2023-06-13 17:27:00
ผู้เข้าชม : 5681

คะฉิ่น มีถิ่นฐานดั้งเดิมในแถบทิเบต หลังจากอพยพเข้ามาในประเทศไทยได้ตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในจังหวัดเชียงใหม่ คนกลุ่มนี้มีการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมผ่านประเพณีรำมะหน่าว ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญของหมู่บ้าน  คนส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการทำไร่ ทำสวนตามแนวทางการส่งเสริมด้านการเกษตรของโครงการหลวง มีบางส่วนเลี้ยงสัตว์สำหรับบริโภคและจำหน่าย และยังมีชาวบ้านคะฉิ่นบางครอบครัวที่มีความสามารถด้านการทอผ้าลวดลายคะฉิ่น เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าถุงผู้หญิง สำหรับจำหน่ายภายในกลุ่มและจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : คะฉิ่น
ชื่อเรียกตนเอง : คะฉิ่น, จิงเผาะ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : คะฉิ่น
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : จิงเผาะ
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน

คะฉิ่น (Kachin) เป็นชื่อเรียกของชาวคะฉิ่น ในภาษาเมียนมา อีกทั้งยังหมายถึงรัฐหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมา ขณะที่ชาวไตในรัฐฉานเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า “พวกขาง” ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “คะฉิ่น”ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จิงเผาะ (Jinghpaw) ระวาง (Rawang), ซิ (Zi), มารุ (Maru), (ลาซิ) Lashi, และลีซู (Lisu) ที่ยอมรับกลุ่มจิงเผาะเป็นผู้ปกครองผู้คนภายในรัฐ ตั้งแต่ก่อนยุคอาณานิคมของอังกฤษ และมีการใช้ภาษาจิงเผาะเป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่างๆ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยเหล่านี้มีภาษาพูดเป็นของตนเองและตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐคะฉิ่นมาก่อนแล้ว

คำว่า Kachin หรือ คะฉิ่น เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในดินแดนแถบทิเบต และมีการอพยพเคลื่อนย้ายจากความแห้งแล้ง พื้นที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชอาหารได้จึงเคลื่อนย้ายลงทางใต้และมาตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในแถบรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัมของอินเดีย และเรียกตัวเองว่า “สิงโป” (Singpo) ส่วนกลุ่มที่กระจายตัวอยู่แถบภูเขาในเขตมลฑลยูนนาน ประเทศจีน เรียกตัวเองว่า “จิงโป” (Jingpo) ส่วนกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐคะฉิ่นเรียกตัวเองว่า “จิงเผาะ” (Jinghpaw) ก่อนประเทศเมียนมาตกเป็นอาณานิคมอังกฤษนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่าง ๆ ยอมรับ “จิงเผาะ” เป็นกลุ่มผู้นำหรือผู้ปกครองที่ขึ้นตรงกับจักรวรรดิ์จีนในสมัยราชวงศ์ถังมาจนถึงราชวงศ์ชิง พวกเขามีความเชื่อและนับถือผีหรือวิญญาณเป็นหลักโดยเรียกว่า “นัต” (Nats) หลังจากเมียนมาอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาได้มีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาจิงเผาะและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจิงเผาะ ศาสนาคริสต์ก็ได้เข้ามาแทนที่ความเชื่อแบบดั้งเดิม และเกิดกลุ่มคะฉิ่นสมัยใหม่ขึ้น ภายหลังเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษกลุ่มคะฉิ่นใหม่มีความพยามแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลเมียนมาในยุคนั้น จึงเป็นปัญหาข้อขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานหลายสิบปี ชาวคะฉิ่นจึงมีการอพยพและเคลื่อนย้ายหนีปัญหาสงครามออกจากถิ่นฐานเดิมบางส่วนข้ามแดนไปยังประเทศจีนและบางส่วนอพยพลงมาอยู่ทางเหนือของประเทศไทย และมีการรวมตัวตั้งเป็นหมู่บ้านคะฉิ่นขึ้นที่บ้านใหม่สามัคคี อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน

กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น ที่ตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านใหม่สามัคคี อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้นั่นคือประเพณีรำมะหน่าว โดยเป็นการจัดเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสหรือวาระสำคัญของหมู่บ้าน ในประเพณีนี้ถือได้ว่าเป็นการรวมเอา มรดกทางวัฒนธรรมของชาวคะฉิ่นทุกกลุ่มย่อยที่อาศัยอยู่ชุมชน ทั้งในด้านเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมขอองแต่ละกลุ่มย่อยที่อยู่ในหมู่บ้าน ความรู้ในการสร้างเสามะหน่าว อาหารคะฉิ่น และพิธีกรรมการเต้นรำลักษณะเฉพาะโดดเด่นในรูปแบบของคะฉิ่นแต่ละกลุ่มย่อย นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการรวมใจของชาวคะฉิ่นทั้งหมดในการจัดพิธีกรรมนี้ เราะถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

การอธิบายถึงคะฉิ่นในทางประวัติศาสตร์อาจเริ่มต้นจากตำนานเหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นทั่วโลกสำหรับชาวคะฉิ่นนั้นมีประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบค้นจากเอกสารวิชาการต่างประเทศในหลายๆ ลักษณะ และขอแบ่งประวัติศาสตร์ชาวคะฉิ่นออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

ยุคเริ่มต้นถึงก่อนอาณานิคมอังกฤษ

คะฉิ่น มีตำนานของพวกเขาถูกถ่ายทอดโดย Sau Ka-Mai (2015) ผู้เขียนเรื่อง A brief history and the cuture of Kachin ระบุว่า คะฉิ่นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เร่ร่อนที่มีต้นกำเนิดในทิเบต ประวัติศาสตร์ของพวกเขามาจากสถานที่ที่ชื่อว่า “Majoi Shingra Bum” เป็นภูเขาแบนราบตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ทราบตำแหน่งแน่นอน สามารถตีความได้ว่าเป็นพื้นที่ใกล้ทิเบตซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนทางเหนือของเมียนมา โดยตำนานคะฉิ่นเชื่อว่า Ninggawn Chyanun และ “Hpunggam Woishun” เป็นผู้ปกครองสูงสุดของจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนถูกสร้างมาจากเขา และ “Ninggawn Wa Magam” เป็นมนุษย์คนแรกที่ถูกสร้างขึ้นมา ตำนานของคะฉิ่นก็เริ่มต้นจาก “Ninggawn Wa Magam”

ก่อนยุคอาณานิคมอังกฤษยังไม่มีการเรียกกลุ่มกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอาณาบริเวณนี้ว่า “คะฉิ่น” หรือ “Kachin” แต่จะเรียกในชื่อ “จิงเผาะ” (Jinghpaw) สำหรับกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางรัฐคะฉิ่นของประเทศเมียนมา ส่วนกลุ่มที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนานของประเทศจีนเรียก “จิงโป” (Jingpo) และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัมประเทศอินเดีย จะเรียกว่า “สิงโป” (Singpho) เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ากลุ่มชาติพันธ์นี้กำเนิดมาจากทางตอนใต้ของที่ราบสูงทิเบตบริเวณต้นทางของแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำโขง แยงซี และแม่น้ำสาละวิน และเริ่มอพยพลงใต้อย่างช้าๆ ไปตามแม่น้ำดังกล่าวเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูนนาน ในพื้นที่ทางตะวันตกของแม่น้ำนูเจียง (Kanseng Shyam, 2018:p1)

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น อ้างอิงจาก Kanseng Shyam (2018) ที่อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของ “จิงโป” หรือ “Jingpo” ซึ่งหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นในการปกครองของจีน เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) จิงโปเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายไปมาในพื้นที่ Dehog ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทึบตามแนวชายแดนอินเดีย-จีน-เมียนมา พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยหยกและเป็นจุดเริ่มต้นการบันทึกประวัติศาสตร์ของจิงเผาะในยุคราชวงศ์ถัง พื้นที่เหล่านี้ถูกหลอมรวมให้เป็นพื้นที่ในปกครองของจีนหลังจากมองโกลได้ขับไล่เมียนมาออกจากพื้นที่ในศตวรรษที่ 12 โดยชาวจิงเผาะอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ได (Dai) (หรือเป็นชาติพันธุ์ไท) ตามข้อตกลงตามระบบตูซี่ (Tusi) (หมายถึงระบบการยอมรับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเจ้าหน้าที่ของจักวรรดิ์จีน) พื้นที่ตั้งถิ่นฐานของจิงเผาะดั้งเดิมถูกเรียกว่า “มุจฮาเช็งลาเบง” (MUZHASHENGLABENG) หมายถึงภูเขาที่มียอดแบนมีหิมะตกตลอดปี เพาะปลูกพืชอาหารไม่ได้ จิงเผาะจึงค่อยๆ อพยพลงมาทางใต้ ตามแม่น้ำหลานชาง หรือ หลานชางเจียง หรือแม่น้ำโขง และแม่น้ำจินซา หรือหยางซี ก่อนที่จะมาตั้งรกรากอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน ในศตวรรษที่ 16 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกของแม่น้ำนูเจียง หลังจากนั้นก็แยกออกเป็นสองส่วน คือ ชาวจิงเผาะตะวันออกอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำแม่น้ำหลานชางเจียงและแม่น้ำจินซา และชาวจิงเผาะตะวันตกกระจายอยู่ในพื้นที่ Magulang และ Gangfang ซึ่งในประวัติศาสตร์เรียกว่า Xunchuan

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ภายใต้เขตอำนาจของ Yongchang ผู้คนในท้องถิ่นรวมถึงชาวจิงเผาะ ถูกเรียกว่า "Xunchuanman" พวกเขาอาศัยอยู่กับการล่าสัตว์เป็นหลัก บรรพบุรุษของชาวจิงเผาะถูกอธิบายไว้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า “Xunchuan” และ “Gaoligong” ผ่านช่วงเวลาของราชวงศ์หยวน หมิง และชิง จนถึงการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน พ.ศ. 2492 พวกเขาถูกเรียกว่า "อีชาง" "เจ้อซี" และ "เยอเหริน"พวกเขาได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่ากลุ่มจิงโป (Jingpo) ในราชวงศ์หยวน

พื้นที่ Xunchuan อยู่ภายใต้เขตอำนาจของการบริหารงานของมณฑลยูนนาน พื้นที่ของจิงโปอยู่ภายใต้การปกครองของสำนักงานเขตศาลชิง (Qing) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลกลาง ในช่วงราชวงศ์หมิง ชาวจิงเผาะ 2 คนคือ ชาชานและลิมา ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโดยการสนับสนุนของขุนนางตระกูลซ่างกวน (Shanguan) ให้เป็นผู้บริหารท้องถิ่นในราชวงศ์ชิง (Kanseng Shyam, 2018)

ยุคอาณานิคมอังกฤษ

คำว่า 'คะฉิ่น' ถูกเรียกเป็นครั้งแรกในยุคอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งปกครองประเทศโดยเป็นส่วนหนึ่งของบริติชอินเดียตั้งแต่ พ.ศ.2429 จนกระทั่งได้รับเอกราชใน พ.ศ.2491 คะฉิ่นจึงเป็นชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา โดยทาง Carine Jaquet (2015) ได้อธิบายว่าเป็นการปรับจุดประสงค์ทางการเมืองเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมและการกำหนดอัตลักษณ์ทางการเมือง อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจในท้องถิ่นเพื่อรักษาระดับความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง การสร้างอัตลักษณ์ “คะฉิ่น” ปรากฎขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของมิชชันนารีคริสเตียนในยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงศตวรรษที่ 19 โดยคำว่า “คะฉิ่น” จะรวมถึงกลุ่มย่อยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มจิงเผาะ และใช้ภาษาจิงเผาะเป็นภาษากลางในการสื่อสาร หลังจากเมียนมาได้รับเอกราช คะฉิ่นถูกนำมาใช้เป็นอัตลักษณ์ที่ครอบคลุมและเป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่ในประเทศจีนและอินเดียใช้คำว่า “จิงโป” (Jingpo) และ “สิงโป” (Singpo) แทน (Lahtaw, 2007) ภาษาจิงเผาะ (Jinghpaw) เป็นภาษาหลักที่ชาวคะฉิ่นใช้และมักใช้เพื่ออ้างถึงคะฉิ่นทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเมียนมาโดยไม่คำนึงถึงความเกี่ยวพันทางภาษา (Lintner 1990 อ้างถึงใน Jenny Hedström, 2015)

ในยุคนี้ศาสนาคริสต์ที่มาพร้อมกับการล่าอาณานิคมได้กลายเป็นศาสนาหลักในหมู่ชาว
คะฉิ่น คริสตศาสนานิกายแบ๊บติสม์ ถูกนำเข้ามาเป็นครั้งแรกโดยการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารี และกลายเป็นแม่แบบของการสร้างตัวตนหลักของคะฉิ่นสมัยใหม่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในดินแดนคะฉิ่นได้ก่อให้เกิดรูปแบบลัทธิชาตินิยมสมัยใหม่ของชาวคะฉิ่นที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก อุดมการณ์ทางสังคมนี้มักแสดงออกโดยชาตินิยมชาติพันธุ์ผ่านคำถามที่ว่า “การที่จะเป็นชาวคะะฉิ่นนั้น ต้องเป็นคริสเตียน” เป็นจุดเริ่มต้นของการยึดมั่นในอุดมการณ์ทางสังคมชาวคะฉิ่นสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงแนวคิดเรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตนเอง เมื่อรัฐบาลกลางได้ประกาศพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติและเป็นสัญลักษณ์ของรัฐที่สันนิษฐานว่าเป็นปฏิปักษ์กับชาวคะฉิ่นในฐานะชุมชนที่แตกต่างภายในประเทศ” (Sadan 2013: p346)

ประมาณการว่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรคะฉิ่นเป็นคริสเตียน และประมาณสองในสามเป็นนิกายแบ๊บติสต์ อนุสัญญาคะฉิ่นแบ๊บติสต์ (The Kachin Baptist Convention-KBC) เป็นคริสตจักรที่ทรงอิทธิพลที่สุดและอิทธิพลของคริสตจักรมีมากกว่ากิจกรรมทางศาสนา ในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่ที่รัฐเข้าถึงได้ยาก อนุสัญญาคะฉิ่นแบ๊บติสต์กลายเป็นผู้ให้บริการที่จำเป็นสำหรับประชากรในท้องถิ่น กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรและสังคมที่ซับซ้อนซึ่งอธิบายได้ดีที่สุดว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ "ผู้อุปถัมภ์-ลูกค้า" (Médard,1976) ปัจจุบัน อนุสัญญาคะฉิ่นแบ๊บติสต์ KBC มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้อุปถัมภ์ และพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ "ลูกค้า" ที่มีอิทธิพลในหมู่ผู้นำทางการเมืองและธุรกิจในท้องถิ่น แต่ยังรวมถึงสมาชิกสามัญของชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากอิทธิพลและการคุ้มครองของคริสตจักร (Jaquet, 2015)

ยุคหลังจากเมียนมาได้รับเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ

หลังจากเมียนมาได้รับเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ ภูมิภาคคะฉิ่นอยู่ภายใต้การปกครองของเมียนมาโดยรัฐบาลย่างกุ้ง แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งคะฉิ่นต่างเชื่อมั่นว่าจะสามารถปกครองตนเองได้ ภายใต้การก้าวเข้าสู่เป็นสหพันธรัฐ ซึ่งนายพลอองซาน บิดาของอองซานซูจี มีบทบาทสำคัญและเป็นที่เคารพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีการจัดให้เจรจากันภายใต้ข้อตกลง “ปางหลง” (The Panglong Agreement)มีการจัดตั้งรัฐคะฉิ่นขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2490 แต่ไม่ได้รับรองจากรัฐบาลย่างกุ้ง ภายหลังจากการเสียชีวิตของนายพลอองซานที่ถูกลอบสังหารในปลาย พ.ศ. 2490 รัฐบาลย่างกุ้งก็ปฏิเสธการเรียกร้องเอกราชของคะฉิ่น ทำให้เกิดทัศนะในหมู่ชาวคะฉิ่นว่า “คำสัญญาของอองซานหายไปพร้อมกับเขา” (Manam 2011, อ้างถึงใน Carine Jaquet, 2015)

ในยุคนี้มีความขัดแย้งถึงกับมีการจับอาวุธขึ้นต่อสู่โดยกลุ่มพยายามแยกตัวเป็นอิสระชาวคะฉิ่นกับรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งนอกจากเรื่องการเมืองแล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ศาสนามาเป็นตัวกลางของความขัดแย้งด้วย และในอีกแง่มุมหนึ่งนั้นภายหลังการได้รับเอกราชรัฐคะฉิ่นซึ่งเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแร่โลหะมีค่า อัญมณี และไม้มีค่า จึงเป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจและก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และสัมพันธ์กับปัญหาเขตแดนจากดินแดนเกิดใหม่ตามแนวเขตชายแดน เนื่องจากในยุคนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในเมียนมาและสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ด้วย รัฐคะฉิ่นจึงอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจากเมียนมาและจีน

พ.ศ. 2503 เมื่อประธานาธิบดีเน วิน ของเมียนมาและผู้นำจีน โจว เอินไหล ลงนามในข้อตกลงเขตแดน ดินแดนบางแห่งที่อยู่ติดกับชายแดนจีนได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน โดยไม่ได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากคะฉิ่น มาร์ติน สมิธ นักข่าวชาวอังกฤษ (1993:158) กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ “เป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังการลุกฮือของคะฉิ่นอย่างกะทันหัน” ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกลางและผู้นำคะฉิ่นทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2503 นักศึกษาคะฉิ่นเจ็ดคนที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้จัดตั้ง Kachin Independence Organization – KIO ขึ้นเป็นสถาบันการเมืองคะฉิ่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดมีเป้าหมายที่ประกาศไว้ว่า “เพื่อรักษาสิทธิของชาวคะฉิ่น” หลายเดือนต่อมามีการจัดตั้งสภาอิสรภาพคะฉิ่น โดยมีการประชุมกันครั้งแรกในเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าเป็น "วันปฏิวัติคะฉิ่น" เนื่องจากกลุ่มตัดสินใจเรียกร้องรัฐอิสระ มีการจัดตั้งฝ่ายติดอาวุธ Kachin Independence Army - KIA ในขั้นต้น KIA นำโดยทหารผ่านศึกจำนวนหนึ่งและอดีตนายทหารที่ต่อสู้เคียงข้างกองกำลังพันธมิตรและกองทัพสหรัฐฯ (Robinne 2007: 259‑261) KIA เป็นหนึ่งในขบวนการต่อต้านติดอาวุธที่ประสบความสำเร็จและดีที่สุดกลุ่มหนึ่งในเมียนมา จึงเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกองพันเคลื่อนที่ KIA และได้เข้าควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่และยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนติดกับประเทศจีน ในยุคนี้ KIO และ KIA ได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลายจากชาวคะฉิ่น

การเคลื่อนไหวของกลุ่ม KIO นั้นผู้นำศาสนาคะฉิ่นมีการพัฒนาอำนาจทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ตามที่พวกเขามีส่วนในการให้คำปรึกษากับผู้นำทางการเมืองคะฉิ่นในระหว่างการประชุมที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการและจัดขึ้นก่อนการตัดสินใจที่สำคัญ KBC สนับสนุนความพยายามของตัวแทนชาวคะฉิ่นและรัฐบาลกลางที่จะจัดเสวนาในช่วงทศวรรษ 1980 (Lintner, 1997: 157) และในปี 1993-4 (พ.ศ. 2536-7) โดยผู้นำศาสนาทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย เช่นเดียวกับชาติพันธุ์อื่น ๆ บางกลุ่ม ความครอบงำของศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวคะฉิ่นได้รับการยอมรับจากรัฐกลางในรูปแบบของมาตรการเฉพาะที่ใช้ระหว่างข้อตกลงหยุดยิงครั้งแรก ตัวอย่างเช่น ในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมาแห่งภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ พล.ต. โอน มี้น รายงานว่าได้รับการยกเว้นคริสเตียนจากการบังคับใช้แรงงานในวันอาทิตย์ เนื่องจากเคารพความเชื่อคริสเตียนคะฉิ่น (Callahan, 2007: 43) ความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่น มีการแบ่งขั้วระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ย่อยๆ ที่สนับสนุน KIO และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลกลาง รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจเหมืองหยกที่หลากหลาย กลุ่มชาติพันธุ์จิงป่อและกลุ่มย่อยอื่นๆ ของรัฐคะฉิ่นที่อยู่บริเวณชายแดนจีนทั้งสองด้าน มีการหนีอพยพข้ามแดนทั้งอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ชาวจีนในมณฑลยูนนานบางคนได้ช่วยเหลือผู้ที่หลบหนีไปยังประเทศจีนด้วย (Human Rights Watch, 2012) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นเริ่มเปลี่ยนจากความขัดแย้งทางการเมืองเป็นความขัดแย้งในผลประโยชน์จากเศรษฐกิจสงคราม (The war economy) ในรัฐคะฉิ่น

ยุคตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

สถานการณ์ปัญหาทางการเมืองภายในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นกับรัฐบาลกลางเมียนมาที่ยืดเยื้ออย่างยาวนานหลายสิบปี เป็นผลให้ชาวคะฉิ่นมีการอพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ขัดแย้ง และมีชาวคะฉิ่นกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย

กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นได้อพยพมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านตามแนวชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย กลุ่มแรกที่เข้ามาเป็นกลุ่มกองกำลังปฏิวัติคะฉิ่นอิสระ (KIA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เข้ามาในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ในช่วงพ.ศ.2503 และได้มาเป็นทหารรับจ้างในการสู้รบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือของไทย และต่อมาได้อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก และแม่ฮ่องสอน กลุ่มที่สอง เป็นชาวคะฉิ่นกลุ่มย่อยที่เรียกว่า “ระวาง” (Rawang) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยคะฉิ่นที่มีถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น เรียกว่า “เมืองปูเตา” (Putao) และจากนั้นเริ่มมีชาวคะฉิ่นที่กระจัดกระจายอยู่ในเมียนมาเข้ามาในพื้นที่ตำบลเมืองนะมากขึ้น เช่น บ้านหนองอุก-บ้านนอแล การรวมตัวกันเป็นชุมชนคะฉิ่นในพื้นที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่นหมู่ 14 เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2523 แต่ยังมีชาวคะฉิ่นบางส่วนที่กระจายอยู่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น หมู่บ้านป่าหญ้าไทร อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ตามแหล่งทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ความเป็นมาของหมู่บ้านคะฉิ่น

ใหม่สามัคคี (คะฉิ่น) เริ่มต้นขึ้นในพ.ศ.2523 การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามแนวชายแดนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัฐกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์ได้ทรงรับชาวคะฉิ่นไว้ในการดูแลของโครงการหลวงและพระราชทานที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ทำกินและอยู่อาศัย มีชาวคะฉิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานมาอยู่รวมกันเริ่มต้นจาก 7 ครอบครัว จากนั้นชาวคะฉิ่นที่อยู่ในที่ต่าง ๆ ก็ทยอยย้ายตามกันมา การจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขึ้นในหมู่บ้านนั้นสมเด็จพระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 9 กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิโครงการหลวงได้พระราชทานชื่อหมู่บ้านและมีการจัดตั้งหมู่บ้านเป็นทางการขึ้นชื่อว่า “บ้านใหม่สามัคคี”(ทู คอง,2554: หน้า 4) ใน พ.ศ.2526 ที่ทำการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวได้เข้ามาตั้งสำนักงาน ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่สามัคคี (คะฉิ่น) ต่อมาใน พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัฐกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวและบ้านใหม่สามัคคี (คะฉิ่น) และทรงพระราชทานที่ดินและที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น พร้อมทั้งทรงพระราชทานแนวทางการประกอบอาชีพโดยให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวเป็นผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตร และโครงการต่าง ๆ ที่ทางศูนย์โครงการหลวงแนะนำเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใหม่สามัคคี (คะฉิ่น) (อนุชาติ ลาพา พงรัมชิงรัม และคณะ, 2556) โดยมีประวัติการพัฒนาหมู่บ้านดังนี้

พ.ศ. 2529มีการสร้างโบสถ์คริสต์ครั้งแรกในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2530 อำเภอเชียงดาวเข้าทำการสำรวจข้อมูลชาวบ้านในหมู่บ้าน

พ.ศ.2531 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน และเริ่มมีการสอนภาษาคะฉิ่นให้กับเด็ก ๆ โดยนางรอยแสง (Sarama RoiSeng)

พ.ศ. 2533 เริ่มมีการถ่ายบัตรประชาชนพื้นที่สูง

พ.ศ. 2535 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวที่บ้านใหม่สามัคคีอีกครั้งเพื่อติดตามงานต่าง ๆ ของโครงการหลวงและช่วยเหลือชาวบ้านในด้านต่าง ๆ

พ.ศ. 2536 เริ่มมีการสำรวจจากประชาสงเคราะห์

พ.ศ. 2543 มีการติดตั้งระบบน้ำประปาหมู่บ้าน

พ.ศ. 2545 มีการสร้างศูนย์เด็กเล็ก และสร้างโบสถ์คริสต์หลังใหม่ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน

พ.ศ. 2552 เปิดโรงเรียนภาษาคะฉิ่น-อังกฤษ ชาวคะฉิ่นในหมู่บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น

สำหรับผู้นำคะฉิ่นในหมู่บ้านใหม่สามัคคี เริ่มต้นจากนายซอ เป็นผู้นำตั้งแต่ตอนอยู่ที่ปางมะยาว มาจนถึงย้ายเข้ามาที่หมู่บ้านและมาเป็นผู้นำในหมู่บ้านบ้านใหม่สามัคคี (คะฉิ่น) ระยะเวลา 6 เดือน ต่อมานายวะเจกำ (Wa Je Gam) เป็นผู้นำต่ออีก 6 เดือน ต่อมา นายมะริบนอ (MaripNaw) นายอือลำนอ (N-lam Naw) นายบ๊อกลี (Bawkli) ร่วมกันเป็นผู้นำ 3 ปี ต่อมา นายละดอย (La Doi) เป็นผู้นำประมาณ 6 เดือน

พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นปีที่ในหลวงเสด็จเยือนหมู่บ้าน นายอือลำนอ (N-Lam Naw) เป็นผู้นำ

พ.ศ. 2528 ช่วงที่เปิดป้ายชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ นายนอตอง หรือนายศรีคำ ศรีจอมทอง (NawTawng) เป็นผู้นำ

พ.ศ. 2529-2530 นายวะเจกำ (Wa Je Gam) และนายมะริบนอ (MaripNaw) ร่วมกันเป็นผู้นำ

พ.ศ. 2532-2533 นายนอตองหรือศรีคำ ศรีจอมทอง (Naw Tawng) เป็นผู้นำอีกครั้ง

พ.ศ. 2534 นายอือลำนอ (N-Lam Naw) เป็นผู้นำ

พ.ศ. 2535 นายมะกำ ละชี (Lashi Gam) เป็นผู้นำ

พ.ศ. 2536-2538 นายมะกำ ละชี (Lashi Gam) เป็นผู้นำสมัยที่ 2

พ.ศ. 2538-2542 นายบุญรอด แสงทอง (Ai Lawt)

พ.ศ. 2543-2546 นายพงรัม ซิงรัม (Ah Hpung) และนางภัทรินญา จอมดวง เป็นผู้นำ

พ.ศ. 2547-2548 นายพงรัม ซิงรัม (Ah Hpung)

พ.ศ. 2549-2550 นายนนออง ระทอ เป็นผู้นำ

พ.ศ. 2551-2553 ต่อมาคือนายพงรัม ซิงรัม (Ah Hpung) เป็นผู้นำ

ปัจจุบันมีนายบรั่งนู้ (Lashi Brang Nu) เป็นผู้นำและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่นด้วย

ประชากรชาวคะฉิ่นในหมู่บ้านใหม่สามัคคี

พ.ศ.2564 ข้อมูลประชากรจากสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าหมู่ที่ 14 บ้านใหม่สามัคคี มีประชากรรวม 1,302 คน เป็นชาย 632 คน และหญิง 670 คน มีจำนวนบ้านตามทะเบียนจำนวน 263 หลังคาเรือน โดยในหมู่บ้านมีประชากรเป็นชาวคะฉิ่น 720 คน เป็น ชาย 320 คน หญิง 400 ครัวเรือน 120 ครัวเรือน (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14, 2564) ที่เหลือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า จีนฮ่อ ลีซู และละหู่ ประชากรในหมู่บ้านใหม่สามัคคีที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยจำนวน 386 คน เป็นชาย 183 คน และหญิง 203 คน โดยในจำนวนนี้เป็นประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 75 คน อายุระหว่าง 20 – 60 ปี จำนวน 261 คน และอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวน 46 คน

ชาวคะฉิ่น พบอาศัยอยู่ในสามประเทศเป็นหลักคือ ในประเทศเมียนมา พบในรัฐคะฉิ่น ซึ่งมีพรมแดนติดกับอินเดียและจีนเป็นภูมิภาคที่อยู่เหนือสุดของประเทศเมียนมา ในประเทศอินเดีย พบในรัฐอัสสัมและอรุณาจัล ในประเทศจีน พบในมณฑลยูนนาน แต่การใช้ชื่อชาติพันธุ์ “คะฉิ่น” จะใช้สำหรับประชากรที่อยู่ทางตอนเหนือของเมียนมาเท่านั้น เช่น รัฐคะฉิ่น ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน และเขตสะกาย

การอาศัยในรัฐคะฉิ่นนั้น ประชากรคะฉิ่นอยู่ร่วมกับชาวฉาน พม่า และชาวยะไข่ จากการสำมะโนประชากรของเมียนมาในปี 2557 พบว่า ชาวคะฉิ่นเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ของประชากร โดยมีพม่าและฉานเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักในภูมิภาค (Carine Jaquet, 2015: p1 )

ชาวคะฉิ่นกลุ่มแรกที่เข้ามาในเมืองไทยเป็นทหารกองกำลังกู้ชาติหรือกองกำลังปฏิวัติคะฉิ่น (KIA) โดยการนำของนายพลเซาแสง (GOC Zau Seng) โดยนำทหารกู้ชาติคะฉิ่นเข้ามาอยู่จำนวนมากมาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากนายพลเซาแสงถูกลอบสังหาร ทหารกู้ชาติส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับไปยังรัฐคะฉิ่น ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เดินทางกลับได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศไทย

ชาวคะฉิ่นกลุ่มที่สองเข้ามาในประเทศไทยโดยร่วมรบในสงครามปราบคอมมิวนิสต์สมัยก๊กมินตั๋ง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงพวกเขาไม่ได้กลับสู่ภูมิลำเนาที่รัฐคะฉิ่นแต่ตัดสินใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแทน และแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ การตั้งถิ่นฐานของชาวคะฉิ่นในประเทศไทยจึงเริ่มขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง (อนุชาติ ลาพา, พงรัมชิงรัม และคณะ, 2556)

“...พวกเราไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเป็นคนคะฉิ่นเพราะไม่มีใครรู้จัก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีชาวเขาเผ่าคะฉิ่น เราจึงบอกว่าเป็นชาวเขาเผ่าอื่น ๆ และทำตัวให้กลมกลืนกับชุมชนชาวเขาที่เราอาศัยอยู่ด้วย เช่น ชาวคะฉิ่นที่แต่งงานกับชาวลาหู่ อาข่า หรือกะเหรี่ยงก็จะทำตัวกลมกลืนกับกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ..” คำกล่าวของผู้เฒ่าคะฉิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยกลุ่มแรก ๆ (อนุชาติ ลาพา, พงรัมชิงรัม และคณะ, 2556)

การปกปิดความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองและการพยายามผสมกลมกลืนกับกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น ทำให้ชาวคะฉิ่นพลัดถิ่นต้องเผชิญกับการสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นคนคะฉิ่นไปทีละน้อย โดยเฉพาะ
อัตลักษณ์ทางภาษา เด็กที่เป็นลูกครึ่งระหว่างพ่อหรือแม่คะฉิ่นกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศไทยไม่สามารถพูดภาษาคะฉิ่นได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่มีใครใช้ภาษานี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวคะฉิ่นกลุ่มหนึ่งเห็นว่าหากเป็นเช่นนี้ ชาวคะฉิ่นคงจะลืมความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาคงไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อสายคะฉิ่นซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง พวกเขาจึงคิดรวบรวมชาวคะฉิ่นในชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทย การากระจัดกระจายอยู่ มาอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน โดยใช้วิธีการชักชวนบอกกล่าวทำความเข้าใจโดยผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์และอาจารย์สอนศาสนาในขณะนั้น ชักชวนให้กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น ที่อยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ มาอยู่รวมกันเป็นชุมชนคะฉิ่น บันทึกเสียงลงเทปชักชวนให้ชาวคะฉิ่นมาอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันเพื่อร่วมกันรื้อฟื้นและรักษาวัฒนธรรมคะฉิ่นไว้ให้ลูกหลานและฝากส่งเทปดังกล่าวไปให้ชาวคะฉิ่นที่กระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ (อนุชาติ ลาพา, พงรัมชิงรัม และคณะ, 2556)

การรวมตัวกันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 มีชาวคะฉิ่น 7 ครอบครัวที่ตัดสินใจมาอยู่ด้วยกัน ที่หมู่บ้านปางมะเยา ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยอาศัยรวมกับชาวลาหู่ แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวน จึงต้องอพยพ โยกย้ายมาตั้งชุมชนใหม่ในเขตพื้นที่โครงการหลวงหนองเขียว ซึ่งขณะนั้นโครงการหลวงเพิ่งเข้ามาตั้งได้เพียง 2 ปี และจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามเขตแนวชายแดนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน พ.ศ.2523 พระองค์ท่านได้พระราชทานที่ดินให้กับชาวคะฉิ่นเพื่อใช้เป็นที่ทำกินและอยู่อาศัย หมู่บ้านใหม่สามัคคี (คะฉิ่น) จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมี เจ้าหน้าที่โครงการหลวงให้การดูแลทั้งในด้านการพัฒนาหมู่บ้าน การส่งเสริมการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่

เมื่อชาวคะฉิ่นที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในเมืองไทยทราบข่าวว่ามีหมู่บ้านคะฉิ่นตั้งขึ้น พวกเขาจึงตัดสินใจมาอยู่รวมกันมากขึ้น จำนวนครอบครัวชาวคะฉิ่นจากจุดเริ่มต้น 13 ครอบครัว จึงเพิ่มเป็น 103 ครอบครัว ปัจจุบันประชากรชาวคะฉิ่นในบ้านใหม่สามัคคี นอกจากชาวคะฉิ่นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตั้งรกรากในประเทศไทยแล้ว ยังมีชาวคะฉิ่นที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมา เดินทางอพยพเข้ามาพึ่งพาญาติพี่น้องคะฉิ่นในไทยมากขึ้นอีกด้วย (อนุชาติ ลาพา, พงรัมชิงรัม และคณะ, 2556)

การดำรงชีพ

อาชีพหลักของชาวคะฉิ่นในหมู่บ้านใหม่สามัคคีประกอบด้วย การทำไร่ ทำสวนตามแนวทางการส่งเสริมด้านการเกษตรของโครงการหลวง เช่น การปลูกต้นอโวคาโด เสาวรส ข้าวโพด ถั่วแดงหลวง ข้าว ข้าวโพดฝักอ่อน พืชผักตามส่วนตามไร่ และไม้ดอกที่โครงการหลวงให้การส่งเสริม ชาวบ้านบางส่วนก็เลี้ยงสัตว์ไว้จำหน่ายและกินในครัวเรือน เช่น หมู ไก่ ปลา กบ เป็นต้น และยังมีชาวบ้านคะฉิ่นบางครอบครัวได้ทอผ้าลวดลายคะฉิ่น เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าถุงผู้หญิง-ชาย จำหน่ายให้กับพี่น้องคะฉิ่นกันเองและนักท่องเที่ยวภายนอก

การประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวคะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคี ถือว่าเป็นการใช้องค์ความรู้ใหม่ที่คนเป็นอดีตทหารไม่มีความรู้ดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ จึงต้องปรับตัวและเรียนรู้การจัดการด้านการผลิตข้าวไร่ ข้าวโพดและพืชผักต่าง ๆ ทั้งจากการเรียนรู้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในหมู่บ้านและรอบ ๆ รวมถึงการเรียนรู้เทคนิควิธีการใหม่ ๆ จากการส่งเสริมของโครงการหลวง รวมถึงการเข้ามาถ่ายทอดความรู้และการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ด้วย

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ชาวคะฉิ่นในหมู่บ้านใหม่สามัคคีทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์โดยคริสตศาสนาได้มีอิทธิพลต่อชาวคะฉิ่นสมัยใหม่ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมอังกฤษ และการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของมิชชันนารีในรัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมาจึงทำให้การนับถือผีตามความเชื่อดั้งเดิมสูญหายไปทั้งหมด ยกเว้นประเพณีรำมะหน่าวที่มีการดัดแปลงโดยมิชชันนารีมาใช้ประกอบการปรับเปลี่ยนความเชื่อจากการนับถือผีมาเป็นการนับถือพระเจ้า (พระเยซูคริสต์)

ความเชื่อดั้งเดิมของชาวคะฉิ่นหรือจิงเผาะก่อนยุคอาณานิคมอังกฤษนั้น เป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับเทพเจ้าประจำที่ต่าง ๆ ชุมชนคะฉิ่นดั้งเดิมที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า พวกเขาเรียกเทพเหล่านั้นว่า “นัต” (Nats) ครอบครัวชาวคะฉิ่นในยุคนั้นจะมีนัตประจำครอบครัวกันทุกบ้าน ซึ่งพวกเขาจะมีห้องสำหรับนัตโดยเฉพาะและไม่สามารถให้บุคคลนอกครอบครัวเข้าไปยังห้องดังกล่าวได้

กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นในบ้านใหม่สามัคคี แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนจากการนับถือนัต การบูชานัตที่เป็นหลักปฏิบัติตามความเชื่อต่าง ๆ ได้ถูกแทนที่ด้วยความเชื่อและความศรัทธาในพลังอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าตามศาสนาคริสต์ ส่งผลให้หลักปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั้งเดิมได้เปลี่ยนไป เดิมนั้นนัตมีอิทธิพลต่อชีวิตคะฉิ่นอย่างมาก พวกเขาเชื่อว่า นัตกำหนดโชคชะตาของชีวิตมนุษย์ ซึ่งตลอดเวลาของชีวิตคะฉิ่นนัตจะเป็นผู้กำหนดโชคชะตาหรือกำหนดทางเดินให้คะฉิ่น การประพฤติปฏิบัติใดที่เป็นการละเมิดต่อนัตทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น หลงลืมหรือละเลยบูชาเซ่นไหว้ ไม่ดูแลหิ่งบูชาในบ้าน หรือไปเหยียบย่ำบริเวณที่นัตสิงสถิตอยู่ ชาวคะฉิ่นจะเชื่อว่าอำนาจแห่งนัตจะดลบันดาลให้เกิดภยันตลาย ความหายนะต่างๆ เช่น บ้านถูกไฟไหม้ ผลผลิตทางการเกษตรหรือสัตว์เลี้ยงล้มตาย ไม่ได้ผลผลิตตามที่คาด หรือความตายของคะฉิ่น ชาวคะฉิ่นจะมีการจัดพิธีบูชา บวงสรวง เซ่นไหว้นัตด้วยการด้วยการนำสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หมู วัว ควาย ไก่ สุนัขมาเป็นเครื่องสังเวยหรือบูชานัต แต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่านั้นได้ถูกแทนที่ด้วยรูปแบบของการสวดสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้า (พงศกรศักดิ์ศิลปอุดม, 2557) ตามหลักและวิธีปฏิบัติของศาสนาคริสต์นั้นการประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นที่โบสถ์ของชาวคะฉิ่นในหมู่บ้านเช่น ชาวคะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคีมีพิธีกินข้าวใหม่ จะนำพันธุ์พืชที่จะปลูกเข้าร่วมในพิธี และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วก็จะนำผลผลิตอย่างละเล็กละน้อยของแต่ละครอบครัว ไปทำพิธีขอพรและขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ช่วยปกป้องรักษาให้มีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์แทนการบูชานัตในครัวเรือน

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ชาวคะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคีมีประเพณีที่สำคัญและยังคงมีการสืบทอดและรักษาไว้นั่นคือ ประเพณีรำมะหน่าว ที่ถือเป็นประเพณีที่มีการรื้อฟื้นและสืบทอดมา เมื่อได้มาอยู่รวมกันอีกครั้งในหมู่บ้านใหม่สามัคคี และถือเป็นประเพณีสำคัญเพียงประเพณีเดียวที่ชาวคะฉิ่นได้ยึดถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง โดยประเพณีดังกล่าวมีความเป็นมาดังนี้

ประเพณีรำมะหน่าว

ความเป็นมา

ตำนานเกี่ยวกับรำมะหน่าวของชาวคะฉิ่นมีอยู่หลากหลาย และทุกตำนานจะเกี่ยวข้องกับ “นัต” นั่นคือ ผี หรือวิญญาณ โดย Kanseng Shyam (2022: p86) ได้อธิบายว่า มะหน่าวของคะฉิ่น เป็นการเต้นรำในสรวงสวรรค์ โดยนัตได้เชิญสิ่งมีชีวิตบนโลกไปเต้นรำในสวรรค์เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์พระอาทิตย์เก้าดวงปรากฎขึ้นและทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกได้รับความเดือดร้อนไม่สิ้นสุด สิ่งมีชีวิตบนโลกได้มีการส่งนกขึ้นไปแสดงเต้นรำและร้องเพลงบนสวรรค์เพื่อให้พระอาทิตย์และเทพบนสวรรค์พอใจและเมตตา ซึ่งการแสดงของนกเป็นที่พอใจอย่างมาก นัตจึงขอให้นกได้มาทำการสอนให้มนุษย์บนโลกได้เต้นรำดังกล่าวด้าวย จึงเป็นที่มาของ “รำมะหน่าว” (Manau) จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการรำมะหน่าวที่เรียกว่า “Manau Poi”ชาวจิงโปในจีนมีความเชื่อว่าการรำมะหน่าวไม่สามารถกระทำได้โดยทั่วไป แต่จะมีการทำเฉพาะในโอกาสสำคัญที่สุดเท่านั้น เช่น การเฉลิมฉลองชัยชนะในสงคราม การรวมกลุ่มจัดตั้งชุมชน การรำลึกถึงผู้เฒ่าที่ล่วงลับ และการบอกกล่าวนัตในฤดูเริ่มต้นการเพาะปลูก

สำหรับการค้นคว้าประวัติของรำมะหน่าวในหมู่บ้านใหม่สามัคคีนั้น อนุชาติ ลาพา พงรัมชิงรัม และคณะ (2556)ได้อธิบายถึงตำนานการรำมะหน่าวที่เชื่อกันว่าเดิมนั้นการเต้นการรำมะหน่าวมีเฉพาะในเมืองของเทพพระจันทร์และเทพพระอาทิตย์เท่านั้น และเมื่อมีการรำมะหน่าวก็จะเชิญสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งนกชนิดต่าง ๆ ไปร่วมรำมะหน่าวด้วยกันที่เมืองแห่งเทพ และมนุษย์อยู่คนหนึ่งที่มีความเกียจคร้านและเป็นคนไม่ดี ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันจับชายคนนั้นใส่ตะกร้าที่เรียกว่า ถิ่งก้า (Htingga) แล้วนำไปแขวนไว้ใต้ต้นโพธิ์ใกล้ ๆ หมู่บ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผลต้นโพธิ์สุกที่หมู่นกชนิดต่างๆ ที่ไปร่วมเต้นรำมะหน่าวที่เมืองแห่งเทพได้เดินทางกลับมาพักกินผลต้นโพธิ์สุกอยู่ในต้นนั้น และเหล่าบรรดานกทั้งหลายก็ได้เต้นรำมะหน่าวบนต้นโพธิ์นั้น จึงเป็นต้นแบบในการรำมะหน่าวของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและพวกเขาได้เขียนทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นรูปนกบนเสามะหน่าว และการวาดรูปนกและประดับขนนกชนิดต่าง ๆ ลงไปในชุดเต้นรำของตนเอง เรียกว่า “หน่าวซอง” ด้วย

การเรียกชื่อรำมะหน่าวนั้นไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อนุชาติ ลาพา พงรัมชิงรัม และคณะ, 2556 ได้สอบถามจากผู้รู้ที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านใหม่สามัคคี และรวบรวมได้ดังนี้

ในยุคต้นกำเนิดกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นอยู่ร่วมกันบริเวณรัฐคะฉิ่นแรก ๆ บริเวณที่เรียกว่า มาจ่อยซิ่งร่า (Majoi shingra) และบริเวณใจคู้มาจอย (Chyai hku majoi) การตั้งถิ่นฐานในยุคนั้นมีความมั่งคั่งและมีความสุขดี จึงไม่มีการรำมะหน่าว

ต่อมาราวคริสตกาลที่ 300 – 4000 ได้มีการย้ายถิ่นฐานมาจนถึงบริเวณที่เรียกว่า ครังคู้ มาจ่อย (Hkranghku Majoi) กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นเริ่มต้นการเต้นรำมะหน่าวเป็นครั้งแรก จากการแต่งงานของสองตระกูลที่ฝ่ายหญิงมีการนับถือเทพเจ้า นั่นคือ ตระกูลฝ่ายชาย คือ จาวา รุมจา (Jawa Rumja) ซึ่งเป็นลูกของมังปองยอง (Mang Pawng Yawng) ได้แต่งงานกับ จันนัง สะยี (Jan Nang Shayi) ซึ่งเป็นลูกสาวของละมู่ มะได (Lamu madai) เป็นผู้นับถือและสื่อสารกับเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง ทำให้ต้องจัดพิธีกรรมสักการะองค์เทพเหล่านั้น จึงเกิดประเพณีการรำมะหน่าวของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นขึ้นโดย จาวา รุมจา (Jawa Rumja) ถือเป็นการรำมะหน่าวครั้งแรกของคะฉิ่น และถือเป็นต้นกำเนิดของการรำมะหน่าว โดยท่าเต้นหรือวิธีการรำมะหน่าวนั้นเกิดจากการจินตนาการในพิธีกรรมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้นำการเต้นรำมะหน่าวเรียนรู้จากการเต้นรำท่าทางต่าง ๆ ของนกที่มารวมตัวกันเต้นรำ

การรำมะหน่าวครั้งที่ 2เป็นการรำของสุทวา มะคุ (Sut Wa Madu) กับกรางจันกุมจู (Krang Jan Kumju) ที่ได้โยกย้ายถิ่นฐานลงมาทางปลายน้ำของ ครางขะ (Hkranghka) จนมาถึงบริเวณแม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกันคือ แม่น้ำ คราง ขะ (Hkrang Hka) แม่น้ำ คิ่นลาง ขะ (Hkinlang hka) จัดให้มีการรำมะหน่าวโดยได้รำตามท่ารำของ Jawa Rumja ที่มีศักดิ์เป็นปู่ของพวกเขาและเป็นคนจัดรำมะหน่าวครั้งแรก เป็นการจัดงาน ของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นบริเวณที่เรียกว่า หน่าวร่ายัง ก้า (Naura yang ga)

การรำมะหน่าวครั้งที่ 3 ชาวคะฉิ่นได้ย้ายถิ่นฐานอีกครั้งมาอยู่บริเวณที่เรียกว่า นิ่งรัน ก้า (Ningran ga) มีนายมะริบวา กุมจา (Marip wa Kumja) เป็นผู้นำจัดเรียกว่า กุมรัน มะหน่าว (Kumran Manau)

การรำมะหน่าวครั้งที่ 4 เกิดขึ้นโดยนายมะโส่ อือคุม วา (Matsaw Nhkum Wa) ได้จัดให้มีการรำมะหน่าวขึ้นอีกครั้งไม่นานจากครั้งที่ 3

การรำมะหน่าวครั้งที่ 3 และ 4 มีการปักเสามะหน่าวด้วย โดยครั้งที่ 3 นั้นนำโดยนายมะริบวา กุมจา (Marip wa Kunja) มีการปักเสามะหน่าวขึ้นเรียกว่า “มะหน่าวแบบโดงบันบัน” (Dung ban ban) nta a chahpung shachyang nda tang, jun ai manau และครั้งที่ 4 ที่จัดโดย มะโส่ อึนคุมวา (Matsaw Nhkum Wa) ได้ปักเสามะหน่าวแบบโดงยันยัน (Dung van yan) มะหน่าวแบบโดงยังยัง (Dung yan yan) nta hku hkan nna loi mu ndum shamyi loi mi yawn

คะฉิ่นจึงได้มีการสืบทอดประเพณีการรำมะหน่าวกันมา โดยมีการให้ความหมายของการรำมะหน่าวที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดรำมะหน่าวแต่ละครั้ง เช่น ปะดั่งมะหน่าว (Padang Manau) เต้นรำเพื่อฉลองชัยชนะจากการสู้รบ เป็นต้น

ประเภทของการรำมะหน่าว

Kanseng Shyam (2022: p88) จำแนกการรำมะหน่าวในรัฐคะฉิ่นออกเป็น 14 ประเภท ขณะที่อนุชาติ ลาพา พงรัมชิงรัม และคณะ, 2556 จำแนกรำมะหน่าวออกเป็น 17 ประเภทแต่ละประเภทจะมีความเหมือนกันในเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องแต่งกายที่ผู้เต้นรำจะแต่งชุดกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้นำเต้นรำคือ หน่าวซอง ก็จะแต่งชุดของหน่าวซอง การจัดสถานที่ต้องมีการตั้งเสามะหน่าวและการประดับตกแต่ง กฎระเบียบในการรำมะหน่าว และบทบาทของหน่าวซอง ส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทคือท่ารำและบทเพลงที่ใช้ในการรำมะหน่าว ทั้งนี้ในส่วนของความหมายของการรำมะหน่าวและข้อสำคัญที่พึงปฏิบัติในการรำมะหน่าวของแต่ละประเภทมีรายละเอียดที่สามารถศึกษาได้จากงานของ อนุชาติลาพา, พงรัม ซิงรัม และคณะ (2556) เรื่องแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าว (MANAU) ของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นในชุมชนบ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น หมู่ 14 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่.

การรำมะหน่าวในหมู่บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น

ครั้งแรกในปี 2545 (Myit hkrum Manau) ได้มีการสร้างเสามะหน่าว และบ้านวัฒนธรรม (ซึ่งปัจจุบันได้ถูกไฟไหม้ไปแล้ว) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรำหน่าว เป็นการเริ่มเต้นการรำมะหน่าวครั้งแรกของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นในประเทศไทยในวันที่ 24 ธันวาคม 2545

วัตถุประสงค์ของการรำมะหน่าวในครั้งนั้น คือ

1. เพื่อเป็นการรำมะหน่าวถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 5 ธันวามหาราช รวมทั้งเพื่อแสดงถึงความความรักความกตัญญูต่อในหลวงที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นได้มีโอกาสอาศัยในประเทศไทย

2. เพื่อเป็นการฉลองการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นในประเทศไทย

3. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าวของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น

4. เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการหลวงหนองเขียว

ครั้งที่ 2 จัดให้มีการรำมะหน่าว (Sut Manau Nauhpaw) ของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นเป็นครั้งที่สองในหมู่บ้าน ในปี 2548 วันที่ 4-5 ธันวาคม 2548

วัตถุประสงค์ของการรำมะหน่าวในครั้งนั้น คือ

1. เพื่อเป็นการรำมะหน่าวถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 5 ธันวามหาราช

2. เพื่อเป็นการรำหน่าวเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้มีความเจริญรุ่งเรือง อยู่ดีมีสุข (Nau gup gup) คือ การเต้นมะหน่าวให้วนรอบของการจัดงานรำมะหน่าว

3. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าวของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น

4. เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการหลวงหนองเขียว

ครั้งที่ 3 รำมะหน่าว (Kahtawng de ai 25 ning hpring jubli Manau) เพื่อฉลองครบรอบ 25 ปี องหมู่บ้านบ้านใหม่สามัคคี ในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2550

วัตถุประสงค์ของการรำมะหน่าวในครั้งนั้น คือ

1. เพื่อเป็นการรำมะหน่าวถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2. เพื่อเป็นการรำมะหน่าวเฉลิมฉลองครบรอบการก่อตั้งหมู่บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น 25 ปี

3. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าวของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น

4. เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการหลวงหนองเขียว

ครั้งที่ 4 รำมะหน่าว (Zupra Manau Poi) เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 80 พรรษา 4-5 ธันวาคม 2553

วัตถุประสงค์ของการรำมะหน่าวในครั้งนั้น คือ

1. เพื่อเป็นการรำมะหน่าวถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 80 พรรษา

2. เพื่อเป็นการเรียนรู้และสืบทอดประเพณีการรำมะหน่าวอย่างต่อเนื่อง โดยจัดการรำทุก ๆ 2 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2553 เป็นต้นไป

3. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าวของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและเผยแพร่ไปสู่ที่ต่าง ๆ

4. เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการหลวงหนองเขียว

5. เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมความสัมพันธ์และพบปะกันของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นที่อยู่ในที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ครั้งที่ 5 รำมะหน่าว ซบรา มะหน่าว (Sut Manau Naugup) ในวันที่ 4-5 ธันวาคม 2555

วัตถุประสงค์ของการรำมะหน่าวในครั้งนั้น คือ

1. เพื่อเป็นการรำมะหน่าวถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2. เพื่อเป็นการเรียนรู้และสืบทอดประเพณีการการรำมะหน่าวอย่างต่อเนื่อง โดยจัดการรำทุก ๆ 2 ปี

3. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าวของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและเผยแพร่ไปสู่ที่ต่าง ๆ

4. เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการหลวงหนองเขียว

5. เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมความสัมพันธ์และพบปะกันของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นที่อยู่ในที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

นับจากนั้นมา หมู่บ้านคะฉิ่นจะจัดให้มีการรำมะหน่าวขึ้น 2 ปีครั้ง โดยจะอยู่ในช่วงวันที่ 4 – 5 ธันวาคมของปี

ประเพณี เทศ กาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน

การเกี้ยวราพาสี

การเกี้ยวราพาสีของชาวคะฉิ่นหนุ่มสาวนั้นมีความเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันอะไรมากมาย หากชอบพอกันก็จะมีการพูดคุยกันธรรมดาในบ้าน แต่ไม่ถึงขั้นจับไม้จับมือ หรือล่วงล้ำกัน สาวคะฉิ่นจะไม่ออกไปข้างนอกบ้านกับหนุ่มใดเด็ดขาด หากไม่มั่นใจว่าหนุ่มคนนั้นคือคนที่เขาต้องการที่จะแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างพึงพอใจกัน ฝ่ายชายก็ต้องนำผู้เฒ่าผู้แก่มาสู่ขอฝ่ายหญิง (เทศบาลตำบลปิงโค้ง, มปป.)

หรือในอดีตกาลหากคนหนุ่มสาวต้องการแสดงความรักต่อผู้หญิง เขาก็ส่งใบไม้ที่มีรากไม้ ไม้ขีดไฟ พริกไทย และกระเทียมให้เธอ ใบไม้นั้นเป็นสัญลักษณ์ของความคิดและความรู้สึกภายในส่วนลึกของเขา รากของต้นไม้หมายความว่าเขาคิดถึงเธออย่างไม่หยุดหย่อน พริกไทยแสดงถึงความรักที่เร่าร้อนของเขา และกระเทียมเป็นสัญลักษณ์ว่าชายคนนั้นกำลังรอการอนุมัติจากเธอ ถ้าผู้หญิงคนนั้นยอมรับเขา เธอก็ส่งของคืน แต่ถ้าเธอปฏิเสธ เธอก็ใส่ถ่านลงไปเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย (Kanseng Shyam, 2018)

การแต่งงาน

การแต่งงานของชาวคะฉิ่นเริ่มด้วยฝ่ายผู้ชายไปสู่ขอฝ่ายหญิง งานแต่งงานจะจัดขึ้นในบ้านของฝ่ายชาย แต่ใช้นามสกุลต่างนามสกุล เมื่อมีลูกแล้วไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็จะใช้นามสกุลของพ่อ ชนเผ่าคะฉิ่นไม่นิยมแต่งงานกันกับคนที่มีนามสกุลเดียวกัน งานแต่งจะเกิดขึ้นช่วงที่ว่างเว้นจากงานในไร่สวน ประมาณตั้งแต่เดือน มกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ฝ่ายชายต้องให้ค่าสินสอดแก่แม่ของฝ่ายหญิง หากฝ่ายชายไม่มีค่าสินสอดก็ต้องไปอยู่ช่วยทำงานในบ้านของฝ่ายหญิงเป็นจำนวน 7 ปี หลังจากฝ่ายชายช่วยทำงานในบ้านของฝ่ายหญิงครบแล้ว ทางพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็จะแบ่งที่ดินทำกินให้ หากแต่งงานกันแล้วทั้งสองไม่สามารถที่จะมีลูกชายได้ก็ต้องไปให้ “ดื่มซา” ทำนายว่าเหตุเกิดจากอะไร หาก “ดื่มซา” ทำนายและบอกสาเหตุที่มีลูกชายไม่ได้เพราะผู้หญิง ผู้หญิงก็ต้องไปหาภรรยาใหม่ให้ผู้ชายเพื่อให้ได้ลูกชายสืบตระกูลต่อไป (เทศบาลตำบลปิงโค้ง, มปป.)

ชานนท์ชิงชยานุรักษ์ และพัชราตันติประภา. (2550). การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาหัตกรรมท้องถิ่นและการตลาดในพื้นที่โครงการหลวง: กรณีศึกษาผ้าทอชาติพันธุ์คะฉิ่น.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน).

เทศบาลตำบลปิงโค้ง. (มปป.). ชนเผ่าคะฉิ่น. [ระบบออนไลน์] http://www.pingkhong.com/index.php?mo=10&art=42229950เข้าถึงเมื่อ 15 กันยายน 2565.

พงศกรศักดิ์ศิลปอุดม. (2557). การศึกษาวัฒนธรรมดนตรีของแรงงานพลัดถิ่นชาวคะฉิ่นในเขตพื้นที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคีตวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร.

สาครเรือนไกล. (2542). ระบบการเขียนภาษาคะฉิ่นโดยใช้อักษรไทย. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อนุชาติลาพา, พงรัม ซิงรัม และคณะ. (2556). แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าว (MANAU) ของชนเผ่าคะฉิ่นในชุมชนบ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น หมู่ 14 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. รายงานการวิจัยมูลนิธิโครงการหลวงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

Carine Jaquet.(2015).The Kachin conflict: Testing the limits of the political Transition in Myanmar.https://books.openedition.org/irasec/241

Hnin Thanda Aung, Myint Myint Sein, Mya Mu Aye, and Zaw Min Thu.(2016).A Review of Traditional Medicinal Plants from Kachin State, Northern Myanmar.In Research Gate, 2016, March 01 Natural Product Communications 11(3):353-364.https://www.researchgate.net/publication/ 301584004_A_Review_of_Traditional_Medicinal_Plants_from_Kachin_State_Northern_Myanmar

Kanseng Shyam.(2022).Jinghpaw people: Their religion, history and culture.ใน AGPE The Royal Gondwana Research Journal of History, Science, Economic, Political and Social Science. Vol-3, Issue-2, March 2022.

Mandy Sadan.(2012).Cords and Connection: Ritual and Spatial Integration in the Jinghpaw Cultural Zone.In Origins and Migration in the Extended Eastern Himalayas, Page 253-273.https://doi.org/10.1163/9789004228368_014

Nu Nu.(2019).Kachin Food and Culture.In Culturally Tasty, 2019, May 7th,https://food2myanmarculture.wordpress.com/2019/05/...

Sau Ka-mai.(2015, April 18).A brief history and the cuture of kachin.FDOCUMENTS. https://fdocuments.in/document/brief-culture-of-kachin.html?page=1

Tu Hkawng.(2011).The livelihoods of Kachin diaspora in northern Thailand.An independence study for degree of master of rural development management. Khon Kaen University.

Walter Brath.(2013).Kachin sound instruments within the context of the Kachin Baptist convention of northern Burma: History, Classification, and Uses.A Master’s thesis of The Theological Seminary at Livery University.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว