2025-04-11 16:18:52
ผู้เข้าชม : 11214

ขแมร์ลือ เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ ด้วยเงื่อนไขความไม่สงบจากสงครามระหว่างไทย - กัมพูชา เดิมคนกลุ่มดังกล่าวมีบทบาทในการค้าข้ามแดน โดยมีเกลือ ของป่า เนื้อสัตว์ และปลาร้าเหนียวเป็นสินค้าสำคัญ ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง และยางพาราเป็นหลัก  ชาวขแมร์ลือมีความเชื่อที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ และมีแนวทางการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการทำพิธีปัญโจลมะม๊วด ซึ่งเป็นการรักษาแบบโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ขแมร์ลือ
ชื่อเรียกตนเอง : ขแมร์ลือ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เขมรสูง, ไทย - เขมร, เขมรถิ่นไทย, คนไทยเชื้อสายเขมร, เขมรสูง, เขมรเหนือ, เขมรป่าดง
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : เขมร
ภาษาเขียน : -

กลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแถบอีสานใต้ซึ่งจะกระจัดกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ อย่าง จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และจังหวัดอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง คำว่า "ขแมร์ลือ" หรือ "คแมร์ลือ" มีความหมายว่า เขมรสูง แต่ในประเทศกัมพูชาจะเรียกแทนกันว่า "คแมร์ - กรอม" ซึ่งแปลว่าเขมรต่ำ โดยที่เขมรสูงและขเมรต่ำนั้นมีความแตกต่างกันและแบ่งแยกกันตามภูมิวัฒนธรรม ชาวขแมร์ลือดั้งเดิมมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับคนไทยพื้นเมือง เห็นได้จากการตั้งถิ่นฐาน อาหาร ลักษณะบ้านเรือน และการปกครอง ชาวขแมร์ลือส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์และผี ส่งผลให้ประเพณีและพิธีกรรมมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือ

นักประวัติศาสตร์หลายคนมีการคาดการณ์ว่า ถิ่นฐานเดิมของชาวขแมร์นั้นอยู่บริเวณพื้นที่เทือกเขาสูงโคราช และยังพบหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ ปราสาทหิน แต่เกิดการอพยพขึ้นเนื่องจากสงคราม ส่งผลให้ชาวขแมร์ต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณอีสานใต้เป็นส่วนใหญ่ และอาศัยอยู่มากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ประจำถิ่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน ชาวขแมร์ลืออยู่แบบกระจัดกระจายตามจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และจังหวัดอื่น ๆ ในแถบอีสานใต้ เช่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว เป็นต้น แต่จำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องหากเปรียบเทียบกับในอดีต เนื่องจากไม่มีผู้สืบทอดทางวัฒนธรรม

อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวขแมร์ที่โดดเด่น ได้แก่ การแต่งกายด้วยผ้าไหมที่มีความเป็นเอกลักษณ์และได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่เกิดปัญหาการเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐ ที่พยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ชาวขแมร์ก็ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมไว้ได้ และยังมีภาษาเขมรที่เป็นที่นิยมอย่างมากและใช้ต่อเนื่องกันอย่างเรื่อยมา

ผู้เรียบเรียงข้อมูล

กลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือ หรือ คนเขมรถิ่นไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้นิยามตนเองให้แตกต่างจากคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ด้วยการเรียกตนเองว่า "ขแมร์ - ลือ" ที่สื่อความหมายถึงชาวเขมรที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา และเรียกชาวเขมรในประเทศกัมพูชาว่า "ขแมร์ - กรอม" หมายถึงเขมรต่ำหรือกลุ่มคนเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา การแบ่งแยกกลุ่มคนด้วยการเติมชื่อเฉพาะต่อท้ายนี้ เป็นการยึดเอาลักษณะภูมิประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตนเป็นหลักในการเรียก

โดยทั่วไป กลุ่มคนเหล่านี้จะเรียกแทนตนเองว่า ขแมร์ เช่น ขแมร์สะเร็น (คนเขมรสุรินทร์) ขแมร์บุรีรัมย์ (คนเขมรบุรีรัมย์) หรือขแมร์ศรีสะเกษ (คนเขมรศรีสะเกษ) เป็นต้น ในอดีต คนกลุ่มนี้ถูกบรรดานักปกครองไทยจากส่วนกลางเรียกว่า “เขมรป่าดง” หมายถึงกลุ่มคนเขมรที่อาศัยอยู่ตามป่าพงไพร ต่อมานักวิชาการที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ในประเทศไทย ได้เรียกชาวขแมร์ว่า "เขมรถิ่นไทย" "คนไทยเชื้อสายเขมร" "เขมรสูง" หรือ "ไทยเขมร" อันมีข้อบ่งชี้ว่ามีการเรียกจากลักษณะถิ่นที่อยู่ของกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มชาติพันธุ์นี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษในประเทศไทย และหากเทียบกับลักษณะทางภูมิประเทศกับคนกลุ่มเดียวกันในประเทศกัมพูชา พบว่าประเทศไทยอยู่ด้านบนหรือเหนือกว่าที่ตั้งของประเทศกัมพูชานั่นเอง

ความหมายของคำว่า "เขมร" ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมเขมรโบราณ สันนิษฐานที่มาของคำว่า "เขมร" จากข้อมูลทางภาษาและโบราณคดีไว้แตกต่างกัน ซึ่งประกอบ ผลงาม (2538, น. 2) ได้รวบรวมที่มาของ "เขมร" ไว้ว่า

"...ชาวอินเดียเป็นผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่ากัมพูชา (Kambuja) เป็นชาติแรก จากหลักฐานซึ่งจดบันทึกโดยชาวอินเดียกล่าวไว้ว่า ชาวกัมพูชา (Kambuja) ซึ่งเป็นบรรพชนของ กัมพู(Kambu) อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาเดซา (Kambujadesa) ชาวพื้นเมืองเรียกดินแดนของตนเองว่าโคกทะลอก (Kok Thlok) หรือดินแดนแห่งต้นทะลอก (Land of the Thlok tree) และต่อมากลายเป็น Kvir หรือ Khmer นักเดินทางชาวอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 9 -10 เรียกพวกเขาว่า “โกมาร, กุมาร” และต่อมาเป็น Khmer ส่วนบันทึกของจีนเรียกดินแดนของพวกเหล่านี้ว่า เจนละ (Chenla) จากจารึกในศตวรรษที่ 10 (Coedes 1962 ; แปลโดยปัญญา บริสุทธิ์. 2525) กล่าวว่า ชาวเขมรเชื่อว่า กษัตริย์ของตนสืบเชื้อสายจากฤๅษีชื่อ กัมพู (Kampu) กับนางอัปสรสวรรค์ชื่อ เมรา (Mera) ซึ่งพระศิวะทรงส่งให้มาจุติ Coedes เชื่อว่าชื่อของนางเมรา (Mera) เป็นต้นกำเนิดของคำว่า "เขมร..." "

นอกจากนี้ จารึกของจีนยังกล่าวถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเขมร ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่บริเวณอีสานใต้มาเนิ่นนานแล้ว สำหรับกัมพูชาในยุคโบราณนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสองสมัยหลัก ๆ ได้แก่ 1) สมัยก่อนเมืองพระนคร (Pre Angkor Period) เป็นช่วงสมัยของอาณาจักรฟูนันและเจนละ ซึ่งเป็นต้นแบบของอาณาจักรเขมร และ 2) สมัยเมืองพระนคร (Angkor Period) เป็นช่วงสมัยความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมร ราวศตวรรษที่ 1 – 6

ตามตำนานความเชื่อของชาวเขมรนั้นเล่าไว้ว่า ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งนามว่า "โกณฑัญญะ" (Kaundinya) ได้ออกเดินทางจากอินเดียมายังดินแดนเขมรโบราณ และได้แต่งงานกับธิดาพญานาค (เชื่อกันว่าธิดาพญานาคเป็นบรรพบุรุษของชาวเขมร ซึ่งพราหมณ์โกณฑัญญะผู้นี้ เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรแห่งแรกของเขมรขึ้นราวศตวรรษที่ 1 นามว่า "อาณาจักรกัมโพช" หรือ "อาณาจักรฟูนัน" นั่นเอง โดยคำว่าฟูนัน มีที่มาจากภาษาจีน) อาณาจักรฟูนันครองอำนาจอยู่ราว 600 ปี ก็ถึงกาลสิ้นสุดลงเมื่อถูกอาณาจักรเจนละบุกพิชิต และเข้ายึดครองในท้ายที่สุดราวศตวรรษที่ 6 – 8

เมื่ออาณาจักรฟูนันถึงกาลเสื่อมถอย อาณาจักรที่ได้ครองอำนาจในดินแดนเขมรโบราณแทน คือ อาณาจักรเจนละ ซึ่งเดิมเคยเป็นเมืองภายใต้การปกครองของฟูนันมาก่อน อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายของอาณาจักรเจนละ ได้เกิดความขัดแย้งภายในและมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน จนอาณาจักรแตกออกเป็นสองส่วน คือ เจนละบก (ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง) และเจนละน้ำ (ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณต่ำ) ทั้งสองส่วนเปิดศึกต่อสู้กันอย่างยาวนาน จนท้ายที่สุดเจนละบกเป็นฝ่ายชนะ แต่ผลของสงครามระหว่างเจนละทั้งสองส่วน ทำให้อาณาจักรเกิดความอ่อนแอและเสื่อมถอยลง ก่อนที่จะล่มสลายลงราวศตวรรษที่ 8 ด้วยการทำสงครามกับอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นมหาอำนาจจากเกาะสุมาตรา

การล่มสลายของอาณาจักรเจนละราวศตวรรษที่ 8 – 15 ทำให้แผ่นดินเขมรเกิดความระส่ำระส่าย ก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์แห่งเจนละและผู้นำของเขมร จะประกาศปลดแอกเขมรจากการยึดครองของศรีวิชัย พระองค์ได้รวบรวมชาวเขมรให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง และร่วมกันสร้างอาณาจักรชาวเขมรขึ้นมาใหม่ โดยทรงประกาศสถาปนาอาณาจักรเขมรขึ้นบริเวณเขาพนมกุเลน (Phnom Kulen) นับเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเขมร

เขมรเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ทรงสร้างนครวัด (Angkor Wat) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมร รวมไปถึงในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เขมรได้เปลี่ยนการนับถือศาสนาจากเดิมที่เป็นศาสนาฮินดู กลายมาเป็นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท นอกจากนี้สิ่งก่อสร้างอันอัศจรรย์อย่าง ปราสาทบายน (Bayon) รวมไปถึงนครธม (Angkor Thom) ก็ล้วนถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งสิ้น ครั้นสิ้นสุดสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จักรวรรดิเขมรก็เข้าสู่ยุคเสื่อมถอย ก่อนที่ท้ายที่สุด ภัยพิบัติทางด้านธรรมชาติ และการถูกรุกรานโดยอาณาจักรอยุธยาของไทย ทำให้ความรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรสิ้นสุดลง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542)

สำหรับการถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวเขมร นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า บริเวณที่ราบสูงโคราช คือ เขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณมาก่อน ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจก่อนอาณาจักรสุโขทัยของไทยประมาณ พ.ศ. 1700 หลักฐานที่สนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มนี้คือ ปราสาทขอมโบราณ ศิลาจารึก และประติมากรรมที่พบเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันได้ว่า ดินแดนแถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขมรโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 (ประกอบ ผลงาม. 2538 : 14) สาเหตุที่ที่ราบสูงโคราชซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขมรโบราณถูกละทิ้งให้รกร้าง สันนิษฐานว่าเป็นเพราะการเสื่อมอำนาจของเขมรโบราณในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ และสมัยต่อ ๆ มา ไทยและเขมรได้ทำศึกสงครามกันหลายครั้ง และส่วนมากเขมรจะเป็นผู้พ่ายแพ้มาตลอด จนต้องถอยร่นไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ไพฑูรย์ มีกุศล (2533 : 1-5) ได้สันนิษฐานไว้ชาวเขมรถิ่นไทย หรือชาวไทยที่พูดภาษาเขมรถิ่นไทย น่าจะอพยพมาภายหลังที่เจ้าเมืองสุรินทร์ได้ยกทัพสมทบทัพกรุงธนบุรีไปตีเมืองเขมร ซึ่งในครั้งนั้น ประมาณปี พ.ศ. 2324 - 2325 มีชาวเขมร ได้อพยพขึ้นมายังจังหวัดสุรินทร์เป็นจำนวนมาก ดังที่ลักขณา ชาปู่ (2546) กล่าวว่า

"...ชาวไทยเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาจากราชอาณาจักรกัมพูชาสมัยอดีต โดยกองทัพของไทยที่เข้าไปทำสงครามในแผ่นดินเขมรและเมื่อได้รับชัยชนะก็จะกวาดต้อนครอบครัวชาวเขมรเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยโดยได้นำชาวเขมรจำนวนมากมาไว้ที่สุรินทร์ และบุรีรัมย์...”

ชาวเขมรกลุ่มนี้ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวเขมรถิ่นไทยแต่อาจสันนิษฐานได้อีกว่า ชาวเขมรถิ่นไทย บางกลุ่มที่อยู่อาศัยในแถบที่ราบสูงโคราช เป็นกลุ่มชาวเขมรที่หลงเหลืออยู่จากสมัยที่เขมรโบราณเรืองอำนาจในแถบนี้ ไม่ได้ถอยร่นไปตามกลุ่มใหญ่ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจถูกอาณาจักรสุโขทัยยึดครอง และบรรพบุรุษของชาวเขมรถิ่นไทยบางกลุ่มเป็นเขมรป่าดงที่อาศัยอยู่ในแถบนี้มานานแล้วซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ยังต้องการการศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานสนับสนุนอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชาวเขมรในประเทศไทย จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าที่มาของชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก คือ ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในดินแดนไทยตามแนวพรมแดนไทย – กัมพูชา กลุ่มชนเหล่านี้ได้อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณเมื่อครั้งยังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรือดินแดนอีสานใต้ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีษะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด และจังหวัดจันทบุรี นักวิชาการมักเรียกชาวเขมรกลุ่มนี้ว่า “เขมรสูง” หรือ “เขมรถิ่นไทย” หรือ “ชาวไทยเขมร” (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2531) ในขณะชาวเขมรกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “ขแมร์ลือ” ซึ่งมีความหมายว่าเขมรสูงเช่นเดียวกัน กลุ่มชนเหล่านี้ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มไว้อย่างเข้มแข็ง และมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม - วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวไว้ถึงประวัติศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ไว้ว่า ชาวเขมรได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ในพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา กล่าวว่า "เมืองเขมรขยายอิทธิพลได้ยึดเอาเมืองละโว้ เมืองพิมาย เมืองสุรินทร์และเมืองขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) เป็นลูกหลวงปัจจุบันชาวเขมรอาศัยอยู่ในท้องที่อำเภอขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ อำเภอไพรบึง อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอศรีรัตนะ ลักษณะการแต่งกายชาย เสื้อคอกลมผ่าหน้า นุ่งโสร่งสีสันต่าง ๆ ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ ผ้าขาวม้าที่ใช้ลายขาวดำเล็กกว่าที่คนลาวใช้ หญิง นุ่งผ้าถุงลายตั้ง มีเชิงตามขวางสองชั้น ชั้นส่วนบนกว้าง ส่วนล่างแคบ ระหว่างรอยต่อคาดด้ายสีแดง เสื้อดำย้อมด้วยมะเกลือ แขนกระบอกรัดรูป ตามรอยตะเข็บถักด้วยสีต่าง ๆ ชายเสื้อผ่าทั้งสองด้าน ยาวประมาณ 6 นิ้ว กระดุมทำด้วยเงิน ผ้าคล้องไหล่เป็นสีต่าง ๆ ถ้าคล้องคอนิยมหย่อนชายผ้าขาวม้าข้างหน้า โดยชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ. 2410

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวเขมรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีมาแต่โบราณกาลแล้ว และประชากรชาวเขมรในสมัยนั้นได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ ด้านที่ติดกับเขาพนมดงรักแถบบ้านทุ่งใหญ่ บ้านประทาย บ้านบึงมะลู บ้านโดนเอาว์ บ้านรุง บ้านทุ่งยาว เป็นต้น และบริเวณบ้านบักดอง บ้านพราน บ้านทุ่งเลน บ้านสำโรงเกียรติ บ้านไพร บ้านกระมัล บ้านกราม บ้านกันทรอม อำเภอขุนหาญ บ้านไพรบึง บ้านพราน บ้านสำโรงพลัน บ้านไทร บ้านไพรบึง อำเภอไพรบึง บ้านสำโรงระวี บ้านศรีแก้ว บ้านพิงพวย อำเภอศรีรัตนะ ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนบริเวณโดยรอบของปราสาทเขาพระวิหาร (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2542) นอกจากนี้ ชานนท์ ไชยทองดี (2562) ยังได้กล่าวถึงชาวแมร์ลือที่อาศัยอยู่ในชุมชนโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า

"...เขมรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติของการอพยพมาจากแถวเทือกเขาพนมดงรักด้วยสาเหตุของสงคราม การอพยพมาในครั้งประวัติศาสตร์ได้ก่อให้เกิดการสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนที่อยู่อาศัยขึ้นในเขตของอำเภอขุขันธ์ซึ่งต่อมาได้เกิดการแบ่งเขตเป็นอำเภอภูสิงห์ ปัจจุบันมีจำนวน 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านโคกตาล หมู่ 2 บ้านลุมพุก หมู่ 3 บ้านคลองแก้ว หมู่ 4 บ้านศาลา หมู่ 5 บ้านคลองคำโคกแต้ หมู่ 6 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 7 บ้านเรือทอง หมู่ 8 บ้านโคกทุ่งล้อม หมู่ 9 บ้านนาศิลา หมู่ 10 บ้านโคกตาลกลาง ในแต่ละหมู่บ้านล้วนเป็นชาวขแมร์ลือทั้งหมด..."

อีกบริเวณหนึ่งที่มีชาวเขมรอาศัยอยู่จำนวนมากคือ บริเวณแถบที่ราบลุ่มห้วยสำราญ แถบอำเภอขุขันธ์ และอำเภอปรางค์กู่ เช่น ในเขตตำบลกันทรารมย์ หัวเสือ ใจดี โคกเพชร สะเดาใหญ่ อำเภอขุขันธ์ ตำบลละลม อำเภอภูสิงห์ ตำบลตูม สำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ บ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จนกระทั่งศรีสะเกษในอดีตได้ชื่อว่า เมืองเขมรป่าดง (ชานนท์ ไชยทองดี, 2562)

สำหรับการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของชาวไทยเขมร ในจังหวัดจันทบุรี พบว่า มีกลุ่มชาวไทยเขมรในพื้นที่สามตำบล คือตำบลหนองตาคง ตำบลเทพนิมิต และตำบลคลองใหญ่ ในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน ซึ่งเป็นกลุ่มชนกลุ่มเดียวกับชนชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา และส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศเวียดนาม เป็นต้น ชาวไทยเขมรพื้นที่ทั้งสามตำบล อาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ก่อนที่ประเทศไทยจะทำข้อตกลงปักปันเขตแดนอย่างชัดเจนกับราชอาณาจักรกัมพูชาใน พ.ศ. 2449 ซึ่งขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจการปกครองกัมพูชา และฝรั่งเศสก็เป็นเจ้าภาพในการจัดแจงปักปันเขตแดน ส่งผลให้กลุ่มชนชาวเขมรในพื้นที่สามตำบลถูกขีดแบ่งให้อยู่ฝั่งดินแดนประเทศไทย และได้แบ่งแยกพี่น้องให้กลายเป็นกลุ่มชนสองประเทศ มาใน พ.ศ. 2452 กลุ่มชนที่อยู่ฝั่งดินแดนไทยได้กลายเป็นประชากรของไทยโดยสมบูรณ์ตามประกาศพระราชบัญญัติสำหรับทำบัญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ. 128 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์, 2557)

กลุ่มที่สอง คือ ชาวเขมรซึ่งถูกกวาดต้อนจากมาจากอาณาจักรขอมในสมัยอดีต จากกองทัพของไทยที่เข้าไปทำสงครามในแผ่นดินเขมร เมื่อได้รับชัยชนะจึงกวาดต้อนชาวเขมรเข้ามาอยู่ในดินแดนของตนเพื่อเพิ่มจำนวนไพร่พลและลดผู้คนในอาณาจักรขอม เช่น กลุ่มชาวเขมรในจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งถูก กวาดต้อนในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเขมรเมื่อ พ.ศ. 2136 เมื่อได้รับชัยชนะจึงกวาดต้อนชาวเขมรกลับมาด้วย เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณที่เป็นจังหวัดฉะเชิงเทราในปัจจุบัน เชลยศึกชาวเขมรเห็นว่าเป็นชัยภูมิเหมาะสมจึงตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่าสี่ร้อยปี ดังที่ ลักขณา ชาปู่ (2546) ได้กล่าวไว้ว่า

"...จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของผู้สูงอายุในหมู่บ้านว่า คนกลุ่มแรกที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านหัวสำโรงในปัจจุบัน คือ ชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยราว พ.ศ. 2133 – 2148 ผู้นำกลุ่มชาวเขมรในสมัยนั้นคือ เนี๊ยะแก้วและเนี๊ยะซาน เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีต้นสำโรงอยู่ มีลักษณธเหมือนกับหมู่บ้านเดิมของตนที่เมืองพระตะบอง อีกทั้งมีพื้นที่เหมาะแก่การตั้งหลักแหล่งปลูกบ้านเรือนจึงเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา...”

การมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ชาวเขมรได้นำเอาประเพณี วัฒนธรรมพร้อมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติในถิ่นเดิมของตนมาปฏิบัติเพื่อแสดงความเป็นกลุ่มชนของตนด้วย ลักษณะที่เด่นชัดคือ เพลงพื้นบ้านเขมรและความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษซึ่งมีพิธีกรรมสำคัญ 3 พิธีคือ พิธีแซนโฎนตา เป็นพิธีเกี่ยวกับการอุทิศบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ พิธีเบบาจาดุม เป็นพิธีเซ่นไหวผีปู้ตาเพื่อขอขมาลาโทษและพิธีเลี้ยงผีเขมรเพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษที่ดูแลปกปักรักษาลูกหลาน

กลุ่มที่สาม คือ ชาวเขมรที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์เพื่อหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแผ่นดินเขมร เช่น พระยาจีนจันตุที่อพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งโพธิสมภารสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ชาวเขมรกลุ่มนี้บางส่วนได้อพยพกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ในขณะที่บางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนไทยสืบถึงปัจจุบัน ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ จ.ศ. 922 ดังนี้

"…๏ ลุะศักราช 922 ปีวอก โทศก พญาลแวกแต่งพญาอุเทศราช แลพญาจีนจันตุยกทับเรือมาพลประมาณสามหมื่นจะเอาเมืองเพ็ชบุรี พระศรีสุรินทรฤๅไชยเจ้าเมืองเพ็ชบุรี แลกรมการทั้งหลายแต่งการรบพุ่งป้องกรรเปนสามารถ แลข้าศึกยกเข้าปล้นเมืองถึงสามวัน รี้พลข้าศึกต้องสาตราวุทธเจ็บป่วยตายเปนอันมากจะปล้นเมืองเพ็ชบุรีมิได้ พญาอุเทศราชแลพญาจีนจันตุก็เลีกทับคืนไปเมืองลแวก ขณะนั้นพญาจีนจันตุให้ทานบนแก่พญาลแวกไว้ว่า จะเอาเมืองเพ็ชบุรีให้ได้ ครั้นมิได้เมืองเพ็ชบุรี พญาจีนจันตุ ก็กลัวว่าพญาลแวกจลงโทษ พญาจีนจันตุก็ภาครัวอพยบทั้งปวงหนีเข้ามายังพระนครศรีอยุทธยา สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พญาจีนจันตุ ตรัสให้พระราชทานเปนอันมาก ครั้นอยู่มาพญาจีนจันตุก็มิได้สวามิภักดิ์ ลอบตกแต่งสำเภาที่จะหนีจากพระนคร ครั้นถึง ณะ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีรกา ตรีณิศก เพลาค่ำประมาณ 2 นาลิกา พญาจีนจันตุ ก็ภาครัวลงสำเภาหนีล่องลงไป...” (อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ, 2552)

จากพงศาวดารดังกล่าวได้กล่าวถึงพระยาละแวกหรือกษัตริย์กัมพูชาผู้ครองเมืองละแวก ให้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งในสมัยเมืองเพชรบุรีมีความสำคัญมากในฐานะเมืองท่าและเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างสองคาบสมุทร คือ เป็นเมืองในเส้นทางระหว่างเมืองมะริด - ตะนาวศรี กับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันก็ยังได้ได้ปรากฏร่องรอยอิทธิพลของอาณาจักรเขมรโบราณ เช่น ปราสาทกำแพงแลง ในวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศิลปะเขมรแบบบายนที่ถูกสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่แสดงให้เห็นถึงการขยายอำนาจของอาณาจักรเขมรโบราณเข้ามาในดินแดนนี้ได้เป็นอย่างดี

ประเทศไทย มีชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์โดยเฉพาะอำเภอชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับกัมพูชา และอำเภอเมือง ซึ่งเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นชนพื้นเมืองเดิม เคยถูกราชการไทยเรียกว่า "เขมรป่าดง" ดังปรากฏในพงศาวดารที่ใช้คำนี้เรียกชุมชนของชาวพื้นเมืองที่มีการปกครองโดยหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่เป็นอิสระ ซึ่งแสดงว่าชนพื้นเมืองในบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ชาวเขมรกัมพูชา แต่เป็นชาวเขมรที่ล้าหลัง จึงถูกเรียกว่า "เขมรป่าดง" ดังการบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างถึงใน บัญญัติ สาลี (2552) ได้กล่าวในนิทานโบราณคดี ตอนหนึ่งว่า

"...เมื่อฉันไปมณฑลอีสานครั้งหลัง ไปพบ เขมรป่าดง อีกจำพวกหนึ่ง สอบสวนได้ความว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และอำเภอประโคนชัย (เดิมชื่อว่าเมืองตะลุง) ในจังหวัดนครราชสีมาบรรดาอยู่ทางฝ่ายใต้ต่อแดนกัมพูชา ชาวเมืองเป็นเขมรป่าดงทั้งนั้น พูดภาษาเขมรและมีการละเล่นโบราณหลายอย่าง เช่น เอาใบไม้มาเป่าเป็นเพลงเข้ากับการขับร้อง ที่เรียกว่า "เขมรเป่าใบไม้" เป็นต้น ฉันเคยได้ยินแต่เรียกชื่อมาแต่ก่อน เพิ่งไปเห็นเล่นกันจริงครั้งนั้น..." (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ 17 เรื่องแม่น้ำโขง อ้างถึงใน บัญญัติ สาลี, 2552)

ดังนั้น คำว่า "เขมรป่าดง" จึงเป็นชื่อที่กลุ่มเจ้านายชั้นสูงและฝ่ายปกครองในสมัยก่อนใช้เรียกที่ผู้คนที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาพนมดงรักตอนเหนือในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์กล่าวว่า "เขมร" เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในบริเวณภาคอีสานตอนล่างของประเทศไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเดียวกันกับชาวกูยที่อาศัยอยู่ในเขตป่าดงทั่วไปในสมัยนั้นอันเป็นที่มาของคำว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง” ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ได้นำเอาวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เข้าไปมีอิทธิพลต่อกลุ่มชนอื่น ๆ ก่อให้เกิดการผสมกลมกลืนทางเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นขึ้น (ประทีป แขรัมย์ และเป็ก เซียง, 2559)

นอกจากนี้ในแวดวงวิชาการไทยยังนิยมเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ด้วยคำว่า "ไทยเขมร" "เขมรถิ่นไทย" "ไทยเชื้อสายเขมร" หรือ "เขมร" ดังตัวอย่างบทความของ งานวิจัยของบัญญัติ สาลี (2552) เรื่อง "การปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และนัยเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนของรัฐไทย กรณีศึกษา: จุดผ่านแดนช่องจอม จังหวัดสุรินทร์" งานวิจัยของคะนึงนิตย์ ไสยโสภณ และประทีป แขรัมย์ (2556) เรื่อง "วรรณกรรมเพลงพื้นบ้านกันตรึม: กรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา" ผลงานของณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์ (2557) เรื่อง "การดำรงอยู่ของวิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อของกลุ่มชนชาวไทยเขมร (เขมรถิ่นไทย) ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี" วิทยานิพนธ์ของศิริพร เชิดดอก (2558) เรื่อง "มานึขแมร์: การธำรงชาติพันธุ์ชาวไทยเชื้อสายเขมร ภายใต้บริบทความหลากลายทางชาติพันธุ์" บทความวิจัยของ ประทีป แขรัมย์ และเป็ก เซียง (2559) เรื่อง "มรดกร่วมทางภาษาในพิธีกรรมการรักษาที่ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวเขมรถิ่นไทยและชาวเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา" รวมถึงสื่อประเภทรายการสารคดี สื่อการสอน ก็มักเรียกขานกลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือว่า "เขมรถิ่นไทย" ด้วยเช่นกัน ดังเช่นตัวอย่าง รายการพันแสงรุ้ง ตอน ภาษาเขมรถิ่นไทย (ไทยพีบีเอส, 2556) รายการพันแสงรุ้ง ตอน เขมรถิ่นไทย บ้านโพธิ์กอง (ไทยพีบีเอส, 2556) เป็นต้น

ส่วนวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวไทยเขมรจะเป็นวิถีแบบชาวชนบทที่เรียบง่าย อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหมู่บ้าน เป็นสังคมมิตรไมตรีที่ทุกคนมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาในการสื่อสาร ศาลนะตาที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจที่ชาวชุมชนศรัทธาเคารพนับถือ ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทยเขมรจะมีอยู่หลากหลายรูปแบบทั้งที่เกี่ยวกับวงรอบชีวิต เช่น กรูกำเนิดที่เชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาจะมีเทพเจ้าประจำตัวมาทำหน้าที่ปกป้อง และพิธีโอ๊จปัวะที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เป็นการรักษาพยาบาลที่ใช้ความร้อนของไฟมาเป็นเครื่องมือในการรักษา พิธีตามความเชื่อที่เกี่ยวกับชุมชน เช่น พิธีกรรมแซนควาย ที่ประกอบขึ้นเพื่อเซ่นสรวงเจ้าที่ไร่นาที่คอยปกป้องไร่นา พิธีกรรมตามความเชื่อที่เกี่ยวกับความเป็นมงคลต่อชีวิต เช่น พิธีแกครัวะที่ประกอบขึ้นเพื่อเป็นสะเดาะเคราะห์ เป็นต้น สถานภาพการดำรงอยู่ประเพณี พิธีกรรมตามความเชื่อที่มีสามลักษณะคือ คงอยู่แต่ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะกับวิถีชุมชน เลือนหายเหลือเพียงเรื่องเล่า และประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน พิธีกรรมและความเชื่อมีบทบาทต่อความเป็นชุมชนอย่างมากในการขัดเกลา กล่อมเกลากลุ่มชนให้ประพฤติปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่เป็นมาตรฐานของสังคม


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

ชาวเขมรถิ่นไทยหรือชาวขแมร์ลือตั้งถิ่นฐานอยู่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บริเวณจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษเป็นส่วนใหญ่ และจะมีจังหวัดอื่น ๆ อย่าง จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดสระแก้ว

บางหลักฐานของนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าบริเวณที่ราบสูงโคราช เคยเป็นที่อยู่ของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณ โดยพบร่องรอยของปราสาทขอมโบราณ ศิลาจารึก และประติมากรรม บริเวณปราสาทภูมิโปน ปราสาทไปรมัดน้อย ปราสาทพนาวัน ปราสาทหินพิมาย 

คาดว่าชาวขแมร์อพยพมาสมัยหลังช่วง พ.ศ. 2324 - 2325 เนื่องจากเจ้าเมืองสุรินทร์ (ศรีไผทสามานต์) ยกพลไปตีเมืองเขมร ทำให้ชาวเขมรจำนวนมากอพยพมาที่จังหวัดสุรินทร์และบริเวณใกล้เคียงอื่น ๆ อย่างศรีสะเกษ (ประกอบ ผลงาม, 2538 อ้างถึงใน นิโรฐ ศรีมันตะ และนัฏฐิกา นวพันธุ์, 2562)

สำหรับการตั้งถิ่นฐานของขแมร์ลือนั้นจะมีความสัมพันธ์กับภาษา ภาษาที่ใช้พูดเป็นตัวกำหนดถิ่นฐานว่าตั้งอยู่ที่ใด อาทิ กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ขแมร์ลือที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก อาจคาดเดาได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ทางตอนใต้ของทวีปเอเชีย (H.L. Shorto, 1979)


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

การดำรงชีพ

ชาวเขมรส่วนใหญ่ มีการประกอบอาชีพคล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่ ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาเป็นระยะเวลานาน โดยสังคมท้องถิ่นมีการประกอบอาชีพอยู่ 2 ประเภทหลัก คือ การทำเกษตรกรรมและหัตถกรรม

อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการเพาะปลูก จะมีการหักร้างถางพงเพื่อใช้พื้นที่ในการทำนา ทำสวน และทำไร่ มีลักษณะเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเอง (subsistance economy) เป็นการผลิตแบบพอกินพอใช้ ปัจจัยในการผลิตจะพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ มีการตั้งถิ่นฐานและจับจองที่ดินใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอุปโภคและบริโภคในการทำการเพาะปลูก มีข้าวเป็นพืชเพาะปลูกสำคัญ ส่วนการเลี้ยงสัตว์จะนิยมเลี้ยงเพื่อเป็นแรงงานและเป็นอาหารด้วย ได้แก่ โค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือที่นำมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงหรือเพื่อช่วยในการผลิตในชีวิตประจำวัน เช่น การทำคันไถสำหรับไถนา เคียว การตีมิด ขวาน เสี่ยม ส่วนพลังงานที่ใช้ คือ พลังงานจากธรรมชาติได้แก่ แสงแดด ลม ไฟ น้ำ และใช้เชื้อเพลิงจากไม้ เช่น ฟืนหรือถ่าน เป็นต้น

ผลผลิตและปริมาณที่ได้จากอาชีพเพาะปลูกของชาวเขมร จะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และ ภูมิอากาศตามธรรมชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับประเทศอังกฤษ ซึ่งมีความสำคัญเรื่องการค้าข้าวเพื่อเปิดประเทศไปสู่การค้าเสรี ทำให้รัฐบาลสยามในขณะนั้นอนุญาตให้มีการส่งข้าวเป็นสินค้าส่งออกได้ ดังนั้น ข้าวเปลือกจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชาติตะวันตกหลาย ๆ ชาติที่เข้ามายังประเทศแถบเอเชียในยุคอาณานิคม ในการนำข้าวไปเลี้ยงแรงงานชาวเอเชียในประเทศอาณานิคม เช่น อินเดียหรือจีน ซึ่งจะมีประชากรมาก ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จึงมีการหักร้างถางพงป่าจำนวนมาก เพื่อขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะพื้นที่ราบภาคกลางที่มีการเพิ่มผลผลิตข้าว รวมทั้งมีการส่งเสริมระบบการชลประทาน ผ่านการขุดลอกคลองเก่าและขุดลอกคลองใหม่ ทำให้มีพื้นที่การปลูกข้าวที่สำคัญอยู่บริเวณดังกล่าว เช่น คลองรังสิต เป็นต้น

ในเขตพื้นที่อีสาน การขยายพื้นที่ปลูกข้าวยังคงมีน้อย ชาวนาในท้องถิ่นปลูกข้าวเพื่อไว้ใช้บริโภคภายในครอบครัวเท่านั้น ไม่ได้ผลิตในปริมาณมากเพื่อขาย เนื่องจากการซื้อขายข้าวมีน้อยเพราะเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก การขนส่งและเคลื่อนย้ายจึงทำได้ในปริมาณจำกัดและลำบาก โดยต้องใช้เกวียนและช้างเท่านั้น ข้าวจึงไม่ใช่สินค้าสำคัญในการซื้อขาย จนกระทั่งเส้นทางรถไฟได้ขยายเข้ามาในภาคอีสาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณเขตอีสานใต้ เช่น เมืองบุรีรัมย์ เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ และเมืองอุบลราชธานี ซึ่งอาชีพเกษตรกรรมของเมืองสุรินทร์ที่สำคัญ คือ การทำนาปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ และการค้าสัตว์

โครงสร้างทางสังคม

ครอบครัวของชาวขแมร์ลือมีความคล้ายคลึงกับครอบครัวคนไทยพื้นเมือง โดยให้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วนแม่นั้นทำหน้าที่ดูแลงานในบ้าน โดยชาวขแมร์ลือมอบอำนาจให้เพศชายในการตัดสินใจและดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ และครอบครัวเขมรถิ่นไทยมักจะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย โดยอยู่รวมกันหลายครอบครัว ประกอบไปด้วย ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา พ่อแม่ และลูกหลาน ยิ่งมีลูกมาก ก็จะมีพี่น้องมากและครอบครัวก็จะมีโครงสร้างขยายตัวมากขึ้นการแต่งงานของชาวขแมร์ลือ ฝ่ายชายต้องเสียเงินและเครื่องบรรณาการแก่ฝ่ายหญิงเปิดปาก รวมทั้งฝ่ายชายจะจัดขันหมากให้ฝ่ายหญิง ได้แก่ หมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้และเงินทอง ฝ่ายหญิงจะต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน

การสืบผีบรรพบุรุษ และสายตระกูล

เทพประจำตัวตระกูลหรือวิญญาณบรรพบุรุษ (กรูเกร์ = ครูมรดก )เรียกสั้นว่าเกร เป็นผีที่คอยดูแลลูกหลานให้ได้รับความสงบสุขปลอดภัยจากผีร้ายต่าง ๆ กรูเกร์เปรียบเสมือนมรดกของตระกูล เป็นผีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อร่างปัจจุบันตายไปจะไปอยู่กับลูกหลานหาคนสืบทอดต่อไปโดยให้ทุกคนในตระกูลได้ลองจับขันในพิธีกรรมมะม็วด ขึ้นอยู่ว่าเกรจะไปอยู่กับใคร

ระบบความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม

ชาวขแมร์ลือ มีความเชื่อแบบผสมผสาน นับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท และพราหมณ์ กับผี ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี กันซง ซึ่งเป็นประเพณี การถือศีล นำอาหารไปทำบุญที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนี้ยังนับถือ บูชาผีบรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษที่เรียกว่า ประเพณีเบ็นหรืองานแคเบ็น ซึ่งตรงกับวันสารทไทย

ชาวเขมรเชื่อว่าสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติเป็นผี ซึ่งประกอบไปด้วยผีดีและผีร้าย ผีที่ดีคือประเภท เทพ เทวดา ผีบรรพบุรุษ ผีที่คอยปกปักรักษาบุคคล ชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข และผีอีกประเภทคือผีร้ายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิตและชุมชน ผีมีอยู่เกือบทั่วทุกพื้นที่ อยู่ในรูปลักษณ์ของวิญญาณบุคคลทั่วไปไม่สามารถมองเห็นได้ แต่จะสามารถสื่อสารได้ผ่านคนทรงเจ้าเข้าผีตามความเชื่อ

ผีที่ดี จะคอยปกป้องรักษาคนให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข รวมทั้งมีอำนาจในการสร้างความทุกข์ได้ ถ้ามีคนมาหลบลู่ หรือ ทำผิดครู ผิดประเพณี ผีที่ดีส่วนมากจะเป็นเทพ หรือ จะเรียกว่า ครู (กรู) ผีเหล่านี้อาศัยอยู่รอบตัวมนุษย์ เช่น ผีประจำหมู่บ้าน หรือผีปู่ตา ผีจากฟ้า (บ็องบ๊อด)

ผีปู่ตา ผีรักษาหมู่บ้าน (เนียะตา) ชาวบ้านในหลายๆชุมชนมักจะสร้าง กระท่อม หรือเรือนปู่ตาไว้ตามหนองน้ำ ต้นไม้ใหญ่ หรือที่สำคัญประจำหมู่บ้าน ในสมัยก่อนเป็นก้อนหินใหญ่มาวางบูชา จนหมู่บ้านพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำเป็นกระท่อมหรือเรือน ให้สำหรับเป็นที่อยู่ของผีปู่ตา เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ได้รับความสำคัญและถูกเคารพนับถือมาก เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมปัญโจลมะม็วด ร่างทรงที่ขลังมากจะสามารถประทับผีปู่ตา เข้ามาสื่อสารด้วยได้ เมื่อคนในชุมชนต้องการความช่วยเหลือใด ๆ ให้ไปบนบานขอที่ศาลปู่ตา เช่น ขอให้เดินทางปลอดภัย ขอให้สอบได้งาน หรือการจัดพิธีทางศาสนาจะต้องไปบอกกล่าวปู่ตาให้ช่วยเปิดทางให้ พิธีสงบราบรื่น จะมีการเซ่นปู่ตาในช่วงวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 และในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมานานจนถึงปัจจุบัน (ประสิทธิ์ ซ่อนกลิ่น และประทีป, สัมภาษณ์, 2559)

ผีรักษาผืนแผ่นดิน (กรุงพาลี) เป็นผีที่ดูแลผืนแผ่นดิน จะทำการกิจกรรมอันใดกับดินจะต้องขออนุญาตบอกกล่าว ผีรักษาแผ่นดินก่อน

ผีรักษาภูเขา (เมเปร็ย) เป็นผีเจ้าป่าเจ้าเขา เวลาเข้าป่าไปล่าสัตว์ หรือ ทำกิจกรรมอันใด แล้วหากมีอาการเจ็บป่วยถือว่ามีการไปลบหลู่ ผีเจ้าป่าเจ้าเขาจะต้องมีการขอขมา

ผีดูแลรักษ์สัตว์ป่า (มะรีงก็องเวียล) เป็นผีที่ปรากฏตัวเป็นแสงไฟตอนกลางคืนตามทุ่งนา บางความเชื่ออธิบายว่ารูปร่างเป็นคนแคระเวลากลางคืน เวลาไปล่าสัตว์ต้องทำพิธีบอกกล่าว มะรีงก็องเวียลก่อน

ผีประจำท้องนา (เปรียะภูมิเซห์) หรือเรียกว่าพระภูมิที่นา หรือ ผียายกะลาตากลี เป็นผีที่ดูแลท้องนาเมื่อถึงฤดูทำนาจะต้องมีเซ่นไหว้ บวงสรวงบูชาก่อน โดยจัดอาหารหวานคาว เรียก แย็ยตา (ยายตา) ให้มากินข้าวกินปลา มีการอธิฐานให้ได้ผลผลิตออกมาดี ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาดูแลลูกหลาน

เทพจากฟ้า (บ็องบ๊อด) เป็นผีองค์ใหญ่ ที่มีฤทธิ์มาก ชอบประทับเข้ามาในร่างทรงพิธีกรรมปัญโจลมะม็วด เพื่อรักษาคนที่มีอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากผีมาทำร้าย หรือมีอาการป่วยที่รักษาไม่หาย โดยบ็องบ็อดจะสามารถทำนายหาสาเหตุที่เกิดอาการเจ็บป่วยได้ จะต้องทำพิธีต้อนรับบวงสรวง เครื่องเซ่น จัดบายศรีเพื่อให้บ็องบ๊อด คนเป็นร่างทรงบ็องบ๊อด ได้ต้องผ่านการฝึกฝนและถูกเลือกเป็นพิเศษ ถึงจะสามารถไว้ใจให้รักษาผู้อื่นได้ มีลักษณะที่ขลังกว่าร่างทรงทั่วไปในพิธีกรรมปัญโจลมะม็วด บ็องบ็อด มักจะเข้ามาผ่านพิธีกรรมอัญเชิญด้วยดนตรีที่ชอบผ่านพิธี

เทพผู้ปั้นร่างมนุษย์ (มนายสะโนน มนายเดิม) เป็นเทพที่ปั่นแต่งกายของคน เชื่อว่าคนที่เกิดมาจากครรห์มารดาจะเกิดจากเทพที่มาปั้นรูปร่าง ลักษณะหน้าตาก่อน และเทพนี้จะคอยดูแลเมื่อทารกยังอยู่ในครรห์ เมื่อคลอดแล้วผีก็ตามมาปกปักรักษาบางครั้งถ้าเกิดไม่พอใจ ก็จะเอาชีวิตทารกกลับไปเมืองผีเช่นเดิม จะมีพิธี แบงมนายสนูน เป่ามนต์ เพื่อขับไล่ผีพรายเหล่านี้ หรือมีการแบ่งลูกให้ผีพราย แต่อย่างไรก็ตามผีเหล่านี้ก็จัดอยู่ในผีชนิดดี

ครูกำเนิด หรือ เทพประจำตัว (กรูกำเนิด) เป็นครู หรือ ผีที่มาพร้อมกับการเกิด ชาวเขมรเชื่อว่าทุกคนมีกรูกำเนิดประจำตัว ดังนั้น เชื่อว่าทารกทุกคนมีกรูกำเนิดประจำตัว ครูกำเนิดมีหลายประเภท ที่สิงสถิตประจำตัว สังเกตได้จากเมื่อทารกเกิดจะมีสายรกติดมาด้วย หากสายรกพันอยู่รอบหัว จะเรียกว่า ครูสนม (กรูสนม) หากมีสายรกพันรอบตัวจะเรียกว่า กรูสังวาล หากมีสายรกทั้งหัวและตัว จะเรียกรวมกันว่า กรูสนมสังวาล ในพิธีปัญโจลมะม็วด เทพครูกำเนิดจะมาสถิตในพิธีกรรม มะม็วดจะแต่งตัวไปตามลักษณะของครูกำเนิด เช่น เอาผ้าไหม มาพันหัว และเอาผ้าไหมมาพันรอบตัว ขึ้นอยู่กับครูกำเนิดที่เข้ามา ครูกำเนิดจะสิงสถิตอยู่บนหัว บนศีระษะของคน ดังนั้นจะมีข้อห้ามต่างๆ แต่เมื่อทำผิดครู เจ้าของร่างนั้นจะมีอาการเจ็บป่วย วิธีแก้จะต้องจัดจวมกรู มาเซ่นไหว้ขอขมา หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการบอกให้ครูกำเนิดช่วยปกปักรักษา ไม่ให้ผีปีศาจมาทำร้าย ถ้าไม่ปฏิบัติหรือลบหลู่ครูกำเนิดก็อาจลบหลู่ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้กรูกำเนิดที่มีฤทธิ์ไม่มากจะมีพรายมาอาศัยอยู่ด้วย ได้แก่ พรายมหาชมพู (เปรียย มหาจมปู) พรายกระบองเหล็ก (เปรียยด่ำบองแด้ก) พรายกรุ้งไหม้ (เปรียยกร็องแฉ้ะฮ์) พรายเส้นผมใหญ่ (เปรียยสำปูงส็อกธม) พรายเหล่านี้เมื่อพ่อแม่ที่เป็นร่างทรงมีอยู่ตายไป จะไปอยู่กับลูกหลานแทน จึงต้องมีการจัดพิธีเซ่นไหว้บูชาทุกปี ถ้าไม่ได้ทำ พรายเหล่านี้จะก่อความเดือดร้อน ทำให้เจ็บป่วยต้องปฏิบัติดีต่อพวกเขา เพื่อจะคุ้มครองป้องกันไม่ให้ผีมาทำร้าย

จวมกรูกำเนิดมีหลากหลายแบบ (สิทธิศักดิ์, 2564)

1. จวมกรูกำเนิดแบบแกะสลักใบตาล

2. จวมกำเนิดแบบกะลาเรียบง่าย

3. จวมกรูกำเนิดสนมสังวาลใช้ด้าย

บูชานับถือครูกำเนิด หรือ (จวมกรู) มีความเชื่อว่าในตัวของคนทุกคน มีครูกำเนิดประจำตัวเวลา เราเกิดมา เป็นเสมือนผีที่ดี ผีเทวดาที่คอยปกปักษ์รักษาเรา หากเวลาไม่สบายและหาสาเหตุการรักษาไม่ได้เบื้องต้นแล้วจะให้ปราชญ์หรือหมอธรรม ทำสิ่งที่เรียกว่า ครูกำเนิดให้ ไปใช้ไว้แขนบนหัวนอน ส่วนใหญ่จะสามารถรักษาหายได้ เนื่องจากเชื่อว่า มีการผิดครูทำให้ครูกำเนิดไม่พอใจ แต่เมื่อได้บูชาครูกำเนิดก็จะหายได้ ครูกำเนิดมีการทำแบบเรียบง่ายโดยกะลา หรือแบบแกะจากใบตาล ใส่เทียน ใบพลู ใบกระเนิย เข้าไปในครูกำเนิด ชาวแขมร์ จากการสอบถามพบว่า มีครูกำเนิดติดบ้านไว้แทบทุกบ้าน บ้านที่ไม่เชื่อจริง ๆ แบบไม่มีเลย มีน้อย ส่วนใหญ่แล้วครูกำเนิดจะทำตั้งแต่เด็ก หรือ ทำในช่วงที่ป่วยหนักรักษาหาสาเหตุไม่ได้เช่นเดียวกัน ในพิธีกรรมโจลมะม๊วด ครูมะม๊วดจะนำมาประกอบพิธีกรรมด้วย (สัมภาษณ์ เว ซ่อนกลิ่น)

เทพแห่งเวทมนต์ (กรูระเบียน) เป็นเทพที่มีวิชาอาคม คนที่เรียนวิชาอาคมจากใครจะต้องทำความเคารพไหว้ครูระเบียน เนื่องจากวิชาที่เรียนมีทั้งวิชาเวทมนต์ ที่ให้โทษแก่ผู้อื่นและใช้ป้องกันตัวเอง เช่น วิชาด้านสเน่ห์ วิชาความคงกระพันหนังเหนียว โดยจะมีข้อห้ามที่ละเมิดไม่ได้ เมื่อมีวิชาอาคมเหล่านี้ วิชาเหล่านี้หากใช้ผิดพลาด ตัวเองจะกลายเป็นปอบ เนื่องจากละเมิดข้อห้ามและผิดครู อาจทำให้วิชาที่ร่ำเรียนมาเสียหาย เสื่อมสูญ

ผีกุมารทอง (โกนกรอก) คือ ทารกที่คลอดมาแล้วตาย แต่ร่างกายยังไม่เน่า จึงนำมาพิธีไสยศาสตร์ โดยนำมาชุบเลี้ยง เพราะเชื่อว่ากุมารจะช่วยคุ้มครอง และนำมาความร่ำรวยมาให้ และช่วยทำให้อยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก

ผีช่างและศิลปะต่าง ๆ (ปีสะนอการ์ ,บอมโซร์) เป็นความเชื่อแบบพราหมณ์ คนที่เรียนด้านช่างหรือศิลปะต่างๆ จะต้องทำพิธีบวงสรวงเคารพผีเหล่านี้

ผีที่อาศัยอยู่ในเครื่องตีเหล็ก (บอมโซว์) เป็นผีที่เกี่ยวกับเหล็ก ทอง เครื่องโลหะต่าง ๆ คนที่เรียนด้านการตีเหล็กตีทอง เวลาลูกหลานเข้าพิธีกรรมปัญโจลมะม็วด จะแสดงออกเกี่ยวกับ บรรพบุรุษ ที่เคยข้องกับร่ายรำการตีเหล็ก ตีทองให้ลูกหลานรู้ว่านี่คือบรรพบุรุษคนนั้นที่ทำอาชีพตีเหล็กมาเข้า

ผีที่อาศัยเครื่องดนตรี (กรูดนตรี,กรูเพลง) เป็นผีที่เชี่ยวชาญด้านดนตรี ในวงดนตรี เช่น วงกันตรึม หรือผู้ที่ร่ำเรียนด้านดนตรีจะต้องบอกกล่าวบูชา ขอพรเซ่นทรวงบูชา ห้ามแตะต้องเครื่องดนตรีก่อนได้รับอนุญาต มิชะนั้นจะทำให้ผิดครูได้

พรายแปดเศียร (เปรียย กบาลปรำแบ็ย) (เปรียย=พราย,กบาล =ศรีษะ,ปรำแบ็ย=แปด) คือผีที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและดนตรี ในสายเลือดที่มีผีตนเองจะสามารถร่ำเรียนทางด้านดนตรี และศิลปะการแสดงต่าง ๆ ได้ง่าย

ประเภทของผีร้าย ที่ก่อให้เกิดโทษอย่างเดียว มีอำนาจทำให้คนเกิดความเจ็บป่วยและอาจไปถึงตาย ผีจำพวกนี้ไม่คุ้มครองคน มักจะก่อความเดือดร้อน และสร้างโทษ ได้แก่

ผีรักษาต้นไม้ใหญ่ (อาระ) หรือ ผีอารักษ์เป็นที่มีความชั่วร้าย อาศัยประทับอยู่ในต้นไม้ใหญ่ในป่า หรือ หนองบึง เกิดจากผู้ที่วิชาอาคม ตายแล้วจึงมาเกิดเป็นอาระ เป็นผีที่ความดุร้าย ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ชาวบ้านมักจะสร้างศาลให้ผีนี้ประทับอาศัยอยู่ เพื่อให้รู้ว่าบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของอาระ เพื่อเป็นการเตือนว่าอย่าเข้าไปใกล้บริเวณนี้ เพราะอาจไปทำอะไรล่วงเกิน ก่อความเดือดร้อนมาสู่ตนได้

ผีที่อยู่อาวุธต่าง ๆ (ผีปะกำ) เป็นผีที่อาศัยอยู่ในอาวุธ เช่น ปืน ดาบ เชือกคล้องช้าง (ปะกำ) ในพิธีกรรมปัญโจลมะม็วด จะประทับร่างเข้ามาในพิธี จะถือดาบถือไม้ ถือปืน ถ้าทำให้ผีประกำโกรธ อาจเอาดาบมาไล่ฟันได้ ถ้าผีพอใจจะช่วยปลุกเจ้าของในยามวิกาล เมื่อมีผู้ร้ายบุกเข้ามา (การศึกษาอาจจะจัดอยู่ในผีที่ดี)

ผีปอบ เป็นผีที่เกิดจากผู้ที่มีวิชาอาคม ทำผิดข้อห้ามจึงกลายมาเป็นปอบ มีลักษณะชอบกินของสด เมื่อเข้าสิงคนจะกินเลือดในตัวคน

ผีพราย (เปรียยะอะกาสา) ผีพรายนั้นมีหลายประเภท เช่น ผีพรายกินลูกอ่อน จะทำให้คนแท้งลูก หรือพรายบางประเภทจะดูดเลือด เป็นพรายที่ทำให้ผัวรัก โดยคนที่ถูกสิงจะร่างกายซูบผอม อ่อนแรงเพราะโดนกินเลือด พรายปลูกเรือน มักจะทำให้สตรีมีก้อนแข็งๆ จะต้องมีการรักษาเป่ามนต์ทำให้พรายหายไป หรือพรายกรรมพันธุ์จะติดต่อมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้ผู้ป่วยมีผิวสีซีด รักษาไม่หาย

ผีห่า (ระบาล,ซาระบาล,ระม็อล) เป็นผีที่มาจากเชื้อโรค ตายจากเชื้ออหิวาตกโรค คนไทยและคนขแมร์ลือ แม้แต่ขแมร์ในกัมพูชาก็ตามจะนำ ชื่อนี้ไปเป็นคำด่าเช่น ไอ้ห่า ,อะระบาล(ไอ้ห่า) อะระม็อลโมโยว(ไอ้ห่ามาเอา) จะใช้ด่าพึมพำ หรือด่าแบบสาปแช่งเลยก็มี

ผีโป่ง (จราบ) เป็นผีที่อาศัยอยู่ในจอมปลวก จะคอยดูแลดินโป่ง ดูแลสัตว์ป่า ดูแลน้ำ ที่สาธารณะ ถ้าใครปิดทางน้ำ ปิดทางดิน ผีโป่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ

ผีกระหัง (อ๊าบ) เป็นผีที่เกิดจากผู้ที่เรียนวิชาอาคมด้านการทำสเหน่ห์ ผิดข้อห้ามจึงกลายเป็นอ๊าบ ไม่ชอบกินคน แต่จะกินของสัตว์ หมู ไก่ เป็ด

ปีศาจ (ปิซ้าจ) เป็นผีร้าย ส่วนใหญ่เป็นผีตายโหง ไม่ได้ถูกเผาอย่างถูกต้องในพิธีกรรม

คุณไสย์ (อำเปอ) หมายถึง เวทย์มนต์ที่ใช้ทำร้ายผู้อื่น คุณไสยนั้นเกิดจากคนหรือผีทำมาใส่ก็ได้

มาร (เมียร) ก่อให้เกิดความเดือนร้อน ก่อเหตุทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เวลากระทำการอันใดก็ตามจะขับไล่มารออกไปก่อน การไล่มารบางครั้งจะถวายเครื่องเซ่น แล้วใช้ดาบฟัน พบเจอได้ในขั้นตอนกาปเป ในพิธีกรรมปัญโจลมะม็วด

ผีเปรต (เปรต) ผีเปรตเกิดจากการลักขโมยของสาธารณะ เช่นของวัด

หมาดำ (จะแก=หมา, เขมา=ดำ) เป็นที่เกิดจากการร่ำเรียนวิชาอาคม คงกระพัน ใช้เวทมนต์ทำร้ายผู้อื่น ทำผิดข้อห้าม จึงกลายเป็นหมาผีมีสีดำ บางครั้งจะถูกเลี้ยงโดยผู้มีวิชาอาคมให้ไปทำร้ายคนอื่น จะมีอาการคลุ้มคลั้งฝันเห็นหมาดำมากัด และ ทำร้าย จะต้องอาศัยศาสตร์ทางไสยศาสตร์ในการักษาต่อไป

4.4.2 หลักปฏิบัติทางวัฒนธรรม

ความเชื่อเรื่องผีของชาวขแมร์ลือนั้น เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เพราะผีนั้นมีอำนาจที่จะทำให้เกิดความสุขและความทุกข์ ผีเป็นตัวกำหนดสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ในสังคม ถ้าไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามผี ก็จะก่อให้เกิดการผิดผี พระมหานริศ ทองบาง (2553) กล่าวกันว่าผู้ทำผิดต่อผีครอบครัวหรือเครือญาติจะถูกมีลงโทษออกเป็น 2 ลักษณะ

1) การกระทำทั่วไปต่อการผิดผี เช่นการทำผิดต่อ ผีประจำหมู่บ้าน เทพประจำผืนแผ่นดิน เทพป่า เทพเขา เทพประจำท้องนา เป็นต้น และการผิดครู เช่น ผิดต่อ ครูกำเนิด ครูเพลง ครูสนมสังวาล การกระทำผิดเหล่านี้มักจะเกิดจาก การผิดประเพณี ข้อห้าม ตัดต้นไม่ได้ขอขมาเจ้าหน้าที่ จะก่อให้เกิดอาการไม่สบายมากมาย ได้แก่ ปากเบี้ยว ปวดหลัง เป็นไข้ หลายครั้งรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้ ก็ต้องไปหาร่างทรงเพื่อทำการรักษาในลำดับต่อไป เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย และรักษาด้วยพิธีกรรมต่อไป

ความเชื่อของชาวขแมร์ลือจะสถิตอยู่ในศีรษะของคน เพราะศีรษะของคนเป็นสิ่งสูงสุด และจะมีข้อห้ามเกี่ยวกับศีรษะเล่น เพราะศีรษะเป็นที่สิงสถิตของครูประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูกำเนิด จึงห้ามลอดใต้บันได ห้ามลอดราวตากผ้า ห้ามเท้าโดนศีรษะ ห้ามผู้อื่นจับศีรษะเล่น เพราะถือว่าหลบหลู่ครู ครูก็จะโกรธทำให้เกิดการอาการผิดครู

2) การกระทำผิดต่อผีบรรพบุรุษ (กรูเกร์,เนียะตา) หรือ ครูมะม็วด เรียกว่าผิดครู จากความเชื่อที่ว่าในทุกตระกูลจะมีกรูเกร์ประจำตระกูล (ผีปู่ย่า ตายาย) เพราะเปรียบเป็นมรดกประจำตระกูล เช่นไม่เคยจัดงานเลี้ยงให้กับผีบรรพบุรุษ ทำสิ่งใดไม่เคยบอกกล่าวบรรพบุรุษ ละเลยงานวันสำคัญต่างๆ โดยอ้างว่าติดงาน ไปต่างจังหวัดนานไม่ยอมกลับมาบ้าน ไม่มาเยี่ยมพ่อกับแม่ ทำให้ผีบรรพบุรุษเสียใจและไม่พอใจ จึงทำให้มีคนในครอบครัวไม่สบาย แก้ไขได้โดยจัดพิธีปัญโจลมะม็วด ให้ผีบรรพบุรุษตามความต้องการ โดยการแก้ไขจะคล้ายกับการกระทำผิดผี

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณีสงกรานต์ การทำบุญในช่วงเดือน 5 เป็นประเพณีการสรงน้ำพระ ชาวบ้านในหมู่บ้านมีการขนทรายเข้าวัดโดยจะขนทรายทั้ง 4 ทิศ รอบหมู่บ้านนำมากองที่วัดเป็นกองทราย แล้วจะอัญเชิญพระพุทธรูปในวัดในหมู่บ้านลงมาทรงน้ำพระ พร้อมกับอาบน้ำให้ผู้สูงอายุ หลังจากนั้นจะมีการรำตรุษโดยเป็นการเดินเล่นในหมู่บ้าน รำเพื่อให้คนในชุมชนร่วมทำบุญเดือนห้า เมื่อไปถึงบ้านใคร่คนในบ้านนั้นจะนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำหอมน้ำปรุง เพื่อมาประพรมให้ขบวนรำตรุษทุกคน เพื่อความเป็นสิริมงคลตอนกลางคืนจะมีการรำอันเร และตอนเช้าจะทำบุญตักบาตร เราจะทำธงที่ตัดจากกระดาษมาเสียบที่กองทรายที่ขนไปก่อกองทรายในวัด

เทศกาลและงานประจำปีที่สำคัญ ได้แก่ งานปีใหม่ งานสงกรานต์ บุญมหาชาติ งานวันสารทไทย (โฎนตา) ประเพณี - เทศกาล เป็นสิ่งที่นิยมถือปฏิบัติมาเป็นแบบแผน ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ประเพณีที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติเป็นแบบแผนประพฤติเป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น โกนจุก บวชนาค แต่งงาน งานศพ หรือประเพณีช่วง

ประเพณีวันสารท (แซนโดนตา) ประเพณีของชาวคแมร เป็นประเพณีพิธีกรรมร่วมของกลุ่มชนที่ทำพร้อมกันทุกบ้านเรือนในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตรงกันคือประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่เรียกกันว่า “แซนโดนตา” ประเพณีดังกล่าวนี้จะเป็นพิธีกรรมเกิดขึ้นหมุนเวียนเป็นประจำ (cycle rites) ที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นเกษตรกรรมที่มีความเชื่อเรื่อง “ผีบรรพบุรุษครอบครัว” ของแต่ละครอบครัว เป็นกิจกรรมมในระบบเครือญาติสายตระกูล พี่น้องพ่อแม่ปู่ย่าตายายเดียวกันหรือวงศาคณาญาติสืบสายโลหิตและญาติเกี่ยวดองที่เรียกว่า “บอกปโอนหรือเญียต” ที่มาพิธีเซ่นไหว้ร่วมกัน ประเพณีจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับประเพณีในภูมิภาคอื่น ๆ กล่าวคือภาคกลางเรียกว่า “วันสารท” ภาคเหนือเรียกว่า “บุญสลากภัต” ส่วนภาคใต้ เรียกว่า “บุญเดือนสิบหรือบุญชิงเปรต” ซึ่งประเพณีแซนโดนตาของชาวคแมร จะมีพิธีกรรมและกิจกรรมที่ต่างจากที่อื่นคือความต่อเนื่องพิธีกรรมระยะยาวถึง 17 วัน สาระสำคัญที่ควรศึกษาได้แก่ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ระยะเวลาพิธีกรรม พิธีกรรมเซ่นไหว้วันสารถเล็ก (เบ็นตูจ) พิธีกันสงฑ์ (กันซ็อง) พิธีกรรมเซ่นไหว้วันสารถใหญ่ (เบ็นโท๊ม) พิธีกรรมการทำข้าวศักดิ์สิทธิ์ การละเล่นวันแซนโดนตา พิธีรรมเทกระเชอโดนตา พิธีกรรมส่งวิญญาณบรรพบุรุษ คุณค่าของพิธีกรรมแซนโดนตา

ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ประเพณีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวคแมร (เขมร) เรียกว่า วันแซนโดนตา หมายถึง บรรพบุรุษในสายตระกูลทุกชั้นที่เสียชีวิตไปแล้วที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดเนื่องจากยังคงมีเวรมีกรรมที่เคยกระทำไว้เป็นบาปกรรมติดตัวไปด้วยที่เป็นผีธรรมดา เรียกว่า “คมอจ” ซึ่งวิญญาณยังเร่ร่อนอยู่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดหรือบางคนยังคงชัดใช้กรรมอยู่ปรโลกโดยเฉพาะไปอยู่ในภพภูมิคือนรกที่เชื่อว่าผู้ทำบาปจะต้องไปเกิดและถูกลงโทษ หมายถึงดินแดนที่มีแต่ความทุกทรมาน (ราชบัณฑิตยสถาน,2539,น.428) อยู่ในสภาพ “ผีเปรต” หรือแปรต โดยเฉพาะผีเปรตเหล่านั้นยังคงต้องรับความทุกข์ทรมานอีกยาวนานอยู่ในสภาพความอดอยากหิวโหย ซึ่งความอดยากหหิวโหยนี้จะบรรเลงลงได้ต่อเมื่อลูกหลานญาติมิตรได้เซ่นไหว้ข้าวปลาอาหารและอุทิศส่วนกุศลไปให้จนกว่าจะพ้นจากบาปและจุติไปเกิดใหม่ ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงพระเจ้าพิมพิสารที่ได้ทรงทำบุญต่าง ๆ มากมายแต่ทรงลืมอุทิศส่วนกุศลให้บรรดาเปรตญาติทั้งหลาย ทำให้บรรดาเปรตญาติมาปรากฏกลายให้เห็นและหลอกหลอนต่าง ๆ นานา พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อทำบุญทุกครั้งให้แผ่บุญที่ทำนั้นอุทิศส่วนกุศลให้เปรตญาติทั้งหลายด้วย และเปรตญาติจะได้รับผลบุญนั้น (มงกุฎ แก่นเดียว,2533,น.36) ดังนั้นความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดและยังทุกข์ทรมานอยู่นั้จะต้องมีพิธีกรรมเซ่นไหว้ ทำบุญให้ เพื่อให้หลุดพ้นจากขุมนรกต่าง ๆ พิธีกรรมนี้จึงเป็นพิธีกรรมที่สำคัญเพื่อให้ลูกหลานไม่ลืมบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้วและเมือ่ทำทุกปีจึงเป็นประเพณี ความสำคัญของของการทำบุญวันสารถ เกิดจากความเชื่อว่าในรอบปีหนึ่ง ๆ นั้นวิญญานบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวจะได้รับการปลดปล่อยจาก “ยมโลก” ให้มาเยี่ยมลูกหลานในโลกมนุษย์ปีละ 1 ครั้ง กล่าวคือผีบรรพบุรุษจะเดินทางโลกมนุษย์ในวันเดือนมืดคือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และจะอยู่ในโลกมนุษย์จนถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 รวมจำนวน 15 วัน ซึ่งจะเป็นระยะเวลาที่พระจันทร์จะค่อย ๆ มืดลงเรื่อย ๆ จนมืดสนิทจากนั้นก็จะเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นความมืดของพระจันทร์จึงมีนัยที่เกี่ยวพันกับวิญญาณผีที่ลึกลับ (ศิริเพ็ญ,2554)

ระยะเวลาพิธีกรรม สำหรับพิธีกรรมแซนโดนตของชาวคแมร (เขมร) สุรินทร์ นั้นจะใช้ระยะเวลา เซ่นไหว้และทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อดูแลปรนนิบัติวิญญาณในช่วงมี่กลับมาอยู่ในโลกมนุษย์ยาวนานถึง 15 วัน ซึ่งทั้ง 15 วันนี้ จะอยู่ในเดือนทางจันทรคติเรียกว่า “แคเบ็น” ระยะเวลาทางจันทรคติจำนวน 1 เดือนมี 30 วัน เริ่มตั้งแต่ 1 ค่ำ เดือน10 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม โดยการทำพิธีกรรมการเซ่นไหว้จะทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกเรียกว่าเบ็นตูจ ตูจ แปลว่าเล็ก และเซ็นไหว้ครั้งที่สองจะเรียกว่าเบ็นโท๊ม โดยคำว่าโท๊มแปลว่า ใหญ่ คือ วันสารทใหญ่ คือช่วงเดือน 10 ที่เป็นวันข้างแรมมีจำนวน 15 วัน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ระยะเวลาดังกล่าวนี้เป็นวันเวลาที่พระจันทร์เริ่มจะเข้าสู่เดือนมืดจนถึงมืดสนิทเป็นระยะเวลาที่วิญญาณบรรพุบุรษได้กลับมาอยู่ในโลกมนุษย์ โดยจะมีกิจกรรมที่ลูกหลานต้องปฏิบัติได้แก่ระยะเวลา “กันซ็อง” การเซ่นไหว้ใหญ่ การไปทำบุญวันพระ (ตอนเช้า) และการทำ “บาย - เบิ๊ต - ตะโบร” ที่วัดในเวลากลางคืน ซึ่งระยะเวลา กันซ็อง คือระยะเวลาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 รวมระยะเวลา 14 วัน เป็นระยะเวลาที่ลูกหลานจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนนำภัตตาหารไปถวายพระสงฑ์ที่วัด และปฏิบัติตนคือสมาทานศีลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณบรรพบุรุษที่มาอยู่ในโลกมนุษย์ต่อจากนั้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ก็เป็นวันเซ่นไหว้ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาหัวค่ำก็จะไปทำบุญที่วัดฟังพระสวดพระเทศน์และเข้าร่วมพิธีทำข้าวศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า “บายเบ็น” หรือ “บาย-เบิ๊ต-ตโบร” (ดรุณ พรหมปกรณ์,2527,น.139) ส่วนวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันข้างแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งจะเป็นวันพระเวลาประมาณตี 4 และตี 5 ลูกหลานจะไปวัดอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำพิธี เททิ้ง และกระเซอ โดนตา คือการเทสิ่งของต่าง ๆ ทั้งพันธุ์ไม้ ข้าวสาร อาหารแห้ง ขนมนมเนย เสื้อผ้า ฯลฯ ให้กับผีบรรพบุรุษร่วมกันเพื่อให้วิญญานนั้นได้รำติดตัวไปใช้ยังปรโลกด้วยจากนั้นก็นำภัตตาหารไปถวายพระตอนเช้า หลังจากกลับจากวัดก็จะทำพิธีกรรมส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับยังปรโลกที่บริเวณไร่นาของตนเอง พร้อมกับนำข้าวศักดิ์สิทธิ์ไปหว่านยังที่นาเพื่อดลบันดาลให้เกิดผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์จึงเสร็จพิธีแซนโดนตา ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวคแมร (เขมร) สุรินทร์ที่ถือปฏิบัติตลอดมาอย่างเคร่งครัด

พิธีกรรมเซ่นไหว้วันสารทเล็ก (เบ็นตูจ) จากความหมายของคำว่า “ตูจ” ซึ่งแปลว่า “เล็ก” แสดงถึงความสำคัญของพิธีกรรรมเซ่นไหว้ครั้งแรกที่ไม่ค่อยสำคัญเท่ากับวันเบ็นโท๊มเพราะเป็นพิธีกรรมที่หมายถึงลูกหลานญาติมิตรยังไม่ต้องมาครบพร้อมกันก็ได้เพราะยังมีโอกาสจะพบกับวิญญาณบรรพบุรุษได้อีกหลายวันกว่าวิญญาณจะเดินทางกลับการเซ่นไหว้ครั้งแรกจึงไม่ต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้มากนัก สำหรับสถานที่เซ่นไหว้ส่วนใหญ่จะใช้บ้านที่เป็นหลักของครอบครัวแต่ละตระกูล โดยนิยมใช้บ้านของบิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือกรณีบิดามารดาเสียชีวิตล้วก็จะใช้บ้านพี่ชายหรือพี่สาวคนโต ที่เป็นผู้นำของครอบครัวในสายตระกูลซึ่งจะเป็นที่ดำเนินพิธีกรรมเซ่นไหว้ การประกอบพิธีเซ่นไหว้ครั้งแรกจะเป็นพิธีกรรมที่อาหารหิวโหยมานานเสื้อผ้าคงจะขาดวิ่นและไม่มีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณที่กำลังจะเดินทางมานั้นได้มีกำลังวังชาแต่งตัวใส่เสื้อผ้าที่สวยงามเดินทางมาด้วยความยินดีและกระปี้กระเปร่า จึงต้องทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ให้ได้รับประทานอาหารอย่างอิ่นหนำสำราญ และเป็นการรับขวัญที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนไกล

เมื่อเตรียมเครื่องเซ่นครบเครื่องแล้ว เวลาบ่ายก็จะประกอบพิธีโดยจัดสถานที่ว่างเปล่าเครื่องเซ่นโดยการปูฟูกพับครึ่ง และใช้หมอนซึ่งจะใช้ผ้าขาวปูทับอีกชั้นหนึ่งหันหัวไปทางทิศตะวันออก จากนั้นนำเครื่องเซ่นมาตามฐานะของผู้เซ่น ไดแก่ ไก่ เป็ด หมู แกง ขนมวานอื่น ๆ ฯลฯ จากนั้นเตรียมพานใส่กรวยดอกไม้ 5 หมากพลู เทียน 2 เล่ม และธูป 1 คู่ วางไว้บนหมอน อาจมีบุหรี่ด้วยก็ได้แต่ ไม่นิยมจากการเชื่อว่าจะทำให้ ผีแรง นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้งเงินทองประกอบาการเซ่นไหว้ พิธีจะเริ่มจากการจุดธูปเทียนไหวับนอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะถาดอาหาร แกง 2 ถ้วย ข้าว 2 ถ้วย จากนั้จะจุดเทียนใส่ข้าวแต่ละถ้วย นอกจากนี้จะมีการจัดอาหารบางส่วนใส่สำรับไปถวายศาลพระภูมิที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน โดยจุดธูปเทียนไหว้พร้อมกัน พิธีกรรมจนำโดยผู้นำครอบครัว โดยการสวด นโม จากนั้จะเริ่มเรียก วิญญาณผีบรรพบุรุษที่ได้รับการปลดปล่อยมารับเครื่องเซ่นไหว้ในวันนี้ ญาติพี่น้องที่แยกครอบครัวออกไปจะกลับมารวมตัวกัน และมาช่วยกันเรียกวิญญาณบรรพบุรุษให้มากินของเซ่น เพื่อให้มีเรี่ยวแรง หลังจากอดอยากมานาน ที่เดินทางมาพบกับลูกหลานที่ได้พร้อมใจกันนำมาเซ่นไหว้ต้อนรับ

พิธีกรรมเซ่นไหว้จะมีการใช้เวลา โดยบางคนจะพนมมือให้บรรพบุรุษได้มารับประทานอาหารเซ่นไหว้ ซึ่งจะเรียกชื่อตามการนึกถึง บางคนจะช่วยรินเหล้า รินน้ำหวานต่าง ๆ เรียกผีบรรพบุรุษให้มาได้กิน ได้อิ่มหนำสำราญ เลือกใช้เสื้อผ้า และสิ่งของต่าง ๆ ตามใจชอบ โดยการบอกกล่าวบรรพบุรุษทั้งหมด เรียกเหมารวมว่า โดนตา เพื่อจะได้ช่วยดูแลรักษาคุ้มครองลูกหลาน ให้ครอบครัวอยู่ร่มเย็นเป็นสุข โดยการเซ่นจะเริ่มตั้งแต่เที่ยงเป็นต้นไปจนบ่าย ถ้าลูกหลายคนไหนมาทีหลังจะทำพีธีกราบไหว้เครื่องเซ่นให้ครบ 3 ครั้ง พอถึงเวลาก็ยุติการเซ่น และแบ่งอาหารไปไว้ในกระทงใบตอง ไปวางทิ้งไว้นอกบ้าน เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สำหรับผีที่ไม่มีญาติด้วย เมื่อการเซ่นสิ้นสุดหลง เครือญาติจะมานั่งร่วมกันรับประทานอาหารสังสรรค์ก่อนที่จะแยกย้ายกลับบ้านของตน ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้น คือ 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันพระชาวบ้านก็จะนำอาหารและข้าวต้มไปทำบุญถวายพระที่วัดและมีการทำพิธี “ดาร” คือพิธีกรรมให้พระได้สวดแผ่อานิสงค์ของบุญกุศลไปยังวิญญาณบรรพบุรุษที่กำลังจะได้รับการปลดปล่อยออกมาจากยมโลก ได้เดินทางมาด้วยความอิ่มหนำสำราญมีกำลังวังชา และมีความสุขที่จะพบเห็นลูกหลานต่อไป

เทศกาล เช่น เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ เป็นการถือปฏิบัติจะมีการเฉลิมฉลองในช่วงปีใหม่ ส่งความสุขให้กันเพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆของแต่ละปี ประเพณีแซนโฏนตา เป็นประเพณีที่คนในชุมชนหมู่บ้านยึดถือปฏิบัติ เป็นความเชื่อความคิด การกระทำ ค่านิยม ทัศนคติ ความประพฤติที่คนในส่วนรวมถือกัน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา


ผู้เรียบเรียงข้อมูล

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2542). หนังสือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ. กรุงเทพฯ.

คะนึงนิตย์ ไสยโสภณ และประทีป แขรัมย์. (2556). วรรณกรรมเพลงพื้นบ้านกันตรึม: กรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา (รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์. (2557). การดำรงอยู่ของวิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อ ของกลุ่มชนชาวไทยเขมร (เขมรถิ่นไทย) ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี.วารสารศิลปะศาสตร์ปริทัศน์, 9(18).

นิคม มูสิกะคามะ. (2536). ประวัติศาสตร์โบราณคดี – กัมพูชา. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

ประกอบ ผลงาม. (2538). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทย. กรุงเทพฯ : สหธรรมิก.

ประทีป แขรัมย์ และเป็ก เซียง. (2559). มรดกร่วมทางภาษาในพิธีกรรมการรักษาที่ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวเขมรถิ่นไทยและชาวเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2533). การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย : ไทยกวย. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

ลักขณา ชาปู่. (2546). การศึกษาเชิงวิเคราะห์พิธีเลี้ยงผีเขมร ในหมู่บ้านหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา. (ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเขมรศึกษา). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศิริพร เชิดดอก (2558). มานึขแมร์: การธำรงชาติพันธุ์ชาวไทยเชื้อสายเขมร ภายใต้บริบทความหลากลายทางชาติพันธุ์. (วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา)” คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2531). ระบบการเขียน (อ่าน) ภาษาเขมรถิ่นไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท, มหาวิทยาลัยมหิดล.

อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ. (2552). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ

ภาษาไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : บริษัท ครีเอท มายด์ จำกัด.

สืบค้นออนไลน์

ไทยพีบีเอส (2556, 28 เมษายน). รายการพันแสงรุ้ง ตอน ภาษาเขมรถิ่นไทย. สืบค้นจาก www.youtube.com

ไทยพีบีเอส (2556, 7 พฤษภาคม). รายการพันแสงรุ้ง ตอน เขมรถิ่นไทย บ้านโพธิ์กอง. สืบค้นจาก www.youtube.com

บัญญัติ สาลี (2552). การปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และนัยเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนของรัฐไทย กรณีศึกษา: จุดผ่านแดนช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ (รายงานผลการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php.

ชานน์ ไชยทองดี. (2562) ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: คะแมร์ลือ. สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/63.

สหภาพ บุญครอง. (2563, 18 เมษายน). โกนขะแมร์สะเร็น. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2563, จาก https://www.blockdit.com/posts/5e9a859fd9266e388e2...


ผู้เรียบเรียงข้อมูล


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว