2024-12-27 08:30:44
ผู้เข้าชม : 5223

ไทยวน มีบรรพบุรุษมาจากเมืองเชียงแสน หรืออาณาจักรโยนก คนกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องมือโลหะในการทำกสิกรรม ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพหันไปประกอบอาชีพค้าขาย รับราชการ ทำสวนผลไม้ ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าหัตถกรรม ทั้งการจักสาน ทอผ้า การแกะสลัก เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในจังหวัดเชียงใหม่

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทยวน
ชื่อเรียกตนเอง : ไทยวน, ยวน, คนเมือง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวล้านนา, คนไทยทางเหนือ, ไทยวน, ไตยวน, โยน, ยวน, ลาว, ขะหลอม, ก้อหล่ง, เจ๊ะ, กอเลาะ, จั่นกะหลอม, ไต๋มุง
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไทยวน
ภาษาเขียน : อักษรธรรมล้านนา,อักษรฝักขาม

ชาติพันธุ์ไทยวนเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีรากบรรพบุรุษจากเมืองเชียงแสนหรืออาณาจักรโยนก ซึ่งเพี้ยนมาเป็นชื่อชาติพันธุ์ “ยวนหรือโยน” กระทั่งอาณาจักรโยนกได้ล่มสลายจากภัยธรรมชาติ กลุ่มคนเหล่านี้จึงเคลื่อนย้ายมาสร้างเมืองใหม่ คือ “เชียงใหม่” และเรียกอาณาบริเวณนี้ว่าอาณาจักรล้านนา หลังจากนั้นเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของชาวไทยวน ก่อนที่จะตกอยู่ในภาวะสงครามทั้งจากฝ่ายพม่าและไทย จนเกิดการเทครัวของชาวไทยวนจากหัวเมืองล้านนาสู่เขตภาคกลาง อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายออกในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองใหม่ ได้สถาปนาหัวเมืองล้านนาเป็นมณฑลลาวเฉียง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นมณฑลพายัพ และประทับตราความเป็นลาวให้ชาวไทยวน ขณะที่คนในท้องถิ่นไม่ได้ยอมรับชื่อเรียกนั้นและได้สร้างคำเรียกใหม่เพื่อต่อสู้กับวาทกรรมของผู้ปกครอง คำเรียกคนเมืองถูกสถาปนาขึ้นเพื่อใช้เรียกชาวไทยวนที่หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่มาก่อนเป็นเจ้าของแผ่นดิน มีเมืองและอารยธรรมของตนเอง เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างชาวไทยวน ชาวพม่า และชาวไทสยาม

ในยุคแรกเริ่มได้มีการก่อตั้งชุมชนไทยวนบริเวณเมืองเชียงแสน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 มีพัฒนาการการผลิตเครื่องใช้และกสิกรรม มีการรวมตัวเป็นระบบตระกูลโคตรวงศ์ มีการนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิง เกิดการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ภายใต้ตระกูล จนกระทั่งสามารถก่อร่างสร้างเมืองขึ้นในแถบแม่น้ำกก ดังเช่น ตระกูลโคตรวงศ์ปูเจ้าลาวจก สามารถสร้างเมืองเชียงแสน ต่อมารุ่นลูกได้ย้ายมาสร้าง “เมืองโยนก” ซึ่งเป็นที่มาของชนชาวไทยวน/โยน เมื่อเมืองโยนกล่มสลายจากภัยพิบัติ ผู้คนเคลื่อนย้ายลงทางใต้สู่แอ่งที่ราบเชียงใหม่ - ลำพูน สร้างเมืองใหม่ คือ อาณาจักรล้านนา ซึ่งแต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะ จากจุดเด่นด้านภูมิทัศน์ของล้านนาเที่เป็นแอ่งที่ราบมีแม่น้ำไหลผ่าน เดินทางสะดวก จึงเป็นเส้นทางการค้าที่รวบรวมพ่อค้าหลากหลายถิ่นที่เข้ามาทำการค้าในแถบนี้ ก่อนที่จำตกอยู่ในภาวะสงครามและตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมื่อสามารถขับไล่พม่าออกจากล้านนาได้ ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม จากสภาวะสงครามทำให้จำนวนชาวไทยวนลดจำนวนน้อยลง จนมีการทำสงครามกับเมืองใกล้เคียงเพื่อกวาดต้อนผู้คนเข้ามาร่วมสร้างเมืองในดินแดนล้านนาในยุค “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” ส่งผลให้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาทั้งชาวไทลื้อ ชาวยอง ชาวไทขึน และชาวไทใหญ่ ขณะเดียวกันก็กวาดต้อนชาวไทยวนจากเชียงแสนมายังล้านนา และกระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา รวมถึงแถบภาคกลาง เช่น อำเภอสีคิ้ว จังหวัดสระบุรี และตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี ส่งผลให้ชาวไทยวนมีการตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายไม่จำกัดเฉพาะในหัวเมืองล้านนา

ในยุคสมัยใหม่ ชาวไทยวนได้พยายามสถาปนาอัตลักษณ์ความเป็นไทยวน-คนเมือง เพื่อสื่อให้เห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรมที่สืบต่อมาในแต่ละยุคสมัย โดยมีการสื่อสารผ่านพื้นที่วัฒนธรรม โดยเฉพาะเสื้อผ้า การแต่งกาย อาหาร บทเพลง การร่ายรำ ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล

อัสรี อาหามะ นักวิจัยอิสระ

จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรล้านนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวภูเขา ส่งผลให้การติดต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการติดต่อระหว่างพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เนื่องจากเมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มที่ติดต่อเป็นแนวเดียวกัน หรือแม้การติดต่อเดินทางขนถ่ายสินค้าไปยังเมืองใหญ่ใกล้เคียง เช่น สุโขทัย พม่า อยุธยา และสิบสองปันนา ผู้คนในล้านนายังสามารถเดินทางไปยังเมืองเหล่านี้ได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค

อาณาจักรล้านนา จึงเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้า และเป็นทางผ่านของบรรดาพ่อค้าและสินค้าต่าง ๆ ที่ลำเลียงไปมาระหว่างเมืองใหญ่ เช่น สุโขทัย อยุธยา มอญ เวียงจันทน์ เชียงแสน และสิบสองปันนาระหว่างอาณาจักรหรือเมืองใหญ่ ล้านนาจึงมีรายได้และผลประโยชน์จากการค้าทางบก ทำให้การสร้างเมืองล้านนา เติบโตและขยายอาณาเขตได้อย่างรวดเร็ว (ลมูล จันทร์หอม, 2547: 12) ล้านนาเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางรับซื้อสินค้าและเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนต่าง ๆ ในอาณาจักร โดยเฉพาะการดึงสินค้าประเภทของป่าจากชุมชนภูเขาเข้าสู่พื้นที่ราบและส่งต่อไปยังเมืองท่าหลายเมือง

ในอดีต ในช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและในช่วงก่อนที่จะได้รับอิสรภาพ ช่วงดังกล่าวไม่ปรากฏการใช้คำว่า “คนเมือง” แต่มักจะเป็นที่รู้จักในฐานะ “คนยวน” ภายหลังจากการเผชิญกับสงครามและการตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า 200 กว่าปี ทำให้ชาวไทยวนในล้านนาถูกเคลื่อนย้ายหรือเกณฑ์ไปรบระหว่างอยุธยาหรือถูกกวาดต้อนไปยังหงสาวดี ด้วยเหตุนี้ ชาวไทยวนในล้านนาจึงมีจำนวนลดลง เนื่องจากการถูกเกณฑ์ไปรบตามเมืองต่าง ๆ และส่วนใหญ่หลบหนีเข้าป่า

เมื่อพระยากาวิละ จากเมืองลำปาง พยายามตอบโต้ด้วยการทำสงครามกับพม่าในล้านนา อาณาจักรล้านนาได้ขอความช่วยเหลือจากกองทัพสยามในการต่อต้านพม่า จนสามารถขับไล่พม่าไปจนถึงเชียงแสน ถึงแม้ล้านนาจะสามารถขับไล่พม่าได้ แต่อำนาจสยามได้เข้าแทนที่และมีอิทธิพลเหนือล้านนา

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นการปกครองของเจ้ากาวิละ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1-3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งเมืองเชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน และพะเยา เมืองเหล่านี้มีชาวไทยวนหลงเหลือจำนวนน้อย เมืองดังกล่าวถูกกลายสภาพเป็นเมืองร้างเป็นเวลาประมาณ 30 ปี บางเมืองถูกทิ้งร้างถึง 60 ปี สภาวะขาดแคลนกำลังคน ในช่วง พ.ศ. 2325 - 2356 เจ้ากาวิละและกองทัพสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ออกทำสงครามขึ้นเหนือกวาดต้อน คนยอง คนลื้อ คนขึน และคนไทใหญ่จำนวนมากเข้าสู่ดินแดนล้านนา พร้อมกันนั้นได้ตีเมืองเชียงแสนของชาวไทยวนและทำการกวาดต้อนชาวไทยวนเชียงแสนประมาณ 22,000 คน โดยให้กระจายตัวตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง น่าน และกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้จัดตั้งชุมชนไทยวน บริเวณตำบลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี กระทั่งชาวไทยวนจากตำบลเสาไห้บางส่วนได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา (สุรพล ดำริห์กุล, 2539: 52-56)

ช่วงดังกล่าวจึงเรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” เนื่องจากชาวไทยวนในพื้นที่มีจำนวนน้อย การกวาดต้อนผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เข้าสู่ล้านนา ทำให้เกิดสภาวะความหลากหลายแตกต่างกันในวิถีชีวิต ดังงานศึกษาของVolker Grabowsky ที่ศึกษาการกวาดต้อนคนไทเข้ามาในล้านนา ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2386 สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงบ้านเมืองสงบ เนื่องจากพม่ามีการทำสงครามกับอังกฤษ เขาชี้ว่า ในเมืองเชียงใหม่มีประชากรชาวยวน ประมาณร้อยละ 60 รองลงมาเป็นชาวไท ชาวพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่กวาดต้อนเข้ามา ประมาณร้อยละ 30-40 สอดคล้องกับงานศึกษาของ ธเนศวร์ เจริญเมือง (2554) ที่ได้ศึกษา ความหลากหลายของผู้คนในเมืองเชียงใหม่ผ่านภาพเก่าที่มีการบันทึกในช่วง พ.ศ. 2420 ที่ให้ภาพของผู้คนในพื้นที่ตลาดท่าแพว่ามีชาวพม่าตองซู่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในเขตกำแพงเมืองจะเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองและบุตรหลาน ส่วนชาวไทที่กวาดต้อนเข้ามาในเชียงใหม่จะถูกจัดสรรพื้นที่นอกกำแพงเมือง เช่น ชาวไทขึนจากเชียงตุง ตั้งชุมชนทางทิศใต้ใกล้ประตูเชียงใหม่ ชาวพม่าจะอาศัยอยู่บริเวณคลองแม่ข่าที่เป็นจุดรับสินค้า ชาวจีนจะตั้งชุมชนค้าขายใกล้บริเวณแม่น้ำปิงด้านตะวันออกของวัดเกต ส่วนชาวยองและชาวไทลื้อ ได้ถูกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่างอำเภอเพื่อทำการเกษตรตามความถนัด (ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2554)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การปกครองของสยาม ทำให้เจ้าเมืองล้านนาได้กลับมามีบทบาทในด้านการปกครองอีกครั้ง ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง การกลับเข้ามาปกครองเมือง ส่งผลให้สามารถฟื้นฟู รื้อฟื้นวัฒนธรรม ประเพณีของไทยวนขึ้น เช่น ภาษาเขียน ภาษาพูด ความคิด รวมทั้งศิลปะที่ได้รับการสืบทอดอีกครั้ง จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการนิยามชื่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จากที่เรียกว่า “คนยวน” มาสู่ นิยามใหม่ว่า “คนเมือง” ซึ่งกรณีการนิยามชื่อใหม่นี้ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาในช่วงใด (ธเนศ เจริญเมือง , 2554: 12-14) การเปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ยวน” มาเป็น “คนเมือง” จึงเริ่มต้นมาจากเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการปกครองในหัวเมืองล้านนาที่ต้องเผชิญกับการคุกคามทางอำนาจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ วัฒนธรรมที่ถูกดูแคลน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีอากรใหม่จากข้าราชการสยามในช่วง พ.ศ. 2416 เป็นต้นมา ทำให้คนไทยวนหรือคนท้องถิ่นเกิดความไม่พอใจต่อพฤติกรรมและการปกครองของข้าราชการสยาม

ดังนั้น การใช้คำว่า คนเมือง ได้ปรากฏชัดขึ้นในเชียงใหม่และกระจายไปยังพื้นที่และเมืองอื่น ๆ ในล้านนา โดยเฉพาะชาวไทยวนในเมืองใกล้เคียงได้ตอบรับการนิยามใหม่นี้อย่างรวดเร็ว อัตลักษณ์ใหม่นี้จึงเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับการดูถูก และการลิดรอนประโยชน์ของชาวยวนจากคนสยาม ชื่อคนเมืองจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้คนในพื้นที่ล้านนา ภายใต้บริบทนี้ “คนเมือง” จึงมีความหมายทั้งคนไทยวนและครอบคลุมชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ชาวลัวะ กะเหรี่ยง และคนไทที่ถูกอพยพเข้ามา หรือคนที่พูดคำเมืองได้ (ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2554: 17-20)


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

อัสรี อาหามะ นักวิจัยอิสระ

ในช่วงแรก การก่อตั้งชุมชนไทยวนเกิดขึ้นในบริเวณแม่น้ำกก บริเวณเมืองเชียงแสน ราวพุทธศตวรรษที่ 10 ก่อนเจ้าสิงหนวัติกุมารจะสร้างเมืองโยนกนาคพันธุ์นคร ชุมชนไทยวนในบริเวณแม่น้ำกกมีพัฒนาการจากการผลิตที่ใช้เครื่องมือโลหะในการทำเกษตรกสิกรรม และพัฒนาเป็นสังคมกสิกรรมแบบโค่นและเผา (Swidden) เป็นการผลิตที่แตกต่างจากการล่าสัตว์หาของป่า การผลิตแบบนี้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นชุมชน มีการใช้ที่ดินและแรงงานร่วมกัน ชุมชนเช่นนี้มาจากการรวมตัวของเครือญาติและการแต่งงาน หรือเรียกว่า ตระกูลโคตรวงศ์ ซึ่งมีการนับถือผีบรรพบุรุษของตนเองเป็นศูนย์รวมของกลุ่ม เช่นเดียวกันมีการใช้แรงงานเพื่อขยายการผลิต ซึ่งมีผลต่อฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ

จากพลังทางเศรษฐกิจในตระกูลวงศ์ สามารถเปลี่ยนเป็นพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์และเกียรติยศ ชนชั้น โดยอาศัยเครื่องมือ คือ พิธีกรรมการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ เช่น การเชือดวัว ควายเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะมีการแจกจ่ายเนื้อให้สมาชิกและคนที่อยู่ใต้บังคับตนเอง ความสัมพันธ์เช่นนี้ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้นและสถานะทางสังคม เช่น คำว่า “ผู้ใหญ่” และ “ผู้น้อย” ผู้ใหญ่ยังสามารถขยายแรงงานและการผลิตได้มากขึ้นเมื่อมีอำนาจผ่านการแต่งงานระหว่างผู้มีฐานะสูง โดยมีค่าสินสอดเป็นหลักประกันในการเพิ่มพูนฐานะให้กับฝ่ายหญิง สินสอดจึงเป็นการแสดงการเสียผีของฝ่ายชายโดยหันเข้ามารับผีฝ่ายหญิง

ตามวัฒนธรรมไทยวนนั้น ฝ่ายชายต้องเข้าเป็นแรงงานให้กับบ้านฝ่ายหญิง ทำให้ตระกูลโคตรวงศ์ฝ่ายหญิงสามารถขยับฐานะที่สูงขึ้น จะเห็นว่า ความเข้มแข็งของครอบครัวฝ่ายหญิง มีรากฐานมาจากตระกูลและการแต่งงาน บางตระกูลโคตรวงศ์สามารถดึงแรงงานและแย่งชิงผู้คนได้จำนวนมาก ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ภายใต้ตระกูล จนในที่สุดสามารถก่อร่างสร้างเมืองขึ้นในแถบแม่น้ำกก ดังเช่น ตระกูลโคตรวงศ์ปูเจ้าลาวจก สามารถสร้างเมืองเชียงแสน ต่อมารุ่นลูกได้ย้ายมาสร้าง”เมืองโยนก” ซึ่งเป็นที่มาของชนชาวไทยวน/โยน (อานันท์ กาญจนพันธ์, 2560: 52-55)

ตามตำนานกล่าวว่า หลังจากเกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรง ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบเมืองโยนกน้ำท่วมเกือบตลอดปี สภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกและดำรงชีพ ส่งผลให้อาณาจักรโยนกล่มสลาย ชาวไทยวนได้เริ่มอพยพจากเชียงแสนลงใต้เข้าสู่แอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน และเข้ามาครอบครองพื้นที่ของกลุ่มวัฒนธรรมลัวะ แล้วได้สร้างอาณาจักรใหม่ คือ อาณาจักรล้านนา ในพื้นที่มีภูมิศาสตร์เป็นภูเขาแนวยาวสลับซับซ้อน มีแม่น้ำและที่ราบลุ่มได้ถูกแปลงจากภูมิปัญญาของชาวไทยวนให้เป็นที่นา ทุ่ง เพื่อปลูกข้าว มีการจัดระบบชลประทานเรียกว่า เหมืองฝาย เพื่อกระจายน้ำไปสู่ท้องนาในระดับต่าง ๆ อย่างสมดุล ชาวไทยวนจึงได้ครอบครองชัยภูมิที่ดีและอุดมสมบูรณ์ นิยมสร้างบ้านใกล้ชิดกันในพื้นที่ราบลุ่มที่นาหรือทุ่งระหว่างเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อาศัยอยู่รว่มกันเป็นชุมชนเครือญาติ ที่มีลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2529: 1-23)


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

อัสรี อาหามะ นักวิจัยอิสระ

การดำรงชีพ

ก่อนทศวรรษ 2500 ชาวไทยวนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เมื่อมีการพบปะกันจะมีคำทักทายว่า “ไปไหนมาเจ้า” และจะตอบกลับว่า “ไปแอ่วมา” ที่หมายถึง ไปเที่ยว หรือเมื่อมีการไปเยี่ยมบ้านไทยวน เจ้าบ้านจะทักว่า มาแอ่วกาเจ้า ถ้าช่วงเวลามื้ออาหารจะมีการทักทายว่า “กินข้าวแล้วกาเจ้า” จึงจะชวนกินข้าวด้วยกัน ถ้าแขกปฏิเสธจะถือเป็นการรังเกียจเจ้าบ้าน สำหรับคนหนุ่มสาวในยามเย็น จะนั่งล้อมวงและแอ่วสาว

สำหรับวัฒนธรรมการเลือกคู่ครองของหญิงชายชาวไทยวน จะให้สิทธิเสรีในการเลือกคู่ครอง แต่อยู่ในขอบเขตภายใต้ผู้ปกครอง โดยจะเปิดโอกาสให้มีการ “อู้สาว” ภายในบ้านฝ่ายหญิงเพื่อพ่อแม่ได้สังเกตและควบคุมอยู่ห่าง ๆ หากมี “การผิดผี” หรือการสัมผัสแตะเนื้อต้องตัวกัน จะต้องมีกระบวนการทำพิธีสู่การกินอยู่ตามประเพณี งานแต่งงานฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายจัดเลี้ยงและทำพิธีเลี้ยงผี และเรียกว่า

“การเอาผัวเอาเมีย หรือ กินแขก” เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะต้องเข้ามาอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ประมาณหนึ่งปีเพื่อช่วยงานในไร่นาและรับคำแนะนำในการทำมาหากินหรือแนวทางการครองชีพ ดังคำกล่าวในคำเมืองว่า “หนุ่มสาวเอากันใหม่น้ำพริกน้ำเกลือยังบ่เข้าฮูดัง ยังบ่รู้จักทุกข์เทื่อ” หมายถึง สาวแต่งงานใหม่ ยังไม่รู้รสของความทุกข์ลำบาก จึงต้องอบรมเสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อคู่บ่าวสาวจะต้องแยกไปสร้างครอบครัวสร้างเรือนใหม่ การแยกครัวใหม่นี้อาจจะมีการตั้งบ้านเรือนในละแวกใกล้เคียง พ่อแม่จะคอยแนะนำอาชีพที่ส่วนใหญ่จะคล้อยตามวิธีการดำรงชีพของพ่อแม่ คือ ทำไร่ทำนา พ่อแม่จึงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงจนกว่าลูกจะมีฐานะการครองชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อใช้ชีวิตแยกจากพ่อแม่ ผู้ชายและผู้หญิง จะมีการแบ่งหน้าที่ตามจารีตประเพณี โดยผู้ชาย จะมีหน้าที่ดูแลสี่มุมบ้าน เช่น การแผ้วกวาดบริเวณนอกบ้านและทำงานที่ติดกับนอกบ้าน ส่วนผู้หญิง จะทำหน้าที่ในการดูแลสี่มุมในเรือน/บ้าน จะเป็นการกวาดบ้าน ดูแลเรื่องอาหาร น้ำ เครื่องใช้และเสื้อผ้าให้สามีและลูก เมื่อถึงเวลามื้ออาหาร จะเรียกมาทานข้าวร่วมกันหลังจากเสร็จกับมื้ออาหาร ผู้ชายและผู้หญิงจะนั่งเคี้ยวเมี่ยงหรือสูบบุหรี่

สำหรับการดำรงชีพของชาวไทยวน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน เช่น การทำสวนลำไย มะม่วง และการเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน เช่น วัว ควาย และหมู เมื่อว่างจากงานในไร่ผู้คนจะออกไปหาของป่าล่าสัตว์ จับปลาตามทุ่งนา เก็บผักเก็บฟืนเพื่อใช้ในครัวเรือน รวมทั้งการจักสานตะกร้า กระบุง และการทอผ้าจากฝ้ายและใช้สีธรรมชาติ การประดิษฐ์หรือผลิตปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เพื่อใช้ในการยังชีพในระดับครัวเรือน แต่หากวัตถุดิบและปัจจัยเหล่านี้เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน จะนำไปเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว พื้นที่ตลาดจึงเป็นพื้นที่กลางของคนยวนที่มักมาพบปะกัน สังสรรค์ และร่วมค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เศรษฐกิจของชาวไทยวนในอดีตจึงเป็นเศรษฐกิจแบบกึ่งยังชีพ (ระวิวรรณ โอฬารัตน์มณี, 2558: 84)

ภายหลังทศวรรษ 2500 หลังเริ่มใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นต้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่น การเพิ่มจำนวนของจำนวนประชากร จึงมีการขยายตัวออกไปบุกเบิกพื้นใหม่ มีการตั้งบ้านในบริเวณเขตเมืองและชนบท ทำให้ปัจจุบันมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำอาชีพค้าขาย รับราชการ และเป็นพนักงานรับจ้าง โดยเฉพาะในด้านการเกษตรมีการเปลี่ยนสภาพที่นา มาปลูกลำไย มันสำปะหลัง ไร่ส้ม

นอกจากนี้การเข้ามาลงทุนทางอุตสาหกรรมในพื้นที่ ได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการถางป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ จำพวกถั่ว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ลิ้นจี่ และการปลูกผักหลากหลายชนิด เพื่อส่งขายไปยังแหล่งอุตสาหกรรมและตามความต้องการของตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย หรือแม้แต่อาชีพการเลี้ยงสัตว์ของชาวไทยวน ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นการเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์มากขึ้น มีการลงทุนจากนายทุนภายนอกเพื่อเป็นสินค้าแปรรูปเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ วัว หมู

ในช่วงสามสิบที่ผ่านมา นอกจากการเปลี่ยนสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรมแล้ว สินค้าประเภทหัตถกรรม จักสาน ทอผ้า แกะสลัก และการประดิษฐ์ของชาวบ้านในท้องถิ่น ได้รับการส่งเสริมให้การผลิตเชิงอุตสาหกรรมขนาดกลาง เพื่อส่งขายในตลาดเชียงใหม่ จากการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหรือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้สินค้าประเภทที่มีจากวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านั้น ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ การเติบโตจากการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เชียงใหม่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ธุรกิจในภาคบริการ จะพบเห็นได้จากการเกิดขึ้นของห้างร้านขนาดใหญ่ และร้านค้าต่าง ๆ ในย่านช้างคลาน นิมมานเหมินทร์ จึงเกิดร้านค้าที่หลากหลายเพื่อรับการบริการนักท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม ร้านบาร์เหล้าเบียร์ สถานบันเทิง ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านขายและซ่อมเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยี หรือบริการรถท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีร้านค้าพาณิชย์ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจบ้านจัดสรร ทำให้สังคมชาวไทยวนหรือสังคมเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ได้มีวิถีชีวิตการทำงานที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนที่มีอาชีพทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และทำกิจกรรมตามประเพณี

โครงสร้างทางสังคม

โครงสร้างครอบครัว และเครือญาติ

ชุมชนชาวไทยวนเป็นสังคมเครือญาติ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสร้างบ้านอยู่ในรั้วเดียวกัน มีการปลูกบ้านสามารถเชื่อมต่อกันไปมาได้ สามารถเรียกระบบครอบครัวเช่นนี้ว่า “แบบครอบครัวรวม” (Compound family) ในแต่ละบ้านประกอบด้วยพ่อ แม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลูกหลานอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน มีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม หากมีการแต่งงานเกิดขึ้นจะมีการปลูกบ้านเรือนใกล้เคียงกับบ้านเดิม ภายในบ้านผู้หญิงจะมีอำนาจในการตัดสินใจ ส่วนเรื่องนอกบ้าน พ่อจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่บางเรื่องจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแม่เสียก่อน อาจกล่าวได้ว่าในสังคมชาวไทยวน แม่จะมีอำนาจบังคับบัญชาสมาชิกในครอบครัว

ในบ้านไทยวนจะมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างชายหญิง คือ ผู้หญิงหรือแม่ โดยตามจารีตประเพณีแล้ว หน้าที่ของแม่จะต้องดูแลทุกเรื่องในบ้าน เป็นผู้รู้เห็นการเคลื่อนไหวทุกอย่างในบ้าน เป็นผู้ควบคุมการใช้จ่ายหรือการเงินในบ้าน และเป็นผู้สั่งสอนลูกๆ ในเรื่องมารยาทในสังคม โดยเฉพาะกับลูกสาวที่จะต้องรับหน้าที่แบ่งเบาภาระของแม่ในบ้าน ผู้หญิงจึงมีความตระหนักในความรับผิดชอบต่อครอบครัวสูง และหากเป็นลูกสาวคนโตยังจะต้องเป็นผู้สืบทอดผีบรรพบุรุษ ส่วนลูกคนเล็กที่เรียกว่า อีหล้า จะเป็นผู้รับมรดกบ้านเรือน ไร่นา รวมทั้งต้องดูแลคนในครอบครัว สำหรับผู้ชาย จะทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการเลี้ยงชีพ เช่น ทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวควายและแผ้วถางปลูกพืชผัก ลูกชายจะไม่มีหน้าที่ในบ้าน โดยจะอยู่นอกบ้าน เล่นและเรียนรู้กับญาติพี่น้อง แต่ต้องมีหน้าที่บวชเรียนในพุทธศาสนา

นอกจากนี้ยังเรียนรู้การแอ่วสาว การพูดเกี้ยวพาราสี และการดำรงชีพ ส่วนใหญ่เด็กผู้ชายจะนิยมออกจากบ้านหาประสบการณ์ภายนอก สังเกตว่าในบ้านชาวไทยวน พ่อแม่ให้ความสำคัญในการสั่งสอน เอาใจใส่ลูกชายมากกว่าลูกผู้หญิง ผู้ชายดูเหมือนจะเป็นที่คาดหวังเป็นหน้าเป็นตาของตระกูลในการสร้างสัมพันธ์กับเครือญาติและสังคม (วิถี พานิชพันธ์, 2548: 34-41) นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในบ้านของชาวไทยวนแล้ว หากมองในระดับความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในระบบเครือญาติ สามารถสรุปแบ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวออกเป็นดังนี้

ประการแรก ระบบสังคมชาวไทยวน จะให้ความสำคัญกับการลำดับความสัมพันธ์ในระบบ “เค้าผี” คือ การนับจากต้นตระกูลของบรรพบุรุษหรือผีบรรพบุรุษ เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่นับเค้าผีเดียวกันจะถือว่าเป็นญาติ ถือว่ามีความสำคัญมากกว่าตระกูลหรือนามสกุล สำหรับคนในเค้าผีเดียวกันจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น คอยให้การช่วยเหลือ และได้รับความเคารพนับถือกัน ในระบบเค้าผีเดียวกันจะไม่อนุญาตให้ลูกหลานแต่งงานระหว่างกัน เมื่อมีการขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นหรือขยายแตกออกเป็นชุมชนใหม่ของคนในเค้าผี ก็จะแยกออกเป็นสองวง และต้องให้ผู้นำสมาชิกในวงเค้าผีเดิมตัดสินใจเลือกผู้ที่จะเป็นผู้นำวงเค้าผีใหม่ที่แยกออกไป เพื่อเป็นตัวแทนในการติดต่อสัมพันธ์กับผีบรรพบุรุษ

ประการที่สอง ระบบเครือญาติ ชาวไทยวนจะถือญาติฝ่ายแม่เป็นสำคัญ ดังที่กฎจารีตของการแต่งงานต้องเข้าบ้านฝ่ายหญิงและลูกหลานต้องนับถือญาติฝ่ายหญิง ทำให้ระบบเครือญาติเน้นความสัมพันธ์ทางฝ่ายแม่เป็นหลัก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโดยหลักทางกฎหมายจะให้สิทธิทางฝ่ายชายในการตัดสินใจและให้บทบาทสำคัญกับหน้าที่ฝ่ายชาย ทำให้ระบบความสัมพันธ์ชายหญิงมีการเปลี่ยนแปลงที่เน้นความเสมอภาคกันในทางสังคมแล้วก็ตาม แต่ชาวไทยวนยังคงให้ความเคารพกับญาติฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย

ปัจจุบัน ระบบเครือญาติชาวไทยวนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ ข้ามศาสนา ทำให้ความสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไปปัจจุบันมีการเคลื่อนไปมาในที่ห่างไกลได้สะดวก ทำให้มีการแต่งงานย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองอื่น ๆ อย่างไรก็ตามมีบางครอบครัวยังคงสร้างบ้านอยู่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ แต่กระนั้นแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายสร้างครอบครัวที่ห่างไปจากบ้านเดิม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกยังคงมีอยู่อย่างใกล้ชิดผ่านกิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ ที่เป็นวันรวมตัวของครอบครัว วันสงกรานต์จึงถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงระบบเครือญาติของชาวไทยวนแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากความทันสมัยทำให้เกิดการแยกตัวสร้างครอบครัวเดียวมากขึ้นก็ตาม (เรณู เหมือนจันทร์เชย, 2548: 13-14)

ระบบความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทยวนมีความเชื่อพื้นฐานเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เช่น ความเชื่อพื้นบ้านที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อในศาสนาพุทธ ทั้งสามความเชื่อนี้ได้ถูกบูรณาการผสมผสานเป็นชุดความเชื่อในวัฒนธรรม ศาสนา และมีบทบาทต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของชาวไทยวนในล้านนา

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและจิตวิญญาณที่สำคัญของชาวไทยวนนั้น สามารถแยกความเชื่อออกเป็น 2 ส่วน คือ ความเชื่อเรื่องการนับถือผี และความเชื่อเรื่องการนับถือพุทธศาสนา (วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์, 2542)

1. ความเชื่อเรื่องการนับถือผี

วิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยวน จะผูกโยงกับความเชื่อเรื่องผีและผิดผี ความเชื่อดังกล่าวเป็นแบบแผนในการดำรงชีวิตและกรอบในการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยผีที่เป็นฐานสำคัญในชีวิตของชาวไทยวน คือ “ผีบรรพบุรุษ” ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานและมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ทุกบ้านมีผีประจำตระกูลที่เรียกว่า “ผีปู่ย่า” โดยพี่สาวคนโตของตระกูลนั้นจะต้องเป็นผู้สืบทอดและรับทำพิธีเซ่นไหว้เลี้ยงผี

ความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษ พบได้ในบ้านเรือนไทยวน คือ การสร้างหิ้งผี “หิ้งผีย่า” และ “หิ้งผีปู่”บนหิ้งมีกระถางธูปและแจกันดอกไม้ โดยหิ้งผีย่านี้จะตั้งอยู่ในห้องเฉพาะในบ้าน และห้ามคนนอกตระกูลเข้ามาในห้องหิ้งผี ถ้ามีคนนอกเข้ามาจะถือว่าเป็นการผิดผี และจะต้องทำพิธีขอขมา สำหรับหิ้งผีปู่ จะสร้างขึ้นเป็นศาลให้อยู่ภายนอกบ้าน คล้ายกับศาลเจ้าที่ ภายในมีเพียงกระถางธูป ถาดรอง พวงมาลัย และขวดน้ำ

การเซ่นไหว้บูชาผีประจำตระกูล เกิดขึ้นในช่วงโอกาสต่าง ๆ เช่น การจัดงานแต่งงาน เมื่อมีคนในตระกูลทำผิดผี หรือโอกาสการเลี้ยงผีประจำปี ในพิธีการเลี้ยงผีจะมีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ไก่ หรือหมู ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะหรือสถานภาพของแต่ละบ้าน นอกจากการนับถือต่อผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวไทยวนในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ยังมีการนับถือผีประจำหมู่บ้านร่วมกัน ที่เรียกว่า “ปู่เสี้ยวบ้าน” การบูชาเซ่นไหว้ต่อผีประจำหมู่บ้านนี้จะเกิดขึ้นในโอกาสการจัดงานประจำปีในหมู่บ้าน เช่น งานวัด หรืองานบวช (เรณู เหมือนจันทร์เชย, 2548: 14-16)

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องผีของชาวไทยวนในล้านนานั้นมีหลากหลาย ผีที่อยู่ในความเชื่อของชาวล้านนา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผีดี ที่ และ ผีร้าย

1. ผีดี เป็นกลุ่มผีที่ให้ความคุ้มครองผู้คน จึงต้องทำพิธีเซ่นไหว้ ความเชื่อเกี่ยวกับผีดีของชาวไทยวนล้านนามีหลายระดับสามารถแยกออกมาได้ดังนี้

1.1 ผีแถน เป็นผีที่มีความสำคัญในสังคมล้านนา เนื่องจากเป็นผีที่มีฐานะสูงสุดเป็นเทพเจ้าที่ไม่มีรูปร่างตัวตนโดยเชื่อว่าเป็นผู้สร้างโลก และกุมชะตามนุษย์ ชาวล้านนาเชื่อว่าเวลามนุษย์เดือดร้อนผีแถนจะลงมาช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้นจากความเดือดร้อน ในสังคมไทยวนจึงมักทำพิธีเซ่น ไหว้ผีแถน เพื่อพึ่งพิงในด้านการรักษาโรค

1.2 ผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษของครอบครัว เป็นบุคคลที่เคยกระทำความดีสร้างคุณประโยชน์ให้กับลูกหลาน จนได้รับความเคารพนับถือ ยกย่องให้เป็นผู้ที่คุ้มครองครอบครัว ลูกหลานในตระกูล ส่วนใหญ่จะเป็นผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง โดยทั่วไปผีปู่ย่าจะเรียกอีกชื่อว่า “ผีเรือน” ในความเชื่อ

ชาวไทยวนจะมีการกราบไหว้ประจำทุกปีหรือทุกสามปี สำหรับผีปู่ย่า ยังสามารถจำแนกออกสองประเภท คือ ผีมด ผีเม็ง

 ผีมด คือ บรรพบุรุษของสามัญชนหรือไพร่ของขางชาวไทยวนหรือล้านนาโดยทั่วไป

 ผีเม็ง คือ เป็นนักรบ นักปกครองที่สร้างคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง โดยเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายมาจากชาวมอญหรือชาวไตจากรัฐฉาน

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องผีมด ผีเม็ง ชาวไทยวนรับและสืบทอดจากวัฒนธรรมชาวมอญ สังเกตได้จากเครื่องพิธีหลายประเภทที่ทำตามแบบชาวมอญ เช่น เครื่องดนตรีที่เป็นฆ้อง กลองสองหน้า เครื่องทรงและการแต่งกาย รวมทั้งรูปแบบการฟ้อนรำ

1.3 ผีอารักษ์ ผีเจ้านาย ผีเสื้อบ้าน เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง มีคุณงามความดีสร้างประโยชน์ต่อบ้านเมือง อาจเป็นวีรบุรุษหรือผู้นำ เมื่อตายไปแล้วจะได้รับการบูชาในฐานะผู้ปกป้องชุมชน โดยจะมีพิธีเซ่นไหว้คล้ายๆ กับพิธีไหว้ผีปู่ย่า ทั้งนี้ ผีขุนน้ำ ผีดง ผีฝาย ก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้เช่นกัน

1.4 เสื้อเมือง เป็นผีอารักษ์ที่ช่วยปกป้องบ้านเมือง ในอดีตเคยเป็นเจ้านายหรือกษัตริย์ การทำพิธีจะต้องให้เจ้าเมืองเป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวง ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่ยังมีพิธีเลี้ยงผีเสื้อเมืองทุกปี เช่น พิธีบูชาเสาอินทขีล วัดเจดีย์หลวง หรือพิธีเลี้ยงดงหรือพิธีไหว้ปู่แสะย่าแสะ

2. ผีร้าย เป็นผีให้โทษ มักทำอันตรายแก่ผู้คน ผีร้ายจำแนกออกเป็นสองประเภท ดังนี้

2.1 ผีร้ายที่ตายผิดธรรมชาติเป็นผีที่ตายไม่ดี เช่น เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พิธีศพของผู้เสียชีวิตเหล่านี้จะกระทำอย่างเร่งด่วน โดยทั่วไปจะเชื่อว่าวิญญาณของคนเหล่านี้จะกลายเป็นผีร้ายกลับมาทำร้ายคนในชุมชน เช่น การกลับมาสิงร่าง หรือที่เรียกว่า ผีเข้า ทำให้ต้องมีพิธีไล่ผี หมอบ้านจะใช้คาถาอาคมหรือวิชาไสยศาสตร์ในการแก้ไข

2.2 ผีดีที่ลูกหลานปรนนิบัติดูแลไม่ดี ผีเหล่านี้เดิมเป็นผีดีและกลายเป็นผีร้าย อาจเกิดจากการที่ไม่มีการเซ่นไหว้เลี้ยงดู ทำให้หิวโหยจึงต้องออกหาอาหารกินเองเป็นผลให้ชุมชนรอบข้างเดือดร้อน จะเรียกผีเหล่านี้ว่า ผีกะ ผีปอบ ผีกระสือ ผีเหล่านี้จะเข้าสิงร่างคนที่อ่อนแอ ทำให้บุคคลเหล่านั้นมีพฤติกรรม พูดจาที่ผิดปกติจากเดิม เช่น ชอบกินของสด ของคาว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะมีการรักษาโดยพระสงฆ์เพื่อทำลายวิญญาณ หรือ

ไล่วิญญาณผีร้าย (วิถี พานิชพันธ์, 2548 16-22) ปัจจุบันถึงแม้ความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาครอบครองและกำหนดวิถีชีวิตของชาวไทยวนมากขึ้น แต่ความเชื่อในเรื่องผีและวิถีปฏิบัติตามจารีตของบรรพบุรุษ ยังคงมีให้เห็นผ่านประเพณีต่าง ๆ ที่มาจากความเชื่อเรื่องผี ปัจจุบันได้มีการผสมผสานระหว่างพิธีกรรมเกี่ยวกับผีกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เช่น การนิมนต์พระมาสวดมนต์ร่วมในงานพิธี

2. ความศรัทธาในศาสนาพุทธ

ชาวไทยวนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ90 ตามประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงการนับถือศาสนาพุทธมาอย่างยาวนาน ปรากฎผ่านตำนาน ตำนานสิงหนวัติและตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน เป็นตำนานล้านนาที่เก่าแก่ ที่กล่าวถึง จุดเริ่มต้นของการเข้ามาของศาสนาพุทธในล้านนาไทยตั้งแต่ พ.ศ.1 ซึ่งแตกต่างจากเรื่องเล่าที่ระบุว่า คนไทยรับพุทธศาสนามาจากจีน เมื่อ พ.ศ. 612

ในตำนานสิงหนวัติได้กล่าวถึงการสร้างเจดีย์ พระธาตุดอยตุง อันเป็นปฐมเจดีย์ในล้านนาและกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์อื่น ๆ เช่น การสร้างพระธาตุดอยตุง ในช่วง พ.ศ.1 ประวัติการสร้างพระธาตุดอยกู่แก้ว ถูกสร้างขึ้นมาใน พ.ศ. 2 สร้างเพื่อถวายให้กับพระเจ้าอชุตราช ยังมีประวัติการสร้างพระธาตุอื่น ๆ จำนวนมากที่แสดงถึงการรับนับถือศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธได้เจริญงอกงามอีกครั้ง ภายหลังจากการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระยามังรายได้เริ่มทำนุบำรุงปูชนียสถานหลายแห่ง เช่น พระธาตุหริภุญชัย เจดีย์กู่คำ วัดอุโมงค์ แลวัดอารามอื่นๆ เช่น วัดเชียงมั่น วัดพระเจ้าเม็งราย ต่อมาพระพุทธศาสนาได้ขยายตัวมากขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา ที่เปิดให้พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัย และนำภาษาอักษรตัวฝักขามมาใช้ในล้านนา เพื่อปฏิรูปพุทธศาสนาในล้านนา

ในสมัยพระเจ้ากือนา ราชสำนักได้สร้างวัดสวนดอก เกิดเป็นนิกายใหม่ คือ “นิกายสวนดอก” นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้พระเณรศึกษาแตกฉานในบาลี โดยการส่งไปเรียนศรีลังกา ทำให้เมืองเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าวมี 2 นิกาย คือ นิกายหริภุญไชย (พุทธศาสนาหินยาน) เรียกว่า พระเชื้อเก่า และนิกายสวนดอก(พุทธศาสนาเถรวาท) แต่เมื่อล้านนาตกอยู่ภายใต้ปกครองของพม่า ทำให้พุทธศาสนาในล้านนาเริ่มเสื่อมถอยลง จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละสามารถขับไล่พม่าและปกครองเมืองเชียงใหม่ จึงมีการกลับฟื้นฟูทำนุบำรุงศาสนาพุทธอีกครั้ง เช่น การซ่อมแซมวัดพระสิงห์ และปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุลำปางหลวง ศาสนาพุทธในล้านนาจึงเริ่มเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งจนกระทั่งปัจจุบัน (นพคุณ ตันติกุล, 2548: 95-100)

จะเห็นว่า ความเชื่อทางพระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับรัฐและผู้ปกครองในสมัยสร้างอาณาจักร ในบริบทของภาคเหนือนั้น การขยายตัวของพุทธศาสนาไปยังผู้คน มี “พระผู้นำ” หรือ “ต๋นบุญ” เป็นชุดความเชื่อเกี่ยวกับผู้นำศาสนาที่มีบทบาทในกิจกรรม ประเพณีทางศาสนาจากพุทธเถรวาทนิกายโยน (Yuan Buddhism) ความเชื่อดังกล่าวมีฐานคิดความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ที่มีหลักปฏิบัติ เช่น การออกธุดงค์เผยแพร่ศาสนา ประเพณีการเดินไกลเพื่อจาริกแสวงบุญ และการทำนุบำรุงวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลักการเหล่านี้ พบเห็นได้จากการปฏิบัติของพระสงฆ์ที่มีบารมีหรือพระที่ได้รับการเคารพนับถือจากชาวบ้าน ที่เรียกว่า “ครูบา” ภายใต้การนำและการดำเนินการตามหลักปฏิบัติเหล่านั้น ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสในการเข้าร่วมสร้างบุญและเกิดการรวมศรัทธาที่มีต่อ “ครูบา”

ความเชื่อในพุทธศาสนาสายเถรวาทนิกายโยนได้ขยายตัวไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ในภาคเหนือ แคว้นสิบสองปันนาของประเทศจีน และภาคเหนือของลาว การเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายโยนในพื้นที่เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดจุดร่วมกันทางความเชื่อ 4 ประการ คือ ประการแรก การใช้ อักษรธรรมหรือตัวเขียน ประการที่สอง การมีวรรณกรรมศาสนา คติชน ตำนานต่าง ๆ ในชุดเดียวกัน ประการที่สาม ความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษเดียวกัน และประการสุดท้าย การมีแนวคิดความเชื่อเรื่อง “ต๋นบุญ” ที่ถูกนิยามจากการสังเกตกิจกรรมทางศาสนาของพระสงฆ์และบารมีที่เกิดขึ้นจากการยอมรับนับถือจากชาวบ้านในฐานะผู้มีพลังพิเศษ ความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวกับบุคคลเช่นพระสงฆ์ จึงเป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญและมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมศาสนาในพื้นที่ล้านนาและบริเวณลุ่มน้ำโขงจากอดีตถึงปัจจุบัน

ครูบาหรือต๋นบุญ ในโลกทัศน์ของชาวล้านนา เป็นพระสงฆ์ที่ดำรงตนอยู่ในธรรมมะและสะสมบารมีและคุณงามความดีผ่านการช่วยเหลือผู้คน ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำผู้อื่นไปสู่ผลบุญ และปฏิเสธเรื่องราวทางโลก ดังที่มีตัวแบบต๋นบุญที่มีบทบาทสำคัญและได้ความเคารพนับถือจากชาวล้านนา เช่น ครูบาศรีวิชัย (วสันต์ ปัญญาแก้ว, 2555: 27-33)

ถึงแม้ศาสนาพุทธจะมีความเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของเชียงใหม่ที่ถูกทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้พื้นที่วัดและวัตถุมงคลถูกกลายสภาพให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว วัดบางแห่งถูกนายทุนเข้าแปลงที่ดินวัดให้เป็นโรงแรม หรือทำโรงแรมให้มีความเหมือนวัด พระเครื่องได้กลายเป็นสินค้าที่ขายสร้างกำไร สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ศาสนาพุทธกลายสินค้าเชิงพาณิชย์ (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 2555: 206-207 )

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

พิธีกรรมของชาวไทยวนล้านนา จำแนกตามเดือนปฏิทินล้านนา ซึ่งมีกิจกรรมมากมายตลอดทั้งปี บางกิจกรรมพิธีกรรมมีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนและบางกิจกรรมเป็นการกำหนดอย่างคร่าว ๆ ดังนี้ (วิถี พาณิชพันธ์, 2548: 8) เดือนและกิจกรรมในรอบเดือนของชาวไทยวน มีดังนี้

เดือนห้า (กุมภาพันธ์) งานศพพระสงฆ์ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ งานปอยหลวง งานตานตุง ประเพณีไหว้พระธาตุดอยตุง

เดือนหก (มีนาคม) งานปอยหลวง สมโภชวัดอาราม ปอยสังฆ์ ประเพณีผีมด ผีเม็ง ประเพณีไหว้พระธาตุหกเป็ง

เดือนเจ็ด (เมษายน) สงกรานต์ปีใหม่ การสรงน้ำ พระพุทธรูป ประเพณีดำหัว ก่อเจดีย์ทราย สืบชะตาวัย สะเดาะเคราะห์ บวชลูกแก้ว ขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงผีปู่ย่า

เดือนแปด (พฤษภาคม) สร้างบ้านเรือน งานบวชลูกแก้ว การแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานแช่งขันบอกไฟหมื่นบอกไฟแสน ประเพณีไหว้พระธาตุแปดเป็ง (ดอยสุเทพ พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุศรีจอมทอง)

เดือนเก้า (มิถุนายน) ประเพณีเลี้ยงผีเมือง ผีเจ้านาย เลี้ยงผีขุนน้ำ งานไหว้ครู การหว่านกล้า ซ่อมฝาย เลี้ยงผีฝาย

เดือนสิบและสิบเอ็ด (กรกฎาคม-สิงหาคม ประเพณีเข้าพรรษา การดำนาปลูกข้าว แฮกนา

เดือนสิบสอง (กันยายน) งานตานก๋วยสลาก ประเพณีแข่งเรือ

เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) ออกพรรษา ประเพณีตานก๋วยสลาก ตานธรรม ตั้งธรรมหลวง ลอยสะเปา เกี่ยวข้าวดอ

เดือนยี่ (พฤศจิกายน ลอยสะเปา ตั้งธรรมหลวง งานบูชาพระธาตุลำปางหลวง ประเพณียี่เป็ง

เดือนสาม (ธันวาคม) เกี่ยวข้าวปี ประเพณีสู่ขวัญควาย สู่ขวัญข้าว การเก็บข้าวใส่ยุ้ง

เดือนสี่ (มกราคม) กวนข้าวทิพย์ ตานข้าวใหม่ ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า

จะเห็นว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวนล้านนามีความเชื่อมโยงกันระหว่างวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ซึ่งมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน (สงวน โชติสุขรัตน์, 2512)

การกำหนดประเพณีปฏิบัติในชีวิต โดยมีจารีต (ฮีตเมือง) ที่เกี่ยวกับศีลธรรมในครอบครัวและชุมชน มีประเพณี (ปาเวณีเมือง) ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานและจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเป็นเทศกาลหรือประเพณีประจำเดือน เช่น ประเพณีปีใหม่สงกรานต์ ประเพณีอินทขีล ประเพณีสืบชะตาเมือง ประเพณีลอยโขมดหรือลอยกระทง ประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา และยังมีประเพณีที่ทำกันเป็นครั้งคราว เช่น ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ หรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในสังคมไทยวน รายละเอียดแต่ละประเพณี มีดังนี้

ประเพณีปีใหม่สงกรานต์

สงกรานต์ถือว่าเป็นวันตรุษขึ้นปีใหม่ ระหว่างวันที่ 13 14 15 เมษายนของทุกปี เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ ชาวไทยวนรวมทั้งชาวไทยทั่วไปจะเฉลิมฉลองปีใหม่ มีการรดน้ำดำหัวกันอย่างสนุกสนาน เป็นประเพณีที่นิยมมากที่สุดของคนไทยตลอดมา โดยช่วงสงกรานต์ทุกคนจะรวมตัวกันในครอบครัว ทำความดีต่อชุมชน บ้านเมือง ในช่วงสามวันของเทศกาลสงกรานต์ จะมีกิจกรรมของแต่ละวันแตกต่างกัน ชาวไทยวนจะเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่า วันสงขานล่อง ที่หมายถึงการก้าวล่วงของพระอาทิตย์จากราศีมีนสู่ราศีเมษ กิจกรรมในวันนี้จะมีพิธีส่งสังขาร จัดขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง

ปัจจุบัน การจัดประเพณีปีใหม่สงกรานต์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน จะมีการนัดเล่นน้ำ ที่เรียกว่า วันลองไฟ ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเน่า เป็นวันขึ้นของพระอาทิตย์จากราศีมีนและอยู่กึ่งกลางระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในวันนี้เชื่อว่าเป็นวันที่ไม่ค่อยดี ฉะนั้น จะห้ามการกระทำที่ไม่ดีต่าง ๆ ที่ไม่เป็นมงคล ทำให้วันนี้ชาวบ้านจะทำดี พูดจาดี ไม่ด่าทอกัน และในวันเน่านี้ จะเรียกว่า “วันดา” ชาวบ้านจะนิยมทำอาหารของคาวของหวานเพื่อไปทำบุญที่วัด และเป็นวันที่ดีสำหรับการเริ่มสร้างบ้านใหม่ เช่นเดียวกันวันนี้จะเป็นที่คนหนุ่มสาวจะขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทราย

สำหรับวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน พระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันเริ่มต้นของปีนักษัตรใหม่ โดยตอนเช้าชาวบ้านจะไปที่วัดเพื่อถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ และถวายทานอุทิศแต่บรรพชน

เมื่อทำบุญที่วัดเสร็จ จะเตรียมอาหารไปให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ถือว่าเป็นวันรวมญาติ ในช่วงเที่ยงจะมีการนำน้ำส้มป่อยไปเทรวมกลางวิหาร ที่เรียกว่า พิธีทานตุง และพิธีสรงน้ำ อีกทั้งจะมีการปล่อยนกปล่อยปลา ในช่วงสุดท้ายของวันจะมีการทำพิธีดำหัวพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ (กรวรรณ ชีวสันต์ และธิตินัดดา จินาจันทร์, 2546: 85-90)

ประเพณีปอย

สำหรับกิจกรรมในชุมชนชาวไทยวนที่เห็นได้ชัด คือ เทศกาลปอย (งานฉลอง) งานปอยสามารถแบ่งเป็นสามรูปแบบ คือ ปอยหลวง ปอยน้อย ปอยเข้าสังฆ์

1. ปอยหลวง หรืองานมหกรรมฉลองสมโภชสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงเรียน กำแพงวัด ศาลา โบสถ์วิหาร การจัดทำกิจกรรมปอยนี้จะมีการเตรียมงานด้านการพิมพ์ใบฎีกาบอกบุญเพื่อประกาศและส่งไปตามวัดและศรัทธาชนทั่วไปให้มาร่วมทำบุญ โดยปกติงานปอยหลวงจะมีการจัดทำกัน 3-5 วัน แต่ละวันจะมีงานทำบุญทางศาสนาและจะมีการจัดมหรสพเฉลิมฉลอง

2. ปอยน้อย เป็นงานบวชสามเณร หรือเรียกอีกชื่อว่า “บวชลูกแก้ว” เป็นการบวชเด็กผู้ชายอายุไม่เกิน 20 ปี ชาวเหนือนิยมบวชลูกแก้ว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้หลักธรรม จริยธรรมทางศาสนาพุทธ และด้านการอ่านภาษาและอักษรพื้นเมืองเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างให้เด็กได้เข้าใจและดำรงตนในหลักพุทธศาสนา

ก่อนการทำพิธีบวชลูกแก้ว จะมีการพิมพ์ใบ “แผ่นาบุญ” เพื่อบอกกล่าวเชื้อเชิญมาร่วมงานบุญ ในงานจะมี

พิธีซอ เพื่อดึงดูดและสร้างบรรยากาศในงานบุญ

3. ปอยเข้าสังฆ์ เป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นกรณีผู้มีฐานะบารมีในหมู่บ้านเสียชีวิต หรือกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการคลอดบุตร ที่เรียกว่า “การตายพราย” หรือตายกลม

การตายพรายนี้คนหมู่บ้านจะถือว่าเป็นการตายที่มีบาปกรรมและต้องเสวยทุกขเวทนา ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านร่วมมือกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อช่วยเหลือดวงวิญญาณของผู้ตายให้รอดพ้นจากบาปกรรมเหล่านั้น ในพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศล ชาวบ้านจะทำเรือบรรจุสิ่งของไทยทานให้ผู้ตาย จะใช้สิ่งของ เช่น เสื้อผ้า หม้อข้าวหม้อแกง และของที่ผู้ตายชอบใส่ลงไปในเรือและมีการสวดภาวนาอุทิศให้ผู้ตายรอดพ้นในภพใหม่ นอกจากนี้ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่ทำกันโดยทั่วไป จะเรียกว่า “ทานขันข้าว” (สงวน โชติสุขรัตน์, 2561: 171-177)

ประเพณีสืบชะตา

นอกจากนี้ พิธีกรรมที่ชาวไทยวนนิยมจัดทำพิธีตามวาระ สถานภาพ เช่น การสืบชะตา การสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาอายุเสีย มักจะทำกันในช่วงการขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด และการเจ็บป่วย หลักฐานความเชื่อนี้ ปรากฎในคัมภีร์สืบชะตาที่เป็นตำนานมาแต่อดีต พิธีกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เป็นมงคล หรือการต่ออายุให้ยืดยาว มีชีวิตอย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและทำให้เจริญรุ่งเรื่อง

พิธีสืบชะตานี้ ได้แบ่งประเพณีสืบชะตาออกเป็น 3 ประเภท (มณี พะยอมยงค์, 2529: 89-91) คือ 1.ประเพณีสืบชะตาคน 2. ประเพณีสืบชะตาบ้าน และ 3.ประเพณีสืบชะตาเมือง

ชาวไทยวนมักนิยมจัดพิธีสืบชะตาในวาระการขึ้นบ้านใหม่ ที่ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่การสร้างชีวิตในพื้นที่ใหม่ คนในครอบครัวจะรวมตัวเพื่อจัดพิธีกันบนบ้านหรือห้องโถง ในพิธีกรรมจะมีเครื่องเซ่นไหว้บูชา 20 กว่าชนิด แต่ละชนิดจะมีความหมายที่แสดงถึงการให้เจ้าชะตามีอายุยืนยาว เช่น กระบอกน้ำ กระบอกทราย บันไดชะตา ไม้ค้ำ ขัวไต่ (สะพานข้ามน้ำ กล้ามะพร้าว เสื่อ หมอน หม้อใหญ่ และอื่นๆ)

ในพิธีกรรม เจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระ 9 รูปขึ้นไปตามประเพณี พระสงฆ์จะทำพิธีสวดหลังจากเจ้าภาพจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย เจ้าภาพและครอบครัวต้องมานั่งในพิธีด้านเครื่องเซ่นไหว้ และใช้ด้ายสายสิญจน์เวียนรอบศีรษะของผู้เข้าพิธี โดยนั่งประนมมือเพื่อรอฟังการสวดมนต์ หลังจากนั้นพระผู้นำพิธี

นำไหว้พระอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีลอาราธนาพระปริตร แล้วจึงสวดบทชุมนุมเทวดา หลังจากจบการสวดมนต์ ผู้สืบชะตาจุดเทียน น้ำมนต์ จุดฝ้ายค่าคิง (ยาวเท่าตัวผู้สืบชะตา) และเทียนสืบชะตา หลังจากสวดจบมีเทศน์ 1 กัณฑ์ เมื่อพิธีแล้วเสร็จ จะมีการผูกข้อมือให้เจ้าของบ้านชายหญิงพร้อมประพรมน้ำพุทธมนต์ หลังจากนั้นเจ้าภาพถวายภัตตาหารและไทยทานเป็นเสร็จพิธี

ความสำคัญของการผูกข้อมือ จะเป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวผู้สืบชะตา

โดยจะต้องใช้ขันพายบายศรีเพื่อใช้ในพิธีเรียกขวัญ หรือเรียกว่า “ฮ้องเฮียก” โดยพระผู้สวด (อาจารย์ปู่) จะทำการปัดเป่าเคราะห์ ไล่เสนียดจัญไรออกจากตัวเจ้าของเรือนแล้วจึงทำพิธีผูกข้อมือทั้งสองให้กับเจ้าภาพ เสร็จแล้วญาติผู้ใหญ่จะร่วมผูกข้อมือเพื่อเป็นศิริมงคลต่อไป (ลมูล จันทร์หอม, 2547: 90-92)

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

เมื่อผู้หญิงชาวไทยวนคลอดลูก สมัยก่อนจะมีหมอตำแยมาทำคลอดและดูแลผู้คลอด โดยลักษณะภูมิปัญญาหลังการคลอด จะมีประเพณีคล้ายกับคนไทยทั่วไป เช่น การอยู่ไฟ การประกอบพิธีกรรมรับขวัญเด็ก การตัดผมไฟ ในอดีตหมอตำแยจึงมีบทบาทสำคัญในระบบความสัมพันธ์ของสังคมชาวไทยวน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หมอตำแยหรือความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้ ได้เลือนหายไปจากสังคมชาวไทยวน โดยเฉพาะหลังการเข้ามาของความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ และการพัฒนาบริการสาธารณสุขจากภาครัฐ ทำให้ชาวไทยวนเข้ามาใช้บริการการรักษาและดูแลผู้ป่วยหรือการคลอดจากโรงพยาบาล ทำให้ความรู้ของหมอตำแยเริ่มเลือนหายไปจากชุมชนพร้อมกับการเสียชีวิตของหมอพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม ความรู้ดังกล่าวอาจมีการจดบันทึกเป็นตำราที่เก็บไว้เป็นตำราภูมิปัญญาไทย

การแต่งงาน

ในอดีต ก่อนจะมีการแต่งงานฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องมีพิธีบอกกล่าวผีประจำตระกูลให้รับรู้ ทั้งสองฝ่ายต้องไหว้ขอพรที่บ้านหลักของผีอยู่ คือ ที่บ้านของหัวหน้าตระกูลผี ที่ได้รับสืบทอดกันมา หรือ กรณีฝ่ายหญิงมีแม่เป็นหัวหน้าตระกูลสืบทอดผี ก็จะทำที่บ้านได้ทันทีการแต่งงานตามวัฒนธรรมของชาวไทยวนแล้ว ผู้ชายจะแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง และฝ่ายชายจะต้องหันมารับนับถือผีในตระกูลฝ่ายหญิง แต่ตามกฎหมายแล้วผู้หญิงจะต้องเปลี่ยนนามสกุลตามฝ่ายชาย และลูกต้องนับถือผีฝ่ายแม่

ความตาย และการทำศพ

ในอดีต เมื่อมีผู้เสียชีวิต ชาวบ้านจะบอกต่อกัน เพื่อให้คนในหมู่บ้านรับทราบ และเรียกญาติมิตรมาร่วมพบปะให้กำลังใจและร่วมช่วยงานอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะการจัดงานศพ เป็นหน้าที่ของสังคมในการดำเนินทำพิธี ชาวไทยวนเกี่ยวกับการจัดการศพที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็นสองกรณี ดังนี้

กรณีแรก การเสียชีวิตผิดธรรมชาติ เช่น อุบัติเหตุ ญาติจะไม่นำศพเข้าบ้าน แต่จะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดทันที

กรณีที่สอง การเสียชีวิตตามธรรมชาติ เช่น โรคชราหรือป่วยที่บ้าน โรงพยาบาล จะนำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้าน จะตั้งศพสวดอภิธรรมประมาณ 3-5 วัน นอกจากเรื่องการเผาศพ ชาวไทยวนมีสำนวนโบราณว่า “วันศุกร์ไม่ให้เผา วันเสาร์ไม่ให้จี่ (จี่ หมายถึง เผา) ดังนั้น จึงไม่นิยมเผาศพในวันอังคาร วันพุธ วันศุกร์ วันเสาร์ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา วันออกพรรษา วันพระที่ตรงกับวันดับหรือวันสิ้นเดือน

การเผาศพ เริ่มด้วยการเคลื่อนศพออกจากบ้าน โดยจะไม่ลงทางบันไดของบ้าน แต่จะทำบันไดใหม่ที่จะใช้ในการเคลื่อนศพลงมาจากบ้านไปถึงวัดในตอนเช้า ในช่วงบ่ายจะทำพิธีเผาศพ ผู้เข้าร่วมจะถือไม้ฝืนคนละท่อนเพื่อใช้ในการเผา และจะจกน้ำในกระป๋องที่เตรียมไว้เพื่อล้างมือ ผู้ร่วมงานจะอยู่คอยจนสัปเหร่อเผาฟืน จากนั้นจึงแยกย้ายกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจัดงานศพมีความสะดวกเรียบง่ายมากขึ้น เน้นความสะดวกสบาย มีการจ้างคนมาช่วยทำศพ แต่การกำหนดงานศพยังคงปฏิบัติตามความเชื่อ ในบางกรณีจะมีการเลือกวันตามที่เจ้าภาพสะดวก มีการแจกของชำร่วยไว้ทุกข์ และละทิ้งการปฏิบัติตามประเพณีบางอย่าง เช่น การไม่หันหัวบันไดในการเคลื่อนศพ หรือไม่ทำบันไดพิเศษที่ใช้ในการนำศพลงจากบ้านดังเช่นในอดีต ปัจจุบัน บ้านชาวไทยวนมีสภาพเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ ไม่ได้มีบันไดเสมือนบ้านในอดีตทำให้ประเพณีดั้งเดิมในการจัดการศพถูกยกเลิกไปเพื่อให้เกิดความง่ายและสะดวกมากขึ้น (เรณู เหมือนจันทร์เชย, 2548: 17-18)

การเปลี่ยนสถานภาพ

ประเพณีการบวช คนไทยวนนิยมบวชลูกชายเป็นสามเณรเมื่ออายุ 10 ปี เมืองได้บวชแล้วจะให้สามเณรศึกษาต่อจนอายุ 20 ปี จึงจะอุปสมบท หรือที่เรียกว่า “เป๊กข์เป็นตุ๊” การบรรพชาอุปสมบท นอกจากเป็นการเล่าเรียนพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการตอบแทนบุญคุณของบุพการี ลูกผู้ชายทุกคนจึงต้องบวชสักครั้งในชีวิต ก่อนที่เด็กจะบวชต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้กับพระพี่เลี้ยงก่อน ถึงจะได้รับอนุญาตเข้าบวชเป็นพระได้ งานบวชของชาวไทยวน มักนิยมจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเข้าพรรษา ในอดีตจะบวชร่วมเวลา 2-3 พรรษา แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะบวช 3 - 7 วัน

ในอดีต การจัดงานบวช จะทำพิธีถึง 3 วัน คือ วันที่หนึ่งเรียกว่า วันดาน้อย คือ วันแรก เป็นการเตรียมการและเป็นวันรวมญาติ จะมีการทำขนม นำข้าวของที่ต้องใช้ในงานบวช วันที่สอง คือ วันดาใหญ่ เป็นวันโกนหัว ที่เรียกว่า พิธียื่นโยง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติ ในงานจะมีพ่อแม่ ญาติใกล้ชิดและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ร่วมโกนหัวและอวยพรให้กับผู้บวช ผู้บวชนี้จะเรียกว่า “นาค” จากนั้นนาคจะกลับบ้านบอกลา

ปู่เสี้ยวบ้าน เจ้าพ่อเจ้าแม่และทำพิธีล้างเท้าให้พ่อแม่เพื่อเป็นการขมาลาโทษในสิ่งที่เคยทำไม่ดีหรือล่วงเกิน จากนั้นจึงจะเป็นพิธีสู่ขวัญนาค เรียกขวัญและให้พรนาค วันที่สาม คือ วันบวช งานเริ่มด้วยการแห่นาคเข้าวัดเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทตั้งแต่เช้า ในขบวนจะประกอบด้วยนาค อาจขึ้นเสลี่ยงหรือเดิน พร้อมด้วยเครื่องอัฐบริขาร พ่อของนาคจะอุ้มบาตร ส่วนแม่อุ้มผ้าไตร เมื่อถึงอุโบสถจะเดินเวียนรอบอุโบสถ 3 รอบ จากนั้นนาคจะเข้าอุโบสถและจะจูงพ่อแม่เข้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะเชื่อว่า จะทำให้พ่อแม่เอากุศลจากการบวชในครั้งนี้ด้วย

ปัจจุบัน การบวชนาคได้ลดขั้นตอนจากสามวันลดเหลือสองวัน เรียกว่า วันสุกดิบและวันบวช ในวันสุกดิบจะมีการลาปู่เสี้ยวบ้าน เจ้าพ่อเจ้าแม่ ตอนบ่ายจะล้างเท้าให้พ่อแม่และสู่ขวัญนาค และไม่ต้องเตรียมอาหาร ขนมหวาน แต่จะมีการเลี้ยงอาหารโต๊ะจีน มีมหรสพ และกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการว่าจ้างที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ประเพณีสักการะเสาอินทขีล

ประเพณีสักการะเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมือง เป็นความเชื่อที่มาจากชาวลัวะ ที่เชื่อว่าเป็นเสาหินที่พระอินทร์ส่งลงมาช่วยเหลือชาวเมือง เมื่อพญามังรายครองเมืองเชียงใหม่ได้ย้ายมาไว้ที่ใจกลางเวียงและได้สร้างเป็นวัดอินทขีลหรือวัดสะดือเมือง ซึ่งเป็นเสาหลักคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชามาตั้งแต่อดีต ในอดีตจะมีทำพิธีบูชาเป็นประจำปีในช่วงเดือนแปดข้างแรม ชาวบ้านจะเริ่มพิธีตั้งแต่เอาดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานไปทำการสักการะบูชาเสาอินทขีล พ่อหมอพฤฒาจารย์จะมาทำพิธีขึ้นครู ไหว้ครู มีการซอพื้นบ้านพร้อมกับช่างฟ้อนดาบ และหอก เพื่อสังเวยแก่เทพยดาอารักษ์ผีบ้านผีเมือง

ประเพณีสักการะเสาอินทขีลได้กลายเป็นประเพณีที่ถูกจัดขึ้นอย่างใหญ่โตเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ในสมัยเจ้านครเชียงใหม่ แต่ทว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พิธีดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป จนกระทั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รื้อฟื้นและจัดประเพณีนี้ขึ้นมา และทำหน้าที่ในการจัดพิธีกรรมดังกล่าว ในวันแรกจะมีการแห่พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นการบอกกล่าวแก่เทพยดา ผีบ้านผีเมืองให้ช่วยปกป้องคุ้มครองเมืองเชียงใหม่ส่วนพิธีกรรมการฟ้อนดาบ ฟ้อนหอกและการเข้าทรงได้ถูกยกเลิกไปเพราะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

สำหรับพิธีในช่วงประเพณีสักการะบูชาเสาอินทขีลในปัจจุบัน เทศบาลนครเชียงใหม่กับวัดเจดีย์หลวงเป็นผู้ดำเนินงานประเพณีเข้าอินทขีล ซึ่งจะมีการผสมผสานคติความเชื่อระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม ในงานดังกล่าวประชาชนจะนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยนั้น จะถูกนำไปประกอบในพิธีต่าง ๆ เช่น ใช้บูชากราบไหว้เสาอินทขีล โดยวิหารอินทขีลจะเปิดให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้บูชา รวมทั้งกราบไหว้ต้นยางหลวง บูชากุมภัณฑ์สองตน บูชาฤษี และบูชาช้างเจ็ดตนในวัดเจดีย์หลวง (กรวรรณ ชีวสันต์ และธิตินัดดา จินาจันทร์, 2546: 92-94)

ประเพณีเลี้ยงผีปู่ยา

ผีปู่ย่า ตายาย เป็นผีประจำตระกูลหรือผีบรรพบุรุษ เกือบทุกบ้านของชาวไทยวนมักจะมีหิ้งผีที่ตั้งอยู่ในห้องนอนด้านทิศตะวันออก บนหิ้งจะมีเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น โดยเชื่อว่าผีปู่ย่าจะคอยดูแลช่วยเหลือ คุ้มครองสมาชิกในครอบครัว ถ้าสมาชิกในครอบครัวไม่ทำผิดจารีต ผีปู่ย่าจะช่วยให้เจริญรุ่งเรือง ในอดีตจะมีการส่งอาหารให้ทุกมื้อ เดือนละครั้ง เป็นหน้าที่ของลูกผู้หญิงโดยเฉพาะลูกสาวคนโต (คนหัวปี)

การกำหนดเลี้ยงผีปู่ย่ามักจะมีเลี้ยงระหว่างเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน แต่จะยกเว้นวันพระและวันพุธที่เชื่อว่าผีประชุม ผีไม่กิน สำหรับในพิธีจะมีการเตรียมเครื่องไหว้ผี คือ ไก่ต้ม 2 ตัว ข้าวสุก น้ำ สุราและดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นลูกหลานในบ้านจะช่วยกันยกเครื่องเซ่นไหว้ไปตั้งที่มุมห้องนอน และจะทำการขอพร ให้ผีปู่ย่าช่วยคุ้มครอง ช่วยเหลือให้มีความสุขความเจริญ หากมีใครทำเสียผีที่ไม่ร้ายแรง เช่น เคยให้ผู้ชายแตะเนื้อต้องตัว จะต้องมีการทำพิธีขอขมา

ปัจจุบันบางครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธที่เคร่งครัดจะไม่มีการทำพิธีดังกล่าว ส่วนใหญ่ยังมีการนับถือผีและมีการผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้พิธีเลี้ยงผีมีการนำประเพณีพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดมนต์ และการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ (กรวรรณ ชีวสันต์และธิตินัดดา จินาจันทร์, 2546:81-83) ดังจะกล่าวถึงต่อไป

ประเพณีเลี้ยงผีปูแสะ ย่าแสะ

ผีปู่แสะย่าแสะ เป็นผีบรรพบุรุษของชาวลัวะเจ้าของพื้นที่เดิมที่มีการนับถือมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันมีผู้นับถือไปทำพิธีเซ่นไหว้บวงสรวง โดยเฉพาะชาวตำบลสุเทพ

บ้านดอยคำ อำเภอเมือง การทำพิธีจะจัดทำขึ้นในบริเวณดงไม้ใหญ่ในหมู่บ้านดอยคำ เรียกว่า “ดงปู่แสะ”

ส่วนพิธีย่าแสะ จะทำที่เชิงดอยสุเทพ (ตำนานว่าทำที่วัดฝายหิน) ความเชื่อดังกล่าวนี้มีระบุในพระธาตุดอยคำ ที่ว่า “เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงดอยคำได้พบยักษ์สามตน คือ ปู่แสะย่าแสะและลูก ทั้งสองตนยังชีพด้วยเนื้อสัตว์กับเนื้อมนุษย์ เมื่อทั้งสามตนเห็นพระพุทธเจ้าจึงต้องการจับกิน แต่พระพุทธเจ้าทรงแผ่เมตตาและเทศนาขอให้ยักษ์ทั้งสามรับศีลห้าตลอดไป แต่ปู่แสะย่าแสะไม่สามารถกระทำได้จึงอ้อนวอนขอกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน พระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นการกระทำบาปหนัก จึงขอเป็นเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้ายังไม่รับปากและให้ไปถามเจ้าผู้ครองนคร จนได้รับอนุญาตให้กระทำได้” (สงวนโชติสุขรัตน์, 2512)

ปัจจุบันมีการทำพิธีที่ดงปู่แสะ บ้านดอยคำ ที่หน้าหอผียักษ์เป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เป็งเดือนเก้า) จะทำพิธีโดยการฆ่าควายหนุ่ม โดยฆ่าควายสีดำเพื่อปู่แสะ และควายสีเผือกสำหรับย่าแสะ เมื่อฆ่าควายแล้วจะนำเนื้อมาปรุงทำลาบ แกงอ่อมแจกจ่าย สำหรับสังเวยผีปู่แสะย่าแสะ จะนำเนื้อสดห้อยไว้ที่หน้าหอผียักษ์ หลังจากนั้นเจ้าทรงจะทำพิธีกินเนื้อสด พร้อมกับเหล้า โดยนั่งบนหนังและหัวควายเพื่อแสดงถึงการทำพิธี จากนั้นมีการแคะขี้ฟันโดยไม้ท่อนใหญ่เป็นพิธี เมื่อเสร็จพิธีเจ้าทรงจะนอนแผ่กับพื้นครู่หนึ่งเพื่อแสดงว่ายักษ์ปู่แสะได้ออกจากร่างทรงไปแล้ว ในการเซ่นไหว้นั้นจะต้องมี “ผ้าพระบฏ” เป็นผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าปางโปรดสัตว์ เพื่อเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ และจะมีการทำนายจากการแกว่งของผ้าพระบฏ เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง หากมีการแกว่งจะถือว่าเป็นลางดี แต่ถ้าไม่แกว่งจะถือว่าไม่ดีจึงจะนิมนต์พระมาสวดมนต์และฉันเพลร่วมด้วย (กรวรรณ ชีวสันต์ และธิตินัดดา จินาจันทร์, 2546:83-85)

ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง

ผีมดผีเม็ง เป็นความเชื่อที่รับอิทธิพลมาจากชาวมอญ มักจะทำพิธีในช่วงเดือน 8 หรือ 9 (พฤษภาคม-มิถุนายน) พิธีกรรมดังกล่าวสืบทอดโดยผู้หญิง ผู้เลี้ยงจะต้องดูแลเอาใจใส่ให้ดี หากดูแลไม่ดี ผีดังกล่าวจะกลายเป็น “ผีกะ” เที่ยวออกอาละวาดเข้าสิงร่างผู้หญิง ฉะนั้น การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะต้องทำพิธีฟ้อนเพื่อเป็นการสังเวยให้กับบรรพบุรุษและวงศ์คณาญาติในตระกูล การทำพิธีนั้นเจ้าภาพจะต้องเชิญญาติ ให้รวมตัวกัน จะมีการจัดผาม (ปะรำพิธี) ขึ้นกลางลานบ้าน มีสำรับพิธี เช่น หมู ไก่ เหล้า ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย พานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ในพิธีประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมือง กลอง ระนาด ฉิ่ง ฆ้องวง ฯลฯ

ผู้ทำพิธีจะเป็นสตรีอาวุโสในตระกูล จะจดเทียนไว้หน้าหอผีและขอขมาให้ช่วยปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อผีเข้าในร่างผู้ทำพิธีแล้วจะมีการถามสารทุกข์สุขดิบ คนทรงจะเรียกลูกหลานว่า “เหลนน้อย” จะมีการมัดมือสู่ขวัญลูกหลาน หลังจากนั้นจะมีการฟ้อนรำ โดยมีดนตรีประกอบ ผู้หญิงจะฟ้อน ส่วนผู้ชายจะฟ้อนดาบ สำหรับการทำพิธีฟ้อนผีมดผีเม็งนี้มีผลให้เกิดความสามัคคี ทำให้เครือญาติได้มีโอกาสพบปะพูดคุย สร้างความคุ้นเคย แสดงความกตัญญูรู้คุณ เนื่องจากในพิธีจะมีการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (กรวรรณ ชีวสันต์ และธิตินัดดา จินาจันทร์, 2546: 86-87)

 


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

อัสรี อาหามะ นักวิจัยอิสระ

งานวิจัยทางชาติพันธุ์: ไทยวน

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

อัสรี อาหามะ นักวิจัยอิสระ

กรด เหล็กสมบูรณ์. (2560). คลังภูมิปัญญาดิจิทัล: กระบวนการรักษาโดยหมอพื้นบ้านล้านนา. เชียงใหม่ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

กรวรรณ ชีวสันต์และธิตินัดดา จินาจันทร์ (2546). ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา-ล้านช้าง การศึกษา เปรียบเทียบประเพณี 12 เดือน. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: นพบุรีการ พิมพ์.
กัญญา ลีลาลัย. (2544). ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย. กรุงเทพฯ: สถานบันวิถีทรรศน์.
เคอร์ติส, ลิลเลียน จอห์นสัน. มปป. ชาวลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
จันทบูรณ์ สุทธิ. (2539). คนเมือง: บางมุมมองทางวัฒนธรรม. สถาบันวิจัยชาวเขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: นันทกานต์ กราฟฟิคการพิมพ์.
จิตร ภูมิศักดิ์. (2533). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชาติ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรา.
เจ้าหมูอวนกับยัยตัวเล็ก. (2556). ของกิ๋นบ้านเฮา. มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่). เชียงใหม่: เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์.
เฉลียว ปิยะชน. (2552). เรือนกาแล.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
ชยันต์ วรรธนะภูติ. (2549). คนเมือง: ตัวตน การผลิตซ้ำสร้างใหม่และพื้นที่ทางสังคมของคนเมือง ใน อยู่ชาย ขอบมองลอดความรู้ อานันทร์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: มติชน.
ฐาปนีย์ เครือระยา. (2560). เรือนล้านนากับวิถีชีวิต เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม.
ณรงค์ ศิชิรัมย์. (2557). อาหารในวิถีล้านนา ในล้านนาคดีศึกษา โครงการล้านนาคดีศึกษาเชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สุเทพการพิมพ์.
เตือนใจ ไชยศิลป์. (2535). ล้านนาในการรับรู้ของชนชั้นปกครองสยาม พ.ศ.2325-2476. วิทยานิพนธ์ศิลป ศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2554). คนเมือง ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่ (พ.ศ. 2317-2553). กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นพคุณ ตันติกุล. (2548). ล้านนาในมิติกาลเวลา. เชียงใหม่: ส.เอเชียเพรส.
พงศธร จุนตระกูล. (2545). ดนตรีล้านนา.รายงาน. เชียงใหม่: คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2555). ล้านนายูโทเปียกับเส้นขอบฟ้าของสำนักท้องถิ่นนิยม: 60 ปี ธเนศวร์ เจริญเมือง ใน ตัวตนคนเมือง ๑๐๐ ปี ชาตกาล ไกรศรี นิมมานเหมินท์ วสันต์ ปัญญาแก้ว (บรรณาธิการ). เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มณี พะยอมยงค์. (2529). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทยเล่ม 1 .เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
มณี พะยอมยงค์. (2529). วัฒนธรรมล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: พิมพลักษณ์.
มาลี สิทธิเกรียงไกร. (2541). ระบบการแพทย์ในภาคเหนือ.เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ยุทธ์พงศ์ ตะเวที (2554). ศิลปะล้านนา สืบค้นวันที่ 5/6/2562 http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/)
ระวิวรรณ โอฬารัตน์มณี (2558). รูปแบบบ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาเคเนย์. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ เชียงใหม่
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
เรณู เหมือนจันทร์เชย (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: ไทยวน. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัย ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
ลมูล จันทร์หอม (2547). ประเพณีความเชื่อการปลูกเรือนในล้านนาและเรือนกาแล. เชียงใหม่: มิ่งขวัญ.
วนิดา สารพร (2531). วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้คำของคนสามระดับอายุในภาษาไทยยวน ตำบลดอนแร่ และตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี. รายงานวิจัย.
วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ .(2542). จิตวิญญาณล้านนา ใน สืบสานล้านนา สานต่อลมหายใจของแผ่นดิน บ.ก. ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เชียงใหม่ มิ่งเมืองเนาวรัตน์การพิมพ์.
วสันต์ ปัญญาแก้ว .(2555). ครูบา อวตารของต๋นบุญ. ใน ตัวตนคนเมือง ๑๐๐ ปี ชาตกาล ไกรศรี นิมมานเห มินท์. วสันต์ ปัญญาแก้ว (บรรณาธิการ). เชียงใหม่:ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วิถี พานิชพันธ์. (2548). วิถีล้านนา. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม.
สงวน โชติสุขรัตน์. (2561). ไทยยวน คนเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 2 นนทบุรี: ศรีปัญญา.
สรัสวดี อ๋องสกุล. (2539). วัฒนธรรมและการเมืองล้านนา. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อแรมมี่
สรัสวดี อ๋องสกุล. (2544). ประวัติศาสตร์ล้านา.กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
สุทธินี บิณฑวิหค. (2552). บ้านเวียงเชียงใหม่ บ้านและการสร้างความเป็นถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ วารสาร สังคมศาสตร์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 1/)
สุเทพ สุนทรเภสัช. (2548). ชาติพันธุ์สัมพันธ์: แนวคิดพื้นฐานทางมานุษยวิทยาในการศึกษาอัตลักษณ์กลุ่ม ชาติพันธุ์ ประชาชาติ และการจัดองค์กรความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
สุริยา สมุทคุปติ์และพัฒนา กิติอาษา. (2544). ยวนสีคิ้ว ในชุมชนทางชาติพันธุ์: เรื่องเล่า ความทรงจำและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: สมบูรณ์การพิมพ์.
อนุทิย์ เจริญศุภกุลและวิวัตน์ เตมียพันธ์. (2521). เรือนล้านนาไทยและประเพณีการปลูกเรือน. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. (2541). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุคส์.
อานันท์ กาญจนพันธ์. (2560). ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา: ความเคลื่อนไหวของขีวิตและวัฒนธรรม ท้องถิ่น. พิษณุโลก: หน่วยวิจัยอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาควิชา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อานันท์ กาญจนพันธ์. (2535). ล้านนาในมิติทางวัฒนธรรม. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตรื มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Curtis, Lillian Johnson. (1903). The Laos of North Siam. Philadelphia: The Westminster Press.

โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2531. ดนตรีล้านนา : ดนตรีพื้นเมือง ล้านนา. สืบค้นวันที่ 12/5/2562 จาก http://www.openbase.in.th/node/6557

เชาวลิต สัยเจริญ. (2553). สถาปัตยกรรมล้านนา. สืบค้นวันที่ 14/5/2562. จาก http://lannaarchchaowalid.blogspot.com/
ยุทธ์พงศ์ ตะเวที. (2546). “ศิลปะล้านนา” สืบค้นวันที่ 10/5/2562 http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/thanyamairungsan... 2018.
การแต่งกายภาคเหนือ. สืบค้นวันที่ 10/6/2562. จาก http://thanyamairungsang3.blogspot.com/

หมอเมือง" ภูมิปัญญาล้านนา สืบค้นวันที่2/52556. จากhttps://www.hfocus.org/content/2018/09/16344


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

อัสรี อาหามะ นักวิจัยอิสระ


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว