กะแย เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐคะยา มีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยจากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับโลกของพระเจ้าและโลกของมนุษย์ผ่านพิธีกรรม "อิลู" หรือ ปอยต้นที ด้านวิถีการดำรงชีพส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้ในการดูแลตนเองและรักษาโรคด้วยสมุนไพร
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะแย
ชื่อเรียกตนเอง : กะแย, กะยา
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ยางแดง, กะหยิ่นนี, คะเรนนี, กะเหรี่ยงแดง
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : -
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน
กลุ่มชาติพันธุ์กะแย หรือที่รู้จักในประเทศไทยว่ากะเหรี่ยงแดงนั้น มีชื่อเรียกในภาษาตนเองคือ “กะแย” หมายถึงคนหรือมนุษย์ บางครั้งออกเสียงว่ากะแยลี นอกจากนี้ยังเรียกตัวเองว่า "บเว" อาจออกเสียงเป็น แบร บวอย หรือปะแย ได้ด้วยช่นกัน ขณะที่คนนอกวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือมักรู้จักในชื่อยางแดง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวกะแยสัมพันธ์กับชาวเมียนมาในรัฐคะยา ทำให้ในสังคมเมียนมาและเอกสารจากต่างประเทศรู้จักพวกเขาในชื่อ กะยา กะหยินนี หรือคะเรนนี แต่ในระยะหลัง คนรุ่นใหม่รณรงค์ให้ใช้ชื่อเรียก “กะแย” เนื่องจากต้องการสื่อสารให้คนนอกวัฒนธรรมเข้าใจวิถีวัฒนธรรมและตัวตนของชาวกะแยมากขึ้น
กะเหรี่ยงแดงหรือกะแยนั้น นักวิชาการสันนิษฐานว่าได้เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทยหลังยุคล่าอาณานิคม และมีความเข้มข้นของการเคลื่อนย้ายเมื่อเกิดสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่าหลังการปลอดปล่อยพม่าจากการเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ นำไปสู่สงครามกลางเมืองและการต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยเพื่อแยกตัวเป็นอิสระ ขณะที่หลักฐานตำนานพื้นบ้านของโยนกระบุว่า ผู้ครองแคว้นคะยาก่อนการเข้ามาของอังกฤษนั้น อยู่ภายใต้อาณัติของโยนกผู้อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ ซึ่งมีหน้าที่จ่ายค่าที่ดินรายปีให้กับเจ้านครเชียงใหม่ โดยมีสนธิสัญญาระหว่างกันว่าตราบใดที่แม่น้ำสาละวินไม่แห้ง เขาความไม่ตรง ถ้ำหลวงไม่ยุบ นครเชียงใหม่กับเมืองยางแดงจะเป็นพันธมิตรและไม่รุกรานกัน หลักฐานดังกล่าวชี้ชัดว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกะแยมาเนิ่นนาน ก่อนที่คนไตจะเข้ามารุกไล่ จนชาวกะแยต้องถอยร่นขึ้นไปทางเหนือหรือบริเวณชายขอบของเมืองแม่ฮ่องสอน และเคลื่อนย้ายเข้าไปในประเทศพม่าในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนอย่างเสรีก่อนการขีดเส้นแบ่งรัฐชาตินั้นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากต้องหาพื้นที่ทำกิน ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่หลักที่มีชาวกะแยอาศัยอยู่ รวมถึงพื้นที่ในอำเภอเมือง ที่ชาวกะแยกระจัดกระจายไปกว่า 40 ชุมชน จากคำบอกเล่าพบว่าชาวกะแยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาสามชั่วอายุคน หากแต่เคลื่อนย้ายไปมาตามไหล่เขาเพื่อหาที่ทำกิน ก่อนจะเริ่มตั้งหมู่บ้านถาวรเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ชาวกะแยมีพิธีกรรม "อิลู" หรือปอต้นที ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญอันแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกะแยไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งกระบวนการประกอบพิธีกรรมที่ชุมชนร่วมไม้ร่วมมือกัน การแบ่งสรรบทบาทหน้าที่ระหว่างชายหญิงในพิธีกรรม การประดิษฐ์ตกแต่งอิลูอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของการเชื่อมโยงระหว่างโลกของพระเจ้ากับโลกของมนุษย์ การเสี่ยงทายชะตาหมู่บ้านและเสี่ยงทายชะตาประจำปีของผู้ชายในชุมชนด้วยกระดูกไก่ตามความเชื่อวิญญาณณิยม การประกอบอาหารและเครื่องดื่มตามความเชื่อเพื่อถวายแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ตลอดจนการเต้นรำเพื่อถวายแก่พระเจ้าตามความเชื่อ
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ชาวกะเหรี่ยงถือเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยราจาห์ (2008 อ้างใน วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข, 2555) วิเคราะห์จากเรื่องเล่า ตำนาน และข้อมูลจากหลายส่วนว่า แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงอาจตั้งถิ่นฐานอยู่ในมองโกเลียเมื่อ 2,617 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาได้ย้ายมายังแถบตะวันออกของเตอร์กิสถานราว 2,013 ปีก่อนคริสตกาล และเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ทิเบต ราว 1,864 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนจะอพยพมายังมณฑลยูนนานของจีนราว 1,385 ปีก่อนคริสตกาล แล้วจึงเคลื่อนย้ายเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเขตภาคตะวันออกของประเทศพม่า ภาคเหนือ และตลอดแนวฝั่งตะวันตกของประเทศไทย โดยเข้ามาหลายระลอกด้วยกัน กลุ่มแรกเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 1,125 ปีก่อนคริสตกาล และมีกลุ่มเดินทางมาสมทบอีกในช่วง 759 ปีก่อนคริสตกาล (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข, 2555, น. 1-2)
ส่วนชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยนั้น นักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจอพยพมาจากประเทศพม่าทั้งสิ้น โดยกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาคือกลุ่มโพล่งหรือโป และปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงสกอ ส่วนกลุ่มของตองสู กะยาห์ กะยัน และกะยอ เป็นกลุ่มที่อพยพมาใหม่หลายระลอกด้วยกันนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่ราชอาณาจักรไทยและพม่าทำสงครามกันระหว่างช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาถึงช่วงต้นกรุงรัตโกสินทร์
นักวิชาการแยกกะเหรี่ยงออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ 1) กะเหรี่ยงสกอ (Sgaw) 2) กะเหรี่ยงโป (Pwo) 3) กะเหรี่ยงแบรหรือบเว (Bwe) และ 4) ตองสูหรือปะโอ (Taungthu/Pa-o) ในประเทศไทยพบกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนมาหลายร้อยปี ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก ประกอบด้วยสองกลุ่มย่อย คือ กลุ่มกะเหรี่ยงสกอร์และกลุ่มกะเหรี่ยงโป ส่วนกลุ่มย่อยอื่น ๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาในช่วงหลัง (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข, 2555, น. 2-4) มีหลายตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า กะเหรี่ยงทั้งสี่กลุ่มเป็นพี่น้องกัน หากแต่เคยมีความขัดเคืองใจกันบางอย่าง ทำให้ต้องแยกย้ายและออกเดินทางตั้งถิ่นฐานห่างกัน เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน จึงเกิดการปรับเปลี่ยนภาษาและผสมกลมกลืนกับชาติพันธุ์อื่น ทำให้ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงทั้งสี่กลุ่มใช้ภาษาพูดกันคนละภาษา หากแต่มีบางคำที่คล้ายคลึงกัน โดยนักภาษาศาสตร์จัดให้ภาษาพูดของชาวกะเหรี่ยงทั้งสี่กลุ่มอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลจีน–ทิเบต (Sino-Tibetan) และแตกลุ่มย่อยทางภาษาศาสตร์มาอีกสี่กลุ่มได้แก่ Titeto-Burman, Mon-Lhmer, Karen และ Tai (บัณฑิต ไกรวิจิตร, 2549, น. 46)
นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่ามีรัฐของตนสองรัฐคือ รัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงขาว (ปกาเกอะญอ) และรัฐคะยา (Kayah State) ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะแยหรือที่รู้จักกันในภาษาไทยในชื่อกะเหรี่ยงแดง แต่ทั้งสองรัฐนั้นก็มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มอื่นอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ทั้งสองรัฐต่างถือว่าตนเองเป็นรัฐอิสระที่มีระบบปกครองของตนเองแต่โบราณก่อนยุคอาณานิคม และเมื่อเข้าสู่ช่วงอาณานิคม อังกฤษใช้แนวนโยบายแบ่งแยกการปกครองและให้อิสระแก่รัฐชาติพันธุ์พอสมควร ทำให้ทั้งสองรัฐไม่ได้ขึ้นตรงต่อการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า ดังนั้นเมื่อพม่าได้รับอิสรภาพ รัฐชาติพันธุ์หลายรัฐจึงเกิดการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกการปกครองตนเอง โดยใช้ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ผนวกกับสัญญาปางโหลง (Panglong Agreement) เพื่อพยายามแบ่งแยกรัฐอิสระ ความขัดแย้งระหว่างรัฐอิสระกับรัฐบาลทหารพม่าจึงทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลใช้แนวนโยบายตัดสี่ (Four Cuts) เพื่อปราบปรามอำนาจของรัฐชาติพันธุ์ในเขตภูเขา (ดุลยภาค ปรีชาปรัชช, 2562)
กะแย กะเหรี่ยงแบรหรือบเว (Bwe) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อของกะเหรี่ยงแดงนั้น เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มกะเหรี่ยง (Karen) แต่มีความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมบางประการกับกลุ่มกะเหรี่ยงสกอ (Sgaw) ชาวกะแยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งแต่ช่วงก่อนยุคอาณานิคม โดยเดินทางโยกย้ายหมู่บ้านข้ามไปมาระหว่างรัฐก่อนการกำหนดเขตเส้นแบ่งรัฐชาติ โดยมีเรื่องเล่าจากผู้อาวุโสบ้านห้วยโป่งอ่อนว่า เมืองแม่ฮ่องสอนคือแผ่นดินดั้งเดิมที่บรรพบุรุษชาวคะแยซี (กะเหรี่ยงแดง) ได้บุกเบิกที่ดินทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนสืบต่อกันมา โดยมี “สะถึเผ่” เป็นต้นตระกูล ก่อนที่พวกไตจะอพยพลงมาและรุกไล่ให้ชนชาวกะเหรี่ยงแดงถอยร่นออกไปยังบริเวณชายขอบของเมืองแม่ฮ่องสอน จนต้องเคลื่อนย้ายเข้าไปในประเทศพม่าในที่สุด ส่วนกลุ่มที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นลูกหลานชาวกะเหรี่ยงแดงที่ตกหล่นจากการเคลื่อนย้ายครั้งนั้น (ยศ สันตสมบัติ และคณะ, 2544, น. 45-46) นอกจากนี้ มีอีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงสมัยที่จอละฝ่อเป็นผู้ปกครองดินแดนแคว้นคะยาก่อนการเข้ามาของอังกฤษ ซึ่งได้มีการทำสัตย์สาบานร่วมกับเจ้าอุปราชหอหน้าแห่งเมืองเชียงใหม่ว่า
"ตราบใดแม่น้ำคง (สาละวิน) บ่แห้งหาย เขาควายบ่ซื่อ (ตรง) ถ้ำหลวงยังบ่ยุบ เมืองนครเชียงใหม่กับเมืองยางแดง จะต้องเป็นมิตรไมตรีไม่รุกรานกันตราบนั้น" (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2551, น. 92-93)
หลักฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ชาวกะแยตั้งถิ่นฐานอยู่ในล้านนาตั้งแต่เมื่อฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินอยู่ภายใต้อำนาจของโยนก โดยอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ด้วยการจ่ายเงินค่าที่ดินรายปีให้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ รวมถึงส่งเครื่องบรรณาการอื่น เช่น ผ้าทอ น้ำผึ้งป่า และผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งแสดงถึงสัมพันธภาพอันดีระหว่างเมืองยางแดงกับเมืองเชียงใหม่ (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข, 2555, น. 3) เห็นได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่เคลื่อนย้ายไปมาตามแนวทิวเขาสูงด้านตะวันตกนั้น เป็นคนพื้นเมืองติดแผ่นดิน (indigenous peoples) ในดินแดนนี้มาก่อนการขีดเส้นแบ่งรัฐชาติ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มย่อยต่างมีวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป
ผู้อาวุโสในพื้นที่ชุมชนกะแยบ้านห้วยผึ้งและบ้านห้วยโป่งอ่อนต่างกล่าวตรงกันว่า บรรพบุรุษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้มาหลายชั่วอายุคน อาจโยกย้ายไปหมู่บ้านใกล้เคียงบ้าง แต่ไม่ได้ห่างไกลจากถิ่นฐานเดิมมากนัก สามารถเดินเท้าติดต่อสื่อสารกันได้ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นคนติดแผ่นดินมาก่อนการแบ่งแยกเขตแดนรัฐชาติ และเมื่อมีนโยบายผสมกลมกลืนเข้ามาในพื้นที่ชายแดน ทำให้ผู้คนบริเวณดังกล่าวได้รับสถานะเป็นคนไทยผ่านการออกบัตรประชาชน อีกทั้งรุ่นลูกรุ่นหลานได้เข้าระบบการศึกษาไทยตามนโยบายของรัฐ ทั้งนี้ ผู้อาวุโสในยังคงใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสื่อสารระหว่างกันในชุมชน รวมถึงมีสำนึกของความเป็นชาติพันธุ์กะแยอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งไม่ได้เกาะเกี่ยวกับความเป็นรัฐคะยาในประเทศพม่า
"เกิดมาก็อยู่ตรงนี้แล้ว พ่อแม่ ปู่ย่าก็อยู่ตรงนี้ ย้ายไปย้ายมาตามไร่ เราก็อยู่ตรงนี้ เป็นคนไทย เป็นกะแยด้วย" (แปล ปราสาทดียิ่ง, ผู้อาวุโส บ้านห้วยผึ้ง, สัมภาษณ์, 2561)
สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (2562) กล่าวไว้ว่า กลุ่มกะเหรี่ยงแบรหรือบเวนั้น ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มย่อยด้วยกัน ทั้งกะเหรี่ยงคอยาวซึ่งมีชื่อเรียกตัวเองว่ากะยันหรือกะยั้ง กะเหรี่ยงหูใหญ่ซึ่งมีชื่อเรียกตัวเองว่ากะยอ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกลุ่มคนไตหรือไทใหญ่ กลุ่มคนปะโอหรือตองสู ซึ่งแต่ละกลุ่มย่อยต่างก็มีภาษาของตนเองที่แตกต่างกันออกไป ในรัฐคะยาประเทศพม่านั้น ไม่ได้แบ่งแยกย่อยเหมือนการจำแนกในประเทศไทย หากแต่ใช้สำนึกความเป็นคนของรัฐคะยาเป็นสำคัญ ดังนั้นในรัฐคะยาจึงเรียกควบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ร่วมกันว่า "คะเรนนี" หรือกะเหรี่ยงแดงเมื่อแปลเป็นคำในภาษาไทย ขณะเดียวกัน กุลธิดา นิวิฐกุลนิภา ได้ศึกษาเรื่องการสร้างพื้นที่อัตลักษณ์ของผู้ลี้ภัยคะเรนนี: กรณีศึกษาของค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลี้ภัยมาจากรัฐคะเรนนีอาศัยอยู่ร่วมกันได้ และพยายามสร้างอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นคะเรนนีในนามของรัฐชาติ (nation) มากกว่าในนามของกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic group) งานศึกษาของกุลธิดาอธิบายไว้ว่าในภาวะที่ผู้เคลื่อนย้ายถูกจำกัดทางพื้นที่ ทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศเจ้าบ้านที่เข้ามาพักพิง พวกเขาจะพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองผ่านประเพณีและพิธีกรรม เช่น การจัดงานวันชาติคะเรนนี พิธีดีกู่ (ปอยข้าวต้ม) และพิธีเก่โทโบ่ (ปอยต้นที) เพื่อรื้อฟื้น ผลิตซ้ำ และตอกย้ำความหมายของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อมโยงกับคะเรนนีในพื้นที่อื่นและเป็นการสร้างอัตลักษณ์ร่วม พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวได้หลอมรวมหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลี้ภัยจากรัฐคะเรนนีและเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนของศูนย์พักพิงชั่วคราว (กุลธิดา วินิฐกุลนิภา, 2560) ภายใต้การสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำเอาพิธีกรรมเพียงบางพิธีกรรมมาเป็นตัวแบบในการหลอมรวมผู้คนที่มาจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์นั้น เป็นความพยายามในการสร้างรัฐชาติคะเรนนี ควบรวมทุกคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยไว้ในนามของ "คะเรนนี" อย่างไรก็ตาม การสร้างอัตลักษณ์และพื้นที่ดังกล่าวได้ละเลยอัตลักษณ์และพื้นที่ของชาติพันธุ์ย่อยที่รวมอยู่ในกระบวนการสร้างรัฐชาติ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันนี้ ทำให้ตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยถูกละเลย มองข้าม และเป็นการยัดเยียดอัตลักษณ์ใหม่ให้พวกเขา
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
ชาวกะแยในประเทศไทย พบข้อมูลการตั้งถิ่นฐานเพียงในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เริ่มตั้งเป็นชุมชนถาวรได้ไม่นานนัก ซึ่งนับย้อนไปประมาณ 50 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตามประวัติคำบอกเล่า ชาวกะแยอยู่อาศัยในแถบนี้มานานนับเท่าที่ผู้อาวุโสในชุมชนจำความได้คือสามชั่วอายุคน โดยก่อนหน้านั้น ชาวกะแยตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหย่อมบ้านและเป็นกลุ่มเครือญาติตามไหล่เขาห่างไกลชุมชน เนื่องจากวิถีชีวิตทำไร่หมุนเวียนและระบบเกษตรแบบยังชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยผลผลิตจากป่า จึงโยกย้ายไปมาหลายที่ กระจัดกระจายออกไปตามไหล่เขาและที่ราบในหุบเขา หรือบางกลุ่มบ้านจะต้องบ้านเรือนในเขตภูเขาที่ห่างไกลจากชุมชนหลัก
ลักษณะการตั้งชุมชนของชาวกะแยเป็นการโยกย้ายไปมาในหลายชุมชนหลายหมู่บ้าน โดยดูจากความเหมาะสมของที่ทำกินเป็นหลัก ประกอบกับความเชื่อที่ว่า หากอาศัยอยู่ในชุมชนใดแล้วอยู่ไม่สงบสุขหรือมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ต้องย้ายไปชุมชนอื่นหรือย้ายที่ตั้งชุมชนใหม่ บางครอบครัวอาจย้ายไปมาหลายชุมชนหลายหมู่บ้านกว่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่ได้ ประกอบกับเมื่อหน่วยงานราชการเริ่มมีการสำรวจชุมชน ด้วยความห่างไกลของชุมชนชาวกะแยและการสัญจรที่ยากลำบาก ทำให้การเข้าไปสำรวจชุมชนทำได้ไม่ดีนัก ผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้นจึงได้ชักชวนให้ชาวกะแยลงมาอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชนมากขึ้น เพื่อจะได้ดูแลเรื่องสิทธิ การอยู่อาศัย การศึกษาของเด็ก การให้ความช่วยเหลือ หรือการดูแลเรื่องสุขภาพ ชาวกะแยจึงตัดสินใจโยกย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนที่ราชการรับรองและมีความสะดวกในการเดินทางหลังจากนั้นไม่นาน บางชุมชนเริ่มต้นจากการเป็นหย่อมบ้านของอีกหมู่บ้านหนึ่ง เมื่อจำนวนประชากรที่ย้ายลงมาสมทบกันมีจำนวนมากพอและมีองค์ประกอบครบถ้วน จึงจัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่แยกออกมาจากหมู่บ้านเดิม พบว่าในช่วง 10 ปีแรก บางครอบครัวย้ายไปย้ายมาในหลายหมู่บ้านตามสายสัมพันธ์ของเครือญาติและปัจจัยด้านที่ทำกิน รวมถึงความสบายใจในการอยู่ในแต่ละชุมชน เนื่องจากชาวกะแยนับถือผีเป็นศาสนาหลัก ทำให้การย้ายถิ่นไปมาต้องพิจารณาจากการเสี่ยงทายเมื่อเกิดเหตุหรือเกิดความไม่สบายใจในครอบครัว (แปล ปราสาทดียิ่ง, อำนาจ มีเมืองงาม, 2561)
สุชาติ งามประพฤติ ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงแดง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ช้อมูลว่า ชุมชนกะแยในแม่ฮ่องสอนมีสองลักษณะ คือ 1) เป็นชุมชนที่มีเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะแย และ 2) เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันตั้งแต่สองกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นไป โดยแม้ชุมชนลักษณะแรกจะเป็นชุมชนที่อยู่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะแย แต่ในความเป็นจริงมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วยในลักษณะของการแต่งงานเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวทั้งเขยและสะใภ้ มีทั้งคนไทใหญ่ คนเมือง คนลีซู ฯลฯ ถึงแม้ว่าคนจากต่างกลุ่มชาติพันธุ์จะแต่งงานเข้ามาอยู่ในชุมชน แต่วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็ยึดรูปแบบของกลุ่มชาติพันธุ์กะแย โดยมีชุมชนลักษณะนี้จำนวน 7 ชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่
1) บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา
2) บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่
3) บ้านทบศอก ตำบลหมอกจำแป่
4) บ้านไม้สะเป่ ตำบลปางหมู
5) บ้านดอยแสง ตำบลปางหมู
6) บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง
7) บ้านห้วยช่างเหล็ก ตำบลผาบ่อง
ส่วนชุมชนที่อยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น มีจำนวน 7 ชุมชน ได้แก่
1) บ้านห้วยเสือเฒ่า ตำบลผาบ่อง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย กะยัน และกะยอ
2) บ้านห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแยและไทใหญ่
3) บ้านห้วยช่างคำ ตำบลห้วยโป่ง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแยและปกาเกอะญอ
4) บ้านนาป่าแปก ตำบลหมอกจำแป่ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ม้ง ไทใหญ่ ปะโอ และปกาเกอะญอ
5) บ้านห้วยมะเขือส้ม ตำบลหมอกจำแป่ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ปะโอ ม้ง และไทใหญ่
6) บ้านสบป่อง ตำบลปางหมู มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแยและไทใหญ่
7) บ้านใหม่ในสอย ตำบลปางหมู ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านใหม่ในสอย เป็นศูนย์ดูแลผู้เคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าที่หลบหนีภัยสงคราม ซึ่งมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ไทใหญ่ กะยัน กะยอ และเมียนมา ในขณะที่พื้นที่นอกศูนย์พักพิงชั่วคราวจะมีชุมชนชาวไทใหญ่อยู่ร่วมกัน
ทั้ง 14 ชุมชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแยอาศัยอยู่นั้น ทั้งที่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นและอาศัยอยู่เพียงกลุ่มชาติพันธุ์เดียว แต่เนื่องจากชุมชนรายรอบ รวมถึงประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ส่งผลให้ชาวกะแยมีการหยิบยืมและเปลี่ยนผสานความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมหลายอย่างระหว่างกัน เป็นลักษณะของความลื่นไหลทางวัฒนธรรม (สุชาติ งามประพฤติ, 2561)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
การดำรงชีพ
ในอดีต ชาวกะแยอาศัยอยู่ห่างไกล เนื่องจากวิถีชีวิตสัมพันธ์กับการทำไร่หมุนเวียน แต่เมื่อรัฐประกาศห้ามทำไร่ การปลูกข้าวจึงถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เดิม ทำให้ผลผลิตลดลง จำเป็นต้องใส่ปุยและใช้ยาฆ่าหญ้า นอกจากพื้นที่ไร่แล้ว ในชุมชนมีพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาจำนวนไม่มากนักที่สามารถทำนาได้ และยังมีการปลูกพืชอายุสั้นตามฤดูกาล เช่น กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วลายเสือ เป็นต้น คนหนุ่มสาวนิยมออกไปทำงานในเมืองแม่ฮ่องสอนและต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ทำให้ในชุมชนเหลือคนวัยกลางคน วัยสูงอายุ และเด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันทำพิธีอิลู หนุ่มสาวที่จากบ้านไปก็จะกลับมาบ้านเพื่อร่วมพิธีและทำการเสี่ยงทายโชคชะตาประจำปี
ชุมชนกะแยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้าย ซึ่งประกาศไว้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2506 และมีการเพิกถอนพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริศูนย์โป่งแดง โดยประกาศพื้นที่ใหม่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2534 (กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2559) ด้านการดำรงชีพนั้น เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้มีข้อกำจัดด้านการทำไร่ เนื่องจากไม่สามารถใช้พื้นที่เพิ่มเติมจากการสำรวจของหน่วยงานราชการได้ หลังจากการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติใหม่เมื่อปี 2534 มาตรการและการควบคุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ปีที่หนึ่งแล้วปล่อยทิ้งไว้ 5 - 7 ปีเพื่อให้พื้นที่ฟื้นคืนความสมบูรณ์และกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
ในมุมมองของหน่วยงานรัฐเห็นว่า พื้นที่เดิมที่เคยใช้ในการเกษตรแล้วปล่อยพักฟื้นให้ต้นไม้โตแล้ว จะถือเป็นพื้นที่ป่าและจะถูกกันออกไปจากการจัดทำเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน คนในชุมชนไม่มีสิทธิครอบครองพื้นที่ทั้งส่วนของพื้นที่ตั้งบ้านเรือนและพื้นที่ทำกิน แต่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์และส่งต่อให้ลูกหลานใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนในชุมชนมีพื้นที่ทำกินลดลง ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนอาชีพและเปลี่ยนรูปแบบการผลิต เช่น เดิมนิยมปลูกพืชไร่ถาวรและพืชหมุนเวียน แต่ปัจจุบันเป็นการใช้พื้นที่ซ้ำหลายครั้งและจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มผลผลิต รวมถึงใช้สารกำจัดวัชพืชร่วมด้วย
โครงสร้างทางสังคม
ชาวกะแยนับถือผีฝ่ายแม่ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องย้ายไปอยู่ครอบครัวฝ่ายหญิงหนึ่งฤดูกาลผลิต หลังจากนั้นจึงสร้างบ้านใหม่ใกล้กับครอบครัวของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ครอบครัวในความหมายของชาวกะแยหมายรวมถึงมีระบบการผลิตและมีไร่ของตนเองเพื่อทำพิธีกรรมทางการเกษตร ส่วนสังคมชาวกะแยเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว ทำให้มีการหย่าร้องน้อย อีกทั้งไม่ปรากฏการได้เสียก่อนแต่งงาน เนื่องจากถือว่ากระทำผิดผี (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2564)
ศาสนา
ชาวกะแยนับถือศาสนาพุทธตามบัตรประชาน แต่ในวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมนั้นนับถือผี ทั้งนี้เนื่องจากชีวิตสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่จึงรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาบางอย่างมาผสมกลมกลืนในวัฒนธรรมเดิมของตน ชาวกะแยมีความเชื่อเรื่องผีอย่างลึกซึ้ง บทบาทของผีอยู่ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย วิถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผี จนสามารถเรียกได้ว่า "ศาสนาผี" อันว่าศาสนานี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมของนับตั้งแต่บรรพกาลที่บรรพบุรุษพาทำ ถ่ายทอด สั่งสมและส่งต่อมาสู่พวกเขาในรุ่นนี้ ถึงแม้ว่าในบัตรประชาชนจะระบุชัดเจนว่าเป็น "ศาสนาพุทธ" หากแต่ในวิถีปฏิบัตินั้นชาวกะแยยังนับถือผีทั้งหมด จะมีเพียงบางกิจกรรมหรือบางบุคคลเท่านั้นที่นำเอาพิธีกรรมทางศาสนาพุทธเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ในบางครอบครัวได้นำเอาพิธีสวดศพตามรูปแบบพิธีกรรมของศาสนาพุทธเข้ามาผสมกับการเลี้ยงผีและพิธีศพตามหลักความเชื่อเดิม กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาที่เด็กนักเรียนและผู้นำชุมชนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐราชการ เช่น วันออกพรรษา วันมาฆบูชา ถึงแม้ว่าในชุมชนจะมีสำนักสงฆ์ตั้งอยู่ มีพระออกมาบิณฑบาตตอนเช้า แต่มีการตอบรับจากชุมชนในส่วนน้อย ไม่มีบุตรหลานเข้าไปบวช ไม่ค่อยจะมีคนใส่บาตร หรือเข้าวัดฟังธรรมในวันพระ ยกเว้นวันสำคัญทางศาสนาที่รัฐราชการสั่งการให้ประกอบพิธีกรรม ในส่วนของศาสนาคริสต์นั้นมีผู้นับถือจำนวนน้อย "…..เราถือผี แต่เราก็ถือพุธตามบัตร จะว่าพุธก็ไม่เชิง มาหลัง ๆ นี่แหละเริ่มผสมกันมีพิธีทางพุธเข้ามาบ้าง แต่ตามประเพณีเราคือถือผี….” (อำนาจ มีเมืองงาม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยโป่งอ่อน 24 มกราคม 2561)
ความเชื่อเรื่องผี
"การนับถือผี” หรืออีกนัยยะหนึ่งคือการนับถือบรรพบุรุษ และธรรมชาติผนวกกัน ความเชื่อที่ว่าทุกพื้นที่ ขุนห้วย แผ่นดิน มีเจ้าผู้ดูแลอยู่ ดังนั้นเมื่อจะย้ายเข้าไปอยู่ จะใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ สถานที่ หรือกระทำอะไรก็ตามต้องขออนุญาตเจ้าที่ผู้ปกปักรักษาสถานที่นั้นการนับถือผี หรือศาสนาผี หรืออาจะเรียกอีกอย่างได้ว่าการนับถือบรรพบุรุษนั้นก่อกำเนิดมาก่อนการเข้ามาของศาสนาสากลอย่างศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ ดังนั้นถึงแม้ว่าเมื่อความเป็นรัฐชาติที่ขีดกรอบเรื่องศาสนาหลักเพียงสองศาสนา ศาสนาพุทธ จึงมักถูกระบุว่าเป็นศาสนาของคนในชุมชน ขณะที่ในเชิงปฏิบัตินั้นยังคงยึดถือศาสนาดั้งเดิมของตน และมีการปรับปรน ผสมผสานกับศาสนาสากลบ้างในบางพิธีกรรมตามกาละเวลาที่ผันผ่านไป
"…..ตลอดชีวิตของคนกะแย จะมีสิบผี ที่ทำพิธีเลี้ยง ต้องบูชา ทั้งผีหมู่บ้านมีกำหนดชัดเจน ผีน้ำ ผีป่า ผีบ้านผีเรือน ที่ทำกันเองในครอบครัว เราทำตามที่คนเฒ่าทำมา…” (แปล ปราสาทดียิ่ง ผู้อาวุโส บ้านห้วยผึ้ง 25 มกราคม 2561)
คนกะแยผูกสัมพันธ์กับผีนับแต่เกิดจนตาย มีพิธีกรรมสำคัญหลายอย่างที่ยังคงรักษาสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ หากแต่บางพิธีก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะเมื่อตั้งหมู่บ้านถาวร หลายสิ่งอย่างที่เคยถือปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็เริ่มลบเลือนไป ประกอบกับรายรอบหมู่บ้านเป็นชุมชนไทใหญ่ ทำให้ภาษาวัฒนธรรมหลายอย่างแทรกซึมเข้ามาผสานกันไป การนับถือผีและพิธีกรรมความเชื่อของคนกะแยนั้นมีในสองระดับคือ ระดับชุมชนและระดับครอบครัว โดยปัจจุบันนี้มีพิธีกรรมที่มีการเซ่นไหว้บูชาผีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมดนับได้เก้าพิธีได้แก่ หนึ่ง เลี้ยงผีปีใหม่ หรือพิธี “อิลู” หรือปอยต้นทีในภาษาไทใหญ่ สองเลี้ยงผีทำบุญสิ้นปีในพิธี “ปอหมิ” หรือที่รู้จักกันในชื่อปอยข้าวต้ม เป็นการทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงงลับไปแล้ว สามเลี้ยงผีต้นน้ำ ทำปีละหนึ่งครั้งเพื่อเสี่ยงทายเรื่องน้ำท่าในปีต่อไป สี่เลี้ยงผีทำขวัญข้าว ครอบครัวไหนที่ทำไร่ข้าว ทำนา ก็จะทำพิธีนี้ที่ไร่ ที่นาเพื่อของคุณ ห้าเลี้ยงผีข้าวไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วขนข้าวกลับมายังยุ้งฉางแล้วจึงทำพิธีนี้ หกเลี้ยงผีในพิธีแต่งงานครั้งที่สอง เจ็ด เลี้ยงผีทำบุญบ้าน แปด เลี้ยงผีทำบุญให้ผู้ล่วงลับ (เฉพาะครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิตในปีนั้น) เก้าเลี้ยงผีดูไร่ใหม่ จะเลี้ยงก่อนทำการเกาะปลูกในฤดูกาลใหม่ (แปล ปราสาทดียิ่ง, 2561)
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี
"อิลู" หรือปอยต้นที
พิธีอิลูหรือปอยต้นที เป็นพิธีสำคัญของชาวกะแย ซึ่งได้ทำการสำรวจภาคสนามจากสองชุมชนหลัก ได้แก่ ชุมชนบ้านห้วยผึ้งและชุมชนห้วยโป่งอ่อน ในปี 2562 ดังนี้
พิธีอิลูจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนหลังสงกรานต์ เป็นการจัดพิธีเพื่อเลี้ยงผีที่ปกปักรักษาหมู่บ้าน เชื่อว่าหากจัดพิธีนี้แล้วคนในหมู่บ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข โดยการกำหนดวันจัดพิธีในอดีตนั้น จะใช้วิธีการเสี่ยงทายดูกระดูกไก่โดยผู้อาวุโส ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะจัดพิธีไม่ตรงกันตามแต่การทำนายของผู้อาวุโสและการกำหนดร่วมกันของคนในหมู่บ้าน ในการประกอบพิธีกรรมจะมีหนึ่งครอบครัวที่รับเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี ซึ่งครอบครัวนี้จะเป็นคนแรกเริ่มในการทำพิธีต่าง ๆ
แต่เดิมนั้นประเพณีอิลูจะจัดงาน 4 วัน โดยวันแรก เรียกว่า “เมาะเนอกวา” คือ วันคัดสรรและทำการตัดต้นอิลู วันที่สอง เรียกว่า “เมาะเนอ ติ๊หรี่” คือวันตกแต่งต้นอิลูให้สวยงามและตรงตามหลักความหมายพิธีกรรมโบราณ วันที่สาม เรียกว่า “เมาะเนอโอ่จอ” คือวันรับแขกที่มาร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่และร่วมพิธีกรรม และวันที่สี่ เรียกว่า “เมาะเนอแต” คือวันถวายต้นอิลูและวันประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
ปัจจุบันนิยมจัดงานประเพณีอิลู 3 วันเท่านั้น เนื่องจากการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างเครือญาติและการร่วมเฉลิมฉลองมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น จึงรวมวัน “เมาะเนอโอ่จอ” เข้ากับ “เมาะเนอตี๊หรี่” หรือ “เมาะเนอแต” ให้เป็นวันต้อนรับแขกร่วมด้วย วันมงคลในการจัดงานอิลู คือ วันขึ้นหรือแรม 3 ค่ำ หรือวันขึ้นหรือแรม 13 ค่ำเดือนห้าตามปฏิทินจันทรคติ หรือสามารถใช้วิธีการเสี่ยงทายกระดูกไก่เพื่อดูวันมงคลสำหรับประกอบพิธีกรรมทดแทนได้เช่นกัน ไก่ที่นำมาใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงพิธีกรรมทำนายชะตา จะใช้ไก่ตัวผู้ในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น
เมื่อกำหนดวันในการประกอบพิธีได้แล้ว ชุมชนจะสรรหาเจ้าพิธีเพื่อเป็นแกนกลางในการอำนวยการพิธีกรรม เจ้าพิธีมีบทบาทหลักทั้งการแบ่งภาระงาน แบ่งหน้าที่ให้คนแต่ละกลุ่มช่วยรับผิดชอบงาน รวมถึงดำเนินการด้านพิธีกรรมและการเสี่ยงทายต่าง ๆ ทั้งนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา หลายชุมชนมักจัดพิธีกรรมเพียงสามวัน คือ วันที่หนึ่ง เป็นการคัดสรรและเลือกต้นอิลู วันที่สอง เป็นการประดับตกแต่งให้เรียบร้อย พร้อมรับรองแขกที่มาเยี่ยมเยียน และวันที่สาม เป็นการถวายต้นอิลูพร้อมการตรวจดวงชะตาด้วยการดูกระดูกไก่ โดยกิจกรรมในแต่ละวันมีรายละเอียดดังนี้
วันที่หนึ่ง การคัดสรรและทำการตัดต้นอิลู ในการคัดเลือกต้นไม้สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมนั้น ตามตำนานเล่าว่า ยุคแรกใช้ต้น “โต๊ะ โป่ หม่อ” แต่เนื่องจาก “โต๊ะ โป่ หม่อ” เป็นพืชล้มลุก จึงได้มีการค้นหาต้นไม้ยืนต้น จนพบ “เตอเมอหม่อ” หรือ ต้นหว้า ในภาษาไทย หรือต้นไม้สะเป่ในภาษาไทใหญ่ ซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้นชนิดแรกที่เกิดขึ้นในโลก และถือเป็นไม้มงคลที่นำยอดใบหว้ามาประกอบพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยป้องกันอันตรายและช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้พ้นไปได้
ในวันนี้ ผู้ชายจะเตรียมไปตัดต้นไม้เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยเลือกใช้ไม้มงคลตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ คือ ไม้หว้าหรือในภาษาพื้นเมืองเรียกไม้สะเป่ ทำการคัดเลือกต้นที่มีลำต้นตรงไม่แตกกิ่งแขนงออกมา เปลือกไม้เรียบสวยงามตามลักษณะของสายพันธุ์ ลำต้นสมบูรณ์ไม่มีโรคแมลง ความสูงพอเหมาะกับที่ต้องการใช้ แต่โดยทั่วไปจะเลือกความสูงมากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย หากไม่มีไม้หว้าที่เหมาะสมสามารถเลือกใช้ไม้สักหรือไม้แงะแทนได้ ในส่วนของขนาดลำต้นนั้นจะเลือกตามขนาดของหมู่บ้าน หากหมู่บ้านเล็กจะเลือกต้นเล็ก หากหมู่บ้านใหญ่จะเลือกต้นใหญ่ เพราะในการเคลื่อนย้ายต้นไม้มานั้นจะใช้ผู้ชายในหมู่บ้านช่วยกันหามเข้าหมู่บ้าน ต้นไม้ที่ถูกเลือกมาทำเป็นต้นอิลูนั้น มีกฎว่าต้องเป็นต้นไม้ที่มีลำต้นตรง และต้องไม่มีรังนกอยู่บนต้นไม้ เนื่องจากเชื่อว่าต้นไม้ที่นำมาถวายและประกอบพิธีกรรมต้องประกอบไปด้วยคุณธรรมและความเที่ยงตรง
ในการไปเลือกต้นไม้ ฝ่ายชายของครอบครัวเจ้าภาพ พร้อมด้วยผู้อาวุโส และผู้ชายที่แข็งแรงในหมู่บ้านจะออกจากหมู่บ้านไปคัดเลือกต้นไม้ เมื่อเลือกได้แล้ว จะมีพิธีขอขมาต้นไม้ก่อนการตัดฟัน เมื่อทำพิธีขอขมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายของครอบครัวเจ้าภาพจะเป็นคนลงขวานครั้งแรกพอเป็นพิธี หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชายทั้งหมดก็ช่วยกันตัดฟันต้นไม้ โดยระวังไม่ให้ต้นไม้ล้มลงสู่พื้นดิน ต้องช่วยกันประคองและทำไม้ค้ำระหว่างตัดแต่งถากเปลือกไม้ออกให้หมด เหลาปลายเสาให้กลมสวยงาม เมื่อทำการตัดต้นอิลูเสร็จเรียบร้อย จะต้องนำข้าวตอก ดอกไม้ และยอดใบไม้สะเป่บูชาไว้บนยอดต้นอิลู
หลังจากนั้น จะช่วยกันแบกต้นไม้ออกจากป่าเข้าหมู่บ้าน ในขบวนแห่ต้นไม้เข้าหมู่บ้านนั้นจะมีเครื่องดนตรีแห่นำ มีการตีฆ้อง ตีฉาบ เป่าปี่ นำขบวน หากครอบครัวเจ้าภาพมีบุตรหลานผู้ชายวัยเด็ก จะให้เด็กแต่งตัวด้วยชุดชาติพันธุ์ของตนเองขี่ต้นไม้ออกมาด้วย เมื่อขบวนแห่เดินเข้าสู่เขตชุมชน ผู้หญิงจะตระเตรียมน้ำส้มป่อยเพื่อรดน้ำต้อนรับขบวนแห่เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อแบกหามต้นไม้มาถึงลานพิธีแล้ว จะวางไว้ในลานพิธี โดยปลายด้านที่จะฝังลงดินให้วางติดพื้นดิน ส่วนปลายยอดที่เหลาตกแต่งปลายเสาให้กลมจะมีไม้ค้ำไว้เพื่อเตรียมประดับตกแต่ง
วันที่สอง การตกแต่งต้นอิลู นอกจากลำต้นอิลูแล้ว ยังมีองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ของต้นอิลูด้วย ได้แก่ ส่วนยอดซึ่งประดับตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ พระอาทิตย์ และพระจันทร์ หลังคาปราสาทจำลอง และตุง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. “เต๊าะหม่อ" (พระอาทิตย์) และ "เล" (พระจันทร์) อยู่ส่วนบนสุดของต้นอิลู ประกอบไปด้วยไม้แผ่นแกะสลักรูปสัญลักษณ์พระอาทิตย์และพระจันทร์ เพื่อบูชาให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
2. “โบ๊ะเหล่” หรือใบข้าว เป็นไม้แกะสลักสัญลักษณ์ใบข้าว เชื่อว่าเป็นเมล็ดพันธุ์พืชเก่าแก่คู่มนุษย์โลกที่เทพธิดา “พอซูลุโหมะ” และพระผู้เป็นเจ้ามอบให้มนุษย์ไว้เป็นอาหารหลักตั้งแต่อดีตกาล
3. "กล่อเหล่/เตอเมอเหล่" หรือใบไม้สะเป่ ใบต้นโพธิ์ต้นไทร เป็นแผ่นไม้แกะสลักเป็นรูปใบไม้สะเป่และใบไม้โพธิ์ เชื่อว่าเป็นไม้มงคล
4. “จ๊อปุ๊แหระหิขุ” หรือหลังคาปราสาทจำลองที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในเมือง “ดอตอเมาะขุ” หรือสรวงสวรรค์ ดินแดนดั้งเดิมที่มนุษย์จากมา
5. "เกลอะ" หรือ ธนู เชื่อว่าเป็นอาวุธชิ้นแรกที่ "พอซุลุโหมะ" มอบให้มนุษย์ และเป็นอาวุธที่กะแยใช้ยิงดวงอาทิตย์ดวงที่อยู่ใกล้โลก จนพระอาทิตย์ดวงนั้นตกเลือดกลายเป็นพระจันทร์ในทุกวันนี้
6. “อิ๊ขู่ชีบ่า” หรือ โลก เป็นสัญลักษณ์รูปโลกซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตกแต่งต้นอิลู
7. “ถู่” หรือ นก เป็นไม้แกะสลักรูปนก ที่เชื่อว่าเป็นผู้ขยายพันธุ์เมล็ดพืชให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นหนึ่งในสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ช่วยเหลือมนุษย์
8. “แซะแหระ” หรือ ตุง เป็นผ้าสีขาวที่เย็บเป็นตุงปลายพู่ทำด้วยด้ายสีแดง วาดภาพตกแต่งด้วยภาพสัตว์ตามนักษัตรหรือรูปพืชและสัตว์ที่เชื่อว่าถูกสร้างและเดินทางมาสู่โลกพร้อมกับมนุษย์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย กระรอก เป็นต้น โดยส่วนตุงจะต้องมีความยาวเท่าต้นอิลู เชื่อว่าปลายพู่สีแดงจะช่วยปัดเป่าสิ่งสกปรกชั่วร้ายให้พ้นไปได้ เพื่อที่ตุงและต้นอิลูจะเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์อันบริสุทธิ์ที่เชื่อมไปสู่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าและเทพผู้สร้าง ให้พิธีกรรมการเฉลิมฉลองปีใหม่ พิธีกรรมการรำลึกคุณเทพเจ้าและบรรพบุรุษ และการบูชาขอพรทำนายประจำปีนั้นสำเร็จผลด้วยดีตลอดปี กฎสำคัญของแซะแหระ หรือตุง คือ ผู้ที่จะทำการเย็บแซะแหระต้องเป็นสาวบริสุทธิ์เท่านั้น (หากไม่มีสาวบริสุทธิ์ ผู้ชายสามารถเย็บแทนได้)
นอกจากการเตรียมองค์ประกอบทั้งแปดอย่างของการตกแต่งอิลูแล้ว วันดังกล่าวยังเป็นการเตรียมองค์ประกอบส่วนอื่นของพิธี ได้แก่การเตรียมร้านสำหรับวางข้าวของเซ่นไหว้ การตัดไม้ไผ่สำหรับเตรียมไว้สำหรับหลามไก่ การเตรียมฟืนสำหรับก่อกองไฟหลามไก่ วันเตรียมการนี้จึงจะเห็นความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชน ในขณะที่กลุ่มชายหนุ่มและผู้เฒ่าจะช่วยกันเตรียมการพิธี กลุ่มผู้หญิงจะทำหน้าที่เตรียมอาหารการกิน แต่ละบ้านจะยกข้าวปลาอาหารมาสมทบครอบครัวตามกำลัง ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการต้อนรับแขกที่มาร่วมพิธี
วันที่สาม พิธีอิลู และวันประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมการทำนายดวงชะตา ทั้งนี้ พิธีการถวายต้นอิลูจะถวายเวลาพระอาทิตย์กำลังโผล่ขึ้นขอบฟ้าเสมอ เนื่องจากเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่าเป็นการถวายต้อนรับเทพพระอาทิตย์
พิธีกรรมจะเริ่มเมื่อรุ่งสาง เจ้าพิธีและชายหนุ่มจะพร้อมกันบริเวณพิธี มีการกล่าวคำศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษากะแยโดยเจ้าพิธี หลังจากนั้นชายหนุ่มจะช่วยกันขุดหลุม เมื่อขุดหลุมเสร็จแล้วเจ้าพิธีจะโรยข้าวตอกก้นหลุม ขณะเดียวกันกลุ่มชายหนุ่มจะเตรียมไม้ค้ำยันและเชือกสำหรับดึงต้นอิลู เมื่อได้เวลาเหมาะสม เจ้าพิธีจะเริ่มให้สัญญาณ กลุ่มผู้หญิงจะพรมน้ำส้มป่อยบนลำต้นอิลูและโปรยข้าวตอกเพื่อเป็นมงคล ก่อนที่จะปลูกต้นอิลู กลุ่มคนหนุ่มจำนวนหนึ่งจะโหมโรงด้วยดนตรี อันมีกลองและฉาบเป็นหลัก หลังจากนั้นเจ้าพิธีจะให้สัญญาณในการยกต้นอิลูขึ้น โดยแรงงานหลักจะเป็นชายหนุ่มในหมู่บ้านช่วยกันประคับประคองต้นอิลูที่วางตั้งบนคานจนสามารถปักตรงตระหง่านในหลุมที่ขุดรอไว้แล้ว เมื่อสามารถปักตั้งต้นอิลูเรียบร้อยแล้ว ชายหนุ่มจะช่วยกันอัดดินตรงโคนต้นให้แน่นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง หลังจากนั้นจะพรมน้ำส้มป่อยที่โคนต้นที่ปลูกใหม่และต้นที่ปลูกเมื่อปีก่อน และกลุ่มผู้ชายจะเริ่มร่ายรำรอบต้นอิลู
เมื่อปลูกต้นอิลูเสร็จแล้ว จะมีพิธีกรรมต่อเนื่อง คือ การเสี่ยงทายกระดูกไก่ โดยเจ้าพิธีจะนำไก่ของหมู่บ้านที่เตรียมไว้มาทำพิธีเสี่ยงทาย ผู้เฒ่าจะช่วยกันดูกระดูกไก่ และแจ้งคำทำนายแก่สมาชิกผู้มาร่วมพิธี หลังจากนั้น เด็กผู้ชายและชายหนุ่มแต่ละคนจะอุ้มไก่ของตัวเองที่เตรียมไว้ให้เจ้าพิธีและผู้อาวุโสทำนายโชคชะตา กระดูกขาไก่ที่ผ่านการเสี่ยงทายจากเจ้าพิธีและผู้อาวุโสแล้ว จะถูกนำไปปักไว้กับต้นอิลูต้นใหม่ เจ้าของจะต้องนำไก่ที่ผ่านการทำพิธีแล้วหลามในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งได้จุดกองไฟไว้แล้ว เมื่อไก่สุก เจ้าของไก่จะนำไก่บางส่วนและข้าวปั้นก้อนเล็ก ๆ ถวายไว้บนหิ้งพิธีเพื่อเป็นเครื่องสังเวย ส่วนไก่ที่เหลือจะใช้เป็นอาหารสำหรับบริโภคในมื้อเที่ยงของวันทำพิธี
นอกจากการทำนายจากกระดูกไก่แล้ว ในระดับหมู่บ้านจะใช้หมูในการทำนายด้วย หมูที่นำมาใช้ทำนายสามารถหาซื้อได้ในชุมชน โดยทุกครอบครัวร่วมลงขันในสัดส่วนที่เท่ากัน หลังจากที่ทำนายกระดูกไก่เสร็จแล้ว ชายหนุ่มที่แข็งแรงหลายคนจะนำหมูออกมายังลานพิธี เตรียมปูฟาง ใบตอง สำหรับการลงมีด ก่อนการลงมีดนั้น เจ้าพิธีจะกล่าวคาถาในภาษากะแย ชายหนุ่มหลายคนจะต้องช่วยกันจับหมูให้หมอบนิ่ง เมื่อพร้อมเข้าพิธีจะลงมีดตัดขั้วหัวใจหมู หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของคนหนุ่มที่ทำหน้าที่นำหมูไปย่างไฟจนขนไหม้ แล้วถึงนำมาชำแหละเพื่อดูหัวใจและตับหมูว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ และกล่าวคำทำนายต่อสมาชิกในชุมชน ส่วนเนื้อหมูจะแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับทำอาหารเลี้ยงในพิธี ส่วนที่เหลือกลุ่มผู้ชายจะช่วยกันชำแหละแต่ละส่วน รวมถึงกระดูกให้ได้ครบจำนวนครอบครัวที่ลงขันร่วมกัน เนื้อหมูส่วนที่นำไปทำอาหารจะแบ่งส่วนหนึ่งมาถวายในหิ้งพิธี ก่อนที่สมาชิกทั้งหมดที่มารวมพิธีจะรับประทานอาหารร่วมกัน
ประเพณีอิลูของกะเหรี่ยงแดงมีการจัดสรรบทบาทหน้าที่ของชายหญิงค่อนข้างชัดเจน โดยผู้ชายทำหน้าที่ตระเตรียมการทั้งหมด ผู้หญิงเป็นทัพหลังคอยเตรียมข้าวปลาอาหารและน้ำส้มป่อยสำหรับพรมในพิธี พื้นที่ลานอิลูถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่ในช่วงเวลาปกติหรือสัมผัสต้นอิลู จะอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่ลานอิลูได้เฉพาะวันทำพิธีเพื่อพรมน้ำส้มป่อยเท่านั้น
ในด้านความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม ถึงแม้ว่าคนกะแยจะยังคงรักษาขนบประเพณี โดยเฉพาะการนับถือผีบรรพบุรุษ แต่ในการสื่อสารกับคนนอก ได้นำเอาภาษาไทใหญ่มาเรียกชื่อกิจกรรมหรือพิธีกรรมเป็นส่วนมาก ประเพณีหลายอย่างเริ่มเลือนรางเนื่องจากผู้อาวุโสเริ่มเสียชีวิตและไม่ได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง ประกอบกับคนรุ่นหลังมีบัตรประชาชนตั้งแต่แรกเกิด จึงได้เข้าระบบการศึกษาในโรงเรียนและสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี และเริ่มเข้าไปทำงานในตัวเมืองและต่างจังหวัดมากขึ้น คนรุ่นใหม่จึงเริ่มห่างเหินจากพิธีกรรมของครอบครัวและชุมชน รวมทั้งภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชนชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอนด้วยเช่นกัน เนื่องจากแม่ฮ่องสอนมีวัฒนธรรมไทใหญ่เป็นวัฒนธรรมหลัก การผสมผสาน กลืนกลาย และการบดบังวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ สื่อให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่
"....อย่างพิธีหลายอย่าง เราก็เอาของในค่ายฯ มาศึกษา เพราะชุมชนเราจริง ๆ มันเลือนหายไปจะหมดแล้ว...อย่างดูกระดูกไก่นะ เดี๋ยวนี้หาคนเฒ่าที่ดูเป็นยากแล้ว... บางครอบครัวก็ไปซื้อหนังสือคำทำนายกระดูกไก่จากในค่ายฯ มาอ่าน...สมัยก่อนรุ่นปู่รุ่นย่าเราไม่ได้ตั้งชุมชนถาวรเหมือนเดี๋ยวนี้ ย้ายไปตามไร่ ไม่ได้ติดต่อกับใคร เวลาเข้าเมืองราชการเขาถามหาบัตร สมัยนั้นเราก็ไม่ได้มีบัตรหรอก ยังไม่ได้ทำกัน เขาก็ว่าคนเถื่อน เราเลยไม่ค่อยได้ทำพิธีอะไรให้เอิกเกริก กลัว...อีกอย่างเราอยู่ใกล้ไทใหญ่ด้วย บางอย่างก็เอามาผสมกัน มีแต่งงานเข้ามาแต่งงานออกไปกันก็เยอะ ...คนต่างเผ่าแต่งเข้ามาก็ต้องมานับถือผีตามกะแยเรานะ...." (แปล ปราสาทดียิ่ง, ผู้อาวุโส บ้านห้วยผึ้ง, สัมภาษณ์, 2561)
ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต
การตั้งครรภ์และคลอดบุตร
ส่วนใหญ่ชาวกะแยรักษาโรคพื้นฐานโดยใช้ยาสมุนไพร ซึ่งผู้อาวุโสของแต่ละชุมชนจะมีองค์ความรู้ทั้งด้านการรักษาโรคและการคลอดลูกซึ่งใช้หมอตำแยทำคลอดเองในชุมชน สมัยก่อนผู้หญิงจะคลอดลูกที่บ้านโดยมีหมอตำแยและเครือญาติคอยดูแล เมื่อคลอดได้สามวันจึงทำพิธีเรียกขวัญ โดยจะนำเด็กลงมาใต้ถุนบ้าน แล้วนำกลับไปคืนบนบ้านเพื่อทำพิธีเรียกขวัญ โดยใช้ไก่ในการประกอบพิธีสามตัว โดยไก่ตัวแรกใช้สำหรับทำพิธีทำนายสำหรับเด็กทารก ไก่ตัวที่สองใช้สำหรับทำพิธีในช่วงเช้า และไก่ตัวที่สามใช้สำหรับทำพิธีช่วงเที่ยง (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2564)
การแต่งงาน และการหย่าร้าง
ในสังคมชาวกะแยมีการแต่งงานสองรอบ โดยรอบแรกจะจัดพิธีเพียงวันเดียวและเรียบง่าย เริ่มจากฝ่ายชายมาทำพิธีสู่ขอฝ่ายหญิง โดยนำญาติผู้ใหญ่มาสามคน หลังจากนั้นทำนายคู่ด้วยการดูกระดูกไก่ หากผลทำนายบอกว่าครองคู่กันไม่ได้ ทั้งสองก็ไม่สามารถแต่งงานกันได้ หากผลทำนายบอกว่าครองคู่กันได้ ก็นัดหมายวันแต่งงาน โดยในวันแต่งงานนั้น ขบวนแห่เจ้าบ่าวจะมายังบ้านเจ้าวสาว เมื่อถึงหน้าบ้าน แม่เจ้าสาวจะคอยตักน้ำล้างเท้าเจ้าบ่าวเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่อาจติดมา ส่วนเจ้าสาวจะจัดน้ำใส่ถังเพื่อล้างมือเจ้าบ่าว ทั้งสองฝ่ายนำไก่มาคนละตัวเพื่อทำพิธีเรียกขวัญ หลังจากนั้นเมื่อญาติพี่น้องผูกข้อมือเจ้าบ่าวเจ้าสาวเรียบร้อยแล้ว จึงจะจัดงานเลี้ยงฉลองในหมู่เครือญาติและเพื่อนฝูง ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี เมื่อแต่งงานแล้วเจ้าบ่าวจะอาศัยอยู่บ้านเจ้าสาวหนึ่งฤดูกาลผลิตก่อนที่จะแยกบ้าน
ส่วนพิธีแต่งงานครั้งที่สองจะทำเมื่อครอบครัวใหม่มีความพร้อม เช่น มีลูกแล้วหนึ่งคน พิธีแต่งงานครั้งนี้ใช้เวลาสามวันสามคืน ในวันแรก ญาติพี่น้องจะมาผูกข้อมือให้บ่าวสาวที่บ้านตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมอวยพรบ่าวสาว หลังจากนั้นจะไปทำพิธีที่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อเสร็จแล้วจึงกลับมาทำพิธีที่บ้านเจ้าสาวอีกครั้งเพื่อขอบคุณบิดามารดาที่เลี้ยงดูจนเติบโตมีครอบครัว พิธีนี้จะมีการเลี้ยงฉลองทั้งบ้านฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ใช้ไก่ในพิธีกรรม 12 ตัว และหมูคนละ 2 ตัว ชาวกะแยมีความเชื่อว่าเป็นพิธีเพื่อยืนยันการใช้ชีวิตู่ ครอบครัวใดที่ได้ทำพิธีแต่งงานครั้งที่สองจะประสบความสำเร็จในชีวิตคู่และสามารถครองรักยืนยาว (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2564)
ความตาย และการทำศพ
ประเพณีดั้งเดิมของกะแยเมื่อมีคนตายในหมู่บ้านจะหยุดงานแล้วมาช่วยในพิธีการทำศพ หากผู้ตายเสียชีวิตปกติหรือตายดี มักตั้งศพทำพิธีสามวันหรือมากกว่านั้นแล้วแต่ครอบครัว แต่หากตายไม่ดีจะเอาศพไว้เพียงวันเดียวเท่านั้น ในระหว่างงานศพ ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะทำอาหารเลี้ยงรับรองผู้มาช่วยงานด้วยการฆ่าหมู ไก่ และต้มสุรามารับรอง ในช่วงกลางคืนจะมีการละเล่นครืนเครง ร้องเพลงตอบโต้กัน โดยเนื้อหาเป็นการกล่อมวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สรวงสวรรค์ ไปเกิดใหม่ในตระกูลที่ดี ชาวแกแยดั้งเดิมนิยมเผาศพโดยใช้ไม้ไผ่แห้งตัดกองเรียงกันสูงราวสองเมตรเพื่อเป็นแท่นรองรับศพ เมื่อเจ้าพิธีนำศพออกจากหมู่บ้านมายังป่าช้านั้น จะมีขบวนดนตรีแห่แหนประโคมนำหน้าศพ เมื่อเข้าสู่ป่าช้าจะมีการยิงปืนขึ้นฟ้า หลังจากนำศพวางไว้บนแท่นที่เตรียมไว้แล้วจะตีฆ้อง ร้องเพง และฟ้อนรำ หลังจากนั้นจึงเริ่มเผาจนหมดเหลือแต่กระดูก (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2564)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล
กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2559). ข้อมูลพื้นฐาน ศูนย์จัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ ที่ 31 ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. สืบค้นจาก https:// www.forest.go.th/preserve/wp-content/uploads/sites...
กุลธิดา นิวิฐกุลนิภา. (2560). การสร้างพื้นที่อัตลักษณ์ของผู้ลี้ภัยคะเรนนี: กรณีศึกษาของค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เท ชุติขจรไพร, บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 24 มกราคม 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
ผู้เรียบเรียงข้อมูล