ไทยพวน มีถิ่นฐานดั้งเดิมในเมืองพวน แคว้นเชียงขวาง ประเทศลาว ในศึกเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ 2369-2380) ได้มีการอพยพชาวพวนมาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกใกล้กับแม่น้ำ คนกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำเกษตร ปัจจุบันยังคงมีการสื่อสารด้วยภาษาไทยพวนควบคู่กับภาษาไทย มีประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีฮีต 12 คอง 14 พิธีเลี้ยงผีปู่ตา และประเพณีกำฟ้า
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทยพวน
ชื่อเรียกตนเอง : ไทยพวน, ไทพวน, คนพวน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาวพวน, ลาวกะเลอ, ไทยกะเลอ
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : พวน
ภาษาเขียน : อักษรธรรม,อักษรไทยน้อย
“ไทยพวน” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกแทนตนเอง คำว่า “พวน” เป็นชื่อเรียกชาวเมืองพวนเมื่ออาศัยอยู่ในประเทศลาว ชื่อเรียกนี้มีทั้งเขียนด้วย “ไท” และคำว่า “ไทย” โดยคำว่า “ไท” นั้นหมายถึง “คน เมื่อย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยถูกเรียกว่า “ลาวพวน” เพื่อบ่งบอกว่ามาจากลาว ภายหลังมีการเขียนว่า “ไทยพวน” เพื่อแสดงถึงความเป็นกลุ่มคนเชื้อสายพวนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีชื่อเรียกอื่น ๆ ในหลากหลายบริบท ได้แก่ “ไทพวน” “ลาวพวน” “ไทยพวน” “พวน” “ลาวกะเลอ” และ “ไทยกะเลอ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่หมายถึงชาวไทยพวนทั้งสิ้น
จากข้อสันนิษฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวพวน ระบุว่า ในคริสตศตวรรษที่ 16 มีรัฐขนาดเล็กที่ปกครองด้วยตนเอง โดยใช้ชื่อว่า “เมืองพวน” ปัจจุบันคือเมืองคุน แคว้นเชียงขวาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบกับในแคว้นเชียงขวางปรากฏว่ามีแม่น้ำสายที่ชื่อว่าแม่น้ำพวน ทั้งนี้ เมืองพวนตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างเวียดนามและลาว จึงถูกกองทัพเวียดนามและลาวรุกรานอยู่บ่อยครั้ง กษัตริย์เมืองพวนต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้เวียดนาม ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้าเมืองพวนมีความขัดแย้งกันรุนแรง เวียดนามจึงเข้ามาแทรกแซง กระทั่งสุดท้ายเมืองพวนจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยามและเวียดนาม ชาวพวนถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยสงคราม จากข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์การอพยพ แบ่งการอพยพของชาวพวนออกเป็น 2 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2322 เมืองพวนตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรี แต่ยังไม่มีการกวาดต้อนชาวพวนเข้ามา และครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2369-2380พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ในพ.ศ. 2369 ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการกวาดต้อนชาวลาวพวนและชาวลาวเวียงจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันชาวไทยพวนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคตะวันออกครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดนครนายก ในอำเภอปากพลี และอำเภอเมือง 2) จังหวัดฉะเชิงเทรา ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และ 3) จังหวัดปราจีนบุรีในอำเภอประจันตคาม ส่วนใหญ่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้กับแม่น้ำ เพราะมีชีวิตผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้ชาวพวนยังอาศัยกระจัดกระจายในหลายจังหวัดของประเทศไทย อาทิ จังหวัดแพร่ อุดรธานี เพชรบุรี และสุพรรณบุรี
ชาวไทยพวนมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะด้านภาษาพวนที่ยังคงใช้ในการสื่อสารกันในชุมชนควบคู่ไปกับการใช้ภาษาไทย ด้านอาหาร นิยมทานปลาร้า และนำมาเป็นส่วนประกอบหลักในอาหารหลายประเภท ด้านการแต่งกาย นิยมแต่งกายด้วยผ้าหม้อห้อมและผ้าซิ่นในชีวิตประจำวัน ในบางพื้นที่มีการประยุกต์เสื้อผ้าให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ด้านประเพณี มีประเพณีสำคัญที่คนในชุมชนยังคงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ประเพณีฮีต 12 คอง 14พิธีเลี้ยงผีปู่ตา ประเพณีกำฟ้า นอกจากนี้ชาวไทยพวนหลายพื้นให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ทั้งยังร่วมมือกันกับหลายภาคส่วนในการประยุกต์หัตถกรรมท้องถิ่นให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และประเพณีให้คงอยู่สืบไป
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
วัลยา นามธรรม นักวิจัยอิสระ
จากเอกสารของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2558) สันนิษฐานว่า เมืองพวนและแม่น้ำพวนเป็นแหล่งพำนักดั้งเดิมของคนลาวพวน หรือไทพวน เพราะคนไทนิยมเรียกกลุ่มของตนเองตามภูมิศาสตร์หรือแหล่งกำเนิดของตน เมืองพวนตั้งอยู่ใกล้กับทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ในพงศาวดารล้านช้างปรากฏตำนานของคนไทพวนที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของคนไท ที่ระบุว่า ขุนบรมมีลูกชายเจ็ดคน ได้แยกย้ายกันไปสร้างเมืองต่างๆ โดยบุตรชายคนที่เจ็ดชื่อว่า เจ็ดเจิงหรือเจ็ดเจืองเป็นผู้สร้างเมืองพวน หรือเชียงขวาง เมืองพวนมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองหลวงพระบาง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าทั้งสองเมืองเป็นเมืองพี่เมืองน้องระหว่างเมืองพวนและเมืองหลวงพระบางเอาไว้ว่า “ขุนลอและเจ็ดเจืองผู้น้องตกลงแบ่งเขตแดนหลวงพระบางกับเขตแดนเมืองพวนไว้ต่อกัน คือ เขตแดนเมืองพวนอยู่ทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองเชียงขวางเวลานี้”
ชาวลาวพวน เชื่อว่า ตนเองสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อ้างถึงในกลุ่มไทกลุ่มอื่นๆ เช่น ไทยวน ไทเมา ไทใหญ่ ไทยและลาว จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่าชาวลาวพวนก่อตั้งบ้านเมืองของตนเองจนเป็นรัฐขนาดเล็กบริเวณทุ่งไหหิน ชาวพวนเรียกว่า เมืองพวน มีเมืองหลวงในปัจจุบันคือ เมืองคุน ประมาณคริสตศตวรรษที่ 16 มีบันทึกว่าเมืองคุนเป็นเมืองที่ใหญ่และสวยงามมีปราการป้องกันเขตแดนทางธรรมชาติที่แวดล้อมไปด้วยภูเขา และป้อมปราการที่ชาวพวนสร้างขึ้น เนื่องจากเมืองพวนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนระหว่างเวียดนามและลาว ต่อมาชาวสยามเข้ามาปกครองทางฝั่งตะวันตก ภายหลังปี 1975 รัฐบาลลาวได้ประกาศให้เมืองพอนสหวันเป็นเมืองหลวงของเชียงของ
ในช่วงปี 1479 มีรายงานเกี่ยวกับรัฐของชาวลาวพวนว่า มืองพวนได้ถูกกองทัพเวียดนามคุกคามอย่างหนัก จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของเวียดนามและลาว ทำให้กษัตริย์เมืองพวนต้องส่งเครื่องบรรณาการให้เวียดนาม ทั้งในรูปแบบเงิน งาช้าง ผ้าไหม นอแรด และขี้ผึ้ง ให้กับกษัตริย์แห่งเมืองเว้ของเวียดนามและต้องจ่ายบรรณาการให้กับเจ้าปกครองที่หลวงพระบางหรือเวียงจันท์ จากการเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเมืองพวนจากทั้งลาวและเวียดนามที่ได้รับบรรณาการจากชาวลาวพวนทำให้ทั้งสองประเทศใช้อำนาจกับเมืองพวนอยู่บ่อยครั้ง
ต่อมาในปีคริสตวรรษที่ 18 เกิดความขัดแย้งภายใน จากการที่กษัตริย์และเจ้าฟ้าชาวพวนแย่งชิงราชบังลังก์กันทำให้เวียดนามได้เข้ามาแทรกแซงการปกครองของเมืองพวนและส่งตัวแทนผู้ปกครองจากเวียดนามไปถ่วงดุลอำนาจ ท้ายที่สุดได้เกิดการประนีประนอมระหว่างกันทำให้เจ้าฟ้าเชียงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ โดยได้สร้างการเมืองภายในให้มีความเข้มแข็งขึ้นและปกครองบ้านเมืองอย่างสุขสงบเรื่อยมา ส่วนอำนาจศาลของชาวสยามก็ไม่สามารถมีผลต่อเมืองพวนได้อีก เนื่องจากกษัติย์เมืองพวนได้ทำข้อตกลงเจรจากับสยามและกษัตริย์ลาว
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ถัดมาเป็นบันทึกที่เริ่มต้นการปกครองของกษัตริย์น้อย ประมาณปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อพระเจ้าเชียง พระราชบิดาของกษัตริย์น้อยสิ้นพระชมม์ ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ทำให้เรื่องราวทางการเมืองการปกครองในช่วงนี้ได้รับการบันทึกไว้จำนวนน้อย เว้นแต่ในช่วงบั้นปลายชีวิตอันเป็นโศกนาฏกรรมของพระเจ้าน้อยที่ถูกบันทึกไว้ว่า พระเจ้าน้อยได้ถูกขับไล่ออกจากเมืองไปอยู่ที่อันนัม ทำให้เมืองพวนตกอยู่อำนาจของสยามและเวียดนามในเวลาต่อมา
ภายหลังจากการบุกเข้ามาของสยามทำให้เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพสยามและเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ของลาว หลังจากที่เจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้แก่กองทัพสยามและถูกนำตัวไปที่กรุงเทพฯ พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในปี 1829 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าอนุวงศ์ ทหารเวียดนามได้ถูกส่งไปยังเชียงของเพื่อจับตัวเจ้าน้อย ข้าราชบริพารและพระราชวงศ์ เพื่อส่งตัวไปอันนัม กษัตริย์น้อยสิ้นพระชนม์ปี 1830 ส่วนพระโอรสและพระราชมารดาถูกจับไปที่เมืองเหงะอาน Nghe Anh จังหวัดทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม
หลายทศวรรษต่อมา จากนโยบายการลดจำนวนประชากร ทำให้ประชากรในเมืองพวนมีจำนวนลดลง ต่อมาในปี 1834 มีคำสั่งให้แม่ทัพสยามที่เมืองหนองคายให้โยกย้ายถิ่นฐานครอบครัวชาวพวนเข้ามาสู่อาณาจักรสยาม จากนั้นในปี 1836 กองทัพสยามได้อพยพครอบครัวชาวพวนมาสู่สยาม และเผชิญกับกองกำลังต่อต้านของชาวพวนด้วยเช่นกัน
ประมาณปี 1837 ชาวพวนได้ถูกรุกรานอีกครั้งจากเวียดนามทำให้ชาวพวนที่เมืองพวนล้มหายตายจากจำนวนมากกระทั่งกลางคริสตศตวรรษที่ 19 กองทัพ Haw/ Ho จากจีนทำการบุกรุกชายแดนเมืองพวนและทำลายเมืองพวน
ต่อมาประมาณปี 1873 กองทัพของหลวงพระบางภายใต้การให้ความช่วยเหลือของสยามได้บุกโจมตีพวก Haw แต่พวก Haw สามารถข้ามพรมแดนไปเมืองหัวพันได้ ราวปี 1874 Haw ได้เป็นผูกมิตรกับผู้ร่ำรวยชาวพวน ทำให้กลับมามีอำนาจในเมืองพวนอีกครั้ง และขยายอาณาเขตไปยังเวียงจันทน์ ราวปี 1875 มีข่าวลือว่าพวกเขาจะบุกกรุงเทพ ทำให้กองทัพสยามจากเมืองนครราชสีมาเดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปสู้รบกับพวก Haw เจ้า Liw Si Ko ได้สิ้นพระชนม์จากการทำศึกกับสยาม ทหารม้าจึงพากันหลบหนีไปที่เวียดนาม ชาวลาวและชาวพวนซึ่งมีสถานะเป็นเชลยได้ถูกส่งมายังกรุงเทพอีกครั้ง ชาวพวนบางคนจึงพยายามหลบหนีไปยังพื้นที่ต่างๆ บางส่วนล้มตายจากการเจ็บป่วยและวคามหิวโหย
เมื่อถึงกรุงเทพชาวพวนที่รอดชีวิตได้ถูกนำไปกักตัวในคุก เมื่อกงสุลชาวบริทิชได้พบเจอกับเชลย จึงมีการสอบถามถึงเรื่องราวของเชลยศึกชายชาวพวนคนหนึ่งได้รายงานว่า พวกเขาทุกข์ทรมานและมีการผูกเชือกกลุ่มผู้ชายเข้าไว้ด้วยกัน หากใครหยุดก็จะถูกตี เมื่อทราบเช่นนั้น กงสุลชาวบริทิชได้เข้าพบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวเชลยศึก โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อเดือนกันยายน ปี 1876 ว่า พวกชาวพวนนั้นได้ช่วยศัตรูด้วยการให้ข้าวให้ม้า ทำให้เหตุผลนี้ ชาวสยามได้ทำการโจมตีพวน ชาวพวนได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวเอง อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็ได้มีการปล่อยตัวนักโทษชาวพวนเพื่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่
ภายหลังสงครามกับพวก Haw ประชากรชาวพวนลดจำนวนลงพระโอรสของเจ้าน้อยกษัตริย์พวน ได้รับการศึกษาจากเมืองเว้จึงกลับไปฟื้นฟูเมืองพวนในปี 1877 โดยความช่วยเหลือของเวียดนาม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวสยามก็ไม่ได้รบกวนหรือแทรกแซงการเมืองกับเมืองพวนอีกต่อไป ทำให้เมืองพวนในขณะนั้นความสัมพันธ์อันดีกับเวียดนาม
เมื่อชาวพวนตั้งถิ่นฐานในสยาม พวกเขาได้สร้างบ้านแปงเมืองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดลพบุรี ในปลายปีศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสมีความต้องการได้เมืองพวนมาไว้ในครอบครอง ประมาณปี 1883 คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสจึงได้เดินทางไปเมืองพวน โดยมี Dr. P. Neis ได้ทำการสำรวจและค้นคว้าเกี่ยวกับชนเผ่าท้องถิ่นเอาไว้เมื่อสยามเห็นดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าฝรั่งเศสและผู้นำพวนจะเป็นมิตรกันจึงได้ทำการจับตัวกษัตริย์พวนองค์สุดท้ายไว้ กษัตริย์ขันติถูกส่งมากักขังที่คุกในกรุงเทพฯ ในปีนั้นฝรั่งเศสได้วาดแผนที่เพื่อระบุเขตแดนประเทศลาวและเชียงของซึ่งเป็นเมืองของชาวพวนได้กลายมาเป็นจังหวัดหนึ่งในลาว
ประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 1893 กษัตริย์พวนและราชวงศ์ได้รับการปล่อยตัวจากกรุงเทพฯ เนื่องจากฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญากับสยาม กระนั้นกษัตริย์ขันติได้สิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนที่ฝรั่งเศสจะตกลงเซ็นสนธิสัญญากับสยาม ประมาณปี 1899 ได้มีการทำการสำรวจประชากรเมืองพวนขณะนั้นมีประชากรอยู่ประมาณ 24,920 คน ในจำนวนนั้นมีคนพวนร้อยละ 49 รองลงมาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเช่น ชาวไทดำ และชาวลาว ร้อยละ 44
ต่อมาในช่วงปลายพุทธศักราช 2321 สมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทับไปตีเวียงจันทน์ ภายหลังกองทัพกรุงธนบุรีสามารถยึดเวียงจันทน์ได้สำเร็จใน พ.ศ. 2322 (สิลา วีระวงส์, 2535: 150) ทำให้เกิดการกวาดต้อนครัวเรือนชาวลาวลงมายังกรุงธนบุรีและถูกส่งไปยังเมืองต่างๆเช่น สระบุรี ลพบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา
หลังจากปีพุทธศักราชที่ 2322 กองทัพกรุงธนบุรี โดยการนำทัพของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์สามารถยึดเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จ ทำให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้นำทัพไปตีเมืองพวนและสามารถยึดเอาเมืองพวนเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีได้ในปีเดียวกัน (คำหมั้น วงกตรัตนะ, 2497:7) ในคราวนั้นยังไม่มีการกวาดต้อนชาวลาวพวนให้เข้ามาอยู่ในเขตพระนคร การกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงและลาวพวนเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายหลังจากการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในปีพุทธศักราช 2369 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเข้ามาในเขตพระนครหลายครั้ง มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ใน พ.ศ. 2370 - 2373 พ.ศ. 2378 และ พ.ศ. 2380 เสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะมิให้เมืองเวียงจันทน์ตั้งเป็นบ้านเมืองได้อีกต่อไป จึงมีการกวาดต้อนครัวชาวลาวเวียงและหัวเมืองใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด(เจ้าพระยาบดินทรเดชา, 2514: 978-979) ผลของการกวาดต้อนดังกล่าวทำให้เมืองเวียงจันทน์มีสภาพกลายเป็นเมืองร้าง
ผลของการปราบกบฏอย่างรุนแรงของอาณาจักรไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้ชาวลาวเวียงและลาวพวนจำนวนมากถูกกวาดต้อนเข้ามาในอาณาจักรไทย และถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเมื่อสมัยกรุงธนบุรีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งบริเวณหัวเมืองตะวันออก เช่น เมืองชล เมืองฉะเชิงเทรา เมืองประจิมทบุรี และเมืองนครนายก (บังอร ปิยะพันธุ์, 2529: 77-82)
หลักฐานครั้งสุดท้ายที่ปรากฏว่ามีชาวลาวเวียงและชาวลาวพวนย้ายครัวเรือนมาตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกได้ปรากฏในช่วงปีพุทธศักราช 2403 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีนโยบายเกลี้ยกล่อมชาวลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลาวพวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใน
ภาคตะวันออกเป็นจำนวนมาก ด้วยทรงตระหนักดีว่าเมืองพวนนั้นอยู่ใกล้ชิดกับเขตแดนของญวน พระองค์ไม่สามารถดูแลควบคุมเมืองพวนไว้ได้ ทำให้ต้องใช้วิธีโยกย้ายประชากรออกจากพื้นที่เพื่อไม่ให้เหลือเป็นกำลังแก่ฝ่ายญวน ผลจากการย้ายครัวลาวพวนมาอยู่ในไทย ทำให้ชาวลาวพวนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองพนมสารคาม เมืองฉะเชิงเทรา
ชาวลาวเวียงและชาวลาวพวนที่ถูกส่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้ระบบไพร่เช่นเดียวกับการควบคุมคนไทย ชาวลาวทุกคนจะต้องขึ้นสังกัดและถูกสักข้อมืองบอกสังกัดโดยมีขุนนางลาวเป็นหัวหน้าปกครอง ซึ่งหัวหน้าปกครองชาวลาวจะอยู่ในความควบคุมดูแลของขุนนางไทยอีกต่อหนึ่ง ส่วนขุนนางลาวจะมีตำแหน่งตั้งแต่ปลัดเมือง จางวางกอง นายกอง ปลัดกอง นายหมวดและเจ้าหมู่ ซึ่งเป็นตำแหน่งปกครองที่ใกล้ชิดกับชาวลาว จึงจำเป็นต้องให้ชาวลาวปกครองกันเอง ขุนนางไทยมีหน้าที่ควบคุมขุนนางลาวระดับสูงตั้งแต่ตำแหน่งนายกองขึ้นไป เพื่อให้ปฏิบัติตามนโยบายและกฏหมายข้อบังคับของไทย ส่วนขุนนางชาวลาวจึงเป็นผู้ปกครองและควบคุมชาวลาวอีกต่อหนึ่ง (ปรารถนา แซ่อึ๊ง, 2543: 56)
ทั้งชาวลาวเวียงและลาวพวนถูกบันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับว่าเป็นกำลังสำคัญในการทำส่วยเร่ว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และส่วยทองคำที่ส่งให้รัฐ ทองคำเป็นส่วยอีกประเภทหนึ่งที่รัฐต้องการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวัสดุที่สำคัญในการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัด รวมถึงหล่อพระพุทธรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลาวพวนผู้มีความชำนาญในการทำส่วยทอง เพราะภูมิประเทศเดิมที่เมืองพวน ประเทศลาวนั้นมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ทั้งทองคำ เงินและเหลือ ทำให้ชาวลาวพวนมีความชำนาญในด้านการทำส่วยทองคำ ชาวลาวพวน จึงมีหน้าที่สำคัญในการทำส่วยทองคำให้แก่รัฐ จึงกล่าวได้ว่าชาวลาวเวียงและลาวพวนนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทำนุบำรุงศาสนา ปัจจุบันชาวลาวพวนสามารถธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ทั้งด้านภาษาและขนมธรรมเนียมประเพณีความเชื่อของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดี
จะเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของชาวพวนในประเทศไทยมีการอพยพหลายระลอกที่สะท้อนว่า ชาวพวน หรือไทยพวนที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยนั้นมาจากแขวงเมืองเชียงขวาง เมืองพวน และเขตเมืองหัวพัน เมืองซำเหนือซำใต้ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นที่สังเกตว่า ชาวไทยพวนจะสร้างบ้านเรือนแน่นหนาบริเวณคลอง โดยไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากในอดีตการกวาดต้อนผู้คนในฐานะเชลยสงครามจึงมีการกระจายให้ผู้คนไปอยู่อาศัยตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อป้องกันการรวมตัวกัน อันเป็นเหตุแห่งการกระด่างกระเดื่องทางการปกครอง (อภิรัชศักดิ์ รชนีวงศ์, 2551:24)ผู้เรียบเรียงข้อมูล
วัลยา นามธรรม นักวิจัยอิสระ
ปัจจุบันชาวไทยพวนในประเทศไทยกระจายตัวและตั้งถิ่นฐานในหลายภูมิภาค ดังนี้ 1) ภาคกลาง พบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทพวนในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี พิจิตร สุโขทัย สุพรรณบุรี นครสวรรค์ และอุทัยธานี 2) ภาคเหนือ พบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทพวนในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงราย และเพชรบูรณ์ 3) ภาคตะวันออก พบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทพวนในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราและชลบุรี 3) ภาคตะวันตก พบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทพวนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี 4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทพวนในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย และอุดรธานี
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
วัลยา นามธรรม นักวิจัยอิสระ
การดำรงชีพ
สภาพเศรษฐกิจและสังคมชาวไทยพวน
วิถีการดำรงชีพของชาวไทพวนมีความผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ ปัจจุบันสังคมคนไทพวนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทจังหวัดที่มีชาวพวนอาศัยอยู่ นอกจากนี้ชาวไทพวนยังมีค่านิยมในการส่งลูกหลานให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่สูงขึ้น เนื่องจากมองว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ต่ำกว่าอาชีพอื่น ปัจจุบันลูกหลานชาวไทยพวนหลายคนจึงหันไปประกอบอาชีพตามค่านิยมของสังคม เช่น รับราชการ ทหาร ตำรวจ หมอ และพยาบาล
สังคมคนไทยพวนส่วนมากเป็นสังคมชนบท บางพื้นที่เป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเด็ก ส่วนวัยกลางคนและวัยรุ่นนิยมไปศึกษาต่อและเป็นเรงงานรับจ้างในตัวเมือง ในต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
หัตถกรรมท้องถิ่น
ชาวไทยพวนนิยมทำเครื่องจักสาน โดยเฉพาะเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ กระบุง กระบาย ตะกร้า กะโล่ กระด้ง หมวกกะโล่ งอบ ตะแกรง กระชอน คุตักน้ำ บุ้งกี๋ กระจาด หรือพัด นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์จับปลา ได้แก่ ข้อง สุ่ม ไซ ชะนาง ตุ้ม อีจู้ กระสุน เป็นต้น
โครงสร้างทางสังคม
โครงสร้างสังคมที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไทพวน คือ สถาบันครอบครัว ที่มีบทบาทในการวางรากฐานให้กับสมาชิกในครอบครัวผ่านการอบรม การเลี้ยงดู การสั่งสอน การถ่ายทอดความรู้ ความเชื่อ การเป็นตัวอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติตัวของพ่อแม่ให้กับลูก ซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะมาเป็นสมาชิกในสังคมต่อไป
ความสัมพันธ์ของครอบครัวและระบบเครือญาติ กรณีของชาวไทยพวนมาบปลาเค้า สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นภายในสถาบันครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดวัฒนธรรมให้กับสมาชิกครอบครัวผ่านการปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ลูกหลานเกิดการซึมซับ และเรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นไทพวน สถาบันครอบครัวของชาวไทพวนจึงมีความเข้มแข็งและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้ง การร่วมงานประเพณี การร่วมกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ที่สมาชิกในครอบครัวและสมาชิกในชุมชนให้ความสำคัญในการช่วยเหลือกัน ผู้คนในชุมชนมาบปลาเค้า มีความสัมพันธ์เสมือนเครือญาติในการช่วยเหลือดูแลเอื้ออาทรต่อกัน นามสกุลดั้งเดิมของชาวไทพนวนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยคำว่า “คำ” เช่น คำปุ้ย คำเพ็ง คำเพชร คำเม่น คำบุญ คำช่วย คำทิพย์ คำเกตุ ซึ่งมีความเชื่อว่ามาจากเจ้าทองคำ และสกุลจันทร์ เช่น จันทร์สิริ จันทร์สุข (รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561)
ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ศาสนา
ชาวไทยพวนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่กับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษและผี ชาวไทยพวนมีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ที่ปรากฎผ่านความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนชาวไทยพวนกับวัด ถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและธำรงสังคมของชาวไทยพวนเอาไว้ ในส่วนของความเชื่อเรื่องผี โดยเฉพาะผีปู่ตาหรือผีตาปู่ ยังปรากฏในทุกชุมชนชาวไทพวนในประเทศไทย ที่ปรากฎให้เห็นผ่านการตั้งศาลผีปู่ตาทุกหมู่บ้าน ชาวไทยพวนเชื่อว่าผีปู่ตา คือ ผีอารักษ์ ผู้ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านการตั้งศาลมักหันไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือของหมู่บ้าน และจะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนสามและเดือนหก
ความเชื่ออื่น ๆ
กรณีศึกษาความเชื่อของชาวพวนทุ่งโฮ้งอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ (รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561) มีดังนี้
1) ผีย่าหม้อนึ่ง
ผีย่าหม้อนึ่ง หรือ เมื่อย่าหม้อนึ่ง เป็นการเสี่ยงทาย หรือสอบถามเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะ
การเจ็บป่วยที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ อุปกรณ์ในการเสี่ยงทาย ประกอบด้วยมะกวัก
ด้ง (กระด้ง) ข้าวสาร เสื้อหม้อห้อมใส่ให้มะกวัก ขันตั้งที่มีธูป จำนวน8 คู่ และดอกไม้ ส่วนหมากคำพูลใบ (หมาก 1 คำ พลู 1 ใบ) จะถูกใส่ลงในหม้อนึ่งไหข้าว ปัจจุบันผู้ที่ยังสืบทอดประกอบพิธีเมื่อย่าหม้อนึ่ง คือ
นางเขียน แสนอุ้ม และ นางไพรวรรณ วรินทร์ ที่ได้รับการสืบทอดจากแม่อุ๊ยนวล ทองอ่อน
2) ผีด้ำ (ผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษ)
ชาวไทยพวนทุ่งโฮ้งมีความเชื่อและนับถือผีด้ำ (ผีปู่ย่า) มีหลายตระกูล แต่ละตระกูลมีผีปู่ย่าที่นับถือแตกต่างกัน เช่น หอผีปู่ย่าบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 1 เป็นกลุ่มตระกูลลูกหลานที่มีผีปู่ย่าหลัก 3 ตน ได้แก่ ผีพ่อเฒ่าเหี่ยว ผีเจ้าผ่าน และผีเจ้าน้อง ทั้ง 3 ตนจะเป็นผู้ทำหน้าที่เลี้ยงช้าง ปัจจุบันมีที่นั่ง (ร่างทรง) ครบทั้ง 3 ตน คือ 1) แม่ใหญ่เป็ง อิ่มใจ อาศัยอยู่หมู่ที่ 1 เป็นที่นั่งผีพ่อเฒ่าเหี่ยว 2) นางไพรวัลย์ พุทธรักษา อาศัยอยู่หมู่ที่ 5 เป็นที่นั่งผีเจ้าผ่าน และ 3) นางศิริวรรณ เสนาธรรม อาศัยอยู่หมู่ที่ 1 เป็นที่นั่งผีเจ้าน้อง
ในส่วนของที่ใช้ในพลีกรรมเลี้ยงผีปู่ย่า ประกอบด้วยอาหาร น้ำมะพร้าว และเงิน ตามสมัครใจของแต่ละหลังคาเรือน นอกจากนี้ยังมีผีปู่ย่า หมู่ที่ 7 ชื่อเจ้าพ่อพญาแก้ว ไม่มีร่างทรง การเลี้ยงผีปู่ย่าจะจัดขึ้นในวัน ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เหนือ ทั้งนี้ ผีปู่ย่าแต่ละตระกูลจะเลี้ยงพลีกรรมต่างกัน เช่น บางตระกูลเลี้ยงผีย่าวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี ยกเว้นมีงานศพภายในหมู่บ้านจะเลื่อนวันเลี้ยงผีปู่ย่าออกไป
3) ผีเสื้อวัด
ผีเสื้อวัด เป็นผีที่รักษาอาณาบริเวณวัด มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย เช่น “ผีแม่จำปา” ผีเสื้อวัด ทุ่งโห้งใต้ ทุกครั้งที่ตักบาตรวันพระที่วัด จะต้องแบ่งข้าวต้มขนมที่ตักบาตรพระไปยื่นโยงถวาย 1 เป๊าะ (1 สำรับ) ซึ่งวัดทุ่งโห้งใต้จะมีผีรักษาวัดอีกตน คือ ผีกะยักษ์ ประจำอยู่บริเวณประตูด้านทิศตะวันออก ในขณะที่วัดร้างที่โรงเรียนทุ่งโฮ้งนั้นมี “ผีเจ้าพ่อโบสถ” และ “ผีปู่เศรษฐี” เป็นผีเสื้อวัด วัดร้างแห่งนี้มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีชาวลาวโซ่งสักหมึกถึงหัวเข่ามาขุดบ่อน้ำริมต้นมะม่วงใหญ่ และบุกเบิกที่นาบริเวณนี้ ต่อมามีชาวไทยใหญ่ฆ่าเศรษฐี ชาวบ้านจึงเอาศพไปฝังไว้หลังวัด จึงกลายเป็นผีเสื้อวัดร้าง บริเวณนี้จึงเรียก “ทุ่งเศรษฐี” ตามไปด้วย ส่วนผีเสื้อวัดทุ่งโห้งเหนือ คือ “ปู่เทียม ย่าเทียม” จะเลี้ยงขันข้าวและน้ำในวันเข้าพรรษาและออกพรรษา เมื่อมีการบวชจะให้เจ้าอาวาสนำพระสงฆ์ สามเณรที่บวชใหม่ไปบอกกล่าวกับผีเสื้อวัด พร้อมกับของยื่นโยงถวาย ประกอบด้วย ข้าวแคบ และข้าวแตน (ขนมนางเล็ด) ใส่กระทง
4) ผีเสื้อบ้าน
ผีเสื้อบ้าน เป็นผีอารักษ์ที่ปกปักรักษาดูแลหมู่บ้าน เช่น ผีเจ้าพ่ออินต๊ะปัญญา ผีเสื้อบ้านหมู่ที่ 5 อดีตมีควานจ้ำที่สืบมาแล้ว 3 รุ่น คือ (1) พ่อใหญ่อิ้ง บุตรชา (2) พ่อใหญ่พลอย บันลือ และ (3) แม่ใหญ่พร สมศักดิ์ เมื่อแม่ใหญ่พรถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2553 ปัจจุบัน ยายแสงมอญ เพชรหาญ อายุ 67 ปี ไม่ได้เป็นควานจ้ำ แต่ทำหน้าที่แทนในการบอกกล่าววิธีปฏิบัติ และสื่อสารกับเจ้าพ่ออินต๊ะปัญญา เกี่ยวกับการเตรียมเครื่องไหว้ การบน การนำสิ่งของมาถวาย โดยใช้วิธีการอธิษฐานแล้วเสี่ยงทายด้วยไม้ หากอธิษฐานให้ได้ก็ให้ไม้ยาวนี้ออก 2 ข้อมือ 3 ข้อมือ หากคนในชุมชนมีการบวช หรือไปทำงานต่างถิ่นจะมีการมาบอกกล่าว
ในการเลี้ยงพลีกรรมผีเจ้าพ่ออินต๊ะปัญญาจะถูกจัดขึ้นในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (ประมาณเดือนมีนาคม) เครื่องพลีกรรม ประกอบด้วย หัวหมู 1 หัวเหล้าไหไก่ 1 คู่ ขันเชิญผีเสื้อบ้าน 1 ขัน ที่มีธูป 16 คู่ ผ้าขาว ผ้าแดง ข้าวสาร และเงิน 36 บาท
นอกจากนี้ชาวพวนทุ่งโฮ้งยังมีความเชื่อเรื่องผีเสื้อนา ซึ่งเป็นผีที่ดูแลรักษานา ผีเสื้อไร่ หรือผีที่ดูแลรักษาไร่ ผีเตาเหล็ก หรือผีที่อยู่ประจำกับเตาเหล็ก ชาวพวนทุ่งโฮ้งในอดีตมีความชำนาญในการเป็นช่างตีเหล็ก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น ผีครู ซึ่งเป็นดวงวิญญาณของครูบาอาจารย์แต่ละแขนงวิชา ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ผีครูฟ้อนดาบ ผีครูสล่า ผีครูคาถาเสกเป่า ผีคูต่อกระดูก และผีนางด้ง เป็นการเรียกผีนางด้งมาเข้าสิงเพื่อฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน เมื่อเลิกเล่นจะจูงแขนเข้าใต้ชายเรือนซึ่งผีนางด้งจะออกจากร่างทันที(รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561)
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี
ประเพณีตามความเชื่อ ฮีต 12ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่ชาวไทยพวนยึดถือปฏิบัติตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดนมีรายละเอียด ดังนี้
ฮีตที่ 1 เดือนอ้ายเดือนยี่ให้สงฆ์เข้ากรรม หรือเรียกว่าอยู่ปริวาสกรรม ในเดือนอ้ายและเดือนยี่ เป็นการล้างบาปที่พระสงฆ์ทำผิดวินัยไว้ แม้จะไม่ผิดวินัยก็ปฏิบัติให้เคร่งครัดมากขึ้น เช่น การอยู่ในพื้นที่จำกัด ฉันข้าวเวลาเดียว ชาวบ้านนิยมไปใส่บาตรในวันที่พระเข้ากรรม ในอดีต
จะใส่บาตรด้วยข้าวเหนียว กำหนดการเข้ากรรมของพระสงฆ์ขึ้นอยู่กับที่พระสงฆ์เป็นผู้กำหนด เช่น 7 วัน 9 วัน 15 วัน ส่วนชาวบ้านที่ไปทำบุญกับพระเข้ากรรมจะได้บุญมากเพราะทำบุญกับพระที่บริสุทธิ์
ฮีตที่ 2 เดือนยี่ การเอาฟืนมาไว้ หมายความว่า ในเดือนอ้ายเดือนยี่ให้รีบเก็บฟืนมากองไว้ เพราะเดือนสามเดือนสี่จะเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่ไม่มีเวลาในการเก็บหาฟืน
ฮีตที่ 3 เดือนสาม บุญเดือนข้าวจี่ ในอดีตคนพวนจะกันพื้นที่นาไว้ส่วนหนึ่งสำหรับปลูกข้าวเหนียวเพื่อทำข้าวจี่หรือการทำข้าวเหนียวปิ้งในเดือนสาม วิธีทำจะเอาข้าวเหนียวมานึ่งแล้วปั้นเป็นก้อนกลมขนาดกำมือ แล้วเอาไม้เสียบ เอาน้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อยทา แล้วย่างไฟจนสุกหอมอร่อย การทำข้าวจี่อาจทำไม่พร้อมเพรียงกันขึ้นอยู่กับความพร้อมของวัตถุดิบของแต่ละบ้าน
ฮีตที่ 4 เดือนสี่ ดอกไม้บูชา หมายถึง ดอกไม้บูชาพระในช่วงตรุษเดือนสี่
ฮีตที่ 5 เดือนห้า ตรุษสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาของการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์และผู้อาวุโนชุมชนตรุษ หมายถึง สิ้นเดือนสี่ สงกรานต์ หมายถึง เดือนห้า
ฮีตที่ 6 เดือนหกทำบุญตักบาตร วิสาขะมาส คือ บุญบั้งไฟ
ฮีตที่ 7 เดือนเจ็ดบวงสรวงอารักษ์ ซึ่งเป็นเทวดาผู้ปกปักรักษาบ้านเมือง เทวดาประจำศาลหมู่บ้าน
ฮีตที่ 8 เดือนแปด ตักบาตรบุญเข้าพรรษา
ฮีตที่ 9 เดือนเก้ามาทำบุญข้าวสารท ตักบาตรข้าวประดับดิน
ฮีตที่ 10 เดือนสิบกินทานบุญข้าวสะ ผีปู่ย่าทานแล้วจะทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล การทำบุญให้ผีปู่ย่าจึงทำในช่วงกลางฤดูฝน
ฮีตที่ 11 เดือนสิบเอ็ดออกพรรษา ชาวไทยพวนจะต้องไปทำบุญ
ฮีตที่ 12 เดือนสิบสองหนุนกฐินผ้าป่า หรือบุญลอยกระทง
พิธีเลี้ยงผีปู่ตา
พิธีเลี้ยงผีปู่ตาจะถูกจัดขึ้นปีละสองครั้ง ชาวไทยพวนแต่ละบ้านในหมู่บ้านจะนำเครื่องเซ่น ประกอบด้วย ไก่ต้ม เหล้า หมาก พลู บุหรี่ ธูปเทียน และเงิน 1 บาท นำมาสักการะผีปู่ตา เมื่อเสร็จพิธีจะมีการถวายพระและแจกจ่ายรับประทานร่วมกัน แต่จะไม่นำกลับบ้าน
หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้น ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่วัดและทำกระทงขึ้นมาจากกาบกล้วย ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม ตัดกาบกล้วยให้เป็นรูปคนผู้หญิงหรือผู้ชาย และสัตว์ต่างๆ มีการปั้นข้าวดำ ปั้นข้าวแดง ให้ผีไม่มีญาติใส่ในกระทง จากนั้นให้พระสงฆ์สวดสะเดาเคราะห์ ชาวบ้านจะร่วมกันอธิฐานว่าเศษอาหารมงคลนี้แบ่งเอามาให้ลูกหลานกินเป็นมงคล ขออย่าให้ได้เจ็บได้ป่วย ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข มีโชคลาภ เพื่อให้มีเงินทองมาบูรณะศาลผีปู่ตาต่อไป
หลังจากนั้นอาจมีพิธีกรรมปลุกเสกหญ้าคา น้ำ และทราย ทุกบ้านจะนำหญ้าคามาคนละหนึ่งกำ เสียบเอาไว้ที่หลังคาบ้าน น้ำหนึ่งแก้ว และทรายหนึ่งกระป๋อง นำไปหว่านรอบบ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่มีเข้ามาภายในบ้าน
ประเพณีกำฟ้า
ประเพณีกำฟ้า หรือชาวไทยพนวนเรียกว่า “กำแถน กำฟ้า กำลม” หรือ “กำแถน กำน้ำดินไฟลม” เป็นประเพณีโบราณสำคัญที่กระทำตั้งแต่อยู่เมืองเชียงขวาง (เมืองพวน) ประเพณีดังกล่าวจึดขึ้นเพื่อบูชาผีฟ้าพญาแถนและผีเทวดาอารักษ์ เพื่อให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์และเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยในการดำรงชีวิต
คำว่า “กำ” หมายถึง การสำรวมหรือการงดเว้นด้วยความเคารพ เมื่อถึงวันกำฟ้า ทุกคนภายในหมู่บ้านต้องหยุดการทำงาน เช่น ตำข้าว ตักน้ำ ผ่าฟืน ซักผ้า ถางหญ้า และพรวนดิน รวมทั้งคู่สามีภรรยาก็ห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ ให้นอนเว้นระยะห่างระหว่างกัน หากผู้ใดฝ่าฝืนฟ้าจะผ่าบุคคลผู้นั้น กำฟ้าจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำ ผู้อาวุโสของแต่ละครอบครัวจะบอกสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ว่า “สูเอย กำฟ้าเน้อ อยู่สุข ขออย่าแซว อยู่ดีมีแฮงเด้อเอ้อ”
ประเพณีกำฟ้า จะถูกจัดขึ้นปีละสองครั้งครั้งที่หนึ่ง ช่วงขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3ตามปฏิทินพวน ซึ่งมักอยู่ในช่วงเดือนมกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสากล ส่วนครั้งนี้สองนั้น ช่วงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 9 ตามปฎิทินพวน
ก่อนวันกำฟ้าหนึ่งวัน จะมีการรับหญิงสาวจากหมู่บ้านอื่นๆ มาร่วมการละเล่นต่างๆ เช่น เตะหม่าเบี้ย ขี่ม้าหลังโกง เล่นนางด้ง นางกวัก ลิงลง และตีไก่ ในวันดังกล่าว ชาวไทยพวนจะเตรียมข้าวของเครื่องใช้ อาหารคาวหวาน เพื่อไปทำบุญที่วัดช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น
ในวันกำฟ้า เริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าพระอาทิตย์ขึ้น จะประกอบพิธีทำบุญตักบาตรที่วัด อาหารคาวหวานที่นิยมนำไปทำบุญที่วัด เช่น แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ ขนมเทียน ขนมชั้น ข้าวแตน และข้าวแคบ เมื่อทำบุญฟังพระธรรมเทศนาเสร็จแล้ว ช่วงสายจะนำเครื่องนอนเสื้อผ้าไปซักและตาก ระหว่างที่รอเครื่องนอนเสื้อผ้าที่ตาก จะพากันจับกุ้งหอยปูปลา บางคนไปเก็บไข่มดแดงเพื่อเตรียมทำอาหารมื้อเที่ยงและมื้อเย็น ช่วงบ่ายที่เครื่องนอนเสื้อผ้าแห้ง จึงกลับบ้าน หลังรับประทานอาหารมื้อเย็น ช่วงกลางคืนจะมีการละเล่นต่างๆ เช่น ผีนางด้ง ผีไต่สาว และไก่หมุน
ช่วงเวลากลางคืน ผู้อาวุโสจะสังเกตเสียงฟ้าร้องว่าจะมาจากทิศใด เรียกว่า “เสียงฟ้าเปิดประตูน้ำ” เพื่อให้น้ำฟ้าสายฝนตกลงมาให้ชาวบ้านได้ทำไร่ทำนา มีคำทำนายเสียงฟ้าร้องตามทิศต่างๆ ดังนี้
1. ฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้ฝนจะดี ทำนาได้ข้าวบริบูรณ์
2. ฟ้าร้องทางทิศใต้ ปีนี้ฝนจะแล้ง น้ำไม่บริบูรณ์ การทำนาจะเสียหาย
3. ฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ปีนี้ฝนตกปานกลาง นาที่ลุ่มจะดี นาดอนจะได้รับความเสียหาย
4. ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ปีนี้ฟ้าฝนไม่แน่นอน อาจเกิดแห้งแล้งทำนาเสียหาย
ส่วนคำทำนายเหตุการณ์ของบ้านเมือง มีดังนี้
1. ฟ้าร้องทางทิศใต้จะอดเกลือ
2. ฟ้าร้องทางทิศเหนือจะอดข้าว
3. ฟ้าร้องทางทิศตะวันตกจะเอาจาทำหอก
4. ฟ้าร้องทางทิศตะวันออกจะเอาหอกทำจา
ในปีที่ฟ้าร้องในทางทิศที่ไม่ดี ผู้ใหญ่บ้าน หรือ พ้อบ้าน จะประชุมเพื่อทำพิธีกรรม “เสียมแสง” หรือการเอาดุ้นฟืนที่ไหม้ไฟเกือบสุดท่อน ไปทิ้งที่ร่องน้ำพร้อมกล่าวอ้อนวอนให้เทพยดาอารักษ์เมตตาให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล (ภูเดช แสนสา, 2558; 38-42)
ประเพณีสงกรานต์ของคนไทยพวน
ชาวไทยพนวน เชื่อว่าประเพณีสงกรานต์หรือมหาสงกรานต์ เป็นการเปลี่ยนผ่าน นับเป็นการขึ้นปีใหม่ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่จึงมีความสำคัญกับชาวไทยพวนเป็นอย่างมาก เพราะคนในชุมชนมีความเป็นเครือญาติ นอกจากนี้ชาวไทยพวนยังมีประเพณีอาบน้ำก่อนกา สูตรเสื้อสูตรผ้า ที่จะทำร่วมกันในช่วงประเพณีสงกรานต์ โดยประเพณีอาบก่อนนกกาจะเป็นการชำระสิ่งที่ไม่ดีออกจากร่างกายเพื่อความเป็นสิริมงคล ต้อนรับปีใหม่ เป็นอุบายให้ผู้คนขยันทำงาน อาบน้ำก่อนกา มาก่อนไก่
ส่วนประเพณีสูตรเสื้อ สูตรผ้านี้ มักทำในทุกครัวเรือน โดยชาวบ้านจะจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าบุของทุกคนในครอบครัวคนละหนึ่งตัว เทียนที่มีความยาวรอบศีรษะของทุกคน หรือความยาวจากศอกถึงปลายก้อย เรียกว่า “ศอกก้อย” หรือจากคอหอยถึงสะดอก เรียกว่า “คาดคีง” จากนั้นจะใช้เล็บหรือมีดจักรเทียนเบาๆ เป็นขีดให้เกินอายุของเจ้าของเทียนหนึ่งปี นอกจากนี้ต้องเตรียมข้าวปั้นเก้าก้อน กล้วยเก้าผล ขนมตัดเก้าชิ้น หรือผลไม้ ขนมอื่นๆ ตามความต้องการจำนวน 9 ชิ้น ธูปและดอกไม้อย่างละ 5 ดอก
เมื่อเตรียมของเสร็จสิ้นแล้ว ชาวบ้านจะนิมนต์พระมาสวดสะเดาะเคราะห์เพื่อความสุขความเจริญ และความร่มเย็นของครอบครัว ประเพณีสูตรเสื้อ สูตรผ้า จึงเป็นเสมือนการสะเดาะเคราะห์ของคนไทยพวน จะต้องนำสิ่งของใส่ถาดสิ่งของไปทำพิธีที่วัด นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา ร่วมงานสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ก่อกองทราย ทำบุญให้ผีบรรพบุรุษ รับพรจากพระสงฆ์ ร่วมพิธีสูตรเสื้อสูตรผ้าไทยพวน เพื่อความเป็นสิริมงคลในการรอบต้นปีใหม่ ในปัจจุบัน มีการเพิ่ทกิจกรรมบันเทิงจำนวนมาก เช่น รำวงพื้นบ้าน วัฒนธรรมไทยพวน เป็นต้น
ในอดีตชาวไทยพวน มีการฉลองปีใหม่ในช่วงหลังสงกรานต์ หรือวันที่ 13 เดือนเมษายนจน ถึงวันที่ 30 เมษายน ด้วยการทำบุญเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ชาวไทยพวนเชื่อว่าการข้ามปีเป็นสังขารข้ามเข้าสู่อายุดวงชะตาใหม่ จึงได้มีการให้ความสำคัญการทำบุญ
เป็นอย่างมาก ชาวไทยพวนบ้านผือส่วนใหญ่ปลูกข้าว จึงนำข้าวเหนียวนึ่งมากวน ใส่น้ำใบเตย และส่วนผสมพืชที่มีในท้องถิ่น เช่น งาขาว งาดำ เผือก มัน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ลูกเดือย ข้าวโพด เม็ดบัว มะพร้าว รวมทั้งน้ำตาล เกลือ กวนเข้าด้วยกัน และทำส่วนผสมทุกอย่างให้สุก เ เมื่อสุกแล้วนำใส่ภาชนะ (ถาดหรือกระด้ง) รสชาติข้าวงาโค จะหอม หวาน มัน ชาวบ้านจะมาช่วยกันกวนข้าวงาโคที่วัด ครั้งละประมาณ 2-3 กระทะใหญ่ด้วยเตาถ่าน แต่ละคนจะนำวัตถุดิบที่ใช้กวนข้าวงาโคมาร่วมกัน เช่น ข้าว ถั่ว มะพร้าว งา น้ำตาล ฟืน ถ่าน ฯลฯ วันที่กวนข้างงาโค หากวันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 14 15 เมษายน จะเริ่มมีการกวนข้าวงานโคในวันที่ 15 และ 16
เมื่อทำข้าวงาโคเสร็จแล้วจะนำไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในบริเวณหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ในช่วงเย็นจะมีการแห่ข้าวงาโค รอบโบสถ์ 3 รอบ ระหว่างนั้นจะนำน้ำเพื่อสรงน้ำพระและรดน้ำกันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่นำข้าวงาโคไปถวายพระ และฝ่ายต้อนรับ เพื่อเป็นการอวยพรให้มี ความสุขความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป ปัจจุบันหมู่บ้านที่อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการกวนข้าวงาโค ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ หมู่บ้านจันทราราม หมู่ 14 อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบัน นอกจากจะมีะยึดถือการกวนข้าวงาโคเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วยังมีการกวนข้าวงาโค ในช่วงงานบุญต่างๆ อีกด้วย (รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561)
ประเพณีทานข้าวสะ หรือบุญสลากภัตร
ประเพณีดังกล่าวมักจัดขึ้นหลังวันสารทพวน ซึ่งเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก้ผู้เสียชีวิตประเพณีบุญสลากภัตรจะมีการทำสลากให้พระจับ เพื่อที่จะได้ถวายของตามสลากนั้น โดยชาวบ้านจะนำข้าวสาร กล้วย อ้อย เผือก มัน และอาหารต่างๆ ที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานมาถวายพระ
โดยจะเขียนคาถาว่า กินบ่บก จกบ่ลง หมายถึง กินเท่าไหร่ก็ไม่พร่อง ตักเท่าไหร่ก็ไม่ยุบ เต็มอยู่เสมอ ใส่ในใบตองให้ทุกคนกลับบ้านไปใส่ในไหข้าวสาร หรือยุ้งฉาง ประเพณีดังกล่าวเป็นการทำบุญต่อเนื่องในเดือนเก้า เพราะถือว่าเป็นการทำบุญให้ญาติที่ล่วงลับภายใต้ความเชื่อว่าวิญญาณจะออกมาท่องเที่ยวได้ในเดือนสิบ
นอกจากนี้ ชาวไทยพนวนยังมีฮีตเลี้ยงดูพ่อเฒ่า แม่เฒ่า หมายถึง ปู่ย่า ตายาย บรรพบุรุษของครอบครัว เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว จะมีการทำหอ หลังจากเสียชีวิตครบรอบหปีจะมีการเลี้ยงผีหนึ่งครั้ง ในวันแรมสองค่ำ เดือนหก เป็นประจำทุกปี เครื่องเซ่น ประกอบด้วย ขันธ์ห้า หมากพลู บุหรี่ ขันน้ำมนต์ สำรับอาหาร นำมาวางหน้าศาล
เพื่อเป็นกุศโลบายให้ญาติพี่น้องมารวมตัวกัน
ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ
การบายศรีสู่ขวัญเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวไทพวน ประเพณีนี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องจิตใจและขวัญ นิยมจัดพิธีในทุกโอกาส เช่น การต้อนรับแขกผู้มาเยือน การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ หรือเสริมสิริมงคลแก่บ้านเรือน การเซ่นไหว้บวงสรวงเทพยดาอารักษ์ การสู่ขวัญจึงเป็นพิธีกรรมหนึ่งในการดำเนินชีวิต แต่ละช่วงมักมีการสู่ขวัญควบคู่กัน โดยจะมีการทำบายศรีประกอบในพิธี ปัจจุบันบายศรีที่พบมีทั้งรูปแบบดั้งเดิม และแบบประยุกต์ตามจินตนาการของผู้ทำบายศรีให้เกิดความสวยงามและสอดคล้องกับความเชื่อของท้องถิ่น
พานบายศรี หรือต้นบายศรี จะทำด้วยใบตองดอกไม้สด ปัจจุบันมีการดัดแปลงเป็นผ้าแพร กระดาษ และดอกไม้ประดิษฐ์แทน เนื่องจาหการทำด้วยใบตองดอกไม้สดเป็นภาระยุ่งยาก ต้องใช้กำลังคนมาก และเก็บได้ไม่นาน เมื่อเย็บบายศรีแล้วจึงนำไปประกอบลงในโตก พาน หรือขัน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ประดับด้วยดอกไม้มงคล เช่น ดอกรัก ดอกบัว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกบานชื่น ดอกดาวเรือง ดอกมะลิ มีการจัดเตรียมเครื่องสังเวย เช่น ไก่ ไข่ไก่ อาหารคาว-หวาน สุรา ยาสูบ ผลไม้ มะพร้าวอ่อน ดอกไม้ธูปเทียน ขันห้า ด้ายผูกขวัญ (ผูกข้อมือ) ใช้ด้ายดิบสายสิญจน์ โดยมีหมอสู่หรือหมอสูดขวัด (ไม่ใช่พราหมณ์) เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในท้องถิ่น อาจเป็นหญิงหรือชายก็ได้ สำหรับไทยพวนบ้านผือมีนางโควินศรีสว่าง เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม (รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561)
ประเพณีขึ้นบ้านใหม่
ชาวไทยพวน มีความเชื่อว่า เมื่อปลูกบ้านเสร็จจะต้องทำพิธีขึ้นบ้านใหม่เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข การขึ้นบ้านใหม่เจ้าของบ้านจะต้องหาบสิ่งของขึ้นบ้าน ประกอบด้วย ไซ หัวหมู แห ไม้ค้อน สิ่วและหอก จากนั้น จะมีคนถือเสื้อ ที่นอน หมอน มุ้ง ถาดข้าวต้ม ขนมหวาน สำหรับทำขวัญเรือน เมื่อญาติพี่น้องมาพร้อมหน้ากัน จะเริ่มพิธีสู่ขวัญเรือน ตามประเพณีแล้ว การนอนเรือนใหม่จะต้องมีคนนอนให้ครบทุกห้องเป็นเวลาสามคืน ในคืนที่สี่เจ้าบ้านจะต้องจัดทำข้าวต้ม ขนมหวานเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่นอนเป็นเพื่อน
ในกรณีของชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง เมื่อสร้างบ้านใหม่เสร็จแล้ว จะจัดงานขึ้นเรือนใหม่ มีพิธีการขึ้นเรือนหลังใหม่โดยนำข้าวของเครื่องเรือนขึ้นบนเรือน ให้จัดเตรียม “ขัน 5” จำนวน 2 ขัน แต่ละขันมีธูป 5 ดอก เทียน 5 เล่ม และดอกไม้ 5 ดอก ขันแรกเป็นของฝ่ายที่อยู่บนเรือนเรียกว่า “ขันอัญเชิญ” เพื่อเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มงคลของฝ่ายเจ้าของเรือน ส่วนขันที่ 2 เป็นของฝ่ายเจ้าของเรือนหลังใหม่ เรียกว่า “ขันเสมา” (ขมา) เพื่อเป็นการสูมาคารวะสิ่งศักสิทธิ์ที่ปกปักรักษาและสิงสถิตอยู่ภายในเรือนหลังใหม่ที่จะเข้าไปอยู่อาศัย
ก่อนขึ้นบนเรือนจะจัดคนสมมติว่าเป็นผู้ใจบุญ 1 คน มาสร้างเรือนหลังนี้ไว้ให้คนได้อยู่อาศัย และสมมติเจ้าของเรือนหลังใหม่เป็นผู้เร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัยจะมาขออยู่อาศัยเรือนหลังใหม่นี้ มีพิธีการถามตอบกันเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย เช่น ฝ่ายที่อยู่บนเรือนถามว่า “อ้าว หมู่สูเจ้าพากันมา
เป็นครอบครัวจะพากันไปเก๋อ หมู่เจ้าเป็นไทบ้านเลอ” ฝ่ายเจ้าของเรือนที่อยู่ข้างล่างจะตอบว่า “โอ้ยหมู่ข้าน้อยพลัดบ้านหลงเมืองมา มาแต่เมืองพวนพู้น หนีพวกฮ้อพวกแกวมา ก็เลยพากันหนีตายเอาดาบหน้า กายมาทางนี้ (ผ่านมาทางนี้) เห็นเรือนหลังนี้หมดเสอเหม่อเกลี้ยงดี ก็เลยแว่เข้ามาถามหมึ่ง เรือนหลังนี้เป็นของผู้มีบุญท่านเลอ”
ฝ่ายบนเรือนก็ตอบว่า “อ้าว หมู่เจ้าเป็นคนพวนบ้อ หมู่ข้อยที่อยู่ในบ้านนี้ก็เป็นคนพวนทั้งหมด ผู้เฒ่าผู้แก่เพิ่นเล่าเฮ้อฟังว่าพากันมาอยู่นี่ได้ 100 กว่าปีแล้ว บ้านหลังนี้พ่อเศรษฐีผู้หนึ่งเพิ่นสร้างไว้ เพื่อเฮ้อผู้บ่มีที่อยู่ที่กินได้มาพักอาศัย หมู่เจ้าที่พากันมานี้คงจะเป็นคนดีทั้งหมดเน๊าะ”
ฝ่ายเจ้าของเรือนก็ตอบว่า “หมู่ข้าน้อยที่พากันมาที่นี่มีแต่คนดี มีศีลมีธรรมทั้งหมด คนฮ้ายขี้ลักขี้จกขี้เปี้ยขี้ยาบ่มี” และฝ่ายบนเรือนจะตอบว่า “ถ้าหมู่เจ้าเป็นคนดีมีศีลมีธรรม ขอเชิญขึ้นมาอยู่บนเรือนหลังนี้ได้เลย” แล้วก็พากันโห่ร้องไชโย 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี (รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561)
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต
การแต่งงานและการหย่าร้าง
ประเพณีแต่งงานของไทยพวนหรือกินดองไทยพวน เริ่มต้นจากการรักใคร่ชอบพอกันของคนหนุ่มสาว จากนั้นจะบอกให้พ่อแม่มาสู่ขอ อาจจะรักชอบกันตั้งแต่การลงข่วงหรือในช่วงเวลาอื่น บางรายจะหมั้นหมายกันไว้ก่อน แล้วจึงมาแต่งงานกันภายหลัง ทั้งนี้ ส่วนใหญจะสู่ขอและจัดพิธีแต่งงานกันในทันทีการแต่งงานของชาวไทยพวนเรียกว่า การเอาผัวเอาเมีย
การหาฤกษ์แต่งาน จะให้พระผู้ใหญ่หรือตารย์ผู้รู้ฤกษ์ยามที่เคารพนับถือหาให้ เมื่อได้ฤกษ์แล้วฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะแจ้งญาติพี่น้องให้มาโฮม (รวม) กันก่อนวันแต่ง 1 วัน ในช่วงเย็นฝ่ายเจ้าสาวจะเตรียมอาหารไว้เลี้ยงแขกที่จะมาในงาน
เช้าวันแต่งงาน ตามฤกษ์ จะมีการแห่เจ้าบ่าวมาที่บ้านเจ้าสาว ที่บ้านเจ้าสาวญาติพี่น้องจะเอาหินมาวางเอาใบตองปูแล้วเอาหญ้าแพรกวางบนใบตองกั้นประตูเงินประตูทอง (เรียกเงินเรียกเหล้ายา) จากนั้นจึงจะปล่อยเจ้าบ่าวไปเข้าพิธี ฝ่ายเจ้าสาวจะถูกซ่อนตัวอยู่ในห้องต้องหาคนผัวเดียวเมียเดียวไปจูงออกจากห้องมาเข้าพิธี
ญาติผู้ใหญ่จะเลือกทิศที่เป็นมงคลให้บ่าวสาวนั่ง เมื่อได้เวลาฤกษ์ หมอพรจะสูดขวัญ เมื่อสูดขวัญเสร็จพ่อแม่เจ้าบ่าวจะผูกแขนเจ้าสาวรับเป็นลูกสะใภ้ พ่อแม่เจ้าสาวก็จะผูกแขนเจ้าบ่าวรับเป็นลูกเขย จากนั้นจึงจะให้ญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งแขกที่มาร่วมงานทำการผูกแขนจนครบ
จากนั้นญาติผู้ใหญ่หรือเฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะเอาสินสอดของหมั้นมาให้คู่บ่าวสาวถือเป็นสินสร้าง เพื่อก่อร่างสร้างตัว หลังจากการผูกข้อต่อแขนแล้ว จะสมมาผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ ฝ่ายหญิงจะเตรียมผ้าแพร ผ้าตุ้ม ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น มาสมมาผู้เฒ่าผู้แก่ ญาติผู้ใหญ่ที่มาในงาน
เมื่อถึงช่วงเวลาในการส่งตัวบ่าวสาวญาติฝ่ายเจ้าสาวจะมาดึงคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอเพื่อรับศีลรับพรจากผู้ใหญ่และฟังการอบรมสั่งสอนการอยู่กินฉันสามีภรรยา
การนอนต้องให้สามีนอนก่อน ภรรยาจะเข้านอนทีหลัง ถ้าเป็นวันพระ ให้ภรรยานำดอกไม้มาไหว้สามีก่อนนอน กราบสามีก่อนนอน ให้ภรรยานอนต่ำกว่าสามี
ตอนเช้า ให้ภรรยาเตรียมน้ำไว้ปลายเตียงให้สามีล้างหน้าล้างตาและเตรียมหมากพลูไว้ด้วย
การกิน ต้องให้สามีกินก่อน 3 คำ ภรรยาจึงเริ่มกินได้
เสื้อผ้า ไม่ให้เก็บปนกัน ไม่ตากผ้าร่วมกัน ไม่ใส่เสื้อผ้าปนกัน
ผู้ชาย ไม่ลอดราวตากผ้าจะทำให้การเรียนมนตรี คาถา เสื่อมไป
การกินดองไทยพวน นิยมจัดขึ้นในเดือน 4 เดือน 6 เดือน 12 การงานงานฝ่ายชายมักไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงเป็นเขยฝาก แต่หากฝ่ายชายเป็นลูกชายคนเดียวจะแต่งลูกสะใภ้เข้าบ้าน ค่าสินสอดจะแพงขึ้นกว่าเขยฝาก (รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561)
ความตายและการทำศพ
ในอดีตเมื่อมีผู้เสียชีวิตจะมีการดอยศพ (ตราสังศพ) ตั้งศพมีผ้าปกโลงหรือผ้าปกกะโลง เป็นผ้าทอผืนใหญ่ จำนวน 2 ผืนติดกันหลังจากเผาศพหรือฝังศพไปแล้วผ้าปกกะโลงจะนำถวายพระ
เมื่อตั้งศพอยู่ที่บ้านจะมีละเล่นที่มีความสนุกสนานเพื่อคล้ายความโศกเศร้า หรือเรียกว่า “งันเฮือนดี” รวมทั้งมีพระมาสวดศพ หลังจากที่พระกลับวัดแล้ว จะมีการอ่านหนังสือธรรมโดยผู้รู้ ขณะที่ศพอยู่ที่บ้าน คนในบ้านจะหยุดการทำงานบ้านเช่น ทอผ้า ตัดผม เข็นฝ้าย และตัดหูก
เมื่อถึงกำหนดวัดเผาหรือฝังศพ การเอาศพลงจากบ้านไปป่าช้า ซึ่งป่าช้าจะไม่อยู่ในเขตวัดแต่จะเป็นบริเวณป่าที่ไกลออกไปจากตัวหมู่บ้าน เมื่อเดินถึงป่าช้า เรียกว่า ป่าเห้ว จะหว่านข้าวตอกนำหน้าศพ เป็นการป้องกันผีตายอดตายอยากที่มารับผู้ตายไม่ให้ไปหาศพการจะทำให้ไม่สามารถหามศพได้เพราะน้ำหนักมากขึ้นและถือเป็นอัปมงคล การเอาศพลงบ้านจะพลิกบันไดกลับข้าง เมื่อศพลงพ้นก็พลิกกลับเป็นการกันไม่ให้ผีกลับบ้านได้ถูก เพราะจำทางขึ้นบ้านไม่ได้
การเลือกพื้นที่เผาหรือฝังศพ จะต้องเสี่ยงไข่ด้วยการโยนไข่ถามทางว่า ผู้ตายชื่นชอบพื้นที่บริเวณใดจะเผาหรือฝังบริเวณนั้น เช่นเดียวการตั้งกองฟอนหรือกองขี้เถ้าศพที่เผาแล้ว จะต้องโยนไข่ถามผู้ตายว่าชื่นชอบบริเวณใด ส่วนการฝังศพ เมื่อฝังเรียบร้อยจะมีธงหน้าวัวปักไว้ทั้ง 4 มุมของหลุมศพ ไม้ที่ใช้หามศพไปป่าช้าจะถูกผ่า เสี้ยมให้เป็นหลาวแล้วจับซัดไปในหลุมศพให้เต็มแน่นเป็นขวากป้องกันสัตว์ป่ามาขุดคุ้ยศพ
หากเป็นการตายโหงหรือตายทั้งกลมจะนำศพฝังแยกต่างหาก ไม่ร่วมป่าช้ากัน หากเสียชีวิตด้วยโรคระบาด เช่น ห่าลง ฝีดาษ จะเอาศพไว้ได้ไม่เกิน 1 วัน ให้ตายเช้าเผาเย็น
เมื่อกลับจากเผาศพหรือฝังศพ จะกลับเข้าบ้านทันทีไม่ได้ ต้องเดินเข้าไปในวัดและผ่านประตูวัดที่ชาวบ้านจะเตรียมน้ำมนต์ รวมทั้งน้ำใบส้มป่อย ใบว่านชน และเอากิ่งหนามพุทราวางที่ถังน้ำอกลับจากเผาศพจะเดินเข้าวัดเอากิ่งหนามพุทราจุ่มน้ำแล้วสาดไปข้างหลังไล่ผีไม่ให้ตามกลับบ้านและขับไล่เคราะห์เข็ญให้หลุดพ้นไป จากนั้นให้ขึ้นไปไหว้พระบนศาลาก่อนจึงจะกลับบ้านได้ ปัจจุบัน ไม่มีการเผาศพบนเชิงตะกอน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะถูกนำทำพิธีและเผาเมรุที่วัด
เมื่อบรรพบุรุษเสียชีวิต ลูกหลาน ญาติพี่น้องจะทำบุญให้ เรียกว่า ทำบุญกระดูกหรือทำบุญอัฐิเป็นประจำทุกปีในช่วงวันปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ จะนำกระดูกหรืออัฐิมาสรงน้ำมีการทำบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ และมีการทำบุญห่อข้าวดำดินในช่วงประเพณีสารทพวน โดยจะมีการทำสลากภัตอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับพ่อแม่บรรพบุรุษที่เสียชีวิต (รชพรรณ ฆารพันธ์, 2561)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
วัลยา นามธรรม นักวิจัยอิสระ
บังอร ปิยะพันธ์. (2529). ประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวลาวในหัวเมืองชั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2558). ราชอาณาจักรลาว. กรุงเทพ: เคล็ดไทย
ปรารถนา แซ่อึ๊ง. (2543). การปกครองของไทยที่มีต่อเมืองพวนและชาวพวนในราชอาณาจักรไทยระหว่าง พ.ศ. 2322-2436, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โพธิ์ แซมลำเจียก. (2537). ตำนานไทยพวน. กรุงเทพมหานคร: สามัคคีสาร
วิเชียร วงศ์วิเศษ. (2525). ไทยพวน. กรุงเทพฯ : วัฒนพานิช
สิลา วีระวงศ์ .(2535). ประวัติศาสตร์ลาว. กรุงเทพฯ : มติชน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). (2559). ความเป็นไทย/ความเป็นไท. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
สภาวัฒนธรรมอำเภอปากพลี และศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก (2548).ราชบุรี. ธรรมรักษ์การพิมพ์
อภิรัชศักดิ์ รัชรีวงศ์. (2543). คนพวนในประเทศไทย, มิถุนายน 2551 (อัดสำเนา)
บุษยมาส แดงขำ (2556). แนวทางการจัดการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดฝั่งคลอง (ไทยพวน) ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
รชพรรณ ฆารพันธ์. (2561). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์พวน จังหวัดแพร่. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
รชพรรณ ฆารพันธ์. (2561). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์พวน จังหวัดอุดรธานี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
รชพรรณ ฆารพันธ์. (2561). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์พวน จังหวัดเพชรบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
รชพรรณ ฆารพันธ์. (2561). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์พวน จังหวัดสุพรรณบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
วัลยา นามธรรม นักวิจัยอิสระ