กะเลิง มีถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นหนึ่งในหลายกลุ่มที่หนีภัยสงครามและถูกกวาดต้อนมายังประเทศไทย ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และหนองคาย มีวิถีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องผีอย่างเข้มข้น ทั้งผีเรือนและผีชุมชน ในแต่ละรอบปีก่อนการทำนาและก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ชาวกะเลิงจึงมักจะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีประจำปีเพื่อขอให้ช่วยปกป้องดูแลสมาชิกในหมู่บ้าน รวมถึงเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลทางการเกษตร
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะเลิง
ชื่อเรียกตนเอง : กะเลิง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ข่า, ข่าเลิง, ไทกะเลิง, ไทยกะเลิง, ไทยกวน
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : กะเลิง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน
กะเลิง เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง "กะเลิง" ในภาษามอญ หมายถึง คนหรือมนุษย์ ในขณะเดียวกันยังมีข้อสันนิษฐานว่าคำดังกล่าวมาจากภาษาจาม คือ กะลุง (klung) เพี้ยนจากคำว่า “คุณลุน” หรือ “กุรุง” ในภาษาจีน ชื่อเรียกดังกล่าวจึงเป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียกคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังถูกเรียกว่า “ข่า” และ “ข่าเลิง” ซึ่งเป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่ชาวลาวได้มีการเบียดขับชาวกะเลิงออกจากพื้นที่เดิม และกวาดต้อนไปเป็นข้ารับใช้ คำเรียกดังกล่าวจึงมีนัยยะความแตกต่างของสถานะทางสังคมที่เกิดขึ้นในอดีตอีกทั้งเป็นคำเรียกที่มีนัยยะของการดูถูกเหยียดหยามมากกว่าชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
การตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวกะเลิง มีข้อสันนิษฐานสองแนวทาง แนวทางแรก เชื่อว่าชาวกะเลิงเดิมอาศัยอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแถบลุ่มแม่น้ำโขง ในเขตประเทศลาว ในแถบเมืองกะตาก แนวทางที่สอง เชื่อว่าเดิมชาวกะเลิงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภูวานากะแด้ง รอยต่อระหว่างเมืองคำเกิดคำม่วน ปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วนและแขวงสะหวันนาเขต ทั้งนี้ เดิมพื้นที่ภาคกลางของลาวเป็นถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษามอญ-เขมรหลากหลายกลุ่ม ภายหลังที่ชนชาติลาวเข้ามามีอำนาจ ส่งผลให้กลุ่มคนดั้งเดิมมีสถานะเพียงข้ารับใช้ รวมทั้งเป็นกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนกลับมายังประเทศผู้ชนะสงครามมื่อเกิดศึกสงครามในเขตล้านช้างจำนวนหลายครั้ง เช่น ศึกเจ้าอนุวงศ์และศึกจีนฮ่อ ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวกะเลิงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้ถูกกวาดต้อนมายังประเทศไทยจำนวนมาก และถูกกำหนดให้ตั้งถิ่นฐานในแต่ละเมืองกระจายออกไปในภาคอีสาน ปัจจุบันพบว่า ชาวกะเลิงตั้งถิ่นฐานและกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดสกลนคร ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอกุดบาก 2) จังหวัดนครพนม ในพื้นที่อำเภอเรณูนคร 3) จังหวัดมุกดาหาร ในพื้นที่อำเภอคำชะอีและอำเภอดอนตาล และ 4) จังหวัดหนองคาย
ในด้านวิถีวัฒนธรรม ชาวกะเลิงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีอย่างเข้มข้นผ่านพิธีกรรมเลี้ยงผี ทั้งผีเรือน ผีสูงสุด หรือผีชุมชน แม้ว่าการเลี้ยงผีเรือนจะไม่มีข้อกำหนดชัดเจนนัก แต่ชาวกะเลิงมักเลี้ยงผีเมื่อมีการกระทำผิดผี ส่วนการเลี้ยงผีสูงสุดหรือผีชุมชนจะมีพิธีขึ้นผีและกระทำเมื่อมีกิจกรรมสำคัญของชุมชน ส่วนพิธีเลี้ยงลง จะกระทำช่วงก่อนลงทำนาและพิธีเลี้ยงขึ้นจะกระทำเมื่อใกล้เก็บเกี่ยว ดังนั้น พิธีกรรมการเลี้ยงผีของชาวกะเลิงจึงถือเป็นพิธีกรรมสำคัญในการแสดงออกถึงความเป็นชาวกะเลิงในการประกอบพิธีกรรม ชาวกะเลิงจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามอัตลักษณ์เพื่อร่ายรำถวายเจ้าปู่ อันเป็นการทำพิธีเลี้ยงผีประจำปีเพื่อขอให้ช่วยปกป้องดูแลหมู่บ้าน สมาชิกชุมชน และลูกหลาน รวมถึงขอให้พืชพรรณธัญญาหารมีความอุดมสมบูรณ์
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
ชาวกะเลิงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของลาว ติดกับประเทศเวียดนาม บริเวณเมืองกะตากที่คนกะเลิงอาศัยอยุ่นั้น อยู่ใกล้กับเมืองเง่อานทางทิศตะวันตกของเทือกเขาอาก (เจมส์ อาร์ เชมเบอร์เลน, 2527 อ้างถึงใน สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2530) ชาวกะเลิงตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นบริเวณลุ่มแม่น้ำตะโปน และต้นน้ำเซบังเหียน
“...ชาวกะเลิงพบในแขวงสกลนครมีมาก ว่าถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองกะตาก แต่ไม่รู้ว่าเมืองกะตากอยู่ที่ไหน เพราะอพยพมาอยู่ในแดนล้านช้างมาหลายชั่วคนแล้ว...”
แม้ว่าบันทึกดังกล่าวจะไม่สามารถระบุบริเวณที่ชัดเจนของเมืองกะตากได้ อย่างไรก็ตาม จากเรื่องเล่าความทรงจำของชาวกะเลิงที่อพยพมายังฝั่งไทย ได้ระบุเส้นทางการอพยพที่เริ่มต้นมาจากเมืองภูวานากะแด้ง แถบเมืองมหาชัยกองแก้ว เชิงเขาอากในสาธารณรัฐประชาชนลาว (ภานุพงศ์ พิลาศรี, 2533) ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณภาคกลางของลาว บริเวณแขวงคำม่วน แขวงสะหวันนเขต แขวงเมืองภูวดลสอาง ต่อกับเขตเมืองคำเกิดคำม่วน ลุ่มน้ำตะโปน และแม่น้ำบังเหียน
ต่อมาในช่วงศึกเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และศึกจีนฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2524) ชาวกะเลิงเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มที่หนีภัยสงครามและถูกกวาดต้อนอพยพมายังประเทศไทย ในดินแดนอีสาน บริเวณจังหวัดสกลนครและมุกดาหาร (วีระพงศ์ มีสถาน, 2548; กธิการ ตริสกุล, 2550) แต่ละหมู่บ้านของชาวกะเลิงจึงมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากเคลื่อนย้ายเข้ามาคนละระลอก ส่งผลต่อเรื่องราว ตำนาน และเรื่องเล่าที่แตกต่างกัน ดังกรณีศึกษาชุมชนชาวกะเลิง ดังต่อไปนี้
บ้านโนนสังข์ศรี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
ประมาณปี 2301 ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดสงครามระหว่างเวียงจันทน์กับเมืองนครพนม ชาวกะเลิงบ้านกุดน้ำแล้งและเมืองดงเห็น แขวงสะหวันนะเขต ได้อพยพมาตั้งชุมชนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นภาคอีสานในปัจจุบัน สถานที่ตั้งหมู่บ้านครั้งแรกอยู่ที่บริเวณบ้านนาเสียงแคนหรือบ้านโนนตูม ริมห้วยน้ำเช็ดทางด้านทิศเหนือ (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 15-20) ต่อมาในปี 2501 บ้านนาเสียงแคนเกิดไฟไหม้ป่าลุกลามมาติดบ้านเรือนชาวบ้าน ชาวกะเลิงจึงได้ย้ายออกมาตั้งบ้านเรือนห่างจากที่เดิมประมาณ 2 กิโลเมตรและได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านโนนสังข์ศรี เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีต้นสังข์ขนาดใหญ่ ประชากรชาวกะเลิงบ้านโนนสังข์ศรีในปี 2535 มีประมาณ 193 ครัวเรือน ต่อมาเกิดโรคระบาดทำให้ชาวกะเลิงย้ายออกไปตั้งชุมชนใหม่ ทั้งในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชนเดิม เช่น บ้านโนนก่อ บ้านโพธิ์ศรี บ้านนาสีนวล บ้านแสนพัน เป็นต้น
บ้านดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
ประวัติความเป็นมาของชาวกะเลิงบ้านดอนตาล เล่าขานกันว่าเดิมมีบุคคลชื่อ "พ่ออัญญาพร" และ "ญาแม่หม่อมการ" ซึ่งเป็นชาวลาว ได้พาลูกหลานอพยพมาจากเมืองหนองบัวลำภูเพื่อแสวงหาที่สร้างบ้านเรือน ครั้งแรกได้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบเมืองอุบลราชธานี แต่พื้นที่ดังกล่าวมีความแห้งแล้ง จึงได้อพยพข้ามไปยังฝั่งลาว บริเวณบ้านแก้งกอกดงคเนย ในขณะนั้นได้พบชาวกะเลิงที่ในขณะนั้นถูกเรียกว่า "ข่าเลิง" โดยมีท้าวราชบุตรโคตรเป็นหัวหน้า จึงได้ขอสร้างบ้านเรือนอยู่ร่วมกัน ต่อมาไม่นานพื้นที่ดังกล่าวก็ประสบความแห้งแล้งอีกครั้ง ในขณะนั้นท้าวกินรี ชาวกะเลิงจากจำปาสัก ได้มาสมทบกับข่ากะเลิงที่นี่ด้วย จากนั้นชาวกะเลิงทั้งหมดจึงได้พาครอบครัวเพื่อแสวงหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อสร้างบ้านเรือน จนกระทั่งเดินทางมาถึงพื้นที่หัวดอนตาล ซึ่งเป็นเกาะกลางน้ำ จึงได้ตั้งบ้านเรือนบริเวณหัวเกาะ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ภายหลังได้เกิดโรคระบาดหนัก ผู้คนล้มตายจำนวนมาก พวกเขาจึงอพยพเคลื่อนย้านมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านทิศใต้ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 100 เมตร ซึ่งเป็นบ้านดอนตาลและกลายเป็นอำเภอในปัจจุบัน (ลีอุทธศรี และบุญพะมา ประสานชม, สัมภาษณ์, 2560)
ปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชาวกะเลิง โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายและการตั้งบ้านเรือน ชาวกะเลิงมักจะอ้างอิงถึงผู้นำสำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ พ่ออัญญาพรและญาแม่หม่อมการ ซึ่งมีบุตรคนสำคัญ คือ พ่ออาชญา ชาวมุงคุณ ท้าวราชาบุตรโคตร และท้าวกินรี (สิทธิศักดิ์สุวรรณเก, สัมภาษณ์, 2560)
การอยู่ร่วมกันกับชาวลาวทำให้ชาวกะเลิงบ้านดอนตาลมีการปรับตัวทางวัฒนธรรมเข้ากับวัฒนธรรมลาว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ปัจจุบัน ภาษากะเลิงจึงเป็นภาษาที่สูญหาย (สิทธิศักดิ์สุวรรณเก, สัมภาษณ์, 2560) อย่างไรก็ตาม ชาวกะเลิงในพื้นที่ได้มีพยายามหยิบฉวยเอาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมบางประการมาประกอบสร้างเป็นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ผสมผสานกับวัฒนธรรมลาวในเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ชื่อเรียกชาติพันธุ์ ความทรงจำร่วม และความเชื่อ
บ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
ประวัติความเป็นมาของชาวกะเลิงในจังหวัดสกลนคร สันนิษฐานว่าอพยพมายังประเทศไทยในสมัยสงครามจีนฮ่อในรัชกาลที่ 5 ผู้คนกลุ่มนี้ได้อพยพมาจากเมืองภูวานากะเด้ง (ภานุพงศ์ พิลาศรี, 2533) ติดตามแม่ทัพนายกองเข้ามาอยู่เมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริเวณใกล้เมืองสกลนคร เช่น บ้านนายอ บ้านนามน บ้านโพนงาม เป็นต้น ต่อมามีชาวกะเลิงอีกส่วนหนึ่งสมัครใจอพยพขึ้นไปตั้งหลักแหล่งบนเทือกเขาภูพานในบ้านบัว อำเภอกุดบาก จากนั้นในปี 2460 ได้เกิดโรคระบาดที่เรียกว่า โรคห่าอย่างรุนแรง จึงมีการอพยพเคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านเหล่าห่างจากบ้านบัว 1 กิโลเมตร
บ้านกุดแฮด อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
ชาวกะเลิงในพื้นที่นี้มีเชื้อสายเดียวกันกับบ้านบัว ทั้งสองหมู่บ้านเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่มีชาวกะเลิงมากที่สุด ในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมา สันนิษฐานว่าได้อพยพจากบ้านภูวานากะแด้งเมื่อครั้งศึกปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเกรงกลัวภัยอันตรายจากจีนฮ่อ ทั้งนี้ บ้านกุดแฮด เดิมชื่อบ้านกกพง เพราะมีต้นพงขนาดใหญ่บริเวณนั้น ต่อมาจึงเรียกว่าบ้านกุดแฮด ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “กุด” หมายถึงหนองน้ำหรือบึงและ “แฮด” หมายถึง แรด เนื่องจากบริเวณบ้านกุดแฮดเคยเป็นหนองน้ำที่เป็นถิ่นที่อยู่ของแรด ปัจจุบันชาวบ้านยังเคารพแรดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน (พิสิฏฐ์ บุญไชย, 2546)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนประชากรโดยประมาณ 70,000 คน (วีระพงศ์ มีสถาน, 2548, น. 7) ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่
1) จังหวัดสกลนคร บริเวณอำเภอเมือง เช่น บ้านนายอ บ้านนามน บ้านโพนงาม อำเภอเมือง และอำเภอกุดบาก เช่น บ้านกุดแฮดและบ้านบัว (สุรัตน์ วรางค์รัตน์, 2530; 2539)
2) จังหวัดมุกดาหาร บริเวณอำเภอดอนตาล เช่น อำเภอบ้านดอนตาล (Schliesinger, 2000) และอำเภอชะอี เช่น บ้านโนนสังข์ศรี บ้านโนนก่อ บ้านโพธิ์ศรี และบ้านนาสีนวล (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540)
3) จังหวัดนครพนม บริเวณอำเภอเรณูนคร (วีระพงศ์ มีสถาน, 2548, น. 7)
4) จังหวัดหนองคาย (วีระพงศ์ มีสถาน, 2548, น. 7)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
การดำรงชีพ
ในอดีต ชาวกะเลิงมีระบบความเชื่อที่ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมและความสัมพันธ์ภายในสังคมของชาวกะเลิง เช่น ข้อห้ามที่กำกับพฤติกรรมและมารยาทของเขยหรือสะใภ้ หรือกำกับการแต่งงานภายในกลุ่มเพื่อให้ถูกต้องตามจารีต ซึ่งเป็นไปตามลักษณะการนับถือผีของชาวกะเลิงที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นน้อย ยกเว้นกรณีเงื่อนไขจำเป็นในด้านการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจ ที่มีการนำข้าวหรือผลผลิตไปแลกเกลือกับชาวลาว
อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวกะเลิงอพยพข้ามมาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคของประเทศไทย พวกเขาได้อาศัยอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์กับคนลาวและผู้ไท ทำให้เกิดการรับวัฒนธรรมใหม่มาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนเอง เห็นได้จากการที่ชาวกะเลิงส่วนใหญ่ในอดีตมักดำรงชีพด้วยการทำข้าวไร่ ปลูกฝ้าย และเก็บของป่าและล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อมีการอยู่อาศัยร่วมกับชาวลาวมากขึ้น ชาวกะเลิงจึงหันมาทำนาในพื้นที่ลุ่ม โดยใช้เทคนิควิธีเดียวกันกับชาวไทยและชาวลาว นอกจากนี้ พวกเขายังหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ข้าวโพด มัน แตงกวา หอม มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มะนาว ขนุน และผักผลไม้อื่น ๆ รวมทั้งมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น ควาย วัว หมู เป็ด และไก่ นอกจากนี้ยังมีชาวกะเลิงจำนวนหนึ่งที่อพยพออกนอกชุมชนเพื่อไปเป็นแรงงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรม
โครงสร้างทางสังคม
ในอดีต ผู้นำชุมชนของชาวกะเลิงสัมพันธ์กับจารีตประเพณีของกลุ่ม ที่กำหนดให้ผู้อาวุโสจากกลุ่มตระกูล ทำหน้าที่ในการตัดสินปัญหาความขัดแย้งในชุมชน รวมทั้งการให้คำแนะนำสมาชิกครัวเรือน เช่น การจัดงานแต่งงาน การจัดการพิธีกรรม และการบูชาเซ่นไหว้ผี (Schliesinger, 2000, p. 64)
ระบบโครงสร้างทางสังคมของชาวกะเลิงเป็นหน่วยครอบครัวขนาดเล็กที่มีระบบชายเป็นใหญ่ สามีหาเลี้ยงครอบครัว และสมาชิกในครอบครัวจะให้ความเคารพพ่อบ้าน เช่น ในการรับประทานอาหารจะต้องให้พ่อบ้านรับประทานก่อน 3 คำ จึงจะให้สมาชิกคนอื่นรับประทานตาม (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 41) ส่วนการสืบสกุลนั้นจะให้ผู้หญิงสืบมรดก (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 42) ปัจจุบัน ชาวกะเลิงมีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับชาวลาวและชาวไทย โดยมีค่าสินสอดประมาณสามหมื่นบาท หลังจากแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง มรดกของตระกูลจะตกทอดไปสู่ลูกหลานอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนเรือนตระกูลจะถูกสืบทอดไปยังบุตรคนที่ดูแลพ่อแม่ (Schliesinger, 2000, น. 64)
ระบบความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม
ในสังคมจารีต ชาวกะเลิงนับถือศาสนาผี (animism) ผีที่มีบทบาทหลักคือ ผีสูงสุดและผีบรรพบุรุษ (Schliesinger, 2000) ชาวกะเลิงนับถือผีเรือน ป่า ต้นไม้ และแม่น้ำ ซึ่งปรากฏผ่านการปฏิบัติพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำไร่นา การนับถือผีเรือนนั้น ชาวกะเลิงจะจัดห้องไว้ห้องหนึ่งสำหรับเป็นห้องผี ที่ฝาของห้องด้านหัวนอนจะมีหิ้งผีตั้งไว้ด้านเหนือ หิ้งผีนั้นเป็นขั้นกะหย่องที่สานด้วยไม้ไผ่มีลักษณะคล้ายตะกร้า (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540) ห้องผีที่มีไว้สำหรับขันกะหย่องจะห้ามไม่ให้เขยและสะใภ้ล่วงเข้าไปเด็ดขาด มิฉะนั้นจะผิดผี อาจทำให้สมาชิกในบ้านเจ็บป่วย หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีการปรับไหมไว้ว่า “ไหมเขยกินควาย ไหมสะใภ้กินหมู” เพื่อป้องกันการล่วงเข้าไปในห้องผี ห้องผีจะเป็นห้องนอนของลูกชาย ผู้ที่สามารถเข้าไปในพื้นที่นั้นได้ ได้แก่ พ่อ แม่ ลูกสาว ลูกชาย และหลาน เท่านั้น
ชาวกะเลิงเชื่อว่า ผีสูงสุดจะเป็นผู้ปกป้องดูแลผืนป่าและชุมชน จึงมีการนับถือตั้งแต่ตั้งบ้านเรือน หมู่บ้านของชาวกะเลิงส่วนใหญ่จะมีตูบผีนอกหมู่บ้านเพื่อเป็นที่อยู่ของผีชุมชน ปัจจุบันเรียกเหมือนคนลาวว่า ผีปู่ตา เพื่อเป็นที่เคารพ และบูชาประจำปีด้วยดอกไม้ เทียน ข้าว และไก่ในหมู่บ้านโนนสังข์ศรี ได้เชิญผีมเหสักข์มาจากบ้านตากแดด จังหวัดมุกดาหาร เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองของหมู่บ้าน (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 149)
จากการนับถือผีสูงสุดของชุมชน จึงมีการจัดองค์กรทางสังคม โดยมีผู้นำในการทำพิธีคือ “เจ้าจ้ำ” เป็นเสมือนสื่อกลางระหว่างสมาชิกชุมชนกับผี การสืบทอดเจ้าจ้ำนั้นจะสืบทอดตามสายตระกูลจากบรรพบุรุษ เจ้าจ้ำจะมีหน้าที่เซ่นไหว้ผีสูงสุดทั้งเลี้ยงขึ้น เลี้ยงลง และตามที่มีผู้คนมาบนบานขอให้ผีสูงสุดปกป้องคุ้มครองและอำนวยพรให้ผีสูงสุดจะเป็นแหล่งอ้างอิงของการปกป้องคุ้มครองโชคชะตาชีวิตชาวกะเลิง และยังเป็นที่มาของข้อห้ามกำกับควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกชุมชนทั้งหมดไม่ให้ทำผิดจารีต มิฉะนั้นจะมีบทลงโทษให้ได้รับผลร้าย เช่น เจ็บป่วย เป็นบ้า หรือเสียชีวิต
ในหมู่บ้านโนนสังข์ศรี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ชาวกะเลิงจะนับถือผีทั้งผีเรือน ผีสูงสุดของชุมชน ผีหมอเหยาโดยมีความเชื่อว่า ผีเหล่านี้จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ในการผลิต (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 148) รวมทั้งมีบทบาทในการควบคุมกำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของสมาชิกชาวกะเลิง
ปัจจุบันชาวกะเลิงได้เปลี่ยนแปลงมานับถือพุทธศาสนา จึงไม่ได้ทำพิธีเซ่นไหว้ผีด้วยสัตว์ แต่พวกเขาจะมาร่วมตัวกันเฉลิมฉลองก่อนการทำเกษตร ด้วยการกินดื่มเหล้าขาว (Schliesinger, 2000) จากการเปลี่ยนเปลงในการนับถือศาสนา ทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับผีร้ายที่คอยทำร้ายผู้คนถูกลดทอนความสำคัญลง หมู่บ้านชาวกะเลิงส่วนใหญ่จึงไม่มีหมอผี คนทรง ดังเช่นในอดีต เมื่อชาวกะเลิงเจ็บป่วยจึงมักใช้วิธีการรักษาแบบแพทย์สมัยใหม่มากกว่าการใช้ไสยศาสตร์ดังเช่นในอดีต
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
ชาวกะเลิงมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันในกลุ่ม ทั้งพิธีกรรมการเลี้ยงผีเรือน พิธีกรรมการเลี้ยงผีสูงสุดหรือผีชุมชน รวมทั้งพิธีกรรรมที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน การหย่าร้าง และพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายและการทำศพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
พิธีกรรมการเลี้ยงผีเรือน
พิธีกรรมการเลี้ยงผีเรือนของชาวกะเลิง ไม่ได้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะเลี้ยงเมื่อเขยหรือสะใภ้ทำผิดผี และมีการปรับไหม โดยที่ผู้อาวุโสในกลุ่มตระกูลจะเป็นผู้มีอำนาจในการปรับไหม ส่วนบุตรเขยหรือสะใภ้จะต้องแต่งขันธ์ 5 เพื่อขอขมา พร้อมทั้งหาควายหรือหมูมาให้ โดยทำเป็นอาหารใส่ถาด (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 149) พร้อมทั้งนำขันธ์ 5 ที่มีหมากจีบกอกยา ดอกไม้เทียนคู่ เหล้า 1 ขวด และไข่ไก่ 1 ฟอง มาให้ เสร็จแล้วจึงนำถาดข้าวและขันธ์ 5 ไปที่ห้องเปิง เจ้าโคตรจะจ้ำผีที่ห้องเปิงเพื่อบอกกล่าวขอขมาความผิดให้กับเขยหรือสะใภ้ แล้วจึงนำขันธ์ 5 ขึ้นไว้ที่หัวนอนตามเดิม
พิธีกรรมการเลี้ยงผีสูงสุดหรือผีชุมชน
การนับถือผีสูงสุดของชุมชนชาวกะเลิงทำให้เกิดพิธีขึ้นผี พิธีเลี้ยงขึ้น และพิธีเลี้ยงลง
พิธีขึ้นผี เป็นเสมือนการเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าวผีสูงสุดให้รับรู้หรือขออนุญาต เช่น เมื่อจะเอากระดูกคนตายมาทำพิธีเข้าธาตุเจดีย์เมื่อลูกสาวแต่งงาน เมื่อครัวเรือนในหมู่บ้านจะจัดงาน หรือเมื่อชุมชนจัดงานบุญ โดยจะมีเครื่องเซ่นที่จะต้องถือไปเซ่นผีสูงสุด ประกอบด้วย ดอกไม้เทียนคู่ ไก่ต้ม 2 ตัวหรือหมูขัน 5 ขัน ซิ่นไหมแพรวา กล้วยสุก 1 ลูก เหล้า 1 ขวด เงิน 12 บาท น้ำ 1 แก้ว (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 151-154) ในการนี้ หากลูกสาวของใครท้องก่อนแต่ง จะถือว่าผิดผี พ่อแม่และเครือญาติจะต้องทำพิธีขึ้นผี เพื่อเลี้ยงขอขมาผีสูงสุด
พิธีเลี้ยงลง เป็นการเลี้ยงสำคัญในรอบปีโดยกำหนดไว้ในเดือน 6 ของทุกปี (มักเป็นวันอังคารแรกของเดือน) ในฤดูการทำการเกษตร ก่อนเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยว ชาวกะเลิงจะจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรเพื่อเซ่นไหว้ผี ให้ตนเองได้รับการปกป้องดูแลและให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนพิธีบูชาผีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับการผลิต เป็นการเลี้ยงเพื่อบอกให้ผีสูงสุดทราบว่าชาวบ้านจะทำนา ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล เครื่องเซ่นในพิธีประกอบด้วย เนื้อควาย หัวควาย หูควาย ตีนควาย โดยมีเจ้าจ้ำนำทำพิธีบอกกล่าวให้ผีมารับเครื่องเซ่น (Schliesinger, 2000, pp. 64-65)
พิธีเลี้ยงขึ้น เป็นการเลี้ยงในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะทำข้าวเม่าแล้วแบ่งให้เจ้าจ้ำนำไปเซ่นผีสูงสุดของชุมชน เจ้าจ้ำจะเก็บรวบรวมข้าวเม่าจากชาวบ้านไว้ 1 - 2 วัน จากนั้นจะนำไปทำพิธีที่ตูบของผี ซึ่งเจ้าจ้ำอาจต้องเดินทางไปทำพิธีหลายครั้งเนื่องจากชาวบ้านทำข้าวเม่าไม่พร้อมกัน
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต
การแต่งงาน การหย่าร้าง
ชาวกะเลิงนิยมแต่งงานกันภายในกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกลุ่มตระกูลทั้งสองจะเจรจาเพื่อตกลงค่าสินสอดและกำหนดวันแต่งงานให้กับคู่บ่าวสาว พ่อแม่ของฝ่ายชายจะส่งหมอสื่อเป็นตัวแทนไปเจรจาสู่ขอที่กลุ่มตระกูลฝ่ายหญิง เจ้าโคตรของกลุ่มตระกูลฝ่ายหญิงจะเป็นตัวแทนเรียกร้องค่าสินสอด ในกระบวนการนี้อาจมีการต่อรองกันหากค่าสินสอดแพงกว่าที่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้กำหนดวันเวลาแล้ว เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมเงินสินสอดและสิ่งของ 7 สิ่งมาให้ฝ่ายหญิง ได้แก่ ค่าน้ำนม 3 บาท ค่านำหัวหมู (เดิมเป็นหมูเป็น ๆ) ค่าตำเนืองเครื่องบ้าน ไก่ 12 ตัว กระบุงกะสัดใส่พริกป่นเกลือ ด้ายเงิน 10 สตางค์ พาข้าว และเนื้อสด เจ้าโคตรฝ่ายหญิงจะทำพิธีเลี้ยงผีตระกูลเพื่อบอกกล่าวให้รับรู้และนำเขยเข้าสู่กลุ่มตระกูล ฝ่ายเจ้าสาวจะเตรียมของสมมาให้กับแขก เช่น ที่นอน ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า เป็นต้น เมื่อขบวนแห่เจ้าบ่าวมาถึง จะมีการสูตรขวัญเจ้าป่าว หมอสื่อจะป้อนไข่และเอาไก่กวาดหลังบ่าวสาว เอาศีรษะกระทบกัน และที่สำคัญคือ “วังคอง” หมายถึง ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะทำพิธีเฆี่ยนเขย ซึ่งมีนัยถึงการอบรมสั่งสอนให้ทราบถึงหน้าที่ของสามีต่อภรรยา วังคองจะเป็นผู้พิจารณาพฤติกรรมของเขย รวมถึงมีอำนาจตัดสินลงโทษหรือปรับไหมเขยได้ เมื่อส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวแล้วจะต้องพาบ่าวสาวมาทำพิธีสมมาญาติเจ้าบ่าว
ความตาย และการทำศพ
เมื่อมีผู้เสียชีวิต ชาวกะเลิงจะเผาศพ (Schliesinger, 2000, pp. 64-65) ส่วนกรณีที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตตั้งแต่อายุต่ำกว่า 7 ปี จะใช้วิธีการฝังศพ (Schliesinger, 2000) ปัจจุบัน เมื่อชาวกะเลิงหันมานับถือพุทธศาสนา จึงมีการจัดการศพแบบพุทธศาสนา แต่ความเชื่อเดิมยังมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่ เช่น เมื่อเสียชีวิตในหมู่บ้านหรือชุมชน ชาวกะเลิงจะตั้งศพไว้ที่บ้านของผู้ตาย แต่หากเป็นการตายผิดปกติที่เรียกว่า ตายโหง จะนำศพไปตั้งไว้ที่วัด ไม่นิยมตั้งไว้ที่บ้าน (วีระพงศ์ มีสถาน, 2005, น. 19) ชาวกะเลิงมีพิธีส่งวิญญาณผู้ตายสู่สวรรค์ โดยเตรียมหม้อดินใส่กระดูกแล้วใช้เชือกผูกคอหม้อดิน นำมาผูกโยงกับคันแร้ว จากนั้นนำคันแร้วไปปักปล่อยทิ้งไว้ จนกระทั่งเชือกเปื่อยจนขาด คันแร้วจะตวัดหม้อขึ้น ชาวกะเลิงเชื่อว่า เป็นการนำวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนจากหม้อมาใช้ขวดบรรจุกระดูกผู้ตาย แล้วใช้เทียนจุดที่เชือกให้ขาด คันแร้วจะตวัดขวดขึ้น ถือว่าเป็นการส่งวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์เช่นกัน (สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์, 2540, น. 287)
การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ
ชาวกะเลิงอำเภอดอนตาล จะมีการทำพิธีเลี้ยงผีชุมชน (เจ้าโฮงแป้นแผ่นทองเหลือง) ทุกปีในเดือน 6 เจ้าปู่ถือว่าเป็นผีมเหสักข์ที่บรรดาผู้เฒ่าหรือผู้อาวุโสของชุมชนอัญเชิญมาจากหนองบัวลำภู (หลายหมั่นสิงห์, สัมภาษณ์, 2560) เพื่อมาเป็นสิ่งสูงสุดในการนับถือให้คอยปกป้องดูแลหมู่บ้านและชุมชน โดยได้มีการสร้างหอโฮงเพื่อเชิญท่านให้ประทับ ต่อมาชาวบ้านได้เรียกเจ้าปู่ว่า “เจ้าโฮงแป้นแผ่นทองเหลือง” หรือเจ้าจอมหัวเจ้าปูมหัว (สุระ อุณวงศ์ และคณะ, 2542, น. 18) ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าปู่ชอบสีแดง ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงบุญพิธีเลี้ยงประจำปี ชาวบ้านจะนำเสื้อผ้าสีแดงพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าขาว หมูหรือไก่ อันเป็นเครื่องเซ่นไปถวายท่าน และร่วมเฉลิมฉลองกินดื่มเพื่อให้เจ้าปูพึงพอใจและยังผลให้เกิดการปกป้องคุ้มครองดูแลลูกหลาน รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ในการผลิต เช่น ข้าวกล้า เป็นต้น (บุญพะมาประสานชม, สัมภาษณ์, 2560) อย่างไรก็ดี งานเลี้ยงผีสูงสุดของชุมชนกะเลิงอำเภอดอนตาลนี้ ถือว่าเป็นพิธีสำคัญที่พวกเขาใช้แสดงออกซึ่งความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง เนื่องจากนิยมแต่งกายด้วยผ้าซิ่นและเสื้อสีดำหรือสีย้อมคราม ที่ใช้สื่อถึงความเป็นกะเลิง เสื้อผ้าดังกล่าวจะถูกสวมใส่มาร่วมพิธีและฟ้อนรำถวายเจ้าปู่ รวมถึงเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย ในงานจะมีคณะนางรำจากเทศบาลหรือต่างถิ่นและหมอลำหมอแคนมาร่วมเฉลิมฉลองในงาน นอกจากนี้ บางปีจะมีการจ้างคณะหมอลำหรือลำซิ่งมาตั้งเวทีแสดง โดยมีผู้คนต่างถิ่นที่ศรัทธาในเจ้าปู่มาบนบานขอพร และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : กะเลิง
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
กธิการ ตริสกุล. (2550). กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยกะเลิง. ใน สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน(บรรณาธิการ), กลุ่มชาติพันธุ์ในอีสาน. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2558). ชุมชนชาติพันธุ์ "บรู" ร่วมสมัยบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว: วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ดุษฎีนิพนธ์ สาขามานุษยวิทยา).
คำภา กระทุ่มขันธ์. (2526). วิเคราะห์ภาษากะเลิง บ้านเชิงชุม ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร: มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2526.
จิตร ภูมิศักดิ์. (2524). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ดวงกมล
ดำรงราชานุภาพ, ส. (2466). เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 4. พระนคร: โรงพิมพ์โสภรพิพรรฒธนากร.
ทรงคุณ จันทจร. (2553). การถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านในเรื่องทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง: มหาสารคาม : คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
บุญจันทร์ ทิพชัย.(2561). การบูรณาการการใช้ภูมิปัญญาเจ้าโคตรของกลุ่มชาติพันธุแไทยลาว ผู้ไทย และกะเลิง สุบทบาทหน้าที่ของผู้นําชุมชนในภาคอีสาน (วิทยานิพนธ์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์). มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
บุญช่วย เทอำรุง. (2537). วัฒนธรรมชาวบ้านกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเอกไทยคดีศึกษา. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
ประตูสู่อีสาน. (2564). ชนเผ่ากะเลิง. สืบค้นจาก https://www.isangate.com/new/11-paothai/146-paothai-khalearng.html.
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (2555). ผู้คนและชาติพันธุ์ลุ่มน้ำ โขงในงานค้นคว้าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรง.
ปุณชญา ศิวานิพัทน์ และราชันย์ นิลวรรณาภา. (2562). โครงสร้าง ที่มาและความหมายของคำเรียกชาติพันธุ์ในอีสาน. ดำรงวิชาการ, 18(2), 61-94. สืบค้นจาก https://so01.tci-thaijo.org/index.php/damrong/issue/view/16193.
พิฆเนศ อิสระมงคลรักษ์. (2556). อัตลักษณ์เชิงเลขนศิลป์ 8 กลุ่มชาติพันธุ์แถบลุ่มแม่น้ำโขง กรณีศึกษาจังหวัดมุกดาหาร. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
พิสิฏฐ์ บุญไชย. (2546). กะเลิงจังหวัดสกลนคร เจ้าสมุนไพรแห่งเขาภูพาน. อีสานศึกษา 2,3, (ต.ค.-ธ.ค. 2546), 26-34.
ภานุพงศ์ พิลาศรี. (2533). 'กะเลิง' สกลนครชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขงผู้รักความสงบ. มติชน, 19 กุมภาพันธุ์ 2533(17).
มุจลินทร์ ลักษณะวงษ์. (2559). การจัดกลุ่มย่อยภาษากะเลิงในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย). มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
รัตนา วรรณชาติ. (2559). การปรับตัวทางวัฒนธรรมในบริบทสังคมอีสานภายใต้รัฐไทยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงบ้านดอนตาลอำเภอดอนตาลจังหวัดมุกดาหารมหาสารคาม: พัฒนานิพนธ์ สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ราชานุภาพ. (ม.ป.ป.). สืบค้นจาก http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/765/fulltext.pdf?sequence=1&isAllowed=y.
วีระพงศ์ มีสถาน. (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย : กะเลิง: นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). กะเลิง. สืบค้นจาก http://123.242.145.23/portal/script/test.php?pageID=110&table_d=language&s_type=.
สุระ อุณวงศ์ และคณะ. (2542). หนังสือประวัติวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยกะเลิงบ้านดอนตาล. เอกสารอัดสำเนาเย็บเล่ม.
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2524). กะเลิง. เมืองโบราณ 7,3, (ส.ค.-พ.ย. 2524), 108-114.
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2530). การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2530). ศักยภาพในการรักษาป่าชุมชนของชนกลุ่มผู้ไทย โซ่ กะเลิง กรณีศึกษา จ. มุกดาหาร นครพนม และสกลนคร. สกลนคร: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสกลนคร.
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2535). กะเลิงบ้านกุดแฮด: สกลนคร : ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูสกลนคร, 2535.
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2539). กะเลิงบ้านบัว: สกลนคร. ขอนแก่น: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สุวิทย์ ธีรศาสวัต และณรงค์ อุปัญญ์. (2540). การเปลี่ยนแปลงวิถีครอบครัวและชุมชนอีสาน: กรณีกะเลิงจังหวัดมุกดาหาร (รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
Schliesinger, J. (2000). Ethnic groups of Thailand : Non-Tai-speaking peoples: Bangkok : White Lotus Press, c2000.
Schliesinger, J. (2003). Ethnic groups of Laos. 1. Introduction and overview: White Lotus Press.
Schliesinger, J. (2003). Ethnic groups of Laos. 2. Profile of Austro-Asiatic-speaking peoples: White Lotus Press.
Schliesinger, J. (2003). Ethnic groups of Laos: White Lotus Press.
ซุม ปริปุณะ, นาง, อายุ 77 ปีบ้านดอนตาลอ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร, สัมภาษณ์เมื่อ 2560, สัมภาษณ์โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
บัวผัน บุทธจักร, นาง, อายุ 65 ปีบ้านดอนตาลอ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร, สัมภาษณ์เมื่อ 2560, สัมภาษณ์โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
บุญพะมา ประสานชม, นาง, อายุ 80 ปี บ้านดอนตาลอ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร, สัมภาษณ์เมื่อ 2560, สัมภาษณ์โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
ร่วม อุทธศรี, นาง, อายุ 76 ปี บ้านดอนตาลอ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร, สัมภาษณ์เมื่อ 2560, สัมภาษณ์โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
ลี อุทธศรี, นาง, อายุ 76 ปี บ้านดอนตาลอ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร, สัมภาษณ์เมื่อ 2560, สัมภาษณ์โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
หลาย หมั่นสิงห์, นาง, อายุ 77 ปีบ้านดอนตาลอ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร, สัมภาษณ์เมื่อ 2560, สัมภาษณ์โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
เกียรติศักดิ์ บังเพลิง