เวียด สืบเชื้อสายมาจากชาวเวียดนามในพื้นที่ภาคใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง สันนิษฐานว่า ชาวเวียดนามกลุ่มแรกอพยพเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบัน ชาวเวียดตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย อาชีพดั้งเดิมในระยะแรกของการอพยพเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง ทำนา ทำสวนตามความถนัด จากบุคลิกและลักษณะนิสัยในการเป็นคนขยัน อดทน ประหยัด อดออม ทำให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ ด้านวิถีวัฒนธรรม คนกลุ่มนี้มีการธำรงอัตลักษณ์ผ่านการแต่งกาย การจัดงานเทศกาลเต๊ดหรือตรุษญวน เต๊ด (Tet) หรือวันตรุษ นับเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวเวียดนามในประเทศไทย ในขณะเดียวกับก็มีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : เวียด
ชื่อเรียกตนเอง : เหวียตเกี่ยว, ไทยใหม่
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ญวน, แกว, คนไทยเชื้อสายเวียดนาม, เวียดนาม
ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : เวียดนาม
ภาษาเขียน : จื๋อฮ้าน
ชาติพันธุ์เวียด หรือชาวเวียดนามในประเทศไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเสื้อสายมาจากชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงของประเทศจีนก่อนจะอพยพมายังแหลมอินโดจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงทางฝั่งทะเลจีนเมื่อประมาณ พ.ศ. 800 ในประเทศไทยมีการใช้ชื่อเรียกชาวเวียดนามแตกต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย อาทิ “ญวนเก่า” คือ ชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2474 “ญวนสวามิภักดิ์” คือ ชาวเวียดนามที่หนีฝรั่งเศสเข้ามาในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองและได้รับสัญชาติไทย “ญวนอพยพ” คือ ชาวเวียดนามกลุ่มใหญ่ที่สุดที่อพยพเข้ามาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ได้ปรากฏคำเรียกชาวเวียดนามว่า “แกว” ซึ่งแฝงไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์และนิยมเรียกกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ชาวเวียดนามจะมีคำเรียกตนเองว่า “เหวียตเกี่ยว” คำดังกล่าวใช้เรียกชาวเวียดนามอพยพหรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย “เหวียตกู๋” หรือชาวเวียดนามเก่า และ “ชาวเหวียตเหมย” ที่เป็นชาวเวียดนามอพยพปัจจุบันนิยมเรียกชาวเวียดนามว่า “ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม” ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นหรือดูแคลนทางชาติพันธุ์
ชาวเวียดนามกลุ่มแรกสันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เงื่อนไขสำคัญที่ชาวเวียดนามกลุ่มแรกตัดสินใจอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเพราะต้องการลี้ภัยสงครามและการกดขี่ทางศาสนา ขณะเดียวกันมีบางกลุ่มถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลยสงคราม ชาวเวียดนามกลุ่มแรกส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคกลาง และมีบางส่วนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับแม่น้ำโขง หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดและฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอิทธิพลเหนืออินโดจีนอีกครั้ง ได้มีการอพยพครั้งใหญ่ราว 4 - 5 หมื่นคน ชาวเวียดนามกลุ่มนี้หนีการกวาดล้างของฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ “วันท่าแขกแตก” ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะนั้นรัฐบาลไทยมีท่าทีที่เป็นมิตรต่อชาวเวียดนามอพยพเป็นอย่างมาก แต่หลังจาก พ.ศ. 2490 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายจำกัดพื้นที่และบีบคั้นชาวเวียดนามอพยพอย่างรุนแรง ความเข้มงวดที่รัฐไทยมีต่อชาวเวียดนามเริ่มคลี่คลายลงในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทำให้ชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทยทั้งหมดได้รับสัญชาติโดยปราศจากเงื่อนไข
ชาวเวียดนามในประเทศไทยยังคงดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนและมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของท้องถิ่น แม้ว่าช่วงหนึ่งอัตลักษณ์บางอย่างจะขาดหายไปและไม่อาจส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้จากการถูกจับตาโดยรัฐ แต่ในปัจจุบัน ชาวเวียดนามสามารถแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างเปิดเผยและมีชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยเข้ามามีบทบาทในท้องถิ่นมากขึ้น ปัจจุบัน มีชุมชนชาวเวียดนามกระจายตัวอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี หนองคาย อุดรธานี และสกลนคร นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มอาศัยอยู่ที่ภาคใต้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และพัทลุง ที่ภาคกลางโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นครนายก และมีบางส่วนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ศิวกร ราชชมภู
ชาวเวียดนามในประเทศไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจาก “ชาวเหวียต” ซึ่งเดิมอาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงของจีนก่อนจะอพยพมายังอินโดจีน (เพ็ชรีสุมิตร, 2522) สอดคล้องกับการศึกษาของเจริญ ไชยชนะ (2515) ที่กล่าวว่า คนเวียดนามเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงทางใต้ของจีนก่อนที่จะถูกรุกรานจากจีนและอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแหลมอินโดจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงทางฝั่งทะเลจีนเมื่อประมาณ พ.ศ. 800 อย่างไรก็ตาม พวกเวียดอาจเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของชาวเวียดนามแต่ก็มิใช่พวกเดียวซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งไทยและจีน และชาวเวียดนามเป็นส่วนผสมของกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มออสโตร – อินโดนีเซียนกับกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งทฤษฎีการปะปนกันของบรรพบุรุษของชาวเวียดนามนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานหลายประการ เช่น ภาษาเวียดนามเป็นส่วนผสมของภาษามอญ-เขมร (ภาษาอินโดนีเซียนมีระดับเสียงที่เสมอกันไปหมด) และภาษาไทย (ที่มีเสียงสูงต่ำ) และชาวเวียดนามยังเป็นกลุ่มคนที่เป็นผลจากการผสมของประชากรเผ่าอินโดนิเชียนกับชาวไทยในเวียดนามเหนือที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคแห่งนี้ การใช้เครื่องหมายแสดงความเชื่อถือของชาวเวียดนามรุ่นแรก ๆ การสักตามตัว และการเคี้ยวหมากซึ่งเป็นวิถีธรรมดาของชาวเอเชียอาคเนย์เชื้อสายออสโตรเมลาโน - อินโดนีเชียน โดยเชื่อกันว่าเผ่าออสโตร - อินโดนีเชียน บางเผ่าเดินทางขึ้นเหนือไปยังมณฑลกวางสีและกวางตุ้งของจีนและไปผสมผสานกับบรรพบุรุษของพวกเวียด ซึ่งลักษณะสังคมเริ่มแรกและประเพณีหลายอย่างสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ก่อนที่จะรวมกันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีการพูดภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน ประเทศเวียดนามเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นระยะเวลานานถึงหนึ่งพันปี คือระหว่าง 111 ก่อนคริสต์ศักราชและถูกปกครองสืบต่อมาจนถึงประมาณปี ค.ศ. 939 (พ.ศ.1482) จีนจึงหมดอำนาจลง จากนั้นเวียดนามจึงเป็นอิสระจากการปกครองของจีน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1883 (พ.ศ.2426) ที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาปกครองเวียดนามฝรั่งเศสแบ่งเวียดนามออกเป็นสามส่วนคือ โคจิจีน (ภาคใต้) อันหนำ (ภาคกลาง ) และตังเกี๋ย (ภาคเหนือ) อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ตกเป็นอาณานิคมมีกลุ่มชาตินิยมของเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศสอยู่เสมอทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการอพยพของชาวเวียดนามไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นภายในประเทศ (เพ็ชรีสุมิตร, 2522)
ชาวเวียดนามในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
การอพยพเข้ามายังประเทศไทยของชาวเวียดนามมีขึ้นหลายครั้ง และมีหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นจากการถูกกดขี่หรือถูกกดดันทางศาสนา หรือความยากจน การถูกกวาดต้อนเป็นเชลย การค้า การหนีการต่อสู้ภายในกับฝรั่งเศส การเข้ามาเพื่อตั้งฐานเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามรักชาติหรือกู้ชาติเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหนีการปราบปรามของฝรั่งเศสจากฝั่งลาว ทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด โดยในช่วงก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาจากข้อมูลในพงศาวดารเก่าแก่ของเวียดนามสมัยราชวงศ์เหงวียนเคยกล่าวถึงการติดต่อค้าขายกันทางทะเลระหว่างชาวเหวียตโบราณกับชนชาติ “เตียมลา” (Tiem La) หรือ “ซิกเดี๋ยว” (Xich Dieu) ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการสู้รบกันระหว่างสองชนชาตินับแต่ดินแดนดังกล่าวเมื่อนานมาแล้ว หากแต่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าชาวเวียดนามเข้ามายังประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏให้เห็นว่ามีชุมชนชาวเวียดนามตั้งหลักแหล่งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านหรือค่ายชาวต่างชาติรอบนอกกรุงศรีอยุธยา ชาวเวียดนามกลุ่มแรกที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์เดินทางมาจากประเทศเวียดนามตอนใต้โดยการเดินเรือผ่านทางทะเล (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
สำหรับการอพยพเข้ามายังประเทศไทยในสมัยอยุธยานั้นมีสาเหตุสำคัญจากการค้าและการถูกกดดันหรือการปราบปรามผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์การคงอยู่ของชุมชนหรือหมู่บ้านหรือค่ายของชาวเวียดนามตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหรือค่ายของชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา เช่น หมู่บ้านของชาวจีนโปรตุเกส มลายู ญี่ปุ่น ฮอลันดา เป็นต้น สำหรับชาวเวียดนามกลุ่มดังกล่าวอพยพเข้ามาทางทะเล ภาษาฝรั่งเศสเรียกชาวเวียดนามเหล่านี้ว่า “ชาวโคแชงชีน” ภาษาอังกฤษเรียก “ชาวโคชินไชนา” ซึ่งหมายถึง ชาวเวียดนามทางใต้ และหมู่บ้านนี้ถูกเรียกว่า “ค่ายหรือหมู่บ้านโคแชงชีน” ชาวโคแชงชีนนี้เป็นชาวคริสต์ ทำเกษตรกรรมและงานหัตถกรรม สำหรับสาเหตุการย้ายถิ่นนี้ มาจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างขุนนางตระกูลจิ่งห์ หรือ ตริ่นห์ และเหงียน และประการสำคัญคือ การถูกข่มเหงจากการนับถือศาสนาคริสต์ทำให้เกิดการอพยพออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ตลอดรัชสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2241 - 2251) ชาวเวียดนามที่เป็นคริสต์ลดน้อยลงเนื่องจากความชิงชังและการข่มเหงรังแกอย่างรุนแรงจากราชสำนักด้วยเกรงว่าชาวตะวันตกจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของราชสำนักอยุธยา และด้วยความใกล้ชิดที่มีต่อบาทหลวงชาวตะวันตกจึงถูกทางการหวาดระแวงและถูกคุกคามไปด้วย (ผุสดี จันทวิมล, 2541 อ้างถึงใน ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
ในสมัยกรุงธนบุรี หรือในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 2310 - 2325) มีการอพยพหนีภัยการสู้รบชิงอำนาจของกลุ่มไตเซิน จากเมืองบันทายมาศ หรือ ห่าเตียน ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้องชายเจ้าเมืองเว้นามว่า “เหงวียนเฟื้อกซวน” หรือ องเชียงซุน เป็นแกนนำอพยพพร้อมด้วยผู้ติดตามจำนวนหนึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรีในราว พ.ศ. 2319 แต่ต่อมากลับถูกจับประหารชีวิตเนื่องจากต้องการหนีกลับเวียดนาม ขณะเดียวกันผู้ติดตามที่มาด้วยพร้อมกันนั้นบางส่วนถูกเนรเทศให้ออกไปอยู่นอกเขตพระนคร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงทรงให้ชาวเวียดนามกลุ่มดังกล่าวกลับมาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ ดังเดิม พร้อมทั้งพระราชทานเงินทอง อาหาร และเสื้อผ้า และให้ตั้งบ้านเรือนในเขตเดิมที่เคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี ซึ่งก็คือ หนองระโหน ตำบลบ้านหม้อ หรือถนนพาหุรัดในปัจจุบัน และอีกที่หนึ่งคือตำบลบางโพ (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
ต่อมา พ.ศ.2325 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีชาวเวียดนามอีกกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร คือ “เหงวียนฟุกแอ๋งห์” หรือ องเชียงสือ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน และเป็นหลานชายของเหงวียน เฟื้อก ซวน พร้อมผู้ติดตาม ได้หนีกบฏไต เซิน เข้ามาในสยาม มาพำนักที่เกาะกระบือ ต่อมาอีกหนึ่งปีได้ถูกนำตัวเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยทรงมีพระเมตตาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านต้นสำโรง ตำบลคอกกระบือ ปัจจุบันอยู่บริเวณริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองผดุงกรุงเกษม และพระราชทานเงินเบี้ยหวัดให้ปีละ 5 ชั่ง เครื่องยศถาดหมาก คนโฑทอง กลดคันส้ม กระบี่บั้งทอง รวมทั้งชาวเวียดนามที่ติดตามมาก็ได้รับเบี้ยหวัดเช่นกันหากเป็นข้าราชการ และอนุญาตให้สามารถทำการประมงได้อย่างสะดวก เหงวียนฟุกแอ๋งห์ อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะแอบหนีออกไปทำสงครามกู้บ้านเมืองของตน ซึ่งต่อมาได้รับชัยชนะและสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิญา ลอง ที่เมืองเว้ ใน พ.ศ. 2345 สิ่งสำคัญที่ชาวเวียดนามอพยพกลุ่มนี้ได้นำติดตัวมาด้วย คือ พุทธศาสนาแบบมหายาน (ปัจจุบันแพร่หลายในเวียดนามใต้) จึงได้เกิดพุทธศาสนาอนัมนิกายขึ้น (เฉพาะกลุ่มชาวเวียดนาม) และยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบันชาวเวียดนามกลุ่มนี้ได้กลมกลืนเข้ากับสังคมไทยและลูกหลานได้อาศัยอยู่ที่ชุมชนนางเลิ้งและสะพานขาวในกรุงเทพฯ บางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์แยกไปอยู่ที่สามเสนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวเวียดนามกลุ่มนี้เป็นผู้ช่วยบาทหลวงฝรั่งเศสสร้างโบสถ์หลายแห่งจนเกิดศึกแย่งชิงกันระหว่างชาวเวียดนามพุทธและคริสต์ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีคนเวียดนามมาจากตั๋งเกี๋ยทางบก และอยู่เกาะกลุ่มเป็นหมู่บ้านต่างหากในบริเวณเดียวกัน ทำให้บ้านญวนสามเสนเป็นหมู่บ้านเวียดนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชาวเวียดนามที่บางโพดูแลกันเอง และเรียกว่า “ญวนบางโพธิ์” ต่อมาย้ายไปที่สามเสนและเรียกว่า “หมู่บ้านญาลอง” เพื่อเป็นการรำลึกถึงจักรพรรดิซาลอง หรือ ญาลอง ผู้ที่นำชาวเวียดนามกลุ่มนี้เข้ามาและเชื่อว่ามีส่วนช่วยพัฒนาและสร้างกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องการกำลังแรงงานในการทำงานอีกทั้งชาวเวียดนามเป็นแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญหลายด้านจึงเป็นกำลังสำคัญ ปัจจุบันลูกหลานของพวกเขาอาศัยอยู่ที่บ้านญวน สามเสน และโบสถ์กาลหว่าร์ (วัดแม่พระลูกประคำ) เขตเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ แม้จะเป็นคนไทย แต่ชาวเวียดนามเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกดูดกลืนเข้าสู่สังคมไทย เนื่องจาก ความแตกต่างกันทางศาสนา ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ผันตัวเองเป็นครูสอนที่โรงเรียนเซนต์ คาเบรียล (St. Gabriel's College) โรงเรียนมัธยมที่ดำเนินการโดยพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสแห่งคณะภราดาชาวคริสต์ และในช่วงปัญหาชายแดนจากกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ. 2483 มีครูจำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส (Varophas, 1966; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367 - 2394) การอพยพเข้ามาของชาวเวียดนามเริ่มลดน้อยลงอันเนื่องมาจากการลงนามในสัญญาสามฝ่ายคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2389 การเข้ามาในช่วงนี้ส่วนใหญ่มาในรูปแบบของเชลย โดยแม่ทัพไทยในกัมพูชาได้กวาดต้อนชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาเป็นเชลยศึกประมาณ 300 คน และเพิ่มอีก 200 คนใน พ.ศ. 2383 การกวาดต้อนเชลยชาวเวียดนามเกิดจากเหตุผลที่ต้องการชดเชยกำลังคนที่ขาดแคลนไปจากภาวะสงคราม และเพื่อนำไปเป็นรางวัลให้แก่ขุนนาง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394 - 2411) มีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในเขตภาคอีสาน อันเนื่องมาจากเหตุผลความยากจน การปรามปรามทางศาสนา ขณะเดียวกันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการขยายและพัฒนาพื้นที่อีสาน นโยบายดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ต่อชาวเวียดนามอพยพกลุ่มนี้อย่างมาก ชาวเวียดนามที่อพยพมาช่วงเวลาดังกล่าวมาจากภาคกลาง มีพื้นเพเป็นชาวนา ประสบกับความยากลำบากจากปัญหาการเกษตร ได้เริ่มอพยพเข้ามายังสยามผ่านทางบก ข้ามภูเขาเจื่อง เซิน ที่กั้นระหว่างเวียดนามและลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาในอีสาน โดยตั้งหลักแหล่งตามหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง ถือว่าเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามายังภาคอีสาน ที่สำคัญยังได้รับอนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนตามความสมัครใจและสามารถเข้าประเทศมาได้โดยสะดวก ขณะเดียวกัน ยังมีชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ที่หนีการปรามปรามทางศาสนาของกษัตริย์ตึ ดึ๊ก แห่งราชวงศ์เหงวียน ได้อพยพเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนกว่า 4,000 คน กลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอท่าแร่ จังหวัดสกลนคร และยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ชาวเวียดนามที่เข้ามายังประเทศไทยช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ แม้จะอยู่แยกตัวออกจากสังคมชาวพุทธ แต่กลับสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้โดยไม่พบความขัดแย้ง มีการแต่งงานข้ามศาสนา ซึ่งโดยปกติในเวียดนามจะไม่มีการแต่งงานข้ามศาสนาเช่นนี้เกิดขึ้น (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า (พ.ศ. 2412 - 2453) เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสสามารถยึดครองเวียดนามได้แล้ว และได้มีนโยบายการปกครองแบบขูดรีด กดขี่ประชาชน โดยเฉพาะชาวนา เนื่องจาก ถูกกดขี่จากหลายระดับนับแต่ชนชั้นศักดินา เจ้าของที่ดินและจากเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ทำให้ชาวนาเหล่านี้ต้องหนีออกจากเวียดนามเพื่อหาโอกาสในชีวิตใหม่ นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปก็ยังพยายามหนีการกดขี่ และความขัดสนอัตคัดเช่นกัน ชาวเวียดนามเหล่านี้เลือกเดินทางข้ามภูเขาเจื่องเซิน มายังประเทศลาวและมุ่งหน้ามายังแม่น้ำโขงและข้ามเข้ามายังสยาม นอกจากกลุ่มชาวนาและประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีชาวเวียดนามที่เป็นกลุ่มรักชาติและต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสหลบหนีเข้ามายังประเทศลาวซึ่งเป็นดินแดนของฝรั่งเศสด้วย และมีบางส่วนอพยพเข้ามาในสยามเพื่อสร้างฐานหรือขบวนการต่อสู้กับฝรั่งเศสในเวลานั้นด้วย ขณะเดียวกัน สยามได้มีนโยบายพัฒนาไปสู่ความทันสมัยส่งผลให้มีความต้องการแรงงานสูง การเข้ามาของชาวเวียดนามจึงเป็นที่ต้องการจากราชสำนักสยามในขณะนั้น ถึงขนาดที่มีพระราชดำรัสตรัสว่าชาวญวนผู้ซึ่งหนีร้อนมาพึ่งเย็น ให้เก็บค่าส่วยยิ่งน้อยยิ่งดี พอที่ให้เขารู้สึกว่าเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของเรา จากนโยบายภายใต้กรอบการปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระองค์ส่งผลให้ชาวเวียดนามในประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคอีสานมีโอกาสทำกินสะดวก และยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ดำดูดชาวเวียดนามให้เข้ามายังอีสานเพิ่มมากขึ้น กอรปกับใน พ.ศ. 2436 สยามได้ลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ซึ่งระบุว่าสยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และยังกำหนดให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ 25 กิโลเมตร นับจากแม่น้ำโขงสามารถติดต่อทำการค้าได้อย่างเสรี กลายเป็นเงื่อนไขอีกหนึ่งประการที่ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวเดินทางไปมาค้าขายมากขึ้น และต่อมาเกิดความคุ้นเคยจนทำให้ต้องการตั้งถิ่นฐานถาวรในดินแดนภาคอีสาน ทำให้ชาวเวียดนามจากฝั่งลาวที่เข้ามาในเวลานั้นเป็นกลุ่มที่ทำอาชีพค้าขายกลุ่มแรก ๆ ที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสาน และต่อมาได้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดหนองคาย สกลนคร และนครพนม (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นับได้ว่าเป็นช่วงที่มีชาวเวียดนามเดินทางอพยพเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก โดยหนีการสู้รบและปราบปรามของฝรั่งเศสมาจากฝั่งลาวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 จำนวนทั้งสิ้น 46,700 คน และอาจมีมากถึง 50,000 คนจากบางแหล่งข้อมูล สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวเวียดนามกลุ่มนี้ต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเพราะว่าการกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งของฝรั่งเศสเหนือดินแดนอินโดจีน ภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และฝรั่งเศสได้พยายามที่จะยึดพื้นที่ต่าง ๆ คืนและได้ใช้ความพยายามถึง 8 เดือนในการยึดท่าแขก ซึ่งอยู่ในแขวงคำม่วน ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม จนกระทั่งสามารถยึดได้ในวัน 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกว่า “วันท่าแขกแตก” ซึ่งฝรั่งเศสได้ปรามปรามทหารและพลเรือนชาวเวีดนามและชาวลาว นอกจากนี้ ยังมีเมืองก่อนหน้านี้ที่ถูกฝรั่งเศสตีแตกและเข้ายึดเมืองเช่นกัน ได้แก่ สะหวันนะเขต (15 มีนาคม พ.ศ. 2489) และตามมาด้วยเวียงจันทน์ต่อจากท่าแขก (25 เมษายน พ.ศ. 2489) ชาวเวียดนามได้หนีการสู้รบข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังฝั่งไทยตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก จังหวัดนครพนม อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย อำเภอเชียงแสน จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และอุบลราชธานี (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
ชาวเวียดนามในไทยสมัยรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์: “ช่วงเวลาแห่งมหามิตรชิดใกล้”
ก่อนเหตุการณ์วันท่าแขกแตก ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้นซึ่งเป็นสมาชิกเสรีไทยได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนายพลสิงกะโปผู้มีส่วนในการกู้ชาติลาว ให้ช่วยเหลือชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จึงได้มีการจัดที่พักชั่วคราวตามสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้รองรับ นอกจากนี้ยังมีชาวเวียดนามบางส่วนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตามใต้ถุนบ้านของทั้งชาวไทยและชาวเวียดนามรุ่นเก่าที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ เช่น บ้านหนองแสง ข้างวัดศรีเทพ ชุมชนบ้านใหม่หรือบ้านนาจอก บ้านต้นผึ้ง บ้านดอนโมง ต่อมาได้ทำการสร้างบ้านเรือน หรือกระต๊อบอยู่ร่วมกันในกลุ่มชาวเวียดนามไม่ไกลจากเมืองนครพนม บางส่วนอยู่ปะปนกับชาวเวียดนามรุ่นเก่า และมีบางคนเดินทางไปต่างอำเภอ เช่น เรณูนคร ธาตุพนม ท่าอุเทน เป็นต้น และต่อมาได้กระจายตัวออกไปตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี และอีกหลายจังหวัดเพื่อหาทางทำมาหากิน
ชาวเวียดนามขณะนั้นมีสภาพชีวิตที่ลำบากยากเข็ญ หลายคนต้องหาบของขายต่างหมู่บ้าน ต่างอำเภอ หรือแม่แต่ระหว่างจังหวัด ชาวเวียดนามกลุ่มที่อพยพมาในวันท่าแขกแตกส่วนใหญ่ไม่มีทรัพย์สินติดตัวมาจากฝั่งลาว ต้องทิ้งบ้านเรือนเอาไว้ บางคนกลับไปก็ถูกทหารฝรั่งเศสสังหาร รัฐบาลไทยในขณะนั้น มีความเห็นอกเห็นใจชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอย่างมาก โดยให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งที่อยู่อาศัย อาหารและยา ที่ดินทำกิน อีกทั้งยังจัดหางานให้เพื่อเป็นการสร้างรายได้ โดยมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นแกนนำหลักในการให้ความช่วยเหลือชาวเวียดนามในอีสานในเวลานั้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือต่อขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน กล่าวคือ มีนโยบายต่างประเทศว่าด้วยการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อบ้านอย่างสันติ และสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในเอเชียที่เป็นอาณานิคม โดยเน้นไปที่การให้แหล่งพักพิงเพื่อลี้ภัยในพื้นที่ภาคอีสานและอนุญาตให้ถืออาวุธเพื่อป้องกันการรุกรานของกองกำลังฝรั่งเศสจากฝั่งลาวได้ รวมถึงการอนุญาตให้เวียดนามตั้งสำนักงานผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเวียดนามในไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ท่าทีอันเป็นมิตรของรัฐบาลไทยรวมถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังการรัฐประหารโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ใน พ.ศ.2490 (Varophas, 1966; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
ชาวเวียดนามในไทยภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490: “ห้วงเวลาแห่งความหวาดระแวงและมืดมน”
ชาวเวียดนามในช่วงเวลานี้อยู่ภายใต้สถานการณ์การถูกจับตาจากรัฐ อันเนื่องมาจากบริบททางการเมืองในภูมิภาคที่เกิดความหวาดกลัวการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจาก ชัยชนะของเหมา เจ๋อ ตุง ที่มีต่อเจียง ไค เช็ค รวมทั้งอิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่แผ่ขยายไปยังยุโรปตะวันออกและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอื่นทั่วโลก เมื่อรัฐบาลปรีดี หมดอำนาจลงจากการโดนรัฐประหารได้มีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ และหลังมีการจัดการเลือกตั้งจึงได้จอมพล ป. พิบูลย์สงครามขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 การขึ้นมามีอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทยแบบพลิกผามือ เป็นการแทนที่ความช่วยเหลือที่เคยได้รับจากรัฐบาลปรีดีด้วยนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้ชาวเวียดนามในประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล ถือเป็นการสิ้นสุดลงของเสรีภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
จอมพล ป. พิบูลสงครามเริ่มต้นนโยบายอันเข้มงวดด้วยการตรวจค้นบ้านพักของคณะผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเวียดนามในกรุงเทพ ฯ การยึดอาวุธ การยกเลิกการปฏิบัติงานของคณะผู้แทนดังกล่าว การสั่งให้ยุบสมาคมเหวียตเกี่ยวกู้ชาติ ในไทยใน พ.ศ. 2495 การกำหนดเขตบ้านพักอาศัยใน 5 จังหวัด การจำกัดอาชีพ หรือห้ามชาวเวียดนามประกอบอาชีพ 9 สาขา และเคลื่อนย้ายชาวเวียดนามจากจังหวัดในภาคอีสานไปยังจังหวัดที่ห่างไกลออกไป (ร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ใน พ.ศ. 2496 ตามด้วยพัทลุงและสุราษฎร์ธานีใน พ.ศ. 2497) เนื่องจากกลัวว่าจะมีการติดต่อกับกลุ่มเวียดนามคอมมิวนิสต์นอกประเทศได้สะดวก จับกุมชาวเวียดนามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ และความพยายามที่จะส่งตัวกลับไปยังเวียดนามใต้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2497 ผู้แทนรัฐบาลเวียดนามใต้ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเจรจาเรื่องความเป็นไปได้ของการส่งตัวผู้อพยพชาวเวียดนามกลับคืนมาตุภูมิ โดยที่รัฐบาลไทยได้เรียกร้องต่อรัฐบาลเวียดนามใต้ให้รับเอาผู้อพยพชาวเวียดนามที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 47,000 คนกลับไปยังประเทศเวียดนาม ในการเจรจาครั้งนั้น ผู้แทนจากรัฐบาลสหรัฐฯ แสดงท่าทีเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวจากรัฐบาลไทย พร้อมทั้งรับปากว่าจะช่วยในการขนส่งชาวเวียดนามอพยพกลุ่มดังกล่าวกลับไปยังเวียดนามด้วย แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธจากผู้แทนจากรัฐบาลเวียดนามใต้ โดยให้ความเห็นว่ารัฐบาลเวียดนามใต้จะรับเอาเฉพาะผู้อพยพชาวเวียดนามที่ต้องการเดินทางกลับไปยังเวียดนามใต้เท่านั้น หลังจากที่การเจรจาจบลงก็ไม่ได้ยินเสียงตอบรับใด ๆ จากรัฐบาลเวียดนามใต้ (Varophas, 1966; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548) จนกระทั่ง ชาวเวียดนามอพยพส่วนใหญ่รู้ตัวว่าพวกเขาเองต้องการที่จะเดินทางกลับไปยังเวียดนามเหนือมากกว่าเวียดนามใต้ หากแต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเวียดนามเหนือ ต่อมาจึงได้สอบถามไปยังสภากาชาดไทยเพื่อติดต่อไปยังสภากาชาดสากลเพื่อติดต่อไปยังรัฐบาลเวียดนามเหนือ อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงช่วงกลาง พ.ศ. 2501 ทางสภากาชาดเวียดนามเหนือก็ตัดสินใจส่งผู้แทนของตนมาประชุมร่วมกับผู้แทนจากสภากาชาดไทยที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา หลังจากการเจรจาใกล้จะครบสองเดือน สภากาชาดเวียดนามเหนือตกลงที่จะรับเอาชาวเวียดนามอพยพทั้งหมดที่ต้องการกลับคืนไปยังเวียดนามเหนือกลับไปทั้งหมด โดยที่ชาวเวียดนามอพยพกลุ่มแรกเดินทางออกจากประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2503 และการส่งตัวผู้อพยพชาวเวียดนามดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเดือนละครั้ง จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐ ฯ ทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือขึ้น ทำให้สภากาชาดเวียดนามเหนือปฏิเสธที่จะรับเอาชาวเวียดนามอพยพที่เหลือค้างอยู่ในประเทศไทยกว่า 30,000 คนเข้าประเทศอีกต่อไป (Varophas, 1966)
ความเข้มงวดดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชติ์ ใน พ.ศ. 2502 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยได้เพิ่มขีดจำกัดในการประกอบอาชีพสำหรับชาวเวียดนามจากแต่เดิมเป็น 25 อาชีพ และยังบังคับให้ชาวเวียดนามที่ประกอบอาชีพต้องเสียภาษี 1,000 บาทต่อปี ส่วนใครที่มีร้านค้าก็จะต้องเสียภาษีพาณิชย์เพิ่มอีกหัวละ 500 บาทต่อปี การออกนโยบายเช่นนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์จากชาวเวียดนามได้ง่ายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน การกำหนดเขตอาศัยที่น้อยลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 8 จังหวัดจากแต่เดิม 12 จังหวัด (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)
ชาวเวียดนามในไทยทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา: “ยุคผ่อนคลายและการแสดงตัวตนคนเหวียต”
อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520 สถานการณ์ในภูมิภาคและระดับโลกได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การปรับทัศนคติและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลไทยหลังสิ้นสุดสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยเริ่มต้นในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้มีลักษณะผ่อนปรนต่อการใช้ชีวิตของชาวเวียดนามมากขึ้นหากเทียบกับรัฐบาลในอดีต อันเนื่องมากจาก การสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ขณะที่เวียดนามเองได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ปรับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ รวมทั้งรัฐบาลได้ตระหนักแล้วว่าชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคงจะอยู่ในประเทศไทยต่อไป จึงเห็นถึงความจำเป็นในการผสมผสานคนเหล่านี้เข้ากับสังคมไทย ดังนั้น จึงมีแนวนโยบายแก้ไขปัญหาชาวเวียดนามอพยพด้วยการให้สัญชาติไทยและสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายในเวลาต่อมา โดยในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 รัฐบาลมีดำริว่าบุตรหลานชาวเวียดนามที่เกิดในราชอาณาจักรจะได้รับสัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ ชาวเวียดนามอพยพชั้นบุตร ลูกครึ่ง และชั้นหลานที่เกิดในไทยให้ได้รับสัญชาติไทยตามกระบวนการราชการ แม้ว่าปัญหาชาวเวียดนามจะถูกหยิบยกขึ้นมาครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและการเร่งรัดขั้นตอนได้มีขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินสมัยรัฐบาลอานันท์ ปัญยารชุน เป็นต้นมา กอรปกับรัฐบาลพลเอกชาติชายได้ถูกรัฐประหารไปก่อน
จากที่ได้อธิบายพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ข้างต้น จึงสรุปได้ว่า เราอาจแบ่งชาวเวียดนามอพยพออกได้เป็น 5 กลุ่ม ตามนิยามของสมจิต สุดสงวน (2542) ได้ดังนี้
“ญวนเก่า” หมายถึง ชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2474 ซึ่งยังไม่มีพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับที่ 1 บังคับ ชั้นบุตรหลานได้สัญชาติโดยหลักดินแดนและการเกิดทั้งสิ้น
“ญวนสวามิภักดิ์” คือ ชาวเวียดนามที่หนีฝรั่งเศสมาในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้ร่วมรบในสงครามอินโดจีนซึ่งถือว่าช่วยราชการ จึงได้สัญชาติไทยและมียศทหารด้วย
“ญวนอพยพ” คือ ชาวเวียดนามที่มีมากที่สุดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝรั่งเศสทำการกวาดล้างครั้งใหญ่มีคนเวียดอพยพมาประเทศไทยประมาณ 70,000 คน แต่รัฐไทยถือวาเข้าเมืองโดยมิชอบมีสถานะเป็นผู้อพยพ
“เวียดนามอพยพ” คือกลุ่มเวียดนามใต้ที่อพยพหลังเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมประเทศกัน พ.ศ. 2518
“ไทยใหม่” คือ บุตรหลานชาวเวียดนามอพยพที่ได้สัญชาติหลังจากไม่สามารถส่งกลับประเทศได้ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2534 โดยยื่นผ่านอำเภอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้สัญชาติ (ปัจจุบันนายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ) เมื่อได้สัญชาติมักเปลี่ยนนามสกุลเป็นแบบไทย
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ศิวกร ราชชมภู
การอพยพเข้ามาในประเทศไทยของชาวเวียดนามสามารถอธิบายและกำหนดได้ตามช่วงเวลา ดังที่ สมจิต สุดสงวน (2542) ได้อธิบายเอาไว้ ซึ่งการอพยพแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเวียดนาม อาทิ สงครามภายในประเทศ การกดขี่ทางศาสนา ความขัดสนทางเศรษฐกิจ และการมองหาโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าชาวเวียดนามที่เข้ามายังประเทศไทยนั้นมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ ชาวเวียดนามกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งแต่กรุงธนบุรีจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย และมีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ กลุ่มที่สองเป็นชาวเวียดนามอพยพที่เข้ามาในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการกลับเข้ามาปกครองอินโดจีนอีกครั้งของฝรั่งเศส กลุ่มหลังมีจำนวนมากถึง 4-5 หมื่นคนมักข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศไทยและกระจายตัวกันอยู่ในจังหวัดที่ติดริมแม่น้ำโขงและจังหวัดในภาคอีสาน รวมไปถึงบางจังหวัดในภาคใต้ เพื่อให้เห็นภาพการอพยพและตั้งถิ่นฐานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นขอให้ดูตารางสรุปการข้อมูลการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากรชาวเวียดนามในประเทศไทย (ผุสดี จันทวิมล, 2541; Varophas, 1966; กฤษณะ ทองแก้ว, 2562; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548; วิภู ชัยฤทธิ์, 2553)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ศิวกร ราชชมภู
การดำรงชีพ
การดำรงชีพหลังจากเข้ามาในประเทศไทยชาวเวียดนามอพยพแทบทุกคนจำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ พื้นฐานของชาวเวียดนามกลุ่มที่อพยพเข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่สองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และเคยทำมาทำกินในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส การอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังประเทศไทยเป็นเพราะว่ามองเห็นโอกาสในการประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม ชาวเวียดนามไม่สามารถซื้อที่ดินได้ในขณะนั้น ก็จะรับจ้างทำนาทำสวนตามความถนัด บางคนจะเช่าที่ดินคนไทยเพื่อเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ปีก อาทิ เป็ด ไก่ และเลี้ยงหมูเพื่อนำไปขาย บางคนอาจรับจ้างคนไทยที่มีฐานะดีเฝ้าสวนเพื่อดูแลสวนแลกกับการไม่ต้องเช่าที่ในการเพาะปลูกเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีชาวเวียดนามบางส่วนในขณะนั้นประกอบอาชีพอื่น ๆ อีกเช่น เป็นแรงงานก่อสร้าง ขุดดิน ช่างไม้ ขายของ รับจ้างตักน้ำส่งตามบ้านเรือน หรือแม้แต่ยอมเป็นโสเภณี รายได้ส่วนหนึ่งชาวเวียดนามจะแบ่งให้กับองค์กรกลางนำส่งไปช่วยชาติในการต่อสู้เรียกร้องเอกราช (ผล อัฐนาค, 2543)
สำหรับเครื่องมือในการประกอบอาชีพของชาวเวียดนามส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับการทำประมง เนื่องจาก ชาวเวียดนามมีความถนัดในการทำประมง หรือการจับปลาในแม่น้ำจากการที่ประเทศเวียดนามอยู่ติดกับทะเลและมีแม่น้ำหลายสายที่สำคัญไหลลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทยแล้วทั้งหมดได้ฝึกและเรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพทุกอย่างที่สามารถทำได้ ขอบเขตการประกอบอาชีพของชาวเวียดนามจึงขยายออกไปมากขึ้น เช่น การเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างก่อสร้าง ช่างตัดผม (ผล อัฐนาค, 2543)
ปัจจุบันชาวเวียดนามชาวเวียดนามสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ด้วยความขยัน อดทน ประหยัด อดออม ทำให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเวียดนามตั้งแต่ร้านขนาดย่อมไปจนถึงร้านขนาดใหญ่ เช่น แดงแหนมเนือง และวีทีแหนมเนือง และมีบางส่วนทำธุรกิจของฝาก ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก และได้กลายเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัด เช่น หมูยอของจังหวัดอุบลราชธานี ชาวเวียดนามในหลาย ๆ พื้นที่ของจังหวัดในภาคอีสานยังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นนับแต่อดีต ดังจะเห็นได้จาก จังหวัดนครพนม หนองคาย อุดรธานี และสกลนคร ชาวเวียดนามได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้คุมตลาดการค้าเทียบเท่าหรือมากกว่าชาวจีน (พิสิฐ อำนวยเงินตรา, 2560; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548; ณรงศักดิ์ คูบุญญอารักษ์ และคณะ, 2561)
โครงสร้างทางสังคม
ชาวเวียดนามในประเทศไทยมักมีค่านิยมการแต่งงานในหมู่ชาวเวียดนามอพยพด้วยกันเอง ทำให้ส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวเป็นคนที่มาจากชาติพันธุ์เดียวกัน ซึ่งมีน้อยมากที่จะเลือกแต่งงานกับคนจากชาติพันธุ์อื่น เงื่อนไขดังกล่าว ส่งผลให้ภายในชุมชนชาวเวียดนามโดยส่วนมากจะมีความสัมพันธ์ลักษณะเครือญาติที่แนบแน่นอยู่ภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวได้ส่งผลต่อเครือข่ายในการประกอบอาชีพของพวกเขาภายในชุมชน หรือจังหวัดทีอาศัยอยู่ด้วย โดยส่วนใหญ่มักจะให้ความช่วยเหลือกันด้านการประกอบอาชีพ ตลอดจนรวมหุ้นเปิดกิจการต่าง ๆ ระบบเครือญาติของชาวเวียดนามที่มีความเข้มข้น ยังส่งผลต่อโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อีกด้วย เช่น การเคารพกันตามลำดับอาวุโสของเครือญาติ สะท้อนผ่านประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ในครอบครัวที่ผู้น้อยจะต้องมาแสดงความกตัญญูต่อผู้อาวุโสของครอบครัว (จุตพร ดอนโสม, 2555) ในครอบครัวชาวเวียดนามจะมีคำเรียกเครือญาติ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างมาเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยอาศัยตัวเรา (ego) ในฐานะแกนหลักในการเรียกดังนี้
คำเรียกเครือญาติรุ่นเดียวกับเรา สมมติว่าเราเองเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วสามีของเราเรียกว่า จ่ง (chong) หรือถ้าเราเป็นชายจะเรียกภรรยาตัวเองว่า เหวอะ (vo) พี่ชายของเราเรียกว่า อัญจาย (anh trai) น้องชายเรียกว่า แอมจาย (em trai) พี่สาวเรียกว่า จิก๊าย (chi gai) น้องสาวเรียกว่า แอมก๊าย (em gai) เมื่อพี่ชายแต่งงาน ภรรยาของพี่ชาย หรือพี่สะใภ้จะเรียกว่า จิเซิว (chi dau) ภรรยาน้องชาย หรือน้องสะใภ้เรียกว่า แอมเซิว (em dau) สามีของพี่สาว หรือพี่เขยเรียกว่า อัญเส (anh re) สามีของน้องสาว หรือน้องเขยเรียกว่า แอมเส (em re) สำหรับคำว่า จาย (trai) ก๊าย (gai) เซิว (dau) และ เส (re) เป็นคำเรียกต่อท้ายที่บ่งบอกเพศ และความสัมพันธ์ที่ได้จากการแต่งงานผู้เรียกอาจจะละคำเหล่านี้ได้
ส่วนการเรียกญาติฝ่ายพ่อ ได้แก่ ลุง หรือพี่ชายพ่อเรียกว่า บ๊ากจาย (bac trai) พี่สาวพ่อเรียกว่า บ๊ากก๊าย (bac gai) น้องชายของพ่อ หรืออาชายเรียกว่า จู๊ (chu) น้องสาวพ่อเรียกว่า โก (co) และการเรียกญาติฝ่ายแม่ ได้แก่ พี่ชายแม่ น้องชายของแม่ เรียกเหมือนกันว่า เกิว (cau) พี่สาวของแม่ หรือป้า และน้องสาวแม่ เรียกเหมือนกันว่า สี่ (di) เป็นต้น
ระบบคำเรียกเครือญาติของชาวเวียดนามมีการใช้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นเวลานานกระทั่งปัจจุบัน ชาวเวียดนามให้การนับถือกันเป็นเสมือนญาติแม้กระทั่งในที่ทำงาน สถานศึกษา ตลอดจนวงสังคมด้วยการใช้คำเรียกเครือญาติเป็นคำสรรพนาม ในแต่ละท้องถิ่นอาจะมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไป นอกจากคำเรียกเครือญาติจะแสดงความสัมพันธ์เกี่ยวดองกับตัวเราแล้ว ยังถูกใช้เป็นสรรพนามซึ่งมีลักษณะร่วมกับวัฒนธรรมเอเชียทั่วไปเช่นกัน (โสภนา ศรีจำปา, 2543)
นอกจากความสัมพันธ์ในระดับครอบครัวและชุมชนแล้วชาวเวียดนามยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมชาวเวียดนามในประเทศไทย องค์กรดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อชาวเวียดนามและได้รับการยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ “สมาคมชาวเวียดนามแห่งประเทศไทย” ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2557 โดยมีนายชาญ กาววัน ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ฯ เป็นคนแรก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดสกลนคร การรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่แสดงถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายของชาวเวียดนามในประเทศไทย และชาวเวียดนามกับถิ่นมาตุภูมิได้อย่างเหนียว สมาคมชาวเวียดนามแห่งประเทศไทยมีเครือข่ายสมาคมในระดับจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชาวเวียดนามอาศัยอยู่จำนวนมาก การจัดการโครงสร้างภายในสมาคมชาวเวียดนามมีความคล้ายคลึงกับการจัดการภายในกลุ่มชาวเวียดนามในอดีตทั้งนี้ มีการจัดเป็นฝ่ายเพื่อดูแลและประสานงานภายในกลุ่มชาวเวียดนามด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสังคม ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ สตรี เด็ก ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม โดยมีนายกสมาคมชาวเวียดนามและคณะกรรมการด้านต่างๆเป็นผู้บริหารจัดการความสัมพันธ์ภายในกลุ่มชาวเวียดนามในทุกกลุ่ม (หนึ่งฤทัย จันทรคามิ และสมชัย ภัทรธนานันท์, 2563)
ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวเวียดนามแต่เดิมนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่เมื่อจีนเข้ามาปกครองเวียดนาม รวมเวลากว่าศตวรรษ จีนได้นำเอาลัทธิเต๋าและขงจื้อเข้ามาเผยแพร่ นอกจากเวียดนามจะยอมรับและนับถือทั้งสองลัทธินี้แล้ว ยังรับเอาลัทธิการบูชาดวงวิญญาณบรรพชนตามธรรมเนียมจีนเข้าไว้ด้วย ต่อมาเมื่อเวียดนามตกเป็นประเทศในอาณานิคมของฝรั่งเศส (พ.ศ. 2427 - 2497) ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เป็นตัวเลือกในการนับถือศาสนามากขึ้น (องค์ บรรจุน, 2565) ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญเวียดนามไม่ได้ระบุให้มีศาสนาประจำชาติ แต่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา ทำให้ชาวเวียดนามมีการนับถือศาสนาหลัก คือ พุทธ คริสต์ และลัทธิที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ได้แก่ เต๋า ขงจื้อ และรับเอาประเพณีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนาม (ผุสดี จันวิมล, 2541 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2565) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนามอีกจำนวนมากที่เคารพบูชาเทพเจ้า ภูตผี และวิญญาณบรรพชน เช่น ไทดำ ทางตอนเหนือของเวียดนาม (องค์ บรรจุน, 2565)
เช่นกันกับชาวเวียดนามในประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนาและความเชื่อมาจากจีนในลัทธิใหญ่ 3 ลัทธิ ได้แก่ พุทธมหายาน ขงจื้อ และเต๋า ซึ่งทั้งหมดนี้ชาวเวียดนามเรียกว่า “ตำเสา” หรือ “สามศาสนา” (ธนนันท์ บุ่นวรรณา, 2565) ส่งผลให้วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวเวียดนามส่วนใหญ่ปะปนกันระหว่างพุทธ นิกายมหายาน ความเชื่อเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ บรรพบุรุษซึ่งมีรากความเชื่อจากลัทธิขงจื้อ ดังจะเห็นได้จากการมีแท่นบูชาบรรพบุรุษภายในบ้าน การมีศาลเจ้า หรือ “เด่น” (Den) ประจำหมู่บ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่มักมีศาลเจ้าและเทพเจ้าประจำศาลแตกต่างกันออกไป และจะขอยกตัวอย่างมาให้เห็นเพียงบางแห่งเท่านั้น ชาวเวียดนามในประเทศไทยได้สร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งระดับชุมชนและครัวเรือนที่พวกเขาให้ความเคารพนับถือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างศาสนาและลัทธิความเชื่อ รวมทั้งการบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษของคนเวียดนามได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเวียดนาม ได้แก่
ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง (Dai Vuong) เป็นศาลเจ้าประจำหมู่บ้านนาจอก อ.เมือง จ.นครพนม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2441 คำว่า “ด่ายเวือง” มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้หญิงใหญ่ของเวียดนาม” ศาลเจ้านี้สร้างขึ้นหลังจากมีการก่อตั้งหมู่บ้านภายใต้การนำของกำนันลาย ประชากูล เดิมศาลเจ้าพ่อด่ายเวืองทำขึ้นด้วยไม้ โดยชาวเวียดนามรุ่นแรก ปัจจุบัน ชาวเวียดนามรุ่นหลังมีคุณภาพชีวิตและสภานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จึงได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ เป็นการก่ออิฐถือปูน มีรูปทรงสวยงามมากขึ้น สำหรับชาวเวียดนาม ศาลเจ้าเป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางจิตใจตลอดจนเป็นศาลที่ปกครองคนในหมู่บ้านด้วยกฎระเบียบของหมู่บ้าน และบรรจุความเชื่อในตัวของเจ้าที่สิงสถิตอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์รวมสร้างศรัทธาหล่มหลอมคนในหมู่บ้านให้มีจิตสำนึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการประกอบสร้างความเป็นชาติและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ สำหรับพิธีกรรมที่จัดขึ้นที่ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง ได้แก่ พิธีเต๊ด ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง คือ ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และประเพณีวันไหว้ จัดขึ้นในเดือน 6 ช่วงเข้าพรรษาของไทย (จตุพร ดอนโสม, 2555)
ศาลเทพเจ้าเจิ่น ฮึง ด่าว (Tran Hung Dao) หรือเตริ่น ฮึง ด่าว คือ เทพเจ้าที่ได้รับความเคารพอย่างมากจากชาวเวียดนามในภาคอีสาน เช่น จังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร โดยมีความเชื่อที่เล่าต่อกันมาว่าเป็นเจ้าแห่งบรรพบุรุษของชาวเวียดนามที่นับถือสืบทอดกันมา และครั้งหนึ่งเทพองค์ดังกล่าวเคยเป็นผู้ปกครองชนชาติเวียดนามนับแต่โบราณในสมัยราชวงศ์เจิ่น (Tran) เป็นทหารยอดนักรบนำพาเวียดนามสู้รบกับจีนจนมีชัยหลายครั้ง จึงมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ชาวเวียดนามได้ทำสัญลักษณ์แทนองค์เทพเจิ่น ฮึง ด่าว ขึ้นเป็นรูปปั้นในร่างชายถือดาบที่ทำจากไม้ ประทับยืนด้วยอากัปกิริยาดูน่าเกรงขาม นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามไม่ให้สตรีเข้าใกล้ แต่สามารถสักการะได้แค่เพียงด้านนอก เนื่องจาก เชื่อว่าหากผู้หญิงเข้าไปใกล้แล้วจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมสลายลง (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548;จตุพร ดอนโสม, 2555) ชาวเวียดนามที่เคารพนับถือเทพเจ้าเจิ่น ฮึง ด่าวจะมีการจัดพิธีไหว้ใหญ่ประจำปี 2 พิธี คือ พิธีบูชาวันครบรอบวันตายพ่อ (Gio Cha) และพิธีบูชาครบรอบวันตายแม่ (Gio Me) โดยจัดขึ้นในวันที่ 20 เดือน 8 และวันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิธีไหว้เจ้าทุกวันที่ 1 และ 15 ในทุกเดือน (เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก, 2559)
หิ้งบูชาปิตุภูมิ (Ban tho To Quoc) หิ้งบูชาปิตุภูมิถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2491 ภายใต้บริบทการเมืองสมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อจะใช้รื้อฟื้นความรักชาติของชาวเวียดนามในประเทศไทย และเพื่อรวบรวมความรักสามัคคีระหว่างชาวเวียดนามในการต่อสู้กับฝรั่งเศส หิ้งบูชาปิตุภูมิจะถูกวางไว้ในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของบ้าน โดยมักจะมีรูปของโฮจิมินห์ติดไว้ตรงกลาง ด้านบนของภาพมีข้อความเขียนว่า “To quoc tren het” แปลว่า “ชาติอยู่เหนือสิ่งอื่นใด” ด้านซ้ายเขียนว่า “Can kiem nhan nai vuot qua kho” แปลว่า “ความขยัน ประหยัดมัธยัสถ์ และความอดทนจะนำพาให้ก้าวข้ามความลำบาก” ด้านขวาจะเขียนว่า “Viet Thai tah thiet muon nam” แปลว่า “เวียดนามและไทยมีความรักใคร่กลมเกลียวกันยิ่งยืนนาน” และด้านล่างเขียนว่า “Ho chu tich muon nam” แปลว่า “โฮจิมินห์จงเจริญ” หิ้งบูชาปิตุภูมิมีบทบาทสำคัญในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ ของชาวเวียดนามอย่างมาก อาทิ เทศกาลเต๊ด วันครบรอบวันตายของบรรพบุรุษ วันชาติเวียดนาม วันคล้ายวันเกิดของโฮจิมินห์ และพิธีมงคลสมรส จะมีการนำหิ้งบูชาปิตุภูมิออกมาตั้งไว้เพื่อให้กราบไหว้บูชา (เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก, 2559)
สำหรับความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทายของชาวเวียดนามจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในการบวงสรวงเทพเจ้าผ่านร่างทรง โดยเฉพาะที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ชาวเวียดนามจะเสี่ยงทายผ่านร่างทรงหรือที่เรียกว่า ถัน โต๋ (Thanh To) ที่เป็นเพศชายหรือผู้ช่วยร่างทรงที่เป็นเพศหญิงหรือ โก ฮาย (Co Hai) การเสี่ยงทายจะมีลักษณะคล้ายกับชาวเวียดนามในหมู่บ้านนาจอกที่จังหวัดนครพนม กล่าวคือ จะใช้เหรียญกษาปณ์จีนโบราณจำนวน 2 เหรียญ ซึ่งที่ด้านใดด้านหนึ่งของทั้งสองเหรียญจะทาด้วยสีขาว การเสี่ยงทายจะใช้เพื่อต้องการทราบว่ามีเทพหรือผีมารับของเซ่นไหว้แล้วหรือยัง โดยโก ฮายจะโยนเหรียญทั้งสองลงบนถาดกลม อีกกรณีเป็นการเสี่ยงทายเพื่อสะเดาห์เคราะห์ โดยใช้เหรียญกษาปณ์จีนโบราณ 36 เหรียญ ที่ด้านใดด้านหนึ่งของเหรียญทั้งหมดจะทาด้วยสีขาว พิธีดังกล่าวจะมีไท กรุ๋ง หรือ ไถ่ กุ๋ง (Thay Cung) เป็นผู้ทำพิธี โดยจะใช้มือข้างใดข้างหนึ่งกำเหรียญทั้งหมด แล้วปล่อยลงมาทีละเหรียญบนถาดที่มีข้าวสารผสมเกลืออย่างละกำมือและธูปวางเอาไว้ ส่วนมืออีกข้างจะกำมีดบางแล้วตวัดมีดใต้มือที่กำเหรียญในลักษณะการตัดบางบางอย่าง ในทีนี้หมายถึงการตัดเหรียญที่กำลังร่วงหล่นลงบนถาด หากมีดที่ตวัดไปมาเกิดโดนเหรียญจะต้องเริ่มทำใหม่ แต่ถ้าทำเช่นนี้แล้วเหรียญหล่นลงมาครบ 36 เหรียญ ไท กรุ๋งจะเอาธูปที่วางบนถาดข้าวสารผสมเกลือไปปักที่กระถางธูปบนแท่นบูชาสำหรับวางของเซ่นไหว้ จากนั้น ยกถาดที่มีเหรียญและข้าวสารผสมเกลือขึ้นมาผัด 3 ครั้ง แล้วนับเหรียญที่มีสีขาวแต้มอยู่ขึ้นทีละ 4 เหรียญ ทำเช่นนี้จนกว่าจะเหลือ 1 - 2 เหรียญ เป็นอันเสร็จพิธี แต่ถ้าหากเหลือเหรียญที่เป็นเศษ 3 เหรียญ ก็จะต้องทำพิธีตัดเหรียญและอธิษฐานใหม่ จนกว่าการเสี่ยงทายจะเหลือเหรียญในถาด 1 - 2 เหรียญ การเสี่ยงทายดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวเวียดนามที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก รวมทั้งเกลือที่สามารถร่วมรับประทานกับข้าวได้ ถือเป็นสิ่งมีคุณค่า นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ชาวเวียดนามต้องต่อสู้ดิ้นรนและผ่านช่วงสงครามมาหลายครั้ง เกลือจึงเป็นสิ่งมีคุณค่าทั้งในแง่ของอาหารและยารักษาบาดแผลที่เกิดจากการสู้รบด้วย (จิราภรณ์ วีระชัย, 2543)
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี
เทศกาลเต๊ดหรือตรุษญวน เต๊ด (Tet) หรือวันตรุษ นับเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวเวียดนามในประเทศไทย เทศกาลเต๊ดเป็นวันฉลองการเริ่มต้นปีใหม่ของคนเวียดนาม จัดขึ้นปีละครั้ง ส่วนใหญ่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ตามคติของปฏิทินจันทรคติ (วันสิ้นเดือนสิบสองของปี) ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนนั่นเอง รูปแบบของพิธีในเทศกาลเต๊ดจะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษทั้งที่บ้านและที่ศาลเจ้า ในกระบวนการไหว้เจ้านั้น ชาวเวียดนามจะนำเหล้าและไก่นึ่งเป็นตัว บางครั้งมีหัวหมู มีขนมแบ๋งห์ จึง หรือบั๊ญ จึง มาเซ่นไหว้ในพิธีเต๊ดที่ศาลเจ้าในชุมชนและในพิธีกรรมจะมีผู้นำในการทำพิธีเป็นผู้ชายที่มีวัยวุฒิที่ได้รับคัดเลือกให้มาทำหน้าที่ในเทศกาลเต๊ดแต่ละปี ผู้นำพิธีจะแต่งกายด้วยชุดเอ๋าด่าย (Ao Dai) แบบเวียดนาม ในวันดังกล่าวจะถูกให้ความสำคัญในฐานะวันรวมญาติของชาวเวียดนามในประเทศไทยด้วย เนื่องจาก สมาชิกทุกคนในครอบครัวที่อยู่ต่างถิ่นจะเดินทางกลับมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองในวันดังกล่าว บ้านเรือนจะต้องได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม มีการทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะหิ้งบูชาบรรพบุรุษของแต่ละบ้านที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ชาวเวียดนามเชื่อว่าวันเริ่มต้นปีใหม่ควรจะเป็นการเริ่มต้นพร้อมกับสิ่งใหม่ ดังนั้น ในเช้าวันแรกของปีชาวเวียดนามจึงจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แต่ละครอบครัวจะเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหาร ขนม ผลไม้ เหล้า น้ำชา ส่วนผู้อาวุโสในครอบครัวจะให้พรกับเด็ก ๆ พร้อมแจกเงิน ที่ส่วนใหญ่เป็นเหรียญหรือธนบัตรใบใหม่ ใส่ในซองสีแดง การให้เงินกับเด็ก ๆ นี้เรียกว่า “หมึ่ง ต๋วย” (Mung Tuoi) คล้ายกับการแต๊ะเอียของชาวจีน หลังจากนั้น คนในครอบครัวจะเฉลิมฉลองด้วยการกินดื่มกันอย่างสนุกสนาน (จิราภรณ์ วีระชัย, 2543 อ้างถึงใน จตุพร ดอนโสม, 2555)
พิธีกรรมบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ หรือพิธีโหย๋ การเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวเวียดนามในประเทศไทยอย่างมาก เมื่อครบรอบวันตายของบรรพบุรุษในแต่ละปี จะมีการทำพิธีบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษขึ้นในครอบครัว ลูกหลานจะต้องเตรียมของไหว้ อาทิ ไก่ต้ม เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม ขนม เสื้อผ้า กระดาษเงินและกระดาษทอง จากนั้นจะเชิญ “ไทกรุ๋ง” ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่ได้รับการถ่ายทอดกระบวนการทำพิธีและสามารถสวดเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษได้มาเป็นสื่อกลางเพื่อเชิญวิญญาณให้มารับของเซ่นไหว้ โดยไทกรุ๋งจะเริ่มด้วยการเสี่ยงทายเพื่อดูว่าดวงวิญญาณบรรพบุรุษได้มาถึงบริเวณพิธีหรือยังด้วยการโยนเหรียญโบราณของเวียดนามที่มีรูตรงกลางรูป 4 - 6 เหลี่ยม และที่เหรียญถูกใช้ปูนขาวทาเอาไว้ด้านใดด้านหนึ่งของแต่ละเหรียญ หากเหรียญที่โยนแล้วตกลงมามีลักษณะคว่ำกับหงายก็หมายความว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษได้มาถึงแล้ว แต่ถ้าเหรียญที่โยนตกลงมาไม่คว่ำและหงาย จะต้องตรวจดูว่าของไหว้ที่ทำมาเพียงพอหรือไม่ มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง เช่น ขวดเหล้าเปิดหรือปิดอยู่ ถ้าไม่ได้เปิดขวดเหล้าตองกล่าวคำขอโทษและเปิดขวดเหล้าดังกล่าวให้เรียบร้อย แล้วจึงเริ่มการโยนเหรียญเสี่ยงทายใหม่ ชาวเวียดนามจะเชื่อว่าการเตรียมของเซ่นไหว้มาไม่เรียบร้อย หรือไม่พร้อมสำหรับการทำพิธีจะทำให้วิญญาณของบรรพบุรุษไม่พอใจ สำหรับบทสวนที่ไทกรุ๋งใช้สวดเพื่อเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษจะเป็นภาษาเวียดนาม โดยสรุปความได้ว่าเป็นการกล่าวถึงชื่อผู้ตายที่ได้ตายในวันนี้ในอดีต แลขอเชิญให้วิญญาณผู้ตายมารับของเซ่นไหว้ที่ครอบครัวจัดเตรียมไว้ให้ การสวดจะกล่าวเช่นนี้อยู่ 3 จบ จากนั้นจะกล่าวว่า แม้ดวงวิญญาณจะไม่ได้อยู่กับครอบครัว หากแต่ลูกหลานยังคงระลึกถึงและจะจัดของเซ่นไหว้มาถวายให้เสมอ เมื่อคิดว่าวิญญาณมารับของเซ่นไหว้แล้วก็จะมอบหน้าที่ให้ลูกชายคนโตหรือหัวหน้าครอบครัวนำกระดาษเงินและกระดาษทองไปเผา โดยมีไทกรุ๋งเป็นผู้กล่าวกับดวงวิญญาณบรรพบุรุษว่าให้นำเอาข้าวของทั้งหมดที่นำมาเซ่นไหว้ในวันนี้ไปด้วย โดยที่สามารถนำไปแจกให้ดวงวิญญาณอื่นได้ตามแต่เจตนารมณ์ของวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีของไหว้ทุกอย่างจะถูกแจกจ่ายให้กับคนในครอบครัวเพื่อรับประทานต่อไป (จตุพร ดอนโสม, 2555)
ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต
พิธีบ๋าน เจ๋า เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับทารกที่เลี้ยงยากและมักเจ็บป่วยเป็นประจำ เมื่อพ่อและแม่ได้ปรึกษากับปู่ย่าตายายแล้ว ก็จะประกอบพิธีกรรมยกบุตรตนให้เทพเจ้า โดยพ่อและแม่จะต้องเตรียมน้ำสำหรับทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์จากน้ำในท้องเรือหรือบ่อน้ำ หากเด็กเป็นชายจะใช้น้ำในท้องเรือ 7 ขัน หรือบ่อน้ำ 7 บ่อ หากเป็นเด็กหญิงจะใช้น้ำในท้องเรือ 9 ขัน หรือบ่อน้ำ 9 บ่อ มาใส่ปี๊บพร้อมด้วยหนามของพืชชนิดต่าง ๆ เช่น โป๊ยเซียน กุหลาบ มะนาว มะกรูด โดยสำหรับเด็กชายจะใช้หนามจากพืช 7 ชนิด ส่วนเด็กหญิงจะใช้ 9 ชนิด นอกจากนี้ ยังใส่ดอกของต้นอ้อไม่จำกัดจำนวนรวมลงไปในน้ำมนต์ด้วย เมื่อน้ำมนต์ถูกเตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ่อและแม่ของเด็กจะจัดเตรียมกระทงสะเดาะเคราะห์ พื้นปูด้วยใบตอง ปักธงและรูปชายหญิงหนึ่งคู่ตัดมาจากกระดาษ พร้อมทั้งอาหารคาวหวาน ข้าวเหนียว เหล้าขาว หรือเหล้าโรง ผลไม้ชนิดใดก็ได้ยกเว้นมังคุดและลุมุด ซี่ไม้ไผ่เล็ก ๆ จำนวน 3 ซี่ เส้นผม เล็บมือและเล็บเท้าของเด็ก และโลงศพหุ่นเด็กที่ทำจากไม้ไก บง (cay bong) หรือไม้ต้นนุ่นหรือไม้เนื้ออ่อนเท่านั้น วันประกอบพิธีจะเชิญไท กรุ๋ง ถัน โต๋ และผู้ช่วย โก ฮาย พร้อมด้วยพ่อและแม่ของเด็กไปที่ศาลเจ้า จัดเครื่องเซ่นไหว้ และสวดบทอัญเชิญเทพเจ้าเป็นภาษาเวียดนาม จากนั้นผู้ช่วยในการทำพิธีจะต้มน้ำมนต์ที่ได้เตรียมมาเพื่อสะเดาะเคราะห์และย่ำฆ้องและกลองเป็นจังหวะ จากนั้นเทพเจ้าจะลงประทับร่างทรงและผู้ช่วยร่างทรง แล้วผู้ช่วยในการทำพิธีจะนำชุดแดงมาสวมให้กับทั้งคู่ จากนั้นจะนำเอาเส้นผม เล็บมือและเล็บเท้าของเด็กมาใส่ในโลง และตรึงตะปูฝาโลง พร้อมนำอาวุธ 3 คู่ ได้แก่ กระบอง ค้อน และแส้มาวางที่หน้าเตาไฟต้มน้ำมนต์ จากนั้นจะจุดธูปทีกระทงสะเดาะเคราะห์ พร้อมร่ายคาถาขับไล่ผีร้าย หากผีแก่กล้า ร่างทรงจะต้องรำอาวุธเข้าช่วย ขณะเดียวกันจะมีการจุดซี่ไม้ไผ่เล็ก ๆ ที่เตรียมมากวัดแกว่งไล่ผีออกไปนอกศาลเจ้า เสร็จแล้วก็จะนำโลงศพจำลองและกระทงสะเดาะเคราะห์ไปวางไว้ที่ทางสามแพร่ง เป็นอันว่าผีร้ายได้ถูกกำจัดออกไปจากตัวเด็กแล้ว สุดท้ายจะนำเด็กไปให้ร่างทรงนำดอกต้นอ้อจุ่มน้ำมนต์มาพรมลงบนตัวเด็ก จากนั้น ร่างทรงจะเอาดอกอ้อใส่เข้าไปในปากของเด็ก เมื่อเด็กคายน้ำมนต์ออกมาหรือสำรอกอาหารเหลวออกมาก็จะเชื่อว่าเด็กได้สำรอกเอาสิ่งชั่วร้ายออกจากร่างกายแล้ว จากนั้นก็จะนำเด็กไปฝากเป็นบุตรบุญธรรมของเทพเจ้า โดยประทับชื่อใหม่ทีพ่อและแม่ของเด็กเตรียมไว้บนหน้าอกของเด็กด้วยอักษรโนม (Nôm) เพื่อแสดงตนว่าเด็กได้กลายเป็นลูกของเทพเจ้าเป็นอันเสร็จพิธี (จิราภรณ์ วีระชัย, 2543)
พิธีแต่งงาน (Lễ cưới) การแต่งงานในภาษาเวียดนามเรียกว่า “ด๋ามเกือย” โดยชาวเวียดนามในประเทศไทยนิยมแต่งงานกับชาวเวียดนามด้วยกันเอง โดยพ่อแม่เป็นฝ่ายทาบทามและเลือกคู่ครองที่คิดว่าเหมาะสมให้ และมีชาวเวียดนามน้อยมากที่แต่งงานกับคนนอกชาติพันธุ์ ตามประเพณีการแต่งงานของชาวเวียดนามนิยมแต่งงานกันในเดือนคู่ ยกเว้น ช่วงเดือนเข้าพรรษา หรือหากมีญาติฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและอยู่ในช่วงไว้ทุกข์จะไม่นิยมจัดงานแต่งงานขึ้นในครอบครัวเป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้ ชาวเวียดนามยังมีข้อห้ามที่สำคัญคือห้ามเชิญบุคคลที่เป็นหม้ายหรือผ่านการหย่าร้างเข้าร่วมในพิธีแต่งงานโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่ล้มเหลว หรือเกิดการพลัดพราก (ปัจจุบันข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้เคร่งครัดเหมือนในอดีตแล้ว) สำหรับชาวเวียดนามการแต่งงานจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม 3 ขั้นตอน ได้แก่ พิธีสู่ขอ (Lễ chạm ngõ) พิธีหมั้น (Lễ ăn hỏi) และงานเลี้ยงฉลองสมรส (Lễ cưới) การสู่ขอเป็นพิธีที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้จัดการติดต่อกัน โดยมีผู้ใหญ่ของฝ่ายชายทำหน้าที่ไปสู่ขอฝ่ายหญิง ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ไปสู่ขอส่วนใหญ่มักเป็นเพศชายมีวัยวุฒิและรู้ภาษาเวียดนาม สามารถอ่านบทสวดมนต์ภาษาเวียดนามได้เป็นอย่างดี โดยบ้านของฝ่ายชายจะเตรียมของเพื่อนำไปเป็นของกำนัลในการพูดคุยเรื่องการสู่ขอ หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ก็จะมีการหาฤกษ์ยามเพื่อจัดงานหมั้นและงานแต่งงานต่อไป หลังจากตกลงกันได้เรียบร้อยจะเข้าสู่พิธีหมั้น เป็นพิธีที่เจ้าบ่าวมาทำการหมั้นเจ้าสาวที่บ้าน นิยมจัดขึ้นในช่วงไม่เกินเที่ยงวัน โดยมีการนำเอาของหมั้น เช่น หมาก พลู ส้ม เหล้า คุกกี้ มามอบให้ฝ่ายหญิง หลังจากเสร็จพิธี ทั้งครอบครัวฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะจัดงานเลี้ยง ซึ่งตามประเพณีแล้ว จะนิยมกินเลี้ยงที่บ้านฝ่ายชายก่อน เมื่อต้อนรับแขกเสร็จเรียบร้อยฝ่ายชายก็จะต้องเดินทางไปยังบ้านของฝ่ายหญิงเพื่อต้อนรับแขกทางฝ่ายหญิงต่อ การจัดงานเลี้ยงหลังพิธีหมั้นนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว อาจจัดขึ้นหลังพิธีหมั้นหลายเดือนก็เป็นได้ และงานเลี้ยงมงคลสมรส จะจัดขึ้นที่บ้านของฝ่ายชาย มีแขกจากทั้งสองฝ่ายมาร่วมงานเพื่อแสดงความยินดี ลักษณะเด่นของงานเลี้ยงมงคลสมรสของชาวเวียดนามก็คือจะมีหิ้งบูชาโฮจิมินห์ประดับอยู่ในงาน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพิธีนี้ และเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องไปถ่ายรูปร่วมกับแขกที่หน้าหิ้งบูชาโฮจิมินห์ (พิสิษฐ์ อำนวยเงินตรา, 2557 อ้างถึงใน กรชวัล กริ่งสันเทียะ, 2559; จตุพร ดอนโสม, 2555)
พิธีศพ (Dam ma) สำหรับชาวเวียดนามในประเทศไทยอาจจะมีการจัดการพิธีศพให้กับสมาชิกที่ล่วงลับแตกต่างกันออกไป จุตพร ดอนโสม (2555) ระบุว่าทันทีที่มีชาวเวียดนามเสียชีวิต ญาติของผู้ตายจะต้องแจ้งต่อประธานศาลเจ้า โดยนำหมากพลู 1 สำรับ ประกอบด้วยหมากและพลูอย่างละ 5 คำ เหล้าขาว 1 ขวด มารับ “การครอบ” ซึ่งเป็นการบอกกล่าวแก่ผู้อาวุโสหรือประธานศาลเจ้า จากนั้นผู้ที่เป็นประธานศาลเจ้าจะไปแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านที่มีหน้าที่ให้สัญญาณกลองแก่สมาชิกในหมู่บ้าน ที่มีทำนองการตีเฉพาะ เมื่อได้ยินเสียงกลองชาวเวียดนามจะมารวมตัวกันที่บ้านของผู้ตาย และมีกรรมการศาลเจ้าเป็นแกนนำในการประกอบพิธีศพ และมีตัวแทนชายฉกรรจ์ 7 คน รับมอบหมายงานจากกรรมการศาลเจ้าให้มีหน้าที่ช่วยงานศพจนกระทั่งพิธีได้เสร็จสิ้นลง การตั้งศพ ชาวเวียดนามจะตั้งศพหันศีรษะผู้ตายไปทางทิศตะวันตก เช่นกันกับคนไทย การวางศพจะวางไปตามแนวยาวของบ้าน ลักษณะศพนอนวางมือซ้ายทับมือขวาที่หน้าท้อง เท้าโผล่นอกผ้าที่ใช้คลุมศพ และหันเท้าออกนอกบ้าน ตั้งกระถางธูปไว้ที่เท้าผู้ตาย โดยปักธูปใหญ่ไว้กลางและมีเทียน 2 เล่ม มีโต๊ะเล็กเรียกว่า “เกือบอุบ” สำหรับวางข้าวจ้าว ตะเกียบคู่หนึ่ง น้ำแก้วหนึ่ง ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ต้องจุดไว้ตลอดเวลา 1 ดวง ซึ่งมีความเชื่อว่าตะเกียงจะเป็นแสงสว่างนำทางผู้ตายมากินอาหารที่จัดวางไว้นี้ ข้าว มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ไข่ หมายถึง อาหาร ถ้าเป็นงานศพของผู้ที่ยังไม่ได้มีอายุไม่ว่าชายหรือหญิงจะตัดชุดแดงใส่ให้แก่ศพ และมีข้าว 9 เมล็ด เงินบาท 1 เหรียญ และทองคำจำนวนหนึ่งให้อยู่กับศพ เพราะเชื่อว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวจะนำพาความอุดมสมบูรณ์ในโลกหน้า
ในงาน จะมีการร่วมรับประทานอาหารช่วงกลางคืน มีการนำอาหารอาทิ เมล็ดแตงโม (โหดเยือ) ส้มตำ ข้าวเกรียบ (แบ๋งห์ดา) และข้าวต้ม (จ๋าวกว่าง) และของหวานเป็นบัวลอยลูกใหญ่มาบริการแขกผู้ร่วมงาน ผู้เข้าร่วมงานแต่งกายสีดำ และญาติผู้ตายจะแต่งกายตามแบบเวียดนาม คือ ลูกสาวต้องแต่งชุดสีขาว คือ สวมเสื้อขาว ผ้าถุงขาว สวมผ้าที่ทำคล้ายหมวกสวมยาวคลุมถึงไหล่ ส่วนลูกชายใส่ชุดสีขาวเช่นกัน มีผ้าโพกที่ศีรษะ และหลานของผู้ตายต้องส่วมเสื้อสีขาวและโพกผ้าสีขาวที่หัวด้วย การแต่งกายในพิธีศพของชาวเวียดนามเรียกว่า “อ้าวเต้” ทำมาจากผ้าดิบสีขาว หรือเรียกได้อีกชื่อว่าชุด “วายโท” (เหงียน ถิ ถ่าว, 2552) ในคืนสุดท้าย จะมีพิธีบอกผู้ตายให้ทราบ เรียกว่าพิธีเจี่ยนกิ่ว โดยเป็นการยกโลกศพ กลับหัวโลงศพหันศีรษะออกนอกบ้าน มีการเดินรอบโลงศพสามรอบ ทุกครั้งจะมีหัวหน้าชายฉกรรจ์คอยให้สัญญาณ โดยเคาะไม้เป็นจังหวะ และมีการตีฆ้องสลับกัน ทุกครั้งที่ตีญาติจะร้องไห้เสียงดังขึ้น เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้ตาย การเคลื่อนศพในอดีตจะใช้การแบกหาม แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนมาใช้รถ ในขบวนศพจะมีลูกชายคนโตของผู้ตายเดินนำหน้ารถบรรจุศพโดยเดินถอยหลังและไม่สวมรองเท้า ระหว่างทางมีการโปรยกระดาษเงินกระดาษทอง ระหว่างทางมีการหยุดพักเพื่อทำพิธี “ดีดาง” คล้ายการทำบังสุกุลของคนไทย มีการบริจาคเงินจากญาติผู้ตายตามศรัทธาแก่ศาลเจ้า สำหรับการฝังศพ ญาติจะจ้างคนมาขุดเตรียมไว้ นิยมขุดอยู่ในตระกูลหรือฮ่อของตนเอง เนื่องจากเชื่อว่าจะได้กลับมาเกิดในครอบครัวเดียวกันในภพหน้า ก่อนจะฝังศพ ไทกรุ๋งจะทำหน้าที่อ่านใบเบิกทางของผู้ตาย โดยใบเบิกทางนี้จะใช้แปะไว้ที่หน้าโลงศพเพื่อฝังลงไปพร้อมกัน จากนั้นก็จะนำศพลงฝัง มีช่างปูนก่อหลุมศพเพื่อสร้างเป็นฮวงซุ้ยต่อไป และเป็นอันเสร็จพิธี (จตุพร ดอนโสม, 2555)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ศิวกร ราชชมภู
คนเวียดนามในแผ่นดินสยาม. (16 มิถุนายน 2562). การอพยพของคนไทยเชื้อสายเวียดนามจากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินไทย [Video].
ประวัติศาสตร์นอกตำรา. (6 มกราคม 2564). คนเวียตที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจนถึงวันนี้ที่พวกเขาต้องกลับสู่มาตุภูมิประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.27 [Video].
Thai PBS. (3 เมษายน 2562). อาหารไทยเชื้อสายเวียดนามที่นี่บ้านเรา (3 เม.ย. 62) [Video].อาหารไทยเชื้อสายเวียดนามที่บ้านเรา
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ศิวกร ราชชมภู
กรชวัล กริ่งสันเทียะ. (2559). การดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมผ่านการสอนภาษาเวียดนามของชาวเหวียดเกี่ยวในจังหวัดอุดรธานีและนครพนม [ภาคนิพนธ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
กฤษณะ ทองแก้ว. (2562). ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม: พลวัตการเปลี่ยนแปลงผ่านทางสังคมในเมืองสุราษฎร์ธานี. วารสารราชภัฏสุราษฎร์ธานี, 6(1), 186-211.
จตุพร ดอนโสม. (2555) การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
จิตร ภูมิศักดิ์. (2556). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:แม่คำผาง.
จิราภรณ์ วีระชัย. (2543). สถานภาพและบทบาทของเจ้าอง โต๋ที่มีผลต่อวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย [การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
เจริญ ไชยชนะ. (2515). ประวัติศาสตร์ประเทศไทยในเอเชีย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ไชยวัฒน์ การพิมพ์
ณรงศักดิ์ คูบุญญอารักษ์, พิสิฏฐ์ บุญไชย, และไพบูลย์ บุญไชย. (2561). บทบาทของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม. 8(2), 107-116.
ณัฐฌา กำจรวัฒนสิริ. (2553). ชุมชนชาวเวียดนาม บริเวณชุมชนมิตรสัมพันธ์ถนนมิตรสัมพันธ์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2556). วิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์เวียดนาม ระหว่าง ค.ศ.1985-2010: สำรวจสถานภาพองค์ความรู้. ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น: หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2565). ประวัติศาสตร์เวียดนามก่อน ค.ศ.1975. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2546). “ชาวเวียดนามอพยพในภาคอีสานของไทย”. วารสารอินโดจีน, (3-4), 59-75.
ธัญญาทิพย์ ศรีพนาและ Trinh Dieu Thin. (2548). เหวียต เกี่ยว ในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กรุงฮานอย.
นุชนงค์ อุเทศพรรัตนกุล. (2544). วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวเวียดนามในเขตเทศบาลเมืองนครพนม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
ผล อัฐนาค. (2543). วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
ผุสดี จันทวิมล. (2541). เวียดนามในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
พิสิฐ อำนวยเงินตรา. (2560). การปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนชาวไทยเชื้อสาย เวียดนาม จังหวัดอุดรธานี. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 13(1), 207-244.
เพ็ชรี สุมิตร. (2522). ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช.
ภัสธิดา บุญชวลิต. (2564). การคงอยู่ของลักษณะน้ำเสียงในระบบเสียงวรรณยุกต์ภาษาเวียดนามของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นที่ 4 ในจังหวัดนครพนม. วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ, 28(2), 442-472.
วิภู ชัยฤทธิ์. (2553). ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างชาวเวียดนามอพยพกับชาวไทยท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
ศริญญา สุขนรี. (2558). ชาวเวียดนามอพยพ: นายทุนยุค “ไทยใหม่” และการกลายเป็นชนชั้นนำเมืองชายแดน. เชียงใหม่: ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. (2559) อุดรธานีกับขบวนการกู้ชาติเวียดนาม. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. (2559). อุดรธานีกับการเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติเวียดนาม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยขอนแก่น]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
สมจิต สุดสงวน. (2542). การสืบทอดวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม กรณีศึกษาจังหวัดนครพนม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2. (2542). กรุงเทพฯ: มูลนิธารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สุภีร์ สมอนา. (2548). การบริโภคสุนัขในจังหวัดสกลนคร [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยขอนแก่น]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2542). เรือนพักอาศัยชาวไทย-เวียดนามบ้านท่าแร่ สกลนคร. สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสกลนคร.
โสภนา ศรีจำปา. (2543). รู้จักเวียดนามผ่านภาษาและวัฒนธรรม. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
หนึ่งฤทัย จันทรคามิ และสมชัย ภัทรธนานันท์. (2563). เครือข่ายชาตินิยมข้ามชาติ: ชาวเวียดนามในประเทศไทย. วารสารบัณฑิตวิทยาลัยพิชญทรรศน์. 15(3), 233–243.
เหงียน ถิ ถ่าว. (2552). อัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).
องค์ บรรจุน. (4 มีนาคม 2565). ที่มาของพิธี “เหม่อ เกื่อ มา” ไฉนถูกมองเป็น “ภาระ” หลังความตายในวิถีชีวิตลูกหลานเวียดนาม. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/article_84074
Varophas, K. (1966). The Vietnamese Refugees in Thailand. World Affairs, 128(4), 233-238.
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ศิวกร ราชชมภู