2023-06-17 10:51:59
ผู้เข้าชม : 11399

ลาหู่ เดิมตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบสูงทิเบต - ชิงไห่  มีเชื้อสายมาจากชาวโลโล ต่อมาคนไทใหญ่และจีนได้เข้าครอบครองพื้นที่ ชาวลาหู่จึงอพยพลงมาทางมณฑลยูนนานบริเวณแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขง จากนั้นอพยพเข้ามาในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. 2418 ด้วยเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเมียนมา เมื่อเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย ได้ตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และตาก คนกลุ่มนี้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยวิธีที่หลากหลาย ทั้งการใช้พิธีกรรมบำบัด การใช้สมุนไพร การใช้โภชนบำบัด การใช้ความร้อน กัวซาบำบัด เหรียญฝรั่งประคบ และการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาหู่
ชื่อเรียกตนเอง : ลาหู่, ละหู่, ลาฮู
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : หล่อเหย, ล่อเฮ, ข่าเลาะ, มูเซอ, ลาฮู, โลไฮ
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : ลาหู่
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

“ลาหู่” เป็นชื่อที่คนในกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า คน บางพื้นที่อาจเรียกว่า ลาฮู ลาฟู ฯลฯ ส่วนชื่อที่คนกลุ่มอื่นมักใช้เรียกคือ เมอเซอ มูเซ มกโซ หลอเหย ล่อเฮ ข่าเลาะ ฯลฯ ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานเรียกว่า “มูเซอ” แปลว่า พรานป่า สันนิษฐานว่าเป็นคำภาษาไทใหญ่ที่ยืมมาจากภาษาพม่า เนื่องจากชาวพม่ามักออกเสียงเรียกนายพรานว่า มกโซ หรือ มูเซ คนไทใหญ่ที่เรียกชนกลุ่มนี้ตามคนพม่าจะออกเสียงว่า มูเซอ ใกล้เคียงกับชาวโลโลในมณฑลยูนนานที่เรียก มูซู หรือ มุสซู และคนไทยในภาคเหนือรู้จักชนกลุ่มนี้ในชื่อ มูเซอ เช่นกัน

ชาวลาหู่มีเชื้อสายมาจากชาวโลโล แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ต่อมา

คนไทใหญ่และจีนได้เข้าครอบครองพื้นที่ ชาวลาหู่จึงอพยพลงมาทางมณฑลยูนนานบริเวณแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขง มีการตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม รวมทั้งอพยพไปยังประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ สถานภาพของชาวลาหู่ในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ประเทศจีนมีประชากรชาวลาหู่จำนวนมากอยู่ในเขตปกครองตนเองหลานชาง มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการจัดการตนเองภายใต้กำกับของรัฐ ในขณะที่ชาวลาหู่ในประเทศไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว และเวียดนาม มีสถานะเป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในประเทศนั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบชาวลาหู่กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ ลาหู่แดง ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ลำปาง น่าน และ เพชรบูรณ์ จำนวน 800 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มักอาศัยปะปนกับชาติพันธุ์อื่น

กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น ลาหู่นะ (ดำ) ลาหู่ญี (แดง) ลาหู่ชี (เหลือง) ลาหู่ขาว ลาหู่เฌเล ลาหู่บาหลา ลาหู่บาเกียว ฯลฯ ซึ่งมีภาษา เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมประเพณี ที่แตกต่างกันเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ชาวลาหู่ในแต่ละพื้นที่ล้วนมีประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับตำนานการกำเนิดชาติพันธุ์ลาหู่ ตำนานความเชื่อที่สะท้อนอยู่ในประเพณี พิธีกรรม และแบบแผนปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ทำให้สามารถสืบทอดสำนึกความเป็นชาติพันธุ์เดียวกันได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับบริบทความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ตามสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ทำให้ชาวลาหู่ในแต่ละประเทศต้องปรับตัวในการดำรงชีพให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละประเทศ จึงไม่พบอัตลักษณ์ในด้าน เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย สภาพหมู่บ้าน ภาษา วัฒนธรรมประเพณี ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์ลาหู่ได้อย่างชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวลาหู่ในแต่ละกลุ่มที่มีทั้งการนับถือแบบแผนวัฒนธรรมตามความเชื่อดั้งเดิม หรือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ทว่า ชาวลาหู่ยังคงมีความทรงจำทางสังคม มีวิถีความเชื่อ และสำนึกทางชาติพันธุ์ความเป็นลาหู่ร่วมกัน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ปนัดดา บุณยสาระนัย

ประวัติศาสตร์ของชาวลาหู่ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีความเชื่อกันว่า ในอดีตชาวลาหู่เคยตั้งถิ่นฐานในบริเวณทิเบต ต่อมาได้อพยพลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่มณฑลยูนนานบริเวณแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน หลังจากอยู่ที่มณฑลยูนนานเป็นเวลาหลายร้อยปีจนกระทั่งมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงตั้งตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งเป็นเมือง “เปอเจ-นาเจ” ที่มีชื่อเสียงด้านทหารและเศรษฐกิจทำให้จีนยกกำลังมาตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีชัยภูมิที่ดีและมีอาวุธที่ทันสมัยในเวลานั้นคือ “หน้าไม้” ที่ไม่ต้องประชิดตัวข้าศึก ทหารจีนจึงใช้เครื่องดนตรี “จ๊องหน่อง” เป่าให้ลูกเมียนักรบลาหู่ฟังเมื่อนักรบออกไปล่าสัตว์และทำไร่ โดยขอแลกกับไกและคันรั้งของหน้าไม้ เมื่อจีนยกทัพมาอีกครั้ง ลาหู่จึงพ่ายแพ้ นักรบต้องทิ้งครอบครัวและเมือง ต่อมาจึงให้คนสอดแนมมานัดแนะให้ครอบครัวหนี แต่ทหารจีนได้เลี้ยงดูครอบครัวลาหู่อย่างดีจึงพากันปฏิเสธที่จะหนี นักรบลาหู่จึงเป่า “แคนน้ำเต้า” นอกกำแพงเมืองหลายวัน เพื่อให้คำมั่นสัญญาต่อฝ่ายหญิงว่าจะให้อยู่อย่างสุขสบาย อีกทั้งยอมรับใช้ทหารจีนเป็นเวลา 7 ปี ครอบครัวลาหู่จึงหนีออกมาจากเมืองและไปตั้งเมืองใหม่และออกปล้นสดมภ์ตามหัวเมืองเล็กๆ ของจีน กองทัพจีนจึงยกทัพมาขับไล่ ทำให้ต้องหนีอพยพไปในพื้นที่แห้งแล้ง เป็นภูเขาหิน พบลิงอดอาหารตาย จึงให้ชื่อแผ่นดินว่า “เหมาะโก” สันนิษฐานว่าเป็นประเทศมองโกลในปัจจุบัน

ต่อมาครอบครัวลาหู่จึงย้ายลงมาหาที่อุดมสมบูรณ์กว่า เมื่อมาตั้งค่ายพักแรมและล่าสัตว์พบกวางที่มีรากไทรยาว 11 วา 1 ศอกพันอยู่ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ จึงตั้งถิ่นฐานกันที่ทะเลสาบนั้นเรียกว่า “เหนอเลาะ – หนอแล” ขณะนั้นมีประชากร 99 ครอบครัวจาก 2 ตระกูลคือ ตระกูล “อออูพา” แปลว่า “น้องของภรรยา” 66 ครอบครัว และตระกูล “ออนูมา” แปลว่า “น้องสาว” 33 ครอบครัว เมื่อล่าสัตว์ได้จะชำแหละสัตว์ออกเป็น 99 ส่วนเพื่อแบ่งกัน ผู้ชายตระกูลอออูพาล่าเม่นได้และเก็บขนเม่นออกแบ่งเนื้อเป็น 99 ส่วน ได้ครอบครัวละเล็กน้อย ภายหลังเด็กๆ ของตระกูลเอาขนเม่นมาเล่นทำให้ตระกูลออนูมาเห็นและคิดว่าเม่นเป็นสัตว์ใหญ่จากขนที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ระแวงตระกูลอออูพาและอพยพหลบหนีไป ฝ่ายตระกูลอออูพาเมื่อทราบเรื่องจึงออกติดตามพบต้นกล้วยที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เห็นว่าถูกฟันมีใบใหม่ยาว 1 ศอก จึงคิดว่าตระกูลออนูมาไปไกลแล้วจึงเลิกติดตามและหาที่อยู่ใหม่ทางฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง เรียกว่า “มื่อแมหมี่แม” อยู่ระหว่างแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงซึ่งต้องรบกับไทยใหญ่และคนจีนเพื่อแย่งที่ทำกิน และสร้างเมืองปกครองตนเอง เนื่องจากไม่มีอักษรของตนเอง เจ้าเมืองลาหู่จึงได้ติดต่อชาวจีนมาเป็นราชเลขา ต่อมามีสงครามกับจีน ราชเลขาได้บิดเบือนข้อความสัญญาสงบศึกของจีน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจผิดกัน และจีนได้รวบกำลังคนจากไทยใหญ่และชนเผ่าอื่นๆ เข้าตีเมือง ลาหู่จึงพ่ายแพ้ หลบหนีไปทั่วมณฑลยูนนาน มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มๆ เช่น ลาหู่เฌเล ลาหู่กุเลา ลาหู่ลาบา เป็นต้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อถือได้ว่าในปี พ.ศ. 2430 จีนได้รุกรานลาหู่อีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2433 ลาหู่ก็พ่ายแพ้แก่จีนจึงถอยลงมาอยู่ทางใต้บริเวณประเทศเมียนมาร์ ในขณะนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) มีบันทึกว่าดินแดนที่ลาหู่ปกครองมีความกว้างใหญ่ถึงพันลี้หรือ 300 ตารางกิโลเมตร ด้านตะวันตกจรดรัฐว้า ด้านใต้จรดเชียงตุง ด้านเหนือและตะวันออกจรดเมืองเบียนปิง ไวยวนและซือ เหมา มีหัวเมือง 36 หัวเมือง ส่วนตระกูลออนูมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศลาว ผลจากการแยกกันอยู่ทำให้สำเนียงการพูดของชาวลาหู่แตกต่างกัน ต่อมาตระกูลออนูมาได้แยกออกเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า “ลาหู่ซี” หรือ มูเซอกุ้ย (เหลือง) และแยกเป็นลาหู่ไกซี และลาหู่บาเกียว

ลาหู่ญีและลาหู่เฌเลอพยพจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2418 ก่อนที่มิชชันนารีจะเข้ามาประกาศพระกิตติคุณในพม่า ดังนั้น จึงยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมผสมผสานกับพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนไทย ส่วนลาหู่นะอพยพมาจากเมียนมาร์ประมาณปี พ.ศ. 2494 และลาหู่ซีเข้ามาในปี พ.ศ.2507 สาเหตุหลักในการอพยพเข้ามาในประเทศไทยของชาวลาหู่มาจากปัญหาการเมืองในพม่าและอพยพเข้ามาอีกหลายระลอก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 รัฐบาลไทยได้เข้มงวดการอพยพเข้าประเทศไทยเนื่องจากมีการอพยพเข้ามาแบบผิดกฎหมาย การประสบประสบปัญหาที่ทำกิน และการตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันลาหู่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัดเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตากและกำแพงเพชร

Anthony R. Walker นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันได้กล่าวถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลาหู่ไว้ว่า ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวลาหู่เป็นกลุ่มคนเร่ร่อน ไม่ตั้งถิ่นฐานถาวร ต่อมาจีนได้ให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ลาหู่ โดยให้หัวหน้ากลุ่มเป็นผู้รับสาส์นตราตั้งจากพระเจ้าจักรพรรดิ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ลาหู่ยังคงยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักรพรรดิจีน ต่อมาภายหลังจากที่จีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่ทางทหารเข้าไปปกครองท้องถิ่น รวมทั้งดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในแถบมณฑลยูนนาน อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลาหู่ส่วนใหญ่ ทำให้ชาวลาหู่ส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ และกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจของจีน ในขณะนั้นศาสตราจารย์ต้วน ลี่ เซิงนักมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ในปี 2525 มีชาวลาหู่ในจีนประมาณ 320,000 คน จากจำนวนนี้ได้อาศัยอยู่ในเขตอำเภอหลานชางถึง 154,000 คน จึงสันนิษฐานว่า ชุมชนใหญ่ของชาวลาหู่อยู่ที่อำเภอหลานชาง ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน (สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของขาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT),2545; โสฬส, 2539; ปนัดดา, 2549)

ในเวลาต่อมาผู้นำทางศาสนาคนหนึ่งได้รวบรวมศาสนิกตั้งตัวขึ้นเป็นขบถ จับอาวุธขึ้นต่อสู้ และมีการบันทึกว่า ชาวลาหู่พร้อมด้วยอาวุธซึ่งประกอบด้วยหน้าไม้และลูกธนูอาบยาพิษ ได้ทำการต่อต้านทหารจีนอย่างเข้มแข็ง แต่ไม่สำเร็จ ลาหู่ส่วนใหญ่จำยอมตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนและยอมผสมผสานกับวัฒนธรรมจีนที่แผ่ขยายเข้ามาพร้อมกับอำนาจทางการเมืองจนกลายเป็นชาวจีน ในขณะเดียวกันยังมีลาหู่อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธการครอบงำทางวัฒนธรรม และไม่ยอมถูกกดขึ่ จึงได้พากันอพยพลงมาทางตอนใต้ของจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณชายแดนตอนล่างของมณฑลยูนนานลงไปจนถึงแคว้นเชียงตุงของพม่า

ขณะที่มีการอพยพนั้น เขตจังหวัดเชียงตุงของพม่าอยู่ในอำนาจการปกครองของอังกฤษ Walker ได้อ้างถึงรายงานของร้อยเอก Mc Leod นายทหารฝ่ายข่าวกรองของอังกฤษ ซึ่งได้บันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1837 เกี่ยวกับลาหู่ที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่อพยพมาจากจีนว่า ลาหู่ได้รับเอาวัฒนธรรมการปกครองจากชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน โดยเรียกผู้นำที่มีฐานะสูงทางสังคมว่า “พญา” (โสฬส, 2539)

เมื่อชาวลาหู่เข้ามาอยู่ในเขตเชียงตุงของพม่า ได้ประสบปัญหาสำคัญอีกหลายประการ โดยเฉพาะกับความพยายามของกลุ่มคริสเตียนมิชชันนารีชาวอังกฤษ ซึ่งพยายามโน้มน้าวให้ลาหู่ละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม แล้วหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ลาหู่ซึ่งมีความศรัทธาต่อความเชื่อดั้งเดิมไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงเกิดการรวมกลุ่มกันโดยมีผู้นำศาสนาดั้งเดิมคนหนึ่งชื่อ มะแฮ ได้ตั้งตนขึ้นเป็นผู้วิเศษ เพื่อรวบรวมบริวารต่อต้านการครอบงำจิตสำนึกจากฝ่ายคริสตจักรอังกฤษ ทำให้ชาวลาหู่จากท้องถิ่นต่างๆ เดินทางไปแสวงบุญและเข้าร่วมเป็นบริวารของปู่จองมะแฮเป็นจำนวนมากจึงได้เกิดการวางแผนยึดเอาเมืองสาต (Hsat) เพื่อตั้งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรลาหู่ขึ้น ในที่สุดฝ่ายอังกฤษซึ่งปกครองพม่าได้ส่งกำลังเข้าปราบปราม แต่ฝ่ายของปู่จองมะแฮก็เตรียมรับมืออย่างแข็งขันด้วยการขุดคู ปักไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมไว้รอบๆ ที่ตั้งและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บริวารด้วยการแจกเทียนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปู่จองมะแฮอ้างว่า เป็นตัวแทนแห่งอำนาจของพระเจ้าที่จะช่วยปกป้องบริวารมิให้ได้รับอันตรายจากอาวุธของฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อการสู้รบผ่านไปศรัทธาและความเชื่อถือของบริวารเริ่มเสื่อมถอย เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามแผนการที่ได้ตกลงไว้ร่วมกัน เมื่อฝ่ายอังกฤษบุกเข้าถึงที่มั่นสุดท้าย ลาหู่ที่เหลือรวมทั้งปู่จองมะแฮต่างก็หนีเอาชีวิตรอด และได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว

การอพยพครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษคืนเอกราชให้พม่า เพื่อเปิดโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเอง ชาวลาหู่ในพม่าก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการดำรงชีวิต ด้วยแรงกดดันจากนโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ แรงกดดันจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของชาวลาหู่อีกครั้งโดยมีปู่จองจะฟู ผู้นำทางศาสนาคนสำคัญของชาวลาหู่ ได้ตั้งตนขึ้นเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณขึ้นโดยใช้ชื่อว่า เหมาะนะโตโบ หรือ ฤษีลิงดำ (โดยทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อว่า ปู่จองหลวง) ดอยลาง เขตเมืองเชียงตุง จากนั้นมีการกระจายข่าวลือไปยังชาวลาหู่ทั้งที่อยู่ในเขตพม่าและเขตไทยว่า ได้มีพระเจ้าจากสวรรค์ลงมาประทานข้าวทิพย์ อาหารทิพย์แก่ชาวลาหู่ ขอให้คนที่อยากได้ข้าวทิพย์ อาหารทิพย์ เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าที่ดอยลาง การเฝ้าพระเจ้าในที่นี้คือ การนำเงินหรือสิ่งของมีค่าไปเซ่นไหว้เหมาะนะโตโบ ซึ่งถือเป็นร่างทรง หรือเป็นตัวแทนของพระเจ้า เพื่อขอพรหรือเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ปัจจุบันในประเทศไทย มีชาวลาหู่อาศัยโดยกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย - พม่ากว่า 800 หมู่บ้าน พื้นที่ที่มีชาวลาหู่อาศัยอยู่จำนวนมาก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง ส่วนใหญ่ชาวลาหู่ มักจะอาศัยปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หรือคนไทย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นหมู่บ้าน ชาวลาหู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ลาหู่แดง ซึ่งมีการนับถือผี โดยมีผู้นำทางศาสนา หรือ โตโบ ส่วนลาหู่ดำหรือลาหู่เหลือง มีการนับถือผีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ชาวลาหู่บางส่วนที่มีการนับถือศาสนาคริสต์


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ปนัดดา บุณยสาระนัย

ลาหู่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ที่มีการกระจายตัวอาศัยอยู่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม และมีการอพยพไปยังประเทศโลกที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ

ในประเทศ สปป.ลาว จากการสำรวจเมื่อปี 2015 พบว่า มีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่ประมาณ 19,200 คน กระจายตัวอยู่ในเมืองห้วยทราย เมืองผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว และเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา(Bradley, 2012. ethnologue.com)

ในประเทศเมียนมาร์ พบว่า มีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่ประมาณ 200,000 คน กระจายตัวอยู่ในเขตเมืองเชียงตุง รัฐฉาน (Bradley, 2012. ethnologue.com)

ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จากการสำรวจเมื่อปี 2010 พบว่า มีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่ประมาณ 280,000 คน กระจายตัวอยู่ในเขตปกครองตนเองชาวไต ว้า และลาหู่ ในเขตเมืองซือเหมา และเมืองหลานชาง มณฑลยูนนาน (Bradley, 2012. ethnologue.com)

ในประเทศเวียดนาม จากการสำรวจเมื่อปี 2009 พบว่า มีจำนวนผู้พูดภาษาลาหู่ประมาณ 9,650 คน กระจายตัวอยู่ในจังหวัดลายโจว บริเวณชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศ สปป.ลาว และประเทศจีน (Bradley, 2012. ethnologue.com)

ในประเทศไทย ชาวลาหู่แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม เช่น ลาหู่ญี ลาหู่นะ ลาหู่เฌเล ลาหู่ชี ฯลฯ จากการรวบรวมข้อมูลประชากร โดยกองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2559) ระบุว่ากลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 116,126 คน แบ่งเป็นชาย 57,941 คน หญิง 58,185 คน มีจำนวน 452 กลุ่มบ้าน 23,167 หลังคาเรือน และ 24,250 ครอบครัว มีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ลำปาง น่าน และ เพชรบูรณ์


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ปนัดดา บุณยสาระนัย

การดำรงชีพ

การดำรงชีพของชาวลาหู่ ส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยเลือกพื้นที่ทำกินบริเวณต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ (พินิจนันท์ พรหมารัตน์, 2562: 204) ทั้งนี้ การที่ชาวลาหู่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ทั้งที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงและบนพื้นราบ การดำรงชีพของชาวลาหู่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ จึงมีความแตกต่างกัน ดังนี้

1. การดำรงชีพของชาวลาหู่บนพื้นที่สูง ส่วนใหญ่ทำการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำไร่ ทำสวน ทำนา และการเลี้ยงสัตว์ ในการทำไร่ ทำสวน ทำนานั้น ชาวลาหู่จะเลือกพื้นที่ที่จะเพาะปลูกพืชผลโดยต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 6 ประการ คือ 1) พืชพันธุ์ต่างๆ 2) ลักษณะดิน 3) ปริมาณและลักษณะของหิน 4) ระดับความสูง 5) ลักษณะภูมิประเทศทั่วไป และ 6) แหล่งน้ำในไร่ ในทุกพื้นที่จะมีการสร้างกระท่อมเฝ้าไร่ไว้ด้วย (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 7-9)

การทำไร่ถือเป็นอาชีพหลักของชาวลาหู่ เพราะพื้นที่ในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจะทำไร่แบบหมุนเวียน ระหว่างการปลูกข้าว การปลูกข้าวโพด และปลูกพืชผัก เช่น มะเขือ พริก ผักชี ต้นหอม ในแต่ละปีจะมีการหมุนเวียนพื้นที่เพาะปลูกใ ชาวบ้านส่วนมากจะปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะนำไปขาย หรือแบ่งปันให้แก่เพื่อนบ้านที่มีฐานะทางเศรษฐกิจฝืดเคืองกว่า ในบางปีที่ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคจะขอแบ่งปันจากผู้อื่น แล้วปีหน้าจึงจะทำการทดแทนผลผลิตให้ชาวลาหู่มีพันธุ์ข้าวเป็นของตัวเองและเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอยู่ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ได้กล่าวถึง พันธุ์ข้าวที่สูงของชาวลาหู่ว่า ส่วนใหญ่เป็นข้าวไร่ มากกว่าข้าวนา เช่นเดียวกับม้ง เมี่ยน และอ่าข่า พันธุ์ข้าวที่พบ เช่น ขะสอ จะพูมา จะนอยี จะนอแนะ จะแซะ จะลิ จะจอเหล เป็นต้น (ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรงเกษตรและสหกรณ์, 2553: 3-4) สำหรับวิธีการทำไร่ข้าวนั้น หลังจากเลือกทำเลแล้ว จะถางป่า แล้วรอให้แห้ง หลังจากนั้นจึงเผา เพราะเชื่อว่าหลังจากเผาป่าแล้ว ดินจะอุดมสมบูรณ์ เมื่อฝนตกก็เริ่มทำการเพาะปลูก โดยเอาเสียมที่ทำจากไม้ยาว เจาะดินให้เป็นรูจากนั้นให้ผู้หญิงใส่เมล็ดข้าวลงไป ถ้าหญ้าสูงระดับฝ่ามือ หัวเข่า หรือเอวก็ถอนหญ้าออกไป เมื่อข้าวเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ จะทำการเก็บเกี่ยว แล้วจึงมัดเป็นเครือใหญ่ๆ และตากทิ้งไว้ เมื่อแห้งแล้วก็กองไว้เป็นจุดและใช้ไม้ตี เมื่อได้ผลผลิตมาจะนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าว

นอกจากชาวลาหู่จะมีข้าวที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ชาวลาหู่ยังมีการปลูกพืชต่างๆ โดยจะปลูกรวมกับข้าวด้วย เช่น ทานตะวัน แตงโม แตงกวา และยังมีการปลูกไว้พื้นที่อื่นที่อุดมสมบูรณ์และอยู่ใกล้เคียงกัน เช่นฟักทอง เผือก มัน ผักชี ข้าวโพด ต้นหอม และถั่วฝักยาว เป็นต้น ภายในสวนหลังบ้านมักปลูกมันฝรั่ง กาแฟ กล้วย กะหล่ำปลี แตงกวา พริกแดง ฟักทอง และผักอื่นๆ มีการเพาะปลูกพืชไร่ คือ ข้าวและข้าวโพด พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ พริก ข้าวฟ่าง ถั่ว แม้ว่าในอดีตชาวลาหู่จะปลูกฝิ่นไว้ขาย แต่ในปัจจุบันได้หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น กาแฟ ส้ม มันฝรั่ง ถั่วแระ นอกจากการทำไร่แล้ว ชาวลาหู่ยังมีการการเลี้ยงสัตว์ และการสะสมของป่า การค้าขาย เป็นต้น (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 7)

อย่างไรก็ตาม การทำไร่ของชาวลาหู่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีการจัดงานฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ ระยะเวลาของการจัดงานขึ้นอยู่กับว่าความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตที่ได้ในปีที่แล้วดีหรือไม่ หากได้ผลผลิตดีก็อาจจะจัดงานได้หลายวัน แต่ถ้าผลผลิตไม่ดีจะจัดงานเพี้ยงสามวันเท่านั้น โดยมีปู่จารย์จะเป็นผู้กำหนดวัน ส่วนใหญ่มักจะกำหนดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ (วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558: 183)

ในด้านการเลี้ยงสัตว์ ชาวลาหู่นิยมเลี้ยงไก่ หมู วัว ควาย ม้า และสุนัข ทุกครัวเรือนจะเลี้ยงเพื่อขาย ล่าสัตว์ และเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรม (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, 2563: 2) โดยหมูนั้นชาวลาหู่เลี้ยงไว้เพื่อขายให้แก่คนไทย (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8) และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญ (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 34) หมูจึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่จำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน (ศรินทิพย์ สถีรศิลปิน, 2529: 3) ส่วนไก่ก็เช่นเดียวกันกับหมู ที่จะต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น การเซ่นผีร้าย การทำนาย การเสี่ยงทายโชคลาง (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8) ส่วน วัว ควาย ม้า มักจะเลี้ยงไว้ใช้งานและเป็นอาหาร (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 33-34) โดยวัวและควายนั้น ชาวลาหู่มิได้เลี้ยงไว้เพื่อรีดนมหรือกินเนื้อ แต่เลี้ยงไว้ขายให้แก่คนไทยและใช้รับจ้างแรงงานให้แก่คนไทยในฤดูทำนา ส่วนม้านั้น นับเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ มีราคาสูงและเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีค่ามากที่สุดในระบบเกษตรกรรมของชาวลาหู่ (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8) ส่วน สุนัข จะเลี้ยงไว้เพื่อเวลาไปล่าสัตว์จะพาไปล่าสัตว์(ชูชาติ อินทพงษ์, 2550: 34) อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงทุกชนิดไม่ได้รับการเอาใจใส่มากนัก ชาวบ้านจะปล่อยให้สัตว์เลี้ยงของตนหากินตามลำพัง และไม่มีการล้อมคอก ยกเว้นไก่จึงจะสร้างเล้าไก่ไว้ใกล้บ้าน (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8)

ในช่วงเวลาที่ว่างจากการทำการเกษตรชาวลาหู่จะออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานรับจ้าง โดยเฉพาะการรับจ้างทั่วไปและการรับจ้างเป็นแรงงานก่อสร้าง (พินิจนันท์ พรหมารัตน์, 2562: 204)

อย่างไรก็ตาม ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบนภูเขานั้นฐานะไม่ค่อยดีนัก ทุกครัวเรือนมีหนี้สินในการกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการเช่าที่ดินทำกิน นอกจากนั้น ที่ดินส่วนใหญ่ถูกนายทุนเข้ามากว้านซื้อจำนวนมาก ทำให้หลายครอบครัวต้องไปรับจ้างทำงานในไร่ รับจ้างเก็บชา รับจ้างทำ และสวนส้ม (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, 2563: 2)

2) การดำรงชีพของชาวลาหู่ในพื้นราบ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งเป็นพ่อค้าคนกลาง รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากภายในหมู่บ้านต่างๆ แล้วนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าโรงงานหรือโรงสีในเมือง รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายข้าว ข้าวโพด และมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, 2563: 2)

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวลาหู่ไม่ได้สนใจเรื่องการค้าขาย และไม่ได้มีบทบาทต่อระบบทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าด้วยวิถีการผลิตที่ปลูกข้าวเพื่อยังชีพ บางครั้งประสบปัญหาข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนจึงต้องหาซื้อจากคนไทยบนพื้นราบ และมีการผลิตผลประเภทอื่นที่สามารถสร้างรายได้ได้แก่ ใบกล้วยป่า เมี่ยง ผักต่างๆ เขาสัตว์ น้ำผึ้ง และอื่นๆ (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8)

นอกจากนี้ชาวลาาหู่ยังมีความชำนาญในการล่าสัตว์ด้วยการใช้ธนูและลูกศรอาบยาพิษ (ศรินทิพย์ สถีรศิลปิน, 2529: 3) การที่ชาวลาหู่เป็นนักล่าสัตว์ จึงไม่ขาดแคลนเนื้อสัตว์ป่า นอกจากการล่าสัตว์แล้ว พวกเขายังมีรายได้จากการหาของป่ามาขาย ให้คนไทยพื้นราบ ได้แก่ ใบกล้วย ไม้ป่ามวนมเหสี และเมี่ยงการเก็บของป่ามาขายจะทำเมื่อมีราคาสูงเท่านั้น (วัลลภ นามวงศ์พรหม, 2549: 8)

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่มีการอยู่อาศัยบนพื้นที่สูง ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ภายหลังจากการอพยพลงมาจากภูเขา ะมาตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นราบ นอกจากอาชีพดังกล่าวมาแล้ว ชาวลาหู่บางกลุ่มได้ทำการเกษตรดั้งเดิม โดยการทำนา และเช่าที่นา โดยมีการตกลงกับเจ้าของที่นา หลังจากเก็บเกี่ยวจะจ่ายค่าเช่าเป็นตัวเงิน นอกเหนือจากฤดูกาลทำนา จะทำอาชีพอิสระ รับจ้างทำงานทั่วไป เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างขุดหลุม อีกทั้งยังมีการทอผ้า ขายดอกไม้ ขายของป่า และเป็นผู้ปเผยแพร่ศาสนาอีกด้วย การรับจ้างสามารถสร้างรายได้ดีกว่าการหาของป่า ซึ่งมีรายได้ไม่เน่นอน

โครงสร้างทางสังคม

โครงสร้างทางสังคมของชาวลาหู่ มีทั้งโครงสร้างทางสังคมระดับกลุ่มบ้าน (หมอง) ระดับหมู่บ้าน ระดับเครือญาติ และระดับครอบครัว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ระดับกลุ่มบ้าน (หมอง) “หมอง” หมายถึง กลุ่มหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน รวมกลุ่มหลายหมู่บ้านเป็น 1 กลุ่ม หรือ 1 หมอง ประกอบด้วย หมู่บ้านบริวารหลายหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ หรือ อาดอ) ส่วนการปกครองในระดับกลุ่มบ้านใน 1 กลุ่มบ้าน จะมีผู้นำสูงสุดคือ พญา ทำหน้าที่ปกครองดูแลหมู่บ้านต่างๆในหมอง นอกจาก พญา แล้วยังมีตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆเช่น ป้อเมือง แสนหลวง ปู่หมื่น ปู่ลา ในแต่ละหมู่บ้านอาจมีครบหรือไม่ครบทุกตำแหน่งก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร จำนวนครัวเรือน และขนาดของหมู่บ้าน แต่ตำแหน่งปู่ลาเป็นตำแหน่งสำคัญในการประสานงานและส่งสาส์นต่างๆในหมู่บ้านและกลุ่มบ้าน จึงจำเป็นต้องมีทุกหมู่บ้าน

คุณสมบัติของ “พญา” จะต้องเป็นเพศชายที่ทายาทสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิตหรือเครือญาติเดียวกัน มีความสามารถในการปกครองชุมชน มีความรู้ในกฎจารีตประเพณีและวัฒนธรรมเป็นอย่างดี เป็นที่เคารพยอมรับนับถือของคนในชุมชน มีฐานะมั่นคง มีความเสียสละและมีความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น บทบาทหน้าที่ของพญา จะมีหน้าที่ปกครองดูแลกลุ่มหมู่บ้าน 1 หมอง จะต้องรับฟังข้อคิดเห็นของชาวบ้าน ช่วยพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นผู้แต่งตั้งผู้นำฝ่ายต่างๆ ให้แต่ละหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม พญาอาจกระทำความผิดได้ เช่น กระทำผิดกฎจารตประเพณี หรือใช้อำนาจเกินขอบเขต หากพญากระทำผิดกฎจารีตประเพณี จะต้องถูกปรับสินไหมเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป แต่จะถูกปรับสูงกว่าชาวบ้านเป็นสองเท่า เพราะถือว่า พญา เป็นผู้ที่รู้กฎจารีตประเพณีแต่กลับไม่ปฏิบัติตาม พญาจะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อเสียชีวิตหรือลาออกด้วยสาเหตุชราหรือลาออกเนื่องจากไม่ต้องการรปฏิบัติหน้าที่นั้นต่อ

2) ระดับหมู่บ้าน โครงสร้างทางสังคมระดับหมู่บ้านของลาหู่ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน ซึ่งชาวลาหู่เรียกว่า “แซะ คือ แซะหละ” หมายถึง ก้นเส้าที่มี 3 ขา 3 มือ จึงจะสามารถตั้งขึ้นอย่างมั่นคงได้ นั่นคือ 1) ผู้นหมู่บ้าน (อาดอ หรือ คะแซ) 2) นักบวช หรือ พระ (โตโบ) และ3) ช่างตีเหล็ก (จาหลี) ชาวลาหู่เชื่อว่า หากหมู่บ้านใดไม่มีองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตั้งเป็นหมู่บ้านที่มั่นคงได้ โครงสร้างทางสังคมแบบดั้งเดิมนี้ชาวลาหู่ได้รับการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ และให้ความเคารพนับถือ กับบุคคลทั้งสามนี้เป็นอย่างมาก ในปีหนึ่งๆ สมาชิกของทุกครัวเรือนจะต้องไปช่วยกันทำงานให้แก่บุคคลทั้งสามนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ทำหน้าที่ให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นของชุมชน

การปกครองในชุมชนตามแบบจารีตดั้งเดิมของลาหู่จะมีผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่เป็นผู้นำในด้านการปกครอง มีการสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิต หากผู้นำคนใดไม่มีลูกชาย ชาวบ้านจะประชุมและเลือกผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแทน การสืบทอดทางทายาทของคะแซจะขึ้นอยู่กับความรู้ที่มี โดยไม่จำกัดเพศ หากชาวบ้านให้การยอมรับสามารถช่วยเหลือชาวบ้านในยามทุกข์ยากได้ ผู้หญิงก็สามารถมีบทบาทในการเป็นคะแซได้เช่นกัน หรืออีกกรณีหนึ่ง ที่ผู้หญิงจะเป็นคะแซได้ในกรณีที่สามีซึ่งเป็นคะแซตาย และหญิงซึ่งเป็นภรรยาของคะแซที่เสียชีวิตมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นคะแซต่อได้เช่นกัน

นอกจาก ผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) แล้วโครงสร้างวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวลาหู่ยังต้องมีที่ปรึกษาที่เป็นผู้นำความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิม เรียกว่า โตโบ ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้อาวุโสของชุมชนที่มีความรู้ด้านกฎจารีตประเพณีต่างๆ ได้แก่ ส่าหล่า อาจา ฟูกวาง ตาลา คะซ้อมา นอกจากนี้ที่ปรึกษาสำคัญอีกคนหนึ่งคือ ช่างตีเหล็ก ที่จะเป็นผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการเกษตร นอกจากนี้ผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) อาจมีผู้ช่วยอีก 3 คน คือ ปู่หมื่น เป็นผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ ปู่แส เป็นผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ และปู่ลา เป็นผู้ช่วยปกครอง

ความรู้และสติปัญญาที่ใช้ในการพิจารณาคดี ลงโทษ ปรับ ในภาษาลาหู่เรียกว่า “จูหยี่-หม่าหยี่” เป็นความรู้ที่เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ ลักษณะที่คะแซควรมีคือ “อ่อคือ อ่อกอ” หมายความว่า เป็นคนที่รู้จักแบ่ง รู้จักแยกแยะ ว่าส่วนไหนเป็นของใคร สำหรับใคร เมื่อมีการพิจารณคดี หากคะแซยืนยันว่าเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทุกคนจะเชื่อฟังโดยไม่มีข้อถกเถียง หากคะแซที่ไม่มีความรู้จะไม่มีคนนับถือ และชาวบ้านจะเปลี่ยนคะแซคนใหม่โดยไม่บอกคะแซคนเก่า ด้วยการไปประชุมหรือไปรับการพิจารณาคดีที่บ้านคะแซใหม่ คะแซเก่าจะรับรู้ได้เองว่าตนเองถูกปลกจากตำแหน่งนั้นๆ อาดอ หรือ คะแซ จึงเป็นตำแหน่งทางการปกครองที่สูงสุดของหมู่บ้าน เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้าน คำหรือประโยคที่ใช้ในการปกครองคือ “คะ-ดะ-โกะ-หิ-อะ-ดะ-เว” หรือ “หิบี-กอบี-โบบี-สีบี” หมายความว่า บ้านเมืองจะดีได้นั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามของคนในสังคม อันจะนำไปสู่กฎระเบียบ จารีต ประเพณีที่ดี ทำให้ปกครองบ้านเมืองได้สงบสุข ผู้นำหมู่บ้านมีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแลหมู่บ้านให้เกิดความสงบสุข และป้องกันให้เกิดความปลอดภัย ชักจูงลูกบ้านให้ร่วมกันปฏิบัติงานของส่วนรวม อบรมสั่งสอนให้ลูกบ้านปฏิบัติตามหลักความเชื่อทางศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เป็นคนตัดสินคดีความต่างๆ ระหว่างชาวบ้าน สั่งสอนตักเตือน และปรับไหมตามกฎจารีตประเพณีที่ชาวลาหู่เรียกว่า “อ่อหิ-อ่อก่อ” เป็นเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานจนถึงปัจจุบัน บางหมู่บ้านมีผู้ช่วยหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่แทนเวลาที่หัวหน้าหมู่บ้านไม่อยู่ได้

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า คุณสมบัติของผู้นำหมู่บ้าน หรือ คะแซ จะต้องเป็นทายาทหรือเครือญาติสืบสายโลหิตของผู้นำคนเดิม เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องกฎจารีตประเพณีเป็นอย่างดี มีความประพฤติดีไม่ผิดศีลธรรม เป็นที่เคารพนับถือและยอมรับของชาวบ้าน มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความกล้าแสดงออก มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความอดทนอดกลั้นสูง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีฐานะครอบครัวที่มั่นคง ผู้นำหมู่บ้าน (คะแซ) จะได้รับการดูแลและค่าตอบแทนจากชาวบ้านโดย ลูกบ้านจะช่วยงานในการถางไร่ ปลูกข้าว เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แก่คะแซ 3 ครั้งต่อปี ได้รับเงินบริจาคและสิ่งของต่างๆ จากการร่วมทำบุญของชาวบ้านเรียกว่า “ป๊ะ-แก่-เว”หากมีการพิจารณาคดีความขัดแย้ง จะได้รับจากเงินค่าปรับสินไหมร้อยละ 20 การพ้นจากตำแหน่งของคะแซเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเสียชีวิต ลาออก หรือถูกไล่ออก หากเป็นผู้นำที่ชาวบ้านไม่ยอมรับนับถือ

3) ระบบเครือญาติ

ระบบเครือญาติของชาวลาหู่เป็นระบบการสืบตระกูลทางฝ่ายแม่ สังเกตจากการที่เด็กแรกเกิดที่อาศัยอยู่ในครอบครัวของฝ่ายแม่จนกระทั่งแต่งงาน ถ้าไม่ยอมลงไปสร้างบ้านเรือนใหม่ ผู้ชายแต่งงานแล้วก็ต้องออกจากบ้านไปอยู่บ้านภรรยา แต่เป็นที่สังเกตว่าผู้ชายลาหู่เฌเล เมื่อแต่งงานแล้วและได้อาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยาตามประเพณีแล้วมักจะหาเหตุขัดแย้งกับพ่อแม่ทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายภรรยาอยู่บ่อยครั้ง เพื่อแยกตัวไปสร้างบ้านเรือนใหม่ โดยจะสร้างบ้านและจัดหาพื้นที่สร้างบ้านเอง เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมก็มักจะเข้ารวมกับญาติทางฝ่ายสามีและไม่ยุ่งเกี่ยวกับญาติทางฝ่ายภรรยาเท่าใดนัก ฝ่ายสามีจะเป็นผู้สืบสกุลแทนเมื่อบิดามารดาของตนเสียชีวิตไป

4) ระดับครอบครัว

ครอบครัวของชาวลาหู่ยึดถือแบบผัวเดียวเมียเดียว ประกอบด้วยหัวหน้าครอบครัว ภรรยา และลูก ซึ่งครอบครัวหลายครอบครัวจะรวมกันเป็น “ครัวเรือน” อยู่ภายใต้การปกครองของ “หัวหน้าครัวเรือน” บางครั้งถ้าครอบครัวมีขนาดเล็กเพราะมีสมาชิกน้อยเกินไป จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจหรือไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ตามลำพัง ก็อาจจะไปอยู่ร่วมกับครอบครัวอื่นที่เกี่ยวดองเป็นญาติกันได้ แต่ก็มีหลายครัวเรือนที่ประกอบด้วยครอบครัวเพียงครอบครัวเดียว ครอบครัวเหล่านี้ต่อไปจะกลายเป็นครัวเรือนขึ้นมาโดยนับรวมญาติทางฝ่ายสามีภรรยาเข้าไปด้วย ผู้ชายชาวลาหู่เมื่อแต่งงานแล้วจะอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ดังนั้น หลายครัวเรือนจึงครอบคลุมถึงลูกสาวที่แต่งงานแล้ว สามี และลูก ด้วย

ครัวเรือนจะเป็นศูนย์รวมความมั่งคั่งที่สำคัญของหมู่บ้าน แม้ว่าแต่ละครอบครัวในครัวเรือนจะมีทรัพย์สมบัติของตนเอง มีความสามารถในการเพาะปลูกได้เอง แต่ผลผลิตส่วนหนึ่งจะถูกนำไปให้หัวหน้าครัวเรือน และหัวหน้าครัวเรือนจะเป็นผู้แบ่งให้ครอบครัวนั้นตามแต่เห็นสมควร หัวหน้าครัวเรือนจะรับผิดชอบเกี่ยวกับความเป็นอยู่และทุกข์สุขของทุกๆ คนในครัวเรือน รวมทั้งเป็นผู้จัดหาอาหารและเสื้อผ้า เมื่อหัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิต ผู้เป็นภรรยาต้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าครัวเรือนแทนและจะแบ่งทรัพย์สินให้บุตรหลานที่อยู่ด้วยมากกว่าผู้ที่ย้ายออกไปแล้ว ซึ่งภรรยานั้น แม้ว่าจะได้รับตำแหน่งหัวหน้าครัวเรือนต่อจากสามี แต่ในความเป็นจริงก็จะทำหน้าที่ช่วยเหลือเท่านั้น ผู้ชายที่มีอายุมากที่สุดในครัวเรือน ไม่ได้จำกัดว่าเป็นลูกชายหรือลูกเขย จะต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนคนต่อไป แต่ละครัวเรือนจะช่วยเหลือหมู่บ้านเรื่องเงินในการประกอบพิธีกรรมหรือส่งคนไปร่วมในการทำกิจธุระต่างๆ หากมีการแบ่งผลประโยชน์จะแบ่งเท่าๆ กันตามความรับผิดชอบของแต่ละครัวเรือนโดยไม่คำนึงถึงขนาดของครัวเรือนนั้น (ลาเคละ จะทอ 2548, อภิชาต ภัทรธรรม, 2552)

บุคคลสำคัญในกลุ่มชาติพันธุ์

จากการสัมภาษณ์อาจารย์เจริญ ธรรมบัณฑิต ประธานมูลนิธิโตโบลาหู่เอเชีย ได้ให้ข้อมูลว่า โตโบ เป็นผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณตามวิถีประเพณีดั้งเดิมของชาวลาหู่ ถือได้ว่าเป็นปราชญ์ผู้รู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ดังนี้

1. นายติแส จะสีปึ๊ อายุประมาณ 90 ปี ปราชญ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ บ้านติแส หมู่ที่ 5 ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย

2. นายอาแหล จะหวะ อายุประมาณ 80 ปี บ้านจะนะ ต.แม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

3. นายจะแฮ ลาส่อ อายุประมาณ 80 ปี บ้านหนองไผ่ ต.ม่อนปิน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

4. นายจะฟะ อายุประมาณ 60 ปี บ้านแกน้อย (ป๊อกน้ำแตง) อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

5. โตโบมา (ภรรยาพญาจะอื่อ ซึ่งเป็นทายาทของเหมาะนะโดโบ) บ้านแกน้อย (ป๊อกน้ำแตง) อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ชาวลาหู่มีการผสมผสานความเชื่อระหว่างการนับถือบรรพบุรุษ ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ ชาวลาหู่ประมาณสองในสามของประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมหรือนับถือบรรพบุรุษ รองลงมามีการนับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ กลุ่มที่นับถือศาสนาดั้งเดิมเรียกตนเองว่า “แป๊ตู๊ป่า” กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์จะเรียกตนเองว่า “บูย้า” ชาวลาหู่ที่นับถือศาสนาคริสต์ จะเรียกกลุ่มตนเองว่า “เย่ซู” หรือ “เยซู” โดยชาวลาหู่พยายามปรับพิธีกรรมดั้งเดิมให้สอดคล้องสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์ทั้งหมด (สมัย สุทธิธรรม, 2541 อ้างถึงใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 130)

ในด้านประวัติคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 1970-1990 (ปฏิพัทธ์ พัฒนะกายา, 2534) แม้ว่าได้ระบุว่า ชาวลาหู่จะมีบรรพบุรุษดั้งเดิมที่มาจากประเทศจีน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ลาหู่นะ (มูเซอดำ) และลาหู่ซี (มูเซอเหลือง) และศาสนาดั้งเดิมที่เชื่อในภูตผี วิญญาณและพระผู้เป็นเจ้า ภายหลังจากการอพยพเข้าสู่ประเทศไทย และการเข้าเป็นสมาชิกของคณะกะเหรี่ยงแบ๊บติสท์ในประเทศไทยจนถึงการก่อตั้งและการดำเนินงานของคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทย เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชาวลาหู่บางส่วนหันไปนับถือพระเยซูคริสต์ ได้แก่ ปัญหาความยากจน คำพยากรณ์ตามศาสนาดั้งเดิมและการเปลี่ยนตามผู้นำ ในขณะเดียวกัน การนับถือศาสนาคริสต์ของชาวลาหู่มักประสบปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลจากศาสนาดั้งเดิม ข้อห้ามของคนโบราณ หลักศาสนศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง และความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีหลากหลายกลุ่ม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ความเชื่อและพิธีกรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทำหน้าในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ทั้งยังสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ ตอบสนองความต้องการทางจิตใจ อารมณ์ และความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิต ให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัย เป็นหลักประกันความอุดมสมบูรณ์ในการทำมาหากิน ความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่างของลาหู่ จึงมักเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และภูตผีปีศาจ พวกเขาให้ความเคารพยำเกรงต่ออำนาจเหล่านั้น สะท้อนออกมาในรูปของพิธีกรรมที่อ่อนน้อม วิงวอน บงการ และอ้อนวอนด้วยการบูชา เครื่องสักการะ ตามวันเวลาของฤดูกาลในรอบปี

ชาวลาหู่ มีพิธีกรรมสำคัญ ประกอบด้วย พิธีฉลองปีใหม่ พิธีกินข้าวใหม่ พิธีทำบุญเรียกขวัญ พิธีวันศีล พิธีเกี่ยวกับการเกิด พิธีแต่งงาน การหย่าร้าง และการตาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

พิธีฉลองปีใหม่ หรือที่เรียกว่า “เขาะเจ๊าเว” หมายถึง “ปีใหม่การกินวอ” ในแต่ละปีจะมี 1 ครั้ง พิธีฉลองปีใหม่ของลาหู่ไม่มีกำหนดการเฉพาะเจาะจงแน่นอน ผู้อาวุโสภายในหมู่บ้านพร้อมด้วยปู่จองและหัวหน้าจะเป็นผู้กำหนดเวลา ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมหรือเริ่มวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 เหนือ (เดือนอ้ายใต้) จนถึงวันเพ็ญ จะกำหนดจัดงานในช่วงที่สมาชิกส่วนใหญ่อาศัยอยู่ภายในครัวเรือน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เสร็จสิ้นภารกิจการทำงาน ทำไร่ ทำสวน หรือเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จแล้ว ในบางชุมชนอาจกำหนดพิธีฉลองปีใหม่ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม หรือเมษายนของแต่ละปี ในขณะที่บางพื้นที่จะจัดพิธีระหว่างเดือนที่สี่และเดือนที่ห้าของปีจันทรคติ ทุกหมู่บ้านของชาวลาหู่ไม่จำเป็นต้องจัดฉลองปีใหม่พร้อมกัน แต่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน หรืออยู่ในเดือนเดียวกัน โดยหัวหน้าหมู่บ้านและผู้อาวุโสของชุมชนจะเป็นคนกำหนดวันสำคัญและความสะดวกในการจัดพิธีฉลองทุกหมู่บ้านในชุมชนเดียวกัน (ชูชาติ อินทพงษ์, 2550)

เมื่อถึงช่วงฉลองปีใหม่ สมาชิกของหมู่บ้านที่ไปทำงานนอกพื้นที่จะเดินทางกลับมาร่วมงาน มีการฆ่าหมูดำ เพื่อนำเนื้อหมู และหัวหมูสังเวยต่อเทพเจ้ากื่อซา จากนั้นจะนำเนื้อหมูมาปรุงเป็นอาหารเลี้ยงฉลองกัน นอกจากนี้ชาวลาหู่จะนำข้าวเหนียวนึ่งมาตำคลุกงา หรือนวดกับงา แล้วปั้นเป็นก้อนกลม จากนั้นนำไปปิ้ง แล้วโรยด้วยน้ำอ้อย เรียกว่า “อ่อผุ” หรือข้าวปุก เพื่อนำไปถวายต่อเทพเจ้ากื่อซา

พิธีฉลองปีใหม่ มีกำหนดระยะเวลานานถึง 12 วัน โดยจะแบ่งการฉลองปีใหม่ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการฉลองปีใหม่ของผู้หญิง เรียกว่า “เขาะหลวง” หรือ “ปีใหญ่” มีระยะเวลา 6 วัน ช่วงที่สอง เป็นการฉลองปีใหม่ของผู้ชาย เรียกว่า “เขาะน้อย” หรือ “ปีเล็ก” มีระยะเวลา 6 วัน ระหว่างช่วงแรกกับช่วงที่สองจะมีช่วงหยุดพัก 1-2 วัน ปีใหม่ของแต่ละฝ่ายจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้พิทักษ์แห่งปี สาเหตุที่ต้องมีการฉลองปีใหม่แยกกันระหว่างชายและหญิงนั้น ผู้อาวุโสชาวลาหู่อธิบายว่า ในอดีตชายชาวลาหู่ต้องออกไปปฏิบัติภารกิจนอกหมู่บ้านเป็นเวลานาน เช่น การร่วมสงคราม การค้าขาย การล่าสัตว์ในป่า จึงทำให้ไม่สามารถกลับมาร่วมฉลองปีใหม่ได้ทัน ผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้าน จึงจัดงานฉลองปีใหม่กันก่อน เมื่อผู้ชายกลับมาจากปฏิบัติภารกิจ งานปีใหม่ก็เสร็จสิ้นพอดี ผู้ชายจึงจัดงานฉลองปีใหม่กันทีหลังอีกครั้งหนึ่ง (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545 อ้างถึงใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 139-140)

ก่อนเวลาของพิธีกรรม ชาวลาหู่จะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะข้าวสารดอย หมู และฟืน สะสมไว้ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากมีข้อห้ามมิให้ทำงานทุกอย่างในช่วงพิธีกรรมอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการไม่เคารพต่อพระเจ้ากื่อซาและผีผู้คุมครองหมู่บ้าน

เมื่อใกล้วันพิธีกรรม ชาวลาหู่จะเริ่มทำการเลี้ยงส่งผีหมู่บ้านเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้หมดไปจากหมู่บ้านเป็นอันดับแรก โดยพิธีกรรมนี้จะทำขึ้นที่บริเวณลานเต้นรำ (จะคึกื่อ) หมอผีของหมู่บ้านจะนำหญ้าคา ไม้ไผ่ ดิน มาปั้นเป็นรูปมีด รูปอาวุธและรูปสัตว์ต่าง ๆ นำไปคลุกกับขี้เถ้า ข้าวสุก กระดาษ เศษผ้า แบ่งออกเป็น 2 กอง สำหรับให้ปู่จารย์ว่าคาถาขับไล่ผีร้าย (พี้ล่ะพี้พ่ะ)

หลังจากนั้นจึงยกแคร่ 2 แคร่ แบกวิ่งไปรอบลานเต้นรำ ชาวลาหู่ทั้งชายและหญิง จะมานั่งรวมกันอยู่ที่ตรงกลางลาน แล้วนำแคร่ทั้งสองวิ่งออกไปทางหัวและท้ายของหมู่บ้าน เพื่อมิให้ผีร้ายจำทางกลับเข้ามาที่หมู่บ้านได้อีก

กลางคืนวันก่อนงานเขาะต่อเลอ (วันแรกของกินปีใหม่) จะได้ยินเสียงครกกระเดื่องตำข้าว (เชกื่อ) ดังก้องไปทั่วหมู่บ้านในหุบเขา ปู่จารย์จะฆ่าหมูหนึ่งตัวในวันแรกเพื่อเป็นการบูชาต่อพระเจ้า (กื่อซา) และขออนุญาตต่อผีผู้คุมครองหมู่บ้านเพื่อการจัดพิธีกรรมเขาะจาเลอะ ปีใหม่ลาหู่ในวันรุ่งขึ้น

ในช่วงเที่ยงคืน จะได้ยินเสียงปืนและประทัด ดังมาจากบ้านของปู่จารย์ เป็นสัญญานบอกให้ชาวลาหู่ทุกคนรับรู้ว่า ต้องรีบเตรียมอาหารโดยเร็ว เพราะหากพ้นเวลานี้เข้าสู่ช่วงพิธีกรรมแล้ว มีข้อห้ามในการทำงานอย่างเด็ดขาด เสียงเชกื่อยิ่งดังมากขึ้น บ้านที่มีปืนจะยิงให้เสียงดังสนั่นกันแทบทุกบ้าน หรือไม่ก็จุดประทัดให้เสียงดังเพื่อบอกถึงเวลาฟ้าสางแรกของวันเขาะต่อเลอ สัญญานของการประกอบพิธีกรรมได้เริ่มขึ้น ทุกบ้านเริ่มแช่ข้าว และนำมาทำเป็น "ข้าวปุ๊ก" ที่เชื่อว่า เป็นอาหารโปรดของพระเจ้ากื่อซา (ข้าวปุ๊กคือ ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ นำมาตำจนเหนียวเข้ากันจนทั่วปั้นเป็นแล้วก้อนผสมกับเกลือและงา)

ในตอนเช้าหมูตัวใหญ่ ซึ่งเป็นหมูที่ทุกบ้านช่วยกันออกทุนทรัพย์ซื้อมาเป็นสมบัติของงาน จะถูกเด็กรุ่นหนุ่มช่วยกันจับ "เชือด" รองเลือดลงในภาชนะ หมูทั้งตัวนั้นจะถูกนำไปเผา และตัดแบ่งไปให้คนทั้งหมู่บ้าน ตามทุนทรัพย์ที่ร่วมลงขันมา นำเครื่องในไปสักการะต่อผีในห้องผี (เยนี) ของบ้านปู่จารย์เป็นอันดับแรก ส่วนหัวและเนื้อของหมูจะถูกเก็บไว้เพื่อกินร่วมกัน

ในระหว่างวันฉลอง หนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยเครื่องประดับอย่างสวยงาม มีการแลกของขวัญกันด้วยขนมข้าวเหนียว และทุกครัวเรือนจะปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน เพื่อแสดงความปรารถนาจะให้ผลตามมาจากปีใหม่ได้มีส่วนแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน หลังจากสองวันนี้แล้วกลางคืนจะมีการเต้นรำ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนกระทั่งรุ่งสาง เรียกว่า “ก่าเคาะเว” ช่วงกลางวันชายหญิงชาวลาหู่จะมีการละเล่นที่แตกต่างกัน โดยผู้ชายจะเล่นขว้าง “ลูกข่าง” ส่วนผู้หญิงจะเล่น “ลูกสะบ้า” (การเล่นโยนลูกบอลกลมขนาดเท่ากำปั้นมือ ลูกบอลนี้ทำโดยใช้ผ้าเย็บห่อข้างในก็จะเป็นแกลบหรือรำข้าว)

เช้าวันที่สอง เรียกว่า จะคื่อกือก่อเลอ ปู่จารย์จะเริ่มเดินทางไปไหว้ห้องผีให้กับบ้านทุกหลังในหมู่บ้านที่มีการสร้างห้องผีไว้ เจ้าของบ้านจัดเตรียมเครื่องเซ่นที่ประกอบด้วย หมู ข้าวปุ๊ก ข้าวพอง เทียน น้ำสองกระบอกไม้ไผ่ เพื่อเซ่นสรวงบูชา ในระหว่างวันที่สองนี้ ชาวลาฮูนะจะเดินทางไปดำหัวผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนเคารพนับถือ ด้วยของฝาก คือ ข้าวปุ๊ก หมู ใบยาสูบ ชา หนุ่มสาวจะมาช่วยกันซ่อมแซมและล้อมรั้วลานเต้นรำจะคึกื่อ โดยนำหินจากลำธารมาวางตรงกลาง นำเอาดินมากลบทับ รูปร่างคล้ายจอมปลวกที่ตัดยอด เรียกว่า แทบู่ (แท่นบูชา) สาเหตุที่ต้องนำหินมาจากลำธารเพราะความเชื่อที่ว่า ก้อนหินจากสายน้ำที่เย็นฉ่ำ จะนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นของหมู่บ้าน หลายคนนิยมตัดผมในวันนี้ เพราะถือว่าเป็นวันมงคล จะได้มีความสุขตลอดปี ในช่วงกลางคืนของวันที่สอง ปู่จารย์จะนำเครื่องบูชาพระเจ้ากื่อซา เรียกว่า จะปู่คอเล่อะ มาวางบนแทบู่หรือแท่นบูชา กลางลานเต้นรำ เชื่อกันว่า เป็นที่สถิตของกื่อซาในช่วงเวลาพิธีกรรม ปู่จารย์เป็นผู้เริ่มวางเครื่องบูชา และจุดเทียนนำ สมาชิกในหมู่บ้านก็จะจุดเทียนที่ทำขึ้นเอง ตามกันบนแทบู่ ในยามค่ำคืนทุกคนจะผลัดเวียนมาบูชากื่อซาที่แท่นบูชาในลานเต้นรำ มีการพูดคุยและปรึกษากันเป็นกลุ่มในบริเวณโดยรอบของลานที่มีการล้อมรั้วไม้ไผ่ไว้เป็นอาณาเขต

ในคืนนี้บ้านที่มีห้องผีจะรอฟังเสียงไก่ขันเป็นครั้งแรก เมื่อได้ยินเสียง สมาชิกในบ้านคนหนึ่งจะรีบวิ่งออกมาจากบ้านพร้อมกระบอกไม้ไผ่ที่ทำขึ้นใหม่ ไปยังลำห้วยของหมู่บ้านเพื่อตักน้ำแล้ววิ่งกลับมาที่บ้าน ชาวลาหู่เชื่อว่า หากใครได้ตักน้ำก่อนจะเป็นคนขยันทำมาหากินที่สุด แต่ใครตักเป็นคนสุดท้ายถือว่าขี้เกียจที่สุดในปีใหม่นั้น เมื่อเสียงไก่ขันเป็นครั้งที่สอง ชาวลาหู่จะวิ่งไปสั่นกระดึง กระดิ่งที่ผูกคอวัว ม้า พร้อมกับตะโกนเรียกขวัญสัตว์ต่าง ๆ ให้มีความสุขอำนวยโชคลาภแก่เจ้าของ

เช้าวันที่สาม ลาหู่ถือว่าวันนี้ พระเจ้ากื่อซาและผีผู้คุ้มครองหมู่บ้านจะลงมาโปรดชาวลาหู่ทั้งมวล ปู่จารย์จะนำข้าวปุ๊กหนึ่งคู่ เทียนหนึ่งคู่ไปวางไว้ที่ แซมื่อต่าเลอะ(ศาลผี) ที่ตั้งอยู่บนเขา เหนือหมู่บ้านขึ้นไป ปู่จารย์จะสวดอ้อนวอนขอให้พระเจ้ากื่อซาและผีผู้คุ้มครองหมู่บ้าน ปกป้องรักษาดูแลให้ลาหู่ทุกคนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ในช่วงสายสมาชิกในหมู่บ้านจะมาดำหัวปู่จารย์ที่บ้าน ส่วนปู่จารย์จะทำพิธีสวดขอพรจากกื่อซาให้ปกป้องผู้คนที่มาดำหัวทุกคน นอกจากนี้ชาวลาหู่ จะเดินทางไปดำหัวด้วยการเต้นรำบนชานบ้านของผู้ใหญ่บ้าน บ้านของผู้นำหมู่บ้าน และผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นที่เคารพของชาวหมู่บ้าน เพื่ออวยพรให้กับหัวหน้าหมู่บ้าน บ้านของผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านจะปูผ้าขาวมาจากห้องผีมาที่บันไดบ้าน มีการฆ่าหมูเพื่อเลี้ยงให้กับผู้มาอวยพร

ในคืนของวันที่สามนี้ หนุ่มสาวลาหู่จะได้มีโอกาสแต่งกายด้วยชุดใหม่พร้อมเครื่องประดับสวยงามที่เตรียมพร้อมไว้สำหรับการเต้นรำโดยเฉพาะ หลายคนเริ่มเดินมาที่ลานเต้นจะคึกื่อ และเริ่มเต้นรำไปตามจังหวะของเครื่องดนตรีหน่อกู่ม่า (ประเภทเป่าคล้ายแคน) และซึง (ประเภทดีด มี 3 สาย) การเต้นรำตามจังหวะเป็นการเต้นที่ช้าสลับการเคลื่อนไหวที่เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ผู้หญิงจะจับมือเรียงแถวหน้ากระดานด้านใน ส่วนผู้ชายจะจับมือเต้นต่อกันล้อมวงอยู่ด้านนอก

ข้อห้ามของลาหู่ในวันนี้ คือ ห้ามใช้จ่ายเงินอย่างเด็ดขาด เชื่อกันว่าหากจ่ายในวันนี้ต้องจ่ายเงินไปตลอดทั้งปี แต่ถ้าหากได้รับเงินในวันนี้ ก็จะได้รับเงินทั้งปีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามว่านับจากคืนที่สามเป็นต้นไป ห้ามนำส่วนของต้นกล้วย ต้นไผ่ เข้าบ้านเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นของใช้ในพิธีกรรมต่อพระเจ้ากื่อซา รวมทั้งห้ามพูดจาหยาบคายหรือด่าทอกัน เพราะพระเจ้าและผีได้ลงมาร่วมในพิธีกรรมแล้ว

เช้าวันที่สี่ของพิธีเขาะจาเลอ เป็นช่วงของการเดินทางหมุนเวียนไปตามหมู่บ้านลาหู่แห่งอื่นๆ เพื่ออวยพรและทำพิธีดำหัวแก่ผู้เฒ่าผู้แก่และญาติผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือในต่างหมู่บ้าน โดยจะผลัดเปลี่ยนกันไปมา 9 – 10 วัน ในช่วงนี้ถ้าไม่อยู่รับแขกที่หมู่บ้านก็จะต้องเดินทางออกไปเยือน แล้วกลับมาเต้นรำที่ลานจะคึกื่อของหมู่บ้านตนในทุก ๆ คืน ในการไปเยี่ยมเยือน เมื่อเดินทางไปถึงจะมีการจุดประทัดหรือยิงปืน ประชันกันเสียงดังสนั่นเป็นการต้อนรับหลังจากสิ้นเสียง แขกทั้งหมดจะถูกเชิญมาเต้นรำที่ลานจะคึกื่อของหมู่บ้านที่ไปเยือนเจ้า ภาพจะลงไปเต้นผสมร่วมกับลาหู่ต่างหมู่บ้านเป็นการเชื่อมสัมพันธภาพ เป็นช่วงพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดความยึดเหนี่ยวทางสังคม จากนั้นจึงออกมาจากลานเต้นรำเพื่อไปดำหัวผู้ที่ตนนับถือตามบ้านต่าง ๆ

เช้าวันที่ห้า พ้นจากวันปีใหม่ผู้หญิงแล้วจึงเริ่มงานปีใหม่ผู้ชาย (จาบูหวู่เล่อะ) รูปแบบก็เช่นเดียวกัน ผู้ชายจะลงมาเต้นรำในลานมากขึ้น ลาหู่ทั้งชายและหญิงต่างก็เต้นรำกันในลานเป็นที่สนุกสนาน เมื่อผ่านไป 7 – 8 วัน หลังจากการตายของเครื่องสังเวยอย่างหมูเป็นจำนวนมาก ชาวลาหู่จึงเริ่มหยุดและเว้นว่างจากการทำงานต่าง ๆ เป็นเวลาหนึ่งเดือน ในช่วงวันสุดท้ายของพิธีกรรม ลาหู่จะตำข้าวปุ๊กติดต่อกัน 2 วัน เพื่อเตรียมไว้เป็นอาหารในช่วงหยุดเดือนของเทศกาล หากนอกพิธีกินปีใหม่แล้ว ชาวลาหู่จะไม่ตำข้าวปุ๊กอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นอาหารศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมปีใหม่เท่านั้น

วันสุดท้ายของพิธี ลาหู่มีการประกอบพิธีไล่ผีขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้กระทำภายนอกหมู่บ้าน เพื่อไล่พี๋ล่ะพี้พ่ะ (ผีร้าย) ออกไปจากลำน้ำฃและป่าเขา โดยสมาชิกในหมู่บ้านจะมาร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง บริเวณริมห้วยทางทิศใต้ของหมู่บ้าน หมอผีจะนำทำพิธีกรรม โดยเริ่มจากการสวดไล่ผีร้ายออกจากหมู่บ้าน พร้อมกับมีการยิงปืนและจุดประทัดไล่ส่ง ทุกคนจะลอดซุ้มประตูตะเหลว เข้ามาสู่หมู่บ้านหมอผีจะคอยปะพรมน้ำมนต์เพื่อป้องกันไม่ให้ผีร้ายตามเข้ามา

วันสุดท้ายก่อนการหยุดเดือนของลาหู่นะ จะมีพิธีกรรมคะกูส่งผีผู้รักษาหมู่บ้านอีกครั้ง พร้อมพิธีกรรมทำบุญให้กับเมล็ดพันธุ์พืช ในวันก่อเลอะ(วันเมล็ดพืช) ชาวบ้านจะนำเมล็ดข้าวเปลือก ข้าวโพด ขิง กาแฟ พริก มาอย่างละเล็กละน้อยรวมถุงกันไว้ที่ชานบ้านของปู่จารย์ เพื่อให้ปู่จารย์ทำพิธีอ้อนวอน กื่อซา ดลบันดาลให้เมล็ดพืชเจริญงอกงามในฤดูกาลเพาะปลูกหน้า

การพักผ่อนอันยาวนานเริ่มต้นขึ้น จนถึงเวลาของการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป เริ่มช่วงต้นฤดูมรสุมในราวเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ชาวลาฮูนะมีความเชื่อและข้อห้าม ข้อปฏิบัติในเรื่องของการทำมาหากินอย่างเคร่งครัด โดยมีปฏิทินของชนเผ่า กำหนดวันต่าง ๆ ไว้รอบละ 12 วัน คือ วันเสือหรือวันศีล(ลาเน่อะ) วันเมล็ดพืช (ถ่อเน่อะ) วันพันธุ์พืช (ล่อเน่อะ) วันตาย (ซือเน่อะ) วันม้า (อี้เน่อะ) วันแพะ(ยอเน่อะ) วันลิง(เหมาะเนอะ) วันไก่ (ก๊ะเน่อะ) วันหมา (พือเน่อะ) วันหมู (หวะเน่อะ) วันกระรอก (ฟะเน่อะ) วันวัว (นู่เนอะ)

ในวันแรกของการเริ่มต้นเดือนเพาะปลูก ให้ลงแรงงานในวันไก่ วันกระรอก วันเมล็ดพืช และวันตาย ถือว่าเป็นวันมงคล หากเป็นวันตายให้นำเครื่องเซ่นสังเวยขออนุญาตผีเจ้าป่าเจ้าเขา(โคนี่)ก่อน เชื่อถือว่าวันตายนี้ ผีต่าง ๆ จะออกมาทำมาหากินด้วย

ห้ามเผาไร่ในวันลิง จะไม่ติดไฟ เผาไร่ในวันไก่ ไฟจะไหม้เร็ว เผาวันหมู ไฟจะไหม้สม่ำเสมอ เผาวันกระรอกไฟจะลามป่า ห้ามเผาไร่อย่างเด็ดขาดในวันหมาและวันตาย พืชผลจะไม่งอกงาม หากพรวนดินในวันลิง วันไก่ วันหมู วันเมล็ดพืช วันพันธุ์พืชแล้ว จะทำให้พืชผลเจริญงอกงามดี แต่หากพรวนดินในวันหมาจะได้ผลผลิตมากมายโดยใช้แรงงานน้อย ไม่ควรพรวนดินในวันกระรอก

การเพาะปลูกลงเมล็ดพันธุ์ ควรลงในวันลิง วันไก่ วันหมา วันหมู วันเมล็ดพืช วันพืช และวันตายจะเจริญงอกงาม ไม่ควรลงในวันกระรอก เพราะเล็ดพืชจะถูกกระรอกของพระเจ้าเอาไปกินจนหมด

หากเลือกวันเก็บเกี่ยวข้าวมานวด ให้นวดข้าวในวันหมา วันกระรอก วันเมล็ดพืช และวันตายจะมีกินได้อีกนาน ถ้าเป็นวันวัว วันหมู วันแพะ วันม้า วันลิง และวันไก่ ข้าวจะเสียหาย ไม่พอกินไปตลอดฤดูกาล

ในวันเสือหรือเรียกว่าวีนศีล ถือว่าเป็นวันหยุด ห้ามทำกิจกรรมส่วนตัวใด ๆ แต่ยกเว้นการเก็บผลผลิตที่เสียหายง่าย ทำงานเพื่อส่วนรวมได้ หากใครแอบไปทำกิจกรรมส่วนตัว ลาฮูนะเชื่อว่าเป็นการลบหลู่และจะถูกลงโทษโดยเสือของพระเจ้ากื่อซา

สัญญาณแรกของต้นฤดูกาลผลิต เมื่อลมมรสุมของภูมิภาคปะทะกัน ก่อให้เกิดลมพายุและฝนห่าแรก ให้โปรยปรายไปทั่วหุบเขา สร้างความชุ่มชื่นสดใส ดับความร้อนและความแห้งแล้งในช่วงของการหยุดเดือนลง ชาวลาฮูนะ จะเริ่มต้นกิจกรรมการทำมาหากินในวันศีล ด้วยพิธีกรรมการบูชา เพื่อการอ้อนวอนผีผู้คุ้มครองหมู่บ้านอีกครั้ง เรียกกันว่าพิธีกรรมตั้งศาลผีไร่ ด้วยเครื่องเซ่นสรวงจากเนื้อสัตว์ประเภทหมูและไก่ เพื่อขอความคุ้มครองให้การเพาะปลูกพันธุ์พืชของพวกเขาเจริญงอกงามและอุดมสมบูรณ์

ปัจจุบันชาวลาหู่ยังคงมีการจัดฉลองปีใหม่เป็น 2 ช่วงตามประเพณีดั้งเดิม แต่ผู้ชายและผู้หญิงจะเข้าร่วมฉลองเทศกาลทั้งสองช่วงด้วยกัน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ชายและผู้หญิงทำงานอยู่ใกล้เคียงกัน จึงทราบข่าวและชวนกันมาร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่พร้อมกัน ในช่วงแรกของการฉลองปีใหม่ ชาวลาหู่จะมีความสนุกสนานและมีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนในช่วงหลังผู้คนเริ่มเหนื่อยล้า ทำให้จำนวนคนร่วมงานอาจจะน้อยลง

พิธีกินข้าวใหม่

พิธีกินข้าวใหม่ หรือที่เรียกว่า “จาสือ จ่าเลอ” เป็นพิธีที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับวันขึ้นปีใหม่ พิธีนี้เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวและผลผลิตจากไร่ โดยชาวลาหู่เชื่อว่า ผลผลิตข้าวได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเทพเจ้า ดังนั้น จึงต้องมีพิธีกินข้าวใหม่เพื่อบวงสรวงต่อเทพเจ้าโดยตรง เป็นการขออนุญาตเกี่ยวข้าวมาบริโภค พิธีนี้จะมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ช่วงเวลาประกอบพิธีมี 4 วัน คือ ประกอบพิธี 1 วัน รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ 1 วัน พักผ่อน 2 วัน

พิธีทำบุญเรียกขวัญ

พิธีทำบุญเรียกขวัญ หรือที่เรียกว่า “บูตีเว จู่จือเลอ” เป็นพิธีทำบุญโดยการสร้างสะพานเล็กบริเวณริมทางเดินเข้า – ออกหมู่บ้าน โดยมีหมอพิธีเป็นผู้ทำพิธี ในงานนี้ต้องฆ่าหมูเพื่อเซ่นผีเรือน ผูกข้อมือ สวดอวยพร และเต้นรำบวงสรวงเทพเจ้า เพื่อขอให้สมาชิกในหมู่บ้านอยู่ดีกินดีปราศจากโรคร้าย พิธีดังกล่าวนี้จะกำหนดวันดี หรือวันมงคล สำหรับการทำพิธี

พิธีวันศีล

วันศีลของชาวลาหู่จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ แต่วันศีลในช่วงปีใหม่จะตรงวันที่สามของปีใหม่ ในวันศีลชาวลาหู่ต้องงดบริโภคเนื้อสัตว์ งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา นอกจากนี้ ชาวลาหู่ยังเชื่อว่าเป็นวันพักผ่อน ในตอนเย็นของวันศีลจะมีพิธีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส แล้วโตโบจะกล่าวอวยพรสมาชิกในชุมชนทุกคน ในช่วงค่ำคืนจะมีการประกอบพิธีในหอแหย่ (โบสถ์) และเต้นรำตีกลองและเป่าแคนกันอย่างสนุกสนานต่อหน้าต้นวอ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

การคลอดบุตรของชาวลาหู่ มารดาของหญิงตั้งครรภ์จะเป็นผู้ทำคลอด ไม่มีหมอตำแย มีการผูกด้ายที่ข้อมือและรอบคอเด็ก ป้องกันปิศาจร้ายรบกวน วิธีปฏิบัติเมื่อมีเด็กเกิดในบ้าน การคลอดลูกนั้นต้องใช้ผ้าหรือเชือกผูกกับขื่อบ้านเพื่อให้แม่เด็กจับ และมีแรงในการเบ่งออกลูก เมื่อเด็กเกิดมาต้องตัดสายสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่หรือไม้เฮียะ จะไม่ใช้มีดตัดเพราะกลัวเด็กจะเป็นบาดทะยัก จากนั้นก็ใช้เชือกผูกสายสะดือเด็กเอาไว้เพื่อไม่ให้เลือดไหลออกมา แล้วพ่อเด็กจึงนำรกไปฝังไว้ใต้บันได โดยพยายามให้เรียบร้อยที่สุดมิให้สัตว์มาคุ้ยและต้องฆ่าไก่ดำให้แม่เด็กกิน เพราะเชื่อว่าจะทำให้น้ำนมแม่มีคุณค่ามากขึ้น เมื่อลูกดื่มนมจะทำให้ลูกมีร่างกายแข็งแรงขึ้น กรณีที่เด็กเกิดมาอย่างปลอดภัยจะเอารกไปฝังไว้ที่ใต้บันไดบ้าน แต่ถ้าเด็กเกิดมาแล้วเสียชีวิตต้องเอารกเด็กไปฝังในป่า คนทำคลอดส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสที่เป็นผู้หญิง และมีประสบการณ์ในการทำคลอด ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วพ่อแม่เด็กต้องให้เงินแก่คนที่มาทำคลอด 10 บาท ในสมัยนั้นเงิน 10 บาท ถือว่าเยอะมาก (มูลนิธิกระจกเงา, 2552 อ้างใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552, วัชรินทร์ จินต์วุฒิ, 2558) ปัจจุบันชาวลาหู่คลอดลูกที่โรงพยาบาล แต่ยังคงทำพิธีให้แก่เด็กเกิดใหม่ตามวิถีความเชื่อของลาหู่แบบเดิมตามฐานะของแต่ละครอบครัว

การแต่งงานและการหย่าร้าง

การเริ่มพิธีการแต่งงาน โดยทางฝ่ายชายเป็นฝ่ายไปสู่ขอ การสู่ขอจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายหญิงยินยอมหรือยอมรับ หลังจากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจะนัดหมายเพื่อทำพิธีแต่งงานอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างนี้ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมข้าวของ ได้แก่ ไก่ 2 ตัว ค่าหมั้นอีก 30 บาท และต้องมีพ่อสื่อเพื่อเป็นตัวแทน พ่อ แม่ ของฝ่ายเจ้าบ่าวซึ่งต้องรับคำสั่งจากพ่อ แม่ ไปพูดคุยกับฝ่ายเจ้าสาว และฝ่ายเจ้าสาวก็มีพ่อสื่อแม่สื่อที่จะพูดคุยต่อรองเช่นเดียวกัน ในคืนที่เข้าทำพิธีแต่งงาน จะมีแก้วน้ำสำหรับใส่น้ำไว้ 1 ใบ และมีเชือกสำหรับผูกข้อมืออีก 2 เส้น จากนั้นพ่อหมอ (ปู่จารย์) ก็จะกล่าวคำอวยพรให้ทั้งสอง แล้วพ่อหมอก็เอาน้ำให้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวดื่ม แต่ต้องดื่มไม่ให้ย้อยออกจากปาก ถ้าย้อยออกจากปากเพียงหนึ่งหยดน้ำหมายถึง เด็กหนึ่งคนที่จะเสียไป ในเช้าวันรุ่งขึ้น ต้องเป็นวันหยุดทั้งเจ้าบ่าว อันดับแรก เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องตักน้ำด้วยกัน ซึ่งการตักน้ำต้องสลับกันตัก โดยเจ้าบ่าวตักน้ำเข้าบ้านทางฝ่ายหญิง เจ้าสาวก็ตักน้ำเข้าบ้านทางฝ่ายชาย หลังจากตักน้ำเสร็จ ถ้าอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ในวันเดียวกันนั้นต้องตัดฟืน เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะพากันไปตัดฟืนคนละหนึ่งตะกร้า โดยเจ้าบ่าวก็ตัดฟืนไปให้ฝ่ายเจ้าสาว เจ้าสาวก็จะนำเอาฟืนไปให้ทางฝ่ายเจ้าบ่าวเหมือนกัน เช่นเดียวกับการตักน้ำ

แต่ถ้าอยู่คนละหมู่บ้านกัน การแต่งงานต้องไปที่หมู่บ้านฝ่ายเจ้าสาว เมื่อทำพิธีแต่งงานเสร็จ ในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้นจะต้องตื่นไปตักน้ำเข้าบ้านฝ่ายเจ้าสาว หลังจากทำพิธีแต่งงานแล้ว ยังจะต้องมีการกินเลี้ยง ชาวลาหู่เรียกว่า “แคะจะเว” ในครอบครัวที่มีฐานะดี เมื่อแต่งงานคืนนี้กินเลี้ยงวันรุ่งขึ้นก็ได้ แต่ครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีก็จะแต่งแล้วอยู่กันไป ก่อนที่จะแต่งงาน พ่อแม่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวต้องบอกกล่าวว่าช่วงนี้ยังไม่มีเงินพอที่จะจัดงานเลี้ยง จึงต้องตกลงกับพ่อ แม่ทางฝ่ายเจ้าสาว โดยให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่งงานอยู่ด้วยกันไปก่อนแล้วกินเลี้ยงทีหลัง เมื่อจะกินเลี้ยง จะมีการฆ่าหมู เนื้อหมูตรงคอจะต้องให้กับคนที่เป็นพ่อสื่อ แม่สื่อ ซึ่งพ่อสื่อ แม่สื่อนี้ ถ้าไม่ให้เนื้อหมูตรงส่วนคอวันหลังจะเกิดปัญหาจะไม่ช่วยให้ จึงจำเป็นต้องยกคอหมูแบ่งให้เท่ากัน กับพ่อสื่อ แม่สื่อ ทั้งสองฝ่ายไป ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดกันมายาวนาน (มูลนิธิกระจกเงา, 2552 อ้างใน อภิชาต ภัทรธรรม, 2552: 132)

ประเพณีการแต่งงานของลาหู่ จะไม่นิยมจัดพิธีใหญ่โต เมื่อชายหญิงรักใคร่ชอบพอกัน จะไปแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ หลังจากนั้นก็จะจัดการฆ่าหมูและไก่ เพื่อทำบุญเซ่นผีเรือนโดยให้ปู่จองเป็นผู้ประกอบพิธี เลี้ยงดูบรรดาผู้เฒ่าบิดามารดาทั้ง 2 ฝ่าย ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งเคียงข้างกัน ปู่จองจะเอาเส้นด้ายผูกข้อมืออวยพรเป็นอันเสร็จพิธี ในวันนั้นเจ้าสาวไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าชุดใหม่หรือเครื่องประดับแต่อย่างใด หลังจากนั้นฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงทำงานรับใช้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นเวลา 1-3 ปี แล้วจึงแยกไปตั้งบ้านเรือน

การหย่าร้าง

การหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดาของชาวลาหู่และชนกลุ่มอื่นๆ เช่น หากพ่อแม่ผู้หญิง มีความรู้สึกว่าลูกเขยพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง อาจจะบังคับให้ลูกสาวหย่าร้าง และให้ลูกสาวย้ายไปอยู่ที่อื่น กรณีเช่นนี้ถ้ามีสิ่งของหรือทรัพย์สมบัติก็จะต้องตกเป็นของฝ่ายผู้ชาย ส่วนผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับ เนื่องจากเป็นฝ่ายบอกเลิก ในกรณีที่มีลูก ทั้งสองฝ่ายยินยอมจะหย่ากันแล้ว สิ่งของหรือทรัพย์สมบัติจะต้องแบ่งเป็นสามส่วนเท่ากัน ส่วนหนึ่งเพื่อลูก อีกสองส่วนเพื่อสามีและภรรยา จากนั้นต่างฝ่ายต่างแยกยย้ายกันไป ส่วนลูก ทั้งพ่อและแม่มีสิทธิ์ในการเป็นผู้ดูแลเท่ากัน

ความตายและการทำศพ

เมื่อมีคนตายในบ้าน ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะต้องนำข้าวสาร 1 ถ้วย และเทียนไข 1 เล่ม ไปให้ญาติผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิตต้องฆ่าไก่ 1 ตัว เพื่อทำพิธี โดยเอาปีกไก่และขาไก่เสียบไม้ และนำไปวางไว้ข้างๆ ศพ เชื่อกันว่า ปีกไก่จะทำให้วิญญาณนั้นขึ้นไปสู่สวรรค์ ส่วนขาไก่จะทำให้วิญญาณนั้นหาอาหารกินได้ และต้องมีไม้กวาดจำลอง 3 มัดที่ทำจากหญ้าคานำไปวางตรงหัว เอว และบริเวณเท้าของศพ ตำแหน่งละมัดเพื่อไม่ให้ศพฟื้นขึ้นมา เพราะเชื่อกันว่าถ้าคนตายอยู่ในช่วงเกิดจันทรุปราคา ศพจะฟื้นคืนชีพจึงต้องมีไม้กวาดไว้สำหรับตีศพ นอกจากนี้ยังต้องมีไข่ไก่เพื่อใช้หาสถานที่ฝังศพในป่าช้า เชื่อกันว่า ถ้าโยนไข่ขึ้นไปแล้วตกลงมาแตกแสดงว่าศพต้องการจะถูกฝังบริเวณนั้น แต่ถ้าโยนไข่ขึ้นไปแล้วตกลงมาไม่แตก เชื่อว่าต้องหาที่ฝังใหม่ เมื่อหาที่ฝังศพได้แล้วก็ขุดดินตรงที่ไข่แตกนั้นเอามาวางไว้แล้วขุดหลุมให้ใหญ่ขึ้นพอที่จะฝังศพได้ นำไม้ที่ผ่าเป็นชิ้นเล็กมาเขี่ยลงในหลุมศพเพื่อไม่ให้วิญญาณของคนตายล่องลอยไปกับศพ เมื่อฝังศพเสร็จแล้ว คนที่มาร่วมพิธีฝังศพทุกคน จะเอาก้อนดินที่ขุดไว้มาวางบนหลุม โดยวางให้ตรงกับหัวใจของศพ เมื่อฝังศพเสร็จแล้ว จะมีหมอพิธีมาทำพิธีกันวิญญาณ เพื่อไม่ให้วิญญาณออกมาจากป่าช้าได้ โดยเอาไม้ไผ่่มาปักเป็นเครื่องหมายกากบาท และทำประตูเพื่อให้คนมาร่วมงานศพกลับไปช่องประตูนั้น หากคนใดที่ไม่กลับช่องประตู มีความเชื่อว่า วิิญญาณของบุคคลนั้นจะไม่กลับมาด้วยเช่นกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วชาวบ้านต้องเอาใบไม้กลับมาเพื่อนำมาประพรมน้ำมนต์ที่ผู้อาวุโสเตรียมไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกจึงจะเข้าหมู่บ้านได้ เมื่อเข้ามาในหมู่บ้านแล้ว จะต้องไปที่บ้านของผู้ตาย จากนั้นจึงจะสามารถกลับไปบ้านของตนได้ หลังจากนั้นภายใน 3 คืนจะต้องมาเยี่ยมที่บ้านผู้ตาย โดยมีความเชื่อว่าจะไปรอรับวิญญาณที่ล่องลอยไปตามวิญญาณศพ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า คืนแรกนั้นวิญญาณจะกลับมาในบ้าน คืนที่สองวิญญาณจะมาถึงหัวบันไดบ้าน คืนที่สามวิญญาณจะมาอยู่นอกหมู่บ้าน และคืนที่สี่ วิญญาณจะยืนร้องไห้ที่ประตูป่าช้า อยากจะออกมาจากป่่าช้า เพื่อใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ออกมาไม่ได้ เพราะหมอผีทำประตูผีกันไว้ เมื่อครบ 15 วันหลังการเสียชีวิต พวกพี่น้องจะต้องไปทำพิธีส่งผี โดยพาหมอพิธีและชาวบ้านไปร่วม และเอาไก่คู่หนึ่งไปทำพิธีส่งผี หมอพิธีจะกล่าวว่า ขอให้เป็นสุขเป็นสุข เช้าวันนี้ญาติพี่น้องก็จะอาลัย และอย่ามารบกวนญาติพี่น้อง ชาวลาหู่มีความเชื่อว่า ถ้าไม่ไปส่งผี ผีจะมารบกวน หรือฝันร้าย ฯลฯ หรือเมื่อทำไร่ทำสวนผลผลิตออก แล้วผีกลับมาเป็นในรูปแบบนก หรือแมลงมาทำลายผลผลิตจนเสียหายหมดสิ้น (มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์, 2550)


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ปนัดดา บุณยสาระนัย

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : ลาหู่


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ปนัดดา บุณยสาระนัย

กัญญา สมบูรณ์. (2560). การศึกษาผลการใช้รูปแบบการเสริมสร้างทักษะทางสังคมของเยาวชนชนเผ่ามูเซอแดง ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น, 11 (4). หน้า 160-170.

กัลยา พรหมวัชรานนท์. (2554). การแพทย์พื้นบ้านของชาวเขาเผ่าจีนฮ่อ มูเซอดำ ปะหล่อง และไทยใหญ่: กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม. 2543. ผ้าชาวเขา. กรุงเทพฯ: บริษัท รำไพเพลส จำกัด.
กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. 2559. ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ของประเทศไทย ประจำปี 2559. กรุงเทพฯ: กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2528) ชาวเขา. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2518). ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.
โครงการเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและชุมชนคนต้นน้ำ พื้นที่จังหวัดเชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.).(2560). เมนูถูกใจเด็กใกล้ฟ้า 30 เมนูโปรดของเด็กๆ 9 ชาติพันธุ์. สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์
จันทกร จันดี. (2560). การจัดการขยะในชุมชนชาวลาหู่ กรณีศึกษา บ้านแม่ปูนล่าง หมู่ที่ 9 ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย. การวิจัยเฉพาะเรื่องตามหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชูชาติ อินทพงษ์. (2550). วัฒนธรรมดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ล่าหู่ หมู่บ้านส้มป่อย ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ฐิติพร พรหมศร. (2555). พฤติกรรมการรักษาสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุชนเผ่า (จีนยูนนาน, มูเซอ, ไทใหญ่) ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่. รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 9, หน้า 2128-2136.
ถาวร ฟูเฟื่อง. (2542). ชาวเขา ตำนานชนเผ่าต่างวัฒนธรรม. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา
นิรามัย อิศรางกูร ณ อยุธยา. 2511. ประเพณีการแต่งกายของชาวเขาบางเผ่าทางภาคเหนือของประเทศไทย. ปริญญานิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
นิรุตร์ แก้วหล้า. (2558). การศึกษาเครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในเขตพื้นที่โครงการหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารวิจัยราชภัฏเชียงใหม่, 16 (1). หน้า 43-55.
เนติวัฒน์ แก้วเทพ และเชาวลิต สัยเจริญ. (2561). การเปลี่ยนแปลงของเรือนพื้นถิ่นลาหู่เพื่อการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในอำเภอเมืองและอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 7 (1). หน้า 23-42.
บรรพต วีระสัย. (2517). สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2545). ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.
ปฏิพัทธ์ พัฒนะกายา. (2534). ศึกษาประวัติคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยพายัพ.
ปนัดดา บุณยสาระนัย, หมี่ยุ้ม เชอมือ. (2549). ลาหู่ หลากหลายชีวิตจากขุนเขาสู่เมือง. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พอล และ อีเลน ลูวิส. (2528). ลาหู่ ใน หกเผ่าชาวดอย. เชียงใหม่: ศูนย์หัตถกรรมชาวเขา.

พลวัฒน์ ประพัฒน์ทอง. (2556). การทำนายชีวิตด้วยกระดูกไก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย. วารสาร MFU CONNEXION, 2 (1). หน้า 1-24.

พินิจนันท์ พรหมารัตน์. (2562). สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์: กรณีศึกษากลุ่มลาหู่ในตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารพื้นถิ่น โขง ชี มูล, 5 (2).
ภิรมย์ แก้วมณี. (2555). การพัฒนาผ้าคลุมไหล่จากผ้าทอมือกะเหรี่ยง กรณีศึกษาหมู่บ้านกะเหรี่ยง-ตะเพินคี่ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาคหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ).(มปป.). ครัวหลังเขา คุณค่าอาหารพื้นบ้าน 15 ชาติพันธุ์. สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์.
ยิ่งยง เทาประเสริฐ และธารา อ่อนชมจันทร์ (บรรณาธิการ). (2536). ชาติพันธุ์กับความสามารถในการดูแลรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน. เชียงราย: สถาบันราชภัฏเชียงรายและโรงพยาบาลเม็งราย.
รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์ และนุสรา เตียงเกตุ, (2552). คู่มือการทอผ้าชนเผ่าลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง.
ลลิตา จรัสกร และวิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง. (2558). อัตลักษณ์และความเปลี่ยนแปลงของเรือนลาหู่ กรณีศึกษา: หมู่บ้านขอบด้ง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และหมู่บ้านห้วยน้ำริน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล., 20 (1). หน้า 27-38.
ลาเคละ จะทอ. (2548). การต่อสู้เรื่องสัญชาติของผู้หญิงชนเผ่า : กรณีศึกษาชีวิตจริงของผู้หญิงลาหู่คนหนึ่ง. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สตรีศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เชียงใหม่.
วัชรินทร์ จินต์วุฒิ. (2558). คติความเชื่อ: แกนหลักในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ กรณีศึกษาดอยมูเซอ จังหวัดตาก. วารสารหน้าจั่ว, (29). หน้า 177-189.
ธนพชร นุตสาระ. (2560). หน่อซื่อแหละ เครื่องดนตรีลาหู่. วารสารวิจัยราชภัฏเชียงใหม่ (18), 2. หน้า 30.
วัชรินทร์ จินต์วุฒิ และ ศุภกิจ ยิ้มสรวล. (2558). สถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง: กรณีศึกษาเรือนลาหู่ เรือนลาวโซ่ง และเรือนไทยสุโขทัย. วารสารวิชาการ AJNU ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร, 6 (1). หน้า 26-38.
วัลลภ นามวงศ์พรหม. (2549). การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอแดง (ลาหู่ณี) ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ บ้านนาศิริ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง และ ลลิตา จรัสกร. (2561). พลวัตสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นลาหู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย. วารสารวิชาการ การออกแบบสภาพแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 5 (1). หน้า 45-59.
ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรงเกษตรและสหกรณ์. (2553). เทคโนโลยีการทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง. เชียงราย: เอ.พี.คอม, หน้า 3-4.
ศรินทิพย์ สถีรศิลปิน. (2529). คำลักษณนามในภาษาล่าหู่นะ (มูเซอดำ): การวิเคราะห์ตามแนวอรรถศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศูนย์วิจัยชาวเขาเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงมหาดไทย. (2519). ความรู้เบื้องต้นและข้อกำหนดพฤติกรรมทางสังคมของชาวเขาเผ่ามูเซอ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงปากเกร็ด กรมประชาสงเคราะห์.
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ. (2557). เย็บ ปัก ถัก ทอ เอกลักษณ์และศิลปะลวดลายผ้าชาวเขา. พระนครศรีอยุธยา: ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน).
สมัย สุทธิธรรม. (2542). สารคดีชีวิตของชนกลุ่มน้อยบนดอยสูง : มูเซอ. กรุงเทพฯ : เลิฟแอนด์ลิพเพรส.
สาริณีย์ ภาสยะวรรณ. (2553). โฮมสเตย์บ้านยะดู: การซื้อขายชีวิตประจำวัน บ้านของชาวลาหู่และการสร้างภาพตัวแทนทางชาติพันธุ์. สังคมศาสตร์: ตลาดกับชาติพันธุ์, 22 (2). หน้า 199-228.
สุนิดา อรรถอนุชิต และรอฮานิ เจะอาแซ. (2562). การดูแลสุขภาพเชิงพื้นบ้าน: กรณีศึกษาชนชาติพันธุ์ลาหู่แดงในจังหวัดเชียงราย, (30) 2. หน้า 155-164.
สุนิษา สุกิน. (2552). การเต้นจะคึของลาหูนะ (มูเซอดำ) กรณีศึกษาตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
โสฬส ศิริไสย์. (2528). ที่มาของคำว่ามูเซอ. ภาษาและวัฒนธรรม, 5 (1). หน้า 95-101.
โสฬส ศิริไสย์, (2539). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ ลาฮู. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี.
องอาจ อินทนิเวศ. (2557). ภูมิปัญญาด้านดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน ไทลื้อ และลลาหู่ ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านดู่ จังหวัดเชียงราย. วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่, (6), (3). หน้า 107-122.
อธิตา สุนทโรทก. (2539). มูเซอดำมูเซอเหลือง การรักษาเอกลักษณ์และพรมแดนชาติพันธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อดิวัชร์ พนาพงศ์ไพศาล. (2561). ภูมิปัญญาทางด้านดนตรีกับการสืบทอดและการอนุรักษ์ของ 7 กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย. วารสารดนตรีรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต, 13 (2). หน้า 89-103.
อภิชาต ภัทรธรรม. (2552). มูเซอ. วารสารการจัดการป่าไม้, 3 (5). หน้า 127-142.
Yoishi Nishimoto. (2557). การปรากฏขึ้นบทเพลงลาหู่สมัยใหม่และการก่อตัวของอัตลักษณ์ลาหู่คริสต์: ดนตรีลาหู่ในฐานะทรัพยากรทางวัฒนธรรม. วารสารสังคมศาสตร์: บ้านนอก, (26) 2. หน้า 147-169.

เว็บไซต์
pinkprao. (2560).“ลาหู่-อาข่า-ไตใหญ่-ลัวะ-จีนยูนาน-อิ้วเมี่ยน” รวมอาหาร 6 ชนเผ่าที่เราไม่รู้. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์). (2562). โบราณว่า “น้ำเต้า” หน้าตาเหมือน “มดลูก”. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 จากเว็บไซต์ https://www.silpa-mag.com/culture/article_20387
ประเพณีปีใหม่. ม.ป.ป. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2563. จากเว็บไซต์ https://sites.google.com/site/thiparom20215/freest...
ปฤษณา กองวงค์. (2561). อาหารชนเผ่า เสน่ห์แห่งขุนเขา: ข่าวสดหรรษา. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์ https://www.khaosod.co.th/travel/news_1744699.
ผู้จัดการออนไลน์. (2562). เที่ยวเชียงรายชิลชิล เยี่ยมบ้านหมอผีม้ง-ลาหู่ พักผ่อนดูวิวภูเขางามที่ ลันเจี๊ยะ ลอดจ์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์ https://mgronline.com/travel/detail/9620000070043.
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์. (2550). ชนเผ่าลาหู่-เครื่องดนตรี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์ http://www.openbase.in.th/node/1141
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์. (2550). ชนเผ่าลาหู่: หมอพื้นบ้าน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์ http://www.openbase.in.th/node/1145.
มูลนิธิกระจกเงา. (2552). พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า: ลาหู่. จากเว็บไซต์ http://lahu.hilltribe.org/thai/ lahu.
มูลนิธิโครงการหลวง. (ม.ป.ป.). ชาวเขากับการดูแลสุขภาพ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์ http://www.royalprojectthailand.com/node/1748
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง. (ม.ป.ป.). หกเผ่าชาวดอย. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2653 จากเว็บไซต์ http://www.maefahluang.org/?p=4442&lang=th
วรณัย พงศาชลากร. (2550).เขาะจาเลอ “ลาฮูนะ” พระเจ้า ผี พิธีกรรม หมู และการเต้นรำ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 จากเว็บไซต์ http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai/2007/08/2...
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2552.). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. จากเว็บไซต์ http://www3.sac.or.th/ethnic/content/information/lahu.html.
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ. 2563. ชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ (มูเซอ) และการสร้างสรรค์ผ้าปักลาหู่ (มูเซอ). เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 จากเว็บไซต์ https://www.sacict.or.th/uploads/items/attachments/ca889fd9b844559dc1d47b4a52d5e40b/_0694d6a4cc96860333968f3aa9951e7e.pdf. หน้า 2.
สมาคมลาหู่ในประเทศไทย. (2562.). ความทั่วไป. เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์ http://www.lahu-th.com/Article/Detail/115892
หอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาเจอรัลด์ ไดค์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). จ่าโบ (ชาวลาหู่). ค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563. จากเว็บไซต์ http://www.music.cmru.ac.th/archive/?ms_artist=%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%9A-
ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนสมาคมจังหวัดเชียงราย เรื่อง การจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม” (2562, 17 ตุลาคม), ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนที่ 79 ง. หน้า 185-186.



ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ปนัดดา บุณยสาระนัย


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว