ไทยโคราช มีการสันนิษฐานว่า คนกลุ่มนี้อพยพมาจากหัวเมืองจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนสยามจากเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. 2310 อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของไทยโคราชปรากฎผ่านภาษา เพลงโคราช รวมถึงการเคารพบูชาท้าวสุรนารี
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทโคราช
ชื่อเรียกตนเอง : ไทยโคราช
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาว, ไทยโคราช
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไทยกลาง,ภาษาอีสาน,ภาษามอญ,ขะเเมร์ลือ
ภาษาเขียน : -
คนไทโคราช ไม่ใช่ชื่อเรียกชนชาติและเชื้อชาติ ไม่ใช่อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ตายตัว แต่เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ผ่านการกรองและการต่อรองกับอำนาจของรัฐศูนย์กลางของคนกลุ่มวัฒนธรรมไทย คนไทโคราชแสดงถึงกลุ่มคนที่ใช้ภาษาโคราชเป็นหลัก มีวัฒนธรรมการกิน การอยู่อาศัย และลักษณะของแต่งกายแตกต่างจากคนอีสานบริเวณอื่น แต่ก็ไม่เหมือนคนภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพ คนโคราชในอดีตได้รับการดูถูกจากคนไทยจนรู้สึกตัวเองเป็นคนต่ำต้อยบ้านนอกเมื่อเปรียบเทียบกับคนไทยภาคกลาง แต่จากการสถาปนาวีรสตรีแห่งชาติของท้าวสุรนารีขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งโดยรัฐศูนย์กลาง คนโคราชก็สามารถใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ของท้าวสุรนารีเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของตนได้อย่างภาคภูมิใจ
กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทโคราชหรือไทยโคราชนั้นผูกพันกับชื่อของเมือง นครรราชสีมา ซึ่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาลในฐานะชุมชนบนแอ่งโคราชที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายเส้นหนึ่งระหว่างเมืองต่าง ๆ แถบชายฝั่งทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียรากเหง้าของไทโคราชก็พัฒนาการมาจากการผสมเชื้อชาติและการผสานวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่าง ๆ นักวิชาการส่วนใหญ่มีข้อสรุปตรงกันว่าบรรพบุรุษกลุ่มใหญ่ของไทโคราชคือผู้คนที่อพยพมาจากอยุธยาและหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงเวลาที่ศรีอยุธยากำลังแตกในปี พ.ศ. 2309 ทำให้วัฒนธรรมโคราชแตกต่างจากคนอีสาน
ปัจจุบัน ความเข้าใจโดยทั่วไปมักเหมารวมว่าคนโคราชก็คือคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ตาม คนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดเองก็มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ยวนที่อำเภอสีคิ้ว ลาวที่อำเภอสูงเนิน มอญที่ปักธงชัย หรือแม้แต่ภายในตัวเมืองนครราชสีมาเองก็มีทั้งคนจีน คนแขก คนไทย และคนโคราช เป็นต้น สิ่งบ่งชี้อัตลักษณ์ของไทโคราชได้นั้นอาจพิจารณาจากคนที่พูดด้วยภาษาโคราช หรือคนที่ดูหรือคนที่แสดงเพลงโคราช หรืออาจรวมถึงคนที่เคารพบูชาท้าวสุรนารี กล่าวได้ว่าทั้งหมอเพลงโคราชและคนดูเพลงโคราชคือกลุ่มตัวแทนของไทโคราชที่ชัดเจนที่สุด ส่วนไทโคราชอื่น ๆ ส่วนใหญ่ได้รับเอาวัฒนธรรมไทยมาสร้างอัตลักษณ์ของตนเองจนกลายคนไทยเรียบร้อยแล้ว
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
“โคราช” เป็นคำที่บ่งบอกถึง ผู้คนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมแบบ “ไทโคราช” และคำวว่านครราชสีมานั้น คือ เขตการปกครองที่มีการแบ่งไว้อย่างชัดเจนและเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและในทางชาติพันธุ์ อาทิ เช่น ไท-อีสาน ไท-จีน ไท-ยวน ไท-เขมร ไท-มอญ ไท-กุย ไท-ซิกข์ และกลุ่มไท-โคราช (สุนทรี ศิริอังกูร, 2555: 9)
นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีขอบเขตตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของแอ่งโคราช โดยแต่ละทิศจะมีอาณาเขตติดต่อกับทิวเขาและแอ่งต่างๆ และยังมีพื้นที่ขอบแอ่งอีกด้วย อย่างทิศตะวันตกมีทิวเขาเพชรบูรณ์ตะวันออกและทิวเขาดงพญาเย็นเป็นขอบแอ่งและทิวเขาก็จะพาดผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ ตามแนวเส้นแบ่งเขตของแต่ละจังหวัด นอกจากนี้แล้วยังมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ซึ่งจะไหลไปรวมกันสิ้นสุดอยู่ที่แม่น้ำโขง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 32)
ก่อนประวัติศาสตร์เป็นแหล่งผลิตเหล็กและเกลือสินเธาว์ในภูมิภาค
แอ่งโคราชมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะมีความกว้างและใหญ่พอสมควร มีลำน้ำมูล ลำน้ำชี และลำน้ำอื่นๆเป็นสาขา และลำนำเหล่านี้ก็หล่อเลี้ยงตัวแอ่งอยู่ ซึ่งสาขาของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีจะไหลผ่านทางใต้ และโดยส่วนใหญ่บริเวณที่มีลำน้ำไหลผ่านนั้นจะเป็นที่ราบลุ่ม มีเกลือสินเธาว์และแหล่งถลุงเหล็ก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าขายกับโลกภายนอกตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2546ก: 33, 41)
แอ่งโคราชนั้นมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนราว 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งมีการยืนยันไว้อย่างชัดเจนทั้งในบริเวณ เนินอุโลก อำเภอโนนสูง ภาพเขียนที่เขาจันทน์งาน อำเภอสีคิ้ว หินตั้งในอำเภอสูงเนิน บ้านโนนวัดและบ้านปราสาท อำเภอโนนสูง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: น.52- 58, 82-83)
ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนในแอ่งโคราชได้เป็นสถานที่สำหรับการติดต่อและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ อย่าง กลองสำริด อาวุธ และเครื่องประดับ รวมไปถึงการทำประเพณีการฝังศพในไหแบบชุมชนโบราณบริเวณชายฝั่งเวียดนาม (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2546ข: 61-64)
พุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 18 เป็นชุมทางของฮินดูและพุทธ
พระพุทธศาสนาได้ถูกเผยแพร่มายังบริเวณพื้นที่แอ่งโคราชอันเป็นอิทธิพลของทวารวดีทั้งคติหีนยานและคติมหายาน นอกจากศาสนาพุทธแล้วก็ยังมีการเผยแพร่ศาสนาฮินดูที่ได้รับอิทธิพลมาจากขอมซึ่งมีการยืนยันจากหลักฐานการสร้างเมืองพิมายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีการสร้างทั้งศาสนสถาน อ่างเก็บน้ำหรือบาราย รวมถึงชุมชนแบบขอม สถานที่สำคัญในช่วงนี้คือ ปราสาทหินพิมายซึ่งเป็นวัดพุทธคติมหายาน และมีความเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์ขอม เมืองพิมายมีความสัมพันธุ์เรื่องการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการค้าเกลือและเหล็ก และยังเชื่อมต่อระหว่างแอ่งโคราชและโตนเลสาบ กัมพูชา ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมขอมเสื่ิอมลง พระพุทธศาสนาคติเถรวาทจากลังกาเฟื่องฟูขึ้นมา
พุทธศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ชุมทางการค้าขายของคนพื้นถิ่น เขมร ลาว ไทย และจีน
ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการรับอิทธิพลของขอมมาเป็นการรับอิทธิพลของอยุธยา จากคำบอกเล่าของนักปราชญ์ชาวลาว ว่าพระเจ้าฟ้างุ่มแห่งเมืองเชียงทองได้ขยายอิทธิพลต่อมาบริเวณเขตที่ราบสูงโคราช ซึ่งทางกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้ต้องการที่จะมีอำนาจเหนือบริเวณรี้ จนกระทั้งในช่วงเวลาต่อมาด้วยอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาทำให้สามารถทำการสถาปนาอำนาจเหนือเมืองพิมายบนลุ่มน้ำมูลได้สำเร็จ
ในช่วงปี พ.ศ. 2083-2086 สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าแห่งนครเชียงทอง ได้ร่วมมือกับพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยสร้างพระธาตุศรีสองรักให้เป็นหลักเขตแดน (ในปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) ระหว่างสองอาณาจักร แต่หัวเมืองท้องถิ่นต่างๆ ก็มีอิสระในการปกครองตนเอง และยังเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนลาว ส่วย กวยหรือเขมร (สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ, 2540: น.135-136)
หลักฐานที่ค้นพบอย่างภาชนะดินเผาในสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 20 ได้ค้นพบควาามเชื่อมโยงระหว่างคนลาวในแคว้นล้านช้าง คนจีนในสมัยราชวงศ์เหม็ง และคนจากสุโขทัย ที่มีการทำภาชนะดินเผาแบบแกร่งของลาวล้านช้างดินเผาแบบเคลือบตามลักษณะของจีนและของสุโขทัย รวมไปถึงการทำนาเกลือในชุมชนโบราณที่อำเภอโนนไทย ก็พบเศษภาชนะเคลือบแบบของสมัยลพบุรี อีกทั้งเครื่องปั้นดินเผาแบบพิมายดำก็บ่งชี้ว่าได้รับอิทธิพลขอมสมัยลพบุรี (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2546ค: น.99, 106-107)
พุทธศตวรรษที่ 20 ปรากฏคำเรียก “นครราชสีมา” และ “โคราช” เป็นเมืองขอบราชอาณาเขต
ข้อสันนิษฐานจากคำอกเล่าของขุนสุบงกชศึกษากร ได้พบ 2 ข้อเกี่ยวกับที่มาของ “โคราช” ซึ่งข้อแรกสันนิษฐานว่าอาจมาจากชื่อเมืองเก่า “โคราค” และเมืองสีมาที่อยู่ใกล้กัน และนำทั้งสองชื่อมารวมกันเป็น “นครราชสีมา” ส่วนข้อที่สองได้สันนิษฐานว่ามาจากการกร่อยเสียงของคำว่า “โคราค” หรือ “โค-รา-คะ” หมายถึงเมืองอันเป็นที่ยินดีของโค อีกทั้งมีแหล่งน้ำและทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจาก “โคราค” เป็นคำที่ไม่มีความหมายจึงได้มีการเปลี่ยนเป็น “โคราช” แทน (ถาวร สุบงกช, 2521: 61)
นครราชสีมานั้นปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาล ซึ่งหมายถึงนครที่เป็นชายขอบของราชอาณาจักร ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ครราช” (คอน-ราด) แล้วเกิดการผิดเพี้ยนเป็น “โคราช” ในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2000 เมืองนครราชสีมานั้นต้องถือน้ำพระพัทธ์ในกฏมณเฑียรบาล ซึ่งถูกตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยเหตุนี้นครราชสีมาจึงถือเป็นพระราชอาณาเขตของอยุธยา และในเวลาที่อยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมาก็มีการสร้างกำแพงอิฐและมีการนำกำลังคนของอยุธยาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาช่วยด้วย จึงส่งผลให้คนนครราชสีมานั้นมีวัฒนธรรมกลุ่มเดียวกับกลุ่มลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและโตนเลสาบ และมีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากวัฒนธรรมลาว (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2538: น.11)
ไม่ใช่แค่ลูกผสมแล้วกลายเป็นเป็นไทโคราช แต่ยังต่อรองเรียกร้องศักดิ์ศรีจากรัฐศูนย์กลาง
เมื่อเมืองพิมายยอมอ่อนน้อมให้อยุธยาส่งผลให้ ทางอยุธยาผลักดันให้นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางแทนเมืองพิมายเพื่อที่จะควบคุมบ้านเมืองและทรัพยากรทางลุ่มแม่น้ำโขงกับโตนเลสาบในกัมพูชา เมืองนครราชสีมานั้นมีศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบของอยุธยาปนเขมร เช่น นุ่งโจงกระเบน เล่นเพลงโคราช เป็นต้น และในส่วนของสำเนียงการพูดภาษานั้น สำเนียงโคราชน่าจะมีรากเหง้าจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนยุคต้นอยุธยาที่พูดเหน่อ(แบบลาว)จัดอยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทย แต่มีความใกล้เคียงกับสำเนียงระยองและจันทบุรีทางชายทะเลฝั่งตะวันออกเพราะมีรากเหง้าจากสองฝั่งโขงเหมือนกัน (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 172, 176, 180)
ช่วงปี พ.ศ. 2199-2231 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์นั้น เมืองนครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่ที่มีกำลังพลมาก และถือเป็นเมืองฐานอำนาจที่สำคัญมาก เป็นเมืองหน้าด่านในสมัยนั้นและมีพรมแดนอยู่ระหว่างลาวกับสยาม (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 187)
จากการสัมภาษณ์คุณนฤมล ปิยวิทย์ ผู้วิัจัยภาษาโคราช สันนิษฐานว่าคนพื้นถิ่นของโคราชนั้นมีทั้งมอญ ขะแมร์ ลาว และอีกหลายชาติพันธุ์ จนกระทั่งสมัยอยุธยามีการส่งไพร่พลขุนนางมาสร้างเมือง จึงมีการผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมคนดั้งเดิมด้วย ทำให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ขึ้น (ธีรภาพ โลหิตกุล, 2551:14)
ไทโคราช เกิดจากครอบครัวข้าราขการของกรุงศรีอยุธยามากลมกลืนกับชาติพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่มีการพัฒนามาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ (สุนทรี ศิริอังกูร, 2555: 10)
หลังปี พ.ศ. 2200 โคราชมีชื่อลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในเอกสารจากหอหลวงว่า “พวกโคราช” อยู่คู่กับ “พวกเขมร” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 197)
ช่วงปี พ.ศ. 2231 เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาจึงทำการยึดอำนาจตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทางเมืองนครราชสีมาไม่ยอมอ่อนน้อมทำให้พระเพทราชาต้องยกกำลังไปปราบปราม (วิทยา อินทะกนก, 2520: 7)
คนเมืองนครราชสีมานั้นมาจากหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งที่อาศัยอยู่ที่เมืองนครราชสีมา จะมีเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำการแย่งอำนาจที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนลาว ในช่วง พ.ศ. 2309 ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตก กรมหมื่นเทพพิพิธยกกำลังชาวเมืองจันทบุรี เมืองระยอง และเมืองฝ่ายตะวันออก หวังจะเข้าตีพม่า แต่เกิดแตกพ่ายจึงพากันหนีเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนครราชสีมา ซึ่งสาเหตุที่เลือกนครราชสีมาเพราะมีหลักฐานส่อเค้ามูลว่าพระมารดาเป็น “ลาว” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 211, 218-219)
คนโคราชนั้นมีรากฐานมาจากหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกและลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลังจากปี พ.ศ. 2310 ซึ่งตรงกับช่วงที่กรุงศรีอยุธยาแตกพอดี นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานอีกว่า คนโคราชอาจจะเป็นกลุ่มที่มาจากหัวเมืองจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี เข้ามาผสมกับคนสยามจากเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากเหตุการณ์ที่กรุงแตกแล้ว ก็ยังมีเหตุการณ์การแย่งชิงอำนาจของกลุ่มก๊กอีกด้วย ก่อนที่ก๊กจะถูกทำลายไป วัฒนธรรมของคนโคราชนั้นมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมอีสานอื่นๆอย่างมากแต่จะมีลักษณะที่คล้ายกับภาคกลางมากกว่า เช่นการกินข้าวเจ้า สำเนียงภาษา (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2538: 14-15)
คนโคราชนั้นมีรากฐานมาจากมอญเช่นกันและเข้ามาอยู่ในช่วงใกล้ๆกันคือในช่วงปี พ.ศ. 2310 โดยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บ้านมอญ
หลังจากสิ้นกรุงศรีอยุธยาแล้ว เหตุการณ์ในเมืองนครราชสีมาเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น มีการตั้งเจ้าเมืองขึ้น โดยที่พระเจ้าตากได้ตั้งหลวงนายฤทธิ์เป็นพระยาสุริยอภัยขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา และตั้งนายจ่าเรศเป็นพระอภัยสุริยาปลัดเมืองนครราชสีมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2325 กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนาขึ้น พระยาสุริยอภัยได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าในพระนามกรมพระราชวังหลัง
(กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง) พระพิมาย (ปิ่น ณ ราชสีมา) ได้เป็นพระยานครราชสีมาขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาโดยได้รับการส่งเสริมจากรัชกาลที่ 1 จะคอยทำหน้าที่ดูแลควบคุมหัวเมืองทั้งหมดภายในภูมิภาคอีสาน-ลาว รวมทั้งหัวเมืองประเทศราชเวียงจัน นครพนม และจำปาศักดิ์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 230, 232, 242-245)
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สยามถือเป็นศูนย์กลางที่มีอำนาจอยู่เหนือลาวและเขมร เพราะชนะสงครามจึงมีการกวาดต้อนเชลยชาวลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่สระบุรี เพื่อมาทำงานก่อสร้าง ต่อมาสยามได้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์แตกทำให้ได้เฉลยเข้ามาเป็นจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานฟากอีสานของสยาม (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, 2539: 23-24)
ช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 คนลาวจากแดนอีสานและในเขตลุ่มแม่น้ำโขงได้ถูกเจ้าเมืองนครราชสีมานำเข้ามาเป็นแรงงานทาส ซึ่งส่งผลให้พวกลาวและข่าตามหัวเมืองต่างๆในอีสานและลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจนกระทั่งต้องหันไปพึ่งพระอนุวงศ์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2538: 15)
จดหมายเหตุนครราชสีมา (อ้างในอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ, 2521: 3-6) คัดบอกในรัชกาลที่ 3 เล่ม 19 จ.ศ. 1188 แสดงถึงการเรียกชื่อเมืองนครราชสีมา ด้วยเรียกทั้ง “นครราชสีมา” และ “โคราช” แต่ยังไม่ระบุชัดว่าเป็นคำเรียกผู้คนหรือกลุ่มคน หรือไม่ก็มีทั้ง 2 ความหมาย คือหมายถึงทั้งชื่อเมืองและหมายถึงคนที่มาจากเมืองนั้น
“ข้าพเจ้า พญาปลัด พญายกกระบัตร หลวงพิชัย หลวงเมือง กรมการเมืองนครราชสีมา บอกลงมาว่า ด้วยอยู่ ณ วันเดือน 3 แรม 7 ค่ำ ปีจออัฐศก เจ้าเวียงจันทน์เข้ามาถึงเมืองนครราชสีมา เจ้าเวียงจันทน์ให้หาพญายกกระบัตร หลวงสัสดี หลวงเมือง หลวงนา หลวงนรา หลวงปลัดเมืองพิมายออกไป เจ้าเวียงจันทน์ว่ากับกรมการว่า ถ้าผู้ใดมิยอมไปด้วยเจ้าเวียงจันทน์จะฆ่าให้สิ้น แล้วจะกวาดเอาครัวขึ้นไปเวียงจันทน์ กรมการกลัวจึงยอมเข้าด้วยเจ้าเวียงจันทน์ เจ้าเวียงจันทน์ให้กองทัพไล่ครัวนอกเมืองในเมืองออกแล้วแต่งกองทัพคุมครัวยกไป ครั้นกรมการจะบอกข้อความลงมากลัวเจ้าเวียงจันทน์จะฆ่ากรมการจึงพาครอบครัวยกไปตั้งอยู่ ณ บ้านลุมเขา เจ้าเวียงจันทน์เก็บเอาปืนหลวงไปสิ้น ครั้ง ณ วันเดือน 4 ข้าพเจ้ามาแต่งบ้านจงกัน ข้าพเจ้าไปเฝ้าเจ้าเวียงจันทน์ ๆ ว่าครอบครัวยกไปแล้ว ให้ข้าพเจ้ายกไปตามครัว ณ เมืองเวียงจันทน์ ข้าพเจ้ายกไปทันครัว ณ บ้านปราสาท พญายกกระบัตร หลวงวัง หลวงนา หลวงนรา หมื่นศรีธนรัตน หลวงปลัดพิมาย เข้ามาหาข้าพเจ้ากับกรมการ ปรึกษาพร้อมกันให้ไล่ครัวเข้ามาตั้ง ณ บ้านสำริดแขวงเมืองพิมาย ข้าพเจ้ากรมการได้บอกข้อความให้ขุนพลถือลงมาบอกกองทัพยกขึ้นไปช่วย ก็หากองทัพยกขึ้นไปไม่ ครั้น ณ วันเดือน 4 แรม 8 ค่ำ เจ้าเวียงจันทน์ให้ยกกองทัพประมาณพันเศษไปตีชิงเอาครัวได้ 5000 เศษยกออกรบ ตีกองทัพเจ้าเวียงจันทน์แตก ข้าพเจ้ากรมการฆ่ากองทัพเจ้าเวียงจันทน์ตายประมาณ 100 เศษ ครั้น ณ วันเดือน 4 แรม 9 ค่ำ เจ้าเวียงจันทน์แต่งให้เจ้าสุทธิสาร บุตร คุมคนประมาณ 6000 เศษ ยกไปตีข้าพเจ้ากรมการอีก ข้าพเจ้ากรมการกับหมื่นศรีธนรัตน หลวงปลัดพิมาย พระณรงค์เดชะยกออกตีกองทัพเจ้าสุทธิสารแตก ข้าพเจ้ากรมการฆ่ากองทัพเจ้าสุทธิสารตายประมาณ 1000 เศษ ได้ปืนเชลยศักดิ์ 50 บอก ครั้งข้าพเจ้ากรมการพระหลวงขุนหมื่นจะยกเข้าตีเจ้าเวียงจันทน์เกลือกกองทัพเจ้าอุปราชเจ้าป่าสัก จะยกกองทัพมากวาดครัวไป ข้าพเจ้ากรมการจึงงดอยู่ คอยกองทัพหลวงขึ้นไป ข้าพเจ้ากรมการจึงบอกให้ขุนโอฐ หมื่นวอถือลงมารับพระราชทานกองทัพหลวงยกขึ้นไปโดยเร็ว ข้าพเจ้ากรมการกับหมื่นศรีธนรัตน หลวงปลัดพิมาย พระณรงค์เดชะ ยกเข้าตีบรรจบกัน ถ้าช้าเห็นจะเสียท่วงทีแก่เจ้าเวียงจันทน์ ข้าพเจ้ากรมการบอกมาให้ทราบ ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 11 ค่ำ ปีจออัฐศก”
“พญาปลัดถามลาวว่ามึงมาทำไม ลาวว่าอนุให้มาฆ่าครัวผู้ชายเสีย แล้วจะกวาดแต่ผู้หญิงไปเวียงจันทน์ พญาปลัดถามว่า อนุจะกลับไปเมืองหรือ ๆ จะคิดรบพุ่งต่อไป ลาวบอกว่า อนุไม่ไปเมืองจันทน์แล้ว จะเอาเมืองโคราชเป็นโลง แล้วพญาปลัดสั่งให้นายอิน บ่าวข้าพเจ้า เอาลาว 5 คนไปฆ่าเสีย ครั้น ณ วันเดือน 4 แรม 10 ค่ำ อุปราชให้ลาว 5 คนถือหนังสือมาถึงเจ้าเวียงจันทน์ มาทางบ้านสำริดที่ครัวอยู่ หลวงปลัดเมืองพิมายจับลาว 5 คนฆ่าเสีย ได้หนังสือในถุงย่ามลาว ในหนังสืออุปราชนั้นว่ามาถึงเจ้าเวียงจันทน์ว่า เกณฑ์ได้ช้าง 150 ช้าง มารับครัวไปเมืองเวียงจันทน์ ครั้น ณ วันเดือน 4 แรม 11 ค่ำ ลาวขี่ช้างมาถึงบ้านสำริด 70 ช้าง คนขี่ช้างมาช้างละ 2-3 คนบ้าง พวกครัวฆ่าลาวตาย 70 คน ที่เหลืออยู่ลาวโดดช้างหนีไป 30 เศษ พวกครัวจับได้ช้าง 60 ช้าง ณ วันเดือน 4 แรม 11 ค่ำ พญาปลัด พญายกกระบัตรกรมการ จะเข้าตีค่ายอนุ เกรงอุปราช ป่าสัก จะยกมาตีครัว จึงยกครัวเข้าไปถึงบ้านเปลาะปลอ ทางใกล้เมืองโคราชเช้าจนเที่ยง แล้วพญาปลัดกรมการจึงทำหนังสือบอกให้ข้าพเจ้าถือลงมาทางสำริด พบนายอยู่ นายชู บ่าวเจ้าพญาโคราช ข้าพเจ้าถามว่าเจ้าพญาโคราชอยู่แห่งใด นายอยู่ นายชู บอกว่าอยู่บางระแนะ มีคนอยู่ 1000 ครั้น อยู่ ณ วันเดือน 4 แรม 6 ค่ำ พญาไกรสงครามเมืองขุขัน ยกทัพมา 5000 เศษ รบกันกับเจ้าพญาโคราช ๆ เห็นจะต้านทานมิได้ ถอยไปถึงเมืองสวายจิต แลเจ้าพญาโคราชจะเอาครอบครัวไปฝากพญาอภัยภูเบศร เมืองปัตบองไว้ แล้วว่าเจ้าพญาโคราชจึงจะลงไป ณ กรุงเทพฯ นายอยู่ นายชู ว่าเจ้าพญาโคราชไม่กลับเมืองโคราชแล้ว ข้าพเจ้ามาถึงบ้านมะเริ่งที่ครัวขุนพลอยู่ ณ วันเดือน 4 แรม 13 ค่ำ ข้าพเจ้าพูดกับขุนพลตามในหนังสือบอกพญาปลัด ขุนพลจึงให้ขุนแก้วสิงหราช ขุนอาจรักษา ไพร่ 3 คน ขี่ม้าถือหนังสือไปถึงพญาปลัด พญายกกระบัตร กรมการ ว่าจะยกเข้าตีเจ้าเวียงจันทน์วันไร”
คำเรียกว่า “โคราช” ที่มีความหมายว่าคนปรากฏในจดหมายเหตุนครราชสีมา คัดบอกในรัชกาลที่ 3 เล่ม 1 จ.ศ. 1189 (อ้างในอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ, 2521: 7) อย่างไรก็ตามยังคงมีความหมายได้ทั้ง 2 ความหมาย คือหมายถึงได้ทั้งคนและชื่อเมือง
“วันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุนนพศก (พ.ศ. 2370) พญาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่าบอกลงมาว่า พระเสนาพิพิธ เป็นผู้ช่วยราชการกรุงเก่า พานายช้าง มหาดเล็ก ซึ่งถือหนังสือบอกพญาสมบัติบาลกับนายจำรงนั้นนำขึ้นไปเฝ้าล้าเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ณ ค่ายขอนขว้าง กลับลงมาได้ความว่า ขุนพลให้หนังสือไปถึงค่ายเวียงจันทน์ว่า อ้ายเคอะมาหลงเชอะกวาดครัวโคราชอยู่ พวกเมืองเชียงใหม่เขายกไปกวาดครัวเมืองเวียงจันทน์ตื่นกันไปสิ้นแล้ว ทัพเมืองเวียงจันทน์ เลิกกลับไปจากโคราชแต่ ณ วันเดือน 4 แรม 14 ค่ำแล้ว ทิ้งข้าวของช้างม้าเสียเป็นอันมาก กำหนดล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จะได้ยกจากขอนขว้างขึ้นไปเมืองโคราช ณ วันเดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ เป็นแน่แล้ว”
“ครัวโคราช” ในสมัยนั้นน่าจะหมายถึงผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยถิ่นที่เมืองนครราชสีมา ดังปรากฏในสมุดไทยดำ ร.3 จ.ศ. 1207 เลขที่ 277 (อ้างในอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ, 2521: 31-32) สารตราถึงพระยาสุริยเดช พระพรหมภักดี พระพิไชย เมืองนครราชสีมา เรื่องนำตั้งอากรสุรา ความตอนหนึ่งว่า
“แลให้ขุนอินทรสมบัติต้มสุราจำหน่ายสุรา แก่ราษฎรแต่ในจังหวัดแขวงเมืองนครราชสีมาเมืองขึ้นนครราชสีมา 10 เมือง ห้ามอย่าให้ขุนอินทรสมบัติเอาน้ำสุราไปจำหน่ายล่วงแขวง และหัวเมืองอื่นนอกกว่า 10 เมืองนี้เป็นอันขาดทีเดียว และให้ผู้รักษาเมืองให้กรมการ หมายห้ามแขวงนายบ้านนายอำเภอ ราษฎร ไทย จีน ลาว ญวน ฉวงฉราย และอาณาประชาราษฎร์ให้ทั่ว อย่าให้ต้มเหล้าปิดตา ทำน้ำตาลส้ม น้ำตาลกระแช่ น้ำตาลมะพร้าว น้ำข้าวหมากดองเป็นเหล้ากิน และซื้อขายแก่กันเป็นอันขาดทีเดียว”
สายพิณ แก้วงามประเสริฐ (2538: 237-238) อ้างถึงผลงานปริวรรตเอกสารพื้นเวียงเมืองเวียงจันทน์ของทองพูล ศรีจักร ให้ภาพเหตุการณ์ชาวโคราชจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพลาวเจ้าเวียงจันทน์ โดยนับชาวโคราชในความหมายที่เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับ “คนไทย” มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“... หญิงชายพร้อมแจงกันเป็นหมู่ ถือค้อนโป้งปืนนั้นสู่คนเขาก็ตกตื่นเต้นปบแล่นสนสวาน มือถือปืนหอกทวนทั้งง้าว ... ครัวเยือกออกฟันเข้าสู่ภาย หั้นแล้วครัวก็ฟันแทงเข้าญิงชายพร้อมพร่ำ เขาก็ตีม้าล้อมระวังเข้าช่วยกัน เสียงปืนพร้อมกุมกันเค็งคื่น ... ไทยก็ตายมากล้นเสมอเพี้ยงดั่งเดียว หั้นแล้ว นับแต่กุมกันเข้ากลองงายใกล้เที่ยงจริงแล้ว ลาวก็ทนบ่ได้เลยเต้นแตกหนี ไทยก็ตียังม้านำแทงฝูงบ่าว คับท่งกว้างเสียงฮ้องดั่งความย หั้นแล้ว...”
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของบางกอกที่มีต่อคนเมืองนครราชสีมากลับมีความหมายว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกับลาว สุริยา สมุทคุปติ์ พัฒนา กิติอาษา ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล และจันทนา สุระพินิจ (2540: 143-145) อธิบายว่าในปี พ.ศ. 2434 รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำการปฏิรูปการปกครองต่อ “หัวเมืองลาว” ที่อยู่ใต้การปกครอง โดยได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองนครราชสีมา จากตอนนั้นเรียกว่า “ลาวฝ่ายกลาง” ให้เป็นชื่อ “ลาวกลาง” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสยามมองเมืองนครราชสีมาในฐานะ “ลาว” หรือคนที่ไม่ใช่สยาม แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2436 เมื่อสยามยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส สยามเริ่มสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ จึงทำให้กลุ่มคนชาติพันธุ์ลาวและกลุ่มอื่นๆ เป็นคนชาติไทยบังคับสยาม
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2558: 255-265) พ.ศ. 2418 รัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกองทัพกรุงเทพไปปราบฮ่อที่หนองคาย มีการพักทัพที่เมืองนครราชสีมาหลายคืน เหล่านายทหารและไพร่พลจำนวนมากได้เสียเป็นสามีภรรยากับหญิงสาวเมืองนครราชสีมา ซึ่งทิม สุขยางค์ หรือหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (2533) แต่งนิราศหนองคาย (พิมพ์ใหม่ร่วมกับบทวิเคราะห์ของสิทธิ ศรีสยามหรือจิตร ภูมิศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2533) เมื่อครั้งนายทิมทำหน้าที่เป็นทนายของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง แม่ทัพในกองทัพที่ยกไปปราบฮ่อ ได้บรรยายลักษณะของธรรมชาติ สังคม และผู้คน ของนครราชสีมา ซึ่งในภาพรวมนั้นแสดงถึงวิธีคิดของคนจากกรุงเทพฯที่ยังเรียกคนนครราชสีมาว่าเป็น “ลาว”
เมื่อปี พ.ศ. 2434 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้เมืองนครราชสีมา เมืองบุรีรัมย์ เมืองนางรอง และเมืองชัยภูมิ รวมเป็นมณฑลนครราชสีมา มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งจากตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมาคนแรก คือ พระยากำแหงสงคราม (กาจ สิงหเสนี) (พ.ศ. 2439-2444) ชาวเมืองนครราชสีมาได้เป็นคนชาติไทยบังคับสยาม หัวเมืองในมณฑลนครราชสีมามี 4 บริเวณ คือเมืองนครราชสีมา เมืองพิมาย เมืองปักธงชัย เมืองนครจันทึก รวมเรียกว่าเมืองนครราชสีมา (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558: 266-268, 270)
การผนวกรวมคนเมืองโคราชให้เป็นคนชาติไทยรวมไปถึงการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือให้ประชาชนในรัชกาลที่ 5
ในกระบวนการการสร้างรัฐชาตินั้นการทำให้ทุกชาติพันธุ์เป็นคนไทยต้องต่อสู้กับวิธีคิดเดิมของคนบางกอกที่ยังมองคนเมืองนครราชสีมาเป็น “คนอื่น” อัตลักษณ์ของคนโคราชที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มวัฒนธรรมภาคกลางและภาคตะวันออกมากกว่ากลุ่มวัฒนธรรมลาวหรือไทยอีสาน ความเป็นคนโคราชนี้แสดงด้วยอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมอาหาร คนโคราชบางแห่งแสดงตัวตนว่าไม่ใช่ไทย แต่ก็ไม่ใช่ลาว คนโคราชทั่วไปมักจะกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ไม่เหมือน “ลาว” ซึ่งกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก รวมทั้งคนโคราชมีสำเนียงภาษาที่เรียกว่า “ภาษาโคราช” แสดงถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในแถบภาคกลาง และภาคตะวันออก มากกว่าการใกล้ชิดกับลาวและอีสาน (สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ, 2540: 132-133)
จากชาติพันธุ์อันหลากหลายกลายเป็นนามสกุลบอกถิ่นฐาน
กลุ่มคนนครราชสีมานั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม (องอาจ สายใยทองม 2546:18) ดังนี้
1) กลุ่มสังคมเก่า หรือกลุ่มไทยโคราช เป็นชนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ใช้ภาษาไทยภาคกลางและภาษาไทยโคราชในการสื่อสาร โดยที่สำเนียงในการพูดจะออกเพี้ยนและใช้น้ำเสียงที่ค่อนข้างห้วน สั้น กร่อนเสียง คำพื้นฐานทั่วไปตรงกับไทยภาคกลาง แต่มีบางคำใช้ภาษาอีสานปะปน ชาวไทยโคราชนั้นจะตั้งภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นบางอำเภอที่มีชาวไทยอีสานมากกว่า เช่น อำเภอบัวใหญ่ อำเภอสูงเนิน เป็นต้น
2) กลุ่มชาวไทยอีสาน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมทั่วไปเป็นแบบกึ่งไทย-ลาว ภาษาที่ใช้คือภาษาไทยอีสาน (ไทย-ลาว) มีชุมชนมากในอำเภอบัวใหญ่ อำเภอห้วยแถลง อำเภอชุมพวง และอำเภอสีคิ้ว
3) กลุ่มสังคมใหม่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาใหม่ มีภาษาและวัฒนธรรมตามกลุ่มชาติพันธุ์เดิม ประกอบด้วยกลุ่มเขมร มอญ ยวนพุงดำ จีน ยวนบน(ญัฮกุร) ส่วย(กุย) แขกซิกข์
คนโคราชนั้นยังไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันหมด ข้อความนี้หมายความว่า หลายชุมชนที่คนโคราชอาศัยอยู่ยังปรากฏรากฐานทางวัฒนธรรมของหลายชาติพันธุ์ เห็นได้จากชื่อเรียกชุมชนที่เป็นตัวบ่งบอกความเป็นชาติพันธุ์ นอกจากชื่อชุมชนแล้ว ภายในกำแพงเมืองมีบ้านที่น่าสนใจอยู่มากมาย เช่น บ้านสวยข่า (บ้านข่า) เป็นต้น(ถาวร สุบงกช, 2521: 63)
หลัง พ.ศ. 2456 นั้นชาวโคราชมีนามสกุลตามประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาบที่ 6 และนามสกุลของคนโคราชในยุคนั้นถือเป็นยุคแรกจะมีลักษณะพิเศษคือบ่งชี้ภูมิประเทศของถิ่นกำเนิดเป็นสำคัญ และเป็นชื่ออำเภอของผู้เป็นต้นสกุลต่อท้ายนามสกุล เช่น
“กลาง” เป็นชื่ออำเภอกลาง ปัจจุบันอำเภอโนนสูง
“ขุนทด” เป็นชื่อด่าน มีขุนทดเป็นผู้ปกครองดูแล ปัจจุบันคืออำเภอด่านขุนทด
“จันทึก” เป็นชื่อเมืองหน้าด่าน ปัจจุบันคืออำเภอสีคิ้ว
“ไธสง” เป็นชื่อเมืองพุทธไธสง ปัจจุบันคืออำเภอพุทธไธสง จังหวัดบุรีรัมย์
“นอก” เป็นชื่อด่าน ปัจจุบันคืออำเภอบัวใหญ่
“สันเทียะ” เป็นชื่อแขวง
“สูงเนิน” เดิมเรียกเมืองเสมา ปัจจุบันคืออำภอสูงเนิน
คนโคราชนิยมตั้งนามสกุลจากฐานภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ (ธีรภาพ โลหิตกุล, 2551: 110-111) อ้างถึงงานของนฤมล ปิยวิทย์ และสัมภาษณ์พิศ ป้อมสินทรัพย์ สองนักวิชาการท้องถิ่น เช่น
“กระโทก” เป็นชื่อมาจากอำเภอโชคชัย
“สันเทียะ” มีถิ่นฐานอยู่อำเภอโนนไทย (ในอดีตชื่อโนนลาว)
“กลาง” เป็นชื่อเรียกเดิมของอำเภอกลาง คือคนที่มีถิ่นฐานอยู่อำเภอโนนสูงและขามสะแกแสง
“จะโป๊ะ” คือคนที่มีถิ่นฐานอยู่อำเภอปักธงชัย
นอกจากนี้บางนามสกุล เช่น “โพธิ์กลาง” และ “ในเมือง” ก็เป็นชื่อเรียกที่ผูกพันกับแต่ละท้องถิ่นในนครราชสีมา
จอหอ เป็นชื่อด่านซึ่งในปัจจุบันเป็นตำบล เช่นเดียวกับด่านขุนทด ด่านจาก ด่านเกวียน ด่านกระโทก ด่านสะแกราช เป็นต้น ซึ่งหลายนามสกุลที่ลงท้ายด้วยชื่อด่านเหล่านี้ (วิทยา อินทะกนก, 2520: 5)
จาก “ลาว” และ “คนอื่น” เป็น “คนโคราช” และ “หลานย่าโม”
ในช่วงทศวรรษ 2470 จากการใช้เครื่องมือสร้างชาติของรัฐบาลและราษฎรในจังหวัดนครราชสีมา มีความโดดเด่นอย่างหนึ่งในเรื่องของ “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ที่เป็นผลงานของรัฐบาลคณะราษฎร์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ จากการยกย่องสามัญชนที่จงรักภักดีต่อชาติ โดยมีนัยสำคัญจากการปราบปรามกบฎฝ่ายเจ้าบวรเดชที่ตั้งฐานกำลังที่เมืองนครราชสีมา และเหล่าทหารกับข้าราชการพลเรือนที่ร่วมมือกับฝ่ายกบฎต่างได้รับการสอบสวนและลงโทษ อีกทั้งเดิมทีท้าวสุรนารีนั้นเป็นสถูปเจดีย์ขนาดเล็กสำหรับบรรจุอัฐิ ตั้งอยู่ที่วัดกลางหรือวัดพระนารายณ์ ซึ่งเป็นวัดที่ใ้ช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สาเหตุที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีได้ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองนั้น ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองของคณะรัฐประหารปี พ.ศ.2475 จากฝ่ายสามัญชน ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์คนนครราชสีมาจากความพยายามอย่างหนักของคณะรัฐบาลที่มองจากกบฎให้กลายเป็นผู้ที่จงรักภักตีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ โดยที่รัฐบาลได้ทำพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และพิธีวางพวงมาลาสักการะสถูปของท้าวสุรนารี แต่ผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับการตกแต่งกู่บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี ต่อมาพระยากำธรพายัพทิศ ข้าหลวงจังหวัด ได้ริเริ่มขอรัฐบาลก่อสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยให้มาตั้งอยู่ที่หน้าประตูชุมพล อันเป็นสถานที่ที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมาสามารถเห็นความสง่าของเธอได้สะดวก อนุสาวรีย์ถูกทำพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2477 และได้รับการกระจายข่าวโดยหนังสือพิมพ์ระดับชาติเพื่อเชิญชวนคนมาร่วมเฉลิมฉลอง มีการลดค่ารถไฟจากกรุงเทพมายังนครราชสีมา
คำแถลงการณ์ของกองทหารแห่งรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานวิทยานิพนธ์ของนิคม จารุมณี (2519) ว่า “พระองค์เจ้าบวรเดช (...) ได้หลอกลวงทหารโคราชให้ต่อสู้กับทหารของรัฐบาล (...) ชาวโคราชหลงเข้าใจผิด (...) แต่บัดนี้ไปขอให้ประชาชนชาวโคราชซึ่งได้ถูกพวกกบฏหลอกเสียจนงวยงงจงเชื่อแต่คำประกาศและคำแถลงการณ์ของรัฐบาลเท่านั้น (...)” และยกรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์หลักเมืองฉบับวันที่ 21 พฤศจิการยน พ.ศ. 2476 ว่า “(...) งานฌาปนกิจศพชาวนครราชสีมาซึ่งต้องเสียชีวติไปในสนามรบเพราะถูกพวกหัวหน้ากบฎหลอกลวงมาสู้รบกับฝ่ายรัฐบาล (...) โดยเริ่มตั้งศพทหารชาวนครราชสีมา ณ สนามหน้าที่ว่าการจังหวัดทหารบกนครราสีมาที่ตั้งศพนี้จัดอย่างวิจิตรพิสดารและดูงามตายิ่งนัก เกือบจะกล่าวได้ว่าทหารนครราชสีมาไม่เคยได้รับเกียรติยสอย่างสูงในเมื่อสิ้นชีวิตอย่างนี้เลย (...)” จากงานที่สายพิน แก้วงามประเสริฐ อ้างถึง จะเห็นว่าคำว่า “ชาวโคราช” ถูกใช้เรียกแทนคนเมืองนครราชสีมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ชาวนครราชสีมา” ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ได้บ่งชี้ถึงเรื่องชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงผู้คนต่างชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันที่เมืองนครราชสีมา
ในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ามีการรณรงค์เรื่องชาตินิยมเพื่อเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจากฝรั่งเศส รัฐบาลได้เผยแพร่แนวคิดชาตินิยมในความหมายของท้าวสุรนารี ด้วยเพลงปลุกใจ ชื่อเพลง “ราชสีมา” ซึ่งแต่งขึ้นโดยหลวงวิจิตรวาทการ ในปี 2479 ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกนำไปร้องในกิจกรรมต่างๆ ภายในจังหวัด และยังถูกใช้เป็นเพลงประจำจังหวัดมาจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งความทรงจำในอนุสาวรีย์ท้
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช เป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมามีกระจายอยู่ทั่วไปทั้ง 32 อำเภอ แต่ที่หนาแน่นที่สุดจะอยู่ที่อำเภอเมือง นครราชสีมา โนนไทย โนนสูง พิมาย จักราช ชุมพวง คง โนนแดง สูงเนิน โชคชัย ขามทะเลสอ ด่านขุนทด ขามสะแกแสง ครบุรี เสิงสาง หนองบุญมาก สีดา บัวใหญ่ เทพารักษ์พระทองคำ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นต้น
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
การดำรงชีพ
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราชนั้นดำรงชีพโดยการประกอบอาชีพซึ่งอาศัยประโยชน์จากสภาพแวดล้อมธรรมชาติบริเวณพื้นที่ที่อาศัยอยู่ อย่างการทำลาน ทำไต้ ทำไร่ ทำนา และหาปลา โดยเครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพนั้นส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ไผ่ และยังมีเครื่องมือบางชิ้นอย่าง ตะกร้าที่มีรูปแบบคล้ายกระบุงขนาดเล็ก ก็ถือเป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเฉพาะและยังถือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนอีกด้วย
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
ขนบประเพณีในรอบปีเมื่อตรุษสงกรานต์ ก็มีก่อพระเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด บังสุกุลกระดูก ทำทานอุทิศบรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว ช่วงเย็นหนุ่งสาวเล่นชักชา หรือชักคะเย่อ เล่นเพลงเจ้าหงษ์ดงลำไย ช่วงค่ำเล่นสะบ้า เมื่อพ้นสงกรานต์ก็ถึงวันเพ็ญเดือนหกวิสาขบูชามีประเพณีเวียนเทียน จากนั้นเข้าพรรษาแรม 1 ค่ำ เดือน 8 วัดต่างๆ ตกแต่งเทียนพรรษาประกวดกัน มีการตกแต่งเทียนเป็นเรื่องราวในคัมภีร์ ชาดก หรือมุขตลก ในระหว่างแห่เทียนมีการเล่นม้าล่อช้าง ในระหว่างพรรษาเดือน 11 เป็นวันสารท ทุกบ้านเตรียมกวนกระยาสารทสำหรับใสบาตรและแบ่งให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน พอถึงวันเพ็ญ เดือน11 วันออกพรรษามีเทศน์มหาชาติ ทอดกฐินผ้าป่า (วิทยา อินทะกนก, 2520: 15)
ในช่วงเดือนหกมีแห่นางแมวขอฝน ถ้าปีไหนไม่มีแววว่าฝนจะตก กำปั่น บ้านแท่น (2554: 18, 26) ได้เล่าว่าคนในหมู่บ้านนำเด็ก ๆ แห่นางแมว หาแมวตัเมียหนึ่งตัวใส่ตระกร้าสานห่าง ๆ ด้วยตอกไม้ พอค่ำลงก็นัดกันออกมารวมที่ถนนกลางหมู่บ้าน แล้วก็ชวนกันร้องเพลงแห่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ เมื่อไปถึงหน้าบ้านใคร เจ้าของบ้านก็สาดน้ำลงมา บางคนก็ให้พริก เกลือ หอมกระเทียม ไก่ เมื่อแห่มาถึงศาลปู่ตาบ้านก็ต้มไกทำอาหารถวายปู่ตา จากนั้นก็แบ่งกันกิน เพลงที่ร้องจะมีเนื้อหาเตือนสิ่งเหนือธรรมชาติว่าถึงเวลาให้ฝนแล้ว “นางแมวเอยร้องแจว ๆ นางแมวขอฝน ขอน้ำมนต์รดแมวข้าที แมวข้านี้มีแก้วในตา ขึ้นหลังคาลงมาไม่ได้ พอลงมาได้คาบไก่วิ่งหนี พอถึงเดือนหกฝนตกทุกที แต่มาปีนี้ไม่มีฝนเลย พ่อเฒ่ากับลูกเขยนอนเกยหน้าผาก ลูกมากหลานมากแกกลัวอดเข่า(ข้าว) วันศุกร์วันเสาร์ชวนกันแห่นางแมว ฝนเทลงมา ฝนเทลงมา”
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
การุณย์ ศุภมิตรโยธิน. 2562. เรือนพ่อคง: ปัญญาสร้างสรรค์และอัจฉริยภาพของช่างท้องถิ่นโคราช [On-line]. ได้จาก: http://www.koratmuseum.com/bankorat/bankorat-karun.pdf
กำปั่น บ้านแท่น 2554. เรื่องเล่าจากครูเพลง. นครราชสีมา: สำนักพิมพ์ตะวันรุ่งซินดิเคท.
ขุนสุบงกชศึกษากร. 2520. “เพลงพื้นเมืองโคราช” ใน วัฒนธรรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. นครราชสีมา: วิทยาลัยครูนครราชสีมา. หน้า 133-15.
ถาวร สุบงกช. 2521. “ภาษาสำเนียงโคราช” (ขุนสุบงกชศึกษากร, ผู้บอกเล่า), ใน ของดีโคราช นิทรรศการวัฒนธรรมไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2 11-15 กันยายน 2521 วิทยาลัยครูนครราชสีมา. นครราชสีมา; หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูนครราชสีมา, หน้า61-63.
ทองพูล ศรีจักร. 2479. เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทร์. พระนคร: โรงพิมพ์บางขุนพรม, น. ก-ค (อ้างในสายพิน แก้วงามประเสริฐ, 2538)
ไทยโชว์ (รายการ). 2552. เพลงโคราช. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. ออกอากาศ 3 กรรกฎาคม 2552.
ธีรภาพ โลหิตกุล. 2551. “หลายชีวิต หนึ่งตัวตน คนโคราช” อนุสาร อสท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 1 (สิงหาคม 2551), หน้า 108-116.
นิคม จารุมณี. “กบฎบวรเดช”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บันเทิงคมชัดลึก. 2553. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2553) หน้า 25.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. 2539. เศรษฐกิจการเมืองสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุคส์.
พันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส และกมลทิพย์ กสิภาร์. 2546. “อาหารพื้นเมืองโคราช” ใน ของดีโคราช เล่มที่ 3 สาขาคหกรรมศิลป์, เปรมวิทย์ ท่อแก้ว และคณะ (บก.). นครราชสีมา: สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎนครราชสีมา. หน้า 37-44.
พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ. 2552. “แม่...คนธรรมดาที่ยิ่งใหญ่ ฟ้าเปิด..ให้ดาวส่องแสง”. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับที่ 1521 ปีที่ 29 (9-15 ตุลาคม 2552), หน้า 69-70.
แพรวพโยม พัวเจริญ. 2554. การศึกษาอัตลักษณ์และคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมเพลงโคราชสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวเยาวชน. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา.
ยุวพันธ์ ศิวพรรักษณ์. 2530. “การละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านหนองน้ำขุ่น ต.ขามทะเลสอ” ใน วัฒนธรรมพื้นบ้านนครราชสีมา. นครราชสีมา: ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น คณะวิชามนุษยศาสตร์ วิทยาลัยครูนครราชสีมา, หน้า 83-101.
วิทยา อินทะกนก. 2520. “เล่าเรื่องเมืองนครราชสีมาแต่โบราณ” เอกสารเผยแพร่วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. นครราชสีมา: หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูนครราชสีมา.
“อีสาน: ความสัมพันธ์ของชุมชนที่มีคูน้ำคันดินกับการเกิดของรัฐในประเทศไทย” ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 29-56.
ศรีศักร วัลลิโภดม. 2546ข. “บาราย (Barai)” สระน้ำโบราณในอีสาน บทบาทลดจนหมดความสำคัญ”ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 57-68.
ศรีศักร วัลลิโภดม. 2546ค. “เกลืออีสาน” ใน ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลังถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 29-56.
สนุกดอทคอม. 2562. "ไอ้แรมโบ้" รัตนพล ส.วรพิน ชีวิตที่ผกผัน เกือบฆ่าตัวตาย สุดท้ายเดินขายซีดีเรื่องราวชีวิตตัวเอง [On-line]. ได้จาก: https://www.sanook.com/sport/156585/
สยามดาราดอทคอม. 2556. “ตั๊กแตนถือฤกษ์ดี วันที่ 7 เดือน 7 ร้องเพลงใหม่ ให้ย่าฟัง” [On-line]. ได้จาก: http://www.siamdara.com/music/130710_17825.html
สยามสปอร์ต. 2556ก. บรรยากาศทัพนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยเดินทางแก้บนต่อแม่ย่าโม ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี [On-line]. ได้จาก: http://www.siamsport.co.th/tablet/viewsclip.php?clip=0004178
สยามสปอร์ต. 2556ข. “ประมวลภาพสาวไทยแก้บน-สักการะย่าโม” [On-line]. ได้จาก: http://www.siamsport.co.th/sport_volleyball/130922...
สายพิน แก้วงามประเสริฐ. 2538. การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา. 2560. มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เรือนโคราช [On-line]. ได้จาก:
https://www.youtube.com/watch?time_continue=3&v=2QlhCvQZWdA
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. 2562. นิทรรศการวิถีชีวิตชาติพันธุ์ไทยโคราช [On-line]. ได้จาก: http://cul.bru.ac.th/นิทรรศการวิถีชีวิตชาติ-4
ทิม สุขยางค์. 2533. นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา ผนวกนิราศหนองคาย, ในสิทธิ ศรีสยาม (จิตร ภูมิศักดิ์). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ส่องสยาม.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2538. “คำนำเสนอ” ใน การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, สายพิน แก้วงามประเสริฐ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 10-23.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2558. โคราชของเรา. กรุงเทพฯ: มติชน
สุนทรี ศีริอังกูร (บก.). 2555. เพลงโคราชเล่ม 1 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโวกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 7 รอบ. นครราชสีมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา.
สุนารี ราชสีมา. 2556. “เปาวลี-สุนารี 'We Love ลูกทุ่ง'” เรื่องโดยมนัชญา นามละคร http://www.manager.co.th/Taste/ViewNews.aspx?NewsI... (access 7 December 2013)
สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา, ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล, จันทนา สุระพินิจ. 2540. วิธีคิดของคนไทย: พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของลาวข้าวเจ้า” จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สาขาวิชาศึกษาทั่วไป, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
สุริยา สมุทคุปติ์; พัฒนา กิติอาษา. 2544. ยวนสีคิ้ว: เรื่องเล่า ความทรงจำ และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยยวนในจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สาขาวิชาศึกษาทั่วไป, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา. 2540. รายงานประจำปี 2539. นครราชสีมา: สมบูรณ์การพิมพ์.
องอาจ สายใยทอง. 2546. เพลงกล่อมลูกโคราช. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางประจักษ์ศุภอรรถ เนื่อง (อินทรนุชิตร์ ณ ราชสีมา) อินทะกนก ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2521
ผู้เรียบเรียงข้อมูล