ญ้อ เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมบนดินแดนอุษาคเนย์ อพยพโยกย้ายถิ่นฐานตามลุ่มน้ำอิรวดี ลุ่มน้ำสาละวิน และลุ่มน้ำโขง ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวญ้อ คือเมืองหงสา แขวงไชยบุรี ตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง สปป. ลาว ปัจจุบันส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคอีสานตามริมแม่น้ำโขง มีวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีกรรมด้านการเกษตร การไหว้ผี การบวงสรวง และการเสี่ยงทาย ในอดีตมีวิถีการดำรงชีพที่เน้นการผลิตแบบยังชีพ ด้วยการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่จำเป็น เช่น ปลาแลกข้าว เกลือแลกข้าว หรือแลกพริก แลกมีด รวมทั้งมีการแบ่งปันกันภายในกลุ่มเครือญาติ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีพที่มุ้งเน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขาย เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ด้านความเชื่อ ชาวญ้อยังคงมีการนับถือผีปู่ตาผสมผสานกับการนับถือพุทธศาสนา ในแต่ละปีจึงมีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผี โดยมีขะจ้ำ และหมอสูตร (หมอสู่ขวัญหรือหมอพราหมณ์) เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ญ้อ
ชื่อเรียกตนเอง : ญ้อ, ย้อ, ญ่อ, โย้
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทญ้อ
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : ภาษาไทย,ญ้อ,ลาวอีสาน
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน
“ญ้อ” หรือ “ไทญ้อ” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง การออกเสียงอาจแตกต่างกันตามสำเนียงของแต่ละพื้นที่ ญ้อ เป็นชื่อเรียกตนเอง ส่วนคำว่า ไท หมายถึง คน ไทญ้อ จึง หมายถึง “คนญ้อ” ในระยะหลัง การใช้คำเขียนว่า “ไทยญ้อ” หรือ “ไทยย้อ” เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความเป็นไทยที่ต้องการสถาปนาว่า “คนญ้อ” นั้นเป็นสมาชิกของประเทศไทยด้วยเช่นกันจึงมีการเติม “ย”
ถิ่นฐานเดิมของชาวญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง ภายหลังได้อพยพออกจากเมืองหงสาวดี โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่นำโดยท้าวหม้อ ได้ล่องแพมาตามแม่น้ำโขงเข้าสู่เวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองไชยบุรี ปากแม่น้ำสงครามฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ปัจจุบัน คือ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม กลุ่มที่สอง นำโดยขุนบรม ได้นำพาผู้คนอพยพไปยังเมือง คำเกิด ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทั้งสองเมืองนี้ขึ้นตรงต่อเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันท์เมื่อเกิดสงครามระหว่างสยามกับเวียงจันท์ในช่วงสมัยรัชกาลที่สามชาวญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกววาดต้อนไปยังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเพื่อสร้างเมืองใหม่ ในแขวงคำม่วน เมื่อสงครามสงบ กองทัพสยามได้เกลี้ยกล่อมให้ชาวเมืองคำม่วน คำเกิด ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองไชยบุรี ซึ่งเป็นเมืองเดิมที่ชาวญ้อกลุ่มของท้าวหม้อเคยสร้างบ้านสร้างเมือง เมื่อผู้คนจากเมืองคำม่วนคำเกิด เริ่มอพยพโยกย้ายมายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขงได้เข้ามาตั้งหลักปักฐานตามในดินแดนภาคอีสาน พร้อมตั้งเมืองที่ขึ้นตรงต่อสยาม
หลังจากนั้น การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวาเกิดขึ้นหลายครั้ง จากหลากหลายเมือง มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ส่งผลให้เมืองที่บุกเบิกช่วงแรกเริ่มหนาแน่น ชาวญ้อ รวมถึงกลุ่มอื่นจึงเริ่มขยับขยายโยกย้ายกระจัดกระจายออกไป ครัวญ้อขนาดใหญ่ นำโดยพระคำก้อนและพระคำแดงได้ตั้งบ้านเรือนบริเวณตำบลบึงกระดาน ส่วนครัวชาวเมืองคำเกิดได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำชี ชื่อบ้านท่าขอนยาง และให้ย้ายมาสังกัดแขวงเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากส่งส่วยยังเมืองท่าอุเทนลำบาก ต่อมาพระคำก้อนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองท่าขอนยาง ปัจจุบันชาวญ้อในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานกระจายในหลายพื้นที่ โดยตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มใหญ่ในหลายจังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี สกลนคร และสระแก้ว
ชาวญ้อในประเทศไทย ยังคงสืบทอดอัตลักษณ์ด้านภาษาที่มีความเฉพาะแตกต่างกับคนท้องถิ่น อีกทั้งยังคงเคร่งครัดในการนับถือผี และพิธีกรรมระดับชุมชน แต่ละชุมชนมีพิธีกรรมไหว้ผี บวงสรวงและเสี่ยงทายประจำปี โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร การเสี่ยงทายต่าง ๆ ทั้งความอยู่ดีมีสุขและความบริบูรณ์ของน้ำท่า การเลี้ยงผี ยังถือว่าเป็นพิธีกรรมหลักที่ยังธำรงอัตลักษณ์ของความเป็นญ้อในประเทศไทย ในส่วนอัตลักษณ์ด้านอย่างอื่น ทั้งเสื้อผ้าการแต่งกาย การละเล่นต่าง ๆ ส่วนใหญ่ได้ถูกกลืนกลายและถูกผสมผสานกับคนอีสานท้องถิ่น
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงญ้อไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” (2545) ว่า “พวกย้อท่าอุเทนพูดภาษาไทยแต่มีสำเนียง แปร่งไปอีกอย่างถามถึงถิ่นเดิมบอกว่า เดิมอยู่ที่เมืองไชยบุรีใกล้กับเมืองท่าอุเทนนั่นเอง หนีกองทัพฯ ข้ามไปอยู่ที่เมืองหลวงโปงเลงท่าฝั่งซ้ายใกล้กับแดนญวน เสียคราวหนึ่งแล้วจึงพากันมาอยู่ที่เมืองท่าอุเทน ในสมัยรัชกาลที่ 3”
หลักฐานเกี่ยวกับชาวไทยญ้อได้ปรากฎครั้งแรกในปี พ.ศ. 2351 (ผู้เขียนไม่ได้ระบุว่าจากหลักฐานใด) โดยได้กล่าวว่าก่อนที่ชาวญ้อจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยนั้น ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหงสาวดี แขวงไชยบุรี ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง ภายหลังด้วยเหตุที่ถูกพระเจ้าหงสาวดีเนรเทศ (ไม่ทราบสาเหตุ) จึงได้พากันอพยพออกจากเมืองหงสาวดี โดยได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก ผู้นำชื่อท้าวหม้อ มีภรรยาชื่อนางสุนันทา ได้พาครอบครัวและบ่าวไพร่ผู้คนประมาณ 100 คน ล่องแพลงมาตามแม่น้ำโขง จนกระทั่งมาถึงเมืองเวียงจันท์ และได้เข้าไปสวามิภักดิ์ต่อเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. 2346 - 2370) จึงได้รับอนุญาตให้สามารถตั้งบ้านเรือนขึ้นที่บริเวณปากน้ำสงคราม (ฝั่งขวาแม่น้ำโขง บริเวณที่ตั้งตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) และได้ตั้งให้ท้าวหม้อเป็น “พระยาหงสาวดี” โดยขึ้นตรงต่อเมืองเวียงจันท์ เมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ให้นามว่า “เมืองไชยสุทธิอุตตมบุรี” และภายหลังถูกเรียกให้สั้นว่า “ไชยบุรี” ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นนำโดยขุนบรม (บ้างว่าขุนพรม) ได้อพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนที่เมืองคำเกิด ซึ่งขึ้นตรงต่อเมืองเวียงจันท์เช่นกัน (บุญยงค์ เกศเทศ 2534 : 10)
ปี พ.ศ. 2369 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้เกิดกรณีสงครามเจ้าอนุวงศ์กับกรุงเทพฯขึ้นชาวญ้อที่ไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไปสร้างเมืองใหม่ พระยาหงสาวดีจึงได้อพยพครอบครัวและผู้คนย้ายข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งซ้าย และได้ไปตั้งบ้านเรือนโดยตั้งชื่อเมืองว่า “เมืองปุงลิง” (บ้างเรียกเมืองโปงเลง หรือปุงเลง ตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน) ใกล้แดนญวน โดยขึ้นตรงต่อเมืองญวน (สุรจิตร จันทรสาขา ม.ม.ป.: 3)
ครั้นเมื่อสงครามสงบลง เนื่องจากว่าหัวเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบางเมืองยังคงกระด้างกระเดื่องต่อกรุงสยามอยู่ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม อมาตยกุล) กับพระมหาสงครามเกณฑ์พลเมืองตะวันออกเฉียงเหนือไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองนครพนม เพื่อปราบปรามและเกลี้ยกล่อมให้หัวเมืองท้าวเพีย ผู้ใหญ่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีเมืองคำเกิด คำม่วน เมืองมหาชัยกองแก้ว ฯลฯ เป็นต้น ให้คืนมาสวามิภักดิ์ต่อกรุงสยามเหมือนเช่นแต่ก่อน (เติม วิภาคย์พจนกิจ 2542 : 195)
เวลานั้นกองทัพสยามได้เกลี้ยกล่อมให้ครอบครัวชาวเมืองคำม่วน คำเกิดข้ามมาตั้งบ้านเรือนที่เมืองไชยบุรี โดยโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเมืองนครพนม เมืองหนองคายและหนองหารเป็นเขตแดนเมืองไชยบุรี โดยให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ตามอย่างหัวเมืองลาว และในปี พ.ศ. 2376 เจ้าเมืองหลวงปุงลิงจึงได้อพยพพาครอบครัวและครัวชาวญ้อมาพักที่ดอนทรายกลางแม่น้ำโขง และได้มาขอสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากเมืองไชยบุรีเดิมมีผู้คนอยู่กันหนาแน่นแล้ว จึงได้รับอนุญาตให้อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านท่าอุเทนซึ่งเป็นหมู่บ้านร้าง จากนั้นจึงยกฐานะบ้านท่าอุเทนร้างเป็นเมืองอุเทน ให้เมืองท่าอุเทนขึ้นอยู่ในความปกครองของพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร (และยังว่าราชการเมืองนครพนมอีกตำแหน่งด้วย เนื่องจากพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมเดิมได้หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ฯ) กระทั่งใน พ.ศ. 2381 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองท่าอุเทนขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ภายหลังในปี พ.ศ. 2453 เมืองท่าอุเทนจึงเปลี่ยนฐานะจากเมืองเป็นอำเภอนับแต่นั้นมา (บุญยงค์ เกศเทศ 2534 : 10)
กลุ่มที่สอง กลุ่มญ้อนำโดยพระคำก้อน (ลำดวน) เจ้าเมืองคำเกิด พร้อมด้วยอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรและท้าวเพีย กรมการผู้ใหญ่ได้ปรึกษากันว่าเมืองคำเกิดเป็นเมืองน้อยควรจะสวามิภักดิ์ด้วย จึงจัดทำบัญชีพลเมืองในความปกครอง 2,759 คน (เติม วิภาคย์พจนกิจ. 2542: 195) แต่ใน “พระราชพงษาวดารความเก่าฯ” ในประชุมพงศาวดารภาค 4 และประวัติท้องที่จังหวัดมหาสารคามฯ (2506) และบุญมี ภูเดช (2525) อ้างจาก “พงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และประวัติเมืองขึ้นในยุคเก่า” ระบุว่ามีจำนวน 2,859 คน และครัวของพระคำแดงอุปฮาดเมืองคำม่วนจำนวน 933 คน นำมามอบให้พระยามหาอำมาตย์ฯ (ป้อม) ซึ่งได้นำทูลเกล้าถวายในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงรับไว้เมื่อปี พ.ศ. 2382 (เติม วิภาคย์พจนกิจ. 2542.: 195) แต่ใน “พระราชพงษาวดารความเก่าฯ” ใน ประชุมพงศาวดารภาค 4 และประวัติท้องที่จังหวัดมหาสารคาม ระบุว่าปีจุลศักราช 1198 (ปีวอกอัฐศก) หรือปี พ.ศ. 2379
สำหรับการอพยพเข้ามาของชาวญ้อจากคำม่วน คำเกิดนั้น เข้าใจว่าคงเข้ามาเป็นระลอกในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งพวกที่มาก่อนได้ตั้งหลักแหล่งตามอัธยาศัยในบริเวณต่าง ๆ เช่น บ้านศรีสงคราม บ้านเสียว บ้านนาหว้า บ้านนาเดื่อ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บ้านกุดนาแดง บ้านหนามแท่ง อำเภอบ้านหัน หรือบ้านจำปา บ้านดอกนอ บ้านบุ่งเป้า บ้านนาสีนวล อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร บ้านแพง บ้านนาทม อำเภอบ้านแพง บ้านดงเย็น อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร บ้านนายุง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บ้านสิม บ้านหนองแวง บ้านสา ตำบลอี้ตื้อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านกุดน้ำใส บ้านยาง บ้านโพน บ้านเหล่ากลาง บ้านคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามเป็นต้น (เติม วิภาคย์พจนกิจ. 2542 : 197-198 ; ประสพ ท้าวเนาว์. 2527 : 4)
อนึ่ง แม้แต่ในจังหวัดบุรีรัมย์ยังมีชาวญ้อตั้งบ้านเรือนอยู่เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อประมาณ พ.ศ. 2376 เจ้าพระยาบดินทร์เดชา กับพระยานครราชสีมา ได้ทำการกวาดต้อนครัวทางเวียงจันท์และชาวญ้อให้เข้ามาอยู่ทางหัวเมืองภายใน พระยานครราชสีมาจึงได้ให้ชาวย้อไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ (โชติ สุวัตถี.2519: 43) โดยกลุ่มที่อพยพเข้ามาทีหลังได้พากันเดินทางมาเรื่อย ๆ จนมาพบแม่น้ำชี เห็นว่าเป็นถิ่นเหมาะสมจึงได้หยุดและตั้งบ้านเรือนลงบริเวณดังกล่าวท้องถิ่นยังมีหมู่บ้านอื่นที่แยกครัวออกไปจากบ้านท่าขอนยางด้วย เช่น บ้านวังหว้า บ้านดอนเวียงจันทน์ และเมื่อบ้านดอนเวียงจันทน์คับแคบยังได้แยกไปตั้งหมู่บ้านอื่นใกล้เคียง เช่น บ้านดอนสวน บ้านดอนยม เป็นต้น
กรณีกลุ่มครัวญ้อขนาดใหญ่ที่นำโดยพระคำก้อนและพระคำแดงนั้น ในระยะแรกได้พากันมาตั้งบ้านเรือนบริเวณตำบลบึงกระดาน (หรือแซงบาดาน, เชียงบาดาน) จังหวัดกาฬสินธุ์ และทางสยามให้ทั้งสองกลุ่มนั้นขึ้นตรงต่อเมืองท่าอุเทน ต่อมาราว พ.ศ. 2381 เนื่องจากบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ตำบลบึงกระดานนั้นที่ทำกินคับแคบ ไม่สามารถที่จะรองรับจำนวนคนของทั้งสองกลุ่มได้เพียงพอ กลุ่มครัวชาวคำเกิดจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำชี ฟากคลองตะวันออก แขวงเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งคือบ้านท่าขอนยางนั้นเองและให้ขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากการส่งส่วยกับเมืองท่าอุเทนนั้นเป็นไปโดยลำบาก ส่วนครัวเมืองคำม่วนยังคงอยู่ที่บ้านบึงกระดานต่อไป
ในปี พ.ศ. 2387 กองทัพกรุงเทพฯยังได้ไปกวาดต้อนผู้คนเข้ามาในพระราชอาณาจักร โดยเจ้าอุปฮาดและพระยามหาสงครามได้ลงไปเฝ้าทูลว่า สามารถกวาดครัวได้ใหม่ คือครัวเมืองวัง 852 คน ครัวเมืองตะโปน 575 คน ครัวเมืองนอง 103 คน ครัวเมืองพิน 122 คน และครัวเมืองคำม่วน 806 คน รวมทั้งสิ้น 2,458 คน (บุญมี ภูเดช. 2525.: 40)
ต่อมาใน พ.ศ. 2388 พระไชยสุนทร(เลื่อน) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ได้มีใบบอกลงไปยังกรุงเทพฯ จึงได้โปรดเกล้าฯยกฐานะบ้านท่าขอนยางเป็นเมืองท่าขอนยางโดยขึ้นต่อเมืองกาฬสินธุ์ ให้พระคำก้อนเป็นเจ้าเมืองปกครองพระราชทานนามว่าพระสุวรรณภักดี (ภายหลังได้ถูกใช้เป็นชื่อสกุล “วรรณภักดี” ซึ่งในปัจจุบันสกุลวรรณภักดีเป็นสกุลใหญ่อีกสกุลหนึ่งของบ้านท่าขอนยาง) และให้อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรเมืองคำเกิดเป็นอุปฮาด ราชวงศ์และราชบุตรเมืองท่าขอนยางตามลำดับ
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี
ตามจดหมายเหตุของหลวงชำนาญอุเทนดิษฐ์ (บาฮด กิติศรีวรพันธุ์) บุตรของพระศรีวรราช เจ้าเมืองท่าอุเทนคนสุดท้าย ได้กล่าวถึงคนญ้อไว้ว่า ไทญ้อมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองหงสาวดี ทางตอนเหนือของหลวงพระบาง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีผู้ปกครองชื่อท้าวหม้อได้พาผู้คนและครอบครัวอพยพมาสร้างบ้านแปลงเมืองอยู่บริเวณปากแม่น้ำสงคราม ตั้งชื่อว่าเมืองไชยสุทธิอุตตมบุรี ปัจจุบัน คือ ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน (เมธี ดวงสงค์ อ้างถึงใน รุ่งอรุณ ทัฑชุณเถียร และสมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2532) ต่อมาญาติพี่น้องของท้าวหม้อได้ทราบข่าวการสร้างบ้านแปลงเมืองและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บริเวณนี้ จึงอพยพมาสมทบอีกประมาณ 500 คน เมื่อ พ.ศ. 2357 ได้ขยายไปตั้งถิ่นฐานในเขตบ้านแพง อำเภอบึงกาฬ ผลจากกบฏเจ้าอนุวงศ์ ทำให้ชาวญ้อถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองปุงลิง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน และเมืองมหาชัยก่องแก้ว ต่อมากองทัพไทยกวาดต้อนกลับมาอยู่ที่เดิม คือ บริเวณนครพนม กลุ่มหนึ่งอพยพมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร ส่วนอีกกลุ่มเคลื่อนย้ายมาตั้งบ้านเรือนในเขตจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ บ้านท่าขอนยาง บ้านกุดน้ำใส บ้านลิ้นฟ้า บ้านยาง และบ้านโพน (ธวัช ปุณโณทก, 2532)
นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวญ้อตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในอีกหลายพื้นที่ตามความเหมาะสมในการตั้งบ้านเรือน เช่น ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ ตำบลอีตื้อ อำเภอยางตลาด ตำบลโคกเครือ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านนายูง อำเภอกุมภวาปี บ้านกุดแดง บ้านหนามแท่ง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร (สุทัศน์ ตันสุวรรณ, 2536 อ้างถึงใน ทัศนีย์ บัวระภา พิมเสน บัวระภา และ วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม, 2536) และในจังหวัดบุรีรัมย์มีชาวญ้ออาศัยอยู่ เนื่องจากการกวาดต้อนครัวเรือนเชลยใน พ.ศ. 2376 (โชติ สุวัตถิ, 2519 อ้างถึงใน ทัศนีย์ บัวระภา พิมเสน บัวระภา และ วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม, 2536)
ปัจจุบัน มีผู้คนที่พูดด้วยภาษาญ้อกระจายตัวอยู่เพิ่มขึ้นใน 6 จังหวัด ดังนี้
1) จังหวัดหนองคาย บริเวณอำเภอท่าบ่อและอำเภอเมือง
2) จังหวัดนครพนม (อำเภอ ท่าอุเทน อำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม และอำเภอเรณูนคร)
3) จังหวัดสกลนคร (อำเภอวานรนิวาส อำเภอสว่างแดนดิน อำเภออากาศอำนวย อำเภอกุดบาก อำเภอกุสุมาลย์ และอำเภอเมือง)
4) จังหวัดกาฬสินธุ์ (ตำบลโพนสิม ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด)
5) จังหวัดมหาสารคาม ที่บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย
6) จังหวัดสระแก้ว คนญ้อในอำเภออรัญประเทศ ถือได้ว่าเป็นคนกลุ่มแรกที่เป็นเชื้อสายบรรพบุรุษของชาวอรัญดั้งเดิม สันนิษฐานว่า อพยพมาจากเวียงจันทน์และท่าอุเทน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในหลายตำบลของอำเภออรัญประเทศ ได้แก่ ตำบลคลองน้ำใส ตำบลเมืองไผ่ ตำบลท่าข้าม ตำบลผ่านศึก และเขตเทศบาลตำบลอรัญประเทศ (ทัศนีย์ บัวระภา พิมเสน บัวระภา และ วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม, 2536)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี
การดำรงชีพ
รูปแบบการทำมาหากินของชาวญ้อท่าขอนยางในช่วงก่อนทศวรรษ 2500 ตั้งอยู่พื้นฐานของวิถีการ “การผลิตแบบยังชีพ” เน้นอุปโภคบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก โดยการนำผลผลิตอื่น ๆ ที่หามาได้นำไปแลกเปลี่ยนกับผลผลิตที่จำเป็น เช่น ปลาแลกข้าว เกลือแลกข้าวแลกพริกหรือแลกมีด บางครั้งหากผลผลิตที่มีหรือที่สามารถแลกมาได้มากเกินความต้องการบริโภคในครัวเรือน นอกจากจะมีการแบ่งปันญาติมิตรแล้วยังมีการนำออกไปขาย ซึ่งลักษณะดังกล่าวชาวบ้านเรียกว่า “กกขายปลายกิน”
ความแตกต่างทางชนชั้นของชาวญ้อเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย คนที่มีที่นาจำนวนมาก อาจไม่ใช่คนรวยแต่หมายถึง คนที่มีภาระต้องเหน็ดเหนื่อยในการใช้ทุนและแรงงานจำนวนมาก ดังนั้น ชาวนาที่มีนาจำนวนมากจึงจำเป็นต้องมีแรงงานมากด้วย เพราะในอดีตการเช่านามีจำนวนน้อย เนื่องจากการทำนาเป็นอาชีพที่มีความไม่แน่นอนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ยังใช้ทรัพยากรในพื้นที่เพื่อการผลิต เช่น การใช้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามสำหรับจับหาสัตว์น้ำ และการเพาะปลูกในลักษณะของนาทาม หรือนาที่น้ำท่วมถึง โดยใช้ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสม
การเปลี่ยนแปลงการผลิตเพื่อยังชีพมาสู่ “การผลิตเพื่อขาย” เริ่มปรากฏมากขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2480 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐได้สร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาเชื่อมหัวเมืองต่าง ๆ ทำให้พ่อค้าแถบลุ่มแม่น้ำชีสามารถล่องเรือ เช่น เรือกลไฟ เรือฉลอม เรือกระแซง ตามแม่น้ำชีต่อมายังแม่น้ำมูลและสิ้นสุดที่เมืองอุบลราชธานีแล้วนำสินค้าขึ้นรถไฟส่งต่อที่นครราชสีมาชุมทางใหญ่ได้ ทำให้ประหยัดเวลา ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าสำคัญ ก่อให้เกิดการขยาย “การผลิตข้าว” เพื่อขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟเชื่อมมาถึงหัวเมืองลุ่มน้ำชี คือ ขอนแก่นและท่าพระ ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชุมชนท้องถิ่นแถบนี้ค่อนข้างมาก ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีพ่อค้าชาวจีนล่องเรือมาตะเวนรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแถวลุ่มน้ำชีและสร้างฉางข้าวตามชุมชนริมฝั่งแม่น้ำชี จึงได้มีพ่อค้าจีนและนายฮ้อยท้องถิ่นมาสร้างฉางข้าว มีการตระเวนหาซื้อข้าวในท้องถิ่นมาเก็บไว้ที่ฉางรอเมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม จะมีเรือไฟของพ่อค้าจีนจากร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี และท่าพระ ลากเรือกระแซง เรือฉลอมมาเทียบที่ท่าใกล้กับที่ฉางตั้งอยู่ ช่วงนี้พ่อค้าที่ไม่มีฉางจะบรรทุกข้าวจากเล้าชาวนาที่ซื้อฝากไว้รวมทั้งข้าวที่ตนเองปลูก บรรทุกด้วยเกวียนมาลงเรือที่เตรียมไว้ ส่วนพ่อค้าที่มีฉางจะมีความสะดวกเพราะเมื่อเรือมาเทียบระดับน้ำจะใกล้เคียงกับตลิ่งฝั่ง เพียงนำไม้กระดานมาพาดระหว่างเรือกับฝั่งแล้วจ้างชาวบ้านหาบข้าวลงเรือ จากนั้นเรือจะนำข้าวเปลือกล่องตามน้ำชีไปขายที่โรงสี เช่น ท่าประทาย ท่าพระ ท่าสะแบง อุบลราชธานี เป็นต้น แล้วนำข้าวขึ้นรถไฟส่งขายต่อที่กรุงเทพฯ และตลาดอื่นๆต่อไป (ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี, 2560)
การขยายตัวของการปลูกข้าวเพื่อขายได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการผลิตข้าวเพื่อขายของชุมชนท้องถิ่นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ชาวนาได้เลิกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองและหันมาปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงการเข้ามาของพืชเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ปอ มันสำปะหลัง พืชผัก ชาวญ้อจึงเริ่มทำการผลิตเพื่อขายเช่นเดียวกับชาวอีสานท้องถิ่นอื่น ๆ จวบจนกระแสเรื่องยางพาราเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสาน หลายชุมชนจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป็นสวนยางพารามากขึ้น
โครงสร้างทางสังคม
ครอบครัวและระบบเครือญาติ
ในอดีตครอบครัวชาวญ้อมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย (extended family) ประกอบด้วย คนสามรุ่นขึ้นไป คือ ตายาย พ่อแม่ และลูก หรืออาจเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันแบบครอบครัวขยาย โดยอาศัยอยู่ในเรือนเดียวกันแยกเรือนกันอยู่หากแต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น ตั้งเรือนอยู่ภายในรั้วบ้านเดียวกันหรืออยู่คุ้มบ้านเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน ทำการผลิตร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นการอยู่ในลักษณะแบบมาตาลัย (matrilocal) กล่าวคือ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายผู้หญิง เพื่อใช้แรงงานทำการผลิตให้และรับมรดกของฝ่ายหญิง ในอดีตฝ่ายชายจะไม่นิยมรับมรดกที่ดินจากพ่อแม่ตนเนื่องจากเชื่อว่า “มันบ่มีศักดิ์ศรี” เป็นผู้ชายต้องออกมาแสวงหาเอง รวมทั้งยังแสวงหาเพิ่มเติมภายหลังด้วย
อนึ่ง ถ้าฝ่ายหญิงเป็นลูกสาวคนเดียวหรือลูกสาวคนสุดท้อง ฝ่ายชายต้องมาสืบมรดกหรือครอง “มูน” เมีย จึงเกิดคำพูดว่า “ลูกสาวหล้านาตีนโคก” โดยเปรียบลูกสาวคนสุดท้ายเสมือนนาใกล้บ้าน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์จากการชะล้างปุ๋ยในหมู่บ้านลงไปที่นาและสะดวกสบายในการเดินทาง การอาศัยในเรือนพ่อตาของเขยนั้น โดยทั่วต้องอยู่จนกว่ามีเขยคนใหม่อีกคนเข้ามา ในกรณีที่มีลูกสาวหลายคน จึงจะมีการแยกเรือนออกไป ไม่นิยมให้เขยอยู่ร่วมเรือนเดียวกัน เพราะมีคำกล่าวที่ว่า “เมืองสองเจ้า เหย้าสองเขย” เป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรให้เกิดขึ้นทั้งนี้การแยกเรือนใหม่นั้น ส่วนใหญ่มักทำกันในบริเวณพื้นที่ตั้งเรือนของฝ่ายหญิง (พ่อตา) ระยะแรกอาจสร้างเป็นเรือนหลังขนาดเล็ก เช่น เหย้าหรือตูบต่อเล้า สำหรับอาศัยอยู่ชั่วคราว รอจนกว่าสามารถสะสมวัสดุต่างๆ ได้พอสมควร แล้วจึงสร้างเป็นเรือนใหญ่ และเริ่มตั้งต้นเป็นครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) ประกอบด้วยคนสองรุ่น คือ พ่อแม่และลูก จากนั้นจึงพัฒนาเป็นครอบครัวขยายต่อไป การแบ่งมูนหรือมรดกของพ่อแม่ให้แก่ลูกสะใภ้และลูกเขยในอดีตไม่มีหลักเกณฑ์มาตรฐานชัดเจน หากแบ่งตามความเห็นว่าเหมาะสมของผู้ใหญ่ เช่น เห็นว่าเป็นคนขยันขันแข็ง เป็นคนเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ หรืออาจแบ่งตามความชอบพอส่วนตัว
นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวญ้อมีครอบครัวขยายแบบปิตาลัย (patrilocal) หลังแต่งงานแล้ว ผู้หญิงมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย กรณีนี้อาจเป็นเพราะว่าฝ่ายชายเป็นลูกชายคนเดียวจึงจำเป็นต้องอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่ หรือฝ่ายหญิงมีมรดกน้อยกว่าฝ่ายชาย อีกทั้งยังพบกรณีเมื่อแต่งงานแล้วไม่ไปอยู่กับทั้งครอบครัวฝ่ายผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ออกไปตั้งหลักแหล่งใหม่ (neolocal) ทั้งนอกและในชุมชน โดยอาจเช่าหรือไปซื้อที่อยู่ใหม่ ปัจจุบันครอบครัวลักษณะดังกล่าวพบมากขึ้น เนื่องจากมีเคลื่อนย้ายออกไปอยู่นอกชุมชน โดยเฉพาะในเขตเมืองเพราะทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงต้องใช้เป็นแหล่งทำงาน ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำนาดังเช่นบรรพบุรุษ จากการมีทางเลือกด้านอาชีพเพิ่มขึ้นจากโอกาสทางการศึกษาและงานที่หลากหลายของสังคมเมือง จึงทำให้ชาวญ้อที่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่ต้องพึ่งพาที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรม กอปรกับมรดกที่ดินเริ่มลดน้อยลง
ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ศาสนาและความเชื่อ
ปัจจุบันชาวญ้อนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ลักษณะการนับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน มีการผสมผสานกับความเชื่อเรื่องผีเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของการนับถือพุทธศาสนาในสังคมอีสาน มีการไหว้ผีในชุมชน โดยจะจัดให้มีการไหว้และเลี้ยงใหญ่ปีละครั้ง ส่วนในชีวิตประจำวันทั่วไปนิยมประกอบพิธีตามประเพณีที่วัดในชุมชน เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม
ในอดีตความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษหรือผีด้ำของชาวญ้อกับชาวอีสานปรากฏให้เห็นจากรูปแบบการแบ่งสัดส่วนของเรือนในอดีต ซึ่งมีอยู่สามห้องใหญ่ๆ โดยเรียงจากซ้ายไปขวา คือ ห้องเปิงหรือ “ห้องเก็บของฮักษา” ซึ่งเป็นห้องผี ห้องนอนพ่อแม่ และห้องนอนลูกสาว จะเห็นว่า ชาวญ้อได้เลี้ยงผีบรรพบุรุษหรือ “ผีพ่อตาแม่ยาย” ไว้ในเรือน โดยสานไม้ไผ่เป็นตะแกรงเล็กๆ เรียกว่า “กระเต๊าะ” ใส่ดอกไม้ธูปเทียน แล้วมัดรวมกันหรือใส่หิ้งไว้บริเวณมุมบ้านของ “ห้องเปิง” เพื่อบูชา เมื่อถึงโอกาสสำคัญ เช่น งานแต่งงาน งานบุญต่าง ๆ ต้องจัดเตรียมสำรับกับข้าวแล้วเรียกขานบอกให้ผีรับทราบมิใช่นั้นจะเป็นการผิดผี “…เวลาแต่งงานต้องแต่งพาข้าวพาน้ำไปครอบผีครอบพ่อครอบพ่อแม่ บ่ลืม บอกให้มารับทราบเด้อ ลูกหลานแต่งการแต่งเอาลูกเอาเมีย ให้มาอยู่มากิน แต่งพาข้าวไปวางไว้บ่อนใด๋บ่อนหนึ่งแล้วเรียกมา..”
ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม แบ่งได้ตามลักษณะความเชี่ยวชาญ คือ ผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีและความเชื่อเหนือธรรมชาติ และผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีและความเชื่อเหนือธรรมชาติ ประกอบด้วย ขะจ้ำ และหมอสูตร (หมอสู่ขวัญหรือหมอพราหมณ์) หน้าที่ของบุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะขะจ้ำ จะเป็นผู้จัดเตรียมและทำพิธีกรรมเลี้ยงผี รวมทั้งทำหน้าที่แก้บนให้กับชาวบ้านที่มีปัญหา เป็นตัวสื่อกลางติดต่อระหว่างอำนาจเหนือธรรมชาติกับชาวบ้าน เพื่อบอกความต้องการของปู่ตาหรือผี หรือถ่ายทอด ตีความสารที่ผีต้องการสื่อกับชาวบ้าน เช่น การทำนายทายทักเสี่ยงทายต่าง ๆ รวมทั้งเป็นร่างทรงเพื่อให้ชาวบ้านซักถามตอบโต้หรือขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ในทุกวันพระวันโกน ขะจ้ำจะต้องทำหน้าบูชาผี โดยนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ในนามของชาวบ้านทั้งชุมชน ทั้งยังต้องถือศีลประพฤติธรรม นุ่งขาวห่มขาวในช่วงดังกล่าว
การเลือกบุคคลใดเป็นขะจ้ำ แต่เดิมกำหนดไว้ว่าต้องเป็นชาวญ้อเท่านั้น ด้วยการสืบทอดทางสายตระกูลโดยกำหนดเลือกลูกคนแรก ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงให้เป็นผู้ทำหน้าที่ ส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิงและไม่สามารถให้คนตระกูลอื่นที่ผีไม่ได้เลือกมาเป็นข้าวจ้ำได้ ซึ่งผู้ที่ผีเลือกเป็นข้าวจ้ำจะทำหน้าที่ตลอดชีวิต และเมื่อเสียชีวิตจึงจะทำการเลือกใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังบุคคลที่เป็นขะจ้ำไม่จำเป็นต้องสืบสายเลือด แต่ต้องให้ผีเลือกเอง ซึ่งในการเลือกนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่จะจัดให้มีการชุมนุมกันขึ้นเพื่อให้ผีเป็นผู้เลือก โดยเชื่อกันว่าผีจะใช้วิธีการ “ซูน” หรือสิงบุคคลที่ผีเห็นว่ามีความเหมาะสม และผู้ที่ถูกเลือกจะไม่อาจปฏิเสธภาระนี้ได้ ต้องรับหน้าที่ไปตลอดชีวิต ส่วนหมอสูตรหรือหมอพราหมณ์ เป็นผู้ทำหน้าที่สร้างความมั่นใจ ความเป็นสิริมงคลและลดทอนความกังวลของผู้ที่ขอให้ทำพิธีกรรมให้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เช่น การสะเดาะเคราะห์ การบายศรีสู่ขวัญในโอกาสวันเกิด วันแต่งงาน วันขึ้นบ้านใหม่ หรือเฉลิมฉลองในความสำเร็จบางอย่าง อาทิ สอบได้ สอบผ่าน หรือสร้างขวัญกำลังในโอกาสที่หายจากการเจ็บป่วย รอดจากอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่สร้างอกสั่นขวัญหาย รวมทั้งสร้างความมั่นใจในโอกาสที่จะเดินทางไกลต่างถิ่นเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นขะจ้ำหรือหมอสูตร หมอพราหมณ์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนมีศีลธรรมอันดี เคยผ่านการบวชเรียนมาก่อน จึงมีความรู้ในขั้นตอนและรายละเอียดของการประกอบพิธีกรรม สามารถท่องจำ กล่าวโศลก คำสู่ขวัญและคาถาต่าง ๆ ได้
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี
ประเพณีและพิธีกรรมมีความคล้ายคลึงกับชาวอีสานทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติตามจารีตเดิมหรือ “ฮีตสิบสอง” ซึ่งเป็นประเพณีประจำเดือนทั้งสิบสองเดือน และชาวบ้านท่าขอนยางได้ยึดถือดำเนินเป็นปกติแต่ไม่ได้จัดให้เป็นพิธีกรรมใหญ่ดังเช่นประเพณีไหลเรือไฟ หรือประเพณีเลี้ยงผีปู่ตาและไหว้หลักเมือง นอกจากนั้นยังมีพิธีกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆที่ ยังยึดถือปฏิบัติ เช่น พิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ พิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญ พิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
พิธีกรรม ประเพณีที่สำคัญของชาวญ้อแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผี และการเลี้ยงผีประจำปี แต่ละชุมชนจะมีศาลผี หรือพ่อปู่ ที่มีชื่อที่แตกต่างกันออกไปตามความเคารพศรัทธา แต่ทว่ากระบวนการของพิธีกรรมนั้นล้วนคล้ายคลึงกัน ดังเช่นกรณีของชาวญ้อ ที่บ้านท่าขอนยาง จังหวัดมหาสารคาม มีประเพณีสำคัญที่จัดเป็นประจำทุกปี แบ่งได้ 2 ส่วน คือ ประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธและผี สำหรับประเพณีพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับผี คือ การไหว้ผีปู่ตา (ปู่ขุนสำราญ ปู่พิลือ) ญาแม่สองน้องและหลักเมือง โดยชาวบ้านท่าขอนยางจะมีการเลี้ยงใหญ่ศาลปู่สำราญในวันพุธใดพุธหนึ่งของเดือนสาม ศาลพิลือเลี้ยงใหญ่ในวันพุธใดวันพุธหนึ่งของเดือนสี่ ส่วนศาลญาแม่สองนางกำหนดวันเลี้ยงใหญ่ในเดือนสี่โดยให้ตรงกับวันพุธ และหลักเมืองเลี้ยงใหญ่ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 รวมทั้งในวันขึ้นปีใหม่สากล (วันที่ 1 มกราคม) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
การเลี้ยงผีปู่พิลือ
การนับถือผีประจำชุมชนชาวญ้อบ้านท่าขอนยาง มีอยู่ 3 ศาลหลัก คือ ศาลปู่พิลือ ศาลปู่สำราญ และศาลเจ้าแม่สองนาง โดยจะจัดให้การพิธีเลี้ยงผีทั้งสามทุกปี สำหรับ “ปู่พิลือ” ชาวญ้อบ้านท่าขอนยางเชื่อกัน สืบมาว่าเป็นผีคู่บ้านคู่เมืองของตน เป็นผีใหญ่มีอำนาจมากที่สุดในหมู่บ้าน โดยตัวศาลตั้งอยู่กลางหมู่บ้านบริเวณหน้าที่ทำการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าขอนยาง ซึ่งในอดีตเคยเป็นพื้นที่ป่าบุ่งกลางบ้าน ตัวศาลตั้งอยู่ใต้ต้นไทร ต้นสมอพิเภกใหญ่และต้นมะขามใหญ่ทำให้บรรยากาศทั่วไปดูขลึมขลัง เชื่อว่า ญาพ่อพิลือเป็นผู้ที่จะคอยช่วยเหลือปกปักรักษาและให้คำแนะนำชาวญ้อในการทำมาหากิน การช่วยทำนายทายทักว่า ผลผลิต ข้าวปลาอาหาร สภาพดินฟ้าอากาศในแจ่ละรอบปี การเลี้ยงปู่พิลือกำหนดให้มีขึ้นในวันพุธ เดือนสี่ของทุกปี เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบไปด้วย เครื่องนอน (เสื่อ หมอน อย่างละหนึ่ง) เหล้า 1 ขวด จากผู้ใหญ่บ้านท่าขอนยางทั้ง 5 หมู่ หัวหมู 1 หัว (ในอดีตเป็นหมูต้มทั้งตัว 1 ตัว) สำรับกับข้าว 1 สำรับ เสื้อผ้าชุดผ้าไหม 1 ชุด น้ำดื่ม สำรับของหวาน 1 สำรับ และขันธ์ 5
ในอดีต เครื่องเซ่นสำหรับปู่พิลือจะเป็นสัตว์สี่เท้า โดยเฉพาะกระบือ เล่ากันว่า เมื่อนำกระบือมาผูกไว้ใกล้ตัวศาลแล้ว ปล่อยทิ้งไว้สักพักกระบือจะล้มชักลงไปและขาดใจตาย นอกจากนี้ในอดีตยังจัดให้มีการเข้าทรงร่างผู้ทำพิธีกรรมซึ่งเรียกว่า “ข้าวจ้ำ (ขะจ้ำ)” เมื่อผีปู่ตาเข้าสูน (ทรง) แล้ว ร่างทรงจะมีอาการชักงอ จากนั้นจะลุกขึ้นมาแสดงอาการฟ้อนรำ สักพักจะกลับมานั่งตามปกติและคอยตอบข้อซักถามของชาวบ้านที่มาร่วมงาน
การเลี้ยงผีปู่ตาสำราญ
“ผีปู่ตาสำราญ” เชื่อว่า จะช่วยคุ้มครองปกปักดูแลชาวบ้านท่าขอนยางจากภยันตรายที่จะมาด้านทางเข้าหมู่บ้านและช่วยคุ้มครองภัยทางแม่น้ำชี ด้วยเหตุนี้จึงตั้งศาลไว้ด้านปากทางเข้าหมู่บ้าน บนเนินดินใต้ต้นยางใหญ่ติดริมแม่น้ำชีซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ ส่วนด้านหน้าศาล (ทิศเหนือ) มีสระน้ำสาธารณะประโยชน์เรียกว่า หนองบ้านข้ามท่า ปัจจุบันถมแล้ว ส่วนด้านทิศตะวันตกติดกับทางเดินที่จะลงท่าแม่น้ำชี เชื่อกันว่า ขุนสำราญเดิมเป็นขุนที่เวียงจันท์ เป็นผู้นำชาวญ้อ เมื่อเสียชีวิตจึงได้ตั้งศาลให้และอัญเชิญวิญญาณมาสิงสถิตเป็นผีคุ้มครอง
ชาวบ้านจัดให้มีการเลี้ยงใหญ่ในทุกเดือนสามของทุกปี โดยกำหนดให้ตรงกับวันพุธ ส่วนเครื่องเซ่นประกอบด้วย ไก่ต้ม 4 ตัว เหล้า 4 ขวด หมาก 4 คำ ยาสูบสี่มวน เสื้อผ้าโสร่งไหมของผู้ชาย 1 ชุด น้ำดื่ม 4 ขวด เงิน 6 บาท ขันธ์ 5 และขัน 8 พร้อมด้วยฝ้ายผูกแขน ในวันเลี้ยงนั้นจะมีเสี่ยงทำนาย โดยจ้ำเป็นคนเลือกเอาไก่ต้มตัวที่สวยที่สุดไปไว้ในโฮงหรือศาลปู่ตา พร้อมทั้งอธิษฐานให้เจ้าปู่ทำนายทายทักในเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น ฝนฟ้า ผลผลิต เป็นต้น จากนั้นจึงเอาไก่ตัวดังกล่าวออกมาดู หากขาไก่มีลักษณะโค้งงอจะทำนายว่า ฝนในปีนั้นไม่ค่อยดีหรือน้ำจะท่วม หากจะเสี่ยงทายในเรื่องอื่นต่อไปต้องนำขาไก่ไปวางไว้ในศาลอีก แล้วจึงอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จากนั้นจึงนำไก่มาดูขาเพื่อทำนายโดยข้าวจ้ำ นอกจากนี้ในอดีตยังใช้วิธีนำเครื่องเซ่นต่างๆ ที่ชาวบ้านเตรียมมาด้วย เช่น ไก่ เกลือ เครื่องเทศ เทผสมลงในหม้อดินแล้วต้ม โดยจะทำนายตามลักษณะที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าปีใดน้ำจะท่วม น้ำที่ต้มในหม้อจะล้นออกมา แต่ถ้าปีใดจะแล้งหรือน้ำท่าปกติ น้ำที่ต้มในหม้อจะไม่ล้น แม้จะเติมน้ำอยู่ตลอดเวลาหรืออาจจะเสี่ยงทายจากรสชาติของแกงด้วย “…มีพิธีกรรมเสี่ยงทายหม้อแกง เอาไก่มา 8 - 9 ตัว เอามาโฮม (รวม) กัน มีเกลือมีปลาร้า ฟัก แฟง เอามาใส่หม้อรวมกัน ใส่หม้อทั้งหมด อย่างปลาร้าถ้วยหนึ่งหรือเกลือถ้วยหนึ่งก็เทใส่หมดเลย ถ้าจืดก็แสดงว่าไม่ดี อย่างเสี่ยงเรื่องลมจะแรง ถ้าได้รสเค็มก็ไม่ดี ก็จะแล้ง ถ้าอร่อยก็จะดีทุกอย่าง…” นอกจากนั้นยังมีการแก้บนหรือ “บ๋า” ของบุคคลที่ไปบนบานให้ปู่ตาช่วยในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเครื่องเซ่นในการแก้บนจะเป็นไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ขวด ขันดอกไม้ธูปเทียน ข้าวเหนียว 1 กระติ๊บ น้ำดื่ม 1 แก้วชาวบ้านเชื่อว่า หากบุคคลใดบนไว้แล้วผิดคำพูดที่บนไว้กับผีปู่ตา ไม่ไปแก้บนมักจะมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดี
การเลี้ยงผีเจ้าแม่นางสอง
“เจ้าแม่สองนาง” หรือ “ญาแม่สองนางพี่น้อง” ตัวศาลตั้งอยู่บนเนินดินสูง ใต้ต้นมะขามใหญ่ท้ายหมู่บ้าน เยื้องหลังวัดสว่างวารี โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำชีบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “วังหอ” ซึ่งเป็นช่วงทางโค้งของลำน้ำและค่อนข้างลึก เชื่อว่าเป็นบริเวณที่จระเข้ใหญ่อาศัยอยู่ตามตำนานสองนางพี่น้อง เชื่อกันว่าหน้าที่ของผีสองนางพี่น้องคือช่วยปกปักคุ้มภัยให้กับชาวบ้านที่สัญจรในแม่น้ำชี
สำหรับความเป็นมาของศาลสองนางนั้นกระแสหลักที่เชื่อกันและเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นศาลที่สร้างอุทิศให้แก่สองนางพี่น้อง ชื่อนางบัวและนางบาง ลูกสาวเจ้าเมืองซึ่งถูกจระเข้ใหญ่คาบลงแม่น้ำชี อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่ากระแสรองที่เล่าว่า ผู้หญิงสองนาง มีชื่อว่า นางหมัดและนางฮุย ซึ่งเดินทางมาจากเมืองเวียงจันท์แล้วมาเสียชีวิตบริเวณท่าแม่น้ำชี
ในการเลี้ยงผีเจ้าแม่สองนาง ชาวบ้านกำหนดให้มีวันเลี้ยงใหญ่หลังจากที่มีการเลี้ยงผีปู่ตาพิลือและผีปู่ขุนสำราญแล้ว โดยกำหนดเลี้ยงในเดือน 4 และต้องตรงกับวันพุธ สำหรับสิ่งของที่จัดเลี้ยงนั้นประกอบไปด้วยของหวาน (ภาหวาน) คือ ข้าวต้มมัด ขนมหมก (ขนมเทียน) หมากพลู 4 คำ ยาสูบ 4 มวน น้ำหอม 1 ขวด ขัน 5 ไม่มีเหล้าในการเลี้ยง นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า เจ้าแม่สองนางพี่น้องเป็นผีสตรีที่ชอบความสวยงาม ดังนั้นของที่ผู้นำนิยมนำมาเซ่นไหว้จึงเป็นของใช้สตรี เช่น เครื่องหอม ของหวาน เป็นต้น
ในส่วนของการเลือกขะจ้ำซึ่งเป็นผู้ทำพิธีกรรมสื่อสารระหว่างผีกับชาวบ้านของแต่ละศาล กำหนดไว้ว่าต้องเป็นชาวญ้อเท่านั้น ด้วยการสืบทอดทางสายตระกูลโดยกำหนดเลือกลูกคนแรก ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงให้เป็นผู้ทำหน้าที่ ส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิง และไม่สามารถให้คนตระกูลอื่นที่ผีไม่ได้เลือกมาเป็นข้าวจ้ำได้ ซึ่งผู้ที่ผีเลือกเป็นข้าวจ้ำจะทำหน้าที่ตลอดชีวิต และเมื่อเสียชีวิตจึงจะทำการเลือกใหม่อีกครั้ง
ประเพณีไหลเรือไฟ
ไหลเรือไฟ เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและจัดให้เป็นงานยิ่งใหญ่ของชุมชนชาวญ้อบ้านท่าขอนยาง ในช่วงออกพรรษาขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เพื่อไหว้คุณน้ำที่ได้ใช้สอยและไหว้พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ในอดีตชาวบ้านจะจัดหาต้นกล้วยหรือขอนไม้มามัดเรียงกัน จากนั้นนำขนมข้าวต้มดอกไม้ธูปเทียน นำไปล่องแม่น้ำชีเป็นการแสดงความเคารพแม่น้ำและสืบต่อดัดแปลงจนเป็นงานใหญ่ประจำหมู่บ้านและประจำท้องถิ่นในปัจจุบัน ในวันดังกล่าวจะมีการแข่งเรือสวงหรือเรือยาวบนแม่น้ำชี หลังท่าวัดเจริญผล มีผู้เข้าร่วมชมการแข่งขันเป็นจำนวนมากและสนุกสนาน ส่วนช่วงบ่ายจะมีการแห่ขบวนรอบชุมชน ซึ่งการจัดขบวนแห่แบ่งเป็น 3 ขบวนหลัก คือ ขบวนแห่ของวัดมหาผล ประกอบด้วย
ชาวบ้านท่าขอนยางหมู่ที่ 1 ขบวนแห่วัดเจริญผล ประกอบด้วย ชาวบ้านท่าขอนยางหมู่ที่ 2, 4 และ 11 และขบวนแห่วัดสว่างวารี ประกอบด้วย ชาวบ้านท่าขอนยางหมู่ที่ 3 โดยขบวนจะเริ่มแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เวลา 15.00 น. ภายในขบวนประกอบด้วยขบวนฟ้อนรำซึ่งแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง มีเทพีนั่งบนรถยนต์ประจำขบวนที่ประดับตกแต่งเป็นรูปเรือที่มีรูปทรงต่าง ๆ เช่น เรือสุพรรณหงส์ เรือจระเข้ ปลาตะเพียน และนกกระยาง
เมื่อแห่รอบหมู่บ้านแล้วจึงจะมารวมกันที่สนามกลางบ้านเพื่อฟังประกาศผลการประกวดขบวนแห่และรับรางวัล จากนั้นช่วงค่ำจึงมีการลอยเรือไฟบนแม่น้ำชีหรือชาวบ้านเรียกว่าไหลเรือไฟ ขวดที่มัดตามโครงรูปทรงของเรือจะได้รับการจุดไฟขึ้น แลดูสว่างไสวสวยงามตามรูปทรงต่าง ๆ ที่ออกแบบไว้ สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้มาร่วมงาน โดยมีทั้งที่เป็นชาวบ้านในชุมชนและที่มาจากหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง นอกจากนี้ยังมีการลอยกระทงและมีมหรสพสมโภชตลอดคืน
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต
การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
ปัจจุบันการคลอดบุตรของชาวญ้อส่วนใหญ่นิยมจะไปคลอดที่โรงพยาบาล ไม่นิยมคลอดแบบอาศัยหมอตำแยหรือหมอพื้นบ้านและยาสมุนไพรดังเช่นในอดีต ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนและป่าอย่างดี ทั้งนี้ป่าโคกถือว่าเป็นแหล่งสมุนไพรชั้นดี
“ ...ต้นไม้กับคนนี้เราพึ่งพามันมาตั้งแต่เราเกิด เขาก็เอาฟืนเอาไม้ต้มน้ำ เอาตอกตัดสายสะดือ เอาแก่นขาม แก่นนมสาวต้มให้แม่กินให้นมออกหลายๆ เอาขมิ้นทา เอานอนอู่ อู่ก็เอาไม้เนื้อแข็งส่วนมากอยู่โคกมาเฮ็ด (ทำ) ลางคนก็ให้นอนด้ง (เอาไม้ไผ่สาน) เอากล้วยป้อนเด็กน้อย เอาฝ้ายมาผูกแขนสู่ขวัญแม่ลูก ยามเด็กน้อยใหญ่ขึ้นมาหน่อย มันก็หาขี่ม้าฟันดาบก็เอาก้านกล้วยเฮ็ดหาดีดใน (เมล็ด)แต้ เม็ดบักขามเล่น..”
นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังมีความเชื่อ “ข้อคะลำ” หรือข้อห้ามสำหรับสตรีมีครรภ์หรือ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนที่เพิ่งคลอดลูก เช่น ห้ามอาบน้ำเวลากลางคืน เพราะน้ำคาวปลาจะมาก อาจจะหกล้มได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ เนื่องจากในอดีตต้องใช้ไต้หรือกะบองในการให้แสงสว่างซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ ห้ามข้ามเชือกที่กำลังล่ามวัวควาย ลูกออกมาจะเป็นคนตะกละตะกลาม เพราะอาจจะสะดุดเชือกหกล้มได้ หากวัวควายลุกเดินหรือวิ่งชน ห้ามนั่งขวางประตูบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก ห้ามนั่งขวางบันไดบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก ห้ามเย็บที่นอน จะทำให้คลอดลูกยาก ห้ามไปงานศพ เดี๋ยวผีคนตายจะมาเกิดด้วย เนื่องจากไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้ ห้ามไปเบิ่งคนคลอดลูก เดี๋ยวเด็กในท้องจะชักชวนกันไปในทางไม่ดี ห้ามปิดหน้าต่างประตู เป็นความต้องการให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้ามตอกตะปู ห้ามตำหนิผู้อื่น ลูกออกมาจะบ่ดีเป็นเหมือนที่ตำหนิ เพราะเกรงว่าจะส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจคนท้อง ห้ามทำท่าทางเลียนแบบคนพิกลพิการไม่สมประกอบ ลูกออกจะเหมือนอย่างที่ทำ ห้ามนั่งยอง ๆ ห้ามนั่งชันเข่า ห้ามนั่งคุกเข่า ห้ามพลิกด้านใบตอง ห้ามเผาหอย เผาปู ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้า ห้ามขึ้นที่สูง ห้ามนั่งบนที่สูง ห้ามนั่งลงแรง ๆ ห้ามนอนหงาย นอนคว่ำ ห้ามอาบน้ำร้อน ห้ามอาบน้ำสกปรก ห้ามเอาครกกับสากแช่อยู่ด้วยกัน จะทำให้คลอดลูกลำบาก ห้ามชะโงกดูน้ำในบ่อ ห้ามเดินข้ามขัว (สะพาน) เนื่องในอดีตสะพานทั่วไปจะมีลักษณะเป็นท่อนไม้ขนาดเล็กพอที่คนเดียวจะเดินข้ามได้ ดังนั้นอาจจะเป็นอันตรายได้ เป็นต้น
การแต่งงาน และการหย่าร้าง
ในอดีตการออกเรือนหรือการแต่งงานของชาวญ้อ มีปรัชญาคล้ายคลึงกันกับคนอีสานทั่วไป เนื่องจากเป็นช่วงชีวิตที่ต้องอาศัยการตัดสินใจด้วยตนเองหลายอย่าง นอกจากต้องดูแลตนเองแล้วยังต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ด้วย ชีวิตคู่จึงเป็นขั้นตอนของช่วงชีวิตที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงค่อนข้างพิถีพิถันในการแต่งงานอย่างมาก ตั้งแต่การเลือกฤกษ์ยาม ห้ามแต่งงานในวันคี่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้หย่าร้างกันหรือต้องพลัดพลาดก่อนเวลาอันควร ควรแต่งงานในเดือนคู่คือเดือน 2, 4, 6, 8 (ก่อนเข้าพรรษา) และเดือน 12 รวมทั้งควรเป็นวันขึ้น 6, 7, 10, 11, 12 หรือ 13 ค่ำ และวันแรม 3, 7, 9, หรือ 13 ค่ำ ถือว่าฤกษ์ดี
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของข้อห้ามหรือข้อคะลำจำนวนมากสำหรับการแต่งงาน นอกจากเชื่อว่าเป็นช่วงมงคลของชีวิตแล้ว ยังเพื่อให้เกิดความมั่นใจในชีวิตคู่ สร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป จึงปรากฏข้อคะลำที่กำหนดให้บ่าวสาวควรทราบในระหว่างมีชีวิตคู่ เช่น อย่าทำสิ่งของแตกร้าวในวันแต่ง คะลำ จะทำให้หย่าร้าง ห้ามมีชื่ออาหารที่ไม่เป็นมงคล เช่น แกงฟัก (ฟัก ภาษาอีสาน หมายถึง ฟัน สับ) แกงจืด ยำ ห้ามคนเป็นหมัน ไม่มีลูกถือขันหมาก ห้ามบุคคลที่เป็นกำพร้าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว ห้ามแต่งช่วงเดือนเข้าพรรษา (เพราะเป็นช่วงที่กำลังเร่งดำนา) รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ฝ่ายภรรยาควรปฏิบัติต่อสามี เพื่อความเป็นสิริมงคลและกลมเกลียวในครอบครัว แต่พิจารณาแล้วดูเหมือนผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ชาย ซึ่งไม่ควรกระทำ เช่น ห้ามเมียนอนหัวสูงกว่าผัว ห้ามเมียกินข้าวก่อนผัว ห้ามเมียเอาอาหารที่ตนเหลือกินให้ผัวกิน ห้ามเมียย่าง(เดิน)เอาผ้าเอาซิ่นปัดป่ายผัว เมียบ่สมมา (ขอขมา) ผัวในวันพระวันศีลก่อนนอน ไม่ดี คะลำ เป็นต้น
นอกจากนี้ในสังคมอีสานรวมทั้งชาวญ้อ การแต่งงานไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคนสองคนเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมเอาคนทั้งสองครอบครัวเข้ามามีสัมพันธ์กัน ช่วยสร้างเครือข่ายให้กว้างของเครือญาติให้ขยายออกไปในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หรือช่วยให้เกิดความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์มากขึ้น ในกรณีรู้จักกันมาก่อนหรือคนในตระกูลก่อนหน้าได้แต่งงานกันแล้วในวันก่อนแต่งงานซึ่งเรียกว่า “วันสุกดิบ” จะมีการฉลองกันทั้งที่บ้านฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายจะไปร่วมงานกันโดยมีของติดมือติดไม้ไปด้วยเรียกว่าไป “เพาะบุญ” เช่น ผลไม้ หมากพลู ผัก เนื้อสัตว์ต่าง ๆ หมอน ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม ที่นอน เป็นต้น รวมทั้งแรงงานด้วย
พิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในวันแต่งงาน คือ “การป้อนไข่” โดยในพานขวัญหรือพานบายศรีของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะมีไข่ต้มสุก หลังจากสิ้นสุดพิธีสู่ขวัญแล้ว “หมอสูด” (สูตร) จะนำไข่จากทั้งพานขวัญฝ่ายหญิงและชายมาปอก แล้วให้ผู้เฒ่าผู้แก่พิจารณาดูอย่างละเอียดว่าไข่ใบใดมีลักษณะดีที่สุด ถ้าไข่ใบที่ถูกเลือกเป็นของฝ่ายใดแล้ว ทายว่าฝ่ายนั้นจะเป็นใหญ่ในครอบครัว ถ้าดีทั้งสองใบแสดงว่าเป็น “ผัวพร้อมเมียเพรียง” จากนั้นจึงนำไข่ดังกล่าวมาบี้กับปั้นข้าวเหนียว แล้วมอบให้คู่บ่าวสาวป้อนไข่กันต่อหน้าผู้ใหญ่ ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีการเสี่ยงดูคางไก่ด้วยเพื่อทายว่าชีวิตครอบครัวจะเป็นอย่างไรในอนาคต ส่วนใหญ่จะว่าดีตามกันไปหมดเพื่อให้กำลังใจชีวิตทั้งคู่ให้ไปด้วยดี
นอกจากนี้ในวันแต่งหรือ “วันกินดอง” นั้นยังมีพิธี “สมมา” หรือขอขมาญาติฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่ให้ฝ่ายชายได้แสดงความรู้จักญาติฝ่ายหญิง เพราะญาติที่อยู่ห่างไกลจะได้โอกาสเดินทางมาร่วมงานในวันดังกล่าว นอกจากบ่าวสาวจะรู้จักญาติในวันงานแล้ว ญาติทั้งสองยังได้ทำความรู้จักกัน และบางคนอาจมีการ “ผูกเสี่ยว” เป็นเพื่อนกันไปด้วย การนับญาติระหว่างเสี่ยว เช่น ถ้าผู้ชายผูกเสี่ยวกันจะเรียกภรรยาเสี่ยวว่า “แม่เสี่ยว” ฝ่ายภรรยาเสี่ยวก็เรียกเสี่ยวสามีว่า “พ่อเสี่ยว” นอกจากนี้ผู้หญิงยังสามารถผูกเสี่ยวกันได้ด้วย ซึ่งความสัมพันธ์แบบเสี่ยวเป็นความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถพึ่งพากันได้ในช่วงต่าง ๆ จนเกิดคำพูดว่า “เสี่ยวเฮย เกยฮัก” นับเป็นโอกาสขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ออกไป สามารถเป็นหลักประกันความอยู่รอดทั้งสองฝ่ายได้ด้วย เช่น การบอกงานบุญประเพณีต่าง ๆ การขอความช่วยเหลือในช่วงวิกฤติ อาทิ การแลกข้าว แลกปัจจัยจำเป็นต่าง ๆ เป็นต้น
ในส่วนของการสมมาญาติฝ่ายชายนั้น จะค่อนข้างมีรายละเอียดแตกต่างจากการสมมาญาติฝ่ายหญิง เพราะต้องมีการเตรียมสิ่งของไปมอบให้ ฝ่ายหญิงต้องสืบถามว่าฝ่ายชายมีญาติเท่าใด จากนั้นจะจัดเตรียมเย็บหมอน ที่นอนและทอผ้าไว้รอตั้งแต่ก่อนแต่งงานหลายวัน เมื่อถึงเวลาก็เริ่มกราบสมมาตั้งแต่พ่อแม่สามี โดยมอบที่นอน หมอนและผ้าให้ จากนั้นจึงตะเวนมอบให้ญาติของฝ่ายชายคนอื่น ๆ จนครบ ถ้ามีญาติที่รักนับถืออยู่ไกลก็จำเป็นต้องเดินทางไปสมมาจนฝ่ายหญิงรู้จักญาติฝ่ายชายถ้วนทั่วหน้ากันทั้งหมด เป็นการสอนให้ผู้หญิงรักญาติสามี “ฮักผัว ให้เจ้าฮักพี่น้องแนวน้าแม่ผัวนำ (ด้วย)”
ดังนั้น จะเห็นว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องระดับปัจเจกบุคคลหรือคนสองคน แต่เป็นเรื่องระดับสังคม เป็นค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคม โดยเป็นทั้งกลไกในการควบคุมความประพฤติทางสังคมส่วนบุคคลระหว่างหญิงชายไม่ให้ทำสิ่งใดที่ผิดผีผิดประเพณีก่อนสังคมให้การยอมรับโดยผ่านพิธีแต่งงาน
นอกจากนี้การแต่งงาน ยังเป็นสิ่งสนับสนุนทางสังคมให้ยึดถือปฏิบัติว่าการแต่งงานเป็นพิธีกรรมที่ดีงาม เป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่และตัวผู้แต่ง ด้วยเหตุนี้การแต่งงานจึงไม่ใช่เพียงฝ่ายหญิงฝ่ายชายอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่เป็นการแต่งเอาญาติทั้งสองฝ่ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้วยนอกจากการแต่งงานจะเป็นการประกาศว่าคนสองคนจะเป็นสามีภรรยาให้สังคมรับทราบแล้ว ยังเป็นการช่วยขยายเครือข่ายและกระชับความสัมพันธ์ทางสังคมให้แน่นแฟ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมครั้งอดีตนั้น ด้วยข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี แรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก การได้แรงงานเข้ามาเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งที่ต้องการ และนอกจากได้แรงงานเขย - สะใภ้แล้วยังได้แรงงานญาติทั้งสองฝ่ายด้วย
ความตายและการทำศพ
ในอดีต ก่อนจะมีการใช้เมรุในการเผาศพ ชาวญ้อมีแหล่งปลงศพที่เรียกว่าป่าช้าของตนเองภายหลังเมื่อมีการสร้างเมรุเพื่อใช้เผาศพตามวัดในหมู่บ้าน ความนิยมไปใช้ป่าช้าดั้งเดิมจึงค่อยลดน้อยลงตามลำดับ ตั้งแต่อดีตสืบมา “ป่าช้าผีญ้อ” มีลักษณะเฉพาะที่จำกัดเฉพาะศพของชาวญ้อหรือคนในหมู่บ้านญ้อเท่านั้น ชาวญ้อจะไม่นำศพไปปลงร่วมกับชาวลาวกลุ่มอื่น อีกทั้งชาวบ้านอื่นจะไม่สามารถหรือได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้พื้นที่ปลงศพของชาวญ้อได้ ทั้งนี้ ในการปลงศพได้มีการยืดหยุ่นให้ชาวญ้อที่แยกย้ายออกจากบ้านเดิมไปตั้งหมู่บ้านอื่น ๆ ใกล้เคียงสามารถใช้ได้ นอกจากการมีพื้นที่ปลงศพที่เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ในการปลงศพของชาวญ้อแต่ละหมู่บ้านยังมีความแตกต่างกันตามทิศทางของหมู่บ้านตนเองเพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนพื้นที่กับหมู่บ้านอื่น ทำให้เกิดเป็นลักษณะกระจุกป่าช้าย่อยของหมู่บ้านต่างๆกระจายทั่วผืนป่าโคก ซึ่งเป็นการกำหนดอาณาบริเวณประกอบพิธีกรรมของแต่ละหมู่บ้าน
สำหรับคติความเชื่อเกี่ยวกับการปลงศพของชาวญ้อ ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างความเชื่อและขั้นตอนพิธีกรรมที่หลากหลายคล้ายคลึงกับชาวลาวอีสานทั่วไป แต่จะแตกต่างกันเกี่ยวกับทิศทางในการหันศีรษะของผู้เสียชีวิต ชาวญ้อจะหันศีรษะคนตายไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งแตกต่างจากชาวลาวที่จะหันศพคนตายไปด้านตะวันตก สำหรับเหตุผลในการกระทำดังกล่าวเนื่องจากความเชื่อว่าทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งการเริ่มต้น เป็นสิ่งที่ดีที่เป็นมงคลแก่ผู้ล่วงลับ เป็นวิธีคิดที่ปรารถนาดีต่อดวงวิญญาณผู้ตายให้ประสบพบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตหลังความตาย และแฝงปรัชญาว่าความตายไม่ใช่การสิ้นสุด หากแต่เป็นการเริ่มต้น
ในส่วนของคติการปลงศพนั้น ชาวญ้อได้แบ่งวิธีปฏิบัติต่อศพแตกต่างกันตามวิธีการตาย ที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผีตายโหง (เสียชีวิตผิดธรรมชาติ) และผีตายธรรมดา (เสียชีวิตแบบปกติ) ในอดีตวิธีการปฏิบัติต่อศพคนตายทั้งสองประเภทจะตรงกันข้ามกัน ศพผีตายโหงที่ไม่ได้แก่เฒ่าชราหรือเจ็บป่วย เช่น ผูกคอตาย ฟ้าผ่าตาย จมน้ำตาย สัตว์กัดหรือชนตาย ลงท้องตาย ตกต้นไม้ตาย เป็นต้น คนตายลักษณะนี้ชาวบ้านจะห้ามกินห้ามทาน ห้ามเก็บหรือ “ดอย” ไว้เกิน 1 วัน ห้ามนำเข้าวัด ห้ามมีพระเดินจูง และห้ามใช้วิธีการปลงศพแบบเผา ความเชื่อนี้ยังครอบคลุมถึงศพของเด็กที่ตายเมื่ออายุยังไม่ถึง 10 ขวบ เชื่อกันว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะเกิดสิ่งอัปมงคลขึ้นแก่ครอบครัวผู้ตายและผู้คนในหมู่บ้าน เพราะผีจะเข้ามาทำร้ายได้
ดังนั้น รูปแบบการปลงศพประเภทนี้จึงใช้การฝังเท่านั้น ในการฝังนั้นต้องฝังสิ่งของเครื่องใช้ลงในหลุมศพ เพื่อหวังว่าผู้ตายจะนำไปใช้ในโลกข้างหน้านับว่าเป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณและโลกหลังความตายที่ดั้งเดิมที่สุดของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังได้รับการสืบทอดความเชื่อต่อกันมา
สำหรับศพที่ตายปกติทั่วไป ส่วนใหญ่ญาติผู้ตายจะตั้งสวด หรือ “ดอย” ไว้ที่บ้านประมาณ 3 – 7 วัน ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 3 วัน ตามฐานะของผู้ตายและญาติผู้ตาย อีกทั้งในอดีตความสามารถในการรักษาศพยังมีจำกัดจึงไม่นิยมเก็บไว้นานเพราะส่งกลิ่นรบกวน ชาวบ้านเรียกงานศพว่า “งันเฮือนดี” ซึ่งเป็นวันที่เครือญาติและเพื่อนบ้านผู้ตายจะมาร่วมงานและเฝ้าศพในช่วงกลางคืน โดยจะมีกิจกรรมช่วยผ่อนคลายความโศกเศร้า มีการละเล่นต่าง ๆ เช่น เสือกินหมู(คล้ายหมากฮอส) หมากเก็บ ซึ่งเป็นการละเล่นที่ไม่นิยมเล่นในวิถีชีวิตประจำวันเพราะถือว่าคะลำเป็นการแช่งกันให้ตาย มีการเต้นสาก (คล้ายการเล่นลาวกระทบไม้) เล่านิทาน ทายปัญหา หรืออ่านหนังสือผูกให้กันฟัง เพื่อสร้างความเพลิดเพลินแก่บรรยากาศของงานไม่ให้เงียบเหงาโดยในการเล่นอาจจะมีการพนันเขกเข่า ดื่มน้ำ ดื่มเหล้าบ้างตามอัธยาศัย เพื่อสร้างอรรถรสในการเล่น
ในอดีตเมื่อมีคนตายในหมู่บ้านชาวบ้านจะหยุดทำงานเพื่อมาร่วมงานจนกระทั่งนำศพไปปลงจึงจะดำเนินชีวิตตามปกติ หากบุคคลใดฝ่าฝืนเชื่อว่าจะเกิดอัปมงคลขึ้นแก่บุคคลนั้น เมื่อครบกำหนดจึงนำศพเข้าป่าช้าเพื่อเผา ขณะนำศพไปเผาชาวบ้านจะมีความเชื่อและวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ เช่น คนที่เดินออกหน้าจะสาด “ข้าวตอกแตก” หรือข้าวเปลือกคั่วตลอดทาง มีนัยยะในการไล่ผีร้ายไม่ให้มาทำอันตราย ป้องกันไม่ให้คนตายกลับบ้านถูก และให้ผีไม่มีญาติได้อาศัยกินการเผาศพ จะมีข้อห้ามเผาศพในวันและแรม 15 ค่ำ เชื่อว่า เป็นวันที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคล และยังห้ามเผาศพวันจันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ เชื่อว่าผีจะเฮี้ยน นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออื่น ๆ เช่น ห้ามหามศพข้ามขอนไม้ ห้ามนำศพเดินข้ามขัว (สะพาน) อย่าให้แมวข้ามศพ อาหารที่เลี้ยงแขกในงานศพต้องไม่เป็นเส้น เช่น ขนมจีน เพราะจะทำให้คนตายไม่ไปเกิด ส่วนผู้เสียชีวิตจากการเจ็บปวด จะใช้เวลามากกว่า 6 วัน จึงจะสามารถเผาได้ เสื่อสาดต้องกลับทางให้เป็นตรงข้าม การแต่งตัวศพต้องสวมเสื้อผ้าศพให้กลับด้านเพื่อให้แตกต่างกับคนเป็น เวลานำศพออกจากบ้านให้คว่ำภาชนะทุกอย่าง และลับข้างบันได ในอดีตจะใช้วิธีเผาแบบเชิงตะกอน การเผาศพจะใช้ท่อนไม้ใหญ่สองท่อนทับศพไว้ หากไม่ปฏิบัติตามจะคะลำ เมื่อเผาศพเสร็จให้เดินมาล้างมือล้างเท้าสิ่งสกปรกที่วัดก่อนจึงจะกลับบ้านได้
ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงการทำศพมาเป็นการใช้เมรุในการเผาศพ แต่ทว่าหลักปฏิบัติที่เกี่ยวกับการทำศพยังคงได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น
การทำมาหากิน
พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา
วิถีชีวิตของชาวญ้อนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับการทำเกษตร ในช่วงก่อนฤดูทำนา ชาวญ้อจะมีพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกับชาวอีสาน นับตั้งแต่วันขึ้นสามค่ำเดือนสาม ชาวนาจะนำปุ๋ยและฝุ่นมาใส่ที่นา เรียกวันนี้ “วันฟ้าไขประตูน้ำ” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “กบบ่มีปากนากบ่มีฮูขี้” (กบไม่มีปากนากไม่มีรูทวาร หมายถึงช่วงจำศีลของสัตว์) เพื่อเป็นการบอกถึงการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ จากนั้นจะมีการเลี้ยงผี “ปู่ตาพิลือ” และ “ปู่ตาขุนสำราญ” เพื่อทำนาย โดยจะเริ่มเลี้ยงที่ศาลปู่ตาขุนสำราญในเดือนสาม ตรงกับวันพุธของเดือนพร้อมการเสี่ยงทาย โดยจ้ำเป็นคนเลือกเอาไก่ต้มตัวที่สวยที่สุดไปไว้ในโฮงหรือศาลปู่ตา พร้อมทั้งอฐิษฐานให้เจ้าปู่ทำนายทายทักในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องฝนฟ้าและผลผลิต จากนั้นประมาณ 10 นาที จึงนำไก่ตัวดังกล่าวออกมาดู หากขาไก่มีลักษณะโค้งงอ หมายความว่า ฝนปีนั้นจะไม่ค่อยดีหรือน้ำจะท่วม หากจะเสี่ยงทายในเรื่องอื่นต่อไปต้องนำขาไก่ไปวางไว้ในศาลอีกครั้ง และอธิษฐานถึงเรื่องนั้น ๆ จากนั้นจึงนำไก่มาดูขาเพื่อทำนายอีกครั้งโดยจ้ำ
ในอดีตยังใช้วิธีนำเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเตรียมมาด้วย เช่น ไก่ เกลือ เครื่องเทศ เทลงในหมอดินแล้วจัดการต้ม โดยจะทำนายตามลักษณะที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าปีใดน้ำจะท่วม น้ำที่ต้มในหม้อจะล้นออกมา แต่ถ้าปีใดจะแล้งหรือน้ำท่าปกติ น้ำที่ต้มในหม้อจะไม่ล้น แม้จะเติมน้ำอยู่ตลอดเวลา จากนั้นจึงไปเลี้ยงที่ศาลปู่พิลือโดยตรงกับวันพุธใดวันพุธหนึ่งของเดือนสี่ เชื่อว่า ปู่ตาพิลือเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือปกปักรักษาและให้คำแนะนำชาวญ้อในการทำมาหากิน และช่วยทำนายทายทักว่าผลผลิตข้าวปลาอาหารสภาพดินฟ้าอากาศในปีนั้น
นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงผีตาแฮก ก่อนจะลงทำนา ในช่วงประมาณเดือนหก โดยชาวนาจะจัดเตรียมสำรับข้าวให้แก่ผี ประกอบด้วย ปลาร้า หมากพลู ยาสูบ ไปวางไว้หน้าหอตาแฮกที่ตั้งไว้บริเวณใดบริเวณหนึ่งของนา และมีบอกกล่าวตาแฮก “ลูกหลานเอาข้าวเอาน้ำมาถวายเด้อตาแฮก” การเลี้ยงตาแฮกจะจัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง คือ ในช่วงที่มี “การไถแฮกและการดำแฮก” (การไถและดำนาครั้งแรก)
“…ขึ้นลงปลงเลี้ยง ยามลงนาก็เลี้ยง เลี้ยงมื้อวันพุธ เดือน 6 ยามขึ้นนาก็เลี้ยง ใช้เหล้าไหไก่โต เหล้าก็เอาแกลบใส่กะลาแล้วเอาขี้เถ้าโรยเป็นเหล้าโท แต่ไก่เป็นไก่ต้ม ปู่ตาก็ต่างหาก เหล้าก็เหล้าแท้ แต่ตาแฮกของปลอม…แฮกดำนาต้องดำวันพุธ พฤหัส ปักข้าว 7 ต้น…สมัยนี้บ่เชื่อแล้ว”
เมื่อถึงช่วงเดือนสิบ หลายครอบครัวที่ปักดำแล้วเสร็จ จะมี ดูแลระดับน้ำในที่นา ดูแลต้นข้าวตามความเหมาะสม ในช่วงเดือนดังกล่าวชาวบ้านจะมีงาน “บุญข้าวสาก” ซึ่งคล้ายคลึงกับบุญข้าวประดับดิน แต่จะมีการทำข้าวต้มมัดไปทำบุญถวายพระด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำข้าว พริก เกลือ ของหวาน ปลาร้าและอื่น ๆ ห่อด้วยใบตองเรียกว่า ห่อข้าวสากแล้วนำไปวางตามบริเวณต่าง ๆ ในเขตวัด จากนั้นหลังจากเสร็จพิธีสงฆ์บนศาลาวัดแล้ว ชาวบ้านจะลงมาแย่งห่อข้าวสากเป็นที่สนุกสนาน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ส่วนมากเมื่อได้แล้วมักนำไปใส่ไว้ตามที่นาที่สวนหรือเล้าข้าวเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละขั้นตอนของการทำนา ในอดีตชาวญ้อบ้านท่าขอนยางมีความเชื่อเรื่องข้อ “คะลำ” หากไม่ปฏิบัติแล้วจะผิดประเพณี ไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง ถ้าหลีกเลี่ยงได้จะเกิดสิ่งดีตามมาเรียกว่า “กินไม่บกจกไม่ลง” ซึ่งข้อปฏิบัติที่สัมพันธ์กับข้าวและการทำนา ดังนี้
- ก่อนหว่านกล้า ต้องเลือกฤกษ์วันดีในการแช่ข้าวเปลือกก่อน ข้าวที่ปลูกถึงจะได้ให้ผลผลิตมาก
- ช่วงเวลาหว่าน ถ้ามีตัวปูไต่ตามท้องนา ห้ามจับ เพราะถือว่าเป็นการเลี้ยงผีตาแฮก
- ก่อนที่จะถอนกล้าและปักดำต้องเลือกฤกษ์ยามวันดี
- ช่วงเก็บเกี่ยว ก่อนตั้งลอมข้าวต้องไหว้ปลงแม่พระธรณีก่อน
- ก่อนนวดข้าว ต้องเลือกวันดี
- ช่วงนวดข้าวญาติพี่น้องต้องมาช่วย
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : ญ้อ
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี
ครูแหล่ ชาตรี ร่ายรัก (ม.ป.ป.). เพลง ญ้อ หละเบ๋อ. สืบค้นจาก https://www.chordhit.com/1184/.
ชนชาติพันธุ์ กลุ่มจังหวัดสนุก. (2563). สารคดี ชนชาติพันธุ์ ตอนที่ 1 ไทญ้อ วิถีกับธรรมชาติ. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=aVCBfL6hZG4.
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี.(2557). เจ้าแม่สองนาง: การสร้างความหมายของความเชื่อและบทบาทในการเสริมพลัง ท้องถิ่นใน วารสารแพรวา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ 1: 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม).
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี. (2559). การค้าข้าวทางเรือและสังคมชาวนาลุ่มน้ำชีตอนกลางในช่วง พ.ศ. 2443-2504 ใน การประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายวิจัยสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปเทศประจำปี 2559 ในวันที่ 18-20 ธันวาคม 2559 ณ อาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีอ.เมือง จ.นครราชสีมา
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (2545). นิทานโบราณคดี .พิมพลักษณ์, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า,
เติม วิภาคย์พจนกิจ. (2542). ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ทัศนีย์ บัวระภา, พิมเสน บัวระภา, และ วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม. (2536). ผ้าไทญ้อ: กรณีศึกษาชาวไทญ้อ บ้านแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ (รายงานการวิจัย). กรงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
ทีวีบูรพา. (2546, 16 ธันวาคม). คนค้นคน Replay ตอน ท่าแร่ คนเสียหมา (1) ช่วงที่ 4/4. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=YvMDaHXSrlE.
ทีวีบูรพา. (2546, 23 ธันวาคม). คนค้นคน Replay ตอน ท่าแร่ คนเสียหมา (2) ช่วงที่ 3/4. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=6-w2lAh_9Hc.
ธวัช ปุณโณทก. (2532). เทียวอีสาน. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
บัญญัติ สาลี และ มยุรี ถาวรพัฒน์. (2561). ภาษาญ้อ. วารสารวัฒนธรรม, 57(2) 66-73. สืบค้นจาก http://magazine.culture.go.th/2018/2/files/basic-html/page67.html.
บุญมี ภูเดช. (2525). พงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และประวัติเมืองขึ้นในยุคเก่า. กาฬสินธุ์: โรงพิมพ์จินตภัณฑ์.
บุญยงค์ เกศเทศ. (2540). วัฒนธรรมชาวไทยย้อ ศึกษากรณีบ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
ประชุมพงศาวดารภาค 4 และประวัติท้องที่จังหวัดมหาสารคาม. (2506). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระสารคามมุนี เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม วันที่ 8 มีนาคม 2506. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น.
ประสพ ท้าวเนาว์.(2527). ชาวย้อที่บ้านท่าขอนยาง. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
ปุณชญา ศิวานิพัทน์ และราชันย์ นิลวรรณาภา (2562). โครงสร้าง ที่มาและความหมายของคำเรียกชาติพันธุ์ในอีสาน. ดำรงวิชาการ, 18(2), 61-94. สืบค้นจาก https://so01.tci-thaijo.org/index.php/damrong/issue/view/16193.
พินัย วิถีสวัสดิ์. (2555). ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงตอนล่าง. วิทยานิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค. สุรินทร์: มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์. สืบค้นจาก http://srruir.srru.ac.th:8080/xmlui/bitstream/handle/123456789/398/Chapter4.pdf?sequence=6&isAllowed=y.
รุ่งอรุณ ทัฑชุณเถียร และ สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2532). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในหมู่บ้านชาติพันธุ์: กรณีศึกษาไทญ้อ บ้านโพน (รายงานผลการวิจัย). ขอนแก่น: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครพนม. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวัฒนธรรมชนเผ่าไทญ้อ (บ้านโพน). สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2563, สืบค้นจาก https://nakhonphanom.mots.go.th/news_view.php?nid=469.
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม. (2558) .พันแสงรุ้ง ตอน ญ้อท่าอุเทน. สืบค้นจาก www.youtube.com
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554. สืบค้นจากhttps://dictionary.apps.royin.go.th/.
สุรจิตร จันทรสาขา. (ม.ม.ป.). รวมเผ่าไทยมุกดาหาร. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : สหายบล๊อกและการพิมพ์.
อธิราชย์ นันขันตี. (2558). การนับถือผีของชาวไทยย้อ: ความสัมพันธ์ด้านความเชื่อและนิเวศวิทยาวัฒนธรรม (ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต). มหาวิทยาลัยบูรพา, ชลบุรี.
เอเจียน แอมอนิเย. (2539). บันทึกการสำรวจ. ทองสมุทร โดเรและสมหมาย เปรมจิตต์ แปล. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
จีน พรสอน, นาง, บ้านเลขที่ 12 หมู่ 4 บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 27 ตุลาคม 2544, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
เจริญ บุญสิทธิ์, นาย, บ้านเลขที่ 73 หมู่ 4 บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 8 พฤศจิกายน 2546, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
เจริญ สุขวิเศษ, นาง, บ้านเลขที่ 65 หมู่ 4 บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 8 มกราคม 2546, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
บัง เนื่องไชยยศ, นาย, บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 7 บ้านดอนนา ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 20 ธันวาคม 2546,ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
บุญ บุตรราช, นาย, บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 4 บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 12 กรกฎาคม 2542, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
เผี่ยน หงส์หิน, นาง, บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 1 บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
หมึ่ง ระวงศรี, บ้านเลขที่ 19 หมู่ 8 บ้านดอนหน่อง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม,วันที่ 7 พฤศจิกายน 2546, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
หนูเพียร นิมิตร, นาย, บ้านเลขที่ 52 หมู่ 3 บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
อุดม วัฒนกุล, พระ(เจ้าอาวาส), วัดเจริญผล หมู่ที่ 1 บ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคาม, วันที่ 12 กรกฎาคม 2542, ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ผู้สัมภาษณ์
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี