2025-04-04 08:43:09
ผู้เข้าชม : 5270

ละว้า  มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณพื้นที่ชายแดนจีน-เมียนมา ชาวละว้ารุ่นแรกอพยพเข้ามาในประเทศไทยจากเงื่อนไขทางการเมืองและความแตกต่างทางอุดมการณ์ในช่วง พ.ศ. 2516-2523 ปัจจุบัน ชาวละว้าตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย  มีการประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อยังชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียนและปลูกพืชพันธุ์หลายชนิดในไร่หมุนเวียน นอกจากนี้ คนกลุ่มดังกล่าวยังมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ การสอนภาษาละว้า การเข้าโบสถ์ตามหลักศาสนาคริสต์ รวมทั้งมีการนำเสนอตัวตนใหม่เพื่อให้สาธาณชนยอมรับและเข้าใจวิถีวัฒนธรรม 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ละว้า (ว้า)
ชื่อเรียกตนเอง : ละว้า, ลัวะ, ว้า
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลัวะ, ปลัง, ว้าแดง
ตระกูลภาษา : -
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : ว้ากลาง
ภาษาเขียน : ลาติน

กลุ่มชาติพันธุ์ “ละว้า” ในประเทศไทยมักเรียกแทนตนเองว่า “ละว้า” และ “ลัวะ” ไม่นิยมเรียกแทนตนเองว่า “ว้า” เพราะมักจะถูกเข้าใจว่าเป็น “ว้าแดง” ซึ่งถูกมองจากรัฐและสื่อไทยว่าเป็นสาเหตุสำคัญของยาเสพติดแพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย การก่อตั้ง “สมาคมลัวะแห่งประเทศไทย” ของชาวละว้า ได้ใช้ชื่อกลางว่า “ลัวะ” ในขณะที่ในเชิงปฏิบัติการทางสังคมและพื้นที่การสื่อสารออนไลน์นั้น มักใช้สลับไปมาทั้งลัวะ และละว้า และเมื่อปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายชาวว้าในจีนและเมียนมา จะใช้ชื่อว้า ดังนั้น ชื่อเรียกของชาวละว้าในประเทศไทยจึงมีความลื่นไหล ตามการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับแต่ละกลุ่ม ในงานชิ้นนี้จะใช้ชื่อเรียก “ละว้า” และ “ว้า” สลับกันไป

กลุ่มของชาวว้ามีถิ่นฐานจะกระจายตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดนประเทศจีน-เมียนมา “พื้นที่ชาวว้า” (The Wa land) หรือ “Wa region” ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองมัณฑะเลย์และเมืองล่าเสี้ยวด้านทิศเหนือของเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ในช่วงอาณานิคมพื้นที่ของชาวว้าไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ภายหลังอาณานิคม เมื่อมีการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาภายใต้การทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ชายแดน ชาวว้าได้ส่งตัวแทนเข้ามาเพื่อพูดคุยเพื่อแสดงถึงความอิสระของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า ในช่วงสงครามเย็นหลายองค์กรพยายามเข้ามาจัดการและมีอำนาจเหนือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดน กระทั่งการเข้ามาของกองทหารจีนคณะชาติและพรรคคอมมิวนิสต์พม่า[1] เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของชาวว้าเข้ามายังประเทศไทย การอพยพแบ่งออกเป็น 2 ระลอก ระลอกแรกเกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วง พ.ศ. 2503-2523 โดยสัมพันธ์กับบริบทในช่วงสงครามเย็นและนโยบายของรัฐไทยที่มีการใช้กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ในฐานะรัฐกันชน และระลอกที่สองนั้นเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2542 มีการอพยพผู้คนกว่า 120,000 คนมายังบริเวณพื้นที่ชายแดนประเทศไทย-เมียนมา จนทำให้เกิดการเดินทางข้ามแดนเข้ามายังประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันในประเทศไทย พบว่ามีชาวว้าอาศัยอยู่มากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และนครปฐม

ชาวว้ามีการสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์จากการรวมกลุ่มกันทางสังคมในรูปแบบของสมาคมมีการทำงานหลักในสองประการ คือ หนึ่งกระบวนการสร้างความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันระหว่างชาวว้าแต่ละหมู่บ้าน เช่น การบอกเล่าประวัติศาสตร์ การสอนภาษาว้า การเข้าโบสถ์ทางศาสนาคริสต์ การใช้สื่อและพื้นที่ออนไลน์สร้างสำนึกชาติพันธุ์ และสองการนำเสนอตัวตนใหม่ ผ่านการจัดงานประเพณีประดิษฐ์ที่ชาวว้าในไทยจัดขึ้น และงานประเพณีที่กลุ่มชาติพันธุ์ว้าไปเข้าร่วมทั้งสองกิจกรรมเป็นไปเพื่อการนำเสนออัตลักษณ์ร่วมของตนเองให้กับคนนอกยอมรับ ซึ่งตัวตนใหม่ที่ว่านั้นคือการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าหรือลัวะที่หมายถึงการเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกยอมรับจากสังคมไทยในฐานะกลุ่มชนพื้นเมือง

 


[1] ผู้ศึกษาใช้คำว่าพรรคคอมมิวนิสต์พม่าตามชื่ออย่างเป็นทางการของพรรคนี้ในภาษาอังกฤษที่ใช้ชื่อว่า
Communist Party of Burma : CPB

ผู้เรียบเรียงข้อมูล

วิศรุต แสนคำ

กลุ่มของชาติพันธุ์ว้านี้มีประชากรอยู่ประมาณหนึ่งล้านคนในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 300,000 คนที่ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของประเทศจีน และในประเทศเมียนมา (Fiskesjö, M., 2000) ซึ่งในบางครั้งพื้นที่นี้ถูกเรียกว่า “พื้นที่ชาวว้า” (The Wa land) หรือ “Wa region” ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองมัณฑะเลย์และเมืองล่าเสี้ยวทางทิศเหนือของเมืองเชียงตุงในรัฐฉานประเทศเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ว้านั้นจะกระจายตัวกันอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดนประเทศจีน-เมียนมา ก่อนหน้า พ.ศ. 2493 และมักจะมีการรบกันเองระหว่างหมู่บ้านอยู่เสมอ (Satyawadhna, C., 1991) โดยกลุ่มชาติพันธุ์ว้านั้นจะไม่ได้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยตรง แม้ในขณะที่ประเทศเมียนมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2490 ที่การเมืองในประเทศเมียนมาเปลี่ยนไปหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษและส่งผลให้เกิดความพยายามที่จะหาทางออกทางการเมืองร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาใหม่นี้และหนึ่งในความพยายามนั้นคือการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ชายแดน (Frontier Areas Committee of Enquiry : FACOE) ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคมของ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งสัญญาปางโหลง คณะกรรมการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อหาแนวทางด้านการเมืองและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ชายแดน (Frontier Area) ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณทางเหนือของประเทศเมียนมา (Lintner, B., 1999 : 82) คณะกรรมการนี้ได้เดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลในประเทศเมียนมาเพื่อทำการสำรวจความคิดเห็นและทางออกทางการเมืองจากกลุ่มผู้นำของผู้คนในแต่ละพื้นที่ และกลุ่มชาติพันธุ์ว้าได้ส่งตัวแทนเข้ามาเพื่อพูดคุยกับคณะกรรมการนี้และผลจากการพูดคุยกับคณะกรรมการนี้ก็มักจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาเพื่อแสดงถึงความอิสระของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า

“เราไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมกับผู้ใดเพราะในอดีตพวกเราก็ไม่เคยพึ่งพิงใครและเป็นอิสระ…เราไม่เคยคิดถึงเรื่องพวกนั้น (อนาคตของรัฐว้า) เพราะว่าพวกเราเป็นคนป่า เราไม่เคยคิดถึงเรื่องการปกครองใด ๆ ในอนาคต เราคิดถึงแต่ตัวเราเองเท่านั้น…. เราเป็นคนป่า เราไม่สนใจกับสิ่งเหล่านั้น (การศึกษา อาหารที่ดี เสื้อผ้า บ้านเรือนที่ดี โรงพยาบาล) หรอก” (อ้างอิงจาก Hkhun Sai ตัวแทนชาวว้าจากเมืองกงที่เข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ชายแดน, The Frontier Areas Committee Of Enquiry, 1947 : 63)

 

ประโยคข้างบนที่ผู้ศึกษาได้แปลออกมาเป็นหนึ่งในคำกล่าวที่มักจะถูกกล่าวถึงเมื่อพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ว้าในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับการปกครองใด ๆ จากผู้ใด Fiskesjö, M. (2000 : 49) เสนอว่าในพื้นที่อยู่อาศัยของชาติพันธุ์ว้าก่อนยุคสงครามเย็นนั้นควรจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามความสัมพันธ์ทางสังคมในขณะนั้นซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่รอบนอกและพื้นที่ใจกลาง ซึ่งพื้นที่รอบนอกนี้จะเป็นที่อยู่ของชาวว้าที่สัมพันธ์กับกลุ่มรัฐขนาดใหญ่อย่างอนาจักรของชาวไทใหญ่หรือชาวจีน แต่พื้นที่รอบนอกนี้ก็ยังสัมพันธ์กับพื้นที่ใจกลางโดยการส่งของบรรณาการให้ด้วย และพื้นที่ใจกลางนี้ที่ Fiskesjö, M. เสนอว่ามีลักษณะพิเศษเพราะยังเป็นพื้นที่ ๆ สามารถคงเอาไว้ซึ่งอำนาจในการปกครองตนเองจากการที่มีพื้นที่รอบนอกเอาไว้เป็นตัวกลางในการใช้สัมพันธ์กับรัฐขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ใจกลางนี้เองที่เขาเสนอให้เรียกว่ามีลักษณะเป็น “predatory periphery” หรือการมีอำนาจโดยใช้พื้นที่รอบนอกซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้กลุ่มชาวว้าในพื้นที่ใจกลางไม่ถูกรบกวนจากรัฐชาติขนาดใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่า

กลุ่มชาติพันธุ์ว้าเริ่มเกี่ยวข้องกับการเมืองโลกมาอย่างยาวนานแล้วอย่างน้อยก็ 100 ปี ตั้งแต่ยุคการล่าอาณานิคมของประเทศจากฝั่งตะวันตกอย่างประเทศอังกฤษที่พยายามเข้าไปปกครองพื้นที่ของชาวว้าซึ่งอยู่บริเวณระหว่างแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงในขณะนั้น (Smith, M., 1991 : 350) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนักโดยไม่สามารถเข้าไปปกครองในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าได้ และไม่ได้ทำให้ชาวว้าต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน เพราะพื้นที่ของชาวว้าไม่ได้ตกอยู่ในการปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งช่วงหลัง พ.ศ. 2493 (Fiskesjö, M., 2013 : 1) ที่เริ่มเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ของชาวว้าจากทั้งกลุ่มกองกำลังคณะชาติจีน (Kuomintang) ที่เข้ามาในพื้นที่ของชาวว้าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2493 และพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่มาเข้ามาในพื้นที่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2512 - 2532 และเกิดปฏิบัติการในพื้นที่ทั้งชักชวนชาวว้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลัง หรือแม้กระทั่งใช้กำลังบังคับให้เข้าร่วมกองกำลัง ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านในพื้นที่อย่างเช่นการยกเลิกประเพณีล่าหัวมนุษย์ที่ชาวว้าเชื่อว่าจะช่วยให้ผลผลิตดีแก่ข้าวที่ปลูก (Fiskesjö, M., 2013 : 13) หรือแม้กระทั่งรวบรวมชาวว้าให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันจากก่อนหน้าที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย และโดดเดี่ยว Ronal D. Renard (2013) ถึงกับบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ชาวว้าเริ่มคิดว่าเป็นหนึ่งเดียวกันหรืออีกนัยหนึ่งคือสำนึกความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน (ethnic consciousness) ได้เกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวัฒนธรรมการเข้ามาของกลุ่มของกำลังทั้งสองยังได้ทำให้ชาวว้าเกิดการเคลื่อนย้าย อพยพ และเดินทาง ออกจากพื้นที่เดิมจนอาจจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนโฉมหน้าของชาวว้าบางคนไปสู่กลุ่มที่ผูกผันกับกลุ่มกองกำลังทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก เห็นได้จากการที่มีทหารในกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากว่า 80 % เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ว้า (Lintner, B., & Black, M., 2009)

สรุปก็คือในช่วงก่อนยุคสงครามเย็นนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ว้ามีการอยู่อาศัยอย่างอิสระไม่ได้ถูกปกครองโดยรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างชัดเจนนัก ทำให้ชาวว้าไม่มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่อยู่เดิมมากนัก แต่สถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธ์ว้าเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากการเข้ามาของกองกำลังในช่วงสงครามเย็น ทั้งกองกำลังจีนคณะชาติและตามมาด้วยพรรคคอมมิวนิสต์พม่าซึ่งในภายหลังเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า และส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าเข้ามาในประเทศไทยภายใต้บริบทในช่วงสงครามเย็น


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

วิศรุต แสนคำ

ปัจจุบันพื้นที่ที่ชาวว้าอาศัยอยู่ได้ถูกแบ่งโดยเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศจีน กลายเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนในเขตมณฑลยูนนานและเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมาในเขตรัฐฉาน ชาวว้ามีที่อยู่ประมาณ 1,000,000 คนจึงได้ถูกแบ่งออกไปอยู่ในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ประมาณ 320,000 คนได้อาศัยอยู่ในเขตมณฑลยูนนานทางใต้ติดชายแดนเมียนมาและประมาณ 520,000 คนอยู่ในบริเวณรัฐฉานของประเทศเมียนมาติดชายแดนจีน ชาวว้าที่อยู่ในประเทศเมียนมานั้นจะอยู่ในบริเวณเขตสหภาพรัฐว้า (Wa Special Region 2) ที่แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่คือรัฐว้าทางเหนือ (Northern Wa State) อยู่บริเวณชายแดนจีน-เมียนมา โดยมีชาวว้าอยู่ประมาณ 320,000 คน และอีกประมาณ 200,000 คนที่อาศัยอยู่ในรัฐว้าทางใต้ (Southern Wa State) ที่ติดชายแดนไทยบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย (Kramer, T., 2007)

ผู้ศึกษาพบว่ามีชาวว้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่า 60 ปีแล้วซึ่งสอดคล้องกับงานของ นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร (2552) ที่ได้ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ว้าที่เข้ามาในประเทศไทยพร้อม ๆ กับกองกำลังทหารก๊กมินตั๋งหรือจีนคณะชาติ ดังนั้นชาวว้าในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) กลุ่มที่เข้ามาประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2516-2523 และ 2) กลุ่มชาวว้าที่เข้ามาในไทยหลังการเกิดขึ้นของ “รัฐว้าทางใต้” ใน พ.ศ. 2542 ชาวว้ากลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และไม่ยินยอมเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า สมาชิกของกลุ่มนี้ยังเคยเข้าร่วมกองกำลังอาสาสมัครให้กับรัฐบาลไทยในการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงประมาณ พ.ศ. 2516 (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2548) (วิศรุต แสนคำ, 2564) ปัจจุบันชาวว้าบางส่วนจากกลุ่มนี้ได้กระจายกันไปอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ ทางภาคเหนือ

ในขณะที่ชาวว้าอพยพรุ่นแรกอพยพเข้ามาในประเทศไทยจากเหตุผลทางการเมืองและความแตกต่างทางอุดมการณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารมาก่อนและครอบครัวได้อพยพเข้ามาในภายหลัง ชาวว้ากลุ่มที่สองอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหลังช่วง พ.ศ. 2542 ด้วยเหตุผลส่วนตัวและส่วนใหญ่อพยพแบบปัจเจกบุคคล โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการอพยพของชาวว้ากลุ่มที่สองมีสาเหตุหลักมาจากการบังคับอพยพมายังรัฐว้าทางใต้ (Southern Wa State) โดยสหพรรครัฐว้า (United Wa State Party) หรือรัฐบาลของชาวว้าที่ได้ให้เหตุผลว่าการอพยพว่าเพื่อเป็นลดการปลูกฝิ่น และเพราะพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศเมียนมาที่เป็นที่อยู่เดิมนั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งและไม่เหมาะแก่การปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น อย่างไรก็ตามการถูกบังคับย้ายถิ่นส่งผลให้ชาวว้าที่ถูกเคลื่อนย้ายมาต้องประสบกับความยากลำบากในการประกอบอาชีพในพื้นที่ใหม่ ทำให้ชาวว้าหลายคนตัดสินใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทั้งในฐานะแรงงานหรือเข้ามาเพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือบางคนเข้ามาเพื่อต้องการหลีกหนีจากการถูกกดขี่จากรัฐบาลว้า

ชาวว้าที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยทั้งสองระลอกอาศัยอยู่หลายแห่ง โดยส่วนใหญ่จะกระจายกันอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย แต่ผู้ศึกษายังพบว่ามีชาวว้าจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานครและนครปฐมอีกด้วย จำนวนของชาวว้าในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการจึงไม่มีตัวเลขจำนวนที่ชัดเจนที่ได้รับการยอมรับ แต่มีรายงานจากโครงการ Joshua Project [1] ของ Frontier Ventures ที่เป็นองค์กรศาสนา ได้บันทึกไว้ว่ามีชาวว้าอยู่ในประเทศไทยประมาณ 5,000 คน และผู้ศึกษาพบว่าในตัวเมืองอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายนั้นมีชาวว้าอย่างน้อย 100 คน กระจัดกระจายกันอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ และมาเข้าโบสถ์ในทุก ๆ วันอาทิตย์ต้นเดือนเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาและพบปะชาวว้าด้วยกันเอง โดยสรุปแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ว้ามีการเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 60 ปีแล้ว และส่วนใหญ่จะกระจายกันอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย โดยพบหมู่บ้านช้าวว้าในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

 


[1] เว็บไซต์ขององค์กร www.joshuaproject.net


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

วิศรุต แสนคำ

การดำรงชีพ

ชาวว้าประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อยังชีพโดยการปลูกข้าวดอย (dry rice) และพืชพันธุ์อีกหลายชนิดในไร่หมุนเวียน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ชาวว้าอยู่อาศัยไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ชาวว้าจึงปลูกฝิ่นเป็นพืชทางเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นเป็นเรื่องปกติในศตวรรษที่ 19 ที่พื้นที่สูงส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมาจะปลูกฝิ่น โดยชาวว้าจะส่งฝิ่นออกขายไปยังประเทศจีน มีเพียงส่วนน้อยที่เก็บไว้เพื่อใช้รักษาโรค (Fiskesjö, M., 2000)

ในปัจจุบันรัฐบาลของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าหรือสหพรรครัฐว้า (United Wa State Party : UWSP) เป็นที่รู้จักกันในสื่อและสังคมโลกว่าเป็น “รัฐแห่งยาเสพติด” (narcotic-state) เนื่องจากถูกมองว่ารายได้หลักของรัฐบาลว้าคือยาเสพติดประเภทยาบ้า เฮโรอีน และฝิ่น อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดในเมียนมาที่มีกำลังพลกว่า 20,000 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศจีน ทั้งในเรื่องการทหารและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Chin, K.-L., 2009) ชาวจีนและชาวว้ามีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กันมาอย่างยาวนาน (วิศรุต แสนคำ, 2564 : 1)

โครงสร้างทางสังคม

จากข้อมูลชาติพันธุ์วรรณาที่มาจากการเก็บข้อมูลภาคสนามกับชาวว้าในเมืองหลานชางของ เขตมณฑลยูนนาน ประเทศจีน พบว่ามีลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่าโครงสร้างทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ว้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเช่นสังคมของชาวว้าในจุดหนึ่งเคยมีลักษณะสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ แต่เมื่อมีการรบและเกิดสงครามขึ้นบ่อยครั้งทำให้ผู้ชายมีส่วนสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Satyawadhna, C., 1991)

ชลธิรา สัตยาวัฒนา ได้จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าเป็น “วงศาคณาญาติ” โดยเสนอว่าทั้งกลุ่มลัวะ ละเวอะ และว้า อาจจะเคยเป็นกลุ่มที่เรียกว่าละว้า (Lawa) ที่อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มนี้ได้แตกออกเป็น “กลุ่มลวะ” (Lwa) ที่อยู่ในพื้นที่ล้านนาและกลุ่ม “Lawaa” ที่อยู่ในภาคกลางของสยาม แต่ในยุคปัจจุบันกลุ่มเหล่านี้ได้ผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันจนกลุ่มที่เคยเป็นกลุ่มคนเดียวกันในอดีตได้กลายมาเป็นกลุ่มต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น ลัวะในจังหวัดน่าน ละเวอะในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ว้าในประเทศจีนและประเทศเมียนมา และกลุ่มที่ผสมกลืนกลายเป็น“ลวะ” (Lwa) ที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย (Satyawadhna, C., 1991)

ประเทศเมียนมานับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่ในอดีตและมีการแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งต่อสู้กันคล้ายกับเหล่าบรรดาอาณาจักรในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนเมื่อกระทั่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของพม่าเมื่อครั้งตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษที่มีการนำนโยบายแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) มาใช้ ซึ่งในกรณีของประเทศเมียนมาถูกแบ่งโดยอังกฤษเป็นพม่าพื้นราบคือส่วนที่อังกฤษปกครองโดยตรง (proper Burma) และส่วนที่สองคือบริเวณภูเขา (hill areas) รวมไปถึงบริเวณชายแดน (frontier Areas) (พรพิมล ตรีโชติ, 2542) ในส่วนที่สองนั้นได้รวมไปถึงพื้นที่บริเวณที่ชาวว้าอาศัยอยู่ซึ่งถูกจัดรวมเข้าไปในเขตของรัฐฉาน (Shan State) อย่างไรก็ตามในการปกครองของอังกฤษนั้นได้แบ่งแยกคนว้าออกเป็นสองกลุ่มคือ “กลุ่มที่เชื่อฟัง” (Tame Wa) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเขตไทใหญ่ (the Federated Shan States) และกลุ่มที่ไม่เชื่อฟังหรือ “ว้าป่า” ที่จะปกครองกันเองในกลุ่มหมู่บ้านผ่านความสัมพันธ์ในครอบครัว (Fiskesjö, M., 2013)

ในยุคอาณานิคมที่อยู่อาศัยของคนว้าในเขตแดนที่เป็นประเทศเมียนมาในปัจจุบันได้กลายมาเป็นพื้นที่ในอาณัติของประเทศอังกฤษแต่พื้นที่ส่วนใหญ่กลับถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้และไม่ได้มีการเข้าไปจัดการการปกครองแต่อย่างใด เพราะการจะเข้าไปจัดการปกครองในพื้นที่เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก รวมไปถึงการที่ต้องใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ในการจัดการและภายหลังพม่าได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 ชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงเพื่อให้รัฐต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อยมีสิทธิแยกออกไปตั้งเป็นประเทศของตนเองภายหลังจากอยู่ร่วมกันก่อนเป็นเวลาสิบปี แต่การลงนามในครั้งนี้ไม่ได้มีตัวแทนของคนว้าไปร่วมลงนามด้วย จะมีแต่ตัวแทนจากรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และชินที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง และทำให้โดยหลักการแล้วรัฐฉานมีสิทธิในการจัดการพื้นที่ที่คนว้าอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม คนไทใหญ่ก็ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจปกครองในพื้นที่ของคนว้าป่าแต่อย่างใด (Fiskesjö, M., 2013)

ภายหลังจากประเทศเมียนมาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษไม่นานนัก ในช่วงปีพ.ศ. 2492 พื้นที่ของชาวว้าก็ยังคงร้อนระอุไปด้วยการต่อสู้และสงครามหลายครั้ง โดยเกิดจากความพยายามเข้ามาของกลุ่มคนนอกเพื่อชักชวนคนว้าให้เข้าร่วมกลุ่มกองกำลังแรกก็คือกองกำลังชาตินิยมจีนของก๊กมินตั๋ง (The Kuomintang) นำโดย เจียง ไค เชค ที่ถอยร่นมาจากจีนเนื่องจากพ่ายแพ้ให้แก่กลุ่มคอมมิวนิสต์จีนของ เหมา เจอ ตุง (Kramer, T., 2007) การต่อสู้กันระหว่างกลุ่มกองกำลังปลดปล่อยประชาชน (The Chinese People’s Liberation Army) และกลุ่มของกองกำลังชาตินิยมจีนเป็นไปอย่างยาวนานจนในที่สุดกองกำลังชาตินิยมจีนก็ได้ถูกขับออกไปจากพื้นที่และเกิดการรวมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าและชาวจีนโกกั้งเข้ามาเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้โครงการกาก่วยเย (Ka Kwe Ye)[1] ของนายพล เนวิน (The Lahu National Development Organisation, 2002)

ระยะหลังจากนั้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2511-2532 ชาวว้าและชาวโกกั้งได้เป็นกองกำลังหลักที่สำคัญของกองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศพม่า (Communist Party of Burma : CPB) ที่รับการสนับสนุนจากจีนและแผ่อิทธิพลเข้ามาในเขตตะวันออกของรัฐฉาน แต่ด้วยความอ่อนแอลงของ CPB จากการลดการสนับสนุนของรัฐบาลจีนและการรบที่ผิดพลาดหลายครั้งทำให้กองกำลังโกกั้งและกองกำลังว้าได้ทำการปฏิวัติและยึดพื้นที่คืนจาก CPB และกองกำลังว้าจึงได้ก่อตั้งพรรคสมานฉันท์แห่งชาติพม่า (The Myanmar Nationalities Solidarity Party) ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสหพรรครัฐว้า (United Wa State Party) โดยมีกองทัพรวมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army) อยู่ใต้บังคับบัญชา (Kramer, T., 2007)

ในฐานะรัฐที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรัฐว้าท่ามกลางสงครามกลางเมืองของประเทศเมียนมามีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลว้าเข้าไปมีส่วนพัวพันกับยาเสพติดตั้งแต่ฝิ่น เฮโรอีน และล่าสุดคือยาบ้า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างชาติให้ความสนใจกันมากและมีงานศึกษามากมายที่ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างเช่นในงานศึกษาชื่อ “Policy Studies 38 The United Wa State Party: Narco-Army or Ethnic Nationalist Party” โดย Tom Kramer (2007) ที่ได้กล่าวว่าปัญหาเรื่องยาเสพติดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนการเกิดขึ้นของรัฐบาลว้าและปัญหาอื่น ๆ ของรัฐว้าคือด้านนโยบายที่ไม่มีความมั่นคงและมีการปกครองแบบบนลงล่างและยังเสนออีกว่าแม้ว่าต่างชาติอย่าง เช่น สหรัฐอเมริกาและไทยจะมองว่ารัฐว้าเป็นรัฐแห่งยาเสพติด แต่รัฐว้าเองนั้นมีเป้าหมายใหญ่กว่าคือการสร้างรัฐ ในเรื่องปัญหายาเสพติดนี้มีอีกหนึ่งงานที่น่าสนใจคือ“The Golden Triangle Inside Southeast Asia’s Drug Trade” โดย Ko-Lin Chin (2009) โดยงานของเขาเกิดจากการเก็บข้อมูลภาคสนามในรัฐว้าโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องปัญหายาเสพติด จากการเก็บข้อมูลจากทั้งผู้ผลิต ผู้เสพและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐว้า Chin เสนอว่าการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดในรัฐว้านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมองให้เห็นถึงการเมืองที่เกี่ยวพันอยู่เบื้องหลังและปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดในรัฐว้าขึ้นอยู่กับการเมืองที่ใหญ่กว่านั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เพราะว่าความสัมพันธ์นี้เองส่งผลต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น ประเทศอเมริกามีอิทธิพลต่อประเทศไทย หรือประเทศจีนที่มีอิทธิพลต่อรัฐว้าและประเทศเมียนมา โดยความสัมพันธ์นี้ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบ เครื่องมือ ทุน ผู้คน และยาเสพติด ดังนั้นเขาจึงเสนอว่าหากจีนและสหรัฐอเมริการ่วมมือกันเพื่อกดดันรัฐว้าในเรื่องยาเสพติดแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องทำให้การเมืองในภูมิภาคเอเชียมีความมั่นคงและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังนั้นเขาจึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐว้านั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกซึ่งจะส่งผลต่อผู้คนในพื้นที่ของชาวว้า (วิศรุต แสนคำ, 2564 : 42-46)

 


[1] นโยบายกาก่วยเย (Ka Kwe Ye : KKY) ของรัฐบาลเมียนมาในช่วงทศวรรษ 1960 ที่มีนโยบายในการจัดตั้งกองกำลังป้องกันประจำหมู่บ้านเพื่อตอบโต้กับการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวว้ามีการนับถือผีบรรพบุรุษ แต่จำนวนหนึ่งก็ได้เปลี่ยนมารับศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ชาวว้ากับศาสนาคริสต์มีความสัมพันธ์กันมามากกว่า 100 ปีแล้ว โดยชาวว้าเข้ารับศาสนาคริสต์พร้อมกับชาวลาหู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2447 จากการได้ยินข่าวการประกาศศาสนาโดยบาทหลวงที่ชื่อ William Marcus Young ที่เป็นบาทหลวงในนิกายแบ๊บติสต์ที่ได้เข้าไปทำงานในรัฐฉานของประเทศเมียนมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2444 และด้วยการเปลี่ยนศาสนาของชาววว้าในกลุ่มแรกนั้นอยู่ในนิกายแบ๊บติสต์ที่ทำให้ชาวว้าในรุ่นต่อ ๆ มาจึงมีนับถือศาสนาคริสต์นิกายนี้ด้วยเช่นกัน (Young, H. M. 2014)

กลุ่มของชาวว้าในประเทศได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งคริสตจักรสัมพันธ์ “ภาคว้า”[1] หรือกลุ่มของชาวว้าที่นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศไทยภายใต้นิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นในหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ว้าอยู่ โดยมีเป้าหมายว่าจะตั้งภาคหรือเครือข่ายโบสถ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าในไทยนี้ให้ได้รับการรับรองกับองค์กรสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ทำสำเร็จแล้วใน 3 หมู่บ้านเห็นได้จากการสร้าง “โบสถ์ละว้า” หรือการจัดตั้งโบสถ์สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ว้าโดยเฉพาะ ที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวว้าที่กระจายกันอยู่ในหลายหมู่บ้าน การรวมตัวกันเพื่อสร้างโบสถ์ละว้านี้ได้รับความร่วมมือจากชาวว้าทั้งในรูปแบบของการบริจาคเงินส่วนตัว การบริจาคที่ดิน หรือการลงแรงช่วยก่อสร้างในปัจจุบันโบสถ์ใหม่ละว้านี้มีอยู่ทั้งหมด 3 แห่งใน 3 หมู่บ้านประกอบด้วยหมู่บ้านหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงหมู่บ้านใหม่เจริญ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และหมู่บ้านเหล็กบน ในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่ในกรณีของโบสถ์ละว้าที่หมู่บ้านเหล็กบนนี้ โดยทำการก่อสร้างเสร็จและได้เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2562 หลังจากการรวมตัวกันของชาวว้าในหมู่บ้านเหล็กบน และเครือข่ายศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าในประเทศไทยที่ได้ช่วยเหลือกันในการจัดตั้งโบสถ์ (วิศรุต แสนคำ, 2564 : 128 - 129)

 


[1] ภาคต่าง ๆ ของคริสตจักรคือเครือข่ายของโบสถ์ที่กระจายกันอยู่ในหมู่บ้านที่แตกต่างกัน โดยการทำงานของภาคต่าง ๆ นั้นจะอยู่องค์กรคริสเตียนแต่ละองค์กรที่เครือข่ายโบสถ์เข้าไปสังกัด โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้คริสจักรโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ในการแบ่งภาคมีการใช้เกณฑ์ที่เป็นพื้นที่อย่าง ภาคกลาง ภาคเหนือ และเกณฑ์ที่เป็นชาติพันธุ์อย่าง ภาคม้ง ภาคอิ้วเมี่ยน ภาคอาข่า (ศจ.ทองทิพย์ แก้วใส, ประธานองค์กรคริสตจักรสัมพันธ์ในประเทศไทย, สัมภาษณ์; วันที่ 26 มิถุนายน 2564)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ชาวว้าในประเทศไทยทั้งหมด นับถือศาสนาคริสต์พิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย สอดคล้องกับคริสตศาสนา กล่าวคือ มีการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ตามแบบอย่างของคริสตชน ไม่ได้ถือปฏิบัติตามพิธีดั้งเดิมอย่างเช่นชาวว้าในเมียนมา และประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพิธีกรรมตามแบบวิญญาณนิยมจะถูกเลิกปฏิบัติไปแล้วตำนานเกี่ยวกับพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ ก็ยังคงเป็นเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ และพิธีกรรมสคัญของชาวว้าในอดีตที่สัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิม และระบบเกษตรของชาวว้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตำนานที่เล่าถึงพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ของชาวว้า

กลุ่มชาติพันธุ์ว้ามีตำนานเรื่องเล่าถึงกำเนิดของตนเองอยู่หลากหลายสำนวน ในตำนานของชาวไทใหญ่เล่าว่าชาวว้าเกิดมาจากเมล็ดน้ำเต้า แต่ในตำนานของชาวว้าเองเล่าว่าพวกเขาคือลูกหลานของลูกอ๊อดที่อาศัยอยู่ในสระมรกต (Nawng Hkio Lake) ที่ปัจจุบันอยู่ในบริเวณ Mong Hka ทางใต้ของประเทศจีน ตามตำนานเล่าว่าลูกอ๊อดตัวนั้นกลายมาเป็นยักษ์สองตัวและได้ไปกินมนุษย์ผู้หนึ่ง แต่ได้เก็บรักษาหัวมนุษย์ผู้นั้นไว้อย่างดี จากนั้นยักษ์ตัวเมียได้ออกลูกออกถึงเก้าคนซึ่งกลายมาเป็นต้นกำเนิดของชาวว้า และบอกให้ลูกทั้งเก้าคนเก็บหัวมนุษย์ไว้เพื่อป้องกันศัตรูและปกป้องหมู่บ้าน (Young, 2014) และอีกหนึ่งตำนานที่บอกเล่าเรื่องราวของว้าว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่ออกมาจากถ้ำ โดยได้จากความช่วยเหลือจากอีกาและหนูที่ มีเสือและต้นไม้คอยขัดขวางไม่ให้ชาวว้าออกมา เมื่อชาวว้าออกมาได้แล้วจึงตามมาด้วย ชาวไทใหญ่ ลาหู่ จีน พม่า และอินเดีย และเนื่องจากชาวว้าเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาและถือเป็นลูกคนแรก ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าคนว้านี้เองที่ต้องทำหน้าที่ดูแลสักการะเทพเจ้าผู้ให้กำเนิดพวกเขาแทนผู้ที่เกิดตามมาทีหลังซึ่งหลงลืมไปแล้ว (Fiskesjö, M., 2000)

อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาที่พยายามอธิบายประเพณีการล่าหัวมนุษย์ของชาวว้า เช่น ในงานศึกษาเรื่อง “The Fate of Sacrifice and the Making of Wa History” ของ Fiskesjö, M. (2000) ได้ศึกษาถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาวว้าและพิธีกรรมการล่าหัวมนุษย์ โดยมองว่าพิธีกรรมการบูชายัญนี้คือการสร้างประวัติศาสตร์ของชาวว้า ในฐานะการประกอบสร้างการกระทำทางวัฒนธรรม (culturally constituted action) Fiskesjö, M. ศึกษาพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์ในพื้นที่ของชาวว้าที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2539 - 2541

งานศึกษาของ Fiskesjö, M. เป็นงานศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ที่พยายามจะอธิบายประเพณีการล่าหัวมนุษย์ในอดีตของชาวว้าที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องป่าเถื่อน โดยต้องการให้มุมมองใหม่ว่าการกระทำเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และความต้องการที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของชาวว้าเองผ่านการประกอบสร้างการกระทำทางวัฒนธรรม งานศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการล่าหัวมนุษย์ของคนว้านั้นโดยนัยแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นการทำไปโดยปราศจากเหตุผล แต่เกิดขึ้นจากอุดมคติของชาวว้าที่เชื่อว่าตนเองเป็นผู้ที่อยู่ในจุดที่กำเนิดมนุษย์และเป็นผู้มาก่อนชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของชาวว้าเองที่จะต้องดูแลเทพเจ้าผู้ให้กำเนิดและควบคุมทุกสิ่ง Fiskesjö, M. ยังอธิบายในงานอีกว่าการล่าหัวมนุษย์ของชาวว้านั้นเกิดขึ้นจากความบาดหมางกัน ซึ่งมักจะเกิดจากการละเมิดข้อตกลงหรือข้อบังคับระหว่างชาวว้าเองซึ่งน้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นกับคนนอก Fiskesjö, M. ยังเสริมอีกว่าในช่วงก่อนสมัยศตวรรษที่ 20 นั้นไม่เคยมีบันทึกของชาวจีนเกี่ยวกับประเพณีการล่าหัวนี้เลย เขามองว่าเพราะในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นการล่าหัวไม่ได้ถูกมองเป็นเรื่องป่าเถื่อนหรือไร้วัฒนธรรมเพราะในจีนเองก็มีการตัวหัวของผู้แพ้สงครามเป็นเรื่องปกติ

โดยในงานนี้ยังได้แบ่งชาวว้าออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ชาวว้าที่อยู่ในพื้นที่ใจกลาง (central Wa) และชาวว้าที่อยู่ในพื้นที่รอบนอก (peripheral area) โดยอธิบายถึงความสัมพันธ์ว่าชาวว้าที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกซึ่งอยู่ติดกับอาณาจักรอื่น ๆ อย่างเช่น ประเทศจีนและไทใหญ่ ทำให้ชาวว้าเหล่านี้ได้รับอิทธิพลของประเทศเหล่านั้นทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา แต่ในขณะเดียวกันชาวว้าหรือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นอย่างไทใหญ่และลาหู่ที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกก็ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวว้าที่อยู่ในพื้นที่ใจกลางและทำหน้าที่เสมือนพื้นที่ระหว่าง (intermediary zone) ที่คอยติดต่อชาวว้าจากพื้นที่ใจกลางและอาณาจักรรอบนอกทำให้ชาวว้าในพื้นที่ใจกลางมีสถานะที่ไม่ขึ้นต่อรัฐใด ๆ

งานชิ้นนี้ได้มุ่งเน้นศึกษาประวัติศาสตร์และพิธีกรรมของคนว้าในอดีตผ่านการบอกเล่าและความทรงจำชาวว้าผู้เห็นเหตุการณ์และร่วมพิธีกรรม อย่างไรก็ดีในงานนี้แม้ว่าจะได้อธิบายการเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวว้าตั้งแต่ในอดีตประมาณคริสต์ศตวรรษ 1600 จนถึงการถูกขีดเส้นแบ่งดินแดนให้ชาวว้าส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศจีนและอีกส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศเมียนมาในปี พ.ศ. 2437 และได้อธิบายถึงอิทธิพลของจีนต่อชาวว้าที่ชาวจีนได้มองชาวว้าผ่านวิธีการทำเกษตรและการครอบครองทาสทำให้ชาวว้าถูกมองโดยรัฐบาลจีนว่าอยู่ในสถานะระหว่างสังคมคอมมิวนิสต์บุพกาลและสังคมทาส ดังนั้นจึงควรต้องได้รับการพัฒนาผ่านนโยบายของรัฐในช่วงปีทศวรรษ 1950 (Fiskesjö, M., 2000)

อย่างไรก็ตามในเรื่องประเพณีการล่าหัวมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้านั้นในปัจจุบันได้เป็นแค่เพียงเรื่องในอดีตเท่านั้น และสิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำความเข้าใจในประเพณีปัจจุบันซึ่งเรื่องประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ผู้เขียนเสนอว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ 1) งานประเพณีที่กลุ่มชาวว้าขึ้นกันเอง และ 2) งานประเพณีที่กลุ่มชาวว้าเป็นผู้ร่วมหรือไปเข้าร่วม

1) งานประเพณีที่กลุ่มชาวว้าจัดขึ้นเอง

สืบสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ละว้า

งานประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับชาติพันธุ์ว้าที่ทางกลุ่มชาวว้าในประเทศไทยได้จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 คืองานประเพณีที่ใช้ชื่อว่า “สืบสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ละว้า” โดยในแต่ละปีจะมีการจัดงานนี้ขึ้นในสถานที่แตกต่างกัน โดยเป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จากหลายหมู่บ้านในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมในวันงานเกินกว่า 500 คน จากหลากหลายวัยทั้งเด็ก หนุ่มสาว และวัยผู้ใหญ่มาจากหลากหลายชาวว้าหลากหลายหมู่บ้านที่แต่งตัวในหลากหลายสีสันทั้งแดง ดำ เหลือง เขียว น้ำเงิน และภายในงานประเพณีนี้ก็ได้มีกิจกรรมที่เครือข่ายทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าออกแบบมาอย่างเช่นการ “เดินแบบชุดชาติพันธุ์” ที่แสดงให้เห็นชุดของกลุ่มชาติพันธุ์ของสมาคม โดยเยาวชนชาย - หญิง จาก 5 หมู่บ้านแต่งกายในชุดที่แตกต่างกันตามหมู่บ้านของตนเองผลัดกันเดินขึ้นบนเวทีเพื่อแสดงให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคนได้เห็น รวมไปถึงการทำขนมท้องถิ่นที่เรียกว่า “ข้าวปุ๊ก” ซึ่งข้าวปุ๊กนั้นเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมกันอยู่ในพื้นที่ทางเหนืออยู่แล้ว

2) งานประเพณีที่ร่วมจัดกับคนนอก

นอกเหนือไปจากงานประเพณีที่กลุ่มชาติพันธุ์ว้าในไทยได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาใหม่ผ่านการสนับสนุนและผลักดันของกลุ่มเครือข่ายทางสังคมของชาวว้าแล้ว กลุ่มชาวว้าในประเทศไทยยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประเพณีที่จัดขึ้นโดยรัฐที่ อย่างเช่นใน “งาน 10 ชาติพันธุ์แม่สาย” และ “งานดอกไม้เชียงราย”

งาน 10 ชาติพันธุ์แม่สาย

นอกเหนือไปจากงานประเพณีที่กลุ่มชาวว้าในสมาคมได้รวมตัวกันจัดขึ้นมาแล้ว ทางสมาคมของชาวว้าในประเทศไทยยังจัดงานประเพณีหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทางสมาคมของชาวว้าได้เข้าร่วมอย่างเช่นงานกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่าง งาน 10 ชาติพันธุ์แม่สาย หรืออีกหนึ่งงานที่จัดขึ้นเป็นประจำในทุก ๆ ปีคืองานเชียงรายดอกไม้งาม โดยทางสมาคมของชาวว้าได้รับการรับเชิญให้เข้าร่วมจัดงานนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยในงานถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบไปด้วยบริเวณเวทีการแสดงที่ใช้สำหรับจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาเข้าร่วมบริเวณขายสินค้าและอาหารชาติพันธุ์และบริเวณหมู่บ้านจำลองซึ่งจะเป็นการจำลองลักษณะบ้านของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาเข้าร่วม


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

วิศรุต แสนคำ


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

วิศรุต แสนคำ

Chin, K.-L. (2009). the golden triangle inside southeast asia's drug trade. Cornell: Cornell University Press.

Diffloth, G. (1980). The Wa languages. Linguistics of the Tibeto-Burma Area. New York: Oxford University Press.

Fiskesjö, M. (2000). The Fate of Sacrifice and Making of Wa History. Illinois: Bell & Howell information and Learning Company.

Fiskesjo, M. (2008). [the emergence of the early historic states of Southeast Asia] the question of the Farmer Fortress: On the ethnoarchaeology of fortified settlements in the northern part of Mainland Southeast Asia. Bulletin of the Indo-Pacific Prehistory Association, 21. https://doi.org/10.7152/bippa.v21i0.11771

Fiskesjö, M. (2013). The Project Muse Introduction to Wa Studies.

Kramer, T. (2007). The United Wa State Party: Narcro-Army or Ethinc Nationalist Party. Singapore: Seng Lee Press Pte Ltd.

Lintner, B. (1999). Burma in Revolt Opium and Insurgency Since 1948. Bangkok: O.S. Printing House.

Lintner, B., & Black, M. (2009). Merchants of Madness: The Methamphetamine Explosion in the Golden Triangle. Chiang Mai: Silkworm Books.

Kunstadter, P. (1966, July). Thailand's Gentle Lua. National Geographic, 130(1).

Project, J. (2564, June 26). The Wa people group is reported in 3 countries. Retrieved June 26, 2564, from https://www.joshuaproject.ne: https://www.joshuaproject.net/people_groups/15759

Renard, R. D. (2013). The Wa Authority and Good Governance1989-2007. Journal of Burma Studies.

Satyawadhna, C. (1991). The Dispossessed : An Anthropological Reconstruction of Lawa Ethnohistory in the Light of their Relationship with the Tai. Canberra : the Australian National University.

Smith, M. (1991). Burma Insurgency and the Politics of Ethnicity. London: Zed Books.

The Frontier Areas Committee Of Enquiry. (1947, April 11). Retrieved march 2021, 10, fromburmalibrary:https://www.burmalibrary.org/docs14/Frontier_Areas...

The Lahu National Development Organisation. (2002). Unsettling Moves:The Wa forced resettlement program in Eastern Shan State (1999-2001). Chiang Mai: The Lahu National Development Organisation. Retrieved from https://www.lndoess.org/wp-content/uploads/2016/10/The-Wa-forced-resettlement-program-in-eastern-Shan-State.pdf

Young, H. M., & Chase, D. Y. (2014). Burma headhunters: The history and culture of the ancient wa, a mountain tribal people. Google Books. Xlibris Corp. Retrieved August 2, 2022, from https://books.google.co.th/books?id=ncbgBQAAQBAJ&hl=th&num=16.

ภาษาไทย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2548). รายงานการศึกษาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กรณีศึกษา “สบยอน”. กรุงเทพฯ: ศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา.

ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ. (2555). ปริศนาวงศาคณาญาติ“ลัวะ”. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร. (2552). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย "ว้า". กรุงเทพมหานคร:

เอกพิมพ์ไทย.

วิศรุต แสนคำ. (2564). การกลายเป็นละว้าของกลุ่มชาวว้าอพยพในภาคเหนือของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

องค์กรคริสตจักรสัมพันธ์ในประเทศไทย. (1 มกรคม 2564). องค์กรคริสตจักรสัมพันธ์ในประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ 26 มิถุนายน 2564 จาก องค์กรคริสตจักรสัมพันธ์ในประเทศไทย: https://www.actthai.org/?page_id=57

ข่าว จากสื่อต่าง ๆ

มติชน. (3 สิงหาคม 2542). เข้าถึงเมื่อ 2564 เมษายน 12 จาก Matichon Information Center: www.matichonelibrary.com

มติชน. (11 สิงหาคม 2542). ทบ.เปิดเกมรุกขบวนการยาเสพติดแนวชายแดนว้าแดง. เข้าถึงเมื่อ 11 สิงหาคม 2564 จาก Matichon Information Center: https://www.matichonelibrary.com/news/site/index?N...

 

ดานี,อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์

ต๊ะ ก๊ก, อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย, วันที่ 15 ธันวาคม 2562, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

ต๊ะ ละทวย, อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, วันที่15 พฤษภาคม 2563, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

ต๊ะ แก้วไส, อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย, วันที่ 10 เมษายน 2562, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

ต๊ะ เจ็ด, อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่12 พฤศจิกายน 2562, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

ยี่ ทาง, จังหวัดกรุงเทพมหานคร, วันที่ 10 พฤศจิกายน 2561, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

ยี่ นง, อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย, วันที่12 พฤศจิกายน 2563 , วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

รักไทย อามา, อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย, วันที่ 24 ตุลาคม 2560 , วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

สำราญ สร้างสติปัญญา , อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

สาม ตาโบ, จังหวัดกรุงเทพมหานคร, วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

สีทาง รอรอ , อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, วันที่ 2 ธันวาคม 2562 , วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

อ๊ก วะ, อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, วันที่ 5 ธันวาคม 2562, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

อ๊ก เหว่ยเจีย, อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย, วันที่ 15 เมษายน2562, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์.

ชินกร ก้าววิทยาคม, อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, วันที่ 23 ตุลาคม 2560, วิศรุต แสนคำ ผู้สัมภาษณ์


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

วิศรุต แสนคำ


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว