ดาราอาง เดิมตั้งถิ่นฐานในตอนเหนือของรัฐฉาน ภายใต้อาณาจักรไตมาว จากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองทำให้ชาวดาราอางได้หลบหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ เดิมถูกจัดให้มีสถานะบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งที่ดินได้ การดำรงชีพจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากแม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีความชำนาญในการปลูกชาพันธุ์ดีตั้งแต่ครั้งอยู่อาศัยในเมียนมา ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้มีการดำรงชีพที่หลากหลาย ทั้งการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีที่ดินเป็นของตนเองแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และมีบางกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ชาวดาราอาง ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความโดดเด่นด้านการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดใส มีการรำดาบและมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ดาราอาง
ชื่อเรียกตนเอง : ดาราอาง, ดาระอางแดง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ปะหล่อง, ว้าปะหล่อง
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : ปะหล่องทอง,ปะหล่องรูไม,ปะหล่องเงิน
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน
“ดาราอาง” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง หมายถึง คนที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง หรือเรียก ว่า “ดาอาง” ขณะที่ชาวไตในรัฐฉานส่วนใหญ่เรียกพวกเขาว่า คุนลอย หมายถึง คนดอย หรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง คนส่วนใหญ่ในเมียนมามักเรียกว่า “ปะหล่อง” ชาวดาราอางในสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกตนเองว่า เต๋ออาง ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ในประเทศจีนนั้นเรียกพวกเขาว่า ปลัง หรือปุหลัง ในประเทศไทย เริ่มแรกนั้นรู้จักดาราอางในชื่อเรียก ปะหล่อง ต่อมาเมื่อเริ่มทำการศึกษาวิจัยจึงได้ปรับมาเรียกพวกเขาว่า ดาราอาง ตามชื่อที่พวกเขาใช้เรียกตัวเอง
ดาราอาง เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ที่อยู่ภายใต้อาณาจักรไตมาว ในช่วงพุทธศักราช 1200 ปรากฏหลักฐานว่า บรรพบุรุษชาวดาราอางอพยพมาจากเชียงรุ่ง สิบสองปันนา หรือบรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่แถบท่าตอน รวมถึงพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน เมืองมิด เมืองน้ำซัน เมืองน้ำคำ ซึ่งติดต่อกับรัฐคะฉิ่น รวมถึงอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงในเขตเมืองสี่ป้อ นอกจากนี้ ชาวดาราอางในมณฑลยูนนานของจีน อ้างว่า บรรพบุรุษมาจากเมืองน้ำซัน จึงสรุปได้ว่า ชาวดาราอางอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมียนมาในพื้นที่หุบเขาสูง บริเวณชายแดนจีนเชื่อมต่อรัฐคะฉิ่น การอพยพมาจากประเทศเมียนมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดจากสาเหตุความไม่สงบภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเมียนมาได้รับอิสระจากอาณานิคมอังกฤษ รัฐชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ตั้งกองกำลังของตนเองเพื่อดูแลปกป้องพื้นที่และประชาชน อีกทั้งการทำสัญญาสงบศึกของกองกำลังรัฐอิสระกับรัฐบาลทหารพม่า ในขณะนั้นทางตอนเหนือมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับสัญญาสงบศึกจึงได้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมเพื่อปลดปล่อยรัฐปะหล่อง ส่งผลให้การต่อสู้เริ่มทวีความรุนเรงขึ้นอีกครั้ง ความไม่สงบภายในพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขาส่งผลต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากถูกบังคับใช้แรงงาน ข่มขู่ บังคับเอาเสบียงอาหาร สัตว์เลี้ยง รวมทั้งการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวดาราอาง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนเหนือหลายกลุ่มได้หลบหนีภัยสงครามมาทางใต้ โดยการเดินเท้าเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณชายแดนในเขตบ้านนอแล ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชนกลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นอยู่ในสถานะของบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางจะอพยพเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 แต่ไม่มีสถานะบุคคล ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ รวมทั้งที่ดินได้ การดำรงชีวิตจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ต่อมาใน พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือนราษฎรชาวลาหู่ที่หมู่บ้านขอบด้งในพื้นที่โครงการหลวงอ่างขาง ชาวดาราอางผู้หนึ่งได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขออนุญาตอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นผลให้โปรดเกล้าฯ จัดที่อยู่ในฐานะผู้อพยพที่บ้านนอแลจนถึงปัจจุบัน
การแต่งกายของผู้หญิงชาวดาราอางนับว่ามีความโดดเด่น เนื่องจากเสื้อผ้ามีสีสดใส ทั้งการสวมใส่หน่องหว่องบริเวณสะโพกสอดคล้องกับตำนานนางหรอยเงิน นางฟ้าตามตำนาน ที่ติดกับดักนายพรานไม่สามารถบินกลับไปยังเมืองสวรรค์ได้ เนื่องจากดาราอางเป็นผู้มาอยู่อาศัยใหม่ จึงได้นำเสนออัตลักษณ์ที่โดดเด่นของตนเองอยู่เสมอ ทั้งผ่านการแต่งกาย วัฒนธรรมการแสดง การร่ายรำ การรำดาบ หรือการเข้าร่วมกับกลุ่มกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อนำปัญหาของพวกเขาออกมานำเสนอให้คนภายนอกเข้าใจสิ่งที่ชาวดาราอางกำลังเผชิญ
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ดำรงพล อินทร์จันทร์
จากข้อมูลเอกสาร ปรากฏข้อมูลประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวดาราอาง ออกเป็นหลายแนวทาง
โดยแนวทางแรก ระบุว่า ดาราอางเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน เอกสารบางชิ้นระบุว่า เป็นกลุ่มชนที่เคยอาศัยอยู่ภายใต้อาณาจักรไตมาว ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของไทใหญ่ในช่วงพุทธศักราช 1200 ในขณะที่เอกสารบันทึกถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวดาราอาง ระบุว่า ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองตองเป็ง (Tawngpeng) และกระจายตัวอยู่แถบเมืองมิท เมืองน้ำซัน เมืองน้ำคำ ซึ่งอยู่ติดกับรัฐคะฉิ่น และยังมีหมู่บ้านดาราอางที่อยู่บนภูเขาสูงทางตอนเหนือของเขตปกครองเมืองสีป้อ ซึ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมืองตองเป็นเป็นศูนย์กลางอำนาจของชาวดาราอางที่เข้มแข็งที่สุด แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน แต่การปกครองภายในเมืองก็อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าฟ้าดาราอาง
แนวทางที่สอง ในเอกสารของ Scott และ Scott and Hardiman ระบุว่า มีปรากฏในตำนวนของชาวดาราอาง ระบุว่า บรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่ในบริเวณท่าตอนของประเทศไทยปัจจุบัน
แนวทางที่สาม ชาวดาราอางบางส่วน อ้างว่า บรรพบุรุษของชาวดาราอางอพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งในสิบสองปันนา
นอกจากชาวดาราอางที่อาศัยอยู่พื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉานแล้ว ยังมีชาวดาราอางอาศัยอยู่พื้นที่ของมณฑลยูนานของประเทศจีน แบ่งเป็นกลุ่มดาราอางประมาณ 2,000 คน ดาราอางเงินประมาณ 5,000 คน และดาราอางรูไมประมาณ 2,000 คน ซึ่งชาวดาราอางเชื่อว่า บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเมืองน้ำซันประมาณ 200 ปีก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เนื่องจากความเข้าใจว่าผู้ปกครองเรียกเก็บภาษีเท่ากับจำนวนเงินที่ถมร่องน้ำเต็ม
การเคลื่อนย้ายของชาวดาราอางที่เข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชาวดาราอางที่ยากจนหรือเพิ่งแยกครัวเรือนเพื่อตั้งครอบครัวใหม่ โดยย้ายมาจากประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองระหว่างทหารพม่า ทหารไทใหญ่ และกองกำลังว้าแดง ที่บังคับให้เด็กหนุ่มในหมู่บ้านแบกสิ่งของ หาและหาบเสบียงและอาวุธ หรือขู่บังคับเอาเสบียงของชาวดาราอาง ส่วนผู้หญิงยังถูกข่มขู่ บังคับ กระทำความรุนแรง ทำให้ชาวดาราอางต้องตกอยุ๋ในสภาวะที่ขาดความไม่มั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้เกิดการอพยพโยกย้ายมายังประเทศไทย
ในช่วงพ.ศ. 2521 ชาวดาราอางได้เริ่มอพยพเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยการเดินเท้าเคลื่อนย้ายตามพื้นที่ชายแดนไทย ในขณะนั้นพื้นที่ชายแดนไม่มีความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่มากนัก ทำให้สามารถเดินทางข้ามพรมแดนไปมาระหว่างกันได้ จนกระทั่ง พ.ศ. 2527 ได้ปรากฏชาวดาราอางจำนวนประมาณ 2,000 คน อพยพมารวมกันที่พื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา บริเวณดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านนอแล ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของโครงการหลวงดอยอ่างขางสถานะของชาวดาราอางจึงถือเป็นบุคคลอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สาเหตุของการอพยพสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในประเทศพม่า เมื่อประเทศอังกฤษคืนอิสรภาพ มีผลทำให้เกิดความระส่ำระสายทางการเมืองภายในประเทศเกิดการขัดแย้งและสู้รบกัน ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติกับทหารรัฐบาลพม่าที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลต่อชาวดาราอางทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในประเทศเมียนมา ชาวดาราอางมีการรวมตัวกันเป็นองค์กร ชื่อองค์กรปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (Palaung state liberation Organization : PSLO) มีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 500 คน องค์กรดังกล่าวเป็นพันธมิตรอยู่ในแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรหลักที่รวมเอาองค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยทั้งหมดไว้ในแต่ละครั้งที่เกิดการสู้รบ หรือปะทะกันระหว่างองค์กรปลดปล่อยรัฐปะหล่องกับทหารรัฐบาลการสู้รบส่งผลให้ชาวบ้านประสบความเดือดร้อน ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นพื้นที่ที่ชาวดาราอางอาศัยอยู่ยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวปฏิบัติงานมวลชนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ทหารฝ่ายรัฐบาลจะเข้ามาปฏิบัติการโจมตีเพื่อสะกัดกั้นความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติการเหล่านี้มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวดาราอางดอยลายเป็นอย่างมาก
นายคำ เหียง (จองตาล) ผู้นำการอพยพ เล่าว่า เมื่อทหารของขบวนการกู้ชาติไทใหญ่มาตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้าน ประกอบกับทหารคอมมิวนิสต์ ก็มาบังคับให้ส่งเสบียงอาหาร เป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐบาลพม่าส่งกำลังเข้าปราบปราม ชาวบ้านถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก โดยถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนทหารกู้ชาติและคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้นยังเอาสัตว์เลี้ยงไปฆ่ากิน ยึดของมีค่า เผายุ้งข้าว กระทำความรุนเรงต่อผู้หญิง และบังคับผู้ชายให้ไปเป็นลูกหาบขนอาวุธ เสบียงอาหาร บางคนถูกสอบสวน ทุบตีอย่างทารุณ เพื่อบังคับให้บอกฐานที่ตั้งของทหารกู้ชาติไทยใหญ่และทหารคอมมิวนิสต์ เมื่อชาวบ้านต้องเผชิญกับความลำบากนานัปการจึงพากันอพยพหลบหนีมาอยู่รวมกันในพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาบริเวณดอยอ่างขางเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จเยือนราษฎรชาวลาหู่ที่หมู่บ้านขอบด้งในพื้นที่โครงการหลวงอ่างขางช่วง พ.ศ. 2525 ชาวดาราอางผู้หนึ่งเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขออนุญาตอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลให้โปรดเกล้าฯ จัดที่อยู่อาศัยในฐานะผู้อพยพที่บ้านนอแลตั้งแต่ พ.ศ. 2526 จนกระทั่งปัจจุบัน
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ดำรงพล อินทร์จันทร์
ดาราอาง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ปะหล่องทอง (Golden Palaung) 2) ปะหล่องรูไม (Rumai) และ 3) ปะหล่องเงิน (Silver Palaug) ซึ่งปะหล่องเงินเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน (Howard and Wattana, 2001) ชุมชนดาราอางที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักนิยามว่าตัวเองว่า “ดาราอางแดง” หรือ “ดาราอางซิ่นแดง” โดยจำแนกตัวเองตามสีของผ้าถุง ซึ่งมีความแตกต่างจากดาราอางอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านทุ่งกวางทอง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่นิยามตัวเองว่า “ดาราอางดำ” เนื่องจากใส่ผ้านุ่งสีดำ
หลังจากที่ประเทศพม่าเกิดสงครามภายในประเทศ มีการสู้รบระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่า ในขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้อำนาจของทหารไทใหญ่ ดาราอางจึงอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะตกเป็นที่จับจ้องของทหารทั้งสองฝ่าย หลายคนถูกฆ่าตาย เพราะถูกมองว่าเป็นไส้ศึก นอกจากนี้ลูกผู้ชายมักถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบของทหารไทใหญ่ หากลูกชายหลบหนี ทหารไทใหญ่จะตามมาฆ่าพ่อแม่แทน ส่วนผู้หญิงบางคนถูกทหารพม่าเข้ามาข่มขืนจนบางรายต้องเสียชีวิต บางครั้งทหารของทั้งสองฝ่ายเข้ามาเพื่อเอาเสบียงในชุมชน บางคนต้องหนีความตายเข้าไปนอนในป่า หลบซ่อนตัว ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ด้วยเงื่อนไขข้างต้นทำให้ชาวดาราอางตัดสินใจทอดทิ้งชุมชนของตน กลายเป็นชุมชนที่แตกสลาย หลบหนีเพื่อเอาชีวิตรอด จากดอยลาย ในตำบลเมืองนาย รัฐฉาน (เพ็ญพิศ ชงักรัมย์, 2560)
เส้นทางการอพยพเข้ามาในประเทศไทยของชาวดาราอาง แบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง เส้นทางแรกอพยพเข้ามาเส้นทางชายแดนบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเส้นทางที่สอง อพยพเข้ามาฝั่งชายแดนอำเภอเวียงแหง ชายแดนบ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และ เส้นทางที่สาม อพยพเข้ามาฝั่งชายแดนท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ส่วนมากที่อพยพเข้ามาจะใช้เส้นทางบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก เมื่อมาถึงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จะมาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนประเทศไทยบริเวณทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านนอแลในปัจจุบัน ในช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เมื่อทรงทราบถึงความยากลำบากจึงได้ทรงอนุญาตให้อาศัยในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านนอแลในปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ถนนตัดผ่านและมีแหล่งน้ำ เพื่อให้ทางหน่วยราชการเข้ามาช่วยเหลือได้สะดวก จากนั้นทหารไทยได้เข้ามาดูแลชาวบ้าน และสร้างบ้านพัก ตลอดจนสอนหนังสือให้กับเด็กและเยาวชน แม้ว่าจะสามารถอยู่ในพื้นที่บ้านนอแลได้ แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคล ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการเดินทางออกนอกพื้นที่ ยังเป็นปัญหาที่ชาวดาราอางต้องเผชิญอยู่จนถึงปัจจุบัน
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ดำรงพล อินทร์จันทร์
การดำรงชีพ
ในอดีต ชาวดาราอางมีความชำนาญในการปลูกชาพันธุ์ดี ตั้งแต่ครั้งอยู่ในเมียนมา โดยเฉพาะชาวดาราอางที่อาศัยอยู่ในเมืองตองแปง และเมืองน้ำซัน ชาที่ปลูกโดยชาวดาราอางมีคุณภาพดีจนสามารถพัฒนากลายเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้พวกเขายังมีการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อการบริโภค โดยปลูกข้าวเป็นพืชหลัก นอกจากนี้ มีถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วแปะยี งา ข้าวโพด ยาสูบ มันเทศ อ้อย ฯลฯ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ ทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงหมูและไก่เพื่อใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น แม้จะมีความสามารถในการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ซึ่งเป็นความรู้ความชำนาญที่มีมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในประเทศเมียนมา แต่ไม่สามารถใช้ความรู้เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ชาวดาราอางได้ประสบปัญหาการความมั่นคงในพื้นที่ทำกิน ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สภาพปัญหาข้างต้นนับว่ามีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของพวกเขา ชาวดาราอางจำนวนหนึ่งจึงยึดอาชีพรับจ้างทำไร่ชาเลี้ยงตัวเอง ในขณะที่บางกลุ่มต้องอาศัยที่ดินของชาวพื้นราบปลูกพืชผักเพื่อตเลี้ยงชีพ
อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวดาราอาง ได้มีหน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชนได้ให้ความสนใจเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวดาราอางเช่น การส่งเสริมการทอผ้า และงานหัตถกรรม แต่ทว่า การพัฒนาต่าง ๆ ยังเห็นผลไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากรที่เข้าไปส่งเสริมอาชีพอย่างต่อเนื่องประกอบกับการประสบปัญหาความไม่แน่นอนของความต้องการสินค้าในระบบตลาดตลาด ทำให้บางหมู่บ้านเริ่มหันไปให้ความสนใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น บ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มมีรายได้เสริมจากการรับนักท่องเที่ยวค้างคืนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินการของบริษัทท่องเที่ยวร่วมกับบางครอบครัวในหมู่บ้านเท่านั้น ยังมีการจัดระบบให้รายได้กระจายอย่างทั่วถึง
ปัจจุบันชาวดาราอางมีแบบแผนในการดำเนินชีวิต 3 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบแรก ชาวดาราอางที่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์รับรองตามกฎหมาย เป็นกลุ่มที่สามารถจับจองหรือซื้อที่ดินทำกินได้ อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีกระบวนการผลิตเข้าสู่การผลิตพืชเชิงพาณิชย์มากขึ้น
รูปแบบที่สอง ชาวดาราอางที่เป็นแรงรับจ้างในชุมชนใกล้เคียง โดยมีรถมารับไปทำงานช่วงเช้าและช่วงเย็นก็ส่งกลับ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตรที่มีความพยายามดิ้นรนในการหาที่ดินทำกินและหานายจ้างที่จะมาจ้างงาน
รูปแบบที่สาม ชาวดาราอางที่เป็นแรงงานและมีการศึกษานอกชุมชน ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กและเยาวชนที่ออกไปเป็นแรงงานรับจ้างข้างนอกหรือบางส่วนออกไปเรียนหนังสือ กลุ่มนี้เกิดจากการที่พ่อแม่มีค่านิยมว่า ที่ดินในการเพาะปลูกมีความไม่มั่นคง การเป็นแรงงานรับจ้างก็ไม่มีความแน่นอน ผู้ปกครองจึงมีความต้องการให้ลูกหลานออกมาเรียนหนังสือหรือทำงานรับจ้างข้างนอก เพื่อหาหนทางของชีวิตที่ดีกว่าการอยู่ในชุมชน
อย่างไรก็ตาม การจำแนกรูปแบบในการดำเนินชีวิตดังกล่าวไม่ได้เป็นการจำแนกที่ชัดเจน เนื่งอจากในหนึ่งครอบครัวอาจมีการดำรงชีที่หลากลหายครอบคลุมทั้งสามรูปแบบ
โครงสร้างทางสังคม
ครอบครัวและระบบเครือญาติ
เดิมเมื่อครั้งอยู่อาศัยในเมียนมา ชาวดาราอางจะตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นหมู่บ้านบนสันเขา การอยู่ร่วมกันในบ้านแต่ละหลัง ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแบบครอบครัวขยาย เห็นได้จากขนาดบ้านแต่ละหลังมักมีขนาดใหญ่ ในบ้านหนึ่งหลังจะประกอบด้วยครอบครัวขยาย 2 - 3 ครอบครัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการอยู่รวมกันของครอบครัวเดี่ยวหลาย ๆ ครอบครัวในบ้านหลังเดียวอีกด้วย บางหลังคาเรือนอยู่รวมกันถึง 20 ครอบครัว แต่ละครอบครัวอาจจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือไม่ก็ได้ หากสมัครใจรักใคร่สนิทสนม และปรารถนาจะอยู่รวมในบ้านหลังเดียวกันก็ทำการตกลงกัน โดยมีกฎของการอยู่ร่วมกันใน “บ้านรวม” ที่ทุกครอบครัวต้องปรองดองและเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสของบ้าน จากนั้นทุกคนจะช่วยกันสร้างบ้านหลังยาว มีจำนวนห้องเท่ากับจำนวนครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกัน เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว แต่ละครอบครัวจะสร้างเตาไฟขึ้นภายในห้องของตน เพื่อประกอบอาหารและให้ความอบอุ่น ในอดีตลักษณะครอบครัวของชาวดาราอางส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น
ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวดาราอางมีความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสุขธรรม ปราศจากอบายมุข ยึดถือคติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกหมู่บ้านจะมีวัดเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา หากหมู่บ้านใดไม่มีวัด สามารถไปทำบุญที่วัดใกล้หมู่บ้านได้ นอกจากนี้ทุกหลังคาเรือนจะมีหิ้งพระเพื่อเคารพบูชา เมื่อถึงวันพระหรือเทศกาลวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ เช่น วันเข้าพรรษา
วันออกพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ ชาวดาราอางจะพากันไปใส่บาตรและทำบุญที่วัด นอกจากมีการทำบุญด้วยข้าว อาหาร ดอกไม้ใส่ขันดอกแล้ว ชาวดาราอางยังมีการฟ้อนรำ ร้องเพลงบรรเลงฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ทั้งที่วัดและลานหมู่บ้าน มีการสนับสนุนให้ลูกชายบวชเณรเพื่อเล่าเรียนธรรมะ และบวชพระ เพื่อแผ่อานิสงฆ์ให้แก่บิดามารดาอีกด้วย
นอกจากความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธเล้ว ชาวดาราอางยังมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าวิญญาณ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1) กา - เปรา คือ เป็นวิญญาณของสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์
2) กา - นำ คือ เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ลม ฯลฯ
3) กา - ฌา คือ เป็นวิญญาณ เช่น สวน ไร่ ข้าว ฯลฯ
การเซ่นสรวงบูชาผีหรือวิญญาณ จะทำควบคู่กับพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ในการประกอบพิธีกรรมจะมีหัวหน้าพิธีกรรม เรียกว่า “ด่าย่าน” เป็นผู้ประกอบพิธี ในหมู่บ้านของชาวดาราอางจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่สุดของหมู่บ้าน คือ “ศาลผีเจ้าที่” หรือ “คะมูเมิ้ง” ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของผีหรือวิญญาณ ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้าน บริเวณศาลจะอยู่เหนือหมู่บ้าน ก่อสร้างอย่างประณีต มีรั้วล้อมรอบ มีความสะอาดและเรียบร้อย
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
การแต่งงาน และการหย่าร้าง
หนุ่มสาวจะไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม เมื่อถึงเทศกาลหรือพิธีทำบุญต่าง ๆ หากชายหนุ่มถูกใจหญิงสาวคนใด ก็จะหาโอกาสไปเที่ยวบ้านฝ่ายหญิงในตอนกลางคืน โดยจะเป่าปี่ (เว่อ) หรือดีดซึง (ดิ้ง) เพื่อบอกกล่าวให้ฝ่ายหญิงตื่นขึ้นมาเปิดประตูรับ หากฝ่ายหญิงไม่รังเกียจจะลุกขึ้นมาเปิดประตูให้ และพากันเข้าไปในบ้าน เพื่อนั่งคุยกันที่เตาไฟ จนหนุ่มสาวเข้าใจกันและตกลงจะแต่งงานกัน จึงบอกพ่อแม่ของฝ่ายชายไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง ส่วนใหญ่สินสอดที่เรียกร้องจะเป็นเงินจำนวน 3 - 4 พันบาท ค่าใช้จ่ายในพิธีแต่งงานเป็นของฝ่ายชายทั้งหมด เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย
แค่ทว่า ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่มีเงินค่าสินสอด พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายในการแต่งงานให้ทั้งหมด ในพิธีแต่งงานจะมีการเลี้ยงผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย ในวันมัดมือ หลังจากนั้นคู่แต่งงานจะพากันไปทำบุญที่วัดเป็นการทำพิธีทางศาสนา หลังพิธีแต่งงานฝ่ายชายจะต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง เป็นเวลา 3 ปี เพื่อทำงานชดใช้ค่าสินสอด จากนั้นจึงจะสามารถแยกครอบครัว หรือพาฝ่ายหญิงไปอยู่กับครอบครัวของตนก็ได้
ความตายและการทำศพ
หากมีผู้เสียชีวิตในหมู่บ้าน ญาติพี่น้องจะตั้งศพไว้เป็นเวลา 2 วัน ระหว่างนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารชาวบ้านทั้งหมู่บ้านตลอดงานพิธี และมีการเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าว โดยด่าย่านเท่านั้น เมื่อครบกำหนด จะนำศพไปเผาที่ป่าช้า จะนิมนต์พระมาชักศพนำและทำการสวดส่งวิญญาณ
ทั้งนี้ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกะบการตายและการทำศพของดาราอางในเมียนมาจะแตกต่างจากในประเทศไทย กล่าวคือ ในเมียนมามีหลักปฏิบัติในการเผาศพเฉพาะผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุเท่านั้น หากผู้เสียชีวิตเป็นวัยรุ่นและวัยกลางคนจะทำการฝัง ในขณะที่ชาวดาราอางในประเทศไทยจะให้วิธีการเผาเพียงอย่างเดียว
การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
พิธีสำคัญที่สุดที่ชาวดาราอางต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปี คือ การบูชาผีเจ้าที่ โดยจะกระทำปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเข้าพรรษา 1 ครั้ง และช่วงก่อนออกพรรษา 1 ครั้ง พิธีบูชาผีเจ้าที่ก่อนเข้าพรรษาเรียกว่า "เฮี้ยงกะน่ำ" มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่ หรือการย้ำแก่ผีเจ้าที่ว่าในช่วงเข้าพรรษา จำไม่มีพิธีแต่งงานเกิดขึ้น จากนั้นจึงทำพิธี "กะปี๊ สะเมิง" หรือ ปิดประตูศาลเจ้าที่ เมื่อใกล้ออกพรรษา ชาวบ้านจะทำพิธี "แฮวะ ออกวา" คือ บูชาผีเจ้าที่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการเปิดประตูศาลผีเจ้าที่ หรือ "วะ สะเมิง" เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะมีการแต่งงานกันมาถึงแล้วและในพิธีแต่งงานนี้จะมีการเชื้อเชิญผีเจ้าที่ออกไปรับเครื่องเซ่นบูชาด้วย ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะต้องมาในพิธีนี้ โดยนำไก่ต้มสับเป็นชิ้นนำไปรวมกันที่ศาลเจ้าที่ จากนั้นผู้นำในการทำพิธีกรรมจะเป็นผู้บอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่ต่อไป
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ดำรงพล อินทร์จันทร์
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : ดาราอาง
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ดำรงพล อินทร์จันทร์
Howard, Micheal and Wattana Wattanapun. (2001). The Paluang in Northern Thailand. Chiang Mai: Silkwoem Book.
Scott, Jame George. (1932). Burma and Beyond. London: Grayson & Girason.
กมลวรรณ ชื่นชูใจ. (2551). “การจับกุม “ชาวเขา” บ้านปางแดง.” รวมบทความที่ได้รับรางวัล วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อคนจน.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย. (หน้า133-160).
เกศินี ศรีรัตน์. (2554). “ผ้ากับวิถีชีวิตปะหล่องกับศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวปะหล่องบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่”. มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.
ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะและคณะ. (2555). ปริศนาวงศาคณาญาติ “ลัวะ”. กรุงเทพ: ศูนย์มานุยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ถาวร ฟูเฟื่อง. (2543). ชาวเขา ตำนานชนเผ่าต่างวัฒนธรรม. (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์)
นนทวรรณ แสนไพร. (2554). “การเคลื่อนย้าย การตั้งถิ่นฐาน และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจของชาวดาระอั้งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่.” วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ภูมิศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2493). ๓๐ ชาติในเชียงราย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.
เพ็ญพิศ ชงักรัมย์. (2560). “จินตนาการชุมชนของชาวดาราอางภายใต้บริบทรัฐชาติไทย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร. (2539). เสียงเพรียกจากชาติพันธุ์. เอกสารศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา ชุด กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ลำดับที่ 2 . สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วาสนา ละอองปลิว. (2546). “ความเป็นชายขอบและการสร้างพื้นที่ทางสังคมของคนพลัดถิ่น: กรณีศึกษาชาวดาระอั้งในอำเภอเชียงดาว.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา. (2547). ชนเผ่าในประเทศไทย ดาราอั้ง (ปะหล่อง). http://www.openbase.in.th/node/3451 (สืบค้นวันที่ 13 มิถุนายน 2561).
สกุณี ณัฐพูลวัฒน์. (2544). “กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่: ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของขาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) (2561). ชนเผ่าดาราอาง(Dara-ang/Ta’ang). http://impect.or.th (สืบค้นวันที่ 13 มิถุนายน 2561).
สุกุณี ณัฐพูลวัฒน์. (2545). ดาระอั้ง: คนชายขอบสองแผ่นดิน. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 21(1), 97-123.
สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และปิยนันท์ ทองคำสุข. (2560). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: ดาระอาง (ปะหล่อง). กรุงเทพฯ: เอกพิมพ์ไทย
สุจริตลักษณ์ ดีผดุง. (2551). ปะหล่อง. วารสารภาษาและวัฒนธรรม. ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน).หน้า 99-112.
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ดำรงพล อินทร์จันทร์