาจสามารถ คือ มงคลบุรีศักดาราม

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทแสกบ้านอาจสามารถที่เห็นอย่างชัดเจนคือศาลเดนหวั่วโองมู้ ซึ่งผู้ที่เข้าไปในบริเวณจะต้องควบคุมวาจาและความประพฤติ และในการทำพิธีกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น บ๊ะ (บนบาน) เก่บ๊ะ แก้บน คอบเข้า คอบออก ต้องบอกกล่าวและทำพิธีกรรมโดยผ่านกวนจ้ำเท่านั้น ถึงจะถือว่าถูกต้องตามความเชื่อ จะทำเองโดยพลการไม่ได้ ดังที่เล่ากันว่าเคยมีชาวบ้านอาจสามารถคนหนึ่งได้ฝันว่าโองมู้ต้องการพวงมาลัย ครั้นตื่นเช้าจึงซื้อพวงมาลัยไปถวายโดยไม่ได้บอกกวนจ้ำ คืนต่อมากวนจ้ำได้ฝันว่าโองมู้มาบ่นให้ฟัง มีบุคคลเอาสิ่งของไปวางเกะกะไว้ที่พัก พอกวนจ้ำตื่นเช้าจึงเกิดความสงสัยว่าที่โองมู้มาบอกว่ามีคนนำของมาวางเกะกที่พักนั้นเป็นบ้านของตนเองหรือที่ศาลเดนหวั่วโองมู้ ครั้นพิจารณาที่บ้านตนเองไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดวางเกะกะ จึงได้ออกมาที่ศาลเจ้าจึงพบกับนพวงมาลัยคล้องอยู่ที่ครั้นสอบถามจนทราบเจ้าของพวงมาลัยดังกล่าว กวนจ้ำจึงเรียกบุคคลนั้นมาเพื่อทำพิธีเก่บ๊ะ ขอขมาและบอกกล่าวโองมู้ ดังนั้นพื้นที่ของศาลเดนหวั่วโองมู้จึงเป็นพื้นที่พิเศษที่ควบคุมโดยความเชื่อ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

พิธีกรรม ประเพณีสำคัญของชาวไทแสกบ้านอาจสามารถมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวอีสานทั่วไปคือการทำบุญฮีตสิบสองหรือประเพณีประจำเดือน แต่ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวไทแสกคือประเพณีกินเตดเดนหรือวันตรุษแสก ซึ่งจัดขึ้นตรงวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 ของทุกปีเพื่อไหว้ผีบรรพบุรุษหรือ “โองมู้” โดยในงานจัดให้มีการเต้นสากเพื่อบวงสรวงโองมู้ นอกจากนี้ในช่วงวันนั้นยังกำหนดให้เป็น “งานประเพณีวันรวมใจไทแสก” ด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ ซึ่งแต่ละคุ้มซอยจำนวนสิบซอยจะร่วมกันออกร้าน จัดนิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของชาวไทแสกในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งมีมโหรสพสมโภชทั้งวันทั้งคืนด้วย ทั้งนี้ประเพณีดังกล่าวนอกจากเพื่อสืบสานความเชื่อและประเพณีดั้งเดิม รวมทั้งนำเสนอความภาคภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวแสกแล้ว กล่าวได้ว่าในปัจจุบันยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยวของชุมชนและจังหวัดนครพนมด้วย

นอกจากนี้พิธีกรรมสำคัญที่ไทแสกเชื่อกันอย่างเคร่งครัดว่าจะต้องทำทุกปีห้ามหลีกเลี่ยง หากไม่ทําพิธีนี้มักจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นในชุมชนคือการทำ “พิธีเหลี่ยงมาง” หรือพิธีเลี้ยงผีจ้าหมื่นหัวดอนที่อัญเชิญมาจากดอนโด ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำโขง โดยจะดำเนินการตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 4 ของทุกปี ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม มีดังนี้ มะพร้าวอ่อน 2 ลูก บายศรี 1คู่ อาหารหวานเพราะเจ้าหมื่นไม่กินของคาวหรือสัตว์ใหญ่ ได้แก่ น้ำตาล ขนม เหล้าขาว 1 ขวด เงินค่าคาย 12 บาท ไข่ไก่ 1 ฟอง ข้าวสาร เทียน ดอกไม้ และฝ้าย 1 ม้วนโดยพันไว้โดยรอบถ้วย พิธีกรรมจะเริ่มด้วยการอัญเชิญเจ้าหมื่นหัวดอนจากเกาะดอนโดมาเข้าทรง ระหว่างที่เจ้าหมื่นหัวดอนเข้าทรงอยู่นั้นจะมีการฟ้อนง้าว ลงเล่นน้ำ และเล่นแข่งเรือ ซึ่งผู้คนที่มาร่วมพิธีสามารถสอบถามปัญหาที่อยากรู้หรือเรื่องที่ขัดหมองใจต่างๆในชีวิตเพื่อประกอบการตัดสินใจแก้ไข

อนึ่ง พิธีกรรมที่สำคัญและอาจกล่าวได้ว่าแทบเป็นส่วนประกอบหนึ่งของทุกพิธีกรรมและนิยมปฏิบัติในชีวิตประจำวันทั่วไปคือ “พิธีบายศรีสู่ขวัญ” ทั้งนี้เช่นเดียวกับคนอีสานทั่วไปเนื่องจากชาวไทแสกเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีขวัญ ซึ่งพิธีสู่ขวัญจัดขึ้นมาทั้งในโอกาสเพื่อแสดงความชื่นชมยินดี สร้างขวัญกำลังใจและเป็นการปลอบประโลมใจในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นแก่บุคคลหรือชุมชน เช่น เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

สำหรับการทำพิธีสู่ขวัญนั้น อาจทำขึ้นเนื่องโอกาสต่าง ๆ เช่น แสดงความนบนอบพระพุทธรูป (เช่น การประดิษฐานพระพุทธรูปในอุโบสถ) การสู่ขวัญบวชนาค การบายศรีพระสงฆ์ การสู่ขวัญแม่ลูกอ่อนออกไฟ การสู่ขวัญเด็กทารก การสู่ขวัญเรือนใหม่ การสู่ขวัญคนป่วย การสู่ขวัญคนเดินทางไกล การสู่ขวัญคนสอบหรือเลื่อนตำแหน่งงาน การสู่ขวัญแขกบ้านแขกเมือง การสู่ขวัญในพิธีผูกเสี่ยว การสู่ขวัญคู่บ่าวสาวในงานแต่ง การสู่ขวัญพาหนะ การสู่ขวัญเพื่อเอาข้าวขึ้นเล้า หรือการสู่ขวัญวัวควาย เป็นต้น

ในการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญนั้นต้องตระเตรียมอุปกรณ์เพื่อทำพาขวัญ ได้แก่ พานทองเหลือง และขันลงหินสำริด ใบตอง ดอกไม้สด ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ผูกแขน) ซึ่งการทำพาขวัญนั้นจะจัดเป็นชั้นให้สอดคล้องกับตัวบุคคลและโอกาส ซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปจะใช้พาขวัญที่มี 3 ชั้นหรือ 5 ชั้น และหากเป็นบุคคลสำคัญ เช่น พระเจ้าแผ่นดิน หรือบวงสรวงเทพเทวดาจะใช้พาขวัญ 7 ชั้นหรือ 9 ชั้น โดยชั้นล่างสุดของพาขวัญจะมีบายศรีใบตอง ดอกไม้ ข้าวต้มมัด ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ข้าวเหนียวปั้น เงินฮาง มีดด้ามแก้ว ส่วนชั้นที่ 2-4 ตกแต่งด้วยบายศรีและดอกไม้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดอกฝางดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูณ ใบยอป่า สำหรับชั้นที่ 5จะตกแต่งด้วยบายศรีและด้ายผูกข้อมือ เทียนเคียนหัว (ใช้คาดศีรษะ) ของเจ้าของขวัญ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องบูชาและอุปกรณ์ประกอบประกอบอื่น ๆ อาทิ ขันบูชา พานเพื่อใช้วางผ้าแพรวา หวี กระจกเงา น้ำอบ น้ำหอม สร้อยคอและแหวนของผู้เป็นเจ้าของขวัญ ด้ายดิบสำหรับผูกข้อมือ ซึ่งจะทำให้เป็นวงเพื่อพันรอบข้อมือ ทั้งนี้มีคติว่าถ้าเป็นคนทั่วไปจะทำเป็นวงละ 3 เส้น ส่วนชนชั้นนำหรือผู้ดีมีศักดิ์ตระกูล (พวกอาญา 4 ตามระบบปกครองแบบลาว) จะทำเป็นวงละ 5 เส้น (เรียกเป็นคล้องจองว่าอาชญาห้า ขี้ข้าสาม) เมื่อเป็นวงแล้วดึงให้ขาดเป็นเส้นห้ามใช้มีดตัดเพราะเชื่อว่าการใช้มีดตัดนั้นใช้ได้เฉพาะด้ายที่มัดตราสังข์ศพเท่านั้น นอกจากนี้ข้างพาขวัญยังต้องมีแก้วหรือขันน้ำเย็นใส่น้ำส้มป่อยและแก้วเหล้าสำหรับหมอสูตรขวัญจะได้ดื่ม อมพ่นหรือใช้ดอกไม้จุ่มเพื่อสะบัดใส่พาขวัญ (ฮดฟาย)

สำหรับการสูตรขวัญนั้นจะดำเนินการโดยหมอพราหมณ์หรือหมอสูด โดยจะจัดให้เจ้าของขวัญนั่งหันหน้าไปในทิศทางต่าง ๆ ตามตำรา ญาติพี่น้องจะนั่งล้อมเป็นวงด้านหลัง ตั้งจิตอธิษฐานให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญ การสวดสู้ขวัญต้องให้เสียงชัดเจน สละสลวย ไพเราะเสนาะหู ฟังแล้วเกิดความรู้สึกที่กระตุ้นอารมณ์ เช่น ดีใจ อิ่มใจ เกิดกำลังใจ ฮึกเหิม กระตือรือล้นและความศรัทธาอุตสาหะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น หลังจากนั้นหมอพราหมณ์จะทำพิธีผูกข้อมือให้ ตามด้วยญาติมิตรที่มาร่วมพิธีเพื่อให้กำลังใจเจ้าของขวัญ ทั้งนี้หลังจบพิธีสู่ขวัญและผูกข้อมูลแล้วไม่ควรแก้ด้ายผูกออกภายในสามวัน ควรรักษาไว้ให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวก่อน และการทิ้งด้ายนั้นควรทิ้งในสถานที่เหมาะสมห้ามทิ้งในที่สกปรกเพราะเชื่อว่าด้ายผูกข้อมือเป็นสิ่งมงคล เป็นจุดรวมแห่งขวัญและจิตใจบริสุทธิ์หลายดวงของผู้ร่วมพิธีสู่ขวัญจึงควรรักษาไว้ให้ดี ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งได้

ผู้นำพิธี

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ผู้นำในการประกอบพิธีกรรมของชาวแสกบ้านอาจสามารถหลักๆอาจแบ่งได้ตามลักษณะความเชี่ยวชาญ คือ ผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีและความเชื่อเหนือธรรมชาติกับผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับพุทธ

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีและความเชื่อเหนือธรรมชาติประกอบด้วย กวนจ้ำ และหมอสูด (หมอสู่ขวัญหรือหมอพราหมณ์) ซึ่งหน้าที่ของบุคคลเหล่านี้โดยเฉพาะกวนจ้ำจะเป็นผู้จัดเตรียมและทำพิธีกรรมเลี้ยงผี รวมทั้งทำหน้าที่แก้บนให้กับชาวบ้านที่มีปัญหา เป็นตัวสื่อกลางติดต่อระหว่างอำนาจเหนือธรรมชาติกับชาวบ้าน เพื่อบอกความต้องการของผีหรือถ่ายทอด ตีความสารที่ผีต้องการสื่อกับชาวบ้าน เช่น การเสี่ยงทาย รวมทั้งเป็นร่างทรงเพื่อให้ชาวบ้านซักถามตอบโต้หรือขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ในทุกวันพระวันโกนขะจ้ำจะต้องทำหน้าบูชาผี โดยนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ในนามของชาวบ้านทั้งชุมชนด้วย ทั้งยังต้องถือศีลประพฤติธรรม นุ่งขาวห่มขาวในช่วงดังกล่าวด้วย

สำหรับกวนจ้ำของชาวแสกบ้านอาจสามารถเพื่อทำหน้าที่ในพิธีกรรมไหว้และเลี้ยงผีนั้นแบ่งเป็นสองศาลโดยใช้คนละกวนจ้ำ คือ กวนจ้ำศาลเดนหวั่วโองมู้กับกวนจ้ำศาลเจ้าหมื่นหัวดอน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นกวนจ้ำศาลเดนหวั่วโองมู้ที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ส่วนศาลเจ้าหมื่นหัวดอนเป็นเพศหญิง

ส่วนหมอสูตรหรือหมอพราหมณ์นั้นจะเป็นผู้ทำหน้าที่สร้างความมั่นใจ ความเป็นสิริมงคลและลดทอนความกังวลของผู้ที่ขอให้ทำพิธีกรรมให้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เช่น การสะเดาะเคราะห์ การบายศรีสู่ขวัญในโอกาสวันเกิด วันแต่งงาน วันขึ้นบ้านใหม่ หรือเฉลิมฉลองในความสำเร็จบางอย่าง อาทิ สอบได้ สอบผ่าน หรือสร้างขวัญกำลังในโอกาสที่หายจากการเจ็บป่วย รอดจากอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่สร้างอกสั่นขวัญหาย รวมทั้งสร้างความมั่นใจในโอกาสที่จะเดินทางไกลต่างถิ่นเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นกวนจ้ำ หมอสูดหรือหมอพราหมณ์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนมีศีลธรรมอันดี และที่สำคัญเคยผ่านการบวชเรียนมาก่อน จึงมีความรู้ในขั้นตอนและรายละเอียดของการประกอบพิธีกรรม สามารถท่องจำ กล่าวโศลก คำสู่ขวัญและคาถาต่าง ๆ ได้ ซึ่งในกรณีกวนจ้ำศาลเดนหวั่วโองมู้นั้น ชาวไทแสกจะคัดเลือกจากบุคคลผู้สูงอายุที่มีความซื่อสัตย์ไม่เคยกระทำผิดศีลธรรม ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทแสกในหมู่บ้านเพื่อทำหน้าที่ช่วยดูแลรักษาศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ให้เรียบร้อย รวมทั้งเป็นผู้ทำพิธีกรรม เป็นสื่อกลางระหว่างโองมู้กับชาวบ้าน ทั้งนี้ในทุกวันพระขึ้น 15 ค่ำกวนจ้ำต้องนำธูปเทียนดอกไม้ไปทำพิธีไหว้ที่ศาล

สำหรับผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับพุทธของชาวแสกบ้านอาจสามารถคือพระสงฆ์ ซึ่งวัดประจำชุมชนคือวัดมงคลบุรีศักดาราม เช่นเดียวกับคนอีสานทั่วไปที่วัดมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ในแง่เป็นสถานที่ประกอบกิจทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานบุญประเพณีประจำเดือน (ฮีตสิบเดือน) ซึ่งต้องอาศัยพระสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการและพื้นที่วัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม รวมทั้งการนิมนต์พระสงฆ์ไปเป็นการส่วนตัวที่บ้านเพื่อประกอบกิจทางศาสนาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้ทุกเช้ามืดตั้งแต่เวลา 05.00 น. วัดจะใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเพลง เสียงเทศน์หรือเสียงสวดมนต์ส่งเสียงตามสายทุกวัน โดยเฉพาะวันพระหรือวัดสำคัญทางพุทธศาสนา วัดจะใช้เครื่องขยายเสียงทำกิจกรรม มีการเชิญชวนญาติโยมมาร่วมงานที่วัดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ชุมชนรับรู้อยู่เสมอ

การเกิด การคลอดบุตร

การคลอดบุตรของชาวแสกบ้านอาจสามารถในปัจจุบันส่วนใหญ่นิยมจะไปคลอดที่โรงพยาบาล ไม่นิยมคลอดแบบอาศัยหมอตำแยหรือหมอพื้นบ้านและยาสมุนไพรดังในอดีต อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าพบว่าในอดีตนั้น ไทแสกจะมีความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิดที่เคร่งครัดคือเมื่อแม่ตั้งครรภ์แก่ต้องอยู่บ้านเพื่อเตรียมตัวคลอดเพราะการคลอดลูกในอดีตมีความเสี่ยงสูงเพราะความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุขยังมีข้อจำกัด ดังนั้น ก่อนที่จะคลอดลูกไทแสกจะมีพิธีกรรม “ผูกไก่ขาวก่อนคลอดลูก” เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับหญิงตั้งครรภ์ โดยการให้หญิงตั้งครรภ์แก่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยงามนั่งอยู่กลางวงญาติมิตรที่มาร่วมพิธี จากนั้นนำไก่ขาวมาให้หญิงมีครรภ์อุ้มไว้ หมอสูดผู้ทำพิธีและญาติผู้ใหญ่จะทำการผูกขาไก่และผูกข้อมูลหญิงมีครรภ์เพื่อให้เป็นเพื่อนกับไก่ขาว จากนั้นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจะทำการผูกข้อมือกันจนครบทุกคน เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงรับประทานอาหารร่วมกันและอวยพรให้หญิงมีครรภ์ ซึ่งการทำพิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้คลอดลูกง่ายเหมือนไก่ออกไข่ ส่วนไก่สีขาวนั้นมีความหมายเชิงสัญลักษณ์หมายถึงความบริสุทธิ์ของเด็กที่จะเกิดมา ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขาวสะอาดดังขนไก่ขาว

สำหรับการคลอดลูกของชาวไทแสกนั้น เนื่องจากค่านิยมในอดีตนั้นผู้หญิงจะมาอยู่บ้านฝ่ายชาย ดังนั้น เมื่อใกล้จะคลอดลูก ผู้หญิงจึงกลับไปคลอดที่บ้านเกิดตัวเอง เพื่อให้แม่และญาติพี่น้องช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด ระหว่างที่ทำคลอดนั้นห้ามผู้ชายเข้าไปช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องใด ๆ ในห้องคลอด กิจที่พอทำได้คือการเตรียมต้มน้ำร้อนไว้ให้ ครั้นเด็กคลอดแล้วหมอตำแยจะทำการผูกสายสะดือด้วยด้ายสีดำ โดยผูกเป็นสองกระเปาะรัดให้แน่นเพื่อไม่ให้เลือดเดินซึ่งจะทำให้ เด็กอ่อนไม่รู้สึกเจ็บมากเวลาตัดสายสะดือ จากนั้นนำรก (หน่วง) ไปล้างให้สะอาดแล้วนำไปฝังดินไว้ใต้บันใดเรือนเพื่อเชื่อว่าจะทำให้เด็กโตขึ้นเป็นคนสัตย์ซื่อ โดยให้ผู้หญิงมีอายุไปก่อกองไฟบนหลุมที่ฝังเพื่อช่วยให้สายรกที่ฝังอยู่แห้งเร็วไม่ส่งกลิ่นและป้องกันไม่ให้สัตว์คุ้ยเขี่ย นอกจากนี้เมื่อสายสะดือแห้งหลุดออกมา ผู้ปกครองจะเก็บไว้เพื่อนำมาแช่น้ำให้น้องคนต่อไปดื่ม เชื่อว่าจะทำให้พี่น้องรักใคร่กัน

ในส่วนของ “การอยู่ไฟ” ของแม่ลูกอ่อนนั้น ถ้าคลอดตอนกลางวันต้องอยู่ไฟในตอนเย็นเลย แต่ถ้าคลอดตอนกลางคืนต้องอยู่ไฟในวันรุ่งขึ้น โดยก่อไฟใต้แผ่นกระดานที่ยกร้านขึ้นสูงราวเมตร แม่ลูกอ่อนจะนอนคว่ำหน้าเพื่อรับความร้อนจากกองไฟ ระหว่างนั้นต้องดื่มน้ำต้มสมุนไพรและอาบน้ำร้อน ซึ่งช่วง 5 วันแรกสามารถกินได้เฉพาะข้าวจี่กับข่าดำหรือเกลือ หลังจากนั้นจึงสามารถกินของแห้งได้ เช่น ปลาแห้ง ไก่แห้ง สำหรับของแสลงที่ห้ามกินเด็ดขาดระหว่างอยู่ไฟ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ เนื้อวัว เนื้อควาย และปลาที่มีเงี่ยง เชื่อว่าถ้ากินแล้วจะเป็นตะคริว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยและอาจเป็นลมได้ แม่ลูกอ่อนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจนกว่าจะออกไฟ ซึ่งใช้เวลาอยู่ไฟราว 10-15 วันในกรณีที่เป็นการคลอดลูกคนแรกท้องสาว ถ้าคลอดลูกคนต่อไปจะอยู่ไฟราว 7-10 วัน หากสามารถอยู่ครบตามกำหนดเชื่อว่าจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

เมื่อเอยู่ไฟครบกำหนดจะมีการออกไฟหรือ “ออกคอยกรรม” ซึ่งจะมีการเชิญผู้หญิงในชุมชนราว 9-10 คน มาดื่มน้ำร้อนสมุนไพร โดยผู้ที่มาเยี่ยมจะใช้กระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวตักน้ำร้อนจากหม้อ แล้วแบ่งใส่ถ้วยให้แม่ลูกอ่อนและตัวเองดื่มคนละครึ่ง ถ้าแม่ลูกอ่อนคลอดลูกชายต้องดื่มอย่างน้อยเก้าถ้วย แต่ถ้าคลอดลูกผู้หญิงต้องดื่มอย่างน้อยเจ็ดถ้วย ซึ่งในการไปเยี่ยมแม่ลูกอ่อนออกไฟนั้น ผู้หญิงที่ไปเยี่ยมหากมีลูกผู้หญิงที่รู้เรื่องแล้วจะนำลูกสาวไปด้วยเพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างเด็กหญิงกับแม่ลูกอ่อนและทารก เพราะเมื่อแม่ลูกอ่อนอุ้มลูกไปในชุมชนในภายหลัง เด็กผู้หญิงที่ไปวันออกไฟเหล่านั้นจะได้เกิดคุ้นเคยและกล้าที่ขออุ้ม ขอสัมผัสทารก และเมื่อเด็กทารกเติบโตขึ้นจะทำเกิดความคุ้นเคยกับเด็กผู้หญิง ซึ่งวิธีการแบบนี้เป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมรูปแบบหนึ่งเพื่อสร้างสำนึกความเป็นพวกเดียวกัน เกิดความคุ้นเคยและรักใคร่กันในระบบเครือญาติและชุมชนไทแสกตามมา แม้ในปัจจุบันชาวไทแสกบ้านอาจสามารถจะเข้าถึงระบบสุขภาพได้มากขึ้นและเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มีความก้าวหน้า แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงสืบสานและยึดถือปฏิบัติกันทั่วไป

การแต่งงาน

รูปแบบการแต่งงานของไทแสกบ้านอาจสามารถดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ กล่าวคือ มีการสืบทอดตระกูลทางฝ่ายชาย ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากการอยู่ในสังคมใกล้ชิดวัฒนธรรมเวียดนามที่ได้อิทธิพลขงจื้อ ดังนั้น จึงทำให้คนแสกส่วนใหญ่ในอดีตอยากได้ลูกที่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้เพื่อสืบสกุลและดูแลมรดกของครอบครัว ด้วยค่านิยมเพศชายเป็นใหญ่ดังกล่าวนี้จึงทำให้ชาวไทแสกบ้านอาจสามารถให้ความสำคัญกับบุรุษ โดยการเคารพและให้เกียรติผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งหากครอบครัวใดมีลูกชายหลายคน พ่อแม่จะพิจารณาลูกชายคนสุดท้องหรือคนที่อ่อนแอกว่าพี่น้องทุกคนได้ครองเรือนหรือ “แทนมูน” (มรดก) ของพ่อแม่ต่อไป

ดังนั้น ในอดีตชาวไทแสกบ้านอาจสามารถจึงสืบผีและสายตระกูลทางฝ่ายชาย โดยหลังแต่งงานแล้วผู้หญิงจะมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย นอกจากนี้รูปแบบครอบครัวของชาวแสกบ้านอาจสามารถในอดีตเมื่อราวก่อนทศวรรษ 2520 นั้น ส่วนใหญ่มีค่านิยมในการแต่งงานกับคนในชุมชนที่เป็นชาติพันธุ์แสกเท่านั้น ภายหลังจึงได้เริ่มแต่งงานกับคนนอกกลุ่มชาติพันธุ์ (Exogamy) มากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับขั้นตอนของการแต่งงานไทแสกในอดีตนั้น จะเริ่มจากเมื่อฝ่ายหญิงและชายชอบพอกัน ซึ่งต้องเป็นที่ยินยอมของผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายด้วย จากนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายชายถึงไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิงโดยดำเนินการผ่าน “ล่าม” เพื่อเป็นตัวแทนตกลงค่าสินสอด รายละเอียดต่าง ๆ และกำหนดฤกษ์ยาม โดยฝ่ายชายจะจัดเตรียมขันธ์ห้า เหล้าขาว ส่วนข้างฝ่ายหญิงจะเตรียมต้อนรับโดยมีน้ำ หมาก พลู ยา ข้าวปลาอาหาร เมื่อตกลงกันได้จะมีการประกาศค่าสินสอดของหมั้นเปิดเผยต่อสาธารณะให้รับรู้ โดยฝ่ายหญิงจะเรียกของหมั้นไว้เป็นค่ามัดจำอาจจะประมาณหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ของค่าสินสอดทั้งหมด เพื่อว่าฝ่ายหญิงจะได้นำเป็นทุนใช้จ่ายในการจัดเตรียมงานตามประเพณี ซึ่งฤกษ์ยามในการแต่งงานไทแสกซึ่งนิยมกำหนดวันมงคลที่ตรงกับวันขึ้น 1,6,11,15 ค่ำ

เมื่อถึงวันทำพิธีแต่งงานในช่วงเช้าฝ่ายชายจะนำขบวนมาพร้อมกับพาขวัญแห่หรือ “แหร่โต๋ย” มายังบ้านฝ่ายหญิง โดยเจ้าบ่าวจะสวมเสื้อสีขาวคอบัว นุ่งผ้าหางโจงกระเบน ใส่กางเกงขาสั้นสีดําข้างใน มีผ้าเบี่ยงขาวพาดไหล่ ทาแป้ง จะมีคนคอยถือร่มกลางให้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ส่วนเพื่อนเจ้าบ่าว ก็ให้แต่งตัวคล้ายกัน มีฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง กลองแห่ประโคม ครั้นขบวนเจ้าบ่าวมาถึงหน้าบ้านเจ้าสาวจะมีการนำเชือกควายหรือผ้าขาวม้ามาปิดกั้นเส้นทางเข้าบ้าน และจะมีใบตอง หินรับมีด หญ้าแพรกมาวางไว้ขวางทางเดิน โดยเชื่อว่าสิ่งของเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์อันเป็นมงคลในการใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะสามีภรรยา ทั้งนี้ใบตองมีความหมายของการอุ้มชูดูแลกัน เพราะคุณสมบัติของใบตองสามารถอุ้มน้ำได้ไม่ซึมลอดหายไป ส่วนหินรับมีดซึ่งมีความหนักนั้นสื่อความหมายถึงความหนักแน่นและความมั่นคงของการใช้ชีวิตครอบครัว ไม่หูเบาหรือโลเลแอนเอนง่าย สำหรับหญ้าแพรกสื่อถึงความร่ำรวยงอกงามเพราะหญ้าแพรกโตและแพร่ได้เร็วจึงเหมือนถึงชีวิตครอบครัวที่อุดมด้วยทรัพย์สินศฤงคารมีเงินทองไหลมาเทมาหาชีวิต

ดังนั้น การที่เจ้าบ่าวจะผ่านเข้าไปในบ้านเจ้าสาวได้นั้น จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจเป็นสุราหรือของกำนัลเพื่อแสดงถึงน้ำใจ จากนั้นเมื่อฝ่ายเจ้าสาวอนุญาตให้เข้าบ้านแล้วก่อนที่เจ้าบ่าวจะขึ้นบันใดจะมีเด็กนำน้ำมาล้างเท้าให้บนใบตองที่วางขวางไว้และเจ้าบ่าวต้องเสียเงินค่าผ่านประตูบ้านแก่เด็กที่ล้างเท้าให้ด้วย หลังจากนั้นจึงยกพาขวัญฝ่ายชายมาวางคู่กับพาขวัญฝ่ายหญิง แล้วจึงเข้าสู่พิธีแต่งงานโดยเริ่มจากการสู่ขวัญให้คู่บ่าวสาวซึ่งจะมีหมอสูตรหรือหมอพราหมณ์ในหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการให้ มีการผูกข้อต่อแขนให้กับคู่บ่าวสาวด้วยด้าย และนำค่าสินสอดมอบให้ฝ่ายหญิง มีการอวยพรให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาวโดยผู้อาวุโสและปิดท้ายด้วยการเลี้ยงอาหารผู้ที่มาร่วมงาน

อนึ่ง หากฝ่ายหญิงจะไปอยู่บ้านฝ่ายชายตามค่านิยมของไทแสก จะต้องมีการทำพิธีนำฝ่ายหญิงไปบ้านฝ่ายชายด้วยการนำคู่บ่าวสาวไปทำพิธีเซ่นไหว้ที่ห้องพระหรือห้องผีของครอบครัวฝ่ายชายก่อน เพื่อขอขมาและบอกกล่าวผีบรรพบุรุษของฝ่ายชายให้รับทราบ แล้วจึงกราบไหว้พ่อแม่ฝ่ายชาย จากนั้นจะมีการส่งคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ จึงถือเป็นอันเสร็จพิธีโดยสมบูรณ์

การตายและการทำศพ

ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของไทแสกบ้านอาจสามารถแบ่งการตายออกเป็นสองกรณี คือ หากป่วยตายจะนำศพไปไว้บนบ้าน แต่ถ้าตายด้วยอุบัติเหตุจะไม่นำศพไปไว้บนบ้าน ที่น่าสังเกตคือหากบ้านใดมีคนตายและจัดงานศพจะไม่บอกให้ชาวบ้านคนอื่นทราบ เว้นแต่จะรู้เองแล้วถึงมาช่วยงาน ส่วนขั้นตอนการจัดงานศพนั้น ในกลุ่มญาติจะมีการแบ่งงานกันทำ เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือนและบริเวณโดยรอบบ้าน เตรียมน้ำไว้ใช้ หาไม้มาซ่อมแซมเรือนและทำโลงศพ จัดเตรียมอาหาร ส่วนญาติสนิทจะแต่งตัวให้ศพ เอาเงินเหรียญใส่ปากศพเพราะเชื่อว่าเป็นการจ้างไม่ให้ผู้ตายพูด บ้างเชื่อว่าให้เป็นทรัพย์สินไปใช้ในชีวิตหลังความตาย มีการจัดสำรับกับข้าวไว้ข้างโลงศพเพื่อให้คนตายกิน สำหรับอาหารที่ทำเลี้ยงผู้ที่มาช่วยงานศพจะห้ามทำอาหารประเภทเส้น เช่น ขนมจีน แกงวุ้นเส้นหรืออาหารที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนตายยังห่วงอาลัยหรือยังมีความสัมพันธ์กับคนเป็นที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สิ้นสุด

สำหรับการเก็บศพไว้ทำพิธีกรรมทางศาสนาของไทแสกบ้านอาจสามารถนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 1-2 วัน ระหว่างนั้นญาติจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายที่บ้าน จากนั้นจึงนำศพไปทำพิธีที่ป่าช้า ทั้งนี้ไทแสกมีความเชื่อว่าไม่ให้เผาศพตรงกับวันอังคารและวันพระ โดยก่อนเผาศพนั้นจะทำการล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าวซึ่งคนที่ทำหน้าที่ล้างหน้าผู้ตายส่วนใหญ่จะเป็นญาติผู้ใกล้ชิด จากนั้นทำการปิดโลงศพ แล้วทำพิธีถวายทาน ชักผ้าบังสุกุล ถวายผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วจึงทำพิธีเผา หลังจากนั้นพอครบสามวันญาติผู้ตายจะทำบุญแจกข้าวอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายโดยการทำปราสาทกาบกล้วยปักสมุดดินสอถวายพระ เชื่อว่าจะได้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ตายในโลกหน้า

อนึ่ง ในงานพิธีเผาศพจะมีการละเล่นที่เรียกว่า “ขึ้นบั้ง” โดยจะทำการเล่นก่อนที่จะเผาศพ ซึ่งผู้ที่เล่นได้จะเป็นผู้ที่เรียนคาถาอาคม ในการเล่นจะใช้ผู้เล่นสามคน อุปกรณ์ประกอบการเล่น คือ ไม้ไผ่สดที่มีขนาดใหญ่เท่าต้นขาคน โดยเป็นลำที่มีปล้องยาวสองปล้อง ทะลวงให้ปล้องกลวงเพียงด้านเดียว นอกจากนี้ยังต้องมีถ่านไฟที่ยังไม่ติดไฟสำหรับใช้เผาศพจำนวนเจ็ดก้อน วิธีการเล่นจะเริ่มจากให้ผู้เล่นสองคนจับปล้องไม้ไผ่ให้มั่นโดยยกให้สูงจากพื้นราวครึ่งเมตร หันช่องที่กลวงของปล้องไผ่ขึ้นด้านบนในลักษณะแนวดิ่ง จากนั้นผู้เล่นอีกคนจะเริ่มบริกรรมคาถาเป็นภาษาแสกแล้วจึงหย่อนถ่านไฟลงไปในปล้องไม้ไผ่ทีละก้อน เล่ากันว่าปล้องไม้ไผ่ที่ถูกจับด้วยผู้เล่นสองคนพยายามจะพุ่งขึ้นมาด้านบน ดังนั้น ผู้เล่นจะต้องจับปล้องไม้ไผ่ให้มั่นโดยกดลงข้างล่าง เล่าว่าบางคนกดลงจนสุดแรงแต่สู้แรงพุ่งขึ้นของปล้องไม้ไผ่ได้ บางคนถูกยกขึ้นจนเท้าลอยพ้นดิน จนเมื่อเหนื่อยหรือหมดแรงอาจต้องเปลี่ยนคนเล่น ซึ่งคนที่บริกรรมคาจะทยอยหย่อนถ่านไฟลงไปในปล้องไม้ไผ่จนหมด ซึ่งผู้ที่อยากพิสูจน์จะเข้ามาร่วมเล่นจนได้เวลาอันควรจึงเลิกเล่นและทำพิธีเผาศพ

ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

ไทแสกบ้านอาจสามารถมีความเชื่อในผีบรรพบุรุษ โดยในเรือนจะมีห้องพระและหิ้งผี โดยอาจติดรูปถ่ายของญาติที่เสียชีวิตไว้ที่ฝาผนังห้อง ทั้งนี้พิธีเซ่นไหว้จะทำในโอกาสต่าง ๆ เช่น การบอกกล่าวหรือขอขมาเมื่อมีการผิดผี หรือในกรณีที่มีเขยหรือสะใภ้เข้ามาอยู่ร่วมในเรือน รวมทั้งมีการเซ่นไหว้ตามบุญฮีตสิบสองซึ่งเหมือนคนอีสานทั่วไป คือ ในงานบุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก ชาวแสกจะจัดเตรียมสำรับอาหารไปทำบุญที่วัดและใส่ในกระทงไปวางไว้ในบริเวณวัดเพื่อเรียกให้ผีบรรพบุรุษมารับส่วนบุญที่อุทิศให้

นอกจากผีบรรพบุรุษประจำครอบครัวแล้ว ไทแสกบ้านอาจสามารถยังมีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษประจำชุมชนด้วย คือ โองมู้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการเซ่นไหว้อยู่สองลักษณะคือ การเซ่นไหว้ที่ดำเนินในลักษณะส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้จำกัดเวลาขึ้นอยู่กับโอกาสและเงื่อนของตัวบุคคลนั้น ประกอบด้วย “การบ๊ะ” (การบน) และ “เก่บ๊ะ” (การแก้บน) และที่ชัดเจนคือ “การคอบเข้า” ”การคอบออก” เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการสืบผีและสายตระกุลไทแสกบ้านอาจ เนื่องจากเป็นพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเป็น “คนในหรือคนนอก” กล่าวคือมีฐานะการเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกของชุมชนไทแสกบ้านอาจสามารถ โดย “การคอบเข้า” หมายถึงพิธีการขออนุญาตโองมู้เพื่อให้รับเข้าเป็นลูกหลานของโองมู้และเป็นสมาชิกของชุมชนไทแสก ซึ่งบุคคลที่จะทำพิธี “คอบเข้า” นั้น มักจะเป็นลูกสะใภ้หรือลูกเขยของชาวไทแสก รวมทั้งบุคคลอื่นที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในชุมชนบ้านอาจสามารถ ส่วน “การคอบออก” เป็นพิธีที่ทำขึ้นในกรณีที่มีบุคคลในชุมชนไทแสกมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่นหรือไม่ได้เป็นเขยหรือสะใภ้ของไทแสกแล้วและต้องย้ายไปอยู่นอกชุมชนจะต้องทำพิธีบอกกล่าวโดยการ “คอบออก” จากการเป็นลูกหลานของ “โองมู้”

นอกจากนี้ยังมีการเซ่นไหว้โองมู้ในลักษณะร่วมหมู่หรือดำเนินการร่วมกันทั้งชุมชน โดยจะจัดขึ้นในวันตรุษแสกของทุกปี ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 หรืออาจเรียกว่า “พิธีกินเตดเดน” (กิ๋นเตด) ในวันนั้นชาวบ้านอาจสามารถไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลจะต้องมาร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงด้วยอาหารคาวหวานเพื่อแสดงความเคารพศรัทธาและความกตัญญูต่อโองมู้ที่เป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งกล่าวได้ว่าการทำพิธีกรรมดังกล่าวนี้นอกจากนะมีส่วนสำคัญในการรักษาและสืบสานประเพณีแสกแล้ว ยังเป็นสืบผีและสืบสายสกุล รวมทั้งจรรโลงระบบเครือญาติของชุมชนไทแสกในภาพใหญ่ด้วย เพราะเป็นการสร้างจิตวิญญาณของชุมชน สร้างความสมัครสมานสามัคคีทางสังคมผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธีกรรม

ไทแสกเชื่อว่า “โองมู้” เป็นวิญญาณผีบรรพบุรุษที่สิงสถิตอยู่ที่ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ซึ่งในอดีตนั้นมีลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาดเล็ก ฝาเรือนสานด้วยไม้ตาห่าง ลายตามะกอก ภาษาแสกเรียกว่า “รานส่า” (บ้านห่าง) ปัจจุบันได้รับการสร้างให้มีขนาดใหญ่ดูโอ่โถง โดยบริเวณรอบนอกระเบียงจะมีการจำลองอาวุธโบราณ คือ หอก (หมัก สั่มโหม่) ดาบ (หมัก ตร๋าว) ปืน (หมัก ถรุ่ง) ไม้กระบอก (หมัก หง่อน) และง้าว (หมัก หร่าว) วางเรียงไว้ เพราะตามความเชื่อเล่าสืบกันมาว่าโองมู้เป็นนักรบผู้กล้า ดังนั้นจึงต้องมีอาวุธประจำตัว

สำหรับขั้นตอนการเซ่นไหว้โองมู้ในพิธีกินเตดเดนนั้นจะเริ่มไม่เกิน 9 นาฬิกา โดยลูกหลานไทแสกทุกคนมาร่วมกันที่ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ พร้อมตระเตรียมสิ่งของมาทำพิธีด้วย โดยจะช่วยกันจัดเตรียม แยกประเภทเครื่องบูชา (ดอกไม้ ธูปเทียน ขันธ์ห้า) และเครื่องสังเวย (เหล้า เครื่องดื่ม อาหารคาว หวาน ผลไม้ หมากพลู ยาสูบ) เพื่อสำหรับในการทำพิธี จากนั้นกวนจ้ำจะเริ่มพิธีด้วยการจุดธูปเทียน เชิญดวงวิญญาณโองมู้มารับเครื่องสังเวยโดยกวนจ้ำจะทำพิธีเสี่ยงทายซึ่งอุปกรณ์แต่เดิมใช้เงินสตางค์แดงสองเหรียญ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ “ไม้แตรว” ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้กว้างหนึ่งนิ้ว ยาวสามนิ้ว โดยไม้แตรวด้านที่หนึ่งทาด้วยปูนสีขาว ส่วนไม้แตรวด้านที่สองไม่ได้ทา การเสี่ยงทายมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะรู้ว่าวิญญาณโองมู้จะมารับเครื่องสังเวยหรือไม่ โดยกวนจ้ำจะทำพิธีโยนไม้แตรวทั้งสองอันถ้าไม้แตรวคว่ำทั้งคู่แสดงว่าโองมู้ไม่รับอาหารนั้น แต่ถ้าโยนไม้แตรวแล้วคว่ำหนึ่ง หงายหนึ่ง แสดงว่ารับอาหารนั้น

ระหว่างที่โองมู้กำลังรับอาหารอยู่นั้น จะมีการทำพิธีบวงสรวงโดยการแสดงแสกเต้นสากรอบแรกโดยหนุ่มสาว ซึ่งในการแสดงแสกเต้นสากรอบนี้จะมีการเต้นจังหวะเร็วและจังหวะช้า หนุ่มสาวจะเย้าหยอกกัน ผู้เฒ่าผู้แก่เป้นผู้ให้จังหวะด้วยการปรบมือเป็นกำลังใจ จากนั้นกวนจ้ำจะทำพิธีเสี่ยงทายอีกครั้งว่าโองมู้อิ่มหรือยังโดยการโยนไม้แตรว ถ้าผลออกมาหงายเหมือนกันหรือคว่ำเหมือนกันแสดงว่ายังไม่อิ่ม การแสดงแสกเต้นสากจะต้องแสดงต่อไปอีกสักพัก แต่ถ้าทำพิธีเสี่ยงทายแล้วไม้แตรวคว่ำหนึ่ง หงายหนึ่งแสดงว่าอิ่มแล้ว จากนั้นจะมีการจัดเตรียมอาหารเพื่อรับประทานร่วมกันเมื่ออิ่มแล้วทุกคนในงานจะร่วมกันทำพิธีบวงสรวด้วยการแสดงแสกเต้นสากรอบที่สอง ซึ่งจะไม่เจาะจงว่าเป็นหนุ่มสาวเหมือนรอบแรก ทุกคนสามารถเข้าร่วมสนุกสนานได้หมด โดยอาจจะร่วมตีกลอง ตีฉาบ ตีฉิ่ง หรือจับไม้สากเคาะเป็นจังหวะ รวมทั้งร้องและร่วมเต้นสากด้วย

จากนั้นจะมีพิธีผูกข้อมือผู้เข้าร่วมงาน โดยเริ่มจากการผูกข้อมูลให้กวนจ้ำ ผู้ใหญ่ผูกข้อมือให้ผู้น้อย ผู้น้อยก็ผูกข้อมือให้ผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพและสร้างความสนิทสนมรักใคร่กัน เสร็จแล้วช่วยกันทำความสะอาดและกราบลาโองมู้เรียบร้อยจะมีการแห่ขบวนไปทำพิธีผูกข้อมือผู้สูงอายุที่ไม่ได้มาร่วมงาน โดยขบวนแห่จะมีการตีกลอง ร้องรำทำเพลงไปตามหมู่บ้านและทำการผูกข้อมือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้ทั้งนี้เป็นวิธีการหนึ่งในการให้กำลังใจและแสดงความเคารพผู้สูงอายุ ทั้งนี้ระหว่างแห่ขบวนผ่านบ้านเรือนอาจจะมีผู้มอบสิ่งของให้ตามศรัทธา เช่น เสื้อ ผ้าขาวม้า สิ่งของเครื่องใช้ ขนม เงิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการให้เหล้าสำหรับสร้างบรรยากาศให้ขบวนแห่ครึกครึ้นและสนุกสนานยิ่งขึ้น อนึ่ง สำหรับวิธีจัดการกับสิ่งของที่บริจาคนั้นจะมีคณะกรรมการทำหน้าที่รับและจัดประเภทสิ่งของที่ได้มาเพื่อทำการมอบให้แก่ผู้สูงอายุในวันรุ่งขึ้น ส่วนเงินที่ได้จากการบริจาคส่วนหนึ่งจะแบ่งเป็นกองกลางเพื่อนำไปบำรุงศาลเจ้าเดนหวั่ว


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : แสก


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี

ชลธี คำเกษ. (2553). คุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมในเรือนพื้นถิ่นชาวแสก กรณีศึกษาบ้านอาจสามารถ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมภายในมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.กรุงเทพฯ.

พณิฐา ยงพิทยาพงศ์ วีระศักดิ์ จุลดาลัย และภาวดี พันธรักษ์. (2548). การศึกษาเอกลักษณ์ชนเผ่าไทยแสกแถบลุ่มแม่น้ำโขง เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนพื่อการท่องเที่ยว กรณีศึกษาบ้านอาจสามารถ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม. นครพนม : มหาวิทยาลัยราชภัฎนครพนม.

ศิริวรรณ ซ้ายกลาง. (2550). หมู่บ้านวัฒนธรรมชนเผ่าไทยแสกบ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม. นครพนม : ร้านถ่ายเอกสารหนองแสง.

สุรจิตต์ จันทรสาขา. (ม.ป.ป.). จังหวัดนครพนมในอดีต. ม.ป.ท. ม.ป.พ.

Gedney, William J. THE SAEK LANGUAGE OF NAKHON PHANOM PROVINCE. JSS. VOL.58 (pt.1) 1970.

Pittayaporn, Pittayawat. (2012). Saek as a not-so-aberrant Tai language. Paper presented at the 22nd Annual Conference of Southeast Asian Linguistics Society. Agay, France. May 31-June 2.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (2509). นิทานโบราณคดี . พระนคร : สำนักพิมพ์พระจันทร์.

เติม วิภาคย์พจนกิจ. (2542). ประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ทองคูณ หงส์พันธุ์ (2522). ประมวลบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมเนื่องในนิทรรศการ "มูลมังอีสาน”. (เอกสารถ่ายสำเนา).


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว