2023-07-18 09:47:46
ผู้เข้าชม : 4922

จีน เป็นกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาในไทยนับตั้งแต่สมัยทวารวดี จากลักษณะนิสัยที่มีความมัธยัสถ์ อดออม และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้ชาวจีนกลายเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในสังคมไทย อีกทั้งเป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นที่ปรากฎให้เห็นชัดเจนในพิธีถือศีลกินเจ  และพิธีตรุษจีน  

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : จีน
ชื่อเรียกตนเอง : แต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, กวางตุ้ง, ฮากกา, ฮ่อ, ตันกา, ซัมซัม, เปอรานากัน, ไทยเชื้อสายจีน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : คนจีน, เจ๊ก
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : จีน
ภาษาพูด : จีน
ภาษาเขียน : อักษรจีนมาตรฐาน

“ชาวจีน” ในประเทศไทยประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยหลายกลุ่ม ได้แก่ แต้จิ๋ว ฮากกา ไหหนำ (ไหหลำ) ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง จีนฮ่อ (จีนยูนนาน) และตันกา (ชาวเลจีน) รวมถึงชาวจีนที่แต่งงานกับชาวพื้นเมือง ได้แก่ ซัมซัม เปอรานากัน และจีนไทย หรือไทยจีน อย่างไรก็ตาม ในบรรดากลุ่มต่างๆ กลุ่มชาวจีน 5 กลุ่มแรกถือว่ามีเป็นจำนวนมากในประเทศไทยและรู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ทั้งหมดรวมเรียกด้วยภาษาแต้จิ๋วว่า “โหงว ฮก” (五属) การเรียกชื่อโดยรวมนั้น มักจะเรียกตัวเองว่าคนจีน ขณะที่ปัจจุบันยังใช้คำว่า ไทยเชื้อสายจีน อันบ่งบอกถึงสถานภาพและความเป็นสมาชิกของรัฐชาติ อาจจะต่อท้ายด้วยเชื้อสายของคนซึ่งมีหลากหลายกลุ่มขณะที่เมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนด้วยกันเองนั้น มักนำเสนอตัวเองด้วยการเรียกชื่อตามเชื้อสายเสียมากกว่า สำหรับฐานข้อมูลนี้จะขอนำเสนอเฉพาะ 5 กลุ่มหลักเท่านั้น

ชาวจีนเดินทางเข้ามาในไทยด้วยหลายหลายเหตุผลปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยทวารวดีดังเช่นพบจารึกภาษาจีนหลังพระพิมพ์ที่เมืองศรีเทพ เป็นต้น (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2564) หรือในเขตภาคใต้พบหลักฐานเครื่องถ้วยจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (GISTDA 2019) ยังไม่นับรวมเครื่องถ้วยจีนมหาศาลและการส่งบรรณาการของรัฐต่างๆ เช่น อยุธยา สุโขทัย ล้านนา ไปยังราชสำนักจีน แต่ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนคือในสมัยอยุธยาที่มีประชาคมชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังปรากฏในบันทึกของเจิ้งเหอ ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายปรากฏชัดว่ามีชาวจีนกลุ่มต่างๆ อาศัยอยู่ในอยุธยาไม่ว่าจะเป็นแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหนำ และฮากกา (พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร 2546; 2564) ต่อมาในสมัยธนบุรี ชาวจีนรับรู้ว่าพระเจ้าตากสินเป็นแต้จิ๋วจึงได้พากันเดินทางมายังเมืองไทยอย่างมหาศาล เพื่อหนีภัยแล้งและความทุกข์ยากในเมืองจีน ประกอบกับหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา 2310 กรุงธนบุรีและต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์มีความต้องการแรงงานเพื่อชดเชยกับไพร่พลที่ถูกกวาดต้อนไป ในเวลานี้ตั้งถิ่นฐานหลักๆ คือย่านเยาวราชและสำเพ็ง รวมถึงหัวเมืองสำคัญเช่นจันทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เป็นต้น (อดุลย์ รัตนมั่นเกษม 2557: 95-99)

ในสมัยรัชกาลที่ 4-6 ชาวจีนอพยพเข้ามาอีกระลอกหนึ่งมีทั้งแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหนำ กวางตุ้ง และฮากกา ทั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยภายในของจีนอันได้แก่ปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และภัยธรรมชาติ กอปรกับปัจจัยภายในของสยาม โดยเฉพาะนับแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (2398) และการขยายตัวของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของสยาม ดึงดูดให้ชาวจีนเดินทางเข้ามาแสวงโชคและลงทุนกันอย่างมหาศาล (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 32-39) และด้วยเรือเดินทะเลที่ทันสมัยมากขึ้นส่งผลทำให้ชาวจีนที่เข้ามาไม่มีเฉพาะผู้ชายอีก แต่จะมีผู้หญิงตามเข้ามาด้วย ส่งผลทำให้ชาวจีนหลายกลุ่มยังคงสามารถรักษาเชื้อสายและอัตลักษณ์มาได้ยาวนาน ในช่วงปลายสุดของรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาชาวจีนมีการรวมกลุ่มจัดตั้งโรงเรียน สมาคม และมูลนิธิกันหลายแห่ง ชาวจีนห้ากลุ่มยังร่วมมือกันตั้งโรงพยาบาลและหอการค้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชาวจีนได้รับผลกระทบจากนโยบายชาตินิยมของรัฐ เนื่องจากชาวจีนมีบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างสูง อีกทั้งมีประชากรเป็นจำนวนมากนับล้านคน จึงทำให้รัฐบาลพยายามผสมกลมกลืนชาวจีนกลุ่มต่างๆ เข้าสู่ความเป็นไทย (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 158-175)

ชาวจีนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นไม่กระจุกตัวในภาคกลางและภาคใต้เหมือนในสมัยก่อนหน้านั้นแล้ว แต่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ เพราะการพัฒนาขึ้นของเส้นทางรถไฟ และการค้าตามหัวเมือง ชาวจีนในเวลานี้มีทั้งที่เป็นแรงงานและได้พัฒนาขึ้นเป็นผู้ประกอบการจนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในสมัยรัชกาลที่ 7 ชาวจีนกลุ่มใหญ่ได้อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่แล้ว ดังเห็นได้จากคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ มณฑลพายัพ ได้การเชิดมังกรจากกวางตุ้ง มีการเชิดเสือจากไหหนำ มีพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮ่อมาต้อนรับ (กมล นโนชญากร 2558) ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชาวจีนประกอบอาชีพหลากหลายในสังคม นับแต่เจ้าของกิจการเล็กใหญ่หลายหมื่นแห่ง ช่างไม้ ช่างเครื่อง ช่างโลหะ ชาวสวน นักแสดง ลูกเรือ หาบเร่ และกรรมกร ในขณะที่คนไทยเน้นที่การรับราชการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสัดส่วนนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไปในห้วงเวลาอีกหลายทศวรรษต่อมา ในปัจจุบันชาวจีนทั้งจีนเก่าและจีนใหม่ยังถือว่ามีบทบาทสูงทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทย โดยอาศัยอยู่ในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ชาวจีนในไทยปัจจุบันยังคงสามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองได้ในระดับหนึ่ง ความเข้มข้นขึ้นอยู่กับพื้นที่และในแต่ละครอบครัว ชาวจีนได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นผู้มีความมัธยัสถ์ อดออม และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เชี่ยวชาญการทำมาค้าขาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคุ้นเคยกับการค้าและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้แล้ว อัตลักษณ์สำคัญของชาวจีนในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดคือ ประเพณี พิธีกรรม และอาหาร พิธีกรรมแบบจีนได้รับการยอมรับทั้งในพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ของการท่องเที่ยว เช่น พิธีถือศีลกินเจพิธีตรุษจีน เช่นเดียวกับอาหารของชาวจีนนั้นได้รับการยอมรับ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารไทย ภัตตาคารจีนในย่านเศรษฐกิจเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนในประเทศไทย คนต่างเชื้อชาติ และนักท่องเที่ยวอีกด้วย


ประวัติศาสตร์ของชาวจีนมีการศึกษาไว้มากพอสมควร งานที่มีชื่อเสียงคือเรื่อง สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ ของวิลเลียม สกินเนอร์ (William Skinner) ตีพิมพ์เมื่อปี 1957 หลังจากนั้นมีงานศึกษาประวัติศาสตร์ของชาวจีนที่น่าสนใจอีกหลายเล่ม มีทั้งที่แยกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีน และให้ประวัติศาสตร์ในภาพรวมทั้งในระดับประเทศหรือท้องถิ่น ที่สำคัญเช่น คือ “ฮากกา” คือ “จีนแคะ” โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล (2555), คนแคะ (ไม่แคระ) ฮากกาหงิ่น โดย ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ และสมชาย พิเชษฐพันธ์ (2560), กำเนิดคนแต้จิ๋ว วิวัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน โดย อดุลย์ รัตนมั่นเกษม (2557), ที่เรียกว่า ‘แต้จิ๋ว’ เขียนโดย เสี่ยวจิว (2556), ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’ เขียนโดย เสี่ยวจิว (2554), จากอาสำถึงหยำฉ่า ตำนานคนกวางตุ้งกรุงสยาม โดย ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง (2543), ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ และปรากฏการณ์ย้ายถิ่น โดย สุภางค์ จันทวานิช และ ชาดา เตรียมวิทยา (2563) อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วหลังจากงานของวิลเลียม สกินเนอร์ มาแล้วก็ยังไม่มีการเขียนประวัติศาสตร์ของชาวจีนในภาพรวมอีก

ในที่นี้เมื่อประมวลข้อมูลจากหลายแหล่งกล่าวสรุปได้ว่า เมื่อชาวจีนฮั่นอพยพลงมาทางใต้ในสมัยราชวงศ์ จิ้นถึงราชวงศ์ถังได้ผสมกับชนพื้นเมืองที่จีนเรียกว่า “เย่ว์” ซึ่งประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือกลุ่มตระกูลไท-ข่าไท (ไท-กะได) ทำให้เกิดลักษณะทางภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นขึ้น จนแตกแยกย่อยออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ ชาวแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหนำ ตันกา และฮากกา ซึ่งกลุ่มหลังนี้จะมีความแตกต่างไปจากกลุ่มต่างๆ ข้างต้น เพราะเคลื่อนย้ายมาทีหลังกว่าทำไมภาษาไม่มีการผสมกับภาษาพื้นเมืองเดิม

อย่างที่กล่าวในหัวข้อภาษาว่า ชาวแต้จิ๋วเป็นกลุ่มคนที่ยังคงรักษาภาษาจีนโบราณเอาไว้ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีจำนวนมากที่สุดในไทย ดังนั้น จึงควรเข้าใจประวัติความเป็นมาของคนกลุ่มนี้เสียก่อน ถ้าถามคนแต้จิ๋วในประเทศจีนจะถือว่าบรรพชนของพวกเขามาจากฮกเกี้ยน ดังเห็นได้จากคำพูดว่า “เตี่ยจิวนั้ง ฮกเกี้ยนโจ้ว” แปลว่า “แต้จิ๋วมีคนฮกเกี้ยนเป็นบรรพบุรุษ” ความเข้าใจดังกล่าวนี้ไม่ผิด เพราะเกิดขึ้นจากเมื่ออพยพลงมาทางใต้ในระลอกเดียวกัน จึงมีพัฒนาการร่วมราก

ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในไทย ชาวจีนแต้จิ๋ว มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองแต้จิ๋ว ประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ จังหวัดแต้จิ๋ว จังหวัดซัวเถา และจังหวัดกิ๊กเอี๊ย รวมเรียกว่า “เตี่ยซัวซาฉี” ในภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งติดชายฝั่งทะเล ดังนั้น จึงสอดคล้องกับชื่อเรียกทางชาติพันธุ์ โดยคำว่า แต้ (เตีย) เป็นคำโบราณแปลว่า ทะเล คำว่า จิ๋ว (โจว) แปลว่า เมือง ดังนั้นคำว่า แต้จิ๋ว จึงมีความหมายว่า เมืองชายทะเลในบรรดาเมืองข้างต้น เมืองซัวเถาเป็นเมืองท่าหลักที่คนจีนใช้เดินทางเข้ามายังเมืองไทย จึงกิดความทรงจำว่าชาวแต้จิ๋วมาจากเมืองซัวเถา

วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช (2534: 90) ได้อธิบายถึงการอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวจีนแต้จิ๋ว โดยระบุว่ามีชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามายังพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีบทบาทสำคัญในสมัยพระเจ้าตากสิน การอพยพเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เนื่องจากประชากรในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดลงเป็นจำนวนมากจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง จึงทำให้เกิดความต้องการแรงงานอย่างมหาศาล ประกอบกับเมื่อทราบข่าวว่าชาวจีนแต้จิ๋วคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เป็นกษัตริย์ จึงทำให้ชาวจีนที่เข้ามาในช่วงเวลานั้นถูกเรียกว่า “จีนหลวง” เพราะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี บางคนได้รับตำแหน่งใหญ่โต ตัวอย่างเช่น จีนมั่วเส็ง ทำหน้าที่ดูแลซื้อขายสินค้าให้กับหลวง จนต่อมาพระเจ้าตากสินโปรดฯ ให้เป็นหลวงอภัยพานิช หรือ จีนเรือง (กรมศิลปากร 2565) นอกจากบทบาทด้านการค้า มีชาวจีนบางกลุ่มมีบาทด้านการเมืองอีกด้วย เช่น ในปี 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้รองเจ้ากรมท่าซ้ายชื่อ พระยาพิพิธ เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาราชาเศรษฐีครองเมืองบันทายมาศ (สุภางค์ จันทวานิช และคณะ2534)

ชาวจีนที่อพยพเข้ามานี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นแรงงานและลูกเรือ และอีกกลุ่มเป็นคหบดีที่เข้ามาลงทุน ชาวจีนที่อพยพเข้ามานี้จะเดินทางเป็นฤดูกาล โดยเรือสำเภาอาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน เพื่อมาสยาม และอาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เพื่อกลับไปจีน เมื่อมาถึงสยามจะต้องเสียภาษีด้วยการผูกปี้เมื่อมีอายุ 20 ปี และต้องรายงานตัวทุกๆ 3 ปี โดยมีหัวหน้าประชาคมคือ พระยาโชดึกราชเศรษฐี แห่งกรมท่าซ้าย ส่วนใหญ่อพยพมาทางเรือสำเภาหัวแดง (สำหรับขนสินค้า) จากท่าเรือจางหลินแล้วมาขึ้นเรือที่ท่าน้ำใกล้สำเพ็งในกรุงเทพมหานคร บางกลุ่มไปขึ้นเรือที่ฉะเชิงเทรา และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณจังหวัดทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ได้แก่ ตราด จันทบุรี บางปลาสร้อย (ชลบุรี) แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) และในกรุงเทพมหานคร

ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ ได้มีการวางผังเมืองใหม่ มีการจัดสรรพื้นที่และพระราชทานให้แก่ชาวจีน ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาราช) จนถึงคลองเหนือวัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคา) นอกจากนี้ยังรวมถึงชุมชนสำเพ็งที่ตั้งขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ตรอกบ้านพระยาอิศรานุภาพ สะพานหัน ศาลเจ้าเก่า กงสีล้ม วัดสามปลื้ม ตรอกเต๊า ตรอกพระยาไกร ตรอกโรงกระทะ ตรอกจาม ตลาดน้อย ตรอกวัดญวณ และตรอกบ้านแกงบอน ซึ่งชุมชนเหล่านี้ก่อกำเนิดขึ้นโดยจีนแต้จิ๋ว และความต้องการแรงงานจีนเพื่อสร้างบ้านเมืองในช่วงพัฒนาพระนครใหม่ จึงดึงดูดให้จีนแต้จิ๋วกลุ่มใหม่อพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยชาวจีนที่เข้ามาใหม่ๆ จะมาพำนักอยู่ที่ชุมชนย่านสำเพ็งนี้ก่อน ก่อนที่จะกระจายกันไปทำงานและตั้งรกรากที่อื่น จึงอาจกล่าวได้ว่าย่านสำเพ็งเป็นจุดตั้งตัวของคนจีน โดยเฉพาะจีนแต้จิ๋วที่มีจำนวนมากที่สุด (วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช, 2534: 91)

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2333 - 2334 เกิดภัยธรรมชาติในเขตเฉาโจว ทำให้ประชาชนอดอยากแสนสาหัส ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนมากจึงอพยพมายังประเทศไทย และยังกระจายไปอยู่ในชนบท เช่น จันทบุรี บางปะกง บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง และเจ้าพระยา โดยส่วนมากประกอบอาชีพเพาะปลูกพริกไทยและอ้อย (วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช, 2534: 100) ก่อนจะขยายออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ อุตรดิตถ์ ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) พิจิตร พิษณุโลก สวรรคโลก เด่นชัย จำนวนชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมานั้นไม่สามารถระบุได้ตามรายงานบางฉบับระบุปีละ 10,000 คน บางปีเกือบ 30,000 คน แต่พบว่าเป็นกลุ่มใหญ่ในกรุงเทพฯ และเมื่อหมอบรัดเลย์ไปเยือนเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกในปี พ.ศ. 2379 ก็ได้กล่าวไว้ว่าจันทบุรีและบริเวณใกล้เคียง “แผ่นดิน…เกือบจะเต็มไปด้วยจีนแต้จิ๋ว (ผู้ซึ่ง) ... ปลูกอ้อย พริกไทย และยาสูบเป็นส่วนใหญ่” (ต้วนลี่เซิง, 2525: 29) ชาวจีนแต้จิ๋วได้ขยับขยายขึ้นไปตั้งหลักแหล่งถึงจังหวัดตากและเชียงใหม่ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพราะความดึงดูดทางการค้าที่เชื่อมโยงไปยังยูนาน พม่า และลาว (สุภางค์ จันทวานิช, 2534: 15)

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีนโยบายให้ชาวจีนออกไปตั้งหลักแหล่งรอบราชธานี และสนับสนุนให้ชาวจีนแต้จิ๋วทำไร่อ้อยและตั้งโรงงานที่ฉะเชิงเทราและนครปฐม ทั้งนี้เพราะเป็นแหล่งที่สะดวกต่อการคมนาคมขนส่งสินค้า จึงทำให้มีชาวแต้จิ๋วอพยพจากพระนครไปทำมาหากินที่ฉะเชิงเทราและนครปฐมเป็นจำนวนมาก โดยมีโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำบางปะกงในเขตเมืองฉะเชิงเทรากว่า 30 โรง มีแรงงานจีนทำไร่และทำงานในโรงงาน 100 - 300 คน ดังปรากฏในบันทึกของจอห์น ครอว์เฟิร์ด (Crawfurd John)

ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้การค้าระบบการค้าแบบทุนนิยมเติบโตขึ้น ส่งผลทำให้ต้องการแรงงานเสรีในภาคกรเกษตร อุตสาหกรรม และการค้าขาย โดยเฉพาะข้าว ดังเห็นได้จากกรณีของโครงการรังสิตที่มีชาวจีนเข้ามารับซื้อข้าว จนกลายเป็นเจ้าของโรงสี หรือในกรณีของนครสวรรค์ที่มีชาวจีนแต้จิ๋วเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพราะกลายเป็นแหล่งรวมสินค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้าวและไม้สักจากภาคเหนือ ซึ่งชาวจีนแต้จิ๋วนี้ได้เดินทางไปพร้อมๆ กันกับชาวจีนกลุ่มอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหนำ ฮากกา มีรายงานว่าใน พ.ศ. 2447 ตัวเลขชาวจีนในนครสวรรค์มีมากถึง 6,000 คน หรือกว่าครึ่งของภาคกลาง (ถ้าไม่นับกรุงเทพฯ) ที่มีคนจีนราว 10,000 คน หรือเป็นอันดับสามรองจากภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทางรถไฟตัดไปทางเหนือและทางอีสาน ทำให้นครสวรรค์และนครราชสีมากลายเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญของชาวจีนปัจจุบันก่อนจะกระจายไปตามที่อื่นๆ จึงพบว่า ตามสถานทีรถไฟสำคัญๆ มักจะมีร้านค้าของชาวจีนอยู่เสมอ

วัฒนธรรมของจีนแต้จิ๋วได้ผสมกลมกลืมในสังคมไทยในหลายมิติ ทั้งอาหารการกิน ภาษา วัฒนธรรม และธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้เพราะกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมายังประเทศไทยนั้น มีจำนวนประชากรมากกว่าชาวจีนกลุ่มอื่น (ภาษาถิ่นอื่น) จนทำให้คนไทยรับรู้และเข้าใจว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของจีนแต้จิ๋วนั้นเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของของชาวจีน

สำหรับชาวฮกเกี้ยน ในแง่ชาติพันธุ์ถือว่ามีความคล้ายคลึงจีนแต้จิ๋วมากที่สุดทั้งภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะฮกเกี้ยนเป็นบรรพชนของจีนแต้จิ๋ว (朝汕人福建祖) คนจีนมณฑลฮกเกี้ยนแบ่งเป็นหลายกลุ่ม ตามถิ่นและภาษาพูด ชาวจีนฮกเกี้ยน หรือ ฝูเจี้ยน (福建 - Fu jian) มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่มณฑลฮกเกี้ยนหรือฝูเจี้ยน มณฑลทแถบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน พบว่าชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา อาศัยอยู่ในย่านการค้าต่างๆ ที่สำคัญคือย่านป้อมเพชรและวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีมีเชื้อสายของชาวจีนฮกเกี้ยนในย่านนี้

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร กล่าวว่าชาวฮกเกี้ยนในสมัยกรุงธนบุรีตั้งรกรากอยู่ที่กุฎีจีน ปากคลองบางกอกใหญ่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ย้ายออกมาตั้งบ้านเรือนในย่านตรอกโรงกระทะริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกในพื้นที่ระหว่างปลายสำเพ็งไปถึงบ้านต้นสำโรง (สถานทูตโปรตุเกสปัจจุบัน) หรือพื้นที่ตลาดน้อยในปัจจุบันนั่นเอง ดังปรากฏศาลเจ้าโจวซือกง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคมฮกเกี้ยน และศาลเจ้าฮกเลี่ยนเก๋ง ชาวจีนฮกเกี้ยนที่เป็นที่รู้จักกันในเวลานั้นคือ จีนเกต (โซวเกียกกิก) ซึ่งทำการค้าจนเจริญมั่นคง เป็นหนึ่งในผู้มีบรรดาศักดิ์ในกรมท่าซ้าย อีกทั้งได้ส่งบุตรชายคนเล็กไปเรียนหนังสือที่เมืองจีน นอกจากจีนเกตแล้วยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านคือ เจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ 2 ก็เป็นชาวฮกเกี้ยนจากบ้านโรงกระทะ (พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร 2546: 39-40) นอกจากนี้แล้วยังพบชาวจีนฮกเกี้ยนตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในที่อื่นๆ อีก เช่นที่คลองสานพบว่าตั้งบ้านเรือนและศาลเจ้ามาตังแต่ พ.ศ.2331 ดังเห็นได้จากแผ่นไม้แกะสลักที่ศาลเจ้ากวนอู

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวจีนฮกเกี้ยนมีอิทธิพลในราชสำนักสยามมาก โดยเฉพาะคนแซ่อึ้ง ด้วยท่านอึ้งเต๋าโต หรือเจ๊สัวโต ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ผู้สร้างวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร (โต) ที่สมุหนายก หากจีนจ๋องเป็นจีนร่วมถิ่นร่วมแซ่กับเจ๊สัวโต

ชาวฮกเกี้ยนไม่ได้อาศัยอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ยังพบอีกหลายท้องที่ ชาวฮกเกี้ยนอพยพเข้าเมืองภูเก็ตเพิ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จากการสำรวจสำมโนประชากรในปี 2446 (ร.ศ.112) พบว่ามีชาวจีนในมณฑลภูเก็ตมากถึง 9,303 คน ซึ่งเข้าไปทำงานในกิจการเหมืองแร่ อันเป็นผลมาจากความต้องการดีบุกอย่างมหาศาลของตลาดโลก ทำให้ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้เมืองภูเก็ตเป็นเมืองที่มีพลเมืองเป็นคนจีน บุคคลที่มีชื่อเสียงคือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้เข้ารับราชการจนได้รับตำแหน่งพระยาในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เป็นผู้ริเริ่มให้ชาวฮกเกี้ยนเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารใหม่อย่างยุโรป จนกลายเป็นอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส การขยายตัวของกิจการเหมืองแร่นี้เองที่ทำให้พบชาวจีนฮกเกี้ยนตามเมืองต่างๆ ในภาคใต้เช่น ระนอง พังงา เป็นต้น

ถัดมาคือ กลุ่มชาวไหหนำ ก่อนคนจีนอพยพเข้าไปยังเกาะไหหนำนั้น พื้นที่นี้ประกอบด้วยชนพื้นเมืองหลายกลุ่มโดยเฉพาะชาวหลี จนกระทั่งเมื่อชาวฮั่นได้เคลื่อนย้ายลงทางใต้ จึงทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างจีนฮั่นกับชนพื้นเมืองเมื่อราว 100 ปีก่อน ค.ศ. หลังจากนั้นชาวจีนได้ลงมายังใต้อีกหลายระลอก จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์ซ่ง ชาวจีนจึงได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เกิดภาษาเฉพาะถิ่นขึ้นมา

คนรุ่นแรกเล่าว่า เดิมทีชาวจีนไหหนำอพยพมาแบบ “เสื่อผืนหมอใบ” เป็นไปได้ว่าชาวจีนไหหนำอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังเห็นได้จากการละเล่นหุ่นกระบอกในบันทึกของลาลูแบร์ ในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์พบชาวจีนตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ หลายชุมชน สังเกตได้จากศาลเจ้า ที่สำคัญคือ ศาลเจ้าจุยโบเนี้ยว บนถนนราชวิถี แขวงวชริพยาบาล เขตดุสิต ซึ่งพบจารึกเก่าถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวจีนไหหนำมีจำนวนมากขึ้นในย่านสำเพ็ง ดังพบว่ามการรวมกลุ่มกันก่อความวุ่นวายในพื้นที่ดังกล่าว จนถึงขั้นที่ทางการสยามต้องจ้างตำรวจจากสิงคโปร์เข้ามาปราบปราม ชาวไหหนำอพยพเข้ามามากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4-5 ดังเห็นได้จากประวัติของศาลเจ้าและชุมชนหลายแห่งว่าก่อตั้งในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ตัวอย่างเช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิมเชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนครที่ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2385 ศาลเจ้าไหหลำที่ภูเก็ต ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2453 ตั้งอยู่บนถนนถลาง ใจกลางเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งมีจุดเด่นที่ศาลเจ้าจะตั้งอยู่ในตึกแถวสไตล์ชิโน-โคโลเนียล หรือที่คนจีนภูเก็ตเรียกว่า “เตี้ยมฉู่” หรือ เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนไหหนำตั้งชุมชนแถวสะพานเหล็กล่างและแถบถนนเจริญกรุงฟากตะวันตกใต้ตรอกวัดญวณ เพราะในสมัยนั้นมีการสร้างตลาดในย่านดังกล่าว พระยาอนุมานราชธนเล่าว่า ชาวจีนไหหนำมักไปจ่ายตลาดที่ตลาดเจ็กปิน ซึ่งเจ้าของเป็นชาวไหหนำ

อีกกลุ่มที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือชาวกวางตุ้ง ในการรับรู้ของชาวจีนทั่วไป เมื่อพูดถึงชาวจีนกวางตุ้งจะหมายถึงคนที่อาศัยอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง แต่สำหรับคนในมณฑลกวางตุ้ง เมื่อกล่าวถึง คนกวางตุ้ง (廣府人 - กว๋องฟู หยั่น) จะหมายถึง เป็นชาวจีนฮั่นสมัยราชวงศ์ถังที่ผสมกับชาวพื้นเมืองเดิมจึงทำให้มีภาษาแตกต่างจากชาวจีนฮั่น ที่อาศัยอยู่ใน 2 เมืองใหญ่คือ กวางเจา และเจาชิง โดยภาษากวางตุงแยกออกเป็น 2 สำเนียงหลักคือ ซ้ามยับ และเซยับ ทั้งสองกลุ่มมาจากสองเมืองใหญ่ๆ คือ กว๋องฝู (กวางเจา) และสิวเฮงฝู (เจาชิง) เมื่อเรียกสองตัวหน้ารวมกันเป็น “กว๋องสิว” เพราะฉะนั้นจึงเอาชื่อของเมืองทั้งสองมาใช้ตั้งเป็นชื่อสมาคมต่างๆ ที่พบในประเทศไทย

วัฒนธรรมของชาวจีนกวางตุ้งแพร่กระจายทั่วโลกเนื่องจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร และเพลงได้กำเนิดขึ้นในฮ่องกง และมาเก๊า เนื่องจากความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้ชาวจีนกวางตุ้งนิยมอพยพไปในอเมริกาและแคนาดา แตกต่างจากชาวจีนฝูเจี้ยนโดยทั่วไปที่นิยมอพยพไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวกวางตุ้งที่อพยพไปอเมริกาเหนือจะเป็นแรงงานราคาถูกสำหรับสร้างทางรถไฟข้ามทวีปในอเมริกาใต้ เป็นทาสแรงงาน ในแคลิฟอร์เนียเป็นส่วนนึงในสังคมตื่นทองในฮาวายคนกวางตุ้งสร้างรายได้จากการทำไร่สำหรับโรงงานน้ำตาล และตลาดแรงงานมีบทบาทที่สำคัญในการตื่นทองของออสเตรเลียตั้งแต่ปี 1854ช่วงแรกของการตั้งไชน่าทาวน์ในเมืองต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก จากกฎหมายที่มีอคติต่อชาวจีนรวมถึงกฎหมายที่ห้ามอพยพเข้าของผู้หญิงชาวจีน ป้องกันการตั้งรกรากการอพยพช่วงแรกนี้มาจากพื้นที่ของชาวเซยับทำให้ชุมชนชาวกวางตุ้งในต่างแดน พูดเซยับจนถึงทุกวันนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองก็มีการผ่อนปรนการอพยพทำให้มีชาวฮ่องกง จีน และเวียดนามที่พูดกวางตุ้งอพยพเข้าอเมริการมากทำให้คนจีนในอเมริกาไม่พูดจีนกลาง (สัมภาษณ์ นวพันธ์ เหมชาติวิฬุรห์ 2565)

สาเหตุที่เข้ามาในไทยคือ ความแร้นแค้น และปัญหาสงคราม เริ่มอพยพเข้ามาในไทยเมื่อประมาณ 120 ปีในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อมาสร้างทางรถไฟ อู่ต่อเรือ และเป็นแรงงานฝีมือต่างๆ จุดแรกที่มาขึ้นคือ สาทร จากนั้นไปตามนายจ้างขึ้นเหนือไปตามแม่น้ำ อีกลุ่มขึ้นเรือลงไปทางใต้ กลุ่มที่ขึ้นเหนือไปตามทางรถไฟ แล้วไปที่นครสวรรค์เป็นจุดใหญ่ เพราะเป็นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งซุง และชุมทางทางการค้า อย่างไรก็ตาม จำนวนของชาวจีนกวางตุ้งที่อพยพเข้ามาในไทยนั้นมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับชาวจีนแต้จิ๋ว

สุดท้าย ชาวฮากกาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนไม่มาก ไม่มีเมืองของตนเอง แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตกวางตุ้ง ทำให้วัฒนธรรมไม่มีความอันเป็นอันเดียวกัน ถ้าอยู่ใกล้กับฮกเกี้ยนก็จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้มีภาษาและสำเนียงหลากหลายแตกต่างกัน เรียกกันว่าแคะลึกแคะตื้น พฤติกรรมแตกต่างจากชนชาติอื่นคือชอบรับราชการ เป็นคนเคร่งศาสนา ประหยัดมัธยัสถ์มากกว่าเหตุผลอาจมาจากอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ทุรกันดาร มีโจร ยากแค้น ไม่ใกล้ทะเล ทำให้ต้องอยู่รวมกัน อีกทั้งเมื่ออพยพเข้ามาเมืองไทย ก็มีอยู่เป็นจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาชาวจีนกลุ่มอื่นหรือในกลุ่มเดียวกันได้ จึงทำให้ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

ชาวจีนฮากกาเริ่มปรากฏร่องรอยการอพยพเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย อย่างน้อยก่อน พ.ศ.2300 แต่เข้ามากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้เพราะเป็นช่วงเวลาที่สยามต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อมาก่อสร้างสะพาน ถนน เส้นทางรถไฟ และอาคารบ้านช่องต่าง ๆ นอกจากนี้แล้ว ชาวจีนฮากกายังเป็นกลุ่มคนที่ถนัดเป็นพิเศษในงานเครื่องหนัง เช่น การทำกระเป๋า รองเท้า ชาวจีนฮากกาในไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มตามพื้นที่อยู่อาศัย ได้แก่กลุ่มปั้นซัน และกลุ่มเหมยเสี้ยน กลุ่มปั้นซันกระจายตัวตั้งแต่ภาคเหนือไปจนถึงภาคกลาง และกลุ่มเหมยเสี้ยนอาศัยอยู่ในภาคใต้ของไทยเป็นหลัก ในกรุงเทพฯ พบชุมชนชาวฮากกาที่ศาลเจ้าโรงเกือกที่ตลาดน้อยในเขตสัมพันธวงศ์ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราว พ.ศ.2330 เศษ โดยศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเทพเจ้าฮั่นหวางกง ชาวฮากกาอาศัยอยู่ทั่วไปในย่านเยาวราชและสำเพ็ง ดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่ศาลเจ้าหลีตีเบี้ยว และศาลเจ้ากวนอูของสมาคมฮากกาบนถนนพาดสาย เขตสัมพันธวงศ์

ชาวจีนที่เข้ามามักมีนิสัยร่วมกันคือ ความขยัน อดทน และมัธยัสถ์ จำกัดการกินการใช้เป็นอย่างมาก อีกทั้งด้วยอิทธิพลของคำสอนจากลัทธิขงจื้อ จึงทำให้ความสำคัญกับความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและความรับผิดชอบต่อวงศ์ตระกูล ทั้งหมดนี้ช่วยให้ชาวจีนสามารถยกฐานะจากสามัญชนไปสู่คหบดี ปัญญาชน และเข้าราชการในเวลาต่อมา

เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดตำแหน่งของหมู่บ้านของชาวจีน เนื่องจากชาวจีนอพยพเคลื่อนย้ายและอาศัยอยู่กับชาวไทยในหลายท้องที่ บางหมู่บ้านบางตำบลอาจมีชาวจีนหลายกลุ่มเช่น ที่ท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร มีทั้งชาวจีนไหหนำ แต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน หรือที่ตัวเมืองนครสวรรค์มีรวมกันทุกกลุ่ม

ปัจจุบันพบชาวจีนแต้จิ๋วทั่วไปทั้งภูมิภาคของไทย ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในช่วงปีนับแต่ พ.ศ. 2310 เนื่องจากเมื่อทราบข่าวว่า ชาวจีนแต้จิ๋วแซ่แต้ (จีนกลางแซ่เจิ้ง) ได้เป็นกษัตริย์สยามคือ พระเจ้าตากสิน จึงทำให้ตัดสินใจเดินทางออกมา เพื่อหวังจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า ส่วนใหญ่อพยพมาจากจีนทางเรือสำเภาหัวแดง (สำหรับขนสินค้า) จากท่าเรือจางหลินแล้วมาขึ้นเรือที่ท่าน้ำใกล้สำเพ็งในกรุงเทพมหานคร ทำให้ชาวจีนแต้จิ๋วกระจายตัวหลักทั่วไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อดุลย์ รัตนมั่นเกษม 2557: 96-98) หลังจากนั้นจึงค่อยเดินทางไปยังที่ต่างๆ เช่น ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ตราด จันทบุรี บางปลาสร้อย (ชลบุรี) แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) นครสวรรค์ เป็นต้น เมื่อมาถึงไทยจะมีคนในสกุลแซ่เดียวกันช่วยเหลือหางานและที่พักให้ก่อนแยกย้าย ด้วยความถนัดในเรื่องการทำสวนผักและมีความรู้เรื่องการทำน้ำตาลทรายขาว ทำให้พบชาวแต้จิ๋วในพื้นที่ชนบทหลายจังหวัด เช่น นครปฐม กาญจนบุรี ที่เหมาะกับการปลูกอ้อย

ชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ส่วนมากเดินทางมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นมณฑลแถบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน จึงมีความชำนาญในการเดินเรือติดตัวมาด้วย วัลย์ลิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช พบว่า ในสมัยอยุธยา มีการตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยามากถึง 6 ย่านด้วยกัน คือ ย่านแรกคือ ตลาดน้ำหรือตลาดเรือ ซึ่งอาศัยอยู่กันเป็นแพเหมือนกับเป็นตลาดน้ำ ปรากฏอยู่ 4 ตลาดในย่านนี้คือ 1) ตลาดน้ำวนบางกะจะ หน้าวัดพนัญเชิง 2) ตลาดปากคลองคูจาม ท้ายสุเหร่าแขก 3) ตลาดปากคลองคูไม้ร่อง 4) ตลาดปากคลองวัดเดิม ใต้ศาลเจ้าปูนเท่ากง ย่านที่สอง ตลาดวัดท่าราบหน้าบ้านเจ้าสัวซี มีลักษณะเป็นตึกแถวสองชั้นยาว 16 ห้อง ชั้นบนสำหรับอยู่อาศัย และชั้นล่างตั้งขายของ มีโรงตีเหล็ก เย็บรองเท้า ทำยาแดง และสูบกล้องขาย ย่านที่สาม ตลาดขนมจีน เป็นย่านค้าขายของชาวฮกเกี้ยน จำหน่ายสินค้าจำพวกขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ และร้านชำ ย่านที่สี่ ในไก่ เป็นตลาดใหญ่บริเวณท่าเทียบเรือ ตั้งแต่คลองประตูในไก่ ท่าหอย มาจนถึงคลองประตูจีน เป็นย่านค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าหลากหลายชนิด อาทิ เครื่องทองเหลือง ทองขาว ถ้วยชามกระเบื้อง แพรไหม เครื่องมือเหล็ก อาหาร และผลไม้จากเมืองจีน อีกทั้งยังมีของสดขายเป็นตลาดเช้า-เย็น ย่านที่ห้า สามม้า เป็นย่านที่อยู่ต่อจากย่านในไก่ ชาวจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับและขนมแห้งของจีนหลากชนิด รับทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเครื่องเหล็กต่าง ๆ รวมถึงรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณ ย่านที่หก ตลาดปากคลองขุดละครไชย เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีร้านของของจากเมืองจีน และมีโรงโสเภณีตั้งอยู่ท้ายตลาด 4 โรง (วัลย์ลิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช, 2534)

นอกจากนี้แล้ว ยังพบชาวจีนฮกเกี้ยนในภาคใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังกรณีรัชสมัยของพระเจ้าตากสินนั้น หวู หยาง ชาวฮกเกี้ยนจากตำบลซีซิงในจางโจวที่อพยพเดินทางมายังสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2203 ด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดี หวู หยางจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอากรทำอากรรังนกที่เกาะนอกฝั่งสองเกาะ และแต่งตั้งให้เป็นขุนนางมีตำแหน่งเป็นหลวง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสงขลา (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 20) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสุวรรณสมบัติคีรี เป็นต้นตระกูล ณ สงขลา นอกจากนี้ ชาวฮกเกี้ยนยังได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก เพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกและการค้า จึงทำให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตฮกเกี้ยนเป็นวัฒนธรรมสำคัญของภูเก็ต นอกจากนี้ยังพบในอีกหลายจังหวัดของไทยเช่น สุราษฎร์ธานีและตรังมีศาลเจ้าฮกเกี้ยน เป็นต้น ภายหลัง พ.ศ. 2418 การอพยพของชาวฮกเกี้ยนมายังกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่ลดลง แต่ไปเพิ่มขึ้นทางภาคใต้เป็นหลักดังเช่นที่สงขลา ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวของเหมืองแร่และยางพารา (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 51)

สำหรับชาวไหหนำนั้น ความเข้าใจเดิมมักอธิบายว่าชาวจีนไหหนำอาศัยอยู่มากทางภาคใต้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดไปจากข้อเท็จจริงมากนัก แต่ความจริงแล้วพบชาวไหหนำในหลายภูมิภาคของไทย ได้แก่ นครสวรรค์อุทัยธานี พิจิตร อุตรดิตถ์ สวรรคโลก สุโขทัย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น การเลือกตั้งถิ่นฐานยังที่ต่างๆ มานี้เกี่ยวข้องกับความชำนาญในอาชีพช่างไม้และการต่อเรือ ตัวอย่างเช่นที่นครสวรรค์ เป็นชุมทางลำเลียงไม้จากเมืองเหนือนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา ทำให้มีความต้องการแรงงานชาวจีนที่ชำนาญงานไม้ ที่นี่จึงพบชุมชนชาวไหหนำ (สัมภาษณ์ นวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์ 2565) เห็นได้จากการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิม (จุ้ยโบเนี้ยว) ซึ่งไม่ได้พบที่นครสวรรค์เท่านั้น แต่ยังพบอีกหลายเมือง นอกจากพื้นที่ตอนในของแผ่นดินแล้ว ยังพบชาวไหหนำมากตามเมืองแถบชายฝั่งทะเล เช่น ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร แม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เมืองภูเก็ต และที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดตราด เป็นต้น

สำหรับชาวจีนกวางตุ้งมีความแตกต่างออกไป เพราะนิยมอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าจะอยู่ตามชนบทหรือชายฝั่งทะเล เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญในงานช่างเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ตั้งแต่ในประเทศจีน ทำให้มีทักษะในการสร้างทางรถไฟ ต่อเรือ ซ่อมเครื่องยนต์ และงานไม้ เมื่อมาถึงยังประเทศไทย จุดแรกที่เดินทางเข้ามาคือ กรุงเทพฯ พบมากแถบบางรัก ตลาดน้อย สำเพ็ง และเยาวราช จากนั้นจึงกระจายตัวไปตามเมืองต่างๆ ตามเส้นทางรถไฟ และไปตามหัวเมืองสำคัญ กลุ่มหนึ่งไปตามเส้นทางรถไฟไปยังนครสวรรค์ ตาก เชียงใหม่ นครราชสีมา อีกกลุ่มไปทางเรือโดยเดินทางไปยังสุราษฎร์ธานี สงขลา หาดใหญ่ เบตง ภูเก็ต และตรัง เพื่อประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานช่าง ร้านอาหาร และอื่นๆ (สัมภาษณ์ นวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์ 2565)

ชาวฮากกาเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และเข้ามามากที่สุดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีการก่อสร้างถนนหนทาง สร้างทางรถไฟ และก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งชาวจีนแคะมีความเชี่ยวชาญด้านงานช่าง ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอต่าง ๆ ในมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน และเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 โดยกลุ่มชาวฮากกาจะเคลื่อนย้ายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยที่มีการจ้างแรงงาน เมื่อทางรถไฟและถนนถูกสร้างไปถึงภาคเหนือของประเทศไทย (จังหวัดลำปาง) ชาวฮากกาได้อพยพมาตั้งหลักตั้งฐานในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วย ได้แก่ ลำปาง น่าน เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ และแพร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮากกาสำเนียงถิ่นฮงสุน ส่วนทางภาคใต้ ชาวฮากกาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่จังหวัดหาดใหญ่และจังหวัดสงขลาเป็นจำนวนมาก และกระจายกันอยู่ทั่วไปตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ส่วนมากเป็นชาวฮากกาสำเนียงถิ่นเหมยเซี่ยนและสำเนียงฮุ่ยโจว ซึ่งอยู่กันเป็นชุมชนใหญ่และยังรักษาภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ นอกจากนี้ ยังกระจายกันอาศัยอยู่ในหลายจังหวัดของภาคกลาง ซึ่งกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2555: 146-147; ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร 2556 : 230)


การดำรงชีพ

เนื่องจากวิถีชีวิตที่เกี่ยวผูกพันกับชนบท ทำให้ชาวแต้จิ๋วมีความชำนาญด้านการเกษตรเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงพบว่าชาวจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาทำงานในไทยมักเริ่มต้นด้วยอาชีพการทำสวน ไม่ก็เป็นกุลี และเมื่อความต้องการทางผลผลิตด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาลทรายและพริกไทย จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนชาวแต้จิ๋วในสยามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (สกินเนอร์, :46) รัชกาลที่ 3 ทรงเปิดทางและสนับสนุนจีนแต้จิ๋วให้ทำอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย (วัลย์ลิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช, 2534: 89) เพราะมีความชำนาญในการทำน้ำตาลทรายขาว ต่อมาเมื่อสะสมทรัพย์ได้มากขึ้นจึงกลายเป็นเจ้าของกิจการร้านค้าต่างๆ ดังเห็นได้จากที่รังสิต ปากน้ำโพ สามชุก มหาชัย เป็นต้น

ชาวฮกเกี้ยนประกอบอาชีพหลากหลาย ถูกปลูกฝังให้ลูกหลานชาวฮกเกี้ยนทั่วโลกมีความกระตือรือร้นในการยกระดับชีวิตของตนเมื่อพิจารณาอย่างกว้างๆ ในแง่ของการดำรงชีพจากกรณีของภูเก็ตพบว่า ฐานะทางสังคมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาทำมาหากินนั้นสามารถมองอย่างกว้างๆ ว่ามีอยู่สองพวก คือพวกที่เข้ามาอยู่ก่อนมาประกอบอาชีพที่ตนถนัด เช่น อาชีพประมงมักจะตั้งรกรากริมทะเล เช่นชุมชนบ้านบางเหนียว (บางเหลียว ตั๋วบ่าง) ชุมชนบ้านก้อจ้าน (ชาวประมงหาปลาชายฝั่ง) ฐานะค่อนข้างยากจน จนถึงปานกลาง กลุ่มคนจีนกลุ่มนี้บางคนมีความคิดที่จะกลับประเทศ จะส่งเงินกลับบ้านที่ประเทศจีน หาเงินได้เท่าไหร่ส่งกลับบ้านหมดอีกพวกหนึ่งคือชาวจีนที่ต้องการมาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินใหม่ พวกนี้จะเก็บออมเงินเพื่อสร้างฐานะให้กับตนเอง ทำให้บางคนที่เข้ามาเป็นกุลีเหมือง ก็สามารถพัฒนาตัวเองเป็นนายเหมืองได้

ชาวจีนไหหนำอพยพมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลไหหนำ อาศัยอยู่ตามที่ราบและบริเวณชายฝั่งทะเลของเกาะไหหนำ จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการเดินเรือและการประมง อีกทั้งเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ป่าไม้ และโรงเลื่อย ชาวไหหนำที่อพยพมาในระยะแรกนั้นมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพที่ใช้แรงงานเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ความถนัดที่โดดเด่นของชาวไหหนำคือการทำอาหาร จึงมีชาวไหหนำบางกลุ่มที่ทำงานเป็นพ่อครัวตามบ้านของชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในย่านบางรัก สาทร และสีลม นอกจากนี้ ชาวจีนไหหนำยังประกอบอาชีพที่สะท้อนให้เห็นถึงความถนัดเฉพาะตัว อาทิ ช่างตัดเสื้อบุรุษ ช่างทำเครื่องเรือน การค้าขายของชำ ขายกาแฟ ข้าวมันไก่ โรงแรม โรงเลื่อย โรงสี และรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น (ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง, 2543: 55)

ลักษณะเด่นของชาวจีนกวางตุ้งคือ เป็นคนละเอียดและมีฝีมือ อาชีพที่ชาวจีนกวางตุ้งทำจึงมักเป็นงานช่างฝีมือ เช่น การเปิดโรงกลึง การทำอาหาร การทำงานเหล็ก และงานช่างทุกชนิด ชาวกวางตุ้งที่เข้ามาไทยมักเป็นพื้นฐานเป็นช่างฝีมือ แยกออกเป็น 2 อย่างคือ ช่างเหล็ก กับช่างไม้ ชุมชนชาวจีนกวางตุ้งในกรุงเทพ เป็นพวกที่เข้ามาทำอู่เรือ ช่วงที่อพยพเกิดขึ้นจากความแร้นแค้น ชาวกวางตุ้งอพยพออกไปเรื่อยๆ เพราะเดินทางไปที่ต่างๆ ได้ง่าย เช่น มีเรือสำเภา เรือฝรั่ง ด้วยความถนัดทางด้านงานไม้ และเครื่องจักร ทำให้ชาวจีนกวางตุ้งไปอาศัยกันอยู่ที่นครสวรรค์มาก เพราะเป็นศูนย์กลางของการทำไม้ อีกทั้งด้วยความรู้ในงานช่างเครื่อง ทำให้ชาวจีนกวางตุ้งมักไปซ่อมโรงสี และทำโรงสีด้วย ส่วนอาชีพที่นิยมในกลุ่มผู้หญิงจีนกวางตุ้งคือ อาชีพแม่บ้าน หรือในภาษากวางตุ้งเรียกว่า อาสำ (อาซัม) เป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยในบ้าน ทั้งงานบ้าน งานครัว หรือเป็นพี่เลี้ยงตามบ้านเศรษฐีหรือคหบดี เนื่องด้วยเมืองกวางโจวตั้งอยู่ติดทะเล จึงอุดมไปด้วยวัตถุดิบที่หลากหลาย ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่เป็นเมืองท่า จึงมีการทำร้านอาหารกันอย่างแพร่หลาย ชาวจีนกวางตุ้งจึงมีทักษะด้านการทำอาหารที่โดดเด่น



ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

คำสอนปรัญชาเมิ่งจื้อ (孟子 - Meng zi) มีอิทธิพลต่อความคิดของชาวจีนแต้จิ๋วโดยเฉพาะเรื่องการแต่งงาน ซึ่งในวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋วถือความมั่นคงในคู่ครองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด งานแต่งงานจึงมีขั้นตอนและระเบียบพิธีการมากมายเพื่อให้บ่าวสาวตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตสมรส ดังนั้น การหย่าร้างในครอบครัวของชาวจีนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พึงกระทำได้

ชาวจีนแต้จิ๋วมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาสูงกว่าจีนกลุ่มภาษาอื่น ทั้งนี้ด้วยปัจจัย 3 ประการคือ ภัยธรรมชาติ วัฒนธรรมและความเชื่อเรื่องผีสางของไป่เย่ว์โบราณ (บรรพบุรุษของชาวจีนแต้จิ๋ว) และความเคารพผู้ทรงพระคุณในอดีต จึงมีการเซ่นไหว้ในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ เรียกว่า “ไป้เหล่าเอี๊ยะ” (拜老爷 - bai lao ye) คือการไหว้ผีสางเทวดาหรือไหว้เจ้า คู่กับ “ไป้เหล่ากง” (拜老公 - bai lao gong) หรือการไหว้บรรพชน

ถาวร สิขโกศล ได้จัดประเภทผีสางเทวดาที่ชาวจีนแต้จิ๋วนับถือไว้ดังนี้ คือ 1) เทพยุคโบราณ ได้แก่ “เทพมังกรเขียว” (青龙神 - Qing long shen) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่าอันเป็นความเชื่อที่สืบทอดมาจากพวกไป่เย่ว์ 2) วีรชนและผู้ทรงกิตติคุณในอดีต เช่น กวนอู เจ้าแม่ทับทิมหรือเจ้าแม่หม่าจู่ 3) เทพทางศาสนาพุทธและเต๋า ได้แก่ เจ้าแม่กวนอิม (อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) เทพเหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ (玄天上帝 - Xuan tian shang di) ของลัทธิเต๋า 4) เทพพื้นบ้าน เช่น โทวตี่กง - เจ้าที่ (土地公 - tu di gong) ไฉ่ซิ้ง - เทพแห่งทรัพย์สิน(财神 - cai shen) หมึ่งซิ้ง - เทพทวารบาล (门神 - men shen) เจ่าซิ้ง - เจ้าเตาไฟ (灶神 - huo shen) 5) เทพเฉพาะถิ่น ได้แก่ “เทพแห่งสามภูผา” หรือ “ซำซัวก๊กอ๊วง” (三山国王 - san shan guo wang)” เป็นเทพประจำภูเขาสามลูกที่อำเภอกิ๊กเอี๊ย อันเป็นเทพเฉพาะท้องถิ่นของชาวจีนแต้จิ๋ว

ความเชื่อเรื่อง “กิ๊มกี๋” (禁忌) หรือข้อห้ามการถือเคล็ด ประกอบด้วย “กี๋” (忌) คือข้อห้ามต่าง ๆ และ “ชง” (冲) คือความขัดแย้งอันเป็นอัปมงคล เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวจีนแต้จิ๋วให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างฤกษ์ยามกับโชคลางเป็นอย่างมาก จึงมีการแก้เคล็ดด้วยการเขียนอักษรว่า “เกียงไท้กงตอชื่อแป๊ะสื่อบ่กี๋” (姜太公在此百事无忌) หมายถึง “เกียงไท้กงอยู่ที่นี่ ทุกเรื่องไม่มีข้อห้าม (กี๋) ใด ๆ” ซึ่งเกียงไท้กงเป็นผู้ที่ชาวจีนแต้จิ๋วนับถือและเชื่อว่ามีอำนาจเหนือผีสางเทวดา ชาวจีนแต้จิ๋วจึงนิยมใช้รูปเกียงไท้กงแขวนไว้ที่บ้านหรือติดไว้ที่งานเพื่อให้พ้นเรื่องกี๋และชงทุกประการ

ชาวจีนฮกเกี้ยนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธทั้งนิกายมหายานและหินยาน รวมถึงลัทธิเต๋า จึงมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาเทพเจ้าและการไหว้เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรษตลอดทั้งปี เช่น การทิ้งกระจาด เทศกาลกินเจ เทศกาลตรุษจีน พิธีกงเต็ก การเสี่ยงเซียมซี และการแก้บน เป็นต้น (ต้วนลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขสิริ, 2543: 36-43)

ศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยนที่สำคัญ ได้แก่ ศาลเจ้าจี้หนานเมี่ยว ศาลเจ้าโจวซือกง ศาลเจ้าแม่ทับทิม (เชิงสะพานบางขุนเทียน) ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้าเล่าปุ่นเถ้ากง ศาลเจ้าอาเหนียว ศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลเจ้าฮกเลี่ยงเก็ง ศาลเจ้ากวนอู (สมเด็จเจ้าพระยา) และศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ เป็นต้น

ชาวฮกเกี้ยนบางกลุ่มมีธรรมเนียมย่อย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เล่าว่า ชาวฮกเกี้ยนทางระนองมีธรรมอย่างหนึ่งคือ การตั้งป้าย "เทียนก๊วนซู่ฮก" ที่บ้าน โดยคนสมัยก่อนแขวน "ทีก้องหลอ" (กระถางธูปทีก้อง) หรือ "ทีเต้ง" (ตะเกียงทีก้อง) ไว้หน้าบ้านแล้วจุดธูปไหว้ฟ้า ปัจจุบันตามศาลเจ้าฮกเกี้ยนยังตั้งทีเต้งอยู่แทบทุกแห่งและมีโต๊ะตั้งทีก้องหลอ โดยไม่ได้ตั้งเสา มีศาลด้านนอกหรือเขียนทีตี่แป้บ้อ (พ่อฟ้าแม่ดิน) อย่างจีนภาษาอื่น

ชาวจีนไหหนำนับถือลัทธิขงจื้อ เต๋า และพุทธ แต่มีการนับถือเทพเจ้าท้องถิ่นที่สำคัญคือเจ้าแม่ทับทิม เชื่อว่าคอยคุ้มครองให้ปลอดภัยและพ้นจากภัยพิบัติ มีชื่อตามเสียงภาษาพูดของจีนไหหนำว่า ตุยบวยเต้งเหนี่ยง (水尾圣娘) แปลว่า พระแม่ท้ายน้ำ หรือพระแม่ปลายน้ำ ปัจจุบันมีศาลเจ้าหลายแห่ง แต่ที่นับถือกันมากคือ ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยว หรือศาลเจ้าเก่าของชาวจีนไหหนำย่านบางรัก และศาลเจ้าแม่ทับทิม (จุ้ยโบวเนี้ยว) เชิงสะพานซังฮี้

โดยธรรมชาติชาวจีนไหหนำเป็นนักเดินเรือ เพราะอาศัยอยู่บนเกาะ ทำให้มีเทพเจ้าที่นับถือเกี่ยวข้องกับการเดินเรือคือ เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นชื่ออย่างไทย แต่ความจริงแล้วเดิมทีเป็นหม่าโจ้ว เป็นเทพสวรรค์สูงสุดของจีน ฮ่องเต้ทุกพระองค์จะต้องถวายพระนามให้ และอีกองค์คือ เจ้าแม่ท้ายน้ำ มีตำนานออกทะเลแล้วช่วยคนตกทะเล เป็นเจ้าแม่ของคนไหหนำ เรียกสององค์นี้ หม่าโจว้คนไต้หวัน จีน มีหูทิพย์ตาทิพย์ เจ้าแม่ท้ายน้ำเป็นเจ้าแม่ท้องถิ่นของไหหนำ อยู่ท้ายน้ำ มีอายุ 100 กว่าปีเท่านั้น ในไทยมีศาลเจ้าของทั้งสององค์ คนไทยชอบเรียกรวมว่าเจ้าแม่ทับทิม สร้างเครื่องทรงถวายด้วยเครื่องทรงสีแดง ให้ทั้งสององค์ ทำให้เกิดการรวมกัน แล้วเสื้อแดงก็เลยกลายเป็นเจ้าแแม่ทับทิม ทั้งสององค์มีต้นกำเนิดจากทะเลคล้ายกัน

สำหรับชาวกวางตุ้ง ความเชื่อทางศาสนาเป็นแบบขงจื้อผสมผสานกับศาสนาเต๋าและพุทธ เรียกว่าเป็นขงจื้อใหม่ คนจีนกวางตุ้งไม่นิยมสร้างศาลเจ้า เพราะเป็นสังคมเมืองมากแล้ว ศาลเจ้ากวางตุ้ง ไม่มีเทพอะไรพิเศษแตกต่างจากศาลเจ้าชาวจีนอื่นๆ มีเทพเจ้าแม่กวนอิม ไชซิงเอี่ย แต่ในฮ่องกงกับมีความแตกต่าง ซึ่งคงเป็นเทพท้องถิ่น แต่คนกวางตุ้งมักชอบตั้งสมาคมทั้งนี้เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ (connection) แลกเปลี่ยนกันทางธุรกิจ การค้า และใช้ฝึกเล่นสิงโต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเป็นการกล่อมเกลาคนที่มาร่วมเล่นสิงโต ถือเป็นกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) แบบหนึ่ง (นวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์, สัมภาษณ์ 2565)


ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ความคิดความเชื่อจากสำนักปรัชญาขงจื่อ (Confucianism / 儒家 Ru jia หรู เจีย) เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมและผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิต รวมถึงประเพณีพิธีกรรมของชาวจีนแต้จิ๋วตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ที่เห็นได้ชัดคือ ความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมที่มีแนวความคิดเกี่ยวกับความกตัญญู การเชิดชูบรรพชน และเทิดทูนการศึกษา เมื่อชาวแต้จิ๋วจะอพยพมายังประเทศไทยแล้ว แม้รูปแบบพิธีกรรมจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง แต่แก่นทางความคิดและอัตลักษณ์ของพิธีกรรมเหล่านี้ยังคงถูกสืบทอดมาจวบจนปัจจุบัน

ประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปของจีนแต้จิ๋วจะเกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ประเพณีทำขวัญเดือน ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด ประเพณีแต่งงาน และประเพณีงานศพ แต่ประเพณีที่แตกต่างจากจีนกลุ่มอื่นคือ ประเพณีการเปลี่ยนผ่านวัย ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ชุกฮวยฮึ๊ง” (出花园) แปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวคือ “ออกจากสวนดอกไม้” เป็นประเพณีการเปลี่ยนจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ โดยชาวจีนแต้จิ๋วถือว่าเมื่อเด็กอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว เป็นวัยที่ต้องออกจากสวนดอกไม้และเข้าสู่สังคมผู้ใหญ่ รับรู้ในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองและครอบครัว พิธีนี้จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีนของทุกปี เนื่องจากเป็นวันเกิดของกงพั๊ว (公婆) หรือแม่ซื้อ ที่ชาวแต้จิ๋วเชื่อว่าเด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี จะมีแม่ซื้อคอยอุปถัมภ์อยู่ การจัดพิธีนี้จึงเป็นการขอบคุณแม่ซื้อเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (ธันฐกรณ์ สังขพิพัฒธนกุล, 2564: 98-99) ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบัน วัดมังกรกมลาวาสได้มีการจัดประเพณีพิธีออกสวนดอกไม้รวมร่วมกันให้กับลูกหลานชาวจีนแต้จิ๋ว นอกจากนี้ ชาวจีนแต้จิ๋วยังมีประเพณีในเทศกาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่ออีกหลายประเพณีในหลายมิติ เช่น ตรุษจีน เชงเม้ง สารทจีน ไหว้พระจันทร์ การไหว้ขอบคุณเทพเจ้า และการกินเจ เป็นต้น

คุณนวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์ ให้ความเห็นว่า การกินเจเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวฮกเกี้ยน เริ่มต้นจากหมู่บ้านเล็กๆ ในฮกเกี้ยน จึงเชื่อได้ว่า ชาวฮกเกี้ยนเป็นผู้ริเริ่มการกินเจในประเทศไทย ด้วยคติความเชื่อเรื่องบูชาบรรพชน เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยแล้วจึงจัดพิธีกินเจขึ้น เพราะเชื่อว่าการละเว้นเนื้อสัตว์ในเทศกาลนี้ ถือเป็นการไว้ทุกข์ให้แก่บรรพบุรุษของตนเอง

นอกจากนี้แล้วยังมีการไหว้ทีกง/ทีก๊อง (天公 - tian gong) ในภาษาฮกเกี้ยน หรือเทียนกงในภาษาจีนกลาง เป็นการไหว้ปู่แห่งสวรรค์ หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวจีนฮกเกี้ยนยึดถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นกิจวัตร แต่จะมีเทศกาลไหว้ทีกง (拜天公 - bai tian gong) โดยเฉพาะในวันประสูติทีกง คือในวันเก้าค่ำเดือนอ้ายจีน (เจี่ยโง้ยโฉ่ยเก้า หรือเฉ่เก้า) นับจากวันตรุษจีน (วันเที่ยวหรือวันปีใหม่) เป็นวันแรกมาจนถึงวันที่เก้า ซึ่งชาวจีนฮกเกี้ยนถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง

องค์ประกอบหนึ่งของเครื่องเซ่นไหว้หรือของประกอบพิธีกรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน มักจะมีขนมเต่าอยู่ด้วย โดยชาวจีนมีความเชื่อว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว ความมั่นคง และโชคลาภ ในวัฒนธรรมจีนจึงถือว่าเต่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นตัวแทนของความมงคล ในเทศกาลสำคัญหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวจีนฮกเกี้ยนนิยมทำขนมรูปร่างคล้ายกระดองเต่าหรือรูปร่างเต่า เรียกว่า “อังกู๊” หรือ “อังโก้ย” ในสำเนียงฮกเกี้ยน (红龟 - hong gui) เพื่อเป็นหนึ่งในของประกอบพิธีมงคลหรือเทศกาลประจำปี เช่น ตรุษจีน เช็งเม้ง พิธีแต่งงาน พิธีทำขวัญเดือน หรืองานแซยิด เป็นต้น ซึ่งชาวจีนฮกเกี้ยนนิยมทำขนมเต่าจากแป้งข้าวเหนียวหรือแป้งสาลี ปั้นเป็นรูปเต่าทรงรีหรือทรงลูกท้อ มีทั้งแบบมีไส้ที่ทำจากถั่วเหลืองกวนและแบบไม่มีไส้ หากเป็นพิธีแต่งงานจะวาดอักษร “สี่” (喜 - xi) อันหมายถึงความสุข ความยินดี และหากเป็นงานฉลองวันเกิดหรืองานแซยิด จะวาดอักษร “โซ่ว” (寿 - shou) หมายถึงอายุยืน เพื่ออวยพรให้กับผู้อาวุโส (สืบพงศ์ ช้างบุญชู 2562)

สำหรับชาวไหหนำมีพิธีสำคัญคือ พิธีกงเต๊กไหหนำ หรือ พิธีโต้เจ เป็นพิธีงานศพที่คล้ายกับพิธีกงเก๊กของจีนกลุ่มอื่น ๆ แต่เอกลักษณ์ของพิธีกงเต๊กของชาวไหหนำคือ พิธีเบิกวิญญาณหน้าโลงศพ และการแสดงงิ้วที่เป็นการจำลองเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ตายในดินแดนปรโลก โดยมีเครื่องดนตรีประกอบด้วยหลั่น (กระดิ่ง) เหลี่ยนโด (มีดหมอ) และหวู่กั๊ก (เขาควาย) เป็นเครื่องดนตรีประกอบการสวดมนต์ และมีเป็นเครื่องดนตรีประกอบการบรรเลงในพิธีกรรม ซึ่งจะไม่มีเครื่องสายเข้ามาเกี่ยวข้องในพิธีกรรมและวัสดุจะต้องเป็นทองเหลืองเท่านั้น (จักรพงษ์ กลิ่นแก้ว 2550: 22-52) โดยพิธีกรรมของชาวไหหนำจะมีจังหวะดนตรีระดับเสียง และทำนองพื้นเมืองที่มีในมณฑลไหหนำ

ประเพณีลอยเรือสำเภา เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ และสะเดาเคราะห์ทุกเดือน 6 ของปี โดยชาวไหหนำจะร่วมกันต่อเรือสำเภาจำลองขึ้นมา และเริ่มพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การไหว้เจ้าแม่ทับทิม เทพธิดาแห่งท้องทะเล และเจ้าพ่อปุนเถ้ากง ไหว้บรรพบุรุษ เผากระดาษเงินกระดาษทองให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมถึงจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บตามความเชื่อ (พรปวีณ์ ทองด้วง 2559) ในปัจจุบัน ยังมีการสืบทอดพิธีกรรมนี้ที่หมู่บ้านวังส้มซ่า ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

คุณนวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์ อธิบายว่า ชาวกวางตุ้งมีประเพณีเหมือนกับกลุ่มอื่นๆ มี 5 เทศกาลหลัก เชงเม้ง ไหว้พระจันทร์ ตรุษจีน สารทจีน เทศกาลบะจ่าง เทศกาลหยวนเซี่ยว (เทศกาลโคมไฟ) ซึ่งประเพณีหลังนี้ตอนหลังได้หายไปแล้ว ส่วนเทศกาลกินเจไม่ได้เป็นของดั้งเดิมแต่ร่วมกินด้วยกับชาวจีนกลุ่มอื่นๆ

สำหรับชาวฮากกามีประเพณีที่น่าสนใจคือ พิธีศพ หรือ พิธีกงเต๊กพิธีกงเต๊กเป็นพิธีที่สะท้อนถึงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพชน เป็นการส่งผู้ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์หรือสุขคติ ซึ่งพิธีกงเต๊กของชาวจีนแคะมีความแตกต่างไปจากจีนกลุ่มอื่นคือ ผู้ทำพิธีส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงที่สวยงาม ถือศีลกินเจ และศึกษาตำราทางศาสนา หลังจากเริ่มพิธีด้วยการสวดเซ่นบวงสรวงดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับแล้ว ญาติผู้ล่วงลับจะเดินตามหญิงผู้ทำพิธี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นวิ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความครื้นเครง ถัดจากนั้นหญิงผู้ทำพิธีจะเล่นปาหี่ในระหว่างการประกอบพิธี ทั้งนี้ เป็นกุศโลบายที่ไม่ต้องการให้งานศพเป็นเรื่องเศร้า หากแต่ยังมีความครื้นเครงที่แฝงเอาไว้ด้วยคำอธิบายที่มีเหตุผลเพื่อให้ญาติได้เกิดมรณานุสติ (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2555: 106-108) เมื่อเด็กออกจากท้องแม่แล้ว ชาวฮากกาจะยังไม่ตั้งชื่อในทันที จะรอไปจนถึงวันที่สาม ซึ่งจะมีพิธี “แซ่ซ้ำจ้อ” (洗三早 - xi san zao) หรือ การชำระการในเช้าวันที่สาม โดยผู้เป็นแม่จะอาบน้ำชำระกายแก่ทารก หลังจากนั้นผู้เป็นปู่ของทารกจะพาไปหา “หมอ” เพื่อตรวจดูชะตาชีวิตตามวันเดือนปีและเวลาที่ทารกเกิด และทำการตั้งชื่อโดยอ้างอิงจากธาตุที่ทารกนั้นมีน้อยเพื่อเติมเต็มให้กับชะตาชีวิตของทารกเอง (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2555: 96-97)

GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก (Suvarnabhumi Terra Incognita). กรุงเทพฯ: บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน).

กมล นโนชญากร, รองอำมาตย์ตรี. 2558 [2474]. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี และสถาบันพระปกเกล้า.

กุลศิริ อรุณภาคย์. 2553. ศาลเจ้าศาลจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: Museum Press.

กรมศิลปากร. 2565. การค้ากับชาวต่างชาติในสมัยกรุงธนบุรี (ตอนที่ ๒). https://www.finearts.go.th/main/view/26552-การค้ากับชาวต่างชาติในสมัยกรุงธนบุรี--ตอนที่-๒-

คารร์, เอ, นายแพทย์ และ ไซเดนฟาเดน, อี, พันตรี.ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย. ใน ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2515 [2493].

จักรพงษ์ กลิ่นแก้ว. 2550. ดนตรีประกอบพิธีกงเตกไหหลํา: กรณีศึกษาคณะกงเต๊ก ด่านเฮงกุน (โกกุน) (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ชุติมา ศรไชย. 2559. การอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาชุมชนบ้านญวน สามเสน. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร.

ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ และสมชาย พิเชษฐพันธ์. 2560. คนแคะ (ไม่แคระ) ฮากกาหงิ่น. นนทบุรี: บริษัท เฟิสท์ ออฟเซท (1993) จำกัด.

ต้วน ลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขสิริ. 2543. ความเป็นมาของวัดจีนและศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา.

ถาวร สิกขโกศล. 2552. “ความเชื่อผีสางเทวดาของคนจีนแต้จิ๋ว เรื่องงมงายหรืออุบายควบคุมจริยธรรม?,” ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/article_77018.

ถาวร สิกขโกศล. 2554. แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: มติชน.

ธันฐกรณ์ สังขพิพัฒธนกุล. 2564. “วัฒนธรรมแต้จิ๋ว” ตัวแทนวัฒนธรรมจีนในสังคมไทย. วารสารวิชาการภาษาและวัฒนธรรมจีน. 8(1). 98-99

นวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์, กรรมการสมาคมกว๋องสิว นครสวรรค์, สัมภาษณ์ วันที่ 22 กันยายน 2565

พรปวีณ์ ทองด้วง. 2559. ประเพณีลอยเรือสำเภา ของชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำ ณ หมู่บ้านวังส้มซ่า. สืบค้นจาก https://www.nuac.nu.ac.th/v3/?p=1379.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2551. ภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ “ชาวเขา” ในสังคมไทย ระหว่างทศวรรษที่ 2420 ถึง 2520. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. 2546. นายแม่ เรื่องดีๆ ของนารีสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นามมีบุ้คส์.

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. 2564. ส่องลายครามสืบหาจีนกรุงศรีฯ. กรุงเทพฯ: Silkworm Books.

พิริยะ ไกรกฤษ์. 2564. ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรกฤษ์.

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง. 2543. จากอาสำถึงหยำฉ่า ตำนานคนกวางตุ้งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: ร้านนายอินทร์.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. 2555. คือ “ฮากกา” คือ “จีนแคะ”, พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มติชน.

วิลเลียม สกินเนอร์ (William Skinner). 2529. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, ประกายทอง สิริสุข, กรณี กาญจนัษฑิติ, ปรียา บุญญะศิริ, และ ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ์, บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ไทยวัฒนาพานิช.

ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร. 2556. “ความหมายและอัตลักษณ์ของจีนฮากกา,” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. 33:1. 215-240.

ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร. 2556. โครงการไวยกรณ์ภาษาฮากกา (จีนแคะ) สำเนียงที่พูดในกรุงเทพฯ. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ศิลปวัฒนธรรม. 2565. “ความแตกต่างระหว่างจีนกวางตุ้ง-ไหหลำ-แต้จิ๋ว-แคะ-ฮกเกี้ยน,” https://www.silpa-mag.com/culture/article_37462

สมาคมกว๋องสิวแห่งประเทศไทย. 2565. ประวัติสมาคมกว๋องสิว. สืบค้นจาก https://www.kwongsiew.com/recommend/commerce_s.htm...

สิริวรรณ แซ่โง้ว. 2561. “การกลายเป็นคาไวยากรณ์ของ 個 e5 ในภาษาฮกเกี้ยนไต้หวัน,” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ. (11)3, 115-140.

สืบพงศ์ ช้างบุญชู. 2562. ขนมเต่ากับพิธีกรรมเซ่นไหว้ในชุมชนตลาดน้อย กรุงเทพมหานครและชุมชนบางเหนียว จังหวัดภูเก็ต. วารสารไทยศึกษา. 15(2), 83-111.

สุภางค์ จันทวานิช และ ชาดา เตรียมวิทยา. 2563. ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ และปรากฏการณ์ย้ายถิ่น. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุภางค์ จันทวานิช และคณะ. 2534.ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและในภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซ่าน : สมัยที่หนึ่งท่าเรือจางหลิน (2310-2393). โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสี่ยวจิว (นามแฝง). 2554. ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’, ถาวร สิกขโกศล เขียนคำนิยม. กรุงเทพฯ: มติชน.

เสี่ยวจิว (นามแฝง). 2556. ที่เรียกว่า ‘แต้จิ๋ว’, วรศักดิ์ มหัทธโนบล เขียนคำนำเสนอ. กรุงเทพฯ: มติชน.

อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. 2557. กำเนิดคนแต้จิ๋ว วิวัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว.

อรอนงค์ อินสอาด. 2563. “การธำรงอัตลักษณ์และความทรงจำร่วมจากวรรณกรรมจีนสำหรับการแสดงงิ้วแต้จิ๋วในสังคมไทย,” วารสารคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 37(2). https://so01.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/206887/164970

แสวง รัตนมงคลมาศ. 2509. การบริหารงานของสมาคมจีน : บทศึกษาเฉพาะกรณีสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย. พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว